วันเสาร์, เมษายน 29, 2549

๑ ขวบแล้ว

ผมจำได้แม่นยำว่าเริ่มต้นเขียนบล็อกวันที่ ๒๙ เมษายน

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ลูกของผมคนนี้อายุครบหนึ่งขวบแล้ว

ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าลูกที่ชื่อ “บล็อก” จะเติบโตมาได้นานขนาดนี้

แรกเริ่ม ผมคิดว่ามันจะแท้งก่อนคลอด หรือไม่ก็คลอดออกมาแบบไม่สมประกอบ หรืออาจออกมาดูโลกภายนอกแล้วผมเลี้ยงไม่ไหวเลยเอาไปทิ้งตามถังขยะ

แต่การณ์กลับตรงกันข้าม ลูกผมกลับเติบโต และยังแข็งแรงพอที่จะช่วยพ่อของมันคลายเหงายามอยู่ต่างแดน (พ่อของมันยังหาแม่ให้มันไม่เจอเสียที ชาตินี้จะเจอหรือเปล่า ยากจะคาดเดา)

นอกจากจะช่วยคลายเหงาแล้ว มันยังพาผมออกไปเจอมิตรสหายใหม่ๆจำนวนมาก ช่วยผมในการฝึกฝนและพัฒนาตนเองในการเขียนหนังสือแบบหลายๆแนว

บางคราว มันก็ซุกซนเอาการ ถึงขนาดพาผมไปถกเถียงแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นอย่างเมามัน

โดยสัตย์จริง “บล็อก” เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แห่งความทรงจำของผมตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา อาจไม่เกินเลยไปนักถ้าจะบอกว่ามันเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่พลิกชีวิตผมเหมือนกัน

..............

ตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา บล็อกของผมมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ทั้งจากข้อเขียนของผมที่เกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อ หรือทั้งจากกรณีที่บล็อกเกอร์รายอื่นเริ่มเขี่ยลูกไว้

ด้วยความเสียดาย เกรงว่าหากเวลาผ่านไป บล็อกตอนเหล่านั้นจะตกหน้าจอไปไกล ผู้ที่เข้ามาอ่านรายใหม่ๆอาจไม่มีโอกาสร่วมรับรู้เหตุการณ์ในขณะนั้น

ผมจึงถือโอกาสนี้ รวบรวมตอนที่น่าสนใจ เอามาให้อ่านกันใหม่ ทั้งจากบล็อกของผมเอง และบล็อกของมิตรสหายคนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกัน โดยแบ่งเป็นตอน ดังนี้

เปิดตัว
หลังจากเงื้อง่าราคาแพงอยู่นาน เข้าบล็อกนู้น ออกบล็อกนี้ไปเรื่อย ในที่สุด ผมก็ตัดสินใจลงมือเขียนเสียที
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/04/blog-post.html

แนะนำตนเอง
เมื่อเปิดตัวไปอย่างบ้าพลังสักพัก ก็ถึงเวลาแนะนำตนเอง
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/05/blog-post_02.html

มนต์รักบล็อกเกอร์
เขียนไปเขียนมา เครือข่ายเริ่มขยายเป็นใยแมงมุม ได้รู้จักบล็อกเกอร์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ชนิดที่ว่าคุยกัน อ่านงานกัน แต่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลย จนกระทั่งมีโอกาสกลับไปเมืองไทย ปิ่น ปรเมศวร์ เป็นพ่องานนัดชาวบล็อกละแวกนี้มาเจอกันที่เฮ็มล็อค
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/05/blog-post_06.html
http://pinporamet.blogspot.com/2005/05/meet-bloggers.html
http://pinporamet.blogspot.com/2005/06/meet-bloggers-ii.html
http://pinporamet.blogspot.com/2005/08/meet-bloggers.html
http://ratioscripta.blogspot.com/2005/08/meet-bloggers.html

จริงๆแล้วมีตอนที่พี่บุญชิตฯ เขียนไว้ในเว็บ ของเขาด้วย พี่บุญชิตได้เล่าถึงชุมชนแห่งนี้อย่างน่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่เว็บของพี่เขา ปิดบริการชั่วคราว

หงส์แดงตะแคงฟ้า
บล็อกเกอร์ละแวกนี้มีสาวกหงส์แดงอยู่พอควร บังเอิญว่าปีที่แล้ว หงส์แดงตะแคงฟ้า คว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกไปอย่างระทึกใจ สร้างความเสียวให้กับทั้งกองเชียร์ประจำและกองเชียร์เฉพาะกิจ ราวกับคอลัมน์เฮียกังฟูก็มิปาน
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/05/blog-post_04.html
http://corgiman.blogspot.com/2005/04/blog-post.html
http://corgiman.blogspot.com/2005/04/italian-job-all-england-semis.html
http://corgiman.blogspot.com/2005/05/blog-post.html
http://corgiman.blogspot.com/2005/05/blog-post_05.html
http://corgiman.blogspot.com/2005/05/blog-post_24.html
http://ratioscripta.blogspot.com/2005/05/blog-post_25.html


การศึกษาในฝัน นักวิชาการในฝัน
หลังจากฟังสหายทางวิชาการของผมบ่นอย่างหัวเสียเกี่ยวกับการสอบวิทยานิพนธ์ ผมจึงตัดสินใจลงมือเขียนวิพากษ์ระบบวิทยานิพนธ์ของนิติศาสตร์
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/05/blog-post_18.html

ก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือน มีซีรีส์หนึ่งในบล็อกของปิ่น ปรเมศวร์ที่สร้างความฮือฮาและถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เขาเขียน “นักวิชาการในฝัน” ๔ ตอนรวด ปริเยศได้นำไปขยายผล แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในบล็อกของเขา แต่น่าเสียดายอีกเช่นกันที่บล็อกของเขา ปิดบริการชั่วคราว
http://pinporamet.blogspot.com/2005/04/1.html
http://pinporamet.blogspot.com/2005/04/2.html
http://pinporamet.blogspot.com/2005/04/3.html
http://pinporamet.blogspot.com/2005/04/4.html

ข้ามมาถึงต้นปีนี้ Ratio Scripta เพื่อนรักผมเขียนนิติศาสตร์ในฝันของมันบ้าง
http://ratioscripta.blogspot.com/2005/12/blog-post_29.html
http://ratioscripta.blogspot.com/2006/01/2.html
http://ratioscripta.blogspot.com/2006/02/blog-post_19.html

ราตรีสโมสร
เป็นธรรมดาของหนุ่มโสดเยี่ยงผม ก็ต้องมีการตระเวนราตรี หาความสุขให้กับชีวิตบ้าง
http://ratioscripta.blogspot.com/2005/06/blog-post_30.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/10/blog-post_27.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/03/blog-post_10.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/04/blog-post_21.html

พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบฉกฉวย
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผลงานชิ้นเอกอุของทีมงานเนติบริกร ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันในหมู่บล็อกเกอร์ เริ่มจากพี่พลเปิดประเด็นวิจารณ์คนที่วิจารณ์ พ.ร.ก. ต่อมา Ratio Scripta ก็เขียนแสดงมุมมองของเขา ปริเยศเป็นอีกคนที่วิจารณ์คนที่วิจารณ์ พ.ร.ก.

ตอนนั้นผมหลงแสงสีกับมหานครแห่งความสุขอยู่ แต่รับปากหลายๆคนไปแล้วว่าจะเขียนแสดงความเห็นของผมบ้าง แม้จะสนุกสนานแต่ผมจำได้ดีถึงบรรยากาศถกเถียงผ่านบล็อกกันอย่างเมามัน เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้บล็อกของหลายๆคนแทบระเบิด ท้ายที่สุดผมก็เขียนวิจารณ์ พ.ร.ก. ฉบับนี้แบบเต็มๆถึง ๒๐ หน้าเอ ๔

http://etatdedroit.blogspot.com/2005/08/blog-post_24.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/10/blog-post_31.html
http://ratioscripta.blogspot.com/2005/07/blog-post_18.html
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=jurisprudence&date=18-07-2005&group=6&blog=1
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=jurisprudence&date=25-07-2005&group=6&blog=1

(ความเห็นของปริเยศ อยู่ในบล็อกของเขาซึ่งปิดชั่วคราว)

ส่วนปิ่น ปรเมศวร์ หลังจากเลียบๆเคียงๆดูสงครามนี้อยู่ ก็ตัดสินใจเขียนตอน “โรคภูมิแพ้” ขึ้น เช่นกัน บล็อกแทบระเบิด
http://pinporamet.blogspot.com/2005/07/blog-post_23.html


พระราชอำนาจ
ผมทนเห็นสนธิและประมวลยกแนวทางพระราชอำนาจมาอ้างแบบมั่วๆซั่วๆไม่ไหว เลยต้องลุกมาเขียนบ้าง แต่บังเอิญว่าโพสไปในบล็อกของผมแล้ว มันกลับหายไปดื้อๆ โชคดีที่ได้ความรอบคอบของปิ่น ปรเมศวร์ นำไปโพสในบล็อกของเขาแทน เช่นกันพี่พลก็นำงานที่ผมเขียนไปโพสในบล็อกของแก มีผู้อ่านคนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับผม งานนี้ก็เลยต้องชี้แจงกันเล็กน้อย
http://pinporamet.blogspot.com/2005/10/blog-post_05.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/10/blog-post_10.html

ต่อมาเริ่มมีสงครามแย่งชิงความจงรักภักดี ภาคหนึ่งจบไปแล้วหลังจากพระราชดำรัส ๔ ธันวา ๒๕๔๘ ข้ามปีมาได้ไม่กี่เดือน เอากันอีก ภาคสองคราวนี้ คมชัดลึกและหนังสือฟ้าเดียวกันซวย ต้องตกเป็นเหยื่อของสงครามบ้าๆบอๆนี้ไปด้วย
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/03/blog-post_29.html

กู้ชาติแบบฟ้าประทาน
หลังจากปรากฏการณ์สนธิสำเร็จผลเกินคาด ก็ตามติดมาด้วยขบวนการกู้ชาติ นี่เป็นการรวบรวมบล็อกตอนต่างๆที่ผมแสดงความไม่เห็นด้วยไว้เกี่ยวกับการกู้ชาติตามแนวทางฟ้าประทาน
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/10/blog-post.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/02/blog-post_25.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/02/blog-post_26.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/02/blog-post_28.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/03/blog-post_02.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/03/blog-post_03.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/03/blog-post_14.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/03/blog-post_21.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/03/blog-post_22.html

มาตรา ๗ กับนายกฯพระราชทาน
เมื่อพันธมิตรเริ่มหมดมุขในขณะที่ทักษิณก็หน้าด้าน ข้อเสนอ “นายกฯพระราชทาน” แบบเอามาตรา ๗ เข้าแถ จึงอุบัติขึ้น งานนี้ก็ต้องออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านกันหน่อย
http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/382
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/03/blog-post_11.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/04/blog-post_114416059550198750.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/04/blog-post_06.html

วิวาทะกับ Crazy Cloud
ผลสืบเนื่องจากการวิจารณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อ “นายกฯพระราชทาน” ของผมและอีกหลายคนแบบต่อเนื่อง ทำให้ Crazy Cloudลุกขึ้นตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนที่บล็อกของเขา หลังจากดูทิศทางลมชั่วขณะหนึ่ง ผมก็ตัดสินใจเขียนบล็อกตอนนี้เพื่อส่งสารไปถึง Crazy Cloud

Ratio Scripta เพื่อนรักผมก็เขียนมุมองของมันไว้เช่นกัน
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/03/crazy-cloud.html
http://ratioscripta.blogspot.com/2006/02/blog-post_28.html

น่าเสียดายที่ Crazy Cloud ปิดบล็อกของตนเองไปแล้ว เราจึงไม่ได้เห็นมุมมองอันดุเด็ดเผ็ดมันของ Crazy Cloud และอีกหลายคนที่เข้าไปแสดงความเห็น จนบานปลายเกือบเป็น “สงครามขนาดย่อม”

รักเองช้ำเอง
ตลอดปีที่ผ่านมา ถ้าหัวใจผมมันร้องตะโกนได้ มันคงบอกว่าเจ็บและเหนื่อยมามากพอดู ส่วนเรื่องของนายแฟร้งค์ที่ผมเล่าให้ฟัง มาถึงวันนี้ผมอยากเรียกว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาไปเป็นบ้องกัญชา” ท่อนที่ “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่” ผมเล่าไปแล้ว ส่วนท่อน “เหลาไปเป็นบ้องกัญชา” ไม่ได้เล่าและไม่อยากเล่าแล้วเพราะแฟร้งค์บอกผมว่าอยากลืมๆให้หมด แถมด้วยเรื่อง ดากานดา ของ Ratio Scripta ในห้วงอารมณ์ “เพื่อนสนิทฟีเวอร์”ของมันในขณะนั้น
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/05/blog-post_30.html
http://etatdedroit.blogspot.com/2005/09/blog-post_112747570332600490.html
http://ratioscripta.blogspot.com/2005/10/blog-post_15.html

...................

หวังว่าขวบปีที่สอง ลูกของผมจะสร้างสรรค์งานดีๆให้กับมิตรรักบล็อกเกอร์ทุกท่านได้นะครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ได้แวะเวียนเข้ามาอ่านและขอบคุณทุกความเห็นที่ทิ้งเอาไว้ หากข้อเขียนของผมตลอดปีที่ผ่านมาได้ล่วงเกินผู้ใดไปก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

วันพฤหัสบดี, เมษายน 27, 2549

การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ศาลใดจะรับเรื่อง?

ภายหลังพระราชดำรัสเมื่อ ๒๕ เมษายน ศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญจะนัดประชุมกันในวันศุกร์นี้ เพื่อหา “ช่อง” ให้มีศาลใดรับเรื่องการเลือกตั้งเข้าสู่กระบวนพิจารณา

ประเด็นเบื้องต้นที่ควรพิจาณา คือ จะฟ้องเรื่องอะไร ฟ้องว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ? ฟ้องเพิกถอน พ.ร.ฎ.ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง? หรือฟ้องอะไร?

กรณีนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองและกฎหมายไทย ที่เรามี “ธง” ในใจเรียบร้อย แต่ต้องควานหาคนเอา “ธง” นั้นไปใช้

หากมี “ธง” ในใจแล้วว่า ศาลต้องวินิจฉัยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ น่าสนใจว่า ศาลไหนจะรับเรื่องพิจารณา

ศาลปกครองได้วินิจฉัยมาแล้วสองครั้งว่า ไม่มีอำนาจเพิกถอน พ.ร.ฎ.ยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้ง (นักศึกษา มธ. ครั้งหนึ่ง และคุณรสนา โตสิตระกูล อีกครั้งหนึ่ง) เพราะ ทางกฎหมายปกครอง เราถือกันว่า การยุบสภาเป็นการกระทำทางรัฐบาลซึ่งไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรตุลาการ

ศาลรัฐธรรมนูญ มีเขตอำนาจจำกัดอยู่ ๑๖ ประการเท่านั้น หลักๆคือวินิจฉัยว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และวินิจฉัยความขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

มาถึงศาลยุติธรรม หลักคือพิจารณาเรื่องทางแพ่งหรือทางอาญา เรื่องเลือกตั้งจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลฎีกาอีก มีการหยิบยกประเด็นว่า หากศาลใดๆไม่มีเขตอำนาจแล้ว ศาลยุติธรรมจะเป็นตัวกวาดได้หรือไม่? ความข้อนี้ ต้องกลับมาพิจารณาอีกว่า ใครจะเป็นคนฟ้อง? ฟ้องเรื่องอะไร? คนฟ้องมีสิทธิในการฟ้องคดีตาม ป.วิแพ่ง มาตรา ๕๕ หรือไม่?

ล่าสุดนายชัช ชลวร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแถลงข่าวเรียกร้องให้คนมาฟ้องคดี นับเป็นเรื่องแปลกมากที่ศาลซึ่งธรรมชาติเป็นองค์กรใช้อำนาจแบบ “ตั้งรับ” ต้องรอคนมาฟ้องจึงจะใช้อำนาจของตนได้ กลับออกมากวักมือเรียกให้คนมาฟ้องคดี

จะเห็นได้ว่ามองไปหาศาลไหนก็ดูจะ “ตัน” ไปเสียหมด

แต่จะทำเช่นไร เมื่อมีพระราชดำรัสออกมาเช่นนี้แล้ว

ทั้งสามศาลคงต้องหา “ช่อง” ให้เจอ เมื่อหาได้แล้ว คาดได้เลยว่า คงไม่มีใครอาจหาญเถียงได้ว่าไม่มีเขตอำนาจ (แม้บางคนอาจเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจจริงๆ) ได้แต่หวังว่า “ช่อง” ที่ค้นพบนั้นจะไม่ “ไกล” หลักกฎหมายมากจนเกินไปนัก

ครั้งนี้อาจต้องยอม “หรี่ตา” หรือลดความเข้มข้นของ “กฎหมาย” ลงเสียหน่อย เพราะเป็นเอกลักษณ์ของการเมืองการปกครองไทยจริงๆ

พึงระลึกไว้เสมอว่า การ “บิด” กฎหมายในครั้งนี้ ควรเป็นข้อยกเว้นยามวิกฤติอย่างยิ่ง ไม่ควรยึดเป็นบรรทัดฐานสำหรับทุกกรณี

ผมเห็นควรต่อไปด้วยว่า น่าจะถึงเวลาที่จะนำเรื่อง Royal intervention มาถกเถียงกันทางวิชาการว่ามีในระบอบประชาธิปไตยไทยหรือไม่ หากมี จะมีขอบเขตหรือเงื่อนไขอย่างไร

ต้องไม่ลืมว่าบารมีของแต่ละบุคคลย่อมไม่เท่ากันเสมอไป

วันพุธ, เมษายน 26, 2549

มาตรา ๗ กับนายกฯพระราชทาน (อีกครั้ง)

“พูดเรื่องนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย จึงขอร้องอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้องมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่า มาตรา ๗ นั้น ไม่ได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามใจ ไม่ใช่ มาตรา ๗ นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำเขาจะนึกว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยพูด ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
๒๕ เมษายน ๒๕๔๙


“อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯพระราชทาน เพราะขอนายกฯพระราชทานไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมากที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทาน นายกฯพระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา๗ ว่าอะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีตามที่ควรทำไป ไม่มีเขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทานกัน ขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของนายกฯ ที่เป็นประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษ แบบมั่ว คือแบบไม่มีเหตุมีผล...”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษา
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
๒๕ เมษายน ๒๕๔๙

.............

บทความที่เกี่ยวข้องของผมและวรเจตน์
http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/382
http://etatdedroit.blogspot.com/2006/03/blog-post_11.html

วันอังคาร, เมษายน 25, 2549

มีการ์ตูนมาฝาก

Courrier international เป็นนิตยสารรายสัปดาห์เกี่ยวกับข่าวต่างประเทศ
http://www.courrierinternational.com/

เว็บไซต์ของ Courrier international จัดทำหน้าต่างเฉพาะเกี่ยวกับการ์ตูนล้อการเมืองไว้
ลองเช้าไปชมได้ที่
http://cartoons.courrierinternational.com/

วันนี้ ผมเข้าไปดู ก็พบการ์ตูนล้อการเมืองชิ้นหนึ่ง น่าสนใจดีจึงเอามาฝากกัน
http://cartoons.courrierinternational.com/dessins/dessin.asp?obj_id=62088



การ์ตูนชิ้นนี้เป็นฝีมือของ Alex ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Liberté ของเมืองไฟร์บวร์ก ประเทศเยอรมัน

คำบรรยายใต้ภาพมีว่า
La reine Elisabeth II a fêté ses 80 ans le 21 avril. Sur le trône d'Angleterre depuis ses 24 ans, elle affiche une insolente santé. Son fils Charles, 57 ans, risque de devenir le premier vieillard couronné roi d'Angleterre.

แปลได้ประมาณว่า
ราชินีอลิซาเบ็ธที่ ๒ ได้เฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษาเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายนที่ผ่านมา พระองค์ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่มีพระชนมายุ ๒๔ พรรษา แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงมีพระพลานามัยแข็งแรง พระราชโอรสของพระองค์ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ วัย ๕๗ พรรษา มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์อังกฤษคนแรกที่มีพระชนมายุสูงที่สุด

อนึ่ง การ์ตูนนี้หมายถึงอลิซาเบธที่ ๒ กับ ปรินซ์ชาร์ลส์ เท่านั้น

วันจันทร์, เมษายน 24, 2549

ฎีกาทีเด็ด

อ่านมติชนวันนี้ http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0104240449&day=2006/04/24

เห็นมีคัดคำพิพากษาศาลฎีกามาลง เกี่ยวกับการฉีกบัตรเลือกตั้ง น่าสนใจมาก

...........

คดีแดงที่ 2338/2528

อัยการ โจทก์
นายเกรียงศักดิ์ แซ่ตั้ง จำเลย

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำให้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชำรุดเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 74

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ โจทก์แถลงว่าบัตรเลือกตั้งที่จำเลยฉีกนั้นเป็นบัตรที่ยังไม่ได้กาเครื่องหมาย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า การทำให้ชำรุดหรือเสียหายซึ่ง "บัตรเลือกตั้ง" อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 74 นั้น จะต้องเป็นการกระทำต่อบัตรเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งได้ใช้สิทธิลงคะแนนแล้ว การที่จำเลยฉีกบัตรเลือกตั้งที่จำเลยยังมิได้กาเครื่องหมายใช้สิทธิลงคะแนนให้ชำรุดเสียหาย จึงไม่เป็นความผิด

พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 74 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใดแก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้" บทมาตราดังกล่าวนี้บัญญัติไว้ในหมวด 8 ว่าด้วยเรื่องการตรวจและการรวมคะแนน จึงเป็นเรื่องหลังจากการลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว

และเมื่อพิจารณาถึงความหมายของคำว่า "บัตรเลือกตั้ง" ย่อมต้องหมายถึงบัตรเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งได้ลงคะแนนแล้วและนับคะแนนได้ เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้บุคคลใดกระทำด้วยประการใดแก่บัตรเลือกตั้ง ที่ผู้เลือกตั้งได้ใช้สิทธิลงคะแนนแล้วเท่านั้น อันจะทำให้กระทบกระเทือนถึงผลของการนับคะแนนหรือผลของการเลือกตั้งไม่รวมถึงบัตรเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งยังมิได้ใช้สิทธิลงคะแนน การที่จำเลยฉีกบัตรเลือกตั้งที่จำเลยยังไม่ได้ลงคะแนนให้ชำรุดเสียหาย จึงไม่เป็นความผิด

พิพากษายืน

นายอำนวย อินทุภูติ นายดำริ ศุภพิโรจน์ นายสมศักดิ์ เกิดลาภผล องค์คณะ

........

คำพิพากษาศาลฎีกานี้มีข้อเท็จจริงต่างจากกรณีของไชยันต์อยู่สองจุด

จุดแรก ไชยันต์ได้กาบัตรเลือกตั้งเรียบร้อยแล้วจึงฉีก แต่คดีนี้จำเลยฉีกบัตรเลือกตั้งที่ยังไม่ได้กา

จุดที่สอง ไชยันต์ประกาศเจตจำนงทางการเมืองของตนชัดแจ้งว่าฉีกบัตรเลือกตั้งเพราะเหตุใด แต่คดีนี้ จำเลยไม่ได้มีเจตจำนงทางการเมืองอื่น หากการฉีกบัตรน่าจะเป็นเพราะอุบัติเหตุหรือความพลาดพลั้งมากกว่า (ไม่แน่ใจเท่าไรนัก เพราะที่มติชนคัดมาไม่มีข้อเท็จจริงโดยละเอียด)

ถ้าเดินตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้แล้ว ผมเห็นว่ากรณีของไชยันต์น่าจะขยายความไปได้

เห็นแบบนี้ ศาลน่าจะเอามือลูบปากอยู่เหมือนกัน เพราะอาจเป็นหนทางหนึ่งที่ศาลจะตัดสินว่าไชยันต์ไม่ผิด โดยที่ศาลเองก็ไม่ต้องรับรองสิทธิในการไม่เคารพกฎหมายให้เป็นบรรทัดฐานอีกด้วย

วันศุกร์, เมษายน 21, 2549

วัน "ศุกร์ (สุข)" แห่งชาติ

เป็นกิจวัตรของผมตั้งแต่อยู่เมืองไทยจนมาอยู่ที่นี่

ทุกเย็นวันศุกร์ผมต้องให้รางวัลกับตนเอง (มีบางครั้งอาจต้องเลื่อนเป็นเย็นวันเสาร์ ในกรณีที่วันเสาร์มีสอน)

ด้วยการหาร้านนั่งกินข้าว หรือนั่งดื่ม

สมัยอยู่เมืองไทย ผมและพรรคพวกจะไปหาอะไรกินให้อิ่มท้องก่อน เพราะสถานบันเทิงมีดีแค่อาหารตา แต่อาหารปากไม่อร่อย แถมยังแพงอีก

บ้างก็ไปกินร้านยาว ท่าพระจันทร์

ออกสตาร์ทแต่หัววัน ก็ไปวอร์มที่ส้มตำกิ้วก่อน

ขยันหน่อย ก็ขยับไปกินโกหย่วน แถว กทม.

หลังๆ ติดแอร์ ก็นั่งกินร้านอหารใหม่ที่โรงอาหารใหม่ ชั้นสอง คณะเศรษฐฯ (ชื่อไร จำไม่ได้ เพราะเปลี่ยนเจ้าของบ่อยมาก)

ไม่มีเวลาจริงๆ ก็ผัดไทย ๑๕ บาทที่ตรอกข้าวสาร

พอได้เวลา ก็ขยับไปสถานบันเทิง ข้าวสารบ้าง ทองหล่อบ้าง เอกมัยบ้าง ตามแต่ความสะดวกและงบประมาณ

สนุกดี

เป็นการชาร์จแบต หลังจากทำงานเครียดมาทั้งสัปดาห์

ว่าแล้วก็คิดถึงมหานครแห่งความสุข

ตัดกลับมาที่ฝรั่งเศส

ผมมาอยู่ที่นี่ ก็ติดนิสัยเดิม ทำงานหนักบ้างไม่หนักบ้างมาทั้งสัปดาห์ วันศุกร์เมื่อไรผมจะออกนอกบ้าน

ผมเป็นโรคไม่ชอบออกนอกบ้านทุกวัน แต่ออกวันเดียวแล้วทำธุระทุกอย่างให้เสร็จ ยิ่งเรียนปริญญาเอกยิ่งสบาย เขียนวิทยานิพนธ์อย่างเดียว ไม่มีเข้าห้องเรียน

ผมเล็งวันศุกร์ไว้เช่นเคย

ออกไปห้องสมุด ค้นงาน ถ่ายเอกสาร อ่านวารสารกฎหมายใหม่ๆ

พักกลางวันก็กินข้าวที่โรงอาหาร ตบตูดด้วยกาแฟมั่ง เบียร์มั่ง (ถูกดี ราคานักศึกษา)

บ่ายก็ไปทำงานที่ห้องสมุดต่อ

สักสี่โมงเย็นก็ขยับเข้าไปในเมือง ถ้ามีรอบหนังดีๆ ก็แว้บไปดู ถ้าไม่มีก็ไปเดินร้าน ดูหนังสือ ซีดี ดีวีดี ฟังเพลงฟรีไปตามเรื่อง

เสร็จก็มานั่งจิบเบียร์ กินกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์ สไตล์ฝรั่งเศสๆ

สักสองทุ่ม ก็เข้าร้านอาหาร หาอะไรดีๆกิน

เมื่อก่อน มาใหม่ๆ ชอบลองอาหารทุกอย่าง เปลี่ยนร้านไปเรื่อยๆ

แต่หลังๆเบื่อ แถมทรัพย์จาง เลยเลือกเอาร้านประจำ เพราะ รู้จักกับเจ้าของร้าน เชฟ คนเสิร์ฟ กินไปคุยไป หนุกดี

ตอนนี้ก็มีสองร้านหลักๆ

หนึ่ง ร้านอาหารญี่ปุ่น ชื่อ ซูโม่ เชฟซึ่งเป็นเจ้าของด้วย เป็นคนลาว เมียเป็นคนไทย คอบอลเหมือนกันอีก

ไปกินทีไร ผมสั่งชุดซาชิมิ แกให้ปลาดิบผมท่วมจาน แบบคูณสอง ส่วนข้าว เติมไม่อั้น แถมอะเปริตี๊ฟ และสาเกตบตูดอีก

กินไป คุยไป ยันร้านเลิก แกก็มีข้าวเลี้ยงพนักงานอีกรอบ ถ้าผมยังกินไหว ก็มาแจมได้

แล้วแกก็ไปส่งบ้าน

อีกร้าน เป็นร้านอาหารไทย ลาว

ราคาแพงขึ้นมาหน่อย แต่ของเค้าดีจริง รสชาติเหมือนบ้านเราเป๊ะๆ

เจ้าของเป็นคนลาว เคยเอารูปสมัยเค้าหนุ่มๆ อยู่ปารีส เตะฟุตบอลกะโภคิน ว่าที่นายกฯนอมินี ตอนนั้นโภคินผมยาว เป็นแกนนำนักเรียนบ้านเราที่ปารีส

ผมสั่งลาบไก่ ส้มตำ ผัดไทย ซุปหน่อไม้ ข้าวเหนียว ตามเรื่อง

บางวันมีกุ้งแช่น้ำปลามาเป็นออเดิร์ฟด้วย

วันไหน ถ้างบหมด ทรัพย์จาง ผมก็จะออกไปจ่ายตลาด ซื้อของมาทำกินแบบเต็มแม็กไปเลย (อย่างวันนี้เป็นต้น เพราะใกล้สิ้นเดือน)

วันนี้ผมไปได้ Vouvray มา แช่เย็นๆ เอามากินก่อนอาหาร เจ้า Vouvray ก็คือ แชมเปญนี่แหละ เพียงแต่ไม่ได้ทำที่แชมเปญ เลยใช้ชื่อแชมเปญไม่ได้ แต่รสชาติไม่ต่างกัน แถมถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง

จิบไป ทำอาหารไป เมนู คือ ผัดพริกแกงแดง ก็ใส่หมู ใส่พริกแกงแดง ใส่ถั่วฝักยาว หยอดซีอิ๊วขาวหน่อย น้ำมันหอยนิด มั่วๆไป ทอดไข่ดาวอีกใบแบบเกรียมๆแต่ไข่แดงไม่สุก

ใครว่ายังไงไม่รู้ แต่ผมว่าอร่อย เพื่อนๆก็บอกอร่อย (ไม่รู้คำตอบแบบเชิงการทูตหรือเปล่า) กินกะไวน์แดง มื้อนี้ได้ไวน์ตัวใหม่มา Côtes du Rhône กัดฟันซื้อ ๙ ยูโร (ขายเมืองไทยน่าจะหลายตังค์อยู่)

แพงไปหน่อย แต่กินแล้ว บอกได้ว่า...

ของเค้าดีจริง

กินไป ดื่มไป คุยเอมเอสเอนไป ฟังเพลงไป

เคร็ก ดาวิดบ้าง วิทนีย์บ้าง นอร่า โจนส์บ้าง อีเกิ้ลบ้าง

เริ่มได้ที่ ก็แอ๊ดบ้าง หงาบ้าง หมู พงศ์เทพบ้าง

เป็นวิธีการคลายเหงายามใช้ชีวิตต่างแดนอย่างเหงาๆได้ดีพอสมควร

ใครมีวิธีคลายเหงา หรือให้รางวัลตนเองอย่างไร มาเล่าสู่กันฟังก็ดีนะครับ

วันอังคาร, เมษายน 18, 2549

สมชายวิพากษ์อมร

Constitutionalism: Road Map สู่อุตมรัฐที่ไร้ประชาชน?
บทวิพากษ์"คอนสติติวชั่นแนลลิสม์"ของอมร จันทรสมบูรณ์

ผศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความนำ
ภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อ พ.ศ.2535 ได้เกิดกระแสเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง อันมีความหมายถึงการแก้ไขปรับปรุงระบบการเมืองในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่ดำรงอยู่ในทางการเมืองในขณะนั้น กระแสการปฏิรูปทางการเมืองได้รับการตอบรับอย่างกระตือรือร้นจากสาธารณะ ซึ่งเป็นผลให้นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ.2539 และได้เป็นผลไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540

คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism): ทางออกของประเทศไทยเขียนโดย อมร จันทรสมบูรณ์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2537 เป็นงานชิ้นหนึ่งซึ่งได้ถูกตีพิมพ์ในช่วงระยะเวลาของกระแสการปฏิรูปการเมือง งานชิ้นนี้สามารถกล่าวได้ว่ามีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อกระแสการปฏิรูปการเมือง และการจัดทำรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาดังกล่าว

ดังจะเห็นได้จากกรอบการวิเคราะห์สภาพปัญหาของระบบการเมืองในประเทศไทย รวมทั้งข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ด้วยการสร้างกลไกและองค์กรที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นมาให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อันถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ หรือบทบาทของอมรในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานรัฐสภา นายมารุต บุนนาค เมื่อ พ.ศ.2537 คพป.ก็ได้ให้ความสำคัญกับบทบาททางความคิดของอมรด้วยการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อมรได้เขียนไว้ก่อนหน้านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอของ คพป. (1)

นอกจากการมีบทบาทในสาธารณะ ในแวดวงนักกฎหมายอมรจัดเป็นนักกฎหมายที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนากฎหมายมหาชนในประเทศไทย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เห็นว่า อมรนั้นเป็น "นักนิติศาสตร์ผู้จุดประกายกฎหมายมหาชน ให้เกิดขึ้นในหมู่นักกฎหมายไทยภายหลัง พ.ศ. 2517"(2) และนอกจากนี้ก็ยังได้รับการยอมรับว่าเป็น "นักกฎหมายมหาชนแท้ๆ ในฐานะที่เป็นบุคคลแรกที่เปิดประเด็นเรื่องความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปทางการเมืองในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2534" (3)

แนวความคิดของอมร จึงมีอิทธิพลทางความคิดต่อบรรดานักกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักกฎหมายมหาชน ซึ่งภายหลังจากการเปิดประเด็นเรื่องปฏิรูปทางการเมือง ก็ได้มีการจัดทำโครงการศึกษาเพื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญสำหรับประเทศไทย อมรได้ขอให้นักวิชาการทางด้านกฎหมายมหาชนได้ร่วมกันวิจัยและตีพิมพ์ผลงานออกมา ซึ่งประกอบด้วยพนม เอี่ยมประยูร, บุญศรี มีวงษ์อุโฆษ, วิษณุ วรัญญู, วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, สุรพล นิติไกรพจน์, สมคิด เลิศไพฑูรย์, กิตติภาคย์ ทวีศรี, พูนศักดิ์ ไวสำรวจ, เธียรชัย ณ นคร, รังสิกร อุปพงศ์, นันทวัฒน์ บรมานันท์ (4)

การเข้าร่วมอย่างกว้างขวางจากนักกฎหมายมหาชนในหลายสถาบัน ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสุโขทัยธรรมาธิราช ย่อมแสดงให้เห็นว่าแนวความคิดของอมรได้รับการยอมรับให้เป็นแนวทางของการปฏิรูปการเมืองในหมู่นักกฎหมายจำนวนไม่น้อย

การเมืองในกรอบ Constitutionalism
ตามกรอบความคิดของอมร เขาได้อธิบายปัญหาของการเมืองไทยไว้อย่างไร?ในการพิจารณาถึงสภาพปัญหาของการเมืองไทย ประเด็นการวิเคราะห์พื้นฐานที่อมรให้ความสำคัญอย่างมากก็คือ ระบบรัฐสภาอันเป็นรูปแบบที่ประเทศไทยใช้อยู่ โดยได้ชี้ให้เห็นว่าพัฒนาการของระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนามาจากการปกครองแบบดั้งเดิมที่มีอำนาจ 2 ขั้ว ซึ่งมีที่มาแตกต่างกันคือ พระมหากษัตริย์และรัฐสภา หรือที่เรียกว่าระบบรัฐสภาแบบอำนาจคู่ (dualistic) โดยกษัตริย์จะทรงแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรี และทำหน้าที่บริหารประเทศในนามของกษัตริย์ และจะมีตัวแทนที่มาจากการคัดเลือกของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมดูแล และให้ความเห็นชอบแก่กษัตริย์ ในการเก็บภาษีหรือการบัญญัติกฎหมายที่จะบังคับใช้แก่ราษฎร ดังนั้นในระยะเริ่มต้นของระบบรัฐสภา องค์กรที่มีหน้าที่หลักคือคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาจึงมีที่มาจากคนละแห่ง

แต่ภายหลังระบบรัฐสภาได้เปลี่ยนมาเป็นแบบขั้วอำนาจเดียว อันเป็นผลมาจากการที่อำนาจของกษัตริย์ในทางการเมืองได้ลดลง และกษัตริย์ได้ยินยอมแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับความนิยมจากสภามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กระทั่งได้กลายมาเป็นหลักการที่ยอมรับกันว่า กลุ่มการเมืองใดหรือพรรคการเมืองที่คุมเสียงข้างมากในสภา ก็ย่อมมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลและทำการบริหารประเทศ ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ทำให้อำนาจของฝ่ายที่จัดตั้งรัฐบาล และฝ่ายที่อยู่ในสภาตกอยู่ในกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวกัน แตกต่างจากที่เคยเป็นในระยะแรกซึ่งองค์กรทั้งสองจะมีที่มาจากกษัตริย์และประชาชน ระบบรัฐสภาในลักษณะนี้ถูกเรียกว่าเป็นระบบรัฐสภาแบบอำนาจเดี่ยว (monist) และทำให้การควบคุมกันในความเป็นจริงไม่อาจเกิดขึ้นได้

ระบบรัฐสภาแบบอำนาจเดี่ยวคือปัญหาสำคัญในทรรศนะของอมร เนื่องจาก "นักการเมืองในระบบรัฐสภาจึงแข่งขันกันตั้งแต่ระดับการเลือกตั้ง และแข่งขันกันรวมกลุ่มการเมืองในระดับสภา เพื่อจะได้ใช้เสียงของกลุ่มสนับสนุนเข้ามาเป็นรัฐบาล และต้องพยายามรักษาการรวมกลุ่มนั้นไว้ให้นานที่สุด (ไม่ว่าจะโดยวิถีทางที่ชอบหรือไม่ชอบ) เพื่อจะได้อยู่ในตำแหน่งและใช้อำนาจรัฐให้นานที่สุด"(5)

จากเหตุดังกล่าวจึงทำให้"การใช้อำนาจในการบริหารประเทศไม่มีระบบควบคุม หรือการถ่วงดุลตามที่เคยมีมาในสมัยก่อน แต่จะเป็นการใช้อำนาจที่เกิดจากการรวมกลุ่มผลประโยชน์เพื่อเข้ามาใช้อำนาจรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้อำนาจของการรวมกลุ่มผลประโยชน์ในสภา จะเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จไม่มีขอบเขต (parliamentarian omnipotence) คือ ใช้อำนาจทั้งทางสภาและทางคณะรัฐมนตรี และพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้ (ไม่ว่าโดยอุดมการณ์หรือโดยการแบ่งปันผลประโยชน์) ก็จะกลายเป็นเผด็จการทางรัฐสภาโดยธรรมชาติ" (6)

การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายนิติบัญญัติ เนื่องจากเป็นกลุ่มหรือพรรคการเมืองเดียวกัน หรืออยู่ในภาวะของการเป็น "เผด็จการรัฐสภา" ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ถูกตระหนักถึงในการเมืองไทยมาตั้งแต่การลดบทบาทของสถาบันทหาร และการเพิ่มบทบาทของนักการเมืองอาชีพในระบบรัฐสภา การถูกกล่าวหาว่าเป็น Buffet Cabinet ของรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อต้นทศวรรษ 2530 ที่จบลงด้วยการยกมือไว้วางใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล โดยปราศจากการตรวจสอบที่เป็นขั้นตอนจากองค์กรใดๆ เลย เป็นตัวอย่างหนึ่งของข่าวคราวการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบของนักการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเถลิงอำนาจของนักการเมืองอาชีพในทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา

สำหรับอมรแล้ว ความล้มเหลวของระบบรัฐสภาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่ได้นำระบบรัฐสภาไปใช้เช่นกัน ทั้งในยุโรปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และในหลายประเทศที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากทำให้เกิดการแก่งแย่งอำนาจและแสวงหาประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ทำให้รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นไม่อาจบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งก็ได้นำไปสู่การปฏิรูประบบรัฐสภาแบบเดิมให้เปลี่ยนไปสู่ระบบรัฐสภาสมัยใหม่ หรือระบบ rationalized parliament system (7) เพื่อเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องที่ปรากฏอยู่ในระบบรัฐสภาแบบเดิม อันเป็นสิ่งที่ประเทศในยุโรปได้นำไปปรับใช้ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในแอฟริกา

ซึ่งตามความเห็นของอมรแล้วถือว่า "เป็นยุคที่การเขียนรัฐธรรมนูญอยู่ ณ จุดที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่อยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ตามหลักวิชาการเกี่ยวกับการจัดองค์กร และสังคมวิทยา" (8) โดย Constitutionalism คือ แนวความคิดที่จะใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ให้เป็นเครื่องมือในการกำหนดรูปแบบการปกครอง และกำหนดกลไกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (infra-structure) ในการจัดองค์กรบริหารของรัฐ (9)

รัฐธรรมนูญตามแนวทางของ Constitutionalism จะมีการกำหนดสาระสำคัญที่ต่างไปจากรัฐธรรมนูญที่เคยเป็นมาในอดีต ในระยะแรกสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ จะมุ่งเน้นที่การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการจำกัดขอบเขตอำนาจของกษัตริย์ เพื่อแก้ไขปัญหาจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของพระมหากษัตริย์ แต่ในช่วง 50 ปีหลัง สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญได้ขยายตัวออกไปเป็นอันมาก ไม่ได้จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนเท่านั้น หากมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันอิสระ หรือกึ่งอิสระต่างๆ ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง สถาบันการตรวจเงินแผ่นดิน ศาลอาญาสูงสุดสำหรับนักการเมือง โดยในสถาบันเหล่านี้จะมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการวินิจฉัยที่แยกต่างหากจากระบบผู้พิพากษาของศาลยุติธรรม (10)

การจัดตั้งองค์กรในลักษณะนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การขยายตัวของบทบาทในการทำหน้าที่ด้านต่างๆ จึงทำให้ภาระหน้าที่รัฐเกิดขึ้นมากไปด้วยเช่นเดียวกัน บทบาทขององค์กรทางการเมืองเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายนิติบัญญัติจึงมีข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ด้านอื่น การสร้างสถาบันทางการเมืองที่เป็น infrastructure ในการบริหารงานของรัฐ จึงมีความมุ่งหมายที่มากกว่าสถาบันในระบบรัฐแบบดั้งเดิม เช่น เพื่อกำกับและถ่วงดุลการทำหน้าที่ขององค์กรทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบของนักการเมือง เป็นต้น

ซึ่งในการบัญญัติรัฐธรรมนูญตามแนวทางของ Constitutionalism จึงมิใช่การแก้ไขหรือแก้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเขียนหลักการและสาระสำคัญไว้ในรัฐธรรมนูญ และต้องมีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (organic law) มากำหนดรายละเอียดในแต่ละเรื่อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการและสาระดังที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังเช่น การบัญญัติเรื่องศาลรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญ พร้อมกับหลักการสำคัญตั้งแต่อำนาจหน้าที่ขององค์กร การเข้าสู่ตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง โดยที่ในส่วนของรายละเอียดต่างๆ จะได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง

โดยมาตรการและกลไกต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางของ Constitutionalism มีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ (11)

ประการแรก ทำให้นักการเมืองสะอาด ได้แก่การกำหนดเขตเลือกตั้ง เพื่อให้มีโอกาสซื้อขายเสียงน้อยที่สุด การควบคุมตรวจสอบการบริจาคและการใช้เงินของพรรคการเมือง การกำหนดขอบเขตวิธีการหาเสียง และวิธีการที่รัฐจะช่วยเหลือในการหาเสียงให้มีความเสมอภาค เป็นต้น หรือเรียกว่าเป็นมาตรการที่ทำให้เกิดความโปร่งใสของชีวิตทางการเมือง (transparency of political life)

ประการที่สอง มาตรการที่มุ่งหมายทำให้องค์กรทางการเมืองสะอาด ได้แก่ การถ่วงดุลอำนาจขององค์กรการเมือง โดยจัดให้มีสถาบันที่เป็น infrastructure ในการบริหารงานของรัฐตามโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง สถาบันตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ

ประการที่สาม มาตรการที่มีความมุ่งหมายทำให้องค์กรการเมืองมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การทำให้องค์กรของฝ่ายบริหารสามารมีแนวนโยบาย และสามารถบริหารนโยบายได้ โดยมีความเป็นผู้นำที่มีความมั่นคง

หนทางสู่ Constitutionalism
ถ้าหากต้องการแก้ไขปัญหาของการเมืองไทยตามแนวทาง Constitutionalism จะสามารถกระทำได้อย่างไร?ในทรรศนะของ อมร การเขียนรัฐธรรมนูญตามแนวทางของ Constitutionalism ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้จากนักการเมืองที่อยู่ในระบบเดิม เพราะ "ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและทั้งสมาชิกวุฒิสภา ย่อมมีประโยชน์ส่วนได้เสียผูกพันอยู่กับระบบเดิม และมีความกังวลในฐานะเดิมของตน" (12)

ความไม่ไว้วางใจต่อนักการเมืองในการที่จะปฏิรูปการเมือง เป็นความคิดพื้นฐานที่ได้รับการเน้นย้ำมาอย่างต่อเนื่อง ดังในงานที่ตีพิมพ์ต่อมาภายหลังในระยะเวลาห่างจากกันไม่นาน เขาก็ได้ย้ำไว้อีกครั้งเมื่อมีการเสนอแก้ไขมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2535 เมื่อ พ.ศ.2539 ว่า

"สมาชิกของรัฐสภา (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา) ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่เสียประโยชน์จากการปฏิรูปการเมือง ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิรูปการเมือง (ตนเอง) ได้ เพราะในการปฏิรูปการเมืองนั้น อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบและวิธีการเลือกตั้ง อันจะกระทบต่อประโยชน์(ส่วนตัว)ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งมาตามระบบเดิมและวิธีการเลือกตั้งเดิม หรือจะพูดง่ายๆก็คือ เพราะระบบและวิธีการอย่างนี้จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นส่วนใหญ่นั้นเอง
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงระบบและวิธีการเลือกตั้งใหม่ย่อมทำให้ฐานเสียงของผู้ที่เคยได้รับเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป และอาจจะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้รับเลือกตั้ง และนอกจากนั้นการปฏิรูปการเมืองก็จะกระทบถึงประโยชน์ (ส่วนตัว) ของสมาชิกวุฒิสภาอีกด้วย เนื่องจากการปฏิรูปอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของสมาชิกวุฒิสภา โดยอาจไม่ใช้วิธีการแต่งตั้งอันเป็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในปัจจุบันก็ได้ (ในขณะนั้นสมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการเสนอชื่อแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี-ผู้เขียน) หรือแม้แต่จะยกเลิกวุฒิสภาไปเลยก็ได้" (13)

สำหรับอมรแล้ว การจะเขียนรัฐธรรมนูญตามแนวทาง Constitutionalism ได้นั้น จะประกอบด้วยเงื่อนไข 3 ประการ (14)
คือ ผู้นำทางการเมืองระดับชาติ, นักวิชาที่มีคุณภาพ และประชาชนที่พร้อมจะทำความเข้าใจปัญหาเพื่อการออกเสียงประชามติ

โดยเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดก็คือผู้นำทางการเมือง ซึ่งจะต้องมาเป็นผู้นำที่ริเริ่มและผลักดันให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน แต่มุ่งที่ประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นหลัก หากไม่มีผู้นำทางการเมืองระดับชาติที่มีวิสัยทัศน์แล้ว ประเทศนั้นก็ไม่อาจมีรัฐธรรมนูญตามแนวทางของ Constitutionalism ได้ (15)

หากเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดี อมรเห็นว่า ผู้นำทางการเมืองในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา ดูจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าในประเทศที่ใช้ระบบประธานาธิบดี ด้วยเหตุผลว่าผู้นำทางการเมืองในระบบรัฐสภา ต้องอาศัยการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล แต่ในระบบประธานาธิบดี ผู้นำทางการเมืองได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนจึงมีความเป็นอิสระ และสามารถกำหนดแนวนโยบายตามความคิดของตนเองได้ ด้วยเหตุดังนั้น ผู้นำทางการเมืองระดับชาติ จึงไม่สามารถเกิดขึ้นในระบบรัฐสภาได้ อย่างไรก็ตามเท่าที่ปรากฏ จะมีผู้นำทางการเมืองเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤต และมีบุคคลที่เป็นผู้นำให้แก้ไขความยุ่งยากและนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง

ในประเทศไทย แม้จะเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2535 แต่ก็ไม่ปรากฏผู้นำทางการเมืองระดับชาติปรากฏขึ้น ดังนั้นหนทางในการปฏิรูปการเมืองสู่ Constitutionalism จึงต้องมีขั้นตอนและกระบวนการเฉพาะเป็นของตนเองด้วยวิธีการดังนี้

"ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เพื่อถวายพระราชอำนาจให้ทรงพระราชทานแต่งตั้งผู้นำเพื่อการปฏิรูปการเมือง (โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ) มาช่วยกันยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมทั้งยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (organic law) ให้สำเร็จลุล่วงไป ชนชั้นนำ - elite ต่างๆ ของสังคมไทย จะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง ภายใต้การนำของผู้นำที่พระองค์ท่านพระราชทานลงมา ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา อดีตหัวหน้าฝ่ายบริหาร (อดีตนายกรัฐมนตรี) ที่เคยมีประสบการณ์ในฐานะหัวหน้าผู้บริหารสูงสุด" (16)

เหตุที่เกิดการปฏิรูปการเมืองจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการในการ "พระราชทาน" แต่งตั้งผู้นำลงมาเพื่อทำการปฏิรูปนั้น เนื่องจากอมรมีความเชื่อว่า

"การปฏิรูปการเมืองจะเกิดได้จากผู้แทนปวงชนชาวไทยตามความเป็นจริง (reality) ที่อยู่ในความรู้สึกของคนไทยทุกคน มิใช่เกิดจากนักการเมืองที่กำลังโฆษณาหาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะซื้อเสียงหรือไม่ซื้อเสียง และเป็นเพียงผู้แทนปวงชนชาวไทยเพียงตามถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" (17)

ธรรมราชาประชาธิปไตย
ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมืองตามแนวทาง Constitutionalism ในสังคมไทยนั้น สำหรับอมร บทบาทของสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก จนสามารถกล่าวได้ว่าในทรรศนะของเขาแล้ว หากไม่ยอมรับสถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ ก็ยากที่การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้

เนื่องจากเหตุผลตามที่ได้กล่าวมาว่า การเขียนรัฐธรรมนูญแบบ Constitutionalism จะเป็นการกระทำที่กระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอยู่ในขณะนั้น ซึ่งก็คือนักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่นักการเมืองจะกระทำการที่ขัดแย้งหรือทำลายผลประโยชน์ของตนเอง โดยอมรได้ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีผู้นำทางการเมืองระดับชาติที่เป็นมหาบุรุษ เข้ามาแบกรับภาระหน้าที่ในการนำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการถือกำเนิดขึ้นของผู้นำทางการเมืองระดับชาติยากจะเกิดขึ้นในระบบรัฐสภา ในขณะที่ในระบบประธานาธิบดีมีความเป็นไปได้ของการเกิดผู้นำทางการเมืองระดับชาติมากกว่า เพราะไม่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้มีความเป็นอิสระต่อการผลักดันการปฏิรูปการเมืองได้

ในแง่นี้หากเปรียบเทียบระหว่างรูปแบบของระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดี ในสายตาของอมร ย่อมเห็นว่าระบบประธานาธิบดีเอื้อต่อการทำให้เกิดผู้นำทางการเมืองระดับชาติได้มากกว่า โอกาสของระบบรัฐสภาที่อาจต้องรอสถานการณ์วิกฤติให้เกิดขึ้น
ดังนั้นหากต้องการสร้างผู้นำระดับชาติให้เกิดขึ้น การนำระบบประธานาธิบดีมาปรับใช้ ก็อาจเป็นหนทางหนึ่งในการเผชิญกับปัญหาความยุ่งยากจากระบบรัฐสภาแบบล้าหลัง ตามที่เขาเองได้วิเคราะห์และยกตัวอย่างของหลายประเทศประกอบไว้ เช่น สหรัฐอเมริกาหรือฝรั่งเศส (18) ที่ใช้ระบบกึ่งประธานาธิบดี

แต่ไม่เพียงไม่ให้ความสำคัญต่อรูปแบบของระบบประธานาธิบดี อมรยังได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการในการสร้างผู้นำทางการเมืองระดับชาติให้มาอิงกับสถาบันกษัตริย์ ด้วยการเสนอให้ถวายคืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ เพื่อที่จะได้ทรงพระราชทานผู้นำระดับชาติกลับมาเพื่อทำการปฏิรูปการเมือง โดยเหตุผลในการเสนอกระบวนการจัดสรรหาผู้นำที่ได้ถูกเสนอนี้ อมรได้ให้เหตุผลว่า "ผู้แทนปวงชนชาวไทยตามความเป็นจริง (reality) ในปัจจุบันได้แก่พระมหากษัตริย์ (องค์ปัจจุบัน)" (19)

การสร้างกระบวนการปฏิรูปการเมือง โดยการถวายคืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ นั้นเป็นประเด็นที่มีความคลุมเครือเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะที่อธิบายถึงความล้มเหลวของระบบรัฐสภาแบบอำนาจเดี่ยว อมรก็ได้แจกแจงให้เห็นทั้งในทางประวัติศาสตร์และทางตรรกวิทยา ถึงความผิดพลาดของตัวระบบที่ทำให้จำเป็นต้องนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง ซึ่งเหตุผลที่ถูกหยิบยกมาเป็นข้อสนับสนุนความคิดเหล่านั้น สามารถที่จะถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า เป็นการใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอหรือไม่ ต่อการทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ความล้มเหลวของระบบรัฐสภา

ดังอาจมีข้อโต้แย้งว่าเมื่อกล่าวถึงความล้มเหลวของระบบรัฐสภาในยุโรป ที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศ แต่เหตุใดจึงไม่มีการกล่าวถึงระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ ที่ถูกจัดว่าเป็นตัวแบบของระบบรัฐสภาให้แก่ประเทศต่างๆ หรือว่าระบบรัฐสภาของอังกฤษไม่เผชิญกับปัญหาที่ประเทศอื่นๆ ได้ประสบ (20) ถ้าเช่นนั้นมีเงื่อนไขหรือปัจจัยอื่นใดที่ทำให้เกิดผลที่แตกต่างกัน การละเลยระบบรัฐสภาของอังกฤษที่มีกษัตริย์อยู่ในฐานะประมุขของรัฐเช่นเดียวกับประเทศไทย อาจทำให้งานของอมรสามารถถูกโต้แย้งและตั้งคำถามได้อย่างมาก

แต่ในการกล่าวถึงการสร้างผู้นำระดับชาติด้วยการพระราชทาน กลับไม่มีการหยิบยกข้อมูลมาสนับสนุนและชี้แจงให้เห็นความเป็นไปได้ในทางวิชาการแต่อย่างใด การไม่ให้คำอธิบายแก่พระมหากษัตริย์ที่กว้างขวางและลึกซึ้งเพียงพอ ก็อาจสร้างความขัดแย้งกับคำอธิบายของอมรเองในเรื่องการให้ความสำคัญกับตรรกวิทยา ซึ่งในงานของอมรมักจะถูกกล่าวอ้างว่าเป็นฐานสำคัญของกระบวนการคิด ดังที่เขาได้อธิบายว่า

"โดยสมมติข้อเท็จจริงว่า นายแดงเป็นหัวคะแนนหาเสียงให้แก่นาย ก. นายแดง (หัวคะแนนนาย ก.) ได้กล่าวว่านาย ข. เป็นผู้ที่ทุจริตคอรัปชั่น(ซึ่งสมมติว่าเป็นความจริง) พร้อมกับแสดงหลักฐานการทุจริตของนาย ข. (ซึ่งสมมติว่าเป็นความจริงเช่นเดียวกัน) และในตอนท้ายของการปราศรัยฯ นายแดงก็กล่าวสรุปว่าเมือนาย ข. เป็นบุคคลที่ทุจริตคอรัปชั่นเช่นนี้ ดังนั้นขอให้พี่น้องทั้งหลายจงเลือกนาย ก. เป็นผู้แทนของท่าน เมื่อพูดจบแล้วผู้เขียนก็ถามนักศึกษาว่า คำพูดของนายแดงนั้นถูกต้องน่าเชื่อถือและสมควรเลือกนาย ก. หรือไม่ และผู้เขียนได้ขอให้นักศึกษาคิดคำตอบไว้ในใจ หลังจากนั้นผู้เขียนก็กล่าวต่อไปว่า สมมติว่านายแดงก็รู้อยู่ด้วยว่า นาย ก. เองก็ทุจริตคอรัปชั่นเหมือนกันและการทุจริตคอรัปชั่นของนาย ก. นั้นมีจำนวนมากกว่านาย ข. เสียอีก (ซึ่งสมมติว่าเป็นความจริงเช่นเดียวกัน) แต่นายแดงไม่เอามากล่าวในการปราศรัย ทั้งนี้ เพราะนายแดงเป็นหัวคะแนนให้นาย ก. เมื่อกล่าวจบแล้วผู้เขียนก็ถามนักศึกษาดัวยคำถามเดียวกันกับครั้งก่อนว่า คำพูดของนายแดงที่กล่าวในการหาเสียงนั้นถูกต้อง น่าเชื่อถือและสมควรเลือกนาย ก. ตามคำชักชวนของนายแดงหรือไม่ และนักศึกษาจะเปลี่ยนคำตอบที่นักศึกษาเคยนึกตอบไว้ในใจหรือไม่"

"ผู้เขียน (หมายถึงอมร) ได้เตือนนักศึกษาว่านักกฎหมายมหาชนที่ดี จำต้องรู้ว่าเราจะถูกหลอกได้เมื่อใด เพราะเราอาจถูกหลอกได้แม้โดยการกล่าวสิ่งที่เป็นความจริงคือ การกล่าวความจริง (บางส่วน) ว่านาย ข. ทุจริตคอรัปชั่น แต่งดเว้นการกล่าวถึงความจริง (อีกบางส่วน) คือ ความจริงที่ว่านาย ก. ก็ทุจริตคอรัปชั่นเหมือนกัน ซึ่งการกล่าวความจริงเพียงบางส่วนเช่นนี้ก็สามารถทำให้เราเข้าใจผิดและมีข้อตกลงใจหรือมีข้อยุติที่ผิดพลาดได้" (21)

ซึ่งในการกล่าวถึงกระบวนการปฏิรูปการเมือง ด้วยการใช้พระมหากษัตริย์เป็นฐานของการเปลี่ยนแปลง กลับไม่ปรากฏว่าได้มีการใช้ข้อมูลสนับสนุนความสมเหตุสมผลนี้อย่างพอเพียง ไม่ปรากฏข้อมูลที่จะนำมาเปรียบเทียบจากประเทศต่างๆ ดังเช่นที่ได้กระทำไว้ในการวิเคราะห์ถึงจุดบกพร่องของระบบรัฐสภา หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์ถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ที่จะทำให้มองเห็นพลังของสถาบันในการริเริ่มเพื่อการปฏิรูปการเมืองว่า มีความเป็นไปได้มากเพียงใด

การยอมรับของอมรจึงเป็นความเชื่อในระดับพื้นฐาน ที่อาจไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามหรือสงสัยใดๆ ต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ หากแต่เชื่อมั่นว่าจะเป็นส่วนที่ช่วยนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้

สามารถกล่าวได้ว่ากรอบความคิดเช่นนี้ เป็นภาพสะท้อนของมุมมองที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ในลักษณะของกษัตริย์นิยมประชาธิปไตย (22) ที่ยอมรับบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ด้วยการถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ "เหนือการเมือง" แตกต่างไปจากนักการเมืองหรือกลุ่มอำนาจอื่นที่ต่าง "เล่นการเมือง" เพื่อแสวงหาอำนาจในทางการเมืองทั้งในรัฐบาลและรัฐสภา ขณะที่พระมหากษัตริย์จะอยู่พ้นจากการเมืองไป ด้วยการมีบทบาทที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวสยาม

ในทรรศนะเช่นนี้จึงเป็นมองผ่านพระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชดำริเป็นจำนวนมาก หรือในยามภาวะที่เกิดความวุ่นวายทางการเมือง พระมหากษัตริย์ก็จะใช้พระราชอำนาจเพื่อเข้ามาแก้ไขความยุ่งยากที่เกิดขึ้น ดังเช่น รัฐบาลพระราชทานที่นำโดย สัญญา ธรรมศักดิ์ หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือการแสดงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ พฤษภา 2535 ก็ล้วนแต่ตอกย้ำพระราชอำนาจที่อยู่เหนือผลประโยชน์ทางการเมืองให้มีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ จนอาจทำให้ลืมไปถึงบทบาทในการ "เล่นการเมือง" ของสถาบันกษัตริย์ในห้วงเวลา พ.ศ. 2475-2494 และในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 (23)

บนพื้นฐานความเชื่อแบบกษัตริย์นิยมประชาธิปไตยเช่นนี้ จึงอาจเป็นผลให้อมรไม่ได้อธิบายเหตุผลใดนอกจากการยืนยันถึงสถานะของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันว่า เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่แท้จริง การให้คำอธิบายเพียงเท่านี้อาจไม่ได้แตกต่างจากที่อมรได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่างเลยก็ได้ ในการใช้ข้อมูลความจริงเพียงบางส่วน (คือความบกพร่องของระบบรัฐสภา) ในขณะที่ไม่วิเคราะห์ถึงสถานะและบทบาทของกษัตริย์ในสังคมไทย จึงย่อมเป็นการนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาดหรือไม่เป็นไปหลักตรรกวิทยาที่อมรกล่าวย้ำอยู่เสมอ

ไม่มีประชาชนใน Constitutionalism
บทบาทของประชาชนในการปฏิรูปการเมืองเป็นอย่างไร ?สำหรับอมร บทบาทของประชาชนในการปฏิรูปการเมืองแม้จะเป็นปัจจัยประกอบอันหนึ่ง แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ในทรรศนะของเขาบทบาทของชนชั้นนำต่างหากที่สำคัญ ด้วยเหตุผลว่า

"สังคมทุกสังคม (รวมทั้งสังคมไทย) ย่อมพัฒนาไปได้ด้วยชนชั้นนำ คำกล่าวนี้คงเป็นความจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธ เพราะในสังคมซึ่งประกอบด้วยประชาชนและคนจำนวนมากนั้น ผู้ที่มีเวลาพอที่จะคิดถึงปัญหาบ้านเมือง อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถพอเพียงและ (เสียสละ) เข้ามามีบทบาทในการคิดและพัฒนา ตลอดจนแก้ปัญหาให้แก่สังคมส่วนรวมได้นั้น ย่อมจะมีอยู่เพียงจำนวนจำกัด และบุคคลเหล่านี้ก็คือชนชั้นนำ - elite ของสังคมนั่นเอง" (24)

ในแง่นี้การพิจารณาบทบาทและความสำคัญของกลุ่มคนในสังคมของอมร จึงอาจเดินตามแนวความคิดของเพลโตในเรื่องอุตมรัฐ (The Republic) ซึ่งเห็นว่าในสังคมจะประกอบด้วยผู้นำหลายกลุ่ม แต่เฉพาะบุคคลบางกลุ่มที่มีปัญญาและคุณธรรมเท่านั้นที่จะสามารถบริหารปกครองบ้านเมือง ในขณะที่บุคคลธรรมดาทั่วไป ควรมีหน้าที่ในการผลิตและเป็นแรงงานในกิจกรรมต่างๆ แน่นอนว่าในความเห็นของนักปราชญ์ในยุคกรีกจึงเชื่อว่า มนุษย์มีความสามารถที่ไม่เท่าเทียมกัน และดังนั้นแต่ละบุคคลจึงควรปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับความสามารถของตน สามัญชนที่ปราศจากปัญญาไม่ควรอยู่ในฐานะของผู้ปกครอง เพราะกระบวนการคิดและตัดสินใจอาจถูกครอบงำด้วยกิเลสและผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งนำไปสู่ความตกต่ำของสังคม

หากลองเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่อมรได้หยิบยกขึ้นมา ก็อาจพบความคิดคล้ายคลึงกันไม่มากก็น้อย

"ผู้เขียน(หมายถึง อมร)สมมติว่า รัฐจะออกกฎหมายให้นักศึกษามีสิทธิเลือกตั้งอาจารย์ผู้สอนกฎหมายปกครอง โดยมีคำอธิบายในบันทึกหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายว่า โดยที่นักศึกษาที่เข้ามาฟังคำบรรยายนั้น ย่อมเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับอาจารย์(ผู้บรรยายวิชากฎหมายปกครอง) มากกว่าบุคคลอื่น นักศึกษาเป็นผู้ที่มาฟังคำบรรยายและสามารถทราบได้ดีว่าอาจารย์คนใดสอนดีหรือสอนไม่ดี ดังนั้น เพื่อให้ได้อาจารย์ที่ดีที่สุดและเพื่อความเป็นประชาธิปไตย จึงเห็นควรตรากฎหมายให้นักศึกษามีสิทธิเลือกอาจารย์ผู้บรรยาย... ปัญหามีว่าการตรากฎหมายนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยได้อาจารย์ที่ดีหรือไม่ดี"

"ผู้เขียนได้ให้คำตอบแก่นักศึกษาว่า มหาวิทยาลัยจะได้อาจารย์ที่ไม่ดีและมาตรฐานการศึกษาของชาติจะต่ำลง" (25) โดยเหตุผลที่จะทำให้เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากว่า

"นักศึกษาทุกคน (มีพฤติกรรม) อยากสอบไล่ได้ และนักศึกษาก็รู้ดีว่าอาจารย์คนไหนให้คะแนนง่าย(ใจดี) และอาจารย์คนไหนใบ้ข้อสอบ(บอกเมฆ)ให้นักศึกษาทราบก่อนกำหนดสอบ ดังนั้นในการออกเสียงเลือกอาจารย์ นักศึกษาจึงจะออกเสียงตามพฤติกรรมของนักศึกษา คือ เลือกอาจารย์ที่ใจดีและบอกใบ้ข้อสอบ มากกว่าจะออกเสียงเลือกอาจารย์ที่สอนดีแต่ไม่ยอมบอกใบ้ข้อสอบ ทั้งนี้เพราะการสอบไล่ได้ของนักศึกษาซึ่งเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของนักศึกษา จะมีน้ำหนักมากกว่าการรักษามาตรฐานการศึกษาของชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวม" (26)

เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ของส่วนรวม จากตัวอย่างที่ถูกนำมาอ้างอิง จึงเห็นได้ว่าในทรรศนะของอมร สำหรับสามัญชนแล้ว จะตัดสินใจโดยเลือก โดยยึดเอาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก แม้ว่าอาจมีบ้างที่ตัดสินใจจากการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อย การตัดสินใจด้วยการยึดประโยชน์ของตนเองเป็นหลักก็อาจกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นการจะปล่อยให้กิจกรรมสาธารณะถูกตัดสินโดยสามัญชนจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจกระทำได้

ด้วยเหตุนี้บทบาทของประชาชนในการปฏิรูปการเมืองจึงมีอยู่อย่างจำกัด กระบวนการเกือบทั้งหมดให้ความสำคัญกับผู้นำทางการเมือง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีปัญญาและความสามารถ ที่จะดำเนินการไปด้วยการคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนสนับสนุนให้การปฏิรูปการเมืองดำเนินต่อไป จึงต้องเป็นที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่พร้อมจะแก้ปัญหา (27) หากเป็นประชาชนทั่วไปก็ยังไม่อยู่ในวิสัยที่จะเป็นแรงผลักดันของการปฏิรูปการเมือง

นอกจากนี้บทบาทของประชาชนจะปรากฏอยู่อย่างจำกัด จะเห็นได้ว่าในขั้นตอนของการร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทาง Constitutionalism กระทำโดยการวิเคราะห์ รวบรวมและตัดสินใจโดยบรรดา "ผู้ที่มีปัญญา" ทั้งสิ้น ไม่มีขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้เกิดการนำข้อมูล ความคิดเห็น และความรู้จากสามัญชนเข้าไปแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้โดยเหตุที่ในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนั้นถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การจะปฏิเสธหรือตัดทิ้งการมีส่วนร่วมของประชาชนก็อาจขัดกับอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย ดังนั้น ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นบังคับใช้ ประชาชนจึงเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่า จะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญที่จะร่างขึ้นผ่านกระบวนการประชามติ (referendum) ซึ่งกระบวนการนี้ก็เป็นสิ่งที่อมรเองก็กำหนดไว้ว่า ต้องเกิดขึ้นในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ถึงประชาชนจะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่า จะยอมรับให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับหรือไม่ แต่กระบวนการนี้ต้องเป็นไปโดยไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งกับ "ผู้แทนปวงชนชาวไทยตามความเป็นจริง" ดังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 มาตรา 211 เมื่อ พ.ศ.2539 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ประเด็นหนึ่งที่ได้มีการนำเสนอก็คือ เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ ให้นำเสนอสู่รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบก็ให้นำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ หากประชามติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ให้นำขึ้นทูลเกล้ารัฐธรรมนูญฯถวายต่อพระมหากษัตริย์ โดยให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจยับยั้งเด็ดขาด ซึ่งในกรณีเช่นนี้ในความเห็นของอมร "เป็นการนำเอาสถานภาพของสถาบันกษัตริย์มาอยู่ในฐานะที่ไม่สมควร" (28)

เพราะถ้าหากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เหมาะสมและทรงใช้พระราชอำนาจเด็ดขาด ก็เป็นการใช้พระราชอำนาจที่ขัดแย้งกับประชามติ หรือมิฉะนั้นพระองค์ก็อาจไม่ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งเด็ดขาดเลย แม้ว่าจะทรงทราบถึงความไม่เหมาะสมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การออกเสียงประชามติของประชาชนแม้ว่าจะอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่ก็ต้องถูกจัดวางให้ไม่เกิดปมขัดแย้งกับการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

ในการปฏิรูปการเมืองตามแนวทางคอนสติติวชั่นแนลลิสม์ เป็นกระบวนการที่มุ่งให้ความสำคัญกับชนชั้นนำ ในขณะที่ลดทอนบทบาทของประชาชนให้เข้าไปมีส่วนร่วมในระดับที่ต่ำลง ทิศทางในลักษณะเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นสภาพที่กลับตาลปัตร เมื่อเปรียบเทียบกับกระแสความคิดของประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน ที่หันมาให้ความสำคัญกับบทบาทของประชาชนในการเข้ามีส่วนร่วมคิด ตัดสินใจต่อชะตาชีวิตของตนเองมากขึ้น

หรือกับสถานการณ์ของสังคมไทยที่มีการกล่าวถึงการเมืองภาคประชาชน, การกระจายอำนาจ, การมีส่วนร่วมของประชาชน คำต่างๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความหมายของการเมืองของผู้คน ที่จะเข้าไปร่วมกำหนดทิศทางของสังคมและประเทศมากขึ้น แต่คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ไม่ได้ให้ความสนใจต่อกระแสดังกล่าวมากเพียงพอ ในงานของอมร น้ำเสียงที่ได้ยินแทบจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประชาชนอยู่มากนัก นอกจากการกล่าวถึงประชามติที่ประชาชนจะเป็นผู้มีอำนาจออกเสียงชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับ

เหตุผลของการกีดกันประชาชนออกไปจากกระบวนการปฏิรูปการเมืองนี้ ก็ด้วยการใช้ความรู้เป็นเงื่อนไข โดยในทรรศนะของอมร การเขียนรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้ด้วยสามัญสำนึก หากต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญที่ผ่านการศึกษาอบรม เฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนที่เป็นทั้งศาสตร์ (science) และ ศิลป์ (art) ดังนั้นจึงต้องอาศัยบุคคลที่มีความรู้ เฉพาะด้านเข้ามาดำเนินการ

การใช้เหตุผลเพื่อครอบครองอำนาจในการปฏิรูปการเมืองของบรรดาผู้เชี่ยวชาญเช่นนี้ ชวนให้ตั้งคำถามได้ว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วในโลกยุคปัจจุบัน สามัญชนที่ปราศจากความรู้เฉพาะใดๆ แต่เป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่และได้รับผลกระทบจากอำนาจรัฐในชีวิตจริง จะสามารถแสดงความคิดเห็นหรือมีบทบาทในทางการเมืองได้หรือไม่ เช่นไร

ปฏิรูปการเมืองเรื่องของชนชั้นนำ
เป็นที่ชัดเจนว่าในการปฏิรูปการเมืองนั้น อมรให้ความสำคัญกับชนชั้นนำในสังคมว่าเป็นผู้ที่จะมีบทบาทหลักต่อการนำความเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยการยกตัวอย่างจากฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงให้เห็นว่าในทั้ง 2 ประเทศและรวมถึงประเทศอื่นๆ ได้หลุดพ้นจากความยุ่งยากทางการเมืองมาก็ด้วยบทบาทของชนชั้นนำ เช่น ในประเทศฝรั่งเศส ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล และไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาของรัฐบาลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นจนกระทั่งวิกฤตการณ์การเมืองใน ค.ศ.1957 ซึ่งได้รับการแก้ไขเมื่อประธานาธิบดีเดอโกลได้เข้ามาเป็นรัฐบาล และมอบให้ผู้เชี่ยวชาญทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น (31) หรือในประเทศสหรัฐอเมริกา การปฏิรูปกฎหมายในโครงการ New Deal ก็ดำเนินไปภายใต้การผลักดันของประธานาธิบดี แฟรงคลิน รูสเวลท์ (Franklin Rooswelt) จากตัวอย่างที่ได้หยิบยกขึ้นมา จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดสำหรับอมรแล้วสังคมทุกสังคมจึงพัฒนาไปได้ด้วยชนชั้นนำ

สำหรับประเทศไทยกระบวนการสรรหาชนชั้นนำ เพื่อที่จะทำการปฏิรูปการเมืองให้บังเกิดในทรรศนะนี้ มีขั้นตอน คือ
- สมาชิกรัฐสภาถวายพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์
- พระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นำเพื่อปฏิรูปการเมือง
- ชนชั้นนำด้านต่างๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

กรอบความคิดดังกล่าวเป็นแนวทางที่อมรใช้เป็นกรอบในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองเมื่อ พ.ศ.2539 เขาได้เสนอให้เริ่มต้นด้วย "การชักชวนให้สมาชิกรัฐสภา (ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและมาจากการแต่งตั้ง) มาทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เพื่อถวายพระราชอำนาจให้ทรงพระราชทานแต่งตั้งผู้นำเพื่อการปฏิรูปการเมือง (โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ) มาช่วยกันยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พร้อมทั้งยกร่างประกอบรัฐธรรมนูญ (organic law) ให้สำเร็จลุล่วงไป ชนชั้นนำ - elite ต่างๆ ของสังคมไทยจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองภายใต้การนำของผู้นำที่พระองค์ท่านพระราชทานลงมา ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา อดีตหัวหน้าฝ่ายบริหาร(อดีตนายกรัฐมนตรี) ที่เคยมีประสบการณ์ในฐานะหัวหน้าผู้บริหารสูงสุด ฯลฯ" (32)

หรือในการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการเมืองรอบที่สอง แนวความคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังคงอาศัยกรอบความคิดแบบเดิม คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 313 เพื่ออาศัยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานคำแนะนำผ่านประธานองคมนตรี ให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษ 7 คน. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน อีก 2 คนเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี มาทำการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีประธานของกรรมการพิเศษเป็นผู้คอยรับพระราชทานข้อสังเกตของพระมหากษัตริย์เพื่อนำมาบรรจุไว้ในร่าง (33)

การเชื่อมั่นในความสามารถของชนชั้นนำต่อการปฏิรูปการเมืองไทย ภายใต้กรอบความคิดของอมร ด้วยการให้ความสำคัญกับชนชั้นนำในฐานะที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีคำถามประการหนึ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงก็คือ สามารถเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ชนชั้นนำเหล่านี้สามารถตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้โดยการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ในเมื่อชนชั้นนำต่างๆ ที่กล่าวมา ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มประโยชน์ในทางการเมือง และมีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจดำเนินนโยบายในทางการเมืองของรัฐทั้งสิ้น

และในกรณีของประเทศไทย การเขียนรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็ล้วนตกอยู่ในมือของชนชั้นนำมาโดยตลอด แทบจะหารัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมเข้าไปตัดสินใจของประชาชนได้น้อยมากจนนับครั้งได้ รัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นก็เป็นไปโดยสะท้อนให้เห็นถึงสัมพันธภาพทางอำนาจของกลุ่ม และสถาบันที่มีอยู่ในขณะนั้น หรือการให้ความสำคัญกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะอย่างยิ่งกับนักกฎหมายมหาชนว่า จะสามารถออกแบบโครงสร้างพื้นฐานในทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในความคิดของอมร รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยกร่างโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจำนวนพอสมควรแต่ไม่มากนัก (15คน) เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายในปัจจุบันเป็น "technology ของวิชาการองค์กรรัฐตามกฎหมายมหาชนไปแล้ว และไม่อาจใช้สามัญสำนึก (common sense) ของบุคคลทั่วๆ ไป มาเขียนกฎหมายสำหรับการบริหารประเทศที่มีกลไก และองค์กรสลับซับซ้อนได้" (34)

ความเข้าใจเช่นนี้จึงเชื่อว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญจะใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา

แต่ใช่หรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นโดยการมีส่วนของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ และนักกฎหมายจำนวนไม่น้อย รายชื่อดังต่อไปนี้ คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประเภทผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน
1. เกษม ศิริสัมพันธ์
2. แก้วสรร อติโพธิ
3. โกเมศ ขวัญเมือง
4. คณิต ณ นคร
5. มนตรี รูปสุวรรณ
6. ธงทอง จันทรางศุ
7. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
8. สมคิด เลิศไพฑูรย์

นอกจากนี้ก็ยังประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 8 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญอีก 7 คน

แม้ว่าจำนวนของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)ในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จะมีจำนวนถึง 99 คน ซึ่งจัดว่าเป็นจำนวนที่มาก แต่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ได้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีจำนวน 29 คน ทำหน้าที่ในการกำหนดกรอบในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ บุคคลส่วนใหญ่ของคณกรรมาธิการก็คือ บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักกฎหมายมหาชน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดที่กล่าวมานั้นได้รับการยกย่องกันว่าเป็นผู้มีความรู้ เชื่อได้อย่างสนิทใจว่า หากมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางของคอนสติติวชั่นแนลลิสม์เกิดขึ้น รายชื่อของบุคคลที่จะเข้ามารับหน้าที่ทำหน้าที่ยกร่าง ก็จะไม่แตกต่างไปจากเดิมมาก อาจมีความเปลี่ยนแปลงเฉพาะบางส่วนที่ถึงแก่กรรมไป และอาจเพิ่มเติมบรรดาผู้เชี่ยวชาญหน้าใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มเข้าไป จะมีอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าคณะบุคคลเหล่านี้จะเกิดภาวะ "ดวงตามองเห็นธรรม" ขึ้นมา และเขียนรัฐธรรมนูญจากที่เคยแตกต่างไปในอดีตทั้งในเชิงโครงสร้าง และประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญ

ไตรปิฎกของนักกฎหมาย
หนังสือคอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) ของอมรมีความสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ในช่วงหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 สืบเนื่องต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการจัดโครงสร้างการเมือง และการบริหารประเทศขององค์กรรัฐ อันเป็นความพยายามประมวลภาพของความเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญ กับการแก้ไขปัญหาของระบบการเมืองในภาพรวม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจุดเน้นของรัฐธรรมนูญ ที่แต่เดิมมุ่งเน้นถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจของรัฐ มาสู่การสร้างกลไกเพื่อทำให้ระบบการเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการบริหารงานของรัฐที่ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆ งานของอมรได้ส่งผลต่อแวดวงวิชาการด้านกฎหมายมหาชน

ดังจะเห็นได้จากงานวิชาการจำนวนมากของนักกฎหมายมหาชนที่ปรากฏขึ้น จะเป็นงานที่ให้ความสำคัญกับองค์กร และกลไกที่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กรฝ่ายบริหาร และการทำให้ระบบการเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิบัติพันธกิจตามรัฐธรรมนูญ (35) กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ข้อคิดเพื่อการปรับปรุงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไทย (36) การเลือกตั้งและพรรคการเมือง (37) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (38) เป็นต้น

สามารถกล่าวได้ว่างานวิชาการส่วนใหญ่คือการต่อภาพจิ๊กซอว์(jigsaw) ตามแนวความคิดของอมรให้สมบูรณ์ขึ้นในรายละเอียด โดยที่ยังไม่มีงานชิ้นใดที่เสนอกรอบความคิดแหวกไปจากที่ได้กรุยทางไว้ในคอนสติติวชั่นแนลลิสม์ งานของอมรจึงต้องจัดอยู่ในฐานะของการเป็นสดมภ์ความคิดหลักในแวดวงความรู้ทางกฎหมายมหาชนยุคปัจจุบัน

งานของอมรมีอิทธิพลไม่น้อยต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งองค์กรอิสระหลายองค์กร เพื่อทำหน้าที่เสมือนสิ่งที่ถูกเรียกว่าโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเมือง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น ซึ่งมีกระบวนการและกลไกอันมีลักษณะเฉพาะของแต่ละองค์กร อันเป็นไปตามหลักของการจัดองค์กรตามกรอบกฎหมายมหาชน องค์กรต่างๆ เหล่านี้ไม่เคยดำรงอยู่ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และได้กลายเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของอมรในหลายประเด็นแต่จำเป็นต้องกล่าวไว้ว่า ในทรรศนะของอมร รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็มิใช่การเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นตามแนวทางคอนสติติวชั่นแนลลิสม์ ที่เขาได้เสนอแนะเอาไว้ ดังจะเห็นได้ว่าอมรก็ได้โต้แย้งเนื้อหาหลายประเด็นที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 รวมถึงความพยายามที่จะริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นอีกครั้ง ในการปฏิรูปการเมืองรอบสอง เพื่อให้เป็นไปตามกรอบความคิดของเขา

แม้ว่าแนวความคิดของอมรจะเป็นการบุกเบิกและให้ความสนใจกับการจัดองค์กรของรัฐมากขึ้น อันถือเป็นจุดเปลี่ยนที่มีความสำคัญต่อแวดวงวิชาการด้านกฎหมายมหาชน ที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในการศึกษาถึงโครงสร้าง และกลไกขององค์กรรัฐเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจัดว่าทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในทิศทางของกฎหมายมหาชนไทย แต่ในด้านของความคิดพื้นฐานและกระบวนการของการสร้างรัฐธรรมนูญขึ้น ข้อเสนอของอมรกลับเป็นการปฏิเสธการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของประชาชน หากไปเน้นย้ำถึงบทบาทของสถาบันดั้งเดิมและชนชั้นนำในสังคม กรอบความคิดในลักษณะเช่นนี้อาจเป็นสิ่งที่ขัดแย้ง หรือปะทะกับความคิดเรื่องการเมืองแบบมีส่วนร่วม ที่กำลังได้รับความสนใจและตระหนักถึงกันอย่างมากในปัจจุบัน

ใช่หรือไม่ว่าการให้ความสำคัญกับชนชั้นนำในการสร้างระบบการเมือง "ใหม่" ด้วยความคาดหวังว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะนำพาสังคมไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ก็เป็นเพียงแค่ความเชื่ออันหนึ่งที่ปราศจากหลักตรรกวิทยาใดๆ สนับสนุนอย่างพอเพียง ความล้มเหลวขององค์กรอิสระหลายองค์กรอันเป็นที่ประจักษ์กันอยู่ในปัจจุบัน (ซึ่งองค์ประกอบของบุคคลในแต่ละองค์กรก็ล้วนมาจากชนชั้นนำของสังคมไทยแทบทั้งสิ้น) สามารถเป็นภาพสะท้อนประการหนึ่งถึงความคาดหวังอันลมๆ แล้งๆ ต่อชนชั้นนำได้หรือไม่ว่า เอาเข้าจริงบุคคลที่เป็นชนชั้นนำก็ล้วนมิได้แยกตนเป็นอิสระจากสังคมการเมือง และผลประโยชน์แต่อย่างใด

ระบบการเมืองที่เป็นอยู่มีปัญหาอย่างมากชนิดที่ยากจะโต้แย้ง การเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงเป็นเรื่องที่คงต้องขบคิดและกระทำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมืองตามแนวทางคอนสติติวชั่นแนลลิสม์ เป็นเพียงข้อเสนออันหนึ่งที่สังคมจำเป็นต้องร่วมกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ยิ่งในกรณีนี้ไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นจากแวดวงของนักกฎหมาย ก็ยิ่งควรที่สังคมจะต้องใช้ปัญญาในการไตร่ตรองให้มากขึ้น เพราะอนาคตของสังคมเป็นของคนทุกคน จะยากดีมีจน ฉลาดหรือโง่เขลา ก็ล้วนต่างต้องได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่จะบังเกิดขึ้น

ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้อำนาจในการกำหนดทิศทางของสังคม อยู่ในมือหรือเป็นของบุคคลแต่เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตาม

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ
(1) อมร จันทรสมบูรณ์, การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ? (กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540) หน้า 12
(2) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน: วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่างๆ (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2536) ในคำนำของผู้เขียน ไม่มีเลขหน้า
(3) นันทวัฒน์ บรมานันท์, ถกรัฐธรรมนูญ 2540 (กรุงเทพ: บริษัท พีเพรส จำกัด, 2540) หน้า 4
(4) เพิ่งอ้าง, หน้า 2
(5) อมร จันทรสมบูรณ์, คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) : ทางออกของประเทศไทย (กรุงเทพ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2537) หน้า 14
(6) เพิ่งอ้าง, หน้า 22-24.
(7) เพิ่งอ้าง, หน้า 13
(8) เพิ่งอ้าง, หน้า 15
(9) เพิ่งอ้าง, หน้า 9
(10) เพิ่งอ้าง
(11) เพิ่งอ้าง, หน้า 72-73
(12) เพิ่งอ้าง, หน้า 71
(13) อมร จันทรสมบูรณ์, การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?, อ้างแล้ว, หน้า 39
(14) อมร จันทรสมบูรณ์, คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ฯ, อ้างแล้ว, หน้า 64-65
(15) เพิ่งอ้าง, หน้า 65
(16) อมร จันทรสมบูรณ์, การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?, อ้างแล้ว, หน้า 64
(17) เพิ่งอ้าง, หน้า 71
(18) อมร จันทรสมบูรณ์, คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ฯ, อ้างแล้ว 66-67
(19) อมร จันทรสมบูรณ์, การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?, อ้างแล้ว, หน้า 64
(20) งานชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นพัฒนาการของระบบรัฐสภาในอังกฤษได้เป็นอย่างดี คือ Adam Tomkins, Public Law, New York: Oxford University Press, 2003 ที่ทำให้มองให้เห็นการคลี่คลายตัวของระบบรัฐสภาอังกฤษ รวมทั้งควมเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างไปอย่างสำคัญ
(21) อมร จันทรสมบูรณ์, คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ฯ, อ้างแล้ว, หน้า 35-36
(22) ธงชัย วินิจจะกูล, ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา (กรุงเทพ : มูลนิธิ 14 ตุลา, 2548) หน้า 26-35
(23) เพิ่งอ้าง, หน้า 42
(24) อมร จันทรสมบูรณ์, การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?, อ้างแล้ว, หน้า 9
(25) อมร จันทรสมบูรณ์, คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ฯ, อ้างแล้ว, หน้า 41
(26) เพิ่งอ้าง, หน้า 42
(27) อมร จันทรสมบูรณ์, คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ฯ, อ้างแล้ว, หน้า 65
(28) อมร จันทรสมบูรณ์, การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?, อ้างแล้ว, หน้า 57
(29) เพิ่งอ้าง, หน้า 56-57
(30) เพิ่งอ้าง, หน้า 35
(31) อมร จันทรสมบูรณ์, คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ฯ, อ้างแล้ว, หน้า 66
(32) อมร จันทรสมบูรณ์, การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?, อ้างแล้ว, หน้า 64
(33) หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน, 23 พฤศจิกายน 2548 หน้า 2
(34) อมร จันทรสมบูรณ์, การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?, อ้างแล้ว, หน้า 64
(35) สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, ศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิบัติพันธกิจตามรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2546)
(36) นันทวัฒน์ บรมานันท์, กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (กรุงเทพ: บริษัท พีพรส จำกัด, 2541)
(37) บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, การเมืองและการเลือกตั้ง(กรุงเทพ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2542)
(38) สมคิด เลิศไพฑูรย์, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2538)

..............

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเอางานของสมชาย ปรีชาศิลปกุลที่ลงในฟ้าเดียวกันเล่มใหม่มาเผยแพร่
http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document95089.html

จึงเป็นโชคของผมที่อยู่ต่างแดนแต่กลับได้อ่านงานชิ้นนี้ก่อนที่จะเห็นฟ้าเดียวกันเล่มใหม่

ที่เน้นตัวสีแดง ผมทำไว้เอง

อ่านงานของสมชายแล้วก็ชัดเจนดี ผมเองก็เห็นไม่แตกต่างกับสมชายมากนัก

นักกฎหมายมหาชนส่วนใหญ่ทั้งจากมหาวิทยาลัย คณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลปกครอง ที่ยกย่องว่า หากไม่เป็นรัชกาลที่ ๕ (ตามแนวอาเศียรวาทแบบ "ไทยๆ" ที่ไม่มีที่ว่างให้สามัญชนในการเป็น "บิดา" อะไรสักอย่าง) ก็ต้องเป็นอมร จันทรสมบูรณ์ ที่ถือเป็น "บิดาของกฎหมายมหาชนไทย" (น่าสงสัยที่ไม่มีใครเอ่ยถึงปรีดี พนมยงค์เท่าไรนัก ทั้งๆที่เป็นคนนำเข้า "กฎหมายมหาชน" มายังประเทศไทยเป็นคนแรกๆ)

ผมเห็นว่าความข้อนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ เรานิยามว่ากฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรของรัฐและการใช้อำนาจของรัฐเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายมหาชนมีนิยามสองแง่มุม มุมแรก คือ การใช้อำนาจของรัฐหรือฝ่ายปกครองให้ประสบผลสำเร็จ และ มุมที่สอง การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจดังกล่าว

หากเรานิยามกฎหมายมหาชนทั้งสองแง่มุมแล้ว ผมก็เห็นว่า รัชกาลที่ ๕ ก็ดี อมรก็ดี ย่อมไม่ถือเป็นบิดาของกฎหมายมหาชนได้ หรือหากจะให้เป็น ก็คงเป็นได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

ต้องไม่ลืมว่า รัฐสมัยใหม่มีความขัดแย้งกันสูงมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีพลวัตสูง เราจึงไม่อาจละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มได้

การผูกขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้กับชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ฟ้าเดียวกันเล่มใหม่มาแล้ว

แม้จะตกเป็นเหยื่อของสงครามแย่งชิงความจงรักภักดี แต่ "ฟ้าเดียวกัน" ก็ยังยืนหยัดสู้ไม่ถอย

กองบรรณาธิการเดินหน้าต่อสู้คดี และยังประกาศพิมพ์ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยเพิ่มอีก ๖,๐๐๐ เล่ม

ล่าสุด ฉบับใหม่ประจำเดือน มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๙ วางแผงแล้ว

มาช้าไปนิด แต่เนื้อหาในฉบับก็คุ้มค่ากับการรอคอย

ทราบมาจากเว็บบอร์ดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนว่า ฉบับนี้เน้นหนักที่บทความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรื่อง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

สมศักดิ์เคยโพสบางส่วนลงในเว็บบอร์ดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแล้ว น่าสนใจมาก

นักกฎหมายอย่างผม อดใจรอไม่ไหวที่จะอ่าน

จะว่าไปองค์กรแห่งนี้ราวกับเป็นแดนสนธยา ยากแก่การตรวจสอบ เพื่อนผมทำงานที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเล่าให้ฟังว่า องค์กรนี้ปฏิเสธไม่ยอมให้ สตง. เข้าไปตรวจสอบ โดยอ้างคาถากันผีประจำตัวว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และ "จาบจ้วงเบื้องสูง"

โอ้ นี่มัน สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นะครับ ไม่ใช่พระคลังข้างที่

เป็นนิติบุคคลมหาชน แยกออกจาก "วัง" ออกมาชัดเจน มีมืออาชีพเข้าไปบริหาร หากำไรเต็มที่

ไม่ต้องดูอื่นไกล ธนาคารเอย โรงปูนเอย ที่ดินเอย

แล้วจะไม่ให้อยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรอื่นได้อย่างไร

อีกเรื่อง ต่อเนื่องกัน บทความของธนาพล อิ๋วสกุล “ธุรกรรมอำพราง" เริ่มต้นเป็นชินคอร์ป แต่ทำไมจบลงด้วย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เข้ากับสถานการณ์ปฏิรูปการเมืองรอบ ๒ (อีกแล้ว) สมชาย ปรีชาศิลปกุล ขอท้าทายวิจารณ์งานของอมร จันทรสมบูรณ์ เรื่อง "คอนสติติวชันแนลลิสม์ ทางออกของประเทศไทย" ซึ่งนักกฎหมายมหาชนกอดไว้เป็นคัมภีร์

ผมดีใจมากที่สมชายเขียนเรื่องนี้ อยากให้มีคนวิพากษ์งานของอมรบ้าง เพราะนักกฎหมายมหาชนติดกับ "ขนบ" ที่เกรงบารมีของอมรจนไม่กล้าวิจารณ์อมรออกสาธารณะ

บทความอื่นๆน่าสนใจทั้งสิ้น เข้มข้นในแนวทางของฟ้าเดียวกันเหมือนเดิม ดังนี้

“การเมืองของวาทกรรมสงครามเวียดนาม” โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์

“เสาหลักทางจริยธรรมชื่อเปรม” โดยธนาพล อิ๋วสกุล

บทวิเคราะห์ “โวหารของภาพและงานเขียน: การเมืองที่มองไม่เห็น” นพพร ประชากุล สายพิน แก้วงามประเสริฐ ยุกติ มุกดาวิจิตร และประชา สุวีรานนท์

“ทุนนิยมโลกกับความเสื่อมของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม”

“รัฐไทยกับทุนนิยม”

“แบบจำลองโลกอนาคตในสายตาบรรษัทข้ามชาติ”

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ถาม” สุพจน์ ด่านตระกูล “ตอบ” ว่าด้วยการขึ้นครองราชย์ ร.๘

มนุษยภาพ ขบวนการชาวนาฟิลิปปินส์ ตอนจบ ว่าด้วย การต่อสู้กับการปฏิวัติเขียวยุคทุนข้ามชาติ โดยเพ็ญนภา หงส์ทอง

วิเคราะห์ “หลักฐานใหม่” ความขัดแย้งระหว่างธีรยุทธ กับพคท. และเอกสารที่ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธาณะมาก่อน โดยธิกานต์ ศรีนารา

เห็นแต่ละเรื่องแล้ว น่าเสียวเหมือนกันว่าจะตกเป็นเหยื่อของสงครามแย่งชิงความจงรักภักดีอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตามจากการตกเป็นเหยื่อครั้งนี้ ก็เกิดข้อดีที่ทำให้เราได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นพิจารณาว่าถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะโตพอที่จะเปิดพื้นที่ให้กับหนังสือแบบนี้

แนะนำให้หาซื้อกันมาอ่านนะครับ

หาไม่เจอ หายาก ลองไปที่นายอินทร์ แพร่พิทยา และศูนย์หนังสือจุฬา มีแน่นอน

ส่วนผม สหายผู้เปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตอย่าง Ratio Scripta ตกปากรับคำเรียบร้อยแล้วว่าจะจัดส่งมาให้

แต่มันบอกผมว่า อย่าลืมหาสาวให้มันคน

วันจันทร์, เมษายน 17, 2549

อาลัยอาจารย์สุธีร์

รศ.สุธีร์ ศุภนิตย์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์สอนวิชาเอกเทสสัญญา ๒ วิชากฎหมายล้มละลาย และวิชากฎหมายการแข่งขันทางการค้า

ได้จากเราไปเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งมานาน

อาจารย์สุธีร์นับเป็นอาจารย์ที่สอนผมคนที่สองที่เสียชีวิตไป ก่อนหน้านั้น อาจารย์พนม เอี่ยมประยูร อดีตคณบดีอีกคนก็เสียชีวิตไปเมื่อปลายปี ๒๕๔๔

ผมเข้ามาเรียนปี ๑ ในช่วงที่ อาจารย์สุธีร์ เป็นคณบดี ยังจำได้แม่นยำว่าวันปฐมนิเทศ ท่านเป็นผู้กล่าวต้อนรับพวกเราและแนะแนวทางการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ตอนนั้น คิดว่าอาจารย์ท่านนี้คงเป็นคณบดีอย่างน้อยก็จนผมขึ้นปี ๓

แต่แล้วก็เกิดอุบัติเหตุ

หลังจากดำรงตำแหน่งเพียงหนึ่งปี อาจารย์ก็ลาออกจากตำแหน่ง

เหตุการณ์นั้น ผมนับถือ "ใจ" ของอาจารย์สุธีร์ ที่ท่านตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งคณบดีก็เพื่อคณะของพวกเรา (ด้วยสาเหตุใดนั้น ไม่อาจเปิดเผยได้ แต่พวกเรารู้กันดีว่าเป็นความจำเป็นทาง "การเมือง" ตามคุณขอมา)

แม้อาจารย์สุธีร์จะมีโอกาสสั้นๆในการบริหารคณะ แต่ท่านก็ทำได้ดี ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่

อาจารย์สุธีร์ยังสอนให้ผมสนุกกับวิชากฎหมายล้มละลาย

วิชานี้อยู่ในชั้นปีที่ ๔ ช่วงนั้น ผมรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเรียนกฎหมายอยู่ จนกระทั่งมาเจอวิชานี้ ที่ทำให้ผมกลับมาสนุกอีกได้

แม้ผมจะเป็นพวกไม่เข้าเรียน แต่ผมกับสนุกกับการอ่านวิชาล้มละลายมาก จากข้อสอบเก่าที่ผมค้นมาทำเพื่อเตรียมสอบ ผมพบว่าอาจารย์ออกข้อสอบได้ "แนว" กว่าวิชาอื่นๆจริงๆ คือ ข้อสอบห้าข้อ ไม่ได้เป็นปัญหาตุ๊กตาล้วนๆ หากเป็นข้อสอบบรรยายความสองข้อ วิจารณ์คำพิพากษาฎีกา หนึ่งข้อ และที่เหลืออีกสองข้อ เป็นปัญหาตุ๊กตา

นี่เป็นวิชาแรกที่ทำให้ผมได้ฝึกฝนการเขียนวิเคราะห์วิจารณ์ฎีกา ซึ่งเป็นประโยชน์กับผมจนถึงทุกวันนี้

จำได้ว่า ตอนนั้นผมอ่านตำรากฎหมายล้มละลายเป็นบ้าเป็นหลัง นอกจากตำราของอาจารย์สุธีร์เองแล้ว ผมยังไปดั้นด้นค้นเอาตำรากฎหมายล้มละลายของอาจารย์ปรีชา สุมาวงศ์ และอาจารย์วิชา มหาคุณ มาอ่านเพิ่มอีก เพราะ อยากเอามาไขปริศนาในข้อสอบของอาจารย์สุธีร์

ratio scripta เป็นพยานได้ว่า เราสนุกสนานเพียงไรกับการติววิชากฎหมายล้มละลายให้กับเพื่อนๆ

อาจารย์สุธีร์นับเป็นอาจารย์ที่มีบรรยากาศ "กันเอง" กับนักศึกษามาก ท่านยินดีทุกครั้งที่นักศึกษาเข้าไปพูดคุยด้วย จริงอยู่ ใครบางคนอาจว่าท่านเป็นคนปากร้ายเอาการ แต่ภายใต้ภาพเช่นนั้น มีความใจดีซ่อนอยู่เสมอ บางครั้งท่านก็เรียกนักศึกษาว่า "ลูก" ก็มี

เมื่อผมเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ๆ บ่อยครั้งที่ผมมีโอกาสได้กินข้าวกลางวันกับอาจารย์สุธีร์ที่ข้างสนามมวย อาจารย์สอนอะไรผมหลายอย่าง ครั้งหนึ่ง ด้วยความไม่เคยชินกับการตรวจข้อสอบจำนวนมาก ผมบ่นเรื่องตรวจข้อสอบเยอะ ตรวจไม่ทัน อาจารย์เตือนสติผมว่า เราบ่นไม่ได้ มันเป็นหน้าที่

ตั้งแต่สมัยเรียน ผมเห็นภาพอาจารย์ควักบุหรี่ขึ้นสูบจนชินตา พรรคพวกของผมมักเข้าไปทักทาย บ้างก็ลามปามถึงขั้นไถบุหรี่อาจารย์เอาเสียเลย

จนกระทั่งผมเข้ามาเป็นอาจารย์ ก็ยังคงเห็นภาพชินตานี้อยู่

แน่นอน บุหรี่ ที่อาจารย์พิสมัยนั้น สักวันจะต้องกลับมาทำร้ายอาจารย์

แต่ไม่นึกว่าจะเร็วถึงเพียงนี้

ผมกลับไปเมืองไทยครั้งล่าสุด ไม่ได้มีโอกาสเจออาจารย์ แต่ได้ข่าวมาว่าอาจารย์พักการสอนไปหนึ่งปี เพื่อรักษาตัว

จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมเดินสวนกับชายคนหนึ่ง ร่างกายซูบผอมมาก โดยไม่คิดเลยว่าชายคนนั้น คือ อาจารย์สุธีร์

เช้านี้ ตื่นมานั่งอ่านอะไรในอินเตอร์เนทไปเรื่อย

จนกระทั่งเจอข่าวอาจารย์เสียชีวิต

ผมยังคิดเสมอว่า หลังการรักษาตัว อาจารย์น่าจะกลับมาสอนหนังสือซึ่งเป็นงานที่อาจารย์รักได้อีก

แต่แล้ว ความจริงก็สร้างความเจ็บปวดให้เราได้เสมอ

ผมเดาว่าอาจารย์สุธีร์คงยิ้มสู้กับชะตากรรมของอาจารย์อย่างไม่หวาดหวั่นเป็นแน่ เพราะอาจารย์รู้เสมอว่า "มะเร็งห่อมวน" ที่อาจารย์ใช้มันทุกวัน วันละหลายครั้งนั้น สักวันมันจะต้องส่งผลร้ายกับอาจารย์

อาจารย์จากพวกเราไปแล้ว

ขอดวงวิญญาณของอาจารย์สุธีร์ไปสู่สุคติ

ขอบคุณอาจารย์

วันเสาร์, เมษายน 15, 2549

ดอกไผ่บาน

ฟังเพลงได้ที่นี่ (คลิกไปที่เพลง ดอกไผ่บาน ลำดับที่ Cms00256)
http://www.carabao.net/MusicStation/

ชายในฝัน เงาในน้ำ เหมือนเมฆลอยอยู่ในอากาศ
ดุจความรักที่ไม่เอื้อมอาจ แหวกสายธารไปใกล้ชิดเงา
เมฆบนฟ้าคอยตั้งเค้า เปลี่ยนรูปเงาไม่ยอมหยุดนิ่ง
ใจของคนไหวกว่าทุกสิ่ง เปรียบปอยเมฆผกผันเพียงชั่วยาม

ค่ำบางคืนไม่กล้าเมา แต่คืนนี้เราไม่เมาไม่ได้
เพราะความรักที่พลัดพรากไป ยากเกินใจจะตัดได้ลง
คงเป็นเพราะสวรรค์ไม่ส่ง นรกไม่สร้างรักจึงจางร้างใจ
เหลือแต่ตัวบาดรักท่วมกาย หล่นจมลงในสายธารที่สิ้นหวัง

* กิ่งไผ่ไหวเอน พัดเบนตามกระแสลม
ในราตรีที่ขื่นขม โต้สายลมเพียงลำพัง
น้ำค้างพร่างพรู คล้ายหยั่งรู้ความอ้างว้าง
ของราตรีที่เปราะบาง หยาดน้ำค้างต่างน้ำตา

ดอกไผ่บานพยานแห่งรัก บานเพื่อลาจาก เจ้าจงปล่อยวาง
ความเข้มแข็งจะคอยเข้าข้าง ความอ่อนแอจะต้องแพ้พ่าย

ดอกไผ่งามเบิกบานในใจ ยังเฝ้าเก็บไว้เพื่อใครคนนั้น
นานเท่าใดก็ไม่สำคัญ จะคอยเติมฝันถึงวันที่ดอกไผ่บาน

*

นานเท่าใดก็ไม่สำคัญ จะคอยเติมฝันถึงวันที่ดอกไผ่บาน

...........

เพลงดอกไผ่บาน แอ๊ด ยืนยง โอภากุลแต่งขึ้น ณ ร้านโอลด์เล้ง (ไม่ต้องเดา คงต้องกรึ่มได้ที่ในขณะแต่งเพลง)

แอ๊ดบอกว่า "ธรรมดาต้นไผ่ถ้าออกดอก ต้นมันจะตาย เปรียบเหมือนความรัก ที่เฝ้ารอ รอด้วยความซื่อสัตย์ โดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ความรักจะมา"

เพลงนี้อยู่ในอัลบั้มเฉพาะกิจ "หนุ่มบาว-สาวปาน"

สารภาพว่าแรกๆตอนออกมา ผมไม่สนใจเท่าไรนัก เพราะคิดว่าน้าแอ๊ดและพวกคงหามุขใหม่ ให้ขายแผ่นได้ เลยมาร่วมกะปาน ธนพร ของค่ายเฮียฮ้อ

แต่ลองมาย้อนๆฟังดู

ผมว่าเพลงชุดนี้ไม่เลวทีเดียว

เอาเข้าจริง ถ้าเราเลิกยึดติดแนวเพลงเดิมๆของคาราบาวที่มีเนื้อหาเสียดสีการเมือง สะท้อนสังคม ดนตรีแน่น เนื้อหาดี หรือ ถ้าเราหรี่ตาไม่มองพฤติกรรมของแอ๊ดในระยะหลังทั้งเรื่องสุรา นารี และบาวแดงแล้ว

ผมว่าเพลงของแอ๊ดและพรรคพวกในยุคหลังๆ (ขอเรียกว่ายุค "นายทุนบาวแดง" ละกัน) น่าฟังมาก

ตั้งแต่ชุดก่อนที่เอาเพลงที่ทิวา สาระจูฑะเขียนขึ้นมาร้อง

จนมาชุดหนุ่มบาว สาวปาน

ต่อด้วย แมงฟอร์ซวัน และล่าสุด ตะวันตกดิน

เนื้อหาและดนตรีเป็นไปตามวัยของแอ๊ดจริงๆ ไม่คึกคักโครมครามเท่าเมื่อก่อน

อย่างเพลง "ดอกไผ่บาน" เพลงนี้ ฟังแล้วจะรู้ว่า แอ๊ดแต่งเพลงรักได้ดีจริงๆ

เพลงนี้ได้รางวัลสีสันอวอร์ดประจำปีนี้ด้วย แต่ไม่รู้สาขาอะไร จำไม่ได้

หลายคนพูดกับผมว่า ยังฟังแอ๊ด บาวแดงอีกหรือ มันน่ะไร้ซึ่งอุดมการณ์ เป็นศิลปินเพื่อชีวติ แต่เพื่อชีวิตตนเอง

ผมตอบคนเหล่านั้นไปว่า ผมไม่เคยสนใจเลยว่าแอ๊ดและพวกจะไป กิน ขี้ ปี้ นอน กะใครที่ไหน จะขับฮาร์เล่ย์ จะกระดกไวน์แพงๆ ก็ช่างประไร แต่ผมสนใจเพลงของพวกเขามากกว่า ต้องไม่ลืมว่าแอ๊ดและพวกเป็นนักดนตรี หน้าที่สำคัญ คือ แต่งเพลงและขับกล่อมเพลงให้เราฟัง หาใช่นักบวชผู้ทรงศีลแต่ประการใด

ลองสนใจที่เนื้อหา ที่ดนตรี ที่เสียงร้อง โดยไม่มองตัวแอ๊ด คาราบาว ดู แล้วคุณจะรู้ว่าแอ๊ดเป็น "ศิลปิน" จริงๆ

วันศุกร์, เมษายน 14, 2549

พึ่งกลับ

พึ่งกลับมาจากปารีสครับ

ครั้งที่เท่าไร ไม่เคยนับ แต่น่าจะขึ้นเลขสองหลัก

ครั้งนี้ ไม่ได้ไปเจอสาวอย่างที่ปิ่น ปรเมศวร์คิดแต่ประการใด

แต่ไปทำธุระมา

สุรพล นิติไกรพจน์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ และเอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล เดินทางมาปารีส ทั้งสามคนแจ้งให้ผมทราบล่วงหน้าให้ขึ้นไปเจอกัน

ไปปารีสครั้งนี้ นอกจากไปเจอคนที่ผมคุ้นเคยทั้งสามแล้ว ยังมีโอกาสทำอะไรอีกมากมาย

ไปซื้อหนังสือมือสอง มือหนึ่ง หนังสือแปลกๆ มาเพียบ ให้สอดคล้องกับบรรยากาศสัปดาห์หนังสือที่เมืองไทยเสียหน่อย

ติดรถไปเที่ยวหลายๆที่กับคณะหนึ่ง (เป็นคนนำทางน่ะครับ คอยสนทนากับโชเฟอร์ เลยได้อานิสงส์เที่ยวฟรี) ตั้งแต่ ปราสาท Chateau de la Loire , บ้านของ Monet ที่ Giverny, ปราสาทที่ Fontainebleau, (พวกนี้พึ่งเคยไป) แล้วก็ไปซ้ำรอยเดิมอย่าง Trocadéro (จุดชมวิวและถ่ายรูปหอไอเฟล), โบสถ์ Notre Dame, ล่องเรือ Bateau mouche ไปตามแม่น้ำแซนน์ (อันนี้สามรอบแล้ว)

นั่งกินกาแฟ เต๊ะจุ๊ย อ่านหนังสือย่าน Quatier Latin

กินอาหารอร่อยๆเพียบ จนรู้สึกว่าร่างกายเริ่มพองอีกแล้ว

แวะไปกินอาหารที่บ้านทูตมา (ติดสอยห้อยตามบุคคลทั้งสามไปนั่นแหละ)

สุรพล นิติไกรพจน์บอกผมว่า ผมไม่ได้อยู่ปารีสแต่ทำตัวอย่างกับคนอยู่ปารีส (แหะแหะ ก็ขึ้นมาเที่ยวบ่อยน่ะครับ)

ไว้หายเหนื่อยจะเล่าให้ฟัง

..........

เนื่องจากบล็อกตอนก่อนๆ

ไม่ว่าจะเป็นการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์เลอ มงด์มาโพสลง หรือ ความเห็นของผมที่ดูน่าหวาดเสียวในหลายๆตอน

มีผู้หวังดีและห่วงใยผมหลายคน เกรงว่าผมจะซวยได้

ขอบคุณมา ณ ที่นี้ แต่ผมคิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะ เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต และข่าวที่ว่าก็ไม่มีเนื้อหาร้ายแรงอะไรนัก เป็นเรื่องที่เรารับรู้อยู่แล้ว

ผมไม่ได้เป็นคนกล้าอะไรเลย รู้สึกปกติ ตอนที่เขียน หรือ เอาข่าวมาโพสลง ก็ไม่ได้ตื่นเต้น หรือ คิดว่าเป็นวีรกรรม วีรเวร อะไรทั้งนั้น คิดยังไงก็ว่าออกมา เท่านั้นเอง

เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ถกเถียงกันได้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บรรยากาศการถกเถียงผ่านบล็อกจะดำเนินต่อไปด้วยการเคารพในวิถีที่แตกต่างกันของแต่ละคน

วันศุกร์, เมษายน 07, 2549

หยิบข่าวในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสมาให้อ่านเล่นๆครับ

หนังสือพิมพ์ Le Monde ลงข่าวการเมืองไทยอยู่บ่อยครั้งนับแต่ประธานาธิบดีชีรัคไปเมืองไทย

ครั้งนี้ก็เช่นกัน

พาดหัวข่าวในเว็บไซต์ www.lemonde .fr วันที่ ๔ เมษายน ๒๐๐๖ เวลา ๑๙.๒๙ ว่า

Après une audience avec le roi, le premier ministre thaïlandais renonce à son poste

พาดหัวข่าวนี้แปลได้ประมาณว่า

“ภายหลังการเข้าเฝ้าฯในหลวง นายกรัฐมนตรียอมสละตำแหน่ง”

ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า นสพ ฉบับที่ว่างขายทั่วไปจะมีข่าวนี้หรือเปล่า เพราะไม่ได้ออกจากบ้านหลายวัน แต่เข้าใจว่าคงมี

อีกสักข่าวครับ

ลองดูทัศนคติของสื่อมวลชนฝรั่งเศสในเรื่องนี้

บางท่อนก็ชื่นชม บางท่อนก็ว่าตรงไปตรงมาแบบที่พวกเราพูดไม่ได้

ขอโทษที่ไม่ได้แปล แต่ทางที่ดี คิดไปคิดมา อย่าแปลดีกว่ามั้งครับ บางประโยคผมว่าสุ่มเสียงอยู่

Bhumipol Adulyadej, roi de Thaïlande et fin stratège politique

LEMONDE.FR 05.04.06 13h06 • Mis à jour le 05.04.06 13h45

A sa manière feutrée, Bhumipol Adulyadej donnait, le 4 décembre 2005, une leçon de politique : " Prétendre qu'on ne saurait critiquer le roi est une insulte à la monarchie. Le roi lui-même souhaiterait entendre plus souvent des critiques."

Tout Rama IX, son nom de règne sur le trône de la Thaïlande, était condensé dans cette réflexion en réalité cinglante à l'intention du premier des visiteurs venus lui souhaiter son 78e anniversaire, le chef du gouvernement, Thaksin Shinawatra. Le souverain signifiait publiquement au premier ministre qu'il n'appréciait guère de voir celui-ci se dédouaner derrière le trône, incroyablement révéré à travers tout le pays, des controverses suscitées par son style de gouvernement autoritaire et souvent démagogique. La remontrance fit la "une" de la presse, mais Thaksin Shinawatra crut pouvoir passer outre alors que les nuages s'accumulaient sur son deuxième mandat à la tête du gouvernement. Manifestations se réclamant de l'autorité royale – pas toujours très honnêtement – et opposition politique rétive…

Le 24 février 2006, cible des lazzis incessants de la classe moyenne bangkokienne et de multiples associations qui ne se reconnaissent pas dans les partis traditionnels, M. Thaksin dissout l'Assemblée nationale et convoque des élections législatives anticipées, à une échéance suffisamment courte pour empêcher toute défection massive au sein de son propre parti, le Thai Rak Thai (TRT,"Les Thaïlandais pour la Thaïlande"). Quand il a soumis ce plan au roi, ce dernier a opiné. Un piège ?

Les élections, le 2 avril, tournent au fiasco pour le chef du gouvernement. L'opposition a boycotté le scrutin, avec succès puisque pas moins de 10 millions d'électeurs, sur 45 millions, s'arrangent pour exprimer leur désaveu. Le lendemain, M. Thaksin croit pouvoir encore ruser. N'a-t-il pas, dit-il, remporté 54 % des voix, la barre – aisément accessible dans les provinces déshéritées pour ce milliardaire reconverti en politique – qu'il s'était fixée pour continuer à diriger le pays ? Le 4 avril, sommé de se rendre à une audience exceptionnelle auprès du roi à Hua Hin, station balnéaire au sud de Bangkok, M. Thaksin en revient assommé. Il annonce sa démission à terme. Le 5 avril, il est conduit à renoncer même au rôle d'intérimaire.

Pour l'énième fois, Bhumipol Adulyadej a joué un rôle-clé sur une scène politique thaïlandaise dont il est l'arbitre suprême alors même qu'il est théoriquement interdit de politique de par la Constitution de 1932, qui a aboli la monarchie absolue. Le 12 mars, pourtant, en pleine campagne de contestation dans les rues de Bangkok, le trône avait envoyé un signal codé mais transparent en s'arrangeant pour que toutes les chaînes de télévision, publiques et privées, diffusent simultanément des images vieilles de quatorze ans, montrant deux protagonistes d'une crise précédente, à genoux devant le souverain, l'écoutant les admonester. Le palais royal niera par la suite être à l'origine de l'émission. Dénégation bien dans la tradition. HÉRITIER DE LA DYNASTIE CHAKRI

En fait, pour le plus grand bien d'un pays à la classe politique très versatile, Bhumipol Adulyadej est intervenu à de multiples reprises pour éviter ou redresser des dérapages mal contrôlés.

Né en 1927 à Cambrigde (Massachusetts), fils d'un demi-frère de Rama VII, le monarque qui avait dû accepter en 1932 la règle constitutionnelle a été fait roi en 1946 alors qu'il était étudiant à Lausanne (Suisse). Il n'est devenu que le 5 mai 1950, avec son intronisation,"Rama IX", héritier de la dynastie Chakri établie en 1782 à Rattanakosin (aujourd'hui Bangkok). Il n'en est pas moins le plus ancien monarque en exercice de la planète devant Elizabeth II d'Angleterre, intronisée en 1952.

Ni son pays, ni encore moins son trône, n'étaient des évidences sur la carte du Sud-Est asiatique au lendemain de la deuxième guerre mondiale. La monarchie s'était montrée incapable d'assumer toute fonction durant l'invasion japonaise. Ses représentants vivaient entre Bangkok et la Suisse.

Politiquement jeune, issu d'un système de cour qui promeut son image de musicien de jazz – au demeurant assez bon à la clarinette et à la trompette –, il va passer la première partie de son règne à avaler avec une réticence croissante les couleuvres d'une classe politico-militaire cliente des Etats-Unis qui profite au maximum de la guerre froide en Asie. Mais, dès 1957, Bhumipol se rebiffe : il refuse de s'associer à des cérémonies que le dictateur militaire de l'époque, Phibun Songkhram, veut organiser pour l'introniser grand chef du bouddhisme national. En 1971, quand les généraux Thanom et Prapass en font un peu trop en agitant le spectre de l'insurrection communiste, il récidive en faisant connaître sa sympathie envers les étudiants et syndicalistes poursuivis par les nervis du pouvoir.

En 1981, quand un quarteron de militaires tentent de renverser"son" premier ministre, le général à la retraite Prem Tinsulanonda, il siffle encore la fin de partie et remet ce dernier en selle. En 1991, encore, il met le holà à une tentative militaire de revenir sur les acquis de la démocratie représentative. Fin politique, Bhumipol a même entériné, en 1997, la plus importante modification constitutionnelle survenue en six décennies de loi parlementaire : il n'est plus"le protecteur du bouddhisme" en tant que religion d'Etat, mais un monarque " bouddhiste protecteur de toutes les religions". La plus importante des minorités religieuses du royaume est celle des musulmans, principalement représentée dans la frange méridionale du pays, dans la péninsule malaise.
Sa succession est réglée sans l'être vraiment.

Son seul fils, Wajiralongkorn, né en 1952, est prince héritier. Mais il n'est pas très populaire.

Francis Deron (Correspondant à Bangkok)

L'hymne à l'Amour

Le ciel bleu sur nous peut s'effondrer
Et la terre peut bien s'écrouler
Peu m'importe si tu m'aimes
Je me fous du monde entier

Tant que l'amour inond'ra mes matins
Tant que mon corps frémira sous tes mains
Peu m'importe les problèmes
Mon amour puisque tu m'aimes

J'irais jusqu'au bout du monde
Je me ferais teindre en blonde
Si tu me le demandais

J'irais décrocher la lune
J'irais voler la fortune
Si tu me le demandais

Je renierais ma patrie
Je renierais mes amis
Si tu me le demandais

On peut bien rire de moi
Je ferais n'importe quoi
Si tu me le demandais

Si un jour la vie t'arrache à moi
Si tu meurs que tu sois loin de moi
Peu m'importe si tu m'aimes
Car moi je mourrais aussi

Nous aurons pour nous l'éternité
Dans le bleu de toute l'immensité
Dans le ciel plus de problèmes
Mon amour crois-tu qu'on s'aime
Dieu réunit ceux qui s'aiment

..........

"เพลงแด่ความรัก" เพลงนี้แต่งเนื้อร้องโดย Edith Piaf ทำนองโดย Marguerite Monnot เมื่อปี ๑๙๔๙

ถ้าผมจำไม่ผิด Edith Piaf แต่งให้คนรักที่ตายไปเพราะขับเครื่องบินส่วนตัวตก

มีคนเอามาร้องใหม่หลายคนมากๆ

ที่ผมมีอยู่ในเครื่องเป็นเวอร์ชั่นที่ Johnny Halliday ร้อง

เนื้อหากินใจมาก ลองพยายามอ่านเวอร์ชั่นภาษาฝรั่งเศสดูนะครับ มันได้อรรถรสกว่าเยอะ

ลองแปลดูแล้ว แต่ฝีมือผมไม่ถึงขั้นน่ะ ยังไงก็สวยไม่เท่าต้นตำรับ

ใครมีความสามารถ เชิญเข้ามาแปลให้หน่อยนะครับ

วันพฤหัสบดี, เมษายน 06, 2549

ข้อคิดเห็นบางประการของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ไปอ่านกระดานข่าวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พบกระทู้ที่น่าสนใจมากๆ เป็นประเด็นที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลยกขึ้นให้แลกเปลี่ยนกัน

แหะแหะ แต่ประทานโทษ ผมคิดว่าคงหาคนมาแลกเปลี่ยนด้วยยาก ตราบใดที่ “ฟ้า” ยังไม่เป็น “ฟ้าเดียวกัน”

ผมคิดว่าคนอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ใครจะคิดอย่างไรกับเขา จะว่าบ้าว่าเพี้ยน ว่าหมกมุ่นอยู่กับประเด็น ... ตลอดเวลา ทำให้อคติบังตา หรือไม่ อย่างไรก็ตามแต่

แต่ผมคิดว่าสังคมไทยปัจจุบันจำเป็นต้องเก็บรักษาคนแบบสมศักดิ์เอาไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราอยู่ในช่วงใกล้เปลี่ยนผ่านสถาบันสำคัญๆ คนแบบสมศักดิ์จำเป็นต้องมีอยู่

จะดีจะชั่ว ผมก็คิดว่าสมศักดิ์มั่นคงในจุดยืนของเขาเสมอมา

ผมขอนำกระทู้ของสมศักดิ์มาแปะลงในบล็อกของผม

ผมได้ขอนุญาตเรียบร้อยแล้ว ขอบคุณอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลมา ณ ที่นี้

.............

(๑)
การปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากถึง 16 ล้านเสียง เป็นนายกรัฐมนตรี-ตั้งรัฐบาล เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง


โพสเมื่อ ๕ เมษายน ๒๕๔๙

การบอยคอตเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้าน ครั้งนี้ ไม่ใช่ทำไปตาม "หลักการประชาธิปไตย" แต่ทำไปเพื่อเรียกร้องให้มีการใช้พระราชอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับหลักการของ 2475 และระบอบการปกครองประชาธิปไตย

ผู้ที่ยืนกรานว่า "ทักษิณต้องออก" แต่ขณะเดียวกัน ก็ยืนกราน "ปฏิเสธ นายกฯแต่งตั้ง" มีจุดยืนที่ขัดแย้งกันเอง

ถ้ายืนยันว่า นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องยืนยันว่า ด้วย 16 ล้านกว่าเสียง ทักษิณ มีสิทธิที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และต้อง ออกมายืนยันว่า การที่ทักษิณไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การเรียกร้องให้นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งลาออก ทำได้หรือไม่?

แน่นอน ทำได้ แต่ในทางปฏิบัติ หากนายกฯนั้นเพิ่งได้รับเลือกตั้งมา การเรียกร้องให้ลาออก ถ้าเจ้าตัวไม่ออก (เพราะเป็นธรรมดาของคนที่เพิ่งเสนอตัวและได้รับเลือกตั้งมา) ก็สมควรยอมรับ และมีระดับของการเรียกร้องที่ให้ความเคารพต่อการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ที่ยืนยันเลือกตั้งนายกฯนั้นมา (ในกรณีนี้คือ 16 ล้านเสียง)

สิ่งที่น่าละอาย (distasteful) ที่สุดอย่างหนึ่งในตลอดการรณรงค์คัดค้านทักษิณครั้งนี้ คือท่าที "เหนือกว่าทางศีลธรรม" (moral superiority) ที่ปัญญาชนทั้งหลายใช้

การรณรงค์ ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "พันธมิตรประชาธิปไตย" ครั้งนี้ ก็ไม่ใช่การรณรงค์ตาม "หลักการประชาธิปไตย" แต่ทำไปเพื่อเรียกร้องให้มีการใช้พระราชอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับหลักการของ 2475 และระบอบการปกครองประชาธิปไตย

"ประชาชนมีสิทธิ์ไล่คนที่ผ่านการเลือกตั้งมาด้วยคะแนนมหาศาล ขณะเดียวกัน "ท่านผู้นำ" ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ออก (ถ้าสามารถทนแรงเสียดทาน/ทนการกดดันได้)"

ผมยังเห็นว่า ถ้า ต้องการยืนยันว่า นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องยืนยันว่า (1) ทักษิณ มีสิทธิเป็นนายกฯ และการปฏิเสธไม่ให้เขาเป็น (ไม่ว่าจะมาจากใครหรืออะไร) อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (2) การเสนอให้นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งที่ได้เสียงท่วมท้นออก จะต้องทำโดยการให้ความเคารพในหลักการที่ว่า ประชาชนเลือกตั้งมา (ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม) อย่างแท้จริง

ซึ่งหมายความว่า (อันนี้เป็นรูปธรรมซึ่งต้องอภิปรายอีกที) อาจจะต้อง ยอม "รอ" เป็นต้น หรือ ต้องมุ่งเน้นที่รณรงค์ให้การศึกษาประชาชน ฯลฯ มากกว่าการรณรงค์ให้ออกโดยตรง

ประเด็นพวกนี้เป็นรูปธรรมซึ่งต้องอภิปราย แต่ผมเห็นว่า ในแง่การยืนยันในเชิงหลักการ ด้านที่ยืนยันแต่ว่า "ออกๆๆ" ที่คุณโชติศักดิ์ และเพื่อนจำนวนมากทำ เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันเองกับการืนยันเรื่องหลักการ นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ในกรณีประเทศไทย ผมเห็นว่า การยืนยันหลักการหลังนี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก

ประเด็นรูปธรรมที่ผมเพิ่งนึกขึ้นมาคือ ในกรณีเช่นนี้ ในเมื่อพวกคุณยืนยันมาตลอดเรื่องนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง และสมมุติ เป็นที่ยอมรับหรือพิสูจน์ได้ว่า ที่ทักษิณ "ไม่รับ" เป็นนายกฯอีกเมื่อวานนี้ เกิดจากการกดดันของผู้อื่น

เช่นนี้ ตามหลักการ พวกคุณ (แอ๊กติวิสต์, นักวิชาการ) ก็สมควร แสดงท่าที คัดค้านการกดดันนั้น ใช่หรือไม่? และยืนยันว่า "ทักษิณ มีสิทธิเป็นนายกฯ" ดังที่ผมเสนอนี้ใช่หรือไม่? ผมถามให้คิด ไม่ใช่เสนอให้ทำนะ (โปรดระวัง และพิจารณา กรณี ฟ้าเดียวกัน ขณะนี้ ประกอบ)

...........


ส่วนอื่นๆจะทยอยโพสลงครับ เดี๋ยวจะยาวเกินไป

วันอังคาร, เมษายน 04, 2549

นายกฯพระราชทานเชิงปฏิเสธ

สองทุ่มครึ่ง วันนี้ ทักษิณแถลงไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรียกเสียงเฮกันถ้วนหน้า

แต่ภายใต้เสียงเฮนั้น ผมมีข้อสงสัยอยู่

ตอนกลางวัน ก่อนไปเข้าเฝ้าฯ ทักษิณยังคึกอยู่เลย

เมื่อคืน ออกกรองสถานการณ์ ก็อ้าง ๑๖ ล้านเสียง

ไฉนหลังเข้าเฝ้าฯ จึงเปลี่ยนมาเป็น “คนหน้าซีด” แถลงด้วยความเศร้าได้

งานนี้อาจไม่มีนายกฯพระราชทาน

งานนี้อาจไม่มีมาตรา ๗

แต่มี “นายกฯพระราชทานเชิงปฏิเสธ”

ไม่ใช่พระราชทานนายกฯ แต่พระราชทานไม่ให้เป็นนายกฯ

อาจจะจริงอย่างที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเสนอไว้ว่า คนที่ไม่เอาทักษิณ และไม่เอานายกฯพระราชทาน แต่ก็ไม่มี candidate

เอาเข้าจริงก็เป็นการบีบทางให้เหลือแค่นายกฯพระราชทาน

บางคนไม่เอาทักษิณ ตะโกน “ท้ากกกกก ษิณ ออกไป” แต่ครั้นจะเสนอแนวทางการแก้ปัญหาแบบ “ไทย” ด้วยนายกฯพระราชทาน ก็เกรงว่าจะเสีย “ลุค” ของคนมีการศึกษาไป

ผมว่าปัญหาทั้งหมด มันติดอยู่ที่ว่า เราไปตั้งธงไว้ก่อนแล้วว่า “ท้ากกกกก ษิณ ออกไป” แล้วก็รู้ว่าไม่มีทางเอาออกได้ด้วยการเลือกตั้ง เพราะเลือกอีกกี่ครั้ง ไทยรักไทยก็นอนมา อย่างไรภาคอีสานกับภาคเหนือ ทรท ก็กวาดเกือบหมด

เลยไม่รู้จะเอาออกกันยังไง

มันก็เลยเกิดความคิดแบบสะเปะสะปะ แบบตรรกะไม่สอดคล้องกัน แต่ว่าเป้าหมายตรงกัน คือ “ท้ากกกกก ษิณ ออกไป”

เฮ้อ อีกกี่ปีหนอเราจะไม่ต้องพึ่ง “ฟ้าประทาน” ได้จริงๆ

งานนี้สงสัยจะมีเสียงกระซิบ

เสียงกระซิบเสียงเดียวที่ทักษิณบอกว่าทำให้เขาออกได้

วรรคทองของพญาอินทรีแห่งสวนทูนอิน


'รงค์ วงษ์สวรรค์ พญาอินทรีแห่งสวนทูนอิน ทิ้งวรรคทองผ่านงานเขียนมากมาย

“พจนานุกรม 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ฉบับอะเดย์” รวบรวมไว้

คลิกชมได้ที่
http://www.tuneingarden.com/work/b-phrase.html

อ่านแล้วก็ระรื่นใจยิ่งนัก

โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสุราและนารี

พญาอินทรีช่างเปรียบเปรยอย่างได้อารมณ์

ผมขอคัดเอาส่วนของ “L-ก-ฮ” มาให้เสพกันก่อน หากความขยันบังเกิดขึ้นอีก จะนำส่วนที่เกี่ยวกับนารีมาให้ลิ้มลองบ้าง

..........

ความเมาเป็นอนาคตของการกินเหล้า
ขี้เป็นอนาคตของการกิน

คนกินเหล้าฉุดรั้งความยุ่งยากระยำของตัวเองด้วยมือที่เปิดขวดเหล้า

คนแคระเวลาเมาก็มีสิทธิ์คิดว่าตนเองเป็นยักษ์

แน่นอน การกินเหล้าหมายถึงกินเงิน แต่มันเป็นเงินที่น่ากิน

ผมไม่เคยเกลียดตีนที่มันพาเดินเข้าบาร์

นักเขียนไม่มีสิทธิ์เป็นคนแปลกหน้ากับผู้อ่าน
บาร์เทนเดอร์ไม่มีสิทธิ์เป็นคนแปลกหน้ากับคนกินเหล้า

เหตุผลต่อมา ผมไม่คิดว่าในการกินเหล้า คนเราจำเป็นต้องห่มธงชาติ

ผมเกือบยัดแก้วเหล้าใส่ปากเคี้ยวกิน

แล้วเราก็ลงมือกินมันแบบส้วมซึม คือ กินเหล้าเปล่าๆ

เราไม่ควรลืมเพื่อนอีกคนผู้เดินส่ายเอวและปรารถนาดีกับทุกคนในอ้อมแขนของความเมา