วันพฤหัสบดี, เมษายน 27, 2549

การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ศาลใดจะรับเรื่อง?

ภายหลังพระราชดำรัสเมื่อ ๒๕ เมษายน ศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญจะนัดประชุมกันในวันศุกร์นี้ เพื่อหา “ช่อง” ให้มีศาลใดรับเรื่องการเลือกตั้งเข้าสู่กระบวนพิจารณา

ประเด็นเบื้องต้นที่ควรพิจาณา คือ จะฟ้องเรื่องอะไร ฟ้องว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ? ฟ้องเพิกถอน พ.ร.ฎ.ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง? หรือฟ้องอะไร?

กรณีนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองและกฎหมายไทย ที่เรามี “ธง” ในใจเรียบร้อย แต่ต้องควานหาคนเอา “ธง” นั้นไปใช้

หากมี “ธง” ในใจแล้วว่า ศาลต้องวินิจฉัยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ น่าสนใจว่า ศาลไหนจะรับเรื่องพิจารณา

ศาลปกครองได้วินิจฉัยมาแล้วสองครั้งว่า ไม่มีอำนาจเพิกถอน พ.ร.ฎ.ยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้ง (นักศึกษา มธ. ครั้งหนึ่ง และคุณรสนา โตสิตระกูล อีกครั้งหนึ่ง) เพราะ ทางกฎหมายปกครอง เราถือกันว่า การยุบสภาเป็นการกระทำทางรัฐบาลซึ่งไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรตุลาการ

ศาลรัฐธรรมนูญ มีเขตอำนาจจำกัดอยู่ ๑๖ ประการเท่านั้น หลักๆคือวินิจฉัยว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และวินิจฉัยความขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

มาถึงศาลยุติธรรม หลักคือพิจารณาเรื่องทางแพ่งหรือทางอาญา เรื่องเลือกตั้งจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลฎีกาอีก มีการหยิบยกประเด็นว่า หากศาลใดๆไม่มีเขตอำนาจแล้ว ศาลยุติธรรมจะเป็นตัวกวาดได้หรือไม่? ความข้อนี้ ต้องกลับมาพิจารณาอีกว่า ใครจะเป็นคนฟ้อง? ฟ้องเรื่องอะไร? คนฟ้องมีสิทธิในการฟ้องคดีตาม ป.วิแพ่ง มาตรา ๕๕ หรือไม่?

ล่าสุดนายชัช ชลวร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแถลงข่าวเรียกร้องให้คนมาฟ้องคดี นับเป็นเรื่องแปลกมากที่ศาลซึ่งธรรมชาติเป็นองค์กรใช้อำนาจแบบ “ตั้งรับ” ต้องรอคนมาฟ้องจึงจะใช้อำนาจของตนได้ กลับออกมากวักมือเรียกให้คนมาฟ้องคดี

จะเห็นได้ว่ามองไปหาศาลไหนก็ดูจะ “ตัน” ไปเสียหมด

แต่จะทำเช่นไร เมื่อมีพระราชดำรัสออกมาเช่นนี้แล้ว

ทั้งสามศาลคงต้องหา “ช่อง” ให้เจอ เมื่อหาได้แล้ว คาดได้เลยว่า คงไม่มีใครอาจหาญเถียงได้ว่าไม่มีเขตอำนาจ (แม้บางคนอาจเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจจริงๆ) ได้แต่หวังว่า “ช่อง” ที่ค้นพบนั้นจะไม่ “ไกล” หลักกฎหมายมากจนเกินไปนัก

ครั้งนี้อาจต้องยอม “หรี่ตา” หรือลดความเข้มข้นของ “กฎหมาย” ลงเสียหน่อย เพราะเป็นเอกลักษณ์ของการเมืองการปกครองไทยจริงๆ

พึงระลึกไว้เสมอว่า การ “บิด” กฎหมายในครั้งนี้ ควรเป็นข้อยกเว้นยามวิกฤติอย่างยิ่ง ไม่ควรยึดเป็นบรรทัดฐานสำหรับทุกกรณี

ผมเห็นควรต่อไปด้วยว่า น่าจะถึงเวลาที่จะนำเรื่อง Royal intervention มาถกเถียงกันทางวิชาการว่ามีในระบอบประชาธิปไตยไทยหรือไม่ หากมี จะมีขอบเขตหรือเงื่อนไขอย่างไร

ต้องไม่ลืมว่าบารมีของแต่ละบุคคลย่อมไม่เท่ากันเสมอไป

26 ความคิดเห็น:

Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจกล่าวได้ว่า การจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะไม่สามารถนำหลักกฎหมายในเรื่องเขตอำนาจศาลใช้ได้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งคดีนี้ที่ยังไม่รู้ว่าจะฟ้องเรื่องอะไร ในแง่ของการพิจารณาปรับกฎหมาย กับข้อเท็จจริง ก็คงจะแปลกน่าดู ที่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่เป็นอย่างนี้ แต่กฎหมายที่จะนำมาใช้ยังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องใด กรณีใด แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด กรณีใด ก็ตาม ผลที่ออกมาต้องการเพียงให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และมีการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น ที่กล่าวมานี้ เป็นการสนับสนุนข้อความคิดของพี่ปึ๋ง (เจ้าของบล็อค)ซึ่งนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์ได้รวดเร็วทันใจ และเฉียบคมมาก

อนึ่ง ในฐานะของนักกฎหมาย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับการที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมอออกมาแถลงข่าวเพื่อให้คนมาฟ้องคดี เพราะเห็นว่า หากเปรียบเทียบกับคดีแพ่ง หรือ คดี อาญาที่ได้มารยาทของทนายความไว้ว่าไม่ควรยุแยงให้คนเป็นความการ ฉันใดก็ฉันนั้น ขนาดทนายความยังไม่ควรกระทำ แล้วนี่ถือเป็นหน้าเป็นตาที่แสดงออกแทนองค์กรศาล กลับเรียกร้องให้มีการฟ้องคดีซะเอง โดยความเห็นส่วนตัวผม จึงคิดว่ากรณีนี้ไม่จำเป็นต้องออกมาแถลงข่าวเพื่อการดังกล่าว เพราะน่าจะมีคนรับลูกมาฟ้องคดีอยู่แล้ว (อ่า...ลืม พิมพ์คำนี้ไป... "ด้วยความเคารพต่อเลขาธิการ ฯ")

4:12 ก่อนเที่ยง  
Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

หนทางหนึ่งที่สวยคือ เลือกเสร็จวันที่ ๒๙ นี้ สส เขตคงครบ ๔๐๐ แน่ เพราะพรรคเล็กส่งคนลงประกบทุกเขตแล้ว

ก็เปิดสภาซะ ส่วน สส บัญชีมี ๙๙ ขาดเปรมศักดิ์ไป ไม่น่ามีปัญหา ตีความให้เปิดสภาได้ แต่หากว่าไม่ได้กัน ก็ใช้มาตรา ๒๖๖ ยาสามัญประจำบ้าน ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญซะ

ซึ่งงานนี้ศาลรัฐธรรมนูญคงอิงกระแสวินิจฉัยให้เปิดสภาได้

เปิดสภาปุ๊บ ก็ยุบสภาปั๊บ

ลงเลือกตั้งใหม่

น่าจะสวย

แต่ละศาลก็ไม่ต้องหาช่องรับคดีแบบต้องบิดหลักกฎหมาย

ส่วนที่ว่าสภาเปิดปุ๊บรีบยุบปั๊บนั้นน่าเกลียด

ผมเห็นว่า งานนี้ก็คงต้องยอมรับความอัปลักษณ์ครั้งนี้ด้วยกันทุกฝ่าย

แล้วเริ่มต้นใหม่กัน

5:05 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เสียดายเงิน
เลือกตั้งทีหมดไปสองพันล้าน สร้างมหาวิทยาลัยขนาดกลางดีๆ ได้อีกแห่ง

กะอีแค่เรื่องไม่เป็นเรื่อง

5:51 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เริ่มต้นใหม่...น่าจะดี

เพราะพรรคใหญ่ๆ ก็เห็นกระแสแล้วว่ามีโอกาสสู้ได้
จึงน่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในคราวต่อไป
แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น การเปิดสภาปุ๊บ ยุบสภาปั้บ ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ

ปัญหาอีกประการคือพรรคไทยรักไทย จะยอมเปิดปุ๊บยุบปั้บหรือไม่ เพราะแม้ถือเป็นการเสียสละอีกครั้งหนึ่ง (เขาต้องอ้างอย่างนั้น) แต่(ว่าที่)รัฐบาล พรรคไทยรักไทยคงไม่ยอมยุบสภาง่ายๆ แน่ เพราะเลือกตั้งครั้งนี้ก็ลงทุนไปเยอะพอสมควร และเลือกตั้งใหม่ก็เท่ากับยอมง้อให้ฝ่ายพรรคที่ไม่ลงสนามเลือกตั้งคราวล่าสุดนี้

และแน่นอนว่า การเลือกตั้งซ้ำๆ ซากๆ ย่อมเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนเกินควร และทำให้พาลเกิดความเบื่อหน่ายทางการเมือง จะบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนก็ไม่ผิดหรอก แต่ภาวะการณ์ในขณะนี้มันเป็นปัญหาในการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มบุคคลไม่กี่คนเท่านั้น แต่ประชาชนก็ต้องมารับผิดชอบและตัดสินปัญหาให้ (ส่วนจะได้รัฐบาลที่จะมาบริหารบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและกอปรด้วยความโปร่งใสไร้ทุจริตดังที่ประชาชนต้องการหรือไม่นั้น ...ไม่รู้)

6:06 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่น่าเชื่อว่า "พระราชกฤษฎีกายุบสภา" จะไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบใดๆ เลย

7:06 ก่อนเที่ยง  
Blogger Soulseeker กล่าวว่า...

ผมยังเห็นด้วยกับข้อเสนอของพี่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ในระนาบความจริงทางการเมืองเดียวกัน... ผมเห็นว่ายาก

ดัน บี้ บิด เบียด ไถ เพื่อให้ได้ส.ส.ครบ พรรคไทยรักเงิน มีค่าใช้จ่ายไปมากโข และเสียงของความชอบธรรมไม่ค่อยดำรงอยู่ในพรรคนี้เท่าไหร่นัก-เป็นวิธีการเพื่อผลประโยชน์ชุดเดียวกับประชาธิปัตย์

ข้อเสนอที่ชอบธรรมที่สุดมักจะไม่มากับการกระทำที่ชอบธรรมที่สุด

นี่คือขีดจำกัดของข้อเสนอที่ทีอยู่

ไม่ต่างกับกรณีเรียกร้องให้มีการตรวจสอบนายกรัฐมนตรี... ฉันไม่ตรวจโดยเฉพาะกรณีจริยธรรม

ไม่ต่างกับกรณีเรียกร้องให้นายกลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข... ผมไม่ออกประชาชนอยู่ข้างผม ยุบสภาว่ากันใหม่

เมื่อปัญหาความชอบธรรมได้กลายรูปเป็นชอบทำ

ข้อเสนอเช่นว่านี้ อย่างไรก็ไม่มีทางเป็นจริง และการณ์ก็จะบังคับให้ประชาชน(ไม่ว่าโง่หรือไม่) ต้องออกเดินทางไปสู่ถนนอีกครั้ง

นี่แหล่ะความจริงทางการเมืองของสยามประเทศ... ผมคงต้องยอมรับมัน

Mourning to the undead politic

8:23 ก่อนเที่ยง  
Blogger crazycloud กล่าวว่า...

เอ้าเว้ยเฮ่ย

เริ่มจะหัดหรี่ตาแล้วเว่ยเฮ่ย

ส่วนคนหรี่มาก่อน ตาเขียวเลยเว่ยเฮ่ย

ฮา ฮา ฮา

10:20 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

"เรื่อง พ.ร.ฎ.ยุบสภา เป็นการกระทำทางรัฐบาล ซึ่งมีหลักกันว่าการกระทำแบบนี้หลุดพ้นจากการตรวจสอบขององค์กรตุลาการ"

ผมอึ้ง และทึ่งในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยตรงนี้มาก การกระทำทางรัฐบาลแบบนี้ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตุลาการเฉพาะในไทยรึปล่าวครับ หรือมันเป็นเช่นนี้กันทั่วโลก

ถ้าเป็นกันทั้งโลกแล้ว ทั้งโลกนี้น่าจะซ่อมกฎหมายที่ไม่สามารถสู้ระบอบที่ไม่น่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบนี้นะครับ

อันนี้มองแบบประชาชนที่ไม่รู้กฎหมายนะครับ
ถึงคุณพิเภก:ผมเห็นด้วยว่ามันเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง แค่นายก่ยอมให้ตรวจสอบแต่แรกคงไม่ต้องวุ่นถึงตอนนี้หรอก ว่าแต่พันทิปเป็นไงบ้างครับ?

3:21 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พันทิพก็ได้ทีขี่แพะไล่สิคับท่าน เว็บฯนั้นแถกันไปเรื่อย ถ้าไปโพสแก้อะไรก็จะโดนกลืนหายไปอย่างรวดเร็ว เสียเวลาเปล่าๆ

7:59 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถึงคุณ susansaraly: หามิได้ครับ ชื่อผมคงพ้องกับใครไปก็ไม่ทราบ มีชื่อกับเขาหน่อย เผื่อใครด่าจะได้ตามตัวได้ถูก ไม่ใช่อะนอนิมัสแล้วใครท้าตัวต่อตัว ล่ะลืมมาตอบ :-)

พันทิบก็เป็นเหมือนอย่างที่คุณจ่าจู๊ดว่าไว้น่ะแหละครับ ได้ทีขี่แพะไล่.. (ฮา)
ลิ่วล้อ เอ้ย กองเชียร์นายกฯ คงพอได้ยิ้มบ้าง หลังจากตกอยู่ในที่มั่นมานาน ฟ้าหลังฝนนี่มันชื่นใจเสมอเลยสิ ให้ตายเถอะ

9:28 หลังเที่ยง  
Blogger LekParinya กล่าวว่า...

มองจากนอกวงการนะครับ

หากมองว่าในหลวงท่านให้แนวว่า
"ให้ทุกคน (กล้าที่จะ) ทำตามหน้าที่"
และ
"ให้ทำตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีฟ้าประทาน"
พร้อมทรงยกตัวอย่างประกอบ
ก็น่าจะจบนะครับ

ส่วนใครจะ(บังอาจไป)ตีความ
มองว่าเป็นการ"ตั้งธง"
หรือ
เป็น "intervention"
อย่างไรนั้น
ผมไม่ค่อยเห็นด้วย

ส่วนศาลจะตัดสินล้มอะไร
"การเลือกตั้ง"
หรือ "การยุบสภา"
หรือ ไม่ล้มซักอย่าง

ผมว่า ก็มานั่งรอดูดีไหมครับ
อีกไม่กี่วันเอง

ส่วนผลของการล้ม
ที่(ควร)ต้องมีใครรับผิดชอบลาออก
ก็ไม่ต้องหวัง
เพราะมันเป็นประเด็นจริยธรรม
ที่เถียงกันไม่ได้
และคิดว่าไม่มีแล้ว

มันทำให้ทางออกที่คุณเสนอมา
"เปิดปุ๊บ ยุบปั้บ"
ผมมองว่าจะเป็นไปไม่ได้หน่ะครับ

ด้วยความเคารพ

11:16 หลังเที่ยง  
Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

ตอบคุณปริญญา

แบบนี้ไม่เรียก intervention ให้เรียกอะไรครับ

โอเค งั้นผมเรียกว่าพระบารมี พระเมตตา ก็ได้

ยิ่งครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกก็ได้ว่าที่เป็นintervention อำนาจตุลาการ ครั้งก่อนๆยังเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารเป็นส่วนมาก

ลองคิดดูนะครับ ถ้าไม่มีพระราชดำรัส ๒๕ เมษา จะมีคนแห่ไปฟ้องเยอะแบบนี้มั้ย ศาลจะมานั่งหารือหาช่องกันแบบนี้มั้ย และหากมีคนมาฟ้องก็คงไม่มีศาลไหนรับ

หากจะมีรับ ก็เป็นประเด็นเล็ก เช่น หันคูหาออกด้านนอก ใช้ตราประทับแทนปากกาลงวคะแนน ซึ่งอย่างไรก็ไม่มีทางถึงขนาดให้เลือกตั้งล้มทั้งกระบวน

ผมยอมรับว่าพระราชดำรัสครั้งนี้ทำให้วิกฤติสงบแบบเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

วิธีนี้อย่างไรก็ดีกว่าแถมาตรา ๗ เอานายกพระราชทาน

แต่เอาเข้าจริง นี่พวกเราดำเนินการตามกระบวนประชาธิปไตยด้วยตัวเองจริงหรือไม่

เราต้องอาศัยพ่อ อาศัยพี่เลี้ยงต่อไปอยู่ดี

หรือมันเป็นมาตรา ๗ เสมือนจริง?

ผมเชื่อว่าศาลก็อึดอัดอยู่เหมือนกันนะครับ ยิ่งนักข่าวเอาไมค์ไปไล่ถามทุกวันแบบนี้ ก็นักเรียนกฎหมายทุกคนก็รู้อยู่ มันหาทางไปไม่ได้

โอเค แต่ถ้าจะเอาได้ ก็โอเค แต่ผมปรารถนาให้เป็นกรณียกเว้นเป็นอย่างยิ่งจริงๆๆๆๆๆๆ

ผมว่าศาลปกครองเองคงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ไม่น้อย (ลองไปอ่านพระราชดำรัสดูนะครับ ยิ่งตอนที่พระราชทานแก่ประธานศาลฎีกานี่ ชัดมาก)

ย้ำอีกครั้งครับ ผมเห็นว่าเราต้องนำเรื่อง Royal intervention (เอ้า เรียกว่าพระบารมีหรือพระเมตตาก็ได้ จะได้ดูจงรักภักดีขึ้น)ขึ้นมาคุยอย่างเปิดเผย อย่างมีเหตุมีผลได้แล้ว

แล้วก็ใครที่ชอบประกาศให้ทุกคนหุบปาก ห้ามตีความ ห้ามวิจารณ์พระราชดำรัส ส่วนตัวผมนั้นไม่เห็นด้วย

พระองต์เองก็มีพระราชดำรัสเมื่อ ๔ ธันวา ๔๘ แล้วว่า

“แต่ว่าความจริงก็ต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน และก็ไม่กลัวว่าถ้าใครจะมาวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ตรงนั้นจะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน... ฉะนั้น ก็ที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูกประชาชนบอก เป็นเรื่องขอให้เขารู้ว่าวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกก็ไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิด ไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ละเมิดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ลงท้ายพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก ถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวนี้ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี”

ย้ำอีกครั้งครับ บารมีแต่ละคนไม่เท่ากันเสมอไป

3:08 ก่อนเที่ยง  
Blogger LekParinya กล่าวว่า...

คือตอนแรกผมก็มีความรู้สึกไปเองเช่นคุณครับ
แต่พอไปอ่านทวนทุกตัวอักษรแล้ว

ผมกลับมองว่า เป็นการยกตัวอย่าง และถาม
มีคำว่า "หรือไม่"
และมีคำแนะต่อว่า
"...ซึ่งท่านจะมีสิทธิ์ที่จะบอกว่า อะไรที่ควร หรือไม่ควร..."

ส่วนทั้งสามศาล
หรือนักวิชาการต่าง ๆ
ไปบ้าจี้ "ตั้งธง" หรือ "ฟันธง" กันเองนั้น
ผมกลับคิดว่า
ก็เพราะเขาไม่ยอม หรือไม่กล้า
ทำหน้าที่กันตั้งแต่แรกหน่ะครับ

(ขอชื่นชมในจุดยืนเรื่อง มาตรา7 ของคุณด้วย)

ด้วยความเคารพ

3:42 ก่อนเที่ยง  
Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

ตอบคุณปริญญา

ไม่ใช่เรื่องศาลไม่กล้าหรือไม่ยอมทำหน้าที่แต่แรกนะครับ แต่ศาลจะรับคดีเรื่องไหนเข้าพิจารณา ต้องดูเรื่องเงื่อนไขการฟ้องคดีด้วยว่าครบหรือไม่ ต้องดูเรื่องเขตอำนาจศาลอีกว่าเรื่องที่ฟ้องอยู่ในอำนาจตนหรือไม่

ผมเข้าใจดีนะครับ ผมเองก็เคยโดนคนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายด่าประจำ อะไรวะ ทำไมเรื่องมากกันจัง ไม่มีใครวินิจฉัยให้มันยุติสักที บอกอยู่ได้ว่าไม่มีอำนาจๆ

คือ มันเป็นหลักกฎหมายน่ะครับ ศาลจะรับคดีที่อยู่ในอำนาจเท่านั้น หากศาลรับเหมาหมดได้ทุกเรื่อง ดุลยภาพอำนาจก็เสียไป กลายเป็นศาลเป็นคนปกครองประเทศแทน

4:03 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เรื่องที่กำลังเขียน เขียนระวังๆหน่อยนะคะ ผลกระทบมันเยอะแล้วก็อาจจะรุนแรง

รู้สึกเป็นห่วงยังไงไม่รู้

4:15 ก่อนเที่ยง  
Blogger Saruj กล่าวว่า...

ผมเข้าใจประเด็นคุณ Etat de droit มากๆเลย
(จริงๆต้องบอกว่า พอได้ข่าวนี้ก็นึกถึงที่นี่ขึ้นมาทันที (ฮา) )

มีหลายอย่างที่พอจะได้ข้อมูลมาด้วยตนเอง รวมไปถึงการได้ข้อมูล "วงใน" พอควร กับการหา "ทางออก" ของศาลในช่วงนี้


แต่ผมคิดว่าเรื่องทำนองนี้ น่าจะคุยกันในวงอาหาร ... ดีกว่าคุยกับใน blog แฮะ (แหะ แหะ)

4:36 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอแจมด้วยนะครับ
http://www.pressjargon.org/?p=181

7:49 ก่อนเที่ยง  
Blogger crazycloud กล่าวว่า...

ปัญหาแท้จริง ไม่ได้อยู่ที่เขตอำนาจศาลดอก

ปัญหาอยู่ที่ใครส่งไปให้ศาล

คดีเลือกตั้ง ทั้งการเพิกถอน พรฎยุบสภา พรฎ เลือกตั้ง

ชัดว่าอยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

ช่องจะยื่น 264 ไม่มีแมวส่งไปหรอก

ช่อง 198 ผู้ตรวจการฯ นั่งขาสั่น

ช่องจะยื่น 266 ดูที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญสิ
ปปช.ไม่มี วุฒิ สุชิน มันคงยื่นหรอก ตัว กกต.มันคงยื่นหรอก ครม.มันคงยื่นหรอก

ยื่นไปแล้ว ไอ้ Law Firm พรรคการเมืองแถวโรงไฟฟ้าวัดเลียบ จะตัดสินมายังไงก็ไม่รู้

ปัญหามันอยู่ตรงนี้ ระบอบทักษิณมันทำเส้นเลือดหัวใจตีบตัน จนนิติรัฐมันจะไปเฝ้ายมบาลอยู่แล้ว

ศาลปกครอง กับศาลยุติธรรม เป็นเพียงสองรูที่พอจะตะบันยัดเข้าไปได้ รึเปล่า อันนี้ในทางกฎหมาย มันต้องคิดว่าจะยอมหรี่ตา ไม่ให้ฝุ่นทักษิณมันเข้ามาระคายรึเปล่า นี่คือเหตุดอกที่ศาลต้องออกมาส่งสัญญาณ

ในหลวงท่าน ต้องลงมา เพราะมันเตรียมยัด พรฎ เปิดสภาใส่พระหัตถ์ ท่านลงพระปรมาภิไธยไม่ได้ ประเด็นแท้จริงจึงไม่ได้อยู่ที่มาตรา 7 หรอก ในหลวงท่านรู้ทันพันธมิตรและทักษิณมานานแล้ว ท่านเป็นกษัตริย์ที่เยี่ยมยุทธ

ดังนั้นบนสถานการณ์ความเป็นจริง ไอ้น้อง และพี่ทั้งหลาย กระผมอาจรุนแรงไปมากบ้าง ก็ด้วยเพราะรูมันตันหมดแล้วพี่น้อง

จากการทำงานฐานะที่ปรึกษาศูนย์จับตาเลือกตั้ง นั่งคิดในเชิงกฎหมายเสร็จ กบาลจะแหก พอดูว่าจะฟ้องได้ไหม ก็ต้องดูว่าใครส่ง ปรากฏตาลาย เพราะองค์กรทั้งหลายมันเป็นมือตีนอ้ายแม้วหมด

ดังนั้น ความเห็นในทางกฎหมาย มันเลยต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาพทางการเมืองด้วย ไม่งั้น กระสุนมันด้าน

เท่าที่พอมีหนทาง คือ การฟ้องเพิกถอนมติ กกต.ต่อศาลปกครอง และการฟ้องเอาผิด ตัว กกต.ต่อศาลยุติธรรมในกรณีแปะรูปในคูหา ซึ่ง กกต.เอื้อประโยชน์ ผิดมาตรา 24 42 พรบ.กรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้ความคิดที่ผมและ อ.คมสันต์ เสนอ สภาทนายรับไปร่างคำฟ้อง แล้วขอรับ

สรุป ประเด็นมันคือระบอบทักษิณมันทำรูตัน ช่องทางตีบ และ กฎหมายกับความยุติธรรมก็ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ นี่แหละที่ ผมเพิ่งเห็นข้อดีของ คอมมอนท์ ลอว์

8:55 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คุณ BIERBAUCH กล่าวว่า
"และเมื่อองค์กรที่มีอำนาจได้วินิจฉัยแล้วโดยเฉพาะองค์กรตุลาการก็ต้องยอมรับครับ"


นี่รวมถึงในกรณที่ "องค์กรตุลาการได้ถูกซื้อไปแล้ว" ด้วยอย่างนั้นหรือครับ?
นี่หมายความว่า ถ้าคนคนหนึ่งมีเงินพอจะซื้อ "องค์กรที่มีอำนาจ" ได้ ก็สามารถทำให้การกระทำของเขานั้น "ชอบธรรม" และ "ชอบด้วยกฎหมาย" ในทันทีใช่หรือไม่ครับ?

10:49 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอความกรุณาและเอื้อเฟื้อจากคุณนิติรัฐ ในฐานะเจ้าของ blog สำหรับพื้นที่ blog นิดนึงนะครับ

เรียนคุณ BIERBAUCH
ผมไม่ทราบจริงๆ ครับ ว่าคุณทักษะในการอ่านจับใจความภาษาไทยของคุณมีปัญหามากน้อยเพียงไร
แต่ขอความกรุณารบกวนอ่านข้อความของผมหน่อยนะครับ

คำถามแรก : นี่รวมถึงในกรณที่ "องค์กรตุลาการได้ถูกซื้อไปแล้ว" ด้วยอย่างนั้นหรือครับ?

คำถามที่ 2 : นี่หมายความว่า ถ้าคนคนหนึ่งมีเงินพอจะซื้อ "องค์กรที่มีอำนาจ" ได้ ก็สามารถทำให้การกระทำของเขานั้น "ชอบธรรม" และ "ชอบด้วยกฎหมาย" ในทันทีใช่หรือไม่ครับ?

ใช้เวลาตามสบายครับ ไม่ต้องรีบ อ่านและทำความเข้าใจนิดนึง

มีข้อความใดของผมกล่าวหาบุคคลใด หรือองค์กรใดหรือครับ?
รบกวนเตือนสติผมทีครับ ผมเองน่ะไม่อยากไปกล่าวหาใครลอยๆ หรอกครับ ผมกลัวถูกเค้าฟ้องกลับจะตาย
ผมไม่อยากลงเอยอย่างอลงกรณ์อยู่แล้วหละครับ ผมไม่มีเงิน 500-1,000 ล้านบาทไปจ่ายค่าเสียหายให้ใครเค้าด้วยซิ ก็เลยพยายามระวังปากระวังคำอยู่พอสมควรครับ

ผมเข้าใจดีเลยครับว่าถ้าจะกล่าวหาว่าใครรับเงินใต้โต๊ะนี่มันต้องมีใบเสร็จเป็นหลักฐานเท่านั้นครับ ถ้าไม่มีใบเสร็จแล้วอย่าได้ทำกริยา "ส. เสือ ใส่เกือก" ไปกล่าวหาบุคคลใดเด็ดขาด ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะได้บิดเบือนข้อกฎหมายไปมากมายเพียงใดก็ตาม
อันนี้เป็นที่ยอมรับอยู่แล้วครับ

ผมถามไป คุณจะไม่ตอบก็ไม่เป็นไรครับ แต่ขออนุญาตให้ผมได้แสดงมารยาทและไมตรีจิต ตอบคำถามคุณ BIERBAUCH ดังนี้นะครับ
1. ถาม : "แล้วอย่างไหนถึงจะเรียกได้ว่าองค์กรนั้นๆถูกซื้อครับ?"
ตอบ : ไม่ทราบครับ
องค์กรใดถูกซื้อหรือครับ? ผมไม่คิดว่ามีใครถูกซื้อนะครับ
2. ถาม : "มีพยานหลักฐานอะไรหรือไม่ครับ ที่ไปกล่าวหาเขา?"
ตอบ : ไม่มีครับ ทุกองค์กรเป็นอิสระ และบุคคลในองค์กรทุกผู้ทุกนามก็มีศักดิ์ศรีและอุดมการณ์สูงส่ง ไม่ยอมขายตัวแน่นอนครับ
ผมไปกล่าวหาใครเมื่อไหร่หรือครับ? ยังงงๆ อยู่
3. ถาม : "หรือเพราะเขาตัดสินไม่ถูกใจ ก็เหมาว่าเขาถูกซื้อครับ?"
องค์กรใดวินิจฉัยตัดสินคดีอะไรไปเมื่อไหร่หรือครับ?
ผมนึกว่านี่เรากำลังพูดถึงคดีที่กำลังจะขึ้นสู่ศาลซะอีกครับ
ผมยังไม่เห็นว่ามีศาลใด วินิจฉัยว่าอะไรเลย ทำไมจึงรีบด่วนสรุปว่าคำตัดสินชี้ขาดไม่ถูกใจผมแล้วหละครับ?
4. ถาม : "แล้วกรณีนี้คุณเห็นเป็นอย่างไรที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ให้ศาลบอกว่าการยุบสภาไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างเดียวใช่หรือไม่?"
ตอบ : จะชอบไม่ชอบ (ธรรม และด้วยกฎหมาย) ผมให้อยู่ในดุลพินิจของศาลครับ ศาลจะว่าอย่างไร ผมก็ไม่ขอไปมีส่วนในเกียรติยศหรือความอัปยศของศาลนั้นอยู่แล้วครับ
ผมไม่เคยบอกว่าผมมีวิธีแก้ปัญหาทางอื่นที่ดีกว่าคุณนิติรัฐหรือท่านอื่นๆ เลยนะครับ
ผมมีแต่ความด้อยสติปัญญานี่แหละครับ จึงอยากจะตั้งคำถามโง่ๆ 2 คำถามให้ปราชญ์ตอบ เผื่อผมจะได้มีปัญญาเพิ่มขึ้นกะเค้ามั่ง
5. ถาม : "ถึงจะเป็นศาลที่ไม่ถูกซื้อ เป็นไปได้ไหมครับที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคุณไปอ้างได้ว่าศาลถูกซื้อหรือไม่ก็ศาลถูกกดดันใช้กฎหมู่?"
ตอบ : เป็นไปได้สูงเลยครับผม เพราะว่าผู้ที่ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลก็มีอยู่ทั่วไป

ไม่ทราบว่าผมตอบคำถามของคุณ BIERBAUCH ครบถ้วนดีหรือยังครับ?
ถ้าคุณ BIERBAUCH เห็นว่าครบถ้วนดีแล้วจะกรุณาช่วยตอบคำถามของผู้ด้อยสติปัญญาอย่างผมก็คงดีนะครับ
ผมจะรู้สึกทราบซึ้งในวิทยาทานของคุณ BIERBAUCH มากครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

12:17 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นด้วยกับ BIERBAUCH นะ

3:40 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขออภัยคุณนิติรัฐ (ท่านเจ้าของ blog) หวังว่าครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายเช่นกัน และขอขอบพระคุณ ท่าน BIERBAUCH ที่กรุณาผมมากๆ ครับ!

ท่าน BIERBAUCH ถามผมมาราวๆ 5 คำถาม (ถ้าผมคำนวณไม่พลาด) ผมก็คิดว่าผมตอบท่านไปหมดทุกคำถามแล้วนะครับ
ในทำนองเดียวกัน ผมขอคำตอบจากท่าน เพียงแค่ 2 คำถามนี้

คำถามแรก : นี่รวมถึงในกรณที่ "องค์กรตุลาการได้ถูกซื้อไปแล้ว" ด้วยอย่างนั้นหรือครับ?

คำถามที่ 2 : นี่หมายความว่า ถ้าคนคนหนึ่งมีเงินพอจะซื้อ "องค์กรที่มีอำนาจ" ได้ ก็สามารถทำให้การกระทำของเขานั้น "ชอบธรรม" และ "ชอบด้วยกฎหมาย" ในทันทีใช่หรือไม่ครับ?

เท่านั้นแหละครัย

หากท่านจะไม่ตอบคำถามของผม นั่นย่อมเป็นสิทธิโดยชอบธรรม (และชอบด้วยกฎหมาย) ของท่านอยู่แล้วครับ ย่อมไม่มีอำนาจใดจากผม หรือบุคคลที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับผม สามารถไปกดดันหรือบีบบังคับท่านได้อยู่แล้วครับ
ท่านอาจจะเห็นว่าความเห็นของท่านไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ก็ตามที แต่อย่างน้อยๆ ผมก็เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผมตามสมควรนะครับ

แม้ท่าน BIERBAUCH จะยังมิได้ให้วิทยาทานใดๆ แก่ผม ผมก็ขอขอบคุณในความกรุณาของท่าน BIERBAUCH ที่อุตส่าห์มาร่วมแสดงความคิดเห็นใน blog ของคุณนิติรัฐ ให้ผมได้มีความรู้ และปัญญาเพิ่มมากขึ้นบ้างแล้วหละครับ

ยินดีที่ได้รู้จักกับท่าน BIERBAUCH มากๆ ครับผม!


ส่วนท่าน Anonymous (ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามเช่นเดียวกับผม) comment ที่ 24
ผมขอขอบพระคุณมากๆ เช่นกันครับ!

9:40 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เรื่องพระบารมี

"ธงทอง จันทรางศุ" สรุปไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ" ว่า

"ปัจจัยสำคัญที่สุดข้อหนึ่ง ที่จะทำให้ขอบเขตการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญกว้างขวางมากหรือน้อย แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย ก็คือ พระบารมี ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ไป พระบารมีนี้หมายถึงอำนาจที่จะคุ้มครองให้ผู้อื่นปลอดภัยได้ อำนาจย่อมมาจากคุณความดีของพระมหากษัตริย์ได้แก่ทศพิธราชธรรมนั่นเอง

....

ปัจจัยที่จะเป็นผลให้พระบารมีเพิ่มพูนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายประการ เช่น

ระยะเวลาหรือความยืนยาวแห่งรัชสมัย...

ประสบการณ์ในหน้าที่พระมหากษัตริย์...

แต่ดังกล่าวนี้ก็มิได้หมายความว่าระยะเวลาในสิริราชสมบัติจะเป็นปัจจัยอย่างเดียว

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะเพิ่มพูนพระบารมีได้มากคือ พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญเพื่อชาติและประชาชน ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงอุทิศพระองค์เพื่อความอยู่ดีกินดีของราษฎร ...ก็ไม่ต้องสงสัยว่าพระบารมี..จะแผ่ไพศาล

ในทางตรงกันข้าม

พระมหากษัตริย์ที่ทรงราชย์ที่ทรงราชย์เป็นเวลายืนนาน แต่มิได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์ ที่ไหนเลยพระบารมีและพระราชอำนาจจะเกิดขึ้นได้

พระราชอำนาจที่เขียนได้เป็นตัวบทกฎหมายในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับใด ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีฤทธิศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผลในทางปฏิบัติ เทียบเทียมกับพระราชอำนาจที่เกิดขึ้นจากความรักใคร่ภักดี..."

12:24 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

qzz0614
ferragamo outlet
adidas soccer shoes
coach factory outlet
nike air max 2015
nike air max 90
michael kors outlet
michael kors outlet
canada goose outlet
michael kors outlet
kings jerseys

7:44 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0719
kyrie 4
air jordan 4
brequet wathes
oakley sunglasses
stuart weitzman shoes
prada handbags
longchamp handbags
ecco shoes
ray ban sunglasses
coach factory outlet

11:50 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0815
adidas superstars
dsquared2
nike chaussure femme
dsquared
hermes belts
soccer boots
nike huarache femme
oakley sunglasses wholesale
nike air max 90
ugg boots clearance

10:16 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก