วันอาทิตย์, ตุลาคม 29, 2549

ข้อสังเกต

หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยาผ่านมาได้เดือนเศษ มีข้อสังเกตหลายข้อ

๑. การเข้าพบเปรมของพจมาน ตีความได้สองนัย นัยแรก เป็นคุณแก่เปรม คือ เปรมเป็นคนใจกว้าง เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ไม่โกรธแค้น ต้องการให้บ้านเมืองเกิดสมานฉันท์ นัยสอง เป็นคุณแก่พจมาน คือ เปรมเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญจริง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังคณะรัฐประหารและรัฐบาล

๒. สนธิ และเหล่าคอลัมนิสต์ในผู้จัดการ เริ่มกลับลำหันมาอัดคณะรัฐประหารและรัฐบาลทหาร

๓. สนธิ หัวหน้าคณะรัฐประหาร เริ่มเปิดให้สื่อสัมภาษณ์เต็มๆ ต้องจับตาดูเครือเนชั่นด้วยว่าเหตุใดจึงได้สัมภาษณ์แบบเอ็กซคลูซีฟเพียงค่ายเดียว (ไม่นับสรยุทธ ช่อง ๙ เพราะเป็นสื่อของรัฐบาล) คำสัมภาษณ์ของพล.อ.สนธิ มีหลายประเด็นน่าคิด เช่น เตรียมการรัฐประหารมานาน แต่ที่พูดกับเนชันว่าบอกทักษิณไปสองครั้งแล้วว่าจะรัฐประหาร มาพูดกับสรยุทธกลับบอกว่า “พูดเล่น” หรือ กรณีห้ามทักษิณกลับประเทศไทย หรือ กรณีบอกว่าบ้านเมืองจะนองเลือดหากไม่รัฐประหาร (แล้วทำไมไม่ป้องกันไม่ให้มันนองเลือดล่ะ?)

ขอยกบางท่อนบางตอนที่น่าคิด ดังนี้
• ความจริงแล้วคุยกันเพื่อวางแผนไว้ล่วงหน้านานหรือยัง?
6-7 เดือน นานแล้ว ตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บอกว่า ผบ.ทบ. ท่านนี้ และระดับพวกผมจะไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “พ.ต.ท.ทักษิณ เคยถามว่าผม ท่านจะปฏิวัติผมหรือไม่ ผบ.ทบ. ผมก็บอกไปว่า ปฏิวัติ (ซึ่งคำพูดดังกล่าวพูดในระหว่างการรับประทานอาหารเย็นร่วมกับ ผบ.เหล่าทัพ ที่ทางกองทัพอากาศเป็นเจ้าภาพ ซึ่งแต่ละกองทัพจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ) นอกจากนี้ยังถาม ผบ.เหล่าทัพคนอื่นว่าจะปฏิวัติผมด้วยหรือไม่ ผบ.เหล่าทัพท่านอื่นก็บอกว่าก็ด้วย” “ท่านถามผมตรงนั้น ผมก็ตอบตรงนั้น หลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ตามผมอีกครั้งนี้ ในระหว่างที่เรียกผมไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล และก็ถามคำเดิมว่า ผบ.ทบ. จะปฏิวัติผมอยู่อีกหรือไม่ ผมก็ตอบไปว่า ผมยังพูดเหมือนเดิม ซึ่งตอนนั้นผมไม่ได้บอกว่าปฏิวัติหรือไม่ปฏิวัติ แต่ผมพูดเหมือนเดิม”

• หาก พ.ต.ท.ทักษิณ เหมาเครื่องบินกลับมาเลยโดยที่ไม่สนใจ
ผมไม่ให้ลง จะมาต้องบอกผม ถ้าไม่บอกผม ผมไม่ให้มา

• มีการวิเคราะห์ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางกลับมาประเทศไทย โดยจะให้ทหารจับ โดยจะทำเหมือนอองซาน ซูจี ที่ถูกทางการพม่าจับกุมตัวไว้
คงไม่ แต่ผมคงไม่ให้ลงแน่นอน

อ่านบทสัมภาษณ์ พล.อ.สนธิ ได้ที่นี่

๔. นักวิชาการหลายคนออกมาร่วมต้านมีชัยไม่ให้เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่ง“คณะรัฐประหาร” (ไม่ใช่แห่งชาติ เพราะทหารเลือกกันมาเอง) ก็น่าแปลก มาค้านมีชัย แต่ทำไมไม่ค้านรัฐประหาร ค้านที่คน ไม่ค้านหลักการ

๕. ผ่านมาเดือนกว่า คณะรัฐประหารเริ่มอยู่ในช่วงขาลง เร็วเกินคาด พวกที่ร่วมด้วยช่วยกัน (ทั้งเจตนาและไม่เจตนา) ผลักดันให้เหตุการณ์มาถึงจุดนี้ เริ่มแตกคอกันเอง อย่างที่ผมเคยบอกกับโอเพ่นไปแล้ว คณะรัฐประหารทำงานลำบาก เพราะ มีศึกรอบด้าน

หนึ่ง ขั้วอำนาจเก่า หรือที่คณะ รปห เรียกว่า “คลื่นใต้น้ำ” สอง กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งรวมเอาหลายกลุ่มที่มีแนวคิดต่างกัน เมื่อตัวปัญหาในความคิดของพวกเขาอย่างทักษิณไปแล้ว ก็ถึงตาที่พวกเขาจะเรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นการยากที่คณะ รปห จะตอบสนองได้หมดทุกกลุ่ม สาม กลุ่มเสรีชนยึดหลักการไม่เอารัฐประหาร สี่ สื่อมวลชน เป็นธรรมดาที่สื่อจะปล่อยให้รัฐบาลฮันนีมูนสักระยะ แล้วก็จะเริ่มอัดรัฐบาล ห้า กลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ

คณะ รปห ต้องทำใจว่าเมื่อขึ้นมาด้วยวิธีการอัปลักษณ์ ก็ต้องใช้เวลานานในการเรียกหาความชอบธรรมเพื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ยิ่งสมัยนี้โลกไร้พรมแดน จะปิดหูปิดตาด้วยวิธีการโบราณคงยากเสียหน่อย

๖. ต้องจับตาดูต่อไปว่า คณะ รปห จะอดทน ใจเย็นได้นานเท่าไร ยิ่งต่อไปหากมีการชุมนุมมากขึ้น กดดันมากขึ้น คนเริ่มกลับมาด่าคณะ รปห มากขึ้น ด้วยธรรมชาติของทหาร จะอดทนได้นานแค่ไหนที่จะไม่ใช้อาวุธ ก็น่าสงสัยอยู่

.........................

ทราบข่าวมาว่า วันที่ ๑ พ.ย. จะมีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ที่สนามหลวง

อยู่ทางนี้ ทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากเป็นกำลังใจ เอาใจช่วย และภาวนาให้ทุกคนปลอดภัย

โอ้ราชดำเนินถนนแห่งเสรีชน
สวรรค์เบื้องบนรู้ดีเราสู้เพื่อใคร
เพื่อประชาชน เพื่อชาติ ประชาธิปไตย
แผ่นดินอยู่รอดปลอดภัย
เพราะเราคนไทยไม่เห็นแก่ตัว

โอ้ราชดำเนินทอดยาวเรื่องราวต่อสู้
ทุกคนได้รู้ ยามสู้คนไทยไม่กลัว
ไตรรงค์สะบัด โบกพัดในคืนสลัว
แม้ปืนเจ้ายิงถี่รัวระงมไปทั่วท้องราชดำเนิน

ดำเนินก้าวเดินต่อไปข้างหน้า
แด่มวลประชา ผู้กล้าท้าเผด็จการ
ราษฎร์เป็นชาติพลี ชีพนี้ชั่วกาลนาน
อยู่กับลูกกับหลาน อยู่กลางใจพานประชาธิปไตย

ดำเนินก้าวเดินต่อไปข้างหน้า
แด่มวลประชา ผู้กล้าท้าเผด็จการ
ราษฎร์เป็นชาติพลี ชีพนี้ชั่วกาลนาน
อยู่กับลูกกับหลาน อยู่กลางใจพาน ณ ราชดำเนิน

วันอาทิตย์, ตุลาคม 22, 2549

มีการ์ตูนมาฝาก


มีการ์ตูนจาก "เซีย" แห่งไทยรัฐมาฝาก

เข้าใจว่าน่าจะเป็นการ์ตูนล้อการเมืองเสียดสี "รัฐ (ประหาร) บาล" ที่แรงที่สุดในขณะนี้

วันเสาร์, ตุลาคม 21, 2549

ความเห็นของธเนศต่อรัฐประหาร ๑๙ ก.ย.

ธเนศ วงศ์ยานนาวา เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ "รัฐประหารกับความชอบธรรมทางการเมือง" ที่คณะรัฐศาสตร์ มธ. เมื่อวันที่ ๑๓ ต.ค.
ผมไปเจอใน http://invisiblenews.exteen.com/
เจ้าของบล็อกรวบรวมคำอภิปรายของธเนศไว้ละเอียดดี

อ่านแล้วชอบ จึงอยากแบ่งปันกัน

...............

เสียงสะท้อนถึงปัญญาชนสาธารณะบางคนกับการรัฐประหาร
เวลาเราพูดถึงปัญญาชนสาธารณะจำนวนหนึ่งว่าจะมาเป็นหมอนรองรับให้คปค. มันทำให้ผมคิดถึงรัฐบาลคุณธานินทร์ กรัยวิเชียรขึ้นมาทันทีว่า รัฐบาลธานินทร์มันเป็นหอย แล้วคณะปฏิรูปคือเปลือกหอย เพราะฉะนั้นผมก็เลยเกิดคำถามว่าปัญญาชนสาธารณะที่เข้าไปทำงานให้กับคปค. เช่น อาจารย์บรรเจิดและอาจารย์สุรพล แกจะกลายเป็นหอยหรือเปลือกหอย? ผมคิดว่าคนพวกนี้น่าจะกลายเป็นเปลือกหอยมากกว่า เพียงแต่ผมไม่รู้ว่าเปลือกของแกนั้นจะหนาแค่ไหน เพราะว่ามันคงต้องทนแรงกระแทกอีกเยอะ

อนาคตและความทรงจำอันแสนสั้นของสังคมไทย
ผมมองว่าสถานการณ์ต่อไปนี้จะเกิดการเผชิญหน้าที่ทำให้หอยถูกบดขยี้และศูนย์กลางแห่งอำนาจของสังคมไทยจะต้องประสบปัญหามากขึ้น เพราะสังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมอีแอบอีกแล้ว ในขณะนี้ชนชั้นนำทางการเมืองทุกคนเอาไพ่ออกมาวางบนโต๊ะเดิมพันกันหมด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนพวกนี้จะต้องเสริมสร้างพลัง ซึ่งผมคิดว่าเราต้องพิจารณาถึงพลังของศูนย์กลางแห่งอำนาจของสังคมไทยในอนาคตให้มาก ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปมันจะต้องเน้นไปที่พลังของศูนย์กลางแห่งอำนาจในอนาคต

เราจะต้องคิดกันต่อไปว่าพลังของศูนย์กลางแห่งอำนาจในอนาคตดังกล่าวจะอยู่อย่างไรต่อไปภายในโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะฉะนั้น คุณจึงไม่สามารถมองการรัฐประหารครั้งนี้อย่างแยกขาดออกจากประเด็นเรื่องพลังของศูนย์กลางแห่งอำนาจของสังคมไทยในอนาคต ซึ่งคุณก็ควรจะต้องย้อนกลับไปดูกรณี 6 ตุลา แต่ผมเห็นด้วยว่าความทรงจำของประเทศไทยมันค่อนข้างที่จะสั้น ทว่าความจริงแล้วไม่ได้เป็นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่มีความทรงจำสั้น แต่มันเป็นตรรกะของรัฐประชาชาติที่คุณจะต้องเลือกลืมและเลือกจำ ด้วยเหตุนี้ทุกชาติจะต้องมีความทรงจำที่สั้น โดยเฉพาะความทรงจำในเรื่องที่ไม่สะอาด มิฉะนั้นแล้ว ก็คงจะไม่มีคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ เพราะเวลาคุณเข้าห้องน้ำคุณก็ต้องใช้กระดาษชำระ อะไรที่สกปรกมันก็ต้องถูกชำระออกไป

Coup d'Etat, รัฐที่ไม่สามารถประหารได้, กระบวนการที่ต้องดำเนินต่อไปของประชาธิปไตย และการ “ปฏิวัติ”
ถ้าคุณดูการรัฐประหารปี 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ คุณจำได้มั้ยว่าวีรบุรุษสะพานมัฆวานคือใคร? วีรบุรุษสะพานมัฆวานก็คือคุณอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นคนเปิดสะพานให้นักศึกษาเดินข้ามไปเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะและป้องกันการเสียเลือดเนื้อ ข้อโต้แย้งแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน ตอนจอมพลถนอมทำรัฐประหารปี 2514 เสียเลือดมั้ยครับ? ไม่เสียเลยสักบาทเดียว ตอนรัฐประหารรัฐบาลคุณธานินทร์ก็ไม่ได้เสียเลือดเสียเนื้อ และตอนรสช.ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราบอกว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็น bloodless coup ผมอยากบอกว่ารัฐประหารครั้งไหน ๆ มันก็ไม่เสียเลือดเนื้อทั้งนั้น

ผมเห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้มันมีความชัดเจนที่สุดในการเป็น Coup d'Etat ถ้าเราย้อนกลับไปดูรากศัพท์ของคำว่า Coup d'Etat คำ ๆ นี้เกิดขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่อใช้อธิบายวันที่ถูกเรียกว่า the day of the dupes ในคริสต์ทศวรรษ 1620 ที่ Richelieu จัดการศัตรูทางการเมืองให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 กษัตริย์ฝรั่งเศส (ดูประวัติอย่างย่นย่อของ Richelieu ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Richelieu) เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า Coup d'Etat ครั้งนี้เป็นครั้งที่ไม่ได้คลาสสิก แต่เป็นครั้งที่ผมถือว่าเป็น prototype (รูปแบบดั้งเดิม) เลยทีเดียว

Coup d'Etat หมายถึงการประหารรัฐ แต่เราประหารรัฐได้มั้ย? เราประหารรัฐไม่ได้ เพราะรัฐคือสิ่งที่ไม่มีตัวตน นับตั้งแต่ Hobbes เป็นต้นมา มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า personal state อีกต่อไป รัฐเป็นสิ่งที่ impersonal เพราะฉะนั้นรัฐไม่มีวันตาย เมื่อรัฐไม่มีวันตาย รัฐจึงอยู่เหนือสิ่งอื่นใด สำหรับผม รัฐคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เพราะคุณฉีกรัฐไม่ได้ เมื่อคุณฉีกรัฐไม่ได้ รัฐจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องหันหลังพิงหรือไม่ก็ต้องก้มลงกราบ ดังนั้นรัฐจึงสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และสิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐก็คือความมั่นคง ด้วยเหตุนี้ตรรกะในการอธิบายสถานการณ์ทางการเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาภายใต้สิ่งที่เรียกว่าการสมานฉันท์ กอดกัน จูบกัน หรือสามัคคี จึงเป็นตรรกะของรัฐประชาชาติที่ต้องการความมั่นคง แต่ไม่ได้เป็นตรรกะของระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้นต้องมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอยู่แล้ว

สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจึงแสดงให้เห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยของไทยดำเนินไปอย่างเข้มข้นแล้ว ด้วยการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลทักษิณ เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนกรณี 6 ตุลา เพราะไม่ว่ารัฐบาลทักษิณจะปกป้องหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยคือกระบวนการที่จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อบรรลุถึงความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีที่ไหนในโลกนี้ในสายตาของผมที่เป็นเสรีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากเสรีประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับโลกสมัยใหม่ที่เป็น unfinished project ตามแนวคิดของ Habermas คือเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินต่อไป ไม่ใช่เป็น substantive democracy ที่คุณสามารถจะหยิบฉวยเนื้อหาหรือแก่นสารของมันออกมาได้

ผมคิดว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการสร้างจารีตแบบไทย ๆ เพราะถ้าถามว่ารัฐประหารมีความชอบธรรมมั้ย? ผมขอตอบว่าชอบ “ทำ” ครับ เพราะเราทำมาหลายครั้งแล้ว จึงเป็นสิ่งที่เราชอบทำ หรือถ้าเราคิดในกรอบของภาษาไทยรัฐประหารจะมีความชอบธรรมมั้ย? หากธรรมะหมายถึงธรรมชาติภายใต้เงื่อนไขของสังคมนี้ รัฐประหารมันก็ชอบธรรมเช่นเดียวกับการมีแรงงานเด็ก เช่นเดียวกับการที่ผัวมีเมียน้อย เช่นเดียวกับการทำร้ายเด็กจำนวนมากที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่เรารู้สึกอับอายขายหน้า ผมคิดว่านั่นมันก็ชอบธรรมหากพิจารณาว่าธรรมะหมายถึงธรรมชาติภายใต้เงื่อนไขของสังคมไทย ดังนั้นคนอย่างครูหยุยต่างหากที่ไม่ชอบธรรม เพราะแรงงานเด็กมันเป็นจารีตประเพณีอันดีงามของไทย สูงสองศอกหนึ่งคืบเขาก็เอาไปสักเลขแล้ว คุณจะเอาเด็กไว้หาพระแสงอะไรถ้าไม่ใช้มัน นี่คือจารีตประเพณีไทยอันดีงามที่เราจะต้องต่อต้านยูเอ็นแล้วเราก็ควรใช้แรงงานเด็กต่อไป

นอกจากนี้ควรไปบอกคุณระเบียบรัตน์ว่า การที่ผัวมีเมียน้อยก็เป็นจารีตอันดีของคนชนชั้นสูงไทย เพราะเมียของไทยนั้นไม่ใช่มีเมียน้อย นี่เป็นวิธีคิดแบบฝรั่ง แต่เมียของเรานั้นมีหลายเมีย ตั้งแต่เมียทาสเมียเชลย ไปจนถึง เมียพระราชทาน เราจึงต้องรักษาจารีตอันนี้ไว้ต่อไป การมีผัวเดียวเมียเดียวเป็นวิธีคิดแบบคริสเตียนนิตี้ แต่ผมอยากรู้ว่าปัจจุบันเราต้องการมีเมียแบบไทย ๆ มั้ย? ตอนนี้เราก็จะเริ่มไม่พอใจแล้ว เพราะเห็นว่ามันไม่เป็นอารยะ

กลับมาที่คำว่า “ปฏิวัติ” ซึ่งเป็นคำที่สร้างโดยบรรพบุรุษของพวกคุณ คือพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าที่เอียงข้างประชาชน ผมอุตส่าห์เรียกซะอย่างดีเลยนะครับ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรเรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ว่า “ปฏิวัติ” มันคืออะไร? แล้วทำไมคนที่นั่งอยู่ริมน้ำ สายตาทอดมองไปสู่คลองบางกอกน้อยด้วยความเศร้าใจ จึงสร้างคำเรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ว่า “อภิวัฒน์” ในปี 2500 เพราะตามความคิดของพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 มันคือ ปฏิ+วัฏฏะ หมายถึงการหมุนกลับไปสู่เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ ที่นำไปสู่การอธิบายว่า เรามีประชาธิปไตยแบบไทย ๆ มาเป็นเวลานานแล้วก่อนปี 2475 ดูนะครับ นี่คือปัญญาชนสายราษฎรเมื่อเจอปัญญาชนสายเจ้าเป็นยังไงครับ? เดี้ยง ต้องใช้เวลาอีก 25 ปีกว่าจะคิดออก แล้วเรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ว่า “อภิวัฒน์” แต่เสียใจนะครับคำ ๆ นี้ไม่ติดตลาด เพราะคนพากันเรียกว่าการ “ปฏิวัติ” 2475

ดังนั้น ถ้าถามว่าเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน มันเป็นการ “ปฏิวัติ” มั้ย? มันก็คือการปฏิวัติที่กลับไปสู่รากเหง้าของไทย เพราะมันคือปฏิ+วัฏฏะ วัฏฏะคือการหมุน แต่เมื่อมีปฏิอยู่ข้างหน้าคุณก็ต้องหมุนกลับ แต่จะหมุนกลับไปไหน ก็คิดดูกันเอาเอง ผมคงตอบไม่ได้ เพราะถ้าผมตอบได้ ผมคงไม่มาเป็นอาจารย์ แต่คงไปนั่งดูหมอที่ท่าพระจันทร์แล้ว

ภาพอดีตที่คอยหลอกหลอนและความวิตกกังวลต่ออนาคตของชนชั้นนำในประเทศนี้
วิกฤตการณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและเป็นบทเรียนที่หลอกหลอนคนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนเก่า ก็คือวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถดึงมันออกไปจากการรัฐประหารครั้งนี้ได้ คุณลองกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มทุนทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนโบราณในปี 2540 เมื่อเคยไปถึงจุด ๆ นั้นแล้ว มันก็เป็นผลสะท้อนที่ทำให้ psyche (จิตใจ) ของคนชนชั้นนำที่ยึดกุมทุนเก่าหวาดวิตก และเมื่อคนเหล่านั้นมองไปที่คุณทักษิณ ก็เห็นว่าคุณทักษิณอาจนำพาพวกเขาไปสู่โลกของ financial shock (วิกฤตเศรษฐกิจ) ครั้งต่อไปได้ เพราะฉะนั้นคุณจะเห็นได้ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของรัฐบาลคุณทักษิณว่า ไม่มีประเด็นอะไรที่สำคัญไปกว่าเรื่องค่าเงินบาทและการจัดงบประมาณ วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 คือสิ่งที่มันคอยหลอกหลอน จนทำให้ในวันนี้หลายคนออกมาพูดจาสนับสนุนได้อย่างเต็มปากเต็มคำกับกรณีรัฐประหารที่เกิดขึ้น

แต่ในขณะเดียวกันถามว่าประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 19 กันยายนมันจะไปข้างหน้ามั้ย? หนังสือพิมพ์บางฉบับบอกว่า นี่คือการถอยหลัง 1 ก้าว เพื่อกระโดด 2 ก้าว ผมไม่ทราบว่าจะถอยหลัง 1 ก้าว หรือกระโดดไปข้างหน้า 2 ก้าว แต่ถ้าคุณเป็นชาวพุทธ หลังปี 2500 หรือกึ่งพุทธกาลเป็นต้นมา มันต้องมีแต่ความเสื่อม เมื่อมันเสื่อม ใครเสื่อมผมไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าความเสื่อมคือสิ่งที่คนชนชั้นนำของประเทศนี้ต้องวิตกกังวล และรัฐธรรมนูญฉบับหน้าก็จะเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญฉบับหน้าจะเป็นฉบับที่ไม่ compromise (ไม่ประนีประนอม) กับโครงสร้างทางอำนาจของกลุ่มอำนาจหลายกลุ่ม เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ตามความเห็นของผม ถูกเขียนขึ้นเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับพลังของศูนย์กลางแห่งอำนาจของสังคมไทย เพราะฉะนั้น ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยเรียกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ผมเรียกว่าฉบับนักวิชาการ แม้ผมจะไม่ปฏิเสธว่ามันมีข้อดีอะไรหลาย ๆ อย่าง

อนาคตของสังคมไทย (อีกครั้ง): ชนบท, กฎอัยการศึก และตรรกะของรัฐประชาชาติ
อย่างไรก็ตาม ในสายตาของผม โครงสร้างของชนบทในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล แต่ในเวลานี้ คนอีสานที่เดินทางกับรถล่อง คือ รถที่เอาคนอีสานไปส่งตามจุดต่าง ๆ ถึงที่ กลับต้องไปรายงานตัวให้ปลัดอำเภอรับทราบเมื่อเดินทางไปถึงที่หมาย แล้วปลัดอำเภอก็ต้องส่งเรื่องให้กับอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และแม่ทัพภาคตามลำดับ เนื่องมาจากการประกาศใช้กฎอัยการศึก เท่าที่ผมรู้ รัฐประหารครั้งที่ผ่าน ๆ มา รวมทั้งสมัยรสช. ไม่เคยมีสภาวะแบบนี้เกิดขึ้นในชนบท และชาวบ้านก็เริ่มถามกันแล้วว่า เมื่อไหร่จะเลิกทำแบบนี้? บางคนบอกว่าหนึ่งปี คุณสุรยุทธ์ก็บอกเมื่อวานนี้ว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นเวลาหนึ่งปีนั้นมันไม่นานหรอก แต่ desire (แรงปรารถนา) ของแกที่จะมาเป็นนายกฯ มันกลับยังไม่ถึงหนึ่งปีเลย

ผมคิดว่าสังคมไทยในระยะเวลาต่อไปจะแตกต่างไปจากโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบทักษิณที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งผมถือว่านั่นคือกระบวนการของประชาธิปไตยที่ทำให้ผู้คนแตกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย และผมคิดว่านั่นคือความชัดเจนซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับกระบวนการประชาธิปไตย ที่ผู้คนนั้นจะเลือกข้างและยืนกันอยู่คนละฝั่ง โดยที่คนต่าง ๆ เหล่านี้พร้อมที่จะพูดคุยและพร้อมที่จะตกลงกัน แต่แน่นอนในขณะเดียวกันคุณก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรุนแรงหรือการปะทะกันมันก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น ผมขอย้ำว่าวิธีคิดของเราหรือสังคมไทย มันคือวิธีคิดของรัฐประชาชาติมากกว่าที่จะเป็นของระบอบประชาธิปไตย และผมคิดว่านักวิชาการจำนวนมากก็ยืนอยู่ในกรอบความคิดของรัฐประชาชาติอันนี้

ถึงเพื่อนนักวิชาการ
ผมไม่เห็นด้วยกับคณะปฏิรูปฯ แต่ผมคิดว่ามันชอบ “ทำ” เพราะนี่มันคือวัฒนธรรมไทย ที่เราบอกว่าเรากำลังอยู่ในวงจรอุบาทว์นั้น ผมไม่คิดว่าหลายคนเขาจะคิดว่ามันเป็นวงจรอุบาทว์ แต่ตามความคิดของเขามันเป็นวงจรแห่งการสรรเสริญ เป็นวงจรแห่งวันมหาปิติมากกว่า ถ้าคุณลองไปสำรวจอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนสังคมศาสตร์จำนวนมาก แล้วเช็คดูว่าคนที่สนับสนุนการรัฐประหารนั้นอายุเท่าไหร่ ผมเดาว่าส่วนใหญ่แล้วมันคือคนหัวหงอกรุ่นผม แต่เผอิญผมเสือกไว้ผมยาวไม่ได้ตัดผมสั้น ผมก็เลยไม่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะฉะนั้นปัจจัยเรื่องอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญและน่าสนใจมาก

เมื่อสักครู่มีคนมาถามผมว่าคิดอย่างไรกับคนที่ไปเข้าร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลา แล้วปัจจุบันหันมาอยู่ร่วมกับฝ่ายมีอำนาจ ผมว่าคุณก็ต้องเห็นใจเขานะ ว่าเมื่อคนเราแก่แล้ว นักวิชาการหลายคนก็มีลูกมีเมียที่จะต้องเลี้ยง ถ้าคุณไปบอกว่า ไอ้ห่า! กูไม่เห็นด้วยกับคณะปฏิกูล ทุกคนก็จะบอกว่า ก็มึงไม่มีลูกไม่มีเมีย มึงก็พูดได้สิ ไอ้เหี้ย! ถูกจับไปมึงก็ไม่ต้อง worry (วิตกกังวล) แต่กูมีลูกมีเมียนี่ อันนี้ผมไม่ได้พูดเล่นนะครับ เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อคุณอายุเพิ่มมากขึ้น ชีวิตคุณแก่ขึ้น คุณเห็นอะไรมามากขึ้น network (เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม) ของคุณมากขึ้น คุณก็ไม่พร้อมหรอกครับที่จะเสียสิ่งพวกนี้ไป เพราะทุกวันนี้ แม้กระทั่งเพื่อน ๆ ของผมเอง ผมก็ยังไม่อยากเจอ เพราะว่าถ้าเจอแล้วเดี๋ยวมาพูดกันเรื่องนี้ แม่งก็ทะเลาะกันเปล่า ๆ สังคมไทยมันเป็นสังคมซึ่งต้องลูบหน้าปะจมูก

แล้วผมก็ขอพูดให้คุณฟังว่า นักวิชาการต่างประเทศชื่อดังหลาย ๆ คน หลาย ๆ คู่ ในที่สุดก็ต้องทะเลาะกันเพราะเรื่องการเมือง ดังนั้นผมก็ต้องนั่งสงบสติอารมณ์และเตือนสติของตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า ระหว่างเพื่อนกับการเมืองผมเอาอันไหน? ผมบอกชัดเจนกูเอาเพื่อน ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากเมื่อเรามองถึงโครงสร้างความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเวลานักวิชาการทะเลาะกัน ไม่ว่านักวิชาการจะมองเห็นหรือไม่เห็นโครงสร้างดังกล่าวก็ตาม ก็คือ ถ้าใครดูหนังของ Woody Allen ชื่อ Stardust Memories แล้วผมก็เคยเอามาเขียนลงในรัฐศาสตร์สารเล่มปัญญาชน เขาจะบอกว่า “intellectuals they are like a mafia they only kill each other” “ปัญญาชนเนี่ยมันเหมือนมาเฟีย มันไม่ฆ่าคนอื่นหรอก มันฆ่าพวกเดียวกันเอง” เพราะฉะนั้น การที่นักวิชาการขัดแย้งกันมันก็เป็นเรื่องธรรมดา คุณจะให้ผมไปด่าคุณสนธิเหรอ มันก็พูดกันไม่รู้เรื่อง ผมก็ต้องด่าพวกเดียวกันเองก่อน เพราะผมก็เป็นมาเฟียที่ kill each other เหมือนกัน แต่ก็ kill มากไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะเสียเพื่อน มันก็ต้องด่าแบบพอหอมปากหอมคอ คือ ด่าแต่พอเพียง

การยึดทรัพย์, “แพะ” เกิดซวย และ “ระบอบทักษิณ”
ผมอยากจะพูดเรื่องประเด็นการยึดทรัพย์ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของการยึดทรัพย์ก็คือ ผมกำลังสงสัยว่ามันจะเหมือนกับกรณีเพชรซาอุฯ มั้ย? มันเกิดอะไรขึ้นกับเพชรซาอุฯ ผมกำลังสงสัยว่าด้วยโครงสร้างทางอำนาจที่มันเกี่ยวโยงกันหมดขนาดนี้ ในที่สุดแล้วมันก็ต้องมีคนที่จะมาเป็น ชลอ เกิดซวย คือต้องมาเป็นแพะรับบาป เพราะมิฉะนั้นแล้ว คุณก็จะต้องมี tension (ความตึงเครียด) ในสังคมสูงมาก

แต่ในขณะเดียวกัน กรณีซุกหุ้นทั้งหมดของคุณทักษิณและการที่คุณทักษิณรอดคดีขึ้นมาเป็นนายกฯได้ก็เพราะโครงสร้างทางอำนาจที่มันเกี่ยวโยงกันหมดในสังคมไทยไม่ใช่หรือ? และผมก็ไม่เชื่อว่าเคยมี “ระบอบทักษิณ” มันไม่มี “ระบอบทักษิณ” ไอ้นี่มันเป็นสิ่งที่นักวิชาการแม่งสร้างผีขึ้นมาหลอกตัวเอง คุณคิดดูสิว่ามีอะไรหลายอย่างในประเทศนี้ที่อยู่มาเป็นเวลานาน แต่พอถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง คุณก็เริ่มหวาดวิตกใช่มั้ย? แล้วคุณจะบอกได้ยังไงว่ามันมีระบอบ มันไม่มี สังคมไทยมันอยู่กับตัวบุคคลทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อทักษิณไป ทุกอย่างแม่งก็ไป แล้วมันจะมีระบอบได้ยังไง? ผมก็ไม่รู้ว่า ทักษิณ system หรือ ทักษิณ regime นี่มันเป็นยังไง? ผมอยากเจอจริง ๆ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้า “ระบอบทักษิณ” ถูกเชื่อว่ามีจริงก็คือ คุณจะต้องเผชิญกับชลอ เกิดซวย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กรณีเพชรซาอุฯ อีกครั้ง

การเมืองกับหนังโป๊
เมื่อการเมืองไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่คุณคาดหวัง ถ้าถามว่าประเทศไทยมันจะไปถึงไหน ผมไม่สามารถพูดแบบคน generation ผม ซึ่งถูกกงล้อประวัติศาสตร์บดขยี้ตีนไปเรียบร้อยแล้ว แต่ผมคิดว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะ อย่างน้อยที่สุด เวลาคุณเดินขึ้นไปบนอำเภอ มันก็ไม่เหมือนสมัยผมตอนอายุ 10 ขวบ เดินขึ้นไปบนอำเภอ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป แต่ถามว่ามันเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่เราคาดหวังมั้ย? ไม่ใช่ครับ สิ่งที่เราคาดหวังก็คือ เราคาดหวังว่าเมื่อเราเดินออกไปแล้วจะมีบีเอ็ม ซีรี่ส์ 7 มารอรับเรา

ผมถึงพูดมาตลอดเวลาว่า ความคาดหวังทางการเมืองของคนในสังคมไทยหรือสายสัมพันธ์ระหว่างคนดูการเมืองกับการเมืองมันเหมือนหนังโป๊ คุณก็รู้ว่าทำไมคุณถึงดูหนังโป๊ เพราะคุณรู้ว่าเมียที่บ้านคุณนมไม่ใหญ่ สามีที่บ้านคุณเจี๊ยวไม่ใหญ่ขนาดนั้น และร่วมเพศไม่ได้เก่งขนาดนั้น ทั้งหมดมันก็คือ projection (ความคาดหวัง) ที่คุณอยากจะมี ในสิ่งที่ตัวคุณเองไม่มี ในที่สุดแล้ว ทุกคนก็ไม่เคยเล่นตามกติกา เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่เล่นตามกติกา ขี้โกง อีกฝ่ายหนึ่งก็ขี้โกง ละเมิดกติกาบ้าง เช่น เมื่อทักษิณเป็นเผด็จการอย่างนี้ คุณแก้ไม่ได้ คุณก็ปฏิวัติ ทั้งหมดคือการเผชิญหน้ากันของคนขี้โกงเมื่อเจอกับคนขี้โกงด้วยกัน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คุณไม่เคยสนใจวิถีทางใด ๆ ทั้งสิ้น คุณมองแต่เพียงว่าเป้าหมายของคุณนั้นเป็นอย่างไร และอะไรก็ได้ที่บรรลุเป้าหมายอันนั้นก็โอเค

ผมหมายความว่า มันไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กันทุกคน คือมันก็พอกันน่ะ เพราะในที่สุดแล้ว คุณก็อยู่ในโครงสร้างอันนี้ ซึ่งคุณไม่เคยทำอะไรที่มันโปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้น เช่น คุณไม่เคยรู้ว่ากระเป๋าตังค์ของคนบางคนมีกี่ตังค์ใช่หรือเปล่า?

คำถามจากผู้ฟัง
ผู้ฟัง ถ้าเกิดสังคมนี้มีคนขี้โกงสู้กัน ฝ่ายหนึ่งชนะ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งออกนอกประเทศไป แล้วมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าโกงหรือไม่โกงเข้ามาร่างกฎเกณฑ์ของสังคม อะไรคือหลักเกณฑ์ว่ากฎเกณฑ์นั้นมันจะดีหรือไม่ดี? หรือว่ามันมีอะไรเป็นสากลหรือไม่?
ผมคิดว่าในประเทศไทยมันชัดเจนอยู่แล้ว คือ สังคมนี้เป็นสังคมที่อย่างน้อยที่สุด พุทธศาสนาไม่เคยบอกว่าคุณเท่าเทียมกันนะครับ คุณมีกรรมแต่ชาติปางก่อน ผมก็ไม่รู้ว่าชาติที่แล้วคุณมีกรรมอะไร คุณกับผมต่างคนต่างไม่รู้ ยกเว้นคนระลึกชาติได้ เพราะฉะนั้น เมื่อคนมันไม่เท่าเทียมกันผ่านความคิดเรื่องกฎแห่งกรรม คุณก็ไม่ต้องพูดตั้งแต่เริ่มต้นว่า ระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้นมันคืออะไร เพราะคุณไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ดังนั้น สำหรับผมระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยมันถูกหักขามาตั้งแต่เริ่มต้น โดยไม่ต้องมีคุณทักษิณ คุณจะมีคุณทักษิณ หรือไม่มีคุณทักษิณก็ตาม นี่คือโครงสร้างของสังคมไทย

ผู้ฟัง แล้วเราทำไมต้องดำเนินระบอบประชาธิปไตยต่อไป?
เป็นคำถามที่ดีมากเลยนะครับ มันเหมือนกับที่ผมพูดเมื่อสักครู่นี้แล้วว่า บรรดาพวกผู้หญิงทั้งหลายจะยอมรับให้ผัวของคุณมีเมียน้อยมั้ย? แน่ะ มีคนในนี้ส่ายหน้า ยึก ยึก ยึก บอกไม่เอา คุณจะยอมรับมั้ยถ้าให้เด็กแม่งเป็นแรงงานเด็ก? คือถ้าคุณยอมรับสิ่งพวกนี้ ก็โอเค ไม่เห็นเป็นปัญหา สังคมไทยก็ไม่ต้องดำเนินไปตามระบอบประชาธิปไตยเพราะมันขัดกับจารีตแต่เดิมของเรา ผมไม่เป็นปัญหาอยู่แล้ว อะไรก็ได้ บอกมาสิ ว่ามึงจะเอายังไง?

ปัญหาของสิ่งที่มันเกิดขึ้นตอนนี้ ถ้าคุณอ่านคำอธิบายข้อโต้แย้งของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกิรติ ที่มีต่องานเขียนของอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร (อ่านได้ใน www.onopen.com) ก็คือว่า มันไม่เคยมีใครออกมาประกาศว่า จุดยืนของกูคือกูไม่เอาประชาธิปไตย กูคืออเสรีนิยม ดังนั้น ถ้าคุณประกาศจุดยืนตรงนี้อย่างชัดเจน มันก็จะทำให้เราสามารถบอกตำแหน่งของผู้คนต่าง ๆ ในสังคมได้ ซึ่งผมว่าไม่เห็นเสียหายอะไร

เมื่อวันก่อนมีหนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ผม ผมก็บอกว่าประเทศไทยควรจะให้มีพรรคคอมมิวนิสต์เสียด้วยซ้ำ เพราะในที่สุดแล้ว จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนมันประกาศจุดยืนของตัวเองว่า คุณนั้นเป็นอะไร แต่ทุกวันนี้ การเมืองไทยเป็นแบบที่ผมไม่รู้จะเรียกว่าอะไร มีคนเขาบอกให้ผมเรียกว่าการเมืองแบบอีแอบ ถ้าคุณดูในประวัติศาสตร์ยุโรป คุณจะเห็นได้ว่าการเมืองแบบอีแอบนั้นมันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาตลอดเวลา โดยพวกชนชั้นสูงและขุนนาง เพราะฉะนั้น มันก็เป็นเรื่องปกติ คำถามคือคุณจะยอมรับสิ่งพวกนี้ได้หรือไม่? ถ้าคุณยอมรับได้ คุณก็ไม่ต้องมีระบอบประชาธิปไตย คุณกล้ายอมรับมั้ยล่ะ? คุณกล้ายอมรับที่จะออกมายืนบอกมั้ยว่า fuck democracy go to hell I don’t need a fuck I want dictator คุณกล้ามั้ย? ผมว่าถึงที่สุดแล้ว มันไม่มีใครกล้าที่จะออกมายืนพูดว่า ไม่เอา กูต้องการฮิตเลอร์ เพราะสังคมไทยแม่งเหมาะสม

แต่คุณก็อย่าลืมว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าคุณยังไม่เคยพูดถึงกัน นั่นก็คือเรื่อง mood (สภาวะทางอารมณ์) ของคน ผมอยากให้คุณไปอ่านบทความของอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในเนชั่นสุดสัปดาห์เล่มล่าสุด ที่แปลบทความในหนังสือคลาสสิกชื่อ “The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics”ของ S.E. Finer โปรเฟสเซอร์จาก LSE ที่ตายไปแล้ว ซึ่งอธิบายเรื่องทหาร ประเด็นอันหนึ่งก็คือการอธิบายเรื่อง mood และเรื่อง motive ของทหาร ทุกวันนี้ที่คุณบอกว่าไปมอบดอกไม้ให้ทหาร คุณกลับไปดูปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ก็ทำแบบเดียวกันกับเหตุการณ์ 19 กันยายน ถามว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2514 ตอนที่จอมพลถนอมปฏิวัติตัวเอง คน happy หรือไม่? ผมคิดว่าคนแม่งก็เบื่อพรรคสหประชาไทยฉิบหาย

นี่ก็นำมาสู่รูปแบบทางการเมืองที่ผมถูกพร่ำสอนมาว่า คุณจะต้องมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่พอถึงเวลานี้ ทุกคนก็ปัดตูดหนีไป ไม่มีใครบอกว่า เฮ้ย! กูเป็นนักวิชาการ กูคิดแบบนี้เอง เพราะฉะนั้น กูขอออกมารับผิดชอบว่า กูเขียนรัฐธรรมนูญแบบที่ทำให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ผมถามว่าประชาชนตาสีตาสาที่ไหนจะรู้ว่าเราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่? เพราะไอเดียทั้งหมดนี้มันเป็นกระแสของโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา ดังนั้น นักวิชาการทุกคนที่ไปเรียนเมืองนอก ก็จะกลับมาอธิบายไอเดียเรื่องพรรคการเมืองขนาดใหญ่แบบนี้ แต่นักวิชาการไม่เคยรับผิดชอบเหี้ยอะไรทั้งสิ้น ถึงเวลาก็ปัดตูดไป เพราะกูร่างเสร็จแล้ว กูได้เงินไปแล้วนี่ ใช่มั้ยครับ?

(มีผู้ฟังพูดแทรกว่า “ฟันแล้วทิ้ง”) คุณจะเรียกว่าฟันแล้วทิ้ง มันก็คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะนักวิชาการไม่มีความผูกพันทาง emotion (อารมณ์ความรู้สึก) กับรัฐธรรมนูญที่เขาร่างขึ้นมาขนาดนั้นหรอก สุดท้ายก็ต้องย้อนกลับมาถามว่า คุณกล้ามั้ยล่ะครับ? นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า ในที่สุดแล้ว เราทุกคนไม่มีใครกล้า ทุกคนก็เหนียม ๆ อาย ๆ กว่าจะออกมาก็สามสี่วันแล้ว เพราะต้องดูก่อนว่า เฮ้ย! มีใครไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติบ้าง พอถ้ามีคนเริ่มออกเสียงหน่อย คุณก็เฮ้ว ... ตาม ใช่มั้ย? ไม่มีใครอยากยืนโดดเดี่ยวหรอก คุณกล้ามั้ย? ที่จะออกไปยืนบอกว่า กูต้องการเผด็จการทหาร กูคิดว่านายกฯที่สุดยอดที่สุด คือ สุจินดา คราประยูร แต่คุณก็จะเห็นว่าในที่สุดแล้ว ลึก ๆ ของคนจำนวนมาก คน generation หนึ่งก็คิดถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช่มั้ย? เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณต้องถามตัวเองก็คือว่า ในที่สุดแล้ว คุณมี fascist desire ในตัวคุณรึเปล่า?

ผู้ฟัง อาจารย์คิดว่าการละเมิดกฎเกณฑ์ทางการเมืองครั้งนี้มันมีเสน่ห์ของมันหรือไม่?
โอ๊ย! แน่นอนมันมีเสน่ห์อยู่แล้ว ผมถึงพูดตลอดเวลาว่า ห้ามพูดปดใช่มั้ย? แต่ถ้าเราตดเราต้องบอกว่าอะไร? ก็ต้องบอกว่าเปล่า เพราะความสุขของเราคือการได้ละเมิด ผมพูดมาตลอดเวลาว่า มะม่วงที่คุณขโมยกินนั้น แม่งอร่อยกว่าที่คุณซื้อ ข้าวผัดที่มันเย็นชืดซึ่งคุณแอบกินหลังห้องเรียนเวลาคุณสอนหนังสือตอนมัธยมหรือประถม แม่งอร่อยที่สุด เพราะฉะนั้น คุณอย่าได้แปลกใจที่ว่าคนพวกนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ความภาคภูมิใจเท่านั้น ผมคิดว่าลึก ๆ แล้ว การที่มนุษย์ได้ละเมิดอะไรบางอย่าง มันคือการได้สนองตัณหาของตัวเอง

อีกข้อหนึ่งที่ผมคิดว่า คนจำนวนมากไม่ค่อยยอมพูดก็คือว่า ผมถามคุณคำหนึ่งว่า คนที่มาทำรัฐประหารครั้งนี้ ทำไมเวลานั่งแถลงข่าวกันหน้าถึงหงิก? ผมบอกคุณไปเลยว่า ถ้ามีประชุมกันครั้งไหนแสดงว่าตกลงกันไม่ได้ คุณกลับไปดูในประวัติศาสตร์สิ คุณไม่เคยพูดเลยว่านี่คือความขัดแย้งทั้งหมดของกลุ่มทหาร และรัฐประหารทุกครั้งก็เป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น เพราะถ้าคุณกลับไปดูข่าวก่อนหน้านี้ ก็มีการพูดถึงโผทหาร หรือคุณกลับไปดูเลยว่า ก่อน 14 ตุลาเกิดอะไรขึ้น เมื่อจอมพลประภาสลงจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก, ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังกรณี 6 ตุลา หลังการเกษียณของพล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์, เหตุการณ์ก่อนเมษาฮาวาย หรือแม้กระทั่งกรณี รสช. ทำไมมันต้องเป็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ คุณกลับไปเปิดดูเลยว่ารัฐบาลน้าชาติจะทำอะไร

เหตุผลทั้งหมดในการทำรัฐประหารมันก็คือคำอธิบายที่คุณจะต้องให้เพราะมันคือจังหวะที่คุณจะต้องทำ ผมอยากรู้ว่าผู้สื่อข่าวจะกล้าพูดมั้ยครับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีที่มาจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ คุณรู้อยู่แล้วน่ะ เช่น แน่นอนว่าสภานิติบัญญัติ คุณจะให้ใคร มันก็ต้องให้ old soldier never die คุณก็ต้องตอบแทนบุญคุณ

ผู้ฟัง อยากทราบว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ต้องให้ทหารรีเทิร์นอยู่เรื่อย ๆ อย่างนี้ จะมีในอนาคตอีกหรือไม่ครับ? ถ้ามีอีก จะมีการประยุกต์ให้มันเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมหรือไม่ครับ?
คุณเป็นพุทธรึเปล่าครับ? (ผู้ถามตอบ “เป็นครับ”) ถ้าเป็นพุทธ เวลาของพุทธนี่มันเป็นยังไงล่ะ มันไม่ได้เป็นเส้นตรงแบบฝรั่งใช่มั้ย แต่มันเป็นวงกลม เพราะฉะนั้นแค่ถามว่ามันจะพัฒนาหรือไม่ นั่นก็เป็นวิธีคิดแบบฝรั่งแล้ว เพราะของเราเนี่ยมันก็จะหมุนอยู่อย่างนี้ (ผู้ถาม “แล้วถ้าไม่ใช้คำว่าพัฒนา แต่เป็นบูรณาการเพื่อความมั่นคงล่ะครับ”) โอ๊ย! ถ้าบูรณาการเหรอครับ เขาก็บูกันอยู่ทุกวันแหละ เขาบู๊กับคุณอยู่ด้วยไม่ใช่บู ผมว่ามันก็เป็นเรื่องปกติ ผมถึงใช้คำว่า ชอบ “ทำ” เพราะมันต้องทำน่ะ

มีคนบอกว่าการปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้เป็นทางเลือก ผมถามว่า ไอ้ห่า! มึงคิดได้ยังไงว่าเป็นทางเลือกวะ คุณไปถามประธานาธิบดีชีรักซิว่า เฮ้ย! Coup d'Etat นี่มันเป็นทางเลือกของประเทศมึงรึเปล่า? สิ่งที่คุณเริ่มพูดว่ามันคือทางเลือก ก็แสดงว่ามันอยู่ใน cognitive structure (โครงสร้างการรับรู้) ของคุณแล้ว เพราะฉะนั้น รัฐประหารโดยทหารมันก็จะออกมาอยู่เรื่อย ๆ แต่อย่าคิดว่ามันจะมีความหมายของการถอยหลังเข้าคลองหรือเราสามารถหยุดยั้งมันได้นะครับ ผมคิดว่านี่คือ process (กระบวนการ) ที่คุณหยุดยั้งไม่ได้ ผมถามคุณว่า คุณจะเอา 14 ตุลากลับไปคืนได้มั้ย? คุณจะบอกผมว่ามึงไม่ต้องมีเสรีภาพ ขอโทษ คุณนั่งกันอยู่ตรงนี้เกิน 5 คนรึเปล่าวะ? เกิน (ผู้ถาม “ถ้าอย่างนั้นประชาธิปไตยของไทยมันก็ต้องเป็นแบบนี้ ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาเหมือนประเทศที่เจริญแล้วใช่หรือไม่?”) คุณไปดูสนามบินหนองงูเห่าก็แล้วกัน มันเป็นยังไง มันก็เป็นแบบนั้น

วันศุกร์, ตุลาคม 20, 2549

มีงานดีๆมาฝาก

เมื่อวานให้รางวัลกับตนเองด้วยการไปดูหนังเรื่อง The Queen

ไม่รู้ว่าที่เมืองไทยมีเข้าไปฉายหรือไม่ อย่างไรลองหาดูกันให้ได้นะครับ

หนังเกี่ยวกับปฏิกริยาของควีนอลิซาเบ็ธภายหลังจากเจ้าหญิงไดอาน่าเสียชีวิต พร้อมๆกับการขึ้นสู่อำนาจของโทนี่ แบลร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ ๒๐ ปี ของพรรคแรงงานที่ได้เป็นรัฐบาล

หนังเรื่องนี้จะเป็นเรื่องแต่งทั้งหมด หรือเป็นเรื่องจริงทั้งหมด หรือเป็นเรื่องกึ่งจริงกึ่งแต่ง ผมไม่อาจทราบได้ แต่ประเด็นสำคัญของหนัง ดูแล้ว ควรนำไปเก็บคิดต่อให้จงหนักอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องการ modernize สถาบันกษัตริย์

หนังยังให้ข้อคิดอีกว่า ในท้ายที่สุด ทั้งควีนทั้งแบลร์ ต่างแสวงประโยชน์จากการตายของไดอาน่าทั้งนั้น

เขาหาตัวแสดงได้เหมือนมากๆ ยิ่งเชอรี่ แบลร์ เมียของโทนี่ แบลร์ นี่หน้าเหมือนเด๊ะเลย

..............

มีงานดีๆของเกษม เพ็ญภินันท์มาฝาก เกษมเป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่ธรรมศาสตร์ จะว่าไปถือเป็นมือวางต้นๆในทางปรัชญาของธรรมศาสตร์ยุคนี้เหมือนกัน

ค่อนข้างยาว แต่อยากให้อ่าน

คัดลอกมาจากประชาไทเช่นเคย

หลักการแบบธรรมราชา ที่สังคมไทยเชื่อมั่นยึดถืออยู่ไปกันได้กับการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์หรือไม่

ผมคิดว่ามีการประดิษฐ์สร้างขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของความดี คนดี คนมีศีลธรรม เพื่อเป็นวาทกรรมที่โต้ตอบกับความรู้ความสามารถหรือความเข้าใจของตัวผู้นำ หรือบทบาทของผู้นำในเวทีการเมืองระบอบประชาธิปไตย

แล้วความสำเร็จของการใช้คอนเซ็ปท์เรื่องคุณธรรมความดีต่างๆ เหล่านี้มันสัมฤทธิ์ผลเมื่อการเมืองไทยยังตกอยู่ในโลกทัศน์ของการแบ่งแยก ดี-ชั่ว, ขาว-ดำ, เทพ-มาร และนี่คือปัญหาใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ซึ่งด้านหนึ่งการกระทำเช่นนั้นเป็นรูปแบบประชาธิปไตยในเชิง Substantive Democracy คือเชื่อว่ามีแก่นแท้บางอย่างที่รองรับกับเนื้อหาประชาธิปไตยโดยเฉพาะประเด็นเรื่องจริยศาสตร์ ที่มาตอบรับกับบทบาทของผู้นำทางการเมืองและรูปแบบของสังคมการเมืองที่เราเห็น

ปัญหาทั้งหมดสำหรับผม ก็คือการเมืองแบบนี้มันไม่เวิร์ก และขณะเดียวกันเราตกอยู่ในกับดักของการฉ้อฉลต่อความเข้าใจต่อเนื้อหาความดี ศีลธรรม และจริยศาสตร์

ประเด็นที่คุณตั้งโจทย์ให้ผมก็คือว่า เวลาที่เราพูดถึงเนื้อหาทางการเมือง ผมคิดว่าปัญหาสำคัญที่สุดทางการเมืองมันไมได้อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมความดีเพียงอย่างเดียว ปัญหาทางการเมืองคือการพูดถึงเรื่องความยุติธรรมทางสังคม รูปแบบการปกครอง บทบาทของผู้นำและผู้ถูกปกครองและกลุ่มก้อนต่างๆ ที่อยู่ในชุมชนทางการเมืองนั้นๆ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญก็คือ การกำหนดทิศทางของสังคม

แต่ที่ผ่านมา การเมืองไทยมันไม่ได้เป็นการเมืองในเชิงที่เราสามารถกำหนดทิศทางของสังคมได้ การเมืองไทยเป็นการเมืองของชนชั้นนำ และโครงสร้างอำนาจนิยมในสังคมไทยมันผลักดันในคนทุกส่วนวิ่งเข้าไปหาศูนย์กลางของอำนาจทางการเมือง

ปัญหาที่เกิดขึ้นมันไม่ได้มีการจัดการในเชิงผลประโยชน์ของสังคมและกำหนดทิศทางให้สังคม คนในสังคมไม่ได้มีสิทธิ์เลือกทิศทางที่ตัวเองต้องการ แต่ถูกกำหนดมาบน Power Play ของการเมืองของผู้นำ ถ้าคุณเข้าไปอยู่ในวงจรของการเป็นชนชั้นนำ คุณก็มีบทบาทต่างๆ มากมาย แต่ขณะเดียวกัน คุณก็ไม่ได้นำเสนอทิศทาง รูปแบบการเมือง โดยเฉพาะทิศทางของนโยบายที่มีประโยชน์ต่อสังคม

ผมคิดว่าการเมืองไทยในช่วงสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ได้สร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ หรือเปลี่ยนทัศนคติคนไทยต่อการเมืองจำนวนหนึ่ง คือการพูดถึงนโยบายเป็นที่ตั้ง

โอเค นโยบายดีหรือไม่ดี มีผลประโยชน์ทับซ้อนมีปัญหาอะไรต่างๆ เรารู้กันและเป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข แต่อย่างน้อยที่สุดสาระสำคัญพื้นฐาน คือการพูดถึงนโยบายทางสังคม นั่นคือเนื้อหาที่ผมมองว่ามีความสำคัญและความสำคัญตรงนี้อาจจะช่วยให้หลุดจากบ่วงกรรมของโลกทัศน์ขาวดำ โลกทัศน์ความดีความชั่วของการเมืองไทย

คือพูดอีกอย่างหนึ่ง การเมืองไทยควรจะพัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Deliberative Democracy หมายถึงมีกระบวนการต่างๆ ภายในระบบการเมืองซึ่งเอื้อให้เกิดประโยชน์โดยรวมแก่สังคม และขณะเดียวกันก็มีกระบวนการต่างๆ สามารถที่จะได้รับการตรวจสอบ ซักถามและมีบทบาทกับชีวิตจริงของคนในสังคมมากขึ้น เช่นเวลาที่เราพูดถึงตัวเรา เราก็อาจจะพูดถึงปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพในฐานะที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่คุณสามารถแสดงออก เราอาจจะพูดถึงกระบวนการจัดการ การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ความโปร่งใสของขั้นตอนต่างๆ ของผู้บริหารประเทศ บทบาทสื่อที่จะนำความจริงมาเผยแพร่ หรือเราอาจจะพูดถึงทัศนคติที่จะแลกเปลี่ยน นี่คือสังคมของการตรวจสอบผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ได้รับการพิจารณาเป็นอย่างดี โดยที่ทุกคนมีสิทธิที่จะมีบทบาทเข้าไปแสดงความคิดเห็น ใช้สิทธิเสรีภาพพื้นฐานและรวมทั้งการกำหนดเป็นนโยบาย และพร้อมๆ กันนั้นได้รับการตรวจสอบด้วย

ผมเชื่อในสิ่งที่ จอร์จ ออเวล พูดว่า Power Corrupt, Absolute Power Corrupt Absolutely. หมายถึงว่าอำนาจนั้นนำไปสู่ความฉ้อฉล อำนาจสูงสุดย่อมนำไปสู่การฉ้อฉลที่ยิ่งใหญ่

ปัญหาของการเมืองมันไม่ใช่ปัญหาของการมีผู้นำที่ดี หรือผู้มีคุณธรรมหรือการที่มีใครบางคนที่มีอิทธิพลทางการเมืองขณะนี้บอกว่านายกฯ คนนี้เป็นคนดีและทุกคนเชื่อว่าเป็นคนดี...นี่ไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตย นี่ไม่ใช่โลกการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย การที่คุณบอกว่าคนๆ หนึ่งเป็นคนดีแล้วจบ คือเป็นคนดีแล้วคุณต้องดีตาม...มันไม่ใช่

สาระของกิจกรรมการเมืองมันไม่ใช่เรื่องเอาคนดีมาปกครองประเทศ แต่คือการตรวจสอบดุลอำนาจ การ Check and Balance อำนาจทางการเมืองต่างหาก และนั่นคือเงื่อนไขสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานได้

ปัญหาเรื่องคุณธรรมความดี มันเป็นปัญหาทางจริยศาสตร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่า Conduct of Life ที่แต่ละคน Conduct ชีวิตตัวเองอย่างไรบนพื้นฐานของคุณธรรมความดี รู้เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่

ในขณะที่ศีลธรรมนั้น ก็คือกฎเกณฑ์ข้อบังคับหรือแนวทางในการปฏิบัติ คือสิ่งที่เราเรียกว่า Moral Law

ส่วนจริยศาสตร์เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นฐานส่วนตัวบุคคลมากกว่าที่จะเป็นปัญหาของสังคม เพราะเนื้อหาของสังคมนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดเวลาที่คนอยู่ร่วมกันก็คือเรื่องความยุติธรรม แน่นอนว่าความยุติธรรมไม่ได้แยกขาดจากเรื่องของคุณธรรมความดี แต่ว่าสาระของความยุติธรรมมันขยายขอบเขตมากกว่าปัญหาของบุคคล ความยุติธรรมเป็นปัญหาของสังคมทั้งสังคมร่วมกันซึ่งคนจะแสดงสิทธิเสรีภาพอย่างไรในการที่จะอยู่ร่วมกัน นี่คือปัญหาพื้นฐาน เป็นปัญหารากฐานของปรัชญาการเมือง

ปรัชญาการเมืองเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับชุมชนทางการเมือง ซึ่งจะวางคำตอบให้กับความยุติธรรมอย่างไร งานในเพลโต The Republic ตอบได้ชัด เพลโตเริ่มตั้งคำถามว่า ความยุติธรรมคืออะไร และเราจะมีรูปแบบทางการเมืองอย่างไรที่จะรักษาความยุติธรรมนั้นให้ดำรงอยู่ในสังคม หมายความว่าคนทั้งสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

แต่ทำไมประเด็นคุณธรรมความดีจึงไปกันได้กับสังคมการเมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานองคมนตรีออกมารับรองว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นคนดี แล้วทุกอย่างจบ

อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้นว่า สังคมไทยนั้นอยู่บนโลกทัศน์ของการเมืองขาวดำ การเมืองแห่งความดีความเลว ผมไม่อยากใช้คำว่าความดีกับความชั่วในฐานะGood กับ Bad คือในโลกความเป็นจริง เทววิทยาของความคิดนั้นคนเราหลุดไม่พ้นจากโลกทัศน์เรื่องความดีความชั่ว

แต่ผมใช้คำว่าความดีกับความเลว ในความหมายของ Good กับ Evil เวลาเราพูดถึงความดีความเลวนั้นเราพูดในแง่ของการตัดสินคุณค่าทางคุณธรรม

ในการเมืองนั้นโลกทัศน์ที่อยู่พื้นฐานของความดีความเลวมีนัยยะของ Moral Judgment คือการตัดสินคุณค่าในเชิงศีลธรรม

มันมาจากไหน ทำไมสังคมไทยจึงอยู่กับความดี-เลว ขาว-ดำ
มันมาจากพื้นที่ฐานที่คุณเลือกยืนอยู่บนความดี คือการที่คุณอ้างตัวเองว่าเป็นคนดี คุณสามารถบอกว่าคนเลวเป็นอย่างไร ชัยชนะอันหนึ่งของการเมืองในเชิงของจารีตประเพณีคือชัยชนะที่คุณวางสถานะของตัวเองบนจุดยืนของความดี ดังนั้นเมื่อคุณใช้จุดยืนของความดี คุณบ่งบอกว่าอะไรที่ไม่ดีก็คือสิ่งที่เลวอย่างชัดเจน แล้วมันมีรูปธรรมที่ชัดเจนมาตลอดในสังคมไทยก็คือ ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ปัญหาเรื่องของการแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลหรือการไม่กระทำตามกติกาของสังคม

แล้วคนที่ออกมาต่อต้านทักษิณก็ออกมาเรียกร้อง แล้วเป็นข้อเรียกร้องที่ง่ายต่อการยอมรับจากสังคม แต่ไม่ได้มองทะลุผ่านไปถึงว่าไอ้ขั้นตอนเหล่านี้ เราจะไปตรวจสอบอย่างไร คือไม่ได้ให้กระบวนการประชาธิปไตยทำงาน

ตอนนี้เรากำลังพูดถึงระบอบหรือระบบทั้งระบบ เวลาเราพูดถึงปัญหานี้ มันไม่ใช่ปัญหาเฉพาะตัวบุคคล แต่มันคือปัญหาของระบอบที่จะต้องสร้างรากฐานให้การตรวจสอบนั้นทำงานได้

ผมไม่เชื่อว่าคนดีและคนเลวจะมีความแตกต่างกันเมื่อคุณเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งอำนาจ เพราะอย่างที่ผมบอกแล้วอำนาจมันฉ้อฉล การฉ้อฉลของอำนาจก็คือการที่คุณไม่รู้ว่าในการตัดสินใจกระทำการอันใดอันหนึ่ง ผลมันคืออะไร เพราะคุณควบคุมผลที่ออกมาไม่ได้

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องของเจตนาหรือความเป็นคนดีของคุณเพราะคุณธรรมของผู้ปกครองหรือคุณธรรมของผู้นำมันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานว่าคุณเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว แต่อยู่บนพื้นฐานที่คุณจะจัดการเหตุผลในการดำรงอยู่ของรัฐ หรือจัดการอย่างไรให้รักษาอำนาจและก่อประโยชน์สุขให้สังคมการเมืองได้ดีที่สุด

เมคคีเวลลีสอนไว้อย่างนั้นว่า เป้าหมายของผู้นำคือการรักษาอำนาจของตนเองและทำให้สังคมสงบสุข เพราะสังคมสงบสุขนั้นก็คือทุกอย่างอยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชีวิตทุกคนมีความสุขนั่นคือคุณธรรมของผู้ปกครองซึ่งแตกต่างจากคุณธรรมส่วนบุคคล

เวลานี้ การเมืองมันพัฒนาไปสู่การวางพื้นฐานหลักการทางสังคม ครรลองหรือกติกาจะเป็นตัวที่เข้ามากำกับหรือมาตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ในทางการเมืองเอง

ผมคิดว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารนั้น ระบบหรือครรลองประชาธิปไตยกำลังทำงานอยู่ สิ่งที่มันทำได้ดีที่สุดก็คือความเห็นที่แตกต่าง เพราะว่าบนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย การที่คุณมีสิทธิเสรีภาพเฉพาะส่วนบุคคล มันหมายถึงว่าคุณสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองและความเห็นของคุณกับผมก็ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน ไม่ต้องเห็นตรงกัน ความแตกต่างคือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

แต่ปัญหาที่สำคัญของความแตกต่างก็คือการยอมรับความแตกต่าง สังคมไทยไม่ยอมรับความแตกต่าง ผมคิดว่านี่คือปัญหาใหญ่ที่สุด และการไม่ยอมรับความแตกต่างทำให้กติกาหรือครรลองหรือหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น และขณะเดียวกันคุณ Abuse ความแตกต่างด้วยเรื่องของความสมานฉันท์ ความสมานฉันท์ของสังคมไทยคือการสมานฉันท์บนพื้นฐานของความมั่นคงของรัฐซึ่งคุณไม่มีสิทธิที่จะเห็นต่าง

แต่ในทุกๆ รัฐก็ต้องพยายามหาจุดร่วมกันเพื่อให้ประชาชนมีความสำนึกเรื่องความเป็นชาติร่วมกันไม่ใช่หรือ
ก็ใช่ แต่ที่ผมพูดถึงเรื่องความแตกต่างนั้น ผมพูดบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพที่จะเห็นต่างตามสิทธิของสังคมประชาธิปไตย คือทุกคนต้องมีสิทธิที่จะเห็นต่าง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว คุณต้องยอมรับความแตกต่างเช่น ผมไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่ผมต้องเคารพทัศนะของคุณ

ทีนี้ ความแตกต่างทางทัศนะทางการเมืองก็ถูกจัดการด้วยกระบวนการบางอย่าง เช่น การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง คือไม่ว่าคุณจะชอบคนนี้หรือไม่ชอบ แต่ถ้าคุณแพ้การเลือกตั้งคุณก็ต้องยอมรับโดยกติกาว่า คนที่คุณสนับสนุนไม่ได้รับเลือก คนที่คุณไม่เห็นด้วย คุณไม่ชอบนโยบายของเขาได้รับเลือกเข้าไป คุณก็ต้องยอมรับ

ในท้ายที่สุดกติกาเป็นตัวกำหนด ถ้าพูดตรงๆ พรรคฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลทักษิณนั้น ประการหนึ่ง เขารู้ว่าเขาแพ้ในการเลือกตั้ง เพราะอะไร เพราะประชาธิปไตยมัน Count (นับ) เสียงของคุณ เสียงของคนเดินถนน ฯลฯ ไม่ว่าคุณจะมีฐานะสูงศักดิ์อย่างไรก็ตาม แต่ก็มีหนึ่งเสียงเท่ากัน นั่นคือกติการ่วมกันในสังคมประชาธิปไตย แต่สังคมการเมืองไทยกลับมีการ discredit การนับเสียงแบบนี้

ในภาษาอังกฤษนั้น คำว่า Count (การนับ) กับ account (การให้ค่า) ถ้าคุณตัด ac ออก มัน interplay ระหว่างกันอยู่ ในการอภิปรายประเด็นประชาธิปไตยนั้น แน่นอนว่า count เสียง แต่อะไรบ้างที่คุณจะ take into account

แต่ประเด็นที่ผมจะชี้ก็คือ กติกาประชาธิปไตยมันมีอยู่ มันเซ็ตการยอมรับความแตกต่างให้เกิดขึ้นถ้ากติกาบอกว่าการเลือกตั้งคือตัวชี้วัดว่าคุณต้องยอมรับ คุณก็ต้องลงมาที่การเลือกตั้ง แล้วถ้าฝ่ายที่คุณสนับสนุนแพ้ คุณจะทำอะไร คุณก็ต้องตรวจสอบไป ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ไป

ปัญหาคือคุณต้องเคารพบุคคลที่ได้รับเลือกเข้ามาเพราะว่ามีคนเห็นต่างจากคุณเป็นจำนวนมาก และคนจำนวนมากเขาเลือกเพราะว่าเขาเห็นเขารู้ว่ามันมีผลดีอย่างไร ถ้าเขาเลือกคนๆ นี้

ตัวอย่างอันหนึ่งผมคิดว่ามันมีกรณีการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริการะหว่างหว่างกอร์ กับบุช ผมคิดว่าผมคิดว่าในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้นสังคมอเมริกาแยกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน เพราะว่าบุชชนะใน Electoral Vote ในขณะที่ กอร์ ชนะใน Popular Vote แล้วปัญหาเกิดที่ฟลอริดา ตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี ในท้ายที่สุด ตุลาการชี้ว่าบุชชนะ ซึ่งเราก็ทราบปัญหาเรื่องนี้กันอยู่บ้างแล้ว ประเด็นก็คือว่าเมื่อบุชชนะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า Final Decision มันเกิด ท้ายที่สุดสังคมก็ต้องยอมรับว่าบุชชนะ เป็นประธานาธิบดี

โอเค คุณไม่ชอบคุณก็มาถกเถียงเชิงนโยบาย ในการบริหารงานของบุช ก็ตรวจสอบไปสิ แน่นอนคนไม่เห็นด้วยกับสงครามอิรัก หรือ War against terrorism จำนวนมาก คนเหล่านี้ก็เป็นเสียงที่ดังในสังคม

แต่อาจารย์บอกว่าถ้าแพ้ก็ตรวจสอบไป ที่ผ่านมาฝ่ายพันธมิตรฯ ก็ตรวจสอบเหมือนกัน
สำหรับผม ผมคิดว่าที่ผ่านมาพันธมิตรฯ ไม่ได้ตรวจสอบ การตรวจสอบที่ดีคือการที่คุณตรวจสอบบนข้อมูลข่าวสารและพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้อง สิ่งที่พันธมิตรฯ ทำ ผมคิดว่าเป็นการใส่ความมากกว่า คือผมฟังในสิ่งที่พันธมิตรปราศรัย ผมไม่สามารถหาแก่นสารข้อเท็จจริงและความรู้ทางการเมือง

สิ่งที่พันธมิตรทำคือการสร้าง Political Sentiment (อารมณ์ทางการเมือง) เป็นการเมืองของความดีความชั่ว คือพยายามจะบอกว่าทักษิณเลวอย่างไร แล้วก็โดยที่ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งที่พันธมิตรทำ คือความถูกต้องและความดี โดยที่คุณให้ร้ายเหยื่อของคุณเอง เหยื่อของคุณก็คือรัฐบาลทักษิณ โดยที่คุณไม่ได้ให้ข้อมูลหรือความรู้แก่สังคมในเรื่องนั้นๆ คุณมีประเด็นมากมายที่คุณพูดถึง แต่ปัญหาคือเราไม่เคยเห็น Fact หรือข้อเท็จจริงในสิ่งเหล่านั้นว่ามันคืออะไร และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือคุณทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน คุณเป็นผู้พิพากษาของสังคมต่อรัฐบาลทักษิณ ผ่าน Sentiment คุณบอกว่าระบอบทักษิณมันเลว เป็นทรราช เป็นอะไรต่างๆ ผมคิดว่าทั้งหมดนี้เป็น Judgment ที่คุณให้

แล้วประเด็นหนึ่งที่พันธมิตรทำและเลวร้ายที่สุดก็คือ ทำให้คนไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างปัญหาที่รัฐบาลทักษิณสร้างขึ้น และไม่สามารถตอบปัญหาเรื่องความโปร่งใส กับปัญหาของระบอบประชาธิปไตยเอง

ปัญหาของระบอบทักษิณคือปัญหาภายในระบอบประชาธิปไตยซึ่งทางแก้ก็คือทำให้กลไกเหล่านั้นทำงาน และผมคิดว่าในช่วงเวลาทีผ่านมาตลอดปีนี้ มีความพยายามปรับแก้เงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้กลไกเหล่านั้นได้ทำงาน ผมคิดว่ามันมีความพยายามจำนวนมาก ดีหรือไม่ดีก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุดมันเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้ต้องทำงาน แล้วกติกาของสังคม และความสงบเรียบร้อยของสังคมจะเกิดขึ้นได้ เมื่อกลไกประชาธิปไตยทำงานจริงๆ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ว่าในท้ายที่สุดมันไม่ได้เกิด ไม่ใช่แค่เพราะการรัฐประหารเท่านั้น แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เลวร้ายพอๆ กับการรัฐประหารก็คือ Sentiment (การใช้อารมณ์) ของสังคมที่ทำให้การเมืองเป็นการเมืองขาวดำหรือการเมืองของดีเลว มันกำหนดการตัดสินทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดโดยปราศจากความเข้าใจ ครรลองหรือกติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และขณะเดียวกันเนื้อหาของประชาธิปไตยถูก Abuse โดยสิ่งที่เรียกว่า Political Sentiment อย่างมาก

แล้วภูมิปัญญาไทยล่ะ เมื่อพูดเรื่องโครงสร้างที่มากำกับตรวจสอบผู้มีอำนาจในโครงสร้างแบบประชาธิปไตย แล้วทศพิธราชธรรมล่ะ ใช้ไม่ได้หรือ
ผมคิดว่ามันคนละเรื่องกัน ผมคิดว่าข้อถกเถียงของสังคมคือการซ้อนทับในสิ่งที่เป็นคนละเรื่องกันให้เป็นเรื่องเดียวกัน เช่น เวลาเราพูดถึงทศพิธราชธรรม เรานึกถึงผู้นำในระบอบเทวราชา เรากำลังพูดถึงอำนาจในสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ทศพิธราชธรรมเป็นเหมือนกับหลักการบางอย่างเพื่อควบคุมสติของผู้นำ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่

ระบบการควบคุมในระบอบประชาธิปไตย คือการควบคุมผ่านกระบวนการ check and balance การตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ การ check and balance มันทำให้ขั้นตอนต่างๆ โปร่งใส คุณต้องตอบคำถามได้ เมื่อคุณทำอะไรลงไป คุณต้องตอบได้ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นหรือทางออกทางแก้เป็นอย่างไร ก่อให้เกิดผลดีแก่ทุกคนอย่างไร

ผมคิดว่าเรากำลังพูดถึงเกณฑ์คนละมาตรฐาน และเป็นเกณฑ์ที่ไปด้วยกันไม่ได้ ปัญหาคือสังคมไทยพยายามจะสร้างในสิ่งที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งผมบอกได้ว่า ไม่มี ผมเห็นด้วยกับศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ก็คือเรามีอำนาจนิยมแบบไทยๆ คืออำนาจในรูปแบบของเจ้าขุนมูลนาย รูปแบบเจ้าขุนอุปถัมภ์ แต่เราไม่เคยมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ อย่างแท้จริง สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม

แต่ทศพิธราชธรรมเป็นสิ่งที่รองรับให้ประชาชนไทยยอมรับผู้นำในระดับหนึ่งก่อนด้วยความเชื่อมั่นว่าผู้นำจะมีคุณธรรมประจำตัว
ผมไม่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ผมเชื่อว่าทศพิธราชธรรมหรือกรณีพระราชอำนาจที่เกิดขึ้นในงานของคุณประมวล รุจนเสรี ก็คือการ Reinvent Tradition ที่มันตายไปแล้ว และคืนชีวิตมันบนความอิหลักอิเหลื่อที่อยู่ในกติกาของประชาธิปไตย และเคลือบมันดั้วยวาทศิลป์จำนวนมาก เช่นคุณอ้างประเพณี โบราณราชประเพณี ซึ่งโบราณราชประเพณีนั้น เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในสังคมสมบูรณาญาสิทธิ์ ไม่ใช่ในระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่าเรา- สังคมไทย สับสนมากระหว่างสิ่งที่เรียกว่าครรลองประชาธิปไตยกับจารีตในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และคิดว่าทั้งสองนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

สิ่งทีเกิดขึ้นก็คือ การเอาครรลองคนละชุดมาตรวจสอบอีกชุดหนึ่ง ผมคิดว่าเราเล่นกันคนละเกม เล่นคนละเกณฑ์ แล้วทำให้สังคมดูราวกับว่ามันเป็นเกมเดียวกัน

สิ่งที่เลวร้ายก็คือเกณฑ์หรือกติกาหรือครรลองประชาธิปไตยถูกทำให้เป็นสิ่งที่แย่ เป็นสิ่งที่ไม่ดี ในขณะที่อีกด้านเป็นสิ่งที่ดี และตรงนี้เป็นการง่ายที่จะพูดถึงเรื่องคุณธรรมความดีของผู้ปกครอง

แต่การยกเอาปัญหาเรื่องคุณธรรมเฉพาะตัวบุคคลขึ้นมาเป็นเป้าหมายในการโจมตีทางการเมืองในประเทศอื่นๆ เขาก็มี
มันก็มี แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เขาตัดสินกันที่ศักยภาพและความสามารถในการทำงาน ในการปกครองและผลงาน ตัวอย่างอันหนึ่งที่ผมสามารถยกขึ้นมาได้ก็คือ กรณีของคลินตันกับลูวินสกี้ ผมคิดว่ามันเป็น Debate ในเชิงจริยศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับตัวผู้นำทางการเมือง และถูก Orchestra โดยสื่อ และ พรรคริพับลิกัน

แต่ในท้ายที่สุดแล้ว คลินตันก็ได้รับการยอมรับและรับรอง และที่เขาได้รับการยอมรับและรับรองไม่ใช่เพราะว่าทุกคนละเลยต่อปัญหาจริยศาสตร์หรือคุณธรรมความดี ทุกคนเขารับรองว่า นี่คือผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ผู้นำที่สร้างผลงาน แล้วกติกาตามครรลองประชาธิปไตยยอมรับสิ่งนี้

บางครั้งประเด็นเรื่องคุณธรรมความดีเป็นเรื่องส่วนบุคคลมาก อย่างกรณีคลินตันนั้น การที่มี Affaire กับคนอื่นเป็นปัญหาเฉพาะบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือศักยภาพในทางการเมือง โอเค ประเด็นเรื่องลูวินสกี้คือรอยด่างของคลินตัน ทุกคนรู้ แต่ทุกคนก็นับถือและให้เกียรติคลินตันในผลงานที่เขาทำให้กับประเทศสหรัฐมาตลอดระยะเวลาแปดปี

กลับมาที่สังคมไทย ถ้าพูดในระนาบเดียวกันก็คือว่า เราจะวาง check and balance คือการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองอย่างไร ในฐานะพื้นฐานกติกาของระบอบประชาธิปไตยให้มีประสิทธิภาพ และเมื่อนั้น ไม่ว่าผู้นำคนนั้นจะดีหรือเลวอย่างไรก็ตาม เขาต้องได้รับการตรวจสอบ เราต้องการผู้นำที่มีความสามารถและมีศักยภาพในการบริหารประเทศ และสามารถขับเคลื่อนระบบทั้งระบบให้ทำงาน

ปัญหาของสังคมไทยไม่ได้อยู่ที่ปัญหาว่าดีหรือเลว แต่ปัญหาของสังคมไทยคือการมีผู้นำที่มีประสิทธิภาพหรือมีความสามารถที่จะกำหนดทิศทางของสังคมอย่างที่ทุกคนต้องการและสามารถที่จะพัฒนาให้ทัดเทียมกับชาติอื่นได้ ผมคิดว่าทุกวันนี้ในแง่ของการพัฒนาของเรานั้นเราล้าหลังชาติอื่นๆ ในระบอบประชาธิปไตยเราก็ล้าหลังตรงที่เราไม่วางครรลองของประชาธิปไตยให้เป็นพื้นฐานของสังคม

เราต้องแยกการเมืองดี-เลวหรือเทพ-มารให้ออก แล้วทำให้กติกาของประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นบนพื้นฐานของนโยบาย พื้นฐานของการตรวจสอบ และพื้นฐานที่คนในสังคมสามารถที่จะกำหนดทิศทางและเป้าหมายของสังคมได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอำนาจใดๆ ที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ

การเมืองแบบแบ่งดี-เลวนั้น คุณไม่สามารถที่จะวางพื้นฐานครรลองประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง นี่คือจุดยืนของผม เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณมาตรวจสอบว่าคนนี้ดีหรือเลว ดีหรือเลวเป็นเงื่อนไขส่วนบุคคลที่คนเหล่านั้นมี แต่เงื่อนไขของสังคมประชาธิปไตยคือเงื่อนไขของประสิทธิภาพการทำงานและประสิทธิภาพในการนำพาสังคม

ประเด็นของผมคือ ไม่ใช่ปัญหาว่าต่อไปนี้จะมีคนเลวมาเป็นนักการเมือง ผมคิดว่าสังคมเรียนรู้ เราต้องให้ประสบการณ์กับสังคมประชาธิปไตยเรียนรู้ส่วนนี้ โอเค ความทรงจำของคน เราอาจจะบอกว่าคนไทยหรือสังคมไทยความทรงจำสั้น แต่ผมอยากจะบอกว่าทุกสังคมความทรงจำสั้นทั้งนั้น แต่ปัญหาคือ อะไรคือประสบการณ์ที่ทุกคนในสังคมมี

ความทรงจำกับประสบการณ์นั้นต่างกัน เราอาจจะจำไม่ได้ แต่เมื่อเผชิญกับสิ่งที่คุณประสบ คุณรับรู้ได้ หรือบ่มเพาะประสบการณ์อย่างสำคัญ

รัฐประหารครั้งนี้ จุดยืนของผมแน่นอนว่ามันไม่ชอบธรรม แต่สังคมได้ประสบการณ์อะไรหรือเปล่า ผมคิดว่าสังคมเริ่มจะได้ประสบการณ์จำนวนหนึ่ง แต่ประสบการณ์เหล่านี้ยังไม่ได้ชี้ชัดอย่างแน่นอน ยังตอบไม่ได้ว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นตามมา แต่ที่แน่ๆ คือความไม่มีประสิทธิภาพหรือความไม่ชัดเจนของการเมืองในรูปแบบรัฐราชการหรืออำมาตยาธิปไตย ความล่าช้าในกระบวนการจัดการ ส่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามต่อไป

ต่อไปคำถามของสังคมจะไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณสุรยุทธ์เป็นคนดีหรือเปล่า แต่สังคมจะถามว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประเทศหรือไม่ ตรงนี้แหละที่จะเป็นตัวชี้ชัดว่าในท้ายที่สุดแล้ว ในระบอบการปกครองที่ดี มันคือเรื่องประสิทธิภาพของการทำให้สังคมอยู่ดีกินดี มีความสงบสุข ผมคิดว่าเราถ้ามองในแง่ดี สังคมไทยกำลังเดินไปในทิศทางนั้น

ผมคิดว่าปีหน้าสังคมไทยจะเผชิญปัญหาจำนวนมากเมื่อน้ำแห้ง นี่แหละคือภาพที่เราจะเห็นว่าสังคมไทยจะเรียกร้องผู้นำที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถ เพราะฉะนั้น ถ้าสังคมไทยก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ผมเชื่อว่าแง่มุมของโลกทัศน์ขาวดำมันจะค่อยๆ หดหายไป

การมองการเมืองแบบขาวดำหรือโลกทัศน์ดีเลว ไม่สะท้อนว่าสังคมไทยมีระดับศีลธรรมสูงหรอกหรือ
ไม่ได้สะท้อนอะไรเลย ผมคิดว่าปัญหาศีลธรรมในสังคมไทยคือการมีข้อบังคับมากกว่าหลักปฏิบัติ มีข้อบังคับห้ามโน่นห้ามนี่ตลอดเวลา สิ่งที่น่าสนใจคือเวลาที่คนไทยสอนศีลธรรมหรือสอนเนื้อหาทางศาสนา คุณเน้นศีลมากกว่าธรรม เวลาที่คุณห้าม นั่นหมายความว่า อะไรที่ไม่ถูกห้าม คุณก็ทำไป คุณทำได้ ในขณะที่ธรรม ในความหมายของแนวทางปฏิบัติ กลับไม่ได้ถูกสอน ไม่ได้บ่มเพาะให้กับสังคม

ปัญหาของสังคมไทยอย่างหนึ่งที่ผมกระอักกระอ่วนมากที่สุด ก็คือว่าเมื่อคุณพบปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็ออกกฎข้อบังคับ สิ่งที่ตามมาคือ คนก็หาช่องว่างจากกฎข้อบังคับ ผมเชื่อว่าสังคมที่ดี หรือสังคมประชาธิปไตยนั้น Rule of Law หรือหลักนิติรัฐมีความสำคัญ แต่ Rule of law มันสร้างแนวทางในการปฏิบัติหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตในสังคมให้มีความสงบสุขอย่างไรต่างหาก

เมื่อสังคมไทย Abuse rule of law มอง Law ในแง่ของการบังคับใช้ ข้อห้าม ตัวอย่างที่เห็นชัดอย่างหนึ่งก็คือกรณีการแต่งกายชุดนักศึกษา ถ้าว่านักศึกษาแต่งชุดผิดระเบียบไหม เขาก็ไม่ผิด แต่ในการแต่งกายชุดนักศึกษา เขาอาจจะมีช่องว่างที่เขาจะแต่งกายในอีกลักษณะหนึ่งที่คุณไม่ต้องการแต่คุณทำอะไรได้

ปัญหาคือคุณทำอะไรไม่ได้เพราะว่าเขาถูกกฎทุกอยาง แต่ช่องว่างนั้นน่ะ เพราะคุณให้ความสำคัญกับการบังคับใช้มากกว่าการสร้างแนวทางปฏิบัติ

Rule of law จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อหลักนิติรัฐได้สร้างแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันมากกว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อห้ามหรือข้อบังคับ ผมคิดว่านี่คือปัญหาอีกส่วนหนึ่งทีเกิดขึ้นในครรลองประชาธิปไตย

ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานกลับไม่มีความสำคัญ ถูกฉีกได้ตลอดเวลา กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณมีอะไรที่คุณเขียนไว้ในแง่บทบัญญัติเท่านั้น แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญคือครรลองหรือกติการ่วมกันซึ่งเป็นกติกาที่ทุกคนในสังคมยอมรับเป็นหลัก

เท่าที่ผมเข้าใจประเทศจำนวนมากมีรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติน้อยกว่าสังคมไทยและมีอายุการใช้งานที่ยืนนานมากกว่าสังคมไทย สิ่งเหล่านั้นที่เขาทำได้ ไม่ใช่ว่ากฎหมายเขาดีกว่าเรา แต่กฎหมายได้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติของคนในสังคม ผมอยากเห็นสังคมไทยใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือเรียนรู้รัฐธรรมนูญในฐานะแนวทางปฏิบัติร่วมกันมากกว่าที่คุณเอามาตรวจสอบว่า คนนี้ทำผิดหรือเปล่า มันกลายเป็นข้อบังคับและในท้ายที่สุดแล้วมันเหมือนกับเสือกระดาษ เหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว และท้ายที่สุดแล้วกถูกละเมิดอยู่ตลอดเวลา

ผมคิดว่ากฎหมายไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการรากฐานทางความคิด แก่สังคมหรือตัวนักกฎหมาย กลายเป็นเพียงช่างฝีมือหรืออย่างที่อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรียกว่าเป็น ‘ช่างตัดผม’ เป็น Technician และสุดท้ายความเป็น Technician คุณก็จะรู้สึกว่า คนอื่นไม่ใช่นักกฎหมายจะมารู้เรื่องกฎหมายได้อย่างไร ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่

กฎหมายมันคือกติกาของสังคมนะ แน่นอนว่าทุกคนต้องรู้กฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องรู้กฎหมายอย่างนักกฎหมาย ผมคิดว่านักกฎหมายอาจจะเข้าใจผิด ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนนักกฎหมายมีสิทธิพิเศษ เพราะภาษากฎหมายกลายเป็นภาษาเฉพาะ ความชอบธรรมทางกฎหมายกลายเป็นความชอบธรรมเฉพาะของนักกฎหมาย การเน้นกฎหมายในฐานะที่เป็นข้อบังคับใช้ มันตอบรับกับลักษณะอำนาจนิยมของสังคมไทย

โดยสรุปก็คือ ผมคิดว่าการเมืองไทยเป็นเรื่องของขาวดำ หรือดีเลว โดยมองผ่านพื้นฐานที่ฝ่ายหนึ่งยึดธงชัยของความดีว่าความดีคืออะไรและเป็นคนบอกว่าสิ่งที่มันเลวคืออะไร และความโชคร้ายก็คือว่า บนพื้นฐานของสิ่งที่เลวนั้น มันมีเท็จจริงทางสังคมการเมืองปรากฏอยู่เป็นข้อสนับสนุนด้วย

ประการที่ 2 ก็คือ ผมมองว่าสังคมต้องข้ามพ้นการเมืองขาวดำไปสู่การมองเชิงนโยบาย ปัญหาของตัวผู้ปกครองมันไม่ได้อยู่ที่การเป็นผู้ปกครองที่ดี สังคมไทยต้องการผู้ปกครองที่มีความสามารถในการบริหารประเทศและการจัดการ และสุดท้ายประเด็นที่สามก็คือ กฎหมาย ซี่งควรจะเป็นแนวทางปฏิบัติของสังคมมากกว่าการมองมันเป็นแค่ข้อห้ามหรือข้อบังคับใช้

ถ้าเราสามารถจะแก้เงื่อนไขทั้งสามนี้ได้ ผมคิดว่าการ Restore Order ที่แท้จริงของการเมืองระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้น และจะนำไปสู่หลักการอีกด้านที่เรายังไม่ได้พูดกันอย่างแท้จริงก็คือ ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และภราดรภาพ

ที่ผ่านมา สังคมไทยในครรลอง มองปัญหาเรื่องสิทธิเป็นรูปธรรมเกินไป เช่น มองสิทธิในฐานะที่เกี่ยวกับบุคคล เช่น การเลือกตั้ง

แล้วแบบไม่เป็นรูปธรรมคืออะไร

คือสิทธิในฐานะที่เป็น Citizenship รูปธรรมที่ดีที่สุดคือสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคม สิทธิที่จะกำหนดทิศทางของสังคม ผมคิดว่านี่เป็นสิทธิที่สำคัญที่สุด ไม่มีใครแย่งชิงสิทธินี้ไปจากตัวคุณได้ และสิทธินี้จะแสดงออกผ่านกิจกรรมทางการเมือต่างๆ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง

สิทธิในการกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตและสังคม นี่คือสิทธิที่เป็นพื้นฐานที่สุด ส่วนเสรีภาพคือสิ่งที่คุณจะแสดงออกมา ผมอยากให้สังคมไทยมองสิทธิที่เป็นพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะกำหนดชีวิตคุณเองได้ นั่นคือการที่คุณมีบทบาททางสังคมมากขึ้น วัฒนธรรมทางการเมืองนี้มันเริ่มเกิดขึ้นในบางส่วนของสังคมและที่น่าสนใจก็คือมันเกิดขึ้นในระดบรากหญ้ามากว่าสังคมเมือง

การมีโลกทัศน์แบบมองขาวดำมีส่วนกลบปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพ และภราดรภาพหรือไม่
มันกดทับ พูดง่ายๆ ว่าการเมืองขาวดำมันสร้างลำดับชั้นให้กับสังคม และกดทับสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ การกดทับก็คือการบอกว่า คนดีนั้นมีความสำคัญมากกว่าคนที่มีความสมารถ เพราะเราอนุมานกันว่า ถ้าคุณเป็นคนดีแล้วทำอะไรก็ดีตามไปหมด นี่คือสิ่งที่น่ากลัว และสิ่งเหล่านี้ไม่ได้บ่มเพาะบนพื้นฐานของเหตุผลแต่บ่มเพาะบนพื้นฐานของ Sentiment ของสังคม

เพราะว่าด้วยการที่อ้างอิงด้วยหลักการของหลักธรรมหรือทศพิธราชธรรม จึงมองความดีมีคุณค่ามากกว่าความสามารถ ปัญหาของสังคมไทย ถ้าพูดในที่ว่าทำอย่างไรที่จะให้คนที่มีความสามารถในการบริหารประเทศมีบทบาทมีศักยภาพในการทำงานร่วมกันได้ และขณะเดียวกันเราสามารถตรวจสอบการทำงานของเขาได้ นี่คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยมันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในส่วนของภราดรภาพ ผมเชื่อใน Concept พื้นฐานคือ ภราดรภาพนั้นคือความเป็นพี่เป็นน้องกันอย่างน้อยที่สุดมันสร้างสายสัมพันธ์ทางสังคมให้เกิดขึ้น เวลาที่ผมมองภราดรภาพ ผมไม่ได้มองในแง่ของความเป็นพี่น้องหรือความเป็นครอบครัวเดียวกัน คือผมมองสายสัมพันธ์ของสังคมที่มันเชื่อมต่อกันและเมื่อมีสายสัมพันธ์ทางสังคมแล้ว การสร้างความยอมรับซึ่งกันและกันนั้นมันง่าย และการยอมรับที่สำคัญก็คือการยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าคุณจะแตกต่างจากผม คุณไม่เหมือนผม ไม่ว่าจะด้วยชาติกำเนิด เชื้อชาติศาสนา หรืออะไรต่าง พูดง่ายๆ ว่าเวลาที่คุณเป็นพี่เป็นน้องกัน เมื่อมีอะไรกระทบกระทั่งกันคุณก็ยอมๆ กันได้ แต่ถ้าพูดในระดับของสังคมภราดรภาพของสังคมก็คือการอยู่ร่วมกันของสังคมและยอมรับความแตกต่างระหว่างกันโดยพื้นฐานของ Rule of law ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการยอมรับความหลากหลายอันนั้น นี่คือโจทย์สำคัญ

และสุดท้ายเรื่องความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของกฎหมาย เสมอภาคในส่วนนี้ คือทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันในการที่จะใช้มัน ไม่ใช่ว่าผมมีสิทธิที่จะพูดมากหรือพูดดังกว่าคุณ ไม่ใช่ ผมคิดว่าเสียงต่างๆ ที่พูดออกไปควรจะให้น้ำหนัก และความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกัน มันจะผลักดันการเมืองของผู้นำไปสู่การเมืองที่เป็นมีส่วนร่วมของคนมากขึ้น ผมไม่อยากใช้คำว่าการเมืองภาคประชาชน แต่เป็นการเมืองที่คนมีโอกาสหรือว่ามีแนวทางในการแสดงออก ไม่ใช่ใครมาชี้นำ ไม่ใช่ใครเป็นตัวเลือกทางสังคม

อาจจะมองว่าเรื่องนี้เป็นอุดมคติจนเกินไป แต่ผมคิดว่าสังคมไทยกำลังเดินไป ผมไม่เคยบอกว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ผมบอกว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีกว่าระบอบอื่นๆ เพราะว่าคุณมีสิทธิเสรีภาพที่คุณสามารถใช้กำหนดทิศทางของคุณได้และดีกว่าตรงที่คุณพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน พร้อมที่จะผลักดันให้มันดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องผ่านการสะสมของเวลาและประสบการณ์ของสังคม สังคมต้องยอมรับการเรียนรู้ผิดถูก ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ที่จะเป็นไปในแนวทางนั้นแนวทางนี้ และการเรียนรู้ของสังคมคือสิ่งที่บ่มเพาะเนื้อหาให้กับคนในสังคมในแต่ละช่วงเวลา นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอก

ทักษิณทำให้คนระดับรากหญ้ามีสำนึกของความเป็น Citizenship มากขึ้นหรือเปล่า
แน่นอน ผมไม่ได้มองว่านโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่เลวร้าย ผมคิดว่านโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่ตอบคำถามต่อหัวข้อของการเมืองชั้นนำอย่างชัดเจน เป็นครั้งแรกที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้เห็นดอกผลของการเมืองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราอาจจะมองกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล เอสเอ็มอี อะไรต่างๆ ในแง่ร้าย

แต่ผมคิดว่ามีพัฒนาการประการหนึ่ง ก็คือว่าประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจที่อยู่กับตัวเขาเอง เช่น คุณให้งบประมาณหมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท หนึ่งล้านบาทนี้คุณจะเอาไปทำอะไรก็ได้ แต่ถ้ามันไม่ดี เช่นคุณเอาไปซื้อมือถือ ซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ แล้วเมื่อเงินมันหมดไป คุณก็ต้องถูกตรวจสอบถูกตัดสินจากสังคม แต่ถ้าเงินหนึ่งล้านบาทมันแก้ปัญหาของสังคม มันก็ได้รับการยอมรับ

ผมคิดว่าทิศทางหรือแนวทางนั้นเราพูดโจมตีในด้านร้ายมากกว่าที่จะมองในภาพรวม สำหรับผมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจะดีหรือเลวมันคนละเรื่องกับการเรียนรู้ทางสังคม ผมคิดว่าชาวบ้านรากหญ้าเรียนรู้ที่จะกำหนดแนวทาง เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในหนทางที่ตัวเองเลือกอย่างไร นี่คือตัวชี้วัดที่เห็นชัดที่สุด

ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า มันได้สอนให้คนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเรียนรู้และเข้าใจหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานซึ่งเริ่มต้นจากตัวเขาเอง เริ่มต้นจากสิทธิเสรีภาพ การกำหนดแนววิถีชีวิตที่ตัวเองต้องการ โอเค ผิดถูกอีกเรื่องหนึ่งมันก็ต้องสั่งสมกันไป สังคมและชุมชนนั้นสั่งสมบทเรียน ผมคิดว่าเราต้องมีสิ่งเหล่านี้

สังคมไทยสั่งสมบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องธรรมราชา เรื่องผู้ปกครองที่มีทศพิธราชธรรมมายาวนานกว่า แต่อย่างน้อยที่สุดคุณก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้มันมีพลัง ที่มันมีพลังก็เพราะมันมีการสั่งสม คุณก็ต้องให้ประชาธิปไตยสั่งสมบทเรียนเช่นกัน

และผมไม่ได้มองว่าชาวบ้านโง่เขลา หรือว่าไม่รู้ ไม่เข้าใจ อย่างที่คนส่วนหนึ่งบอกว่าชาวบ้านขาดการศึกษาไม่รู้ไม่เข้าใจ ผมคิดว่าชาวบ้านเข้าใจ โลกทัศนของชาวบ้านคือโลกทัศน์ที่เกี่ยวกับชีวิตที่เขาอยู่ ไม่ใช่เรา

ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีเหตุผลที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง ทำไมล่ะ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา ถ้ามันไม่ดี วันหนึ่งเขาก็ไม่เลือก แต่ปัญหาก็คือว่า คุณสร้างทางเลือกให้คนเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน สังคมไทยยังไม่ได้สร้างทางเลือกอันใดให้กับคนอื่นนอกจากสิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำ ถ้ามองในแง่ของการเมืองเชิงนโยบายหรือการหาเสียงเชิงนโยบาย ผมยังไม่เห็นนโยบายอื่นที่มีทางเลือกให้กับคน นี่ไม่นับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นไปได้ยาก

ในขณะที่ชาวบ้านปกป้องประโยชน์ของตัวเองตามกลุ่มที่ตัวเองสังกัด ในขณะที่ชนชั้นกลางนั้น...ประเด็นปัญหาของการขับไล่ทักษิณนั้นมันอยู่ในกระบวนการที่เรียกว่า การทำให้เป็นสุนทรียะทางการเมือง คือมันเป็นเรื่องของ perception และไม่ได้อยู่บนเนื้อหาสาระพื้นฐาน การเมืองมันถูก dramatize ผ่าน sentiment ผมคิดว่าประเด็นเรื่องจริยธรรมหรือจริยศาสตร์ของผู้นำต่างๆ เหล่านี้ เรามันสร้างมันบนฐานของSentiment มากกว่าเนื้อหาทางจริยศาสตร์

ปัญหาคือคุณโจมตีทักษิณในเรื่องของคุณธรรมของผู้ปกครองหรือผู้ปกครองที่ดี แต่คุณก็ไม่ได้บอกว่าคุณธรรมที่ดีมันเป็นอย่างไร ผู้ปกครองที่ดีควรทำอะไร ผมคิดว่าไม่ แล้วสังคมก็ตอบสนองอย่างเลวร้าย ตอบสนองผ่าน Sentiment มากกว่าผ่านกระบวนการการตรวจสอบ

สำหรับผมๆ ไม่เชื่อว่าทักษิณเป็นทรราช เพราะว่าทักษิณยังอยู่ในกติกาประชาธิปไตย แน่นอนว่าทักษิณ Abuse เรื่องอำนาจ ผมไม่เถียง แต่สังคมกำลังตรวจสอบ สังคมกำลังดำเนินไปในทิศทางนั้นและเขาไม่สามารถเผด็จอำนาจ (Dictate) ได้ทั้งสังคม ถ้าเขาสามารถ Dictate สังคมได้ทั้งสังคม คำนี้อาจจะใช้ได้ แล้วทรราชในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นทรรราชที่เกิดมาพร้อมกับ Sentiment

ที่คนเปรียบเทียบทักษิณกับฮิตเล่อร์นั้น ผมขอบอกว่าไม่ใช่ ผมอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรง แต่ว่าอาจารย์ของผมส่วนหนึ่งเป็นเหยื่อของฮิตเล่อร์ และการขึ้นมาของฮิตเล่อร์คือการขึ้นมาผ่าน Sentiment ของสังคม ไม่ได้ขึ้นมาผ่าน Knowledge base ไม่ได้ขึ้นมาผ่านกระบวนการประชาธิปไตย Sentiment ของสังคมเยอรมันในเวลานั้นก็คือประเทศเต็มไปด้วยปัญหา คุณต้องการผู้นำที่มี charisma เป็นผู้นำที่สามารถดึงอารมณ์ร่วมของสังคมได้ แล้วนั่นแหละ หลังจากที่คุณดึงอารมณ์ร่วมของสังคมได้ คุณก็อาศัยกระบวนการประชาธิปไตยสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำ

สิ่งหนึ่งที่ทักษิณทำอยู่ตลอดเวลาก็คือ การที่เขารู้ว่าหลักการประชาธิปไตยอยู่ตรงไหนแล้วก็เล่นบนกติกา และขณะเดียวกันก็กำหนดกติกา
สิ่งที่ทักษิณทำอันดับแรกก็คือการรู้กติกา อันดับต่อมาก็คือการเล่นตามกติกา และระดับที่ 3 ก็คือ กำหนดกติกา อันดับที่สามนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องตรวจสอบ แต่ปัญหาคือคุณไม่ได้ตรวจสอบอันดับที่สาม กรณีที่เห็นได้ชัดก็คือการเปลี่ยนนโยบายให้เป็นกฎหมาย นี่เป็นสิ่งที่เลวร้าย และสังคมไม่เคยตรวจสอบหรือการอาศัยช่องว่างหรือการได้เปรียบในการร่างหรือกำหนดกติกา นี่คือปัญหาที่แท้จริงที่รัฐบาลทักษิณสร้าง

วันอังคาร, ตุลาคม 17, 2549

Ultra Royalist และ THE KINGMAKERS

"ในประเทศสยาม มีกลุ่มคนประเภทเดียวกับที่เคยมีในประเทศฝรั่งเศส... เราเรียกคนเหล่านี้ว่า “ผู้เกินกว่าราชา” (Ultra Royalist) คือหมายถึงพวกที่ชอบทำตนนิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีเอง"
ปรีดี พนมยงค์
ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน

เกี่ยวกับ Ultra Royalist โปรดดู
http://en.wikipedia.org/wiki/Ultra-royalist
http://fr.wikipedia.org/wiki/Ultra-royaliste

มีบทความของธงชัย วินิจจะกูลมาฝาก

กรุงเทพธุรกิจ 18 ตุลาคม 2549
http://www.bangkokbiznews.com/2006/10/18/w017_146081.php?news_id=146081

“THE KINGMAKERS”
โดย ธงชัย วินิจจะกูล

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สองใกล้เสด็จสวรรคต กลุ่มเจ้านายและขุนนางในขณะนั้นเห็นว่าราชบัลลังก์สมควรเป็นของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์โตผู้มีอิทธิพลและบทบาทในราชสำนักเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าทรงประสูติจากพระสนม เจ้าฟ้ามงกุฎพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระบรมราชินีศรีสุริเยนทรามาตย์ทว่าพระชันษาอ่อนกว่าถึง 16 พรรษา จึงเสด็จออกผนวชก่อนพระราชบิดาสวรรคตไม่กี่วัน และทรงอยู่ในสมณเพศต่อมา 27 ปี

เมื่อสิ้นรัชกาลที่สาม ราชบัลลังก์มิได้ตกเป็นของเจ้าฟ้ามงกุฎโดยอัตโนมัติ แต่ในที่สุดกลุ่มเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในขณะนั้นเห็นสมควรถวายราชบัลลังก์แด่พระองค์ท่าน พระองค์ทรงครองราชย์ต่อมาอีก 18 ปี โดยทรงตระหนักตลอดเวลาถึงอำนาจและความสำคัญของกลุ่มเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ดังกล่าว

ดังนั้นก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สี่จะเสด็จสวรรคต ไม่มีผู้ใดรู้ชัดเจนเลยว่า ราชบัลลังก์จะตกทอดสู่เจ้าฟ้าพระองค์ใด พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือกด้วยพระองค์เองแต่อย่างใด กลุ่มขุนนางกุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินไว้เต็มที่ ในขณะที่เจ้าฟ้าทุกพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ในที่สุดกลุ่มขุนนางผู้มีอำนาจ ตัดสินใจถวายราชบัลลังก์แด่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ แต่ด้วยทรงพระเยาว์ กลุ่มขุนนางจึงสถาปนาตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างแท้จริงตลอด 15 ปีแรกของรัชสมัย

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า ทรงตระหนักดีถึงสภาวะดังกล่าว ทรงแสดงความคับข้องพระราชหฤทัยไว้ในหลายโอกาส (ดังที่นักประวัติศาสตร์ทราบกันดี) พระองค์ต้องทรงต่อสู้ต่อรองและรอโอกาสต่อมาอีกนาน กว่าที่พระองค์จะทรงสามารถรวบรวมพระราชอำนาจได้เข้มแข็ง บางครั้งความขัดแย้งปะทุจนเกือบเป็นความพินาศดังเช่นวิกฤตการณ์วังหน้าในปี 2417

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้าเสด็จสวรรคต การสืบทอดพระราชบัลลังก์เป็นไปโดยราบรื่น เพราะพระองค์ได้ทรงกำหนดไว้เรียบร้อยก่อนหน้านั้นหลายปี แต่ทว่ากลุ่มเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ที่สืบทอดอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินต่อมา กลับไม่สามารถทำงานร่วมกับพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ได้อย่างราบรื่น ความขัดแย้งตึงเครียดนำไปสู่การโยกย้ายถอดถอนผู้ใหญ่เหล่านั้น หรือเจ้านายและขุนนางเหล่านั้นหลายท่านสมัครใจถอนตัวไปเอง ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นดำเนินต่อมาตลอดรัชกาล

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ดขึ้นครองราชย์ด้วยแรงสนับสนุนของพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งมิได้ทรงเตรียมพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ การบริหารราชการแผ่นดินยิ่งต้องอาศัยพระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่เหล่านั้น

เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เผชิญหน้ากับกระแสประชาธิปไตยที่ก่อตัวในหมู่ปัญญาชนผู้มีการศึกษา ผู้มีบารมีและอิทธิพลในระบอบเดิมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าพระเจ้าอยู่หัวเองในการถ่วงรั้งไม่ยอมให้สามัญชนมีอำนาจมากไป ด้วยเห็นว่าสามัญชนยังด้อยการศึกษา ขาดความรู้ความเข้าใจ ยังไม่พร้อมปกครองตนเอง

อวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแง่หนึ่งคือ ผลของระบอบการเมืองของผู้มีบารมีเหล่านี้ ซึ่งแวดล้อมพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในขณะนั้น หลัง 2475 ผู้นำของคณะราษฎรขัดแย้งกับกลุ่มเจ้าอย่างหนัก ใช้เวลาหลายปีกว่าจะสยบฝ่ายเจ้าสำเร็จ ผู้นำคณะราษฎรจึงอยู่ในฐานะผู้กำหนดชะตากรรมของราชบัลลังก์เสียเอง ซึ่งหมายถึงการจำกัดบทบาทอำนาจของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ให้ออกพ้นไปจากการเมืองโดยสิ้นเชิง

ทว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดี พนมยงค์ จำต้องสามัคคีฝ่ายเจ้าในการต่อสู้กับฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม พลังอำนาจฝ่ายเจ้าจึงกลับฟื้นคืนมาใหม่เมื่อสิ้นสงคราม ในที่สุดฝ่ายเจ้าจึงกลับตลบหลังปรีดี จนกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจสูงร่วมกับทหารหลังรัฐประหาร 2490 ถึง 2494

ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้น และองคมนตรีมีบทบาทและอำนาจสูงมากตามรัฐธรรมนูญ 2492 นอกจากจะทรงเป็นผู้ดูแลพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันในระหว่างทรงพระเยาว์แล้ว กลุ่มเจ้านายและขุนนางผู้จงรักภักดีกลุ่มนี้ เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกสถานภาพของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันเป็นที่มาของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มั่นคงแข็งแรงทุกวันนี้

ในด้านหนึ่ง เราตระหนักดีถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อสังคมไทย ในอีกด้านหนึ่งครั้นเราพิจารณาระบอบการเมือง เรามองเห็นแต่รัฐบาล ทหาร พลเรือน และนักการเมืองคอร์รัปชัน เรามักมองข้ามความจริงง่ายๆ ว่า ประวัติศาสตร์ตามที่เล่ามาข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและระบอบการเมืองตลอดมา สถาบันกษัตริย์ผู้ทรงอยู่เหนือการเมืองและบรรดาผู้ใหญ่ผู้มีบารมี มีความสำคัญทางการเมืองมากอย่างปฏิเสธไม่ได้

คนเหล่านี้บางครั้งก็มีอำนาจทางการเมืองเปิดเผยโดยตรง บางครั้งก็มีในรูปของบารมีอิทธิพลโดยไม่จำเป็นต้องลงมาเกลือกกลั้วกับการบริหารราชการโดยตรง คนเหล่านี้แต่ก่อนจัดว่าเป็นเจ้านายและขุนนาง ต่อมาจัดเป็นกลุ่มองค์กรทางการ เช่น อภิรัฐมนตรี องคมนตรี หรือสภาที่ปรึกษาต่างๆ นานา

คนเหล่านี้มีบทบาทอิทธิพลต่อการสืบราชบัลลังก์มาตลอดประวัติศาสตร์ ซึ่งทุกครั้งมีผลกระทบต่อระบบการเมืองที่ดำเนินอยู่ เพราะภารกิจสำคัญสุดยอดของผู้ใหญ่ผู้มีบารมีเหล่านี้ คือการจัดการให้ระบบการเมืองอยู่ในสภาวะตามที่พวกเขาประสงค์ ตามความเชื่อ (อุดมการณ์) ของพวกเขาว่าจะเป็นระบบที่เอื้ออำนวยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไปชั่วกาลนาน และเอื้ออำนวยต่อผู้ใหญ่ผู้มีบารมีเหล่านี้เองในระยะเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์

ภายหลัง 2475 ระบบการเมืองที่คนกลุ่มนี้ประสงค์ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป แต่คือระบอบประชาธิปไตยตามแนววัฒนธรรมไทยที่รักษาบทบาทพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะ “อำนาจทางศีลธรรม” เหนือการเมืองสกปรกดีๆ ชั่วๆ ของคนธรรมดา

ยิ่งเข้าใกล้ระยะสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ผู้ใหญ่ผู้มีบารมีเหล่านี้ยิ่งต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญอยู่ในวิสัยที่ตนสามารถกำหนดควบคุมได้ จะปล่อยให้ใครมีอำนาจมากแต่นอกลู่นอกทางที่ตนประสงค์ไม่ได้

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องในอดีตทั้งสิ้น

วันจันทร์, ตุลาคม 16, 2549

อะไรจะมีความสุขไปกว่านี้


ช่วงเวลาของวันที่ผมชอบที่สุดช่วงหนึ่ง คือ ยามเย็น ตะวันชิงพลบ

มันเป็นช่วงที่ผมใช้ทำอาหารเย็น พร้อมกับเปิดเพลงฟังไปด้วย

แน่นอน ที่ขาดเสียมิได้ เพื่อนสนิทของผมยามอยู่ฝรั่งเศส...

ไวน์

เย็นนี้ ผมทำอาหารง่ายๆ เพราะเสบียงหมด ไม่ได้ออกไปจ่ายตลาดมาหลายวันแล้ว

ผมหุงข้าวต้ม ทอดไข่เจียว แล้วก็ยำ (ไม่รู้จะเรียกยำอะไรดี ผมใส่กุ้งแห้ง กุนเชียง ปลากรอบ หอม มั่วๆไป)

ส่วนไวน์ ก็เป็นไวน์ที่เหลือจากเมื่อวาน

เสียงเพลงขับกล่อม เป็นของ Patrick Bruel อัลบั้ม Entre deux ผมได้มาจากอุปการะคุณของพี่เอ รุ่นพี่นักเรียนไทยที่ตูลูส

Patrick Bruel เป็นนักร้องฝรั่งเศสที่ผมชอบในลำดับต้นๆ ด้วยเหตุที่ว่าเป็นนักร้องคนแรกๆที่ผมได้ยินเพลงของเขา และพอจะฟังออกสองสามประโยค ตอนที่ผมมาถึงฝรั่งเศสใหม่ๆ

นอกจากนี้เขายังเป็นนักแสดงยอดฝีมืออีกด้วย

อัลบั้ม Entre deux เป็นการเอาเพลงเก่าๆ ดังๆ ของฝรั่งเศสในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งแรกถึงสงครามโลกครั้งที่สอง นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมอัลบั้มนี้ ใช้ชื่อว่า "Entre deux"

ผมไม่ค่อยมีความรู้ด้านเพลงเท่าไร เลยไม่รู้ว่าเพลงอัลบั้มนี้เขาเรียกว่าแนวอะไร แต่หลายเพลงเหมือนเพลงที่นักดนตรีที่เล่นตามรถไฟใต้ดินในปารีสเพื่อขอเงินหรือบัตรอาหาร

อัลบั้มนี้มีทั้งหมด ๒๔ เพลง ดังนี้

Mon amant de Saint-Jean

Ménilmontant (duo avec Charles Aznavour)

Ah, si vous connaissiez ma poule

Paris je t'aime d'amour

Que reste-il de nos amours ? (duo avec Laurent voulzy)

Vous qui passez sans me voir

Comme de bien entendu (duo avec Renaud)

Où sont tous mes amants? (duo avec Sandrine Kiberlain et Emmanuelle Béart)

Je suis dans la dèche

Quand on s'promène au bord de l'eau (duo avec Jean-Louis Aubert)

Le temps des cerises (duo avec Jean-Jacques Goldman)

Qu'est-ce qu'on attend pour être heureux? (duo avec Johnny Hallyday)

A paris dans chaque faubourg (duo avec Danielle Darrieux)

La Java bleue

La complainte de la butte (duo avec Francis Cabrel)

Le Premier rendez-vous

Tout le jour toute la nuit (duo avec Kahimi Karie)

J'ai ta main (duo avec Zazie)

Ramona

Celui qui s'en va (duo avec Alain Souchon)

On n'a pas tous les jours vingt ans

La romance de Paris

Parlez-moi d'amour

A contretemps

ชีวิตผมที่นี่ ก็มีความสุขอยู่แค่เรื่องแบบนี้แหละครับ

วันอาทิตย์, ตุลาคม 15, 2549

มาห้ามหนูดื่มได้ไงอ่ะ

Il faut interdire d'interdire!!!

ประโยคข้างต้นเป็นคำขวัญของเยาวชนคนหนุ่มสาวผู้เป็นเสรีชนที่รวมตัวกันย่าน quatier latin ในกรุงปารีส เมื่อเดือน พ.ค.๑๙๖๘ เพื่อประท้วงรัฐบาลและประธานาธิบดีเดอโกลล์

หมายความว่า ต้องห้ามไอ้มาตรการห้ามทั้งหลาย พูดง่ายๆก็คือ เมื่อมันห้ามเรา เราก็จะห้ามไอ้การห้ามนั่นซะ

................

เมื่อวานซืน อ่านข่าวกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอร่าง กม อายุต่ำกว่า ๒๕ ห้ามดื่มแอลกอฮอล

แทบตกเก้าอี้

โอ้นี่เราอยู่ในรัฐศาสนาหรือเปล่า?

ผมคิดว่ารัฐไม่ควรมีอำนาจมาแทรกแซงชีวิตประจำวันมากขนาดนี้ กฎหมายไม่ควรข้องเกี่ยวกับเรื่อง "ศีลธรรม" มากจนเกินไป

เรื่องบางเรื่องเป็นหน้าที่ของครอบครัว ไม่ใช่รัฐทำตัวเป็นผู้ปกครอง คอยเข้ามากำหนดข้อห้ามแก่ลูกๆ

รัฐบาลที่เก่ง ย่อมมีมาตรการต่างๆนอกเหนือไปจากการห้าม

ไม่ใช่คิดอะไรไม่ออก เห็นอะไรไม่ดี ออกกฎหมายห้ามไว้ก่อน โดยไม่สำรวจตรวจสอบเลยว่าการห้ามส่งผลอย่างไร มาตรการบังคับใช้กฎหมายจะมีอุปสรรคหรือไม่

หากรัฐบาลฟ้าประทาน เดินตามแนวนี้ นั่นก็หมายความว่า วันข้างหน้า รัฐบาลฟ้าประทานเห็นว่าเรื่องไหนไม่ดี ไร้ศีลธรรม ก็จะถืออำนาจออกมาตรการมาห้ามอีก

และต่อไปเพื่อสนองนโยบาย "พอเพียง" และ "คุณธรรม" ตามที่ ครม.พอเพียง บวก คุณธรรม บวก บารมี กำหนด ("พอเพียง" คืออะไรหว่า?) อาจมีกฎหมายห้ามนู่นห้ามนี่ตามมา เช่น ห้ามร้านอาหารขายแบบบุฟฟเฟต์, ห้ามรถยนต์ขับเร็วเกิน ๘๐, ห้ามดื่มกระทิงแดงเกินสองขวด, ห้ามกินข้าวเกินวันละ ๓ จาน, ห้ามดูหนังโป๊เกินเดือนละหน, ห้ามเล่นวินนิ่งเกินสัปดาห์ละ ๒ ตา, ห้ามดูฟุตบอลต่างประเทศเกินสัปดาห์ละนัด, ห้ามเที่ยวอาบอบนวด, ทาทายัง เกอรี่ เบอรี่ ต้องใส่กางเกงขายาว เสื้อตัวใหญ่, นักศึกษาหญิงต้องใส่เสื้อเบอร์แอลขึ้นไป เป็นต้น

ถ้าใครเถียง ใครดื้อ แสดงว่า ไม่สนอง "ความพอเพียง" และ "ความมีศีลธรรม" เผลอๆ อาจโดนข้อหา "หมื่น" โดยไม่รู้ตัว

อ่านในข่าว เห็นรองอธิบดีบอกว่า มีการนำร่าง กม ไปทำประชาพิจารณ์หลายครั้ง ผมเรียกร้องให้เปิดผลประชาพิจารณ์อย่างละเอียดว่า มีกลุ่มไหนร่วมบ้าง ความเห็นเป็นอย่างไร และมีงานวิจัยแสดงมั้ยว่าการห้ามคนอายุต่ำกว่า ๒๕ ปี ดื่มเหล้า จะส่งผลดีอย่างไรบ้าง

กำลังเขียนบทความตอนไป เกี่ยวกับ กฎหมายกับศีลธรรม ประเด็น คือ กฎหมายควรเข้าไปจำกัดเสรีภาพโดยอ้างว่าเพื่อศีลธรรมอันดีหรือไม่ อย่างไร โปรดติดตามชม

วันเสาร์, ตุลาคม 14, 2549

ศรคีรี ศรีประจวบ


ผมชอบเพลงลูกทุ่งเพราะเป็นเพลงที่ต้องอาศัยน้ำเสียงของคนร้องเป็นสำคัญ ภาษาในเนื้อเพลงก็ไพเราะ หลายๆเพลงที่ตัดพ้อต่อว่าผู้หญิง ฟังแล้วก็ทึ่งในฝีมือครูเพลง ช่างเปรียบเทียบ สรรหาคำจริงๆ

นักร้องลูกทุ่งที่ผมชอบที่สุด คือ ศรคีรี ศรีประจวบ

จุดเด่นของศรคีรีอยู่ที่น้ำเสียงเล็กๆแต่นุ่มบาดลึกของเขา ผมฟังเวอร์ชันต้นตำรับ ก็ทึ่งในเสียงของศรคีรีมาก ทั้งๆที่เทคโนโลยีเครื่องเสียงสมัยก่อนไม่มีคุณภาพเท่าสมัยนี้ แต่เสียงของศรคีรีก็กินขาดนักร้องปัจจุบันสบายๆ เมื่อประกอบกับเนื้อเพลงเพราะๆที่ครูไพบูลย์ บุตรขันบรรจงแต่งขึ้น ก็ยิ่งไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเพลงของศรคีรีจึงเป็นอมตะ

ผมรู้จักศรคีรี เพราะคนขับรถและพี่เลี้ยงของผม

ยามเด็ก ต้องให้รถที่บ้านไปส่งโรงเรียน พอขึ้นรถ พี่เลี้ยงของผมก็จะเปิดเพลงของศรคีรีประจำ ส่วนพี่คนขับรถก็ทำหน้าที่ฮัมเพลง

เช้ารอบหนึ่ง เย็นอีกรอบหนึ่ง เช่นนี้เกือบทุกวันๆ

ฟังจนเทปยืด พี่เลี้ยงผมเลยไปหาเอาเพลงของศรคีรีม้วนใหม่มา แต่คราวนี้เป็นอ๊อด โอภาส ทศพร เป็นผู้ขับร้องแทน

ทั้งพี่เลี้ยงและคนขับรถบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เสียงของอ๊อดสู้ศรคีรีไม่ได้เลย

เพลงที่ติดหูผมก็มี “เสียงขลุ่ยเรียกนาง” “หนาวลมที่เรณู” และ “พอหรือยัง”

เมื่อผมเริ่มโต นั่งรถเมล์ไปโรงเรียนเอง เสียงเพลงของศรคีรีก็ไม่ได้เข้าโสตประสาทของผมอีกเลย

จนกระทั่งได้ชม ภาพยนตร์ ตลก ๖๙ ของเป็นเอก รัตนเรือง

(สารภาพว่าผมดูภาพยนตร์เรื่องนี้ตอนเป็นแผ่น หลังจากฉายในโรงได้ ๒ ปี ยิ่งไปกว่านั้น ผมเจอแผ่นหนังนี้จากกะบะเลหลังวีซีดี)

ถ้าผมจำไม่ผิด เพลงของศรคีรีปรากฏอยู่ ๒ ฉาก ฉากที่ถ่ายสภาพเมืองทั่วๆไป เป็นเพลง “ฝนตกฟ้าร้อง” และฉากที่ลูกน้องของเสี่ยแบล็ค ผมทอง (ที่ตามฆ่าตุ้ม (หมิว ลลิตา)) กำลังร้องไห้ขณะนั่งอยู่ในรถกะบะ เพราะได้ยินเพลง “พอหรือยัง” แม่ของเขาชอบเพลงนี้มาก ฟังแล้วคิดถึงแม่

เพลงของศรคีรีอีกหลายเพลง ปรากฏในภาพยนตร์ไทยในช่วงหลัง อย่างเช่น เพลง “พระอินทร์เจ้าขา” และ “เทวดาเจ้าคะ” ในภาพยนตร์เรื่อง “คนปีมะ” ของโน้ต เชิญยิ้ม หรือล่าสุด เพลง “บุพเพสันนิวาส” ก็ไปปรากฏในฉากงานลูกทุ่งไทยวิจิตรในภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อนสนิท”

มีเพลงของศรคีรีหลายเพลงที่ผมได้ยินมานาน แล้วพึ่งมารู้ภายหลังว่าเป็นเพลงของศรคีรี เช่น เพลง “น้ำท่วม” ผมได้ฟังแต่เวอร์ชั่นที่แอ๊ด คาราบาวร้องจนชินหู อีกเพลง ก็คือ “อยากรู้ใจเธอ” เพลงนี้ผมเข้าใจผิดว่าเป็นของสายัณห์ สัญญา

ทุกวันนี้ เพลงของศรคีรีกลายเป็นสิ่งที่ผมขาดไม่ได้ ผมจะเปิดเพลงของศรคีรีทุกเช้า (บางทีก็บ่าย) หลังตื่นนอน พร้อมกับกินกาแฟและอ่านหนังสือพิมพ์ทางอินเตอร์เนท อีกรอบหนึ่งก็คือ ตอนทำความสะอาดเก็บกวาดห้อง

ผมคัดประวัติสั้นๆของศรคีรี ศรีประจวบมาฝาก (จากเว็บไซต์ลูกทุ่งเอฟเอ็ม)

ศรคีรี ศรีประจวบเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ชื่อจริง น้อย ทองประสงค์ ชีวิตตรากตรำทำงานมาตั้งแต่ออกทะเล ลากอวน จับปู ขึ้นยอดมะพร้าวเอาน้ำตาล

ขณะที่เขาบวช พ่อตากลับให้ลูกสาวแต่งงานกับชายอื่น พิษรักครั้งแรกของเขาทำให้เขาเตลิดหนีออกจากบ้าน ย้ายมาอยู่ที่ไร่สับปะรดของพี่ชาย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ศรคีรีชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมาอยู่ในกลุ่มชาวไร่ที่ชอบเพลงด้วยกัน จึงนึกสนุกกันขึ้นในหมู่บ้าน จ้างครูดนตรีมาจากค่ายธนะรัชต์ ไม่นานนักดงสับปะรดก็มีวงดนตรี "รวมดาววัยรุ่น" รับงานแสดงทั่วไปตามบ้านที่ขายสับปะรดได้โดยไม่คิดค่าตัว

ศรคีรีมีโอกาสนำวงดนตรีเข้าแสดงในงานปีใหม่ของจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ฟังเสียง และเห็นหน้าก็รักใคร่ชอบพอ ตั้งชื่อใหม่ให้เป็น ศรคีรี ศรีประจวบ นับตั้งแต่นั้นมาชื่อเขาก็โด่งดังทั่วทั้งประจวบฯ ยันเพชรบุรีด้วยชื่อของวงดนตรีลูกทุ่งภูธร รับงานและคว้าถ้วยรางวัลจากการประกวดมากมาย

หลังจากนั้น วิจิตร ฤกษ์ศิลป์วิทยา คนอยู่ใกล้บ้านกันให้การสนับสนุนเพื่อวงดนตรีแข็งแรงขึ้นและพากันเข้ากรุงเทพฯ เช่าเวลารายการวิทยุยานเกราะจาก จำรัส วิภาตะวัธ วิ่งล่องกรุงเทพฯ ประจวบอยู่บ่อยๆ ก็ได้พบกับ เพลิน พนาวัลย์ และผู้นี้เองที่พาเขา ไปพบ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ตามความต้องการของศรคีรี

ครูไพบูลย์ได้ฟังเสียงแล้วจึงแต่งเพลงให้ร้องในเวลาต่อมา "แม่ค้าตาคม", "น้ำท่วม", "บุพเพสันนิวาส" เป็นเพลงรุ่นแรกที่สร้างชื่อให้กับเขา

หลังจากที่เพลงเริ่มเป็นที่รู้จัก ศรคีรีจึงมาเช่าบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ยังไม่นำวงดนตรีมา มีงานทางโน้นก็กลับไป โดยให้วิจิตรเป็นผู้ดูแลวง ครั้งแรกที่ขึ้นมาแสดงที่กรุงเทพฯในงานศพ น้องชายครูไพบูลย์ที่วัดหลักสี่ บางเขน ตั้งแต่วันนั้นวงก็เริ่มรับงานในกรุงเทพฯ

วงดนตรีศรคีรีเดินสายทั่วประเทศ โดยออกเดินสายใต้เป็นครั้งแรก ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จัดว่าเป็นวงที่มีค่าตัวแพงวงหนึ่ง ช่วงนั้นได้มีโอกาสแสดงหนังของ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ เรื่อง "มนต์รักจากใจ" ด้วย

ศรคีรีมีชื่อเข้าไปพัวพันคดีสังหารคนในวงการด้วยกัน ทำให้ชื่อเสียงเขาตกลงไปบ้าง แต่ในที่สุดก็พิสูจน์ตัวเองได้ ชื่อเสียงกลับมาอีกครั้งในเพลง "ตะวันรอนที่หนองหาน" "อยากรู้ใจเธอ" รักแล้งเดือนห้า" "ลานรักลั่นทม" และเพลง "คิดถึงพี่ไหม" ซึ่งเพลงหลังนี้ ศรคีรีขอร้องให้ปิดไฟให้มืด ในขณะที่บันทึกเสียง ซึ่งเป็นเพลงแรกที่เขาทำเช่นนี้ เพลงนี้แต่งโดย พยงค์ มุกดา ซึ่ง ทิว สุโขทัย เคยร้องไว้ และเสียชีวิตไป

ก่อนเสียชีวิต ศรคีรีไปแสดงที่โรงหนังเอกมัยราม่า มีคนนำเอาพวงมาลัยดอกไม้สดแต่คาดด้วยผ้าดำไว้สำหรับคนตาย มอบให้บนเวทีขณะร้องเพลง ศรคีรีรับไว้ด้วยความเกรงใจ เมื่อกลับเข้าหลังเวทีศรคีรีสั่งเลิกการแสดงคืนนั้นทันทีทั้งที่ร้องเพลงได้เพียง 5 เพลง

ศรคีรีประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่ออาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2515 เวลา 08 .30 น. ขณะเดินทางกลับจากการแสดงที่อุตรดิตถ์ เพื่อเข้ากรุงเทพฯแสดงต่อ รถยนต์โตโยต้าคราวน์ของเขาปะทะกับรถซุง ศรคีรีกระเด็นออกไปจากรถเสียชีวิตทันที ในขณะที่เพลง"คิดถึงพี่ไหม" ที่บันทึกเสียงเป็นเพลงสุดท้ายในชีวิตกำลังโด่งดัง

การตายของศรคีรียังเป็นเรื่องปริศนาว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือว่าเป็นการล้างบัญชีแค้นในวงการ

............

เชิญฟังเพลงของศรคีรี ศรีประจวบ พร้อมเนื้อเพลงได้

บุพเพสันนิวาส
http://www.thummada.com/cgi-bin/iB3/ikonboard.cgi?s=425f1cf4714fffff;act=ST;f=13;t=1909;st=175

อยากรู้ใจเธอ
http://www.thummada.com/cgi-bin/iB3/ikonboard.cgi?s=425f1cf4714fffff;act=ST;f=13;t=1909;st=1

ฝนตกฟ้าร้อง
http://www.thummada.com/cgi-bin/iB3/ikonboard.cgi?s=425f1cf4714fffff;act=ST;f=13;t=1909;st=446

พอหรือยัง
http://www.thummada.com/cgi-bin/iB3/ikonboard.cgi?s=425f1cf4714fffff;act=ST;f=13;t=1909;st=401

แม่ค้าตาคม

http://www.thummada.com/cgi-bin/iB3/ikonboard.cgi?s=425f1cf4714fffff;act=ST;f=13;t=1909;st=43

รักจากใจ

http://www.thummada.com/cgi-bin/iB3/ikonboard.cgi?s=425f1cf4714fffff;act=ST;f=13;t=1909;st=427

เสียงขลุ่ยเรียกนาง

http://www.thummada.com/cgi-bin/iB3/ikonboard.cgi?s=425f1cf4714fffff;act=ST;f=13;t=1909;st=423

เสียดายมากครับที่หา ๒ เพลงนี้ทางอินเตอร์เนทไม่พบ ผมมีในเครื่องแต่ว่าลงเพลงไม่เป็น
“หนาวมลมที่เรณู” (เรณุนครถิ่นนี้ช่างมีมนต์ขลัง .....)
“คิดถึงพี่ไหม” (คิดถึงพี่หน่อยนะกลอยใจพี่ ห่างกันอย่างนี้น้องคิดถึงพี่บ้างไหม)

วันศุกร์, ตุลาคม 13, 2549

เนติบริกร?

ถ้ายังจำกันได้...

ผมเคยเขียนเรื่องเนติบริกรเอาไว้เมื่อหลายเดือนก่อน

http://etatdedroit.blogspot.com/2006/05/blog-post.html

เราเรียก วิษณุ บวรศักดิ์ โภคิน มีชัย ว่าเนติบริกร เพราะไปรับใช้รัฐบาลทักษิณ

หากเนติบริกร คือ ผู้ที่ไปเขียนกฎหมาย หาช่องทางกฎหมาย หาเหลี่ยมคูทางกฎหมาย เพื่อรับใช้เป้าหมายของตน

ไม่เพียงแต่ วิษณุ บวรศักดิ์ โภคิน มีชัย เท่านั้นที่เป็นเนติบริกร

หากนักกฎหมายอีกขั้วหนึ่ง ที่ไปช่วยพันธมิตรฯ ที่พยายามเอาทักษิณออกไป ก็ต้องเป็นเนติบริกรเช่นเดียวกัน

มีนักกฎหมายท้วงติงผมมาว่า ไม่ถูกต้อง เพราะ นัยของเนติบริกร คือ ความเลว

เมื่อ วิษณุ บวรศักดิ์ โภคิน มีชัย ไปรับใช้รัฐบาลทักษิณ ซึ่งถือว่าเลว ก็ต้องเป็นเนติบริกร

หากใครไปรับใช้คนดี เป้าหมายดี ไม่อาจเรียกได้ว่าเขาเป็นเนติบริกร

ผมคิดว่า อะไรดี อะไรเลว มันอัตวิสัย

ไปถามวิษณุ บวรศักดิ์ ตอนเข้าไปรับใช้สมัยชาติชาย มาถึงทักษิณ เขาอาจคิดว่าเขาไปรับใช้สิ่งดีๆอยู่ก็ได้

ก็ไม่ต่างอะไรกับนักกฎหมายที่ไปช่วย คปค เพราะคิดว่ากำลังทำคุณอนันต์ให้แก่บ้านเมืองอยู่

เห็นเมื่อก่อนว่าพวกเนติบริกรทักษิณเต็มไปหมด เรื่อง พรก ฉุกเฉินเอย เรื่องแทรกแซงสื่อเอย เรื่องแทรกแซงองค์กรอิสระเอย เรื่องจำกัดสิทธิเสรีภาพเอย

เอาแบบนี้แล้วกัน ผมขอความกรุณา นักกฎหมายที่ไปช่วย คปค ทั้งหลาย ช่วยพิสูจน์ได้ไหมครับว่าไม่ได้เป็นเนติบริกรนัยเลว (แบบที่พวกคุณเคยด่าเนติบริกรทักษิณ) ด้วยการไปบอกรัฐบาลให้เลิกกฎอัยการศึก ยกเลิกการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ยกเลิกประกาศ คปค ฉบับ ๒๗ ที่เอาโทษแบนทางการเมือง ๕ ปี มาใช้ย้อนหลัง ยกเลิกการแทรกแซงองค์กรอิสระด้วยการตั้งคนที่ไม่เป็นกลางเข้าไป ฯลฯ

หากเรารู้สึกคำว่า "เนติบริกร" เป็นสิ่งชั่วร้าย ฟังแล้วดูทุเรศ ผมเสนอว่าให้ยกเลิกคำนี้ไป จะได้ไม่ต้องมาเถียงกันอีก

(แต่ส่วนตัว ผมไม่เห็นว่าคำว่า "เนติบริกร" เป็นคำที่เลว)

อาจคิดคำใหม่ๆมาใช้กัน อย่างเช่น นักกฎหมาย คปค, เนติ คปค, เนติบริกรใน "ระบอบ ปชต อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ เนติสี่เสา เป็นต้น

อนึ่ง ผมไม่ได้บอกว่าใครเลว ใครดี ผมไม่บังอาจไปบอกว่าขั้วเนติบริกรทักษิณเป็นคนเลวหรือดี หรือ ขั้วนักกฎหมาย คปค เป็นคนเลวหรือดี เรื่องของเรื่อง ผมแค่ออกมาเรียกร้อง "ตรรกะ" ในหมู่นักกฎหมายเท่านั้นเองว่า "ตรรกะ" ที่ใช้ต้องเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่อะไรที่เป็น "แนว" ของฉันต้องดีหมด ถูกหมด อะไรที่เป็นของ "อีกฝ่าย" ต้องเป็นความเลว ความชั่ว

กล่าวให้ถึงที่สุด อย่าใช้มาตรวัดทาง "ศีลธรรม" (ซึ่งอัตวิสัยมากๆ) มาจับว่าใครเป็นเนติบริกรเลย ใครรับใช้ทักษิณเป็นเนติบริกรที่เลว ใครรับใช้ คปค เป็นเนติบริกรที่ดี

และ ขอความกรุณาอย่าบริภาษว่าผมโง่ ผมไร้เดียงสา ไอ้บ้านี่ ไม่รู้เรื่อง นักกฎหมายกลุ่มนี้ เขาเสียสละกำลังไปช่วยบ้านเมือง (วิษณุ บวรศักดิ์ มีชัย โภคิน ก็อาจคิดแบบนี้เหมือนกันว่าไปช่วยบ้านเมือง) เพราะ ผมไม่เห็นทิศทางเลยว่า "แก๊งค์บารมี" นี้จะทำให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และแม้ผมไม่ได้เป็นลูกชาวนา (ไม่จำเป็นเสมอไปหรอกครับที่ความเป็นลูกชาวนา จะทำให้เราเข้าใจลูกชาวนาอย่างลึกซึ้ง) แต่ผมก็เห็นว่า การปกครองโดยแก๊งค์บารมีไม่ได้ทำให้ "ชาวนา" หรือ "ลูกหลานชาวนา " ลืมตาอ้าปากขึ้น

นอกเสียจาก คุณสารภาพชัดๆว่า คุณศรัทธาในระบอบการปกครองของแก๊งค์บารมี หรือ เรียกเพราะๆว่า อภิชนาธิปไตย เมื่อนั้นผมจะยอมรับ เพราะรสนิยมเราไม่ตรงกันเสียแล้ว

วันอังคาร, ตุลาคม 10, 2549

๕ คนที่คุณอยากดื่มด้วย

วันนี้นั่งดื่มไวน์ ปล่อยอารมณ์ไปเรื่อย...

คิดคำถามขึ้นมาได้

ถ้าให้คุณเลือกคน ๕ คนที่คุณอยากร่วมดื่มด้วย คุณจะเลือกใครบ้าง

เงื่อนไข เขาคนนั้นก็คงต้องเป็นนักดื่มอยู่บ้างนะครับ ไม่ใช่ไปเลือกคนที่ไม่ดื่มเลย

ของผม ๕ คน แบบไม่เรียงตามลำดับนะ อยากดื่มกับ ๕ คนนี้เท่าๆกัน

๑. รงค์ วงศ์สวรรค์

๒. แอ๊ด คาราบาว

๓. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ผมได้ยินมาว่าอาจารย์ป๋วย ชอบดื่มบรั่นดีเป็นประจำ)

๔. ส.ศิวรักษ์

๕. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ไม่เลือกคนต่างประเทศเลย เพราะกลัวคุยไม่รู้เรื่องครับ

วันจันทร์, ตุลาคม 09, 2549

เลือก

กลับไปเมืองไทยครั้งนี้ ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Seasons Change : เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ชอบครับ

แต่ที่ชอบที่สุด คือ ดุจดาว ฮี่ฮี่ ดูแล้วอยากเกิดเป็นไวโอลิน

เสียดายมาก ผมพึ่งมารู้ว่าเธอเรียนอยู่คณะบัญชี มธ. แหม ถ้ารู้ก่อน จะได้ไปเดินแถวๆนั้น

ในความเห็นผม ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ อยู่ที่ “การเลือก”

เจ้าของชีวิตได้เลือกเส้นทางชีวิตของตน หรือไม่?

ผมมานั่งนึกย้อนดูชีวิตตนเอง มีหลายครั้งที่ผมไม่ได้เลือกชีวิตของตนเองเลย หรือถ้าเลือกก็คงเลือกเพราะปัจจัยแทรกซ้อน ไม่ได้มาจากความชอบ

เมื่อเข้ามัธยม ๑ ในวิชาดนตรี โรงเรียนผมมีให้เลือกสองอย่าง ดนตรีไทย กับ โขน

ตามประสาเด็กผู้ชาย ลิงทะโมน ก็อยากไปเต้นโขน ได้วิ่งเล่นสนุกสนาน ดีกว่าไปนั่งพับเพียบเป่าขลุ่ยไทย สีซอ ตีขิม

แต่ตอนนั้น ผมเลือกไปเรียนดนตรีไทย

เพื่อนกลุ่มผมล้วนแล้วแต่ไปเล่นโขนกันหมด มันงุนงงกันมากที่ผมตัดสินใจเลือกดนตรีไทย ซึ่งมีแต่เหล่าเพื่อนร่วมห้องที่เป็นผู้ฉิง

เหตุผลของผมมีข้อเดียว คือ ผมชอบมิสที่สอนดนตรีไทย (โรงเรียนผมเรียกครูผู้หญิงว่า “มิส”)

ผมไปเรียนด้วยความมุมานะ จำได้ว่ามีเรียนทุกวันจันทร์ ถึงวันอาทิตย์ตอนเย็นทีไร ผมดีใจมากที่วันรุ่งขึ้นจะได้ไปเรียน ซึ่งผิดวิสัยเด็กนักเรียนทั่วไปที่ไม่ชอบวันจันทร์ คราใดที่วันจันทร์ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ ผมจะเซ็งมาก

เช้าๆ ผมพยายามไปให้ทันเวลาที่มิสลงเรือข้ามฟากจากคลองสานไปท่าเรือโอเรียนเต็ล

จำได้เลยว่า ช่วงนั้น เลิกเรียนแล้ว ไม่สนใจเตะฟุตบอล แต่รีบไปที่ห้องดนตรีไทย เพื่อหามุขนั่งเรือข้ามฟากกลับบ้านพร้อมมิส

ถึงบ้านทีไร เป็นต้องหยิบขลุ่ยไทยมาโซโล่ จนป๊าและม้าเอือมไปตามๆกัน

มิสคงเห็นผมเป็นแมน และขยันเกินหน้าเกินตาเพื่อนกระมัง เลยเลือกให้ผมเป็นหัวหน้าในคลาสดนตรีไทยด้วย

คงเดาได้ใช่มั้ยครับ คะแนนเป่าขลุ่ยของผมจะออกมาดีเลิศขนาดไหน แต่น่าเสียดาย ทุกวันนี้วิชาขลุ่ยไทย ผมคืนมิสไปหมดแล้ว

จะว่าไป บางครั้งปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลให้เราเลือกทางเดินชีวิต บางทีก็เป็นแรงผลักดันให้เรามุ่งมั่นได้เหมือนกัน

ขึ้นมา ม.ปลาย ช่วงต้องเตรียมเอ็นทรานซ์

ผมเกลียดวิชาคณิตศาสตร์มาก ในเวลาปกติ ผมยังไม่อยากเรียน แต่เรียนพิเศษ ผมกลับไปลงเรียน

เช่นเคยครับ เหตุจากผู้หญิง

ผมไปหลงรักนักเรียนเตรียมอุดมคนหนึ่งเข้า เพื่อนผมไปสมัครเรียนเลขของสมัย เหล่าวานิชย์ ผมตามไปด้วย ไปเจอเธอเข้า ปิ๊งเลย รุ่งขึ้น เลยรีบตามไปสมัครเรียน

เป็นคลาสเรียนน่าเบื่อ ไซน์ คอส แทน ตรีโกณ ถอดรูท อะไรก็ไม่รู้ แต่ผมก็ทดแทนความน่าเบื่อเหล่านั้นได้ด้วยการมองเธอ ผมกระปรี้กระเปร่าทุกครั้งที่ได้ไปเรียนเลขสมัย เพราะได้มีโอกาสลุ้นพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างของผมกับเธอ

ตอนเลือกสายเรียน ม ปลาย ก็เหมือนกัน ผมรู้ตัวดีว่าไม่ชอบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประเมินตนเองว่าถ้าเรียนสายศิลป์ ฝรั่งเศส คงรุ่งกว่า แต่สุดท้ายผมก็เลือกเรียนสาย วิทย์-คณิต

ค่านิยมสมัยนั้น อยากให้ดูเป็นคนเก่ง เด็กหัวดี มีคุณภาพ ก็ต้องไปเรียนสายวิทย์ เพราะเขาตั้งเกณฑ์ไว้ว่าต้องเกรดเฉลี่ย ม ต้น เกิน ๒.๕ ขึ้นไปจึงจะเรียนได้ ส่วนห้องสายศิลป์ ภาษา ก็จะมีแต่เด็กเรียนไม่ดี เด็กเกเรไปสุมหัวกัน

ตอนนั้น ผมคิดอยู่สองทาง ทางแรก ผมจะไปสมัครเรียนสายศิลป์ ฝรั่งเศส ที่เตรียมอุดม เพราะอย่างน้อยก็มีแต่เด็กขยันๆไปเรียนอยู่ที่นี่ ซึ่งดีกว่าห้องศิลป์ ฝรั่งเศส ของโรงเรียนผม ไหนจะออกสู่โลกกว้างได้ไปเรียนสหศึกษา กับสาวๆเป็นครั้งแรกนับแต่อนุบาล ทางที่สอง ผมจะเรียนสายศิลป์ ฝรั่งเศส ที่โรงเรียนเดิม เพราะ ความคุ้นเคย ทั้งคนและสถานที่ ไม่ต้องปรับตัวใหม่ สำคัญก็คือ ไม่โดนบรรดาเพื่อนร่วมรุ่นตราหน้าว่าเราไม่รักโรงเรียน (มานั่งนึกๆดู ช่างเป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลจริงๆ)

โรงเรียนผมพยายามสกัดกั้น ไม่ยอมให้เด็กไหลออกไปเตรียมอุดม เลยจัดวันลงทะเบียนให้ตรงกับวันสอบของเตรียมอุดม ใครไม่มาวันนั้น ถือว่าสละสิทธิ์ เจอไม้นี้เข้า ผมก็เริ่มเขว เกิดไปสอบเตรียมฯไม่ติดล่ะก็ ไม่มีที่เรียนแน่ ทางบ้านและเพื่อนก็สนับสนุนให้ผมเรียนที่เดิม

ในที่สุดก็ตัดสินใจจะเรียนศิลป์ ฝรั่งเศสที่โรงเรียนเดิม

แต่แล้วพ่อผมก็บังคับให้ต้องเรียนสายวิทย์เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า “มีแต่คนเขาอยากเรียนกัน พวกที่เกรดไม่ถึง ไปวิ่งเต้นกันอุตลุด นี่เราเกรดถึงแล้วทำไมไม่เรียน เรื่องไม่ชอบเลข ฟิสิกส์ เดี๋ยวก็ขยันหน่อย ไปเรียนพิเศษเพิ่มได้” และ “จะได้ไปเอ็นทรานซ์วิศวะ หมอ”

ผมยืนกรานหัวแข็ง จนไม่พูดกันหลายวัน

วันลงทะเบียนจ่ายค่าเทอม ก่อนออกจากบ้าน ผมรับปากไปก่อนว่าจะเลือกวิทย์ คณิต แต่ในใจคิดเลือกศิลป์ ฝรั่งเศส แล้วจะปิดไว้เป็นความลับ

ผมนั่งเล่นอยู่ใต้ถุนตึก คิดกลับไปกลับมา

แล้วผมก็ไม่เด็ดเดี่ยวพอที่จะทำลายความตั้งใจของพ่อ จึงตัดสินใจเรียนสายวิทย์ คณิต ตอนนั้นคิดแค่ว่า เอาวะ เรียนเพื่อพ่อสักครั้ง ดีกว่ามาเห็นน้ำตาเขาทีหลัง

ผลที่ตามมา คือ ตลอด ม.๔ และ ม.๕ วิชาภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ ผมกวาดเกรด ๔ รวด เคมี ชีวะ พอเอาตัวรอดได้ แต่เลข ฟิสิกส์ ๐ ทุกเทอม

ที่คิดว่าจะเรียนตามใจพ่อเพราะไม่อยากให้เขาเสียใจ สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เพราะ ผมสอบตก ต้องซ่อมเป็นครั้งแรกในชีวิต

ผมทนสภาวะแบบนี้อยู่สองปี จนขึ้น ม.๖ ผมตัดสินใจย้ายสาย ครั้นไปเรียนศิลป์ ฝรั่งเศส ก็ไม่ทัน เพราะเขาเรียนฝรั่งเศสไปสองปีแล้ว โรงเรียนยอมให้มาเรียนศิลป์ คำนวณเท่านั้น วิชาคณิตศาสตร์จึงยังตามหลอกหลอนผมต่อไปอีกปี

แม้จะแคล้วคลาดกับภาษาฝรั่งเศส แต่สุดท้าย ชีวิตผมก็หนีมันไปไม่พ้น

ถึงคราวเอ็นทรานซ์ ผมประกาศเป็นไทแก่ตัว พ่อผมยอมไม่แทรกแซงการเลือกคณะ เพราะรู้ดีว่าบังคับไม่ได้ และหากบังคับให้ผมเลือกหมอหรือวิศวะ อีก ๑๐ ชาติ ผมก็เอ็นไม่ติด จึงหันไปมอบภาระนี้ให้กับน้องชายผมแทน

ผมตั้งใจเลือก รัฐศาสตร์การทูต จุฬา และ มธ. แล้วก็รัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง จุฬา และ มธ.

เลือกได้เสี่ยงมาก แต่มั่นใจเต็มร้อย ไปลองสอบปรี เอ็นทราซ์ ก็คะแนนถึง

แต่แล้วระหว่างนั่งติวหนังสือให้เพื่อนรัก เราเปิดวิทยุไปด้วย จำได้ดีว่าเป็นกรีน เวฟ ช่วงโฆษณาประชาสัมพันธ์บอกว่า มธ เปิดโครงการสอบตรง ใน ๓ คณะ คือ นิติศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี และสังคมสงเคราะห์ เพื่อนผมมันอยากเรียนบัญชีที่ มธ ใจจะขาด ก็เลยชักชวนให้ผมไปเอาใบสมัครด้วยกัน ผมมองดูแล้ว ใน ๓ คณะนี้ ถ้าต้องเลือก คงเลือกนิติ

สุดท้าย ไม่เพียงแค่คณะนิติ มธ เป็นที่เรียนของผม มันยังกลายเป็นที่ทำงานและบ้านหลังที่สอง

....................

ผมไม่ชอบดนตรีไทยที่ดูอ้อนแอ้น แต่ก็ไปนั่งเป่าขลุ่ยด้วยความอิ่มเอม
ผมไม่ชอบเรียนเลข แต่ก็ยอมเอาเงินที่บ้านไปผลาญเล่นด้วยการลงเรียนพิเศษเลขเพื่อตามสาว
ผมไม่อยากเรียนสายวิทย์ คณิต แต่ก็ต้องเรียนตามความต้องการของทางบ้าน
ผมอยากเรียนภาษาฝรั่งเศส แต่ก็ไม่ได้เรียน สุดท้ายชีวิตผมกับมันก็หวนมาเจอกันอีก
ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าชีวิตนี้ต้องมาเรียนกฎหมาย แต่ก็มาเรียน นอกจากเรียนทั้งชีวิตแล้ว ยังต้องเอาไปสอนคนอื่นต่ออีกด้วย

นี่เราได้เลือกทางเดินชีวิตเราเอง หรือเป็นสายลมแห่งโชคชะตาที่พัดพาเราไป

วันเสาร์, ตุลาคม 07, 2549

ความรัก


เคยรู้จักความรักไหมครับ?

ผมว่า “ความรัก” เป็นเรื่องอัตวิสัยมากๆ มากจนกว่ามนุษย์คนใดในโลกใบนี้จะให้คำนิยามแก่มันได้

กิจกรรมบางกิจกรรม คนหนึ่งอาจบอกว่าเป็นไปเพราะความรัก เพื่อความรัก แต่อีกคนหนึ่งอาจบอกว่าไม่ใช่ ตรงกันข้าม การกระทำบางอย่างบางประการ คนบางคนอาจบอกว่าเป็นการกระทำของสัตว์ป่า หรือของผีห่าซาตานตนใด แต่ผู้กระทำกลับบอกว่าเป็นไปเพราะความรัก

คนคนหนึ่งอาจรู้สึกว่าการที่ตนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ให้เวลา ดูแลเอาใจใส่ โทรศัพท์แบบเช้าถึงเย็นถึง เป็นความรักอย่างสุดซึ้ง แต่สาวคู่กรณีของเขากลับคิดว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญและรกรุงรังเป็นอย่างยิ่ง

กับอีกคนหนึ่งลงมือประพฤติกรรมแบบเดียวกัน สาวคู่กรณีซึ่งเป็นคนเดียวกันกับที่เอ่ยไปข้างต้นกลับนิยมชมชอบหลงใหลจนถึงขนาดอยากขยับความสัมพันธ์เกินกว่า พี่-น้อง หรือเพื่อนสนิท

เช่นนี้แล้ว เราจะนิยาม “กลางๆ” ว่าความรักคืออะไร ได้อย่างไร?

ผมคิดว่าความรักไม่น่าจะแปรผันไปตามจำนวนเวลาที่ “คู่รัก” อยู่ด้วยกัน

ชายคนหนึ่งไม่ติดต่อหญิงคนรักของเขาเป็นเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักผู้หญิงของเขาแล้ว

ทำนองเดียวกัน ชายคนหนึ่งขยันขันแข็งหมั่นติดต่อสาวของเขาเป็นอาจิณ เช้าหนึ่งรอบ เย็นสองรอบ ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าเขาจะไม่มี “กิ๊ก” หรือ “เมียลำดับสอง สาม หรือสี่”

เช่นกัน การมีเวลากินข้าวเย็นด้วยกันของชายหนุ่มกับหญิงสาว ก็อาจมีค่าเกินกว่าการร่วมรักอันได้เพศรสที่สุดวิเศษ

ผมคิดว่าความรักไม่น่าจะแปรผันไปตามระยะทาง

คนอยู่ไกลก็อาจรักกันได้ และคนใกล้กันก็อาจหนีไปมีชู้หรือนอกใจได้ พอๆกับที่คนอยู่ใกล้จะรักกันจนแต่งงานมีลูกมีหลานเต็มบ้านเต็มเมือง และคนไกลกันเฝ้าหาแต่ช่องทางในการเจอคนใหม่ๆ

ผมคิดว่าความรักไม่น่าจะแปรผันไปตามความเข้ากัน

ไม่จริงเสมอไปที่ คนเข้ากันจะต้องรักกัน และคนไม่เข้ากันต้องไม่รักกัน ความรักอาจทำให้เข้ากัน และความเข้ากันก็อาจทำให้ไม่รักกัน

ชุดคำพูดที่ว่า “เราเข้ากันไม่ได้” เป็นคำแก้ตัว เป็นเปลือกที่ใช้หุ่มห้อความจริงของความหมดรัก

ทำไมคนเราหมดรัก หรือต้องการปฏิเสธความรักของใครสักคน ถึงไม่กล้าบอกไปตรงๆว่าฉันไม่รักเธอแล้วหรือฉันไม่เคยรักเธอเลย

“เราเข้ากันไม่ได้” สำหรับผมแล้ว มันเป็นได้แค่อาวุธของคนขี้ขลาดเท่านั้น

ผมอาจเกิดมาเพื่อให้ผู้หญิงทิ้ง

หลายคนบอกว่าผมทำตนเองเพื่อให้ผู้หญิงทิ้ง

แต่ผมกลับคิดว่า ผมไม่เปลี่ยนตนเองเท่านั้น การเปลี่ยนตนเองเพื่อให้สาวรักเรา นับเป็นการทรยศตนเองอย่างร้ายกาจ

การเปลี่ยนตนเองตามใจสาว อาจทำให้ผมฝันร้าย นอนไม่หลับ

ในเมื่อความเชื่อ ความฝัน บุคลิก หรือ “สันดาน” ของเรา เรายังไม่ยอมรับ แล้วเราจะมีหน้าไปรักใครได้

กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายคววามว่าให้ผู้ชายต้องเป็นคนแข็งกระด้าง ไม่ปรับตัวไปตามผู้หญิง

หากแต่ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องมี “รสนิยม” ที่ใครก็ตามไม่อาจเข้ามาคุกคามหรือเปลี่ยนแปลงได้

ชายก็ดี หญิงก็ดี อาจมีความดิบ ความปรารถนาที่ซ่อนอยู่

คุณเชื่อหรือไม่ว่า คนเราสามารถรักพร้อมกันได้หลายๆคน

สตรีที่ทอดทิ้งผมไปทั้งหมด ผมสำรวจแล้วพบว่าไม่มีคนใดที่ผมไม่รัก

ไม่แน่ วันหนึ่ง หากเราไม่ถวิลหาความรัก ไม่วาดวิมานความรัก สักวันมันจะกลับมาเป็นของเรา

จงนำความรัก ที่เราเชื่อว่าเป็นความรัก เป็นแรงผลักดันให้กระทำการแต่สิ่งที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม

วันศุกร์, ตุลาคม 06, 2549

๓๐ ปี ๖ ตุลา

"ยามเมื่อฟ้าสี "เหลือง" ผ่องอำไพ ผู้มีบารมียังเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"

๓๐ ปี ๖ ตุลา มาพร้อมๆกับบรยากาศ ๒ บรรยากาศ หนึ่ง รัฐประหาร ๑๙ กันยา ฝุ่นควันยังไม่จาง สอง เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างหนักในหมู่ผู้มีปัญญา

ในสภาวะเช่นนี้ เชิญชวนไปอ่าน "สัมภาษณ์พิเศษ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ตอนที่ 1 : 30 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยแพ้แล้ว?"

ผมเห็นด้วยหลายตอน เช่น

"ในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการอ้างเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็จริง แต่ไม่ได้เป็นการอ้างลักษณะเดียวกับครั้งนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลา เริ่มต้นจากการเผยแพร่ภาพและปล่อยข่าวเพื่อปลุกระดมมวลชนว่า ขบวนการนักศึกษาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ภาพของสถาบันฯ ในความรู้สึกของประชาชนในขณะนั้น จึงเป็นฝ่ายตั้งรับ ขณะที่นักศึกษาเป็นฝ่ายคุกคาม ตรงกันข้ามกับรัฐประหารครั้งนี้ที่มีการอ้างอิงและใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในลักษณะเชิงรุก ที่ท้ายที่สุดแล้วเอื้อต่อชัยชนะของฝ่ายรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง "

"หลังจากการรัฐประหารเกิดขึ้น ปัญญาชนจำนวนมากพยายามสร้างคำอธิบายให้รัฐประหารชอบธรรม บ้างก็บอกว่ารัฐประหารครั้งนี้จำเป็น เพราะสังคมไทยไม่มีทางออกอื่น บ้างก็บอกว่าไม่ควรคัดค้านที่ทหารฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะคุณทักษิณเองฉีกรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้ว บ้างก็บอกว่า นี่เป็นการรัฐประหารที่สันติ ไม่มีการนองเลือด หรือบางคนก็บอกว่าไหนๆ รัฐประหารก็เกิดขึ้นแล้ว เรามาช่วยกันทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็นรัฐประหารที่ดี เรื่องที่น่าเศร้าใจก็คือ ปัญญาชนเหล่านี้ทำลายหลักการร่วมข้อหนึ่งที่เป็น ‘แกนกลางทางความคิด’ ของปัญญาชนแทบทุกฝ่ายในสังคมไทยในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 นั่นก็คือ หลักการที่ไม่ยอมรับการปฏิวัติรัฐประหารทุกชนิด แต่ในปี 2549 ปัญญาชนทำให้การรัฐประหารเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ น่าภาคภูมิใจ ซ้ำปัญญาชนหลายคนยังทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้กับการปกครองของทหารเสียยิ่งกว่าตัวทหารเอง"

"ปัญหาที่สำคัญคือสังคมทุกวันนี้เป็นสังคมสมัยใหม่ เป็นสังคมอุตสาหกรรมที่คนแต่ละฝ่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนและขัดแย้งกันอย่างสลับซับซ้อน เราจะบอกได้จริงๆ หรือว่าใครมีศีลธรรมกว่าใคร นี่ไม่ได้กำลังบอกว่าคนเราไม่ควรมีศีลธรรม แต่ประเด็นที่ต้องการพูดก็คือในโลกสมัยนี้ ผู้นำที่มีศีลธรรมอาจเป็นแค่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการใช้สื่อเพื่อ ‘ผูกขาด’ ภาพความมีศีลธรรมไว้ที่ตัวเองอย่างถึงที่สุดก็ได้ อย่าลืมว่าในสังคมไทยนั้น ชนชั้นนำกลุ่มเดียวที่เราจะชี้หน้าด่าอย่างเปิดเผยได้ว่าเป็นคนเลว ไม่มีศีลธรรม คอรัปชั่น โง่ หาประโยชน์ให้พวกพ้อง ฯลฯ ก็คือชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากพรรคการเมือง และรัฐสภา แต่เราทำอย่างนี้ไม่ได้แน่ๆ กับชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กับชนชั้นนำที่มาจากกองทัพ จากศาล หรือจากระบบราชการ"

"คนเหล่านี้เติบโตขึ้นมากับสภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นก็คือการเกิดกระแส ‘การเมืองภาคประชาชน’ ที่ทำให้ความเป็น ‘ภาคประชาชน’ กลายเป็นต้นทุนทางการเมืองได้ เพราะ ‘ภาคประชาชน’ ตามนัยนี้วิพากษ์วิจารณ์ความชอบธรรมของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงสอดคล้องกับการเมืองแบบที่อยู่ใต้การครอบงำของอุดมการณ์ธรรมราชา ประเด็นนี้สำคัญ เพราะชนชั้นนำและทุกคนในประเทศไทยนั้นรู้ว่า ‘ภาคประชาชน’ ไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการรวมกลุ่มในหมู่ประชาชนอย่างเหนียวแน่นและกว้างขวาง ในทางตรงกันข้าม ‘ภาคประชาชน’ เกิดขึ้นเมื่อผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชนบางกลุ่มมีผลงานปรากฎในที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง พูดในเรื่องที่สังคมปัจจุบันต้องการ และแสดงบทบาทเฉพาะในขอบเขตที่การเมืองแบบ ‘ธรรมราชา’ กำหนด หากไม่ระมัดระวังให้ดี การเมืองแบบภาคประชาชนอาจมีฐานะเป็นเพียงส่วนขยายของการต่อสู้ทางการเมืองในหมู่ชนชั้นสูงก็เป็นได้ ส่วนผู้นำภาคประชาชนก็อาจมีสถานภาพเป็นแค่ผงซักฟอกให้ผู้มีอำนาจอ้างได้ว่าพวกเขาฟังเสียงประชาชน"

อ่านฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ประชาไท

วันอังคาร, ตุลาคม 03, 2549

เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะล้างบางทักษิณ" ดีกว่ามั้ง

คณะรัฐประหาร ภายใต้นามแฝงว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ยาวจัง พิมพ์เมื่อยเลย) ขับไล่ทักษิณออกไปแล้ว

ตอนนี้กำลังล้างบางเครือข่ายของทักษิณออกไปให้หมด

ล้างบางครั้งนี้ ทำในนามกฎหมาย ทำในนามองค์กรอิสระ

แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น

ลองพิจารณาประกาศหลายฉบับ

๑. ยุบ คตง แล้วให้จารุวรรณทำหน้าที่แทนทั้งหมด นั่นหมายควมว่า จารุวรรณคนเดียวเป็นคนลงมติได้ทุกเรื่อง จากเดิมจารุวรรณเป็นคนชงเรื่องให้ คตง ชี้ขาด แต่ตอนนี้เธอชงเอง กินเองได้ตามอัธยาศัย

๒. วาระจารุวรรณจะหมดลง เกรงว่าทำไม่ทัน เพราะทั่วทั้งแผ่นดินไทยมีจารุวรรณคนเดียวเท่านั้นที่จะตรวจเงินแผ่นดินได้ ก็เลยต่ออายุให้อีกหนึ่งปี

๓. ตั้ง ป.ป.ช. ชุดใหม่ วาระเต็ม ๙ ปี กรรมการแต่ละคนเห็นหน้าแล้ว ก็รู้ได้เลยว่าเป็นปฏิปักษ์กับทักษิณ

๔. ยุบศาลรัฐธรรมนูญ แล้วสร้างคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มาจากศาลฎีกา ๕ ศาลปกครอง ๒ ไม่ได้มาทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรอกครับ แต่มาทำเรื่องเดียว คือ "ยุบพรรค"

๕. เพิ่มโทษชงไว้รอการยุบพรรคล่วงหน้า บรรดากรรมการบริหารของพรรคที่ถูกยุบ จะมาอยู่ในวงการการเมืองไม่ได้อีก ๕ ปี

๖. ตั้ง คตส. มาหนึ่งชุด ปรากฏว่า มือปราบทักษิณน้อยไปหน่อย สองวันต่อมา ล้มมันซะ ตั้งชุดใหม่ เห็นหน้าแล้วก็ปฏิปักษ์กะทักษิณทั้งนั้น

ผมคิดว่าตอนนี้น้ำขึ้น คณะ รปห. อยากทำอะไรคนก็เฮ คนก็ชอบ กลายเป็นว่าคนที่ว่าตามหลัก โดนยัดข้อหาว่าไอ้พวกนี้เครือข่ายทักษิณ ความเป็นกลาง ในสภาวะนี้ คงหมายถึง คนที่เป็นปฏิปักษ์กับทักษิณกระมัง

แต่พึงระวังไว้ว่า หากคณะ รปห ต้อนทักษิณให้จนตรอก จนดูเหมือนว่าทักษิณถูกรังแก คนทั่วไปอาจสงสาร ให้ความเห็นใจทักษิณ และมองว่าคณะ รปห ใจร้าย โหด ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ

ผมจึงคิดว่า เล่นกันแบบนี้ ไม่ได้สร้างความสมานฉันท์ แต่ยิ่งแตกแยกกัน เพียงแต่ความแตกแยก บาดหมาง มันถูก "บังคับ" ให้ซ่อนเอาไว้

วิญญูชนว่า "การตั้งคนที่เป็นปฏิปักษ์กับทักษิณมาพิจารณาเรื่องของทักษิณ" ก็ดี หรือ "การเพิ่มโทษห้ามเล่นการเมือง ๕ ปี ย้อนหลังไปใช้กับการกระทำก่อนหน้านั้น" ก็ดี มัน "ยุติธรรม" มั้ยครับ

หรือว่า ณ เวลานี้ บ้านนี้เมืองนี้ มีนิยาม "ยุติธรรม" ว่า อะไรก็ตามที่ไม่เอาทักษิณ ถือว่า ยุติธรรม ทั้งหมด

วันอาทิตย์, ตุลาคม 01, 2549

ว่าด้วยเรื่องรัฐประหาร (๑)

-๑-

แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฉบับที่ ๒

ตามที่คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ดังมีรายนามตอนท้ายได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ ๑ เพื่อคัดค้านการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปแล้วนั้น

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ขอแสดงความเห็นต่อไปว่าหากต้องการให้การปฏิรูปประชาธิปไตยบรรลุเป้าหมาย มีความจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรายังคงเห็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนโดยวิธีการหลากหลายรูปแบบ ยิ่งกว่านั้น ยังมีการห้ามมิให้มีการชุมนุมกันเกินกว่าห้าคนเพื่อแสดงความเห็นในทางการเมือง ทั้งที่การแสดงออกถึงความเห็นของประชาชนโดยสุจริตและรับผิดชอบ มิว่าจะที่ไหน เมื่อไหร่ หรือจำนวนเท่าใด ถือเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งต่อการก่อตั้งและพัฒนาปรับปรุงหลักการประชาธิปไตยอื่นๆ

โดยอาศัยฐานะความเป็นพลเมืองไทย คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ดังมีรายนามตอนท้าย ขอเรียกร้องให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยุติการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน และขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่งห้ามมิให้มีการชุมนุมเกินกว่าห้าคนเพื่อแสดงความเห็นในทางการเมืองโดยเร็วที่สุด


รองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์
รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร

คณาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.............

-๒-

ความเห็นเรื่องรัฐประหารของผม

http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/1001