วันศุกร์, พฤศจิกายน 25, 2548

คุณเคยเหงาสุดขั้วหัวใจไหม?

ผมอยู่ที่เชียงใหม่ มาท่องเที่ยวพักผ่อนสมอง ขนงานมาทำด้วยบางส่วน ผมค้นพบความจริงสองประการ

ประการแรก ค่าครองชีพที่เชียงใหม่สูงมาก อาจพอๆกับกรุงเทพฯหรืออาจจะมากกว่าก็เป็นได้
ประการที่สอง สาวเชียงใหม่สวยจริงๆ

....

เมื่อคืนผมออกไปเดินเล่น โบกรถสองแถวสีแดงให้ไปส่งหน้า มช. กะว่าจะไปเดินชมความงามของนักศึกษา มช. หลังการเชยชมความงามแบบ "ผ่านพบไม่ผูกพัน" แล้วเสร็จ ผมก็ไร้ที่ไป กลายเป็นคนจรหมอนหมิ่น เดินไปเรื่อยๆตามถนนห้วยแก้ว แล้วก็หยุดที่ร้านหนึ่ง

ร้านนี้เล่นเปียโน

ผมเข้าไปนั่งกินข้าว ฟังเสียงเปียโน

ที่น่าแปลกมีผมเพียงคนเดียวที่มานั่งกินข้าวเคล้าเสียงเพลง

พลันความเหงาก็เข้ามาเยี่ยมเยียนหัวใจผม

ใครๆมักนิยามตัวผมว่าเป็น "คนขี้เหงา" แต่ผมปฏิเสธ บางครั้งผมกลับชอบ "ความเหงา" ด้วยซ้ำ มันเจ็บๆคันๆดีๆ คงจะจริงอย่างที่ใครบางคนบอกไว้ว่า ก้นบึ้งของความเป็นมนุษย์ คือการชอบความเจ็บปวดและทรมานตนเอง

ผมสั่งอาหารสองอย่าง ข้าวหนึ่งจาน และที่ขาดไม่ได้ เบียร์

บางช่วงตอน นักดนตรีก็มาสะดุดอารมณ์เหงาของผมด้วยการชวนผมขึ้นไปร้องเพลง ครั้งแรก ผมปฏิเสธไป ครั้งที่สอง ด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล ผมขึ้นไปร้องเพลง Let it be และต่อด้วย Take it easy

ร้องได้สองเพลง ก็ต้องลงมาล้างหัวเทปให้ตัวเองด้วยเบียร์เย็นๆต่อ

แล้วเพื่อนรักของผมก็มาเยือนหัวใจผมอีกเช่นเคย

ผมนั่งอยู่คนเดียวราวสามชั่วโมง จนร้านปิด ก็โบกรถแดงกลับนิวาสถานย่านท่าแพ

....

ณ เพลานี้ ผมอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ในร้านอินเตอร์เนท คาเฟ่ แม้จะมีเสียงผู้คนในร้านเล็ดลอดเข้ามา มีเสียงเพลงเบาๆจากคอมพิวเตอร์ของร้านอยู่บ้าง แต่ใจผมก็ยังเหงาอยู่เช่นเดิม

เย็นนี้ ผมจะหนีบไวน์ที่ผมแบกมาด้วย ไปนั่งดื่มชิลล์ๆ ที่ร้านแถบริมน้ำปิง

เอาเข้าจริง ผมอยู่ที่ฝรั่งเศส ที่กรุงเทพฯ ที่เชียงใหม่ ควาเหงาก็มาคุกคามผมไม่เคยเปลี่ยน คงจะจริงที่มนุษย์มีธรรมชาติของความอ่อนแออยู่

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 24, 2548

ข่าวดีสำหรับนักเรียนไทยในยุโรป

วันนี้ระหว่างนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ทางอินเตอร์เนทเพื่อเช็คข่าวคราวต่างๆของฝรั่งเศส พลันไปพบข่าวสั้นๆชิ้นหนึ่งใน Nouvel observateur ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับนักเรียนไทยในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส

คณะกรรมาธิการยุโรปนำโดยนาย โฮเซ่ มานูเอล บาร์โรโซ่ ประธาน (นายกฯโปรตุเกส) บวกกับแรงสนับสนุนของนายโทนี่ แบลร์ ได้เสนอนโยบายจะให้ความเป็นพลเมืองยุโรปแก่นักเรียนต่างชาติทุกคนที่อยู่ในช่วงการทำปริญญาเอกในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

เป็นที่ทราบกันดีว่า "ตลาด" การศึกษาของสหภาพยุโรปตกเป็นรองสหรัฐอเมริกาอยู่หลายช่วงตัว ทั้งๆที่ค่าเรียนก็ถูกแสนถูกราวกับเรียนฟรี (โดยเฉพาะที่เยอรมนีและฝรั่งเศส) เหตุที่เป็นรองเช่นนี้ คงหนีไม่พ้นสาเหตุเรื่องภาษา และการเข้าประเทศ ขอวีซ่า ยุ่งยากกว่า

สหภาพยุโรปจึงแก้ลำด้วยการสร้างแรงจูงใจให้แก่บรรดานักเรียนต่างชาติโดยให้สิทธิความเป็นพลเมืองแก่นักเรียนในระหว่างทำปริญญาเอก

ถามว่า ไอ้ความเป็นพลเมืองยุโรปนี่จูงใจอย่างไร

เท่าที่ผมนึกออกตอนนี้ บรรดานักเรียนไทยในฝรั่งเศสอาจไม่ต้องประสบปัญหาความยุ่งยากในการต่ออายุใบต่างด้าวที่เรียกว่า Carte de sejour ทุกๆปี

ปัจจุบันมีนักเรียนต่างชาติระดับมหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปรวม ๔๕๐,๐๐๐ คน

คณะกรรมาธิการยุโรปจะเอานโยบายนี้เข้าที่ประชุมในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า ก็ต้องเฝ้าติดตามต่อไปว่าในท้ายที่สุดจะลงเอยเช่นไร

วันจันทร์, พฤศจิกายน 21, 2548

เบ็ดเตล็ด

เบ็ดเตล็ด ๑

ขอถามมิตรรักบล็อกเกอร์ทุกท่านว่า ท่านที่ชอบเล่นเอมเอสเอ็นเป็นอาจิณ ท่านเปลี่ยนชื่อในเอ็มเอสเอ็นบ่อยหรือไม่ ความถี่เท่าไร และทำไมจึงต้องเปลี่ยนบ่อยๆ

เบ็ดเตล็ด ๒

วันก่อนไปรื้อไดอารี่เก่าๆสมัยตอนอยู่ปี ๒ ปี ๓ อ่านแล้ว พบว่าใช้ชีวิตได้ไร้สาระสิ้นดี ทุกวันมีแต่เรื่องสุรา เรื่องนารี ประเภทว่า

"เซ็งว่ะ วันนี้ทะเลาะกับ ... มา ทำไมเค้าไม่เข้าใจกูเลย"
"เบื่อเว้ย ทำไมกูตื่นสายอีกแล้ว"
"แมร่งเอ๊ย ว่าจะไม่ดื่มๆ วันนี้ไม่รอดอีกแล้ว"
"ไอ้ห่า ... มันบังอาจมาเจ๊าแจ๊ะกะสาวกู มรึง ฮึ่มๆ"

เลยได้ข้อคิดว่า ตลอด ๔ ปี ในมหาวิทยาลัย ผมเสียโอกาสในการตักตวงวิชาความรู้ต่างๆไปมากพอดู แต่ก็ได้มิตรภาพระหว่างเพื่อนมาทดแทน และตัวตนที่ผมเป็นอยู่นี้ ผมคิดว่ามาจาการฝึกฝนนับแต่มาใช้ชีวิตต่างแดนมากกว่า เพราะมีเวลาว่างให้อ่านหนังสือ คิด เขียน อยู่กับตนเองมากขึ้น

เบ็ดเตล็ด ๓

เซ็งมาก คณะนิติศาสร์ มธ. ต้นสังกัดของผม โหนกระแสพระราชอำนาจอีกแล้ว

พรุ่งนี้เวลาบ่ายสอง ณ หอประชุมใหญ่ มธ. ท่าพระจันทร์ สมาคมนิติศาสตร์ มธ. จะจัดอภิปรายวิชาการเรื่อง "พระราชอำนาจกับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง" ผู้ร่วมอภิปรายมี อมร จันทรสมบูรณ์, นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, กล้านรงค์ จันทิ และเจ้าเก่า ลุงธิ

เห็นตัวผู้อภิปรายแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเนื้อหาการอภิปรายจะเป็นเช่นไร อมรฯ คงมามุขเดิม ยึดอำนาจคืนให้ในหลวงเพื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ เนื้อหาก็ต้องเป็นอย่างที่แกร่างมาด้วย เป็นแบบอื่นไม่เอา ลุงธิก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าที่เคยปรากฏในเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร แต่คงต้องดูว่ามีมุขใหม่ๆมาเล่นน้าเหลี่ยมอีกมั้ย ไม่แน่อาจตั้งข้อหาใหม่ว่า "บังอาจหน้าเหลี่ยมเป็นการหมิ่นเบื้องสูง" (ฮา) ส่วนกล้านรงค์ฯและหมอนิรันดร์ ก็หนีไม่พ้นอัดน้าเหลี่ยมโกง เผด็จการ ยึดองค์กรอิสระ

จัดอภิปรายน่ะ ไม่ว่ากัน เพราะเป็นภารกิจของสถาบันการศึกษา แต่จะให้ดีต้องเอาอีกขั้วมาร่วมอภิปรายด้วย ไม่ใช่ คนอภิปรายเห็นเหมือนกันหมด คนฟังก็เฮตามด้วยอีก ไม่ต่างกับลิเกหรือเชียร์มวย

ผมขอเสนออีก ๔ คนไปประกบ ดังนี้

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ธงชัย วินิจจกูล
วิษณุ เครืองาม
สมัคร สุนทรเวช

เบ็ดเตล็ด ๔

ผมกำลังเขียนเรื่องคดี กฟผ. คิดว่าจะเอาไปลงในโอเพ่น คงไม่ได้เอามาโพสในบล็อก โปรดรอติดตามชม ระหว่างนี้อ่านความเห็นของพี่โตไปก่อนได้ในบล็อกของพี่โต

วันจันทร์, พฤศจิกายน 14, 2548

ผมโดนเกมออนไลน์ทำพิษ

เซ็งมากครับพี่น้อง...

ผมอยู่ในร้านเน็ทคาเฟ่

จะมานั่งพิมพ์บล็อกตอนใหม่เรื่องวิกฤตการณ์จราจลชานเมืองฝรั่งเศส

แต่ทำไมเสียงมันดังอย่างนี้

ทุกที่นั่งเล่นเกมกันอย่างเมามัน แค่เสียงเกมก็ดังพอดูแล้ว เสียงโวยวายอินไปกะเกมยังมาผสมอีก หรือว่าร้านเนทคาเฟ่นี่เค้ามีไว้สำหรับคนเล่นเกมเท่านั้นหว่า

ผมคงมาผิดที่เองมั้งครับ

วันพุธ, พฤศจิกายน 09, 2548

Don't Love You No More

Don't Love You No More (I'm Sorry)

- Craig David -

For all the years that I've known you baby
I can't figure out the reason why lately you've been acting so cold
(didn't you say)
If there's a problem we should work it out
So why you giving me the cold shoulder now
Like you don't even wanna talk to me girl
(tell me)
Ok I know I was late again
I made you mad and then it's throwing the pan
But why are you making this drag on so long
(i wanna know)
I'm sick and tired of this silly games (silly games)
Don't figure that I'm the only one here to blame
It's not me here who's been going round slamming doors
That's when you turned and said to me
I don't care babe who's right or wrong
I just don't love you no more.

Rain outside my window pouring down
What now, your gone, my fault, I'm sorry
Feeling like a fool cause I let you down
Now it's, too late, to turn it around
I'm sorry for the tears I made you cry
I guess this time it really is goodbye
You made it clear when you said
I just don't love you no more

I know that I made a few mistakes
But never thought that things would turn out this way
Cause I'm missing something now that your gone
(I see it all so clearly)
Me at the door with you inner state
(inner state)
Giving my reasons but as you look away
I can see a tear roll down your face
That's when you turned and said to me
I don't care babe who's right or wrong
I just don't love you no more

Rain outside my window pouring down
What now, your gone, my fault, I'm sorry
Feeling like a fool cause I let you down
Now it's, too late, to turn it around
I'm sorry for the tears I made you cry
I guess this time it really is goodbye
You made it clear when you said
I just don't love you no more

Don't say those words it's so hard
They turn my whole world upside down
Girl you caught me completely off guard
On the night you said to me
I just don't love you more

Rain outside my window pouring down
What now, your gone, my fault, I'm sorry
Feeling like a fool cause I let you down
Now it's, too late, to turn it around
I'm sorry for the tears I made you cry
I guess this time it really is goodbye
You made it clear when you said
I just don't love you no more

………….

บังเอิญว่าวันก่อนมีปาร์ตี้กันที่ห้องผม รุ่นพี่นักเรียนไทยคนหนึ่งเอาซีดีของ Craig David มาให้ฟัง ทีแรกก็ฟังผ่านๆ หลังจากแยกย้ายกันกลับบ้าน ผมล้มตัวลงนอน แต่ตาค้าง นอนไม่หลับ เลยเอาแผ่นของ Craig David มาเปิดฟังอย่างตั้งใจ

ชอบมากๆ

เพลงนี้ชอบมากๆ

หนึ่ง จังหวะมันเพลินๆดี เหมาะกับบรรยากาศการดื่มแบบชิลล์ ชิลล์ตามผับ บาร์

สอง เนื้อหาโดนๆยังไงไม่รู้ อิอิ

ลองไปหาฟังกัน เสียดายที่ผมลงไฟล์เพลงในบล็อกไม่เป็น

“Rain outside my window pouring down
What now, your gone, my fault, I'm sorry
Feeling like a fool cause I let you down
Now it's, too late, to turn it around
I'm sorry for the tears I made you cry
I guess this time it really is goodbye
You made it clear when you said
I just don't love you no more”

............

วันอังคาร, พฤศจิกายน 08, 2548

เมื่อผมเจอคนมือเปื้อนเลือด

ท่ามกล่างสถานการณ์วิกฤตตามชานเมืองใหญ่ๆในฝรั่งเศสที่คนฝรั่งเศสที่อพยพมาจากประเทศอื่นก่อความไม่สงบมากว่า ๑๐ วัน ผมได้ประสบเหตุการณ์ระทึกใจเหตุการณ์หนึ่ง

เปล่าครับ ผมไม่ได้เจอการก่อจราจล เผารถ เผาบ้าน หรือทำลายทรัพย์สินสาธารณะหรอก

แต่ผมเจอชายหนุ่มมือเปื้อนเลือด

(เอาเข้าจริงเหตุการณ์จราจลตามชานเมืองใหญ่ครั้งนี้ จะว่าร้ายแรงก็จริง แต่จะว่าไม่ร้ายแรงก็จริงอีก ผมอยู่ที่นี่ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ออกข่าวตลอด แต่เชื่อมั้ยครับ คนฝรั่งเศสบางคนไม่สนใจ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำ คือตัวสถานการณ์มันรุนแรง แต่มันไม่ได้กระจายไปทั่วประเทศหรือทั่วเมืองจนทำมาหากินไม่ได้ หากเกิดเฉพาะที่เท่านั้น เหตุการณ์นี้ทำให้ผมได้คติว่า ข่าวสารที่สื่อออกไปทั่วโลกนั้นมักจะร้ายแรงกว่าความเป็นจริงเสมอๆ ล่าสุดเห็นว่าบางประเทศออกเตือนไม่ให้เดินทางมาเที่ยวฝรั่งเศสแล้ว ทำนองเดียวกับหวัดนกของบ้านเราที่พวกเราก็อยู่กันอย่างปกติสุขแต่คนฝรั่งเศสกลัวจนออกนอกหน้า ฉันใดฉันนั้น คนทางเมืองไทยก็เป็นห่วงผมกับเหตุจราจลเหมือนกัน ไว้คึกๆจะเขียนเล่าสถานการณ์นี้ให้อ่านกัน)

มาว่ากันต่อกับเรื่องที่ผมเจอ

วันนี้ หลังจากผมทำความสะอาดบ้าน จัดห้องเป็นระเบียบสวยงามแล้ว ผมก็ออกไปจ่ายตลาดเพื่อเตรียมทำอาหารเลี้ยงชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง

ไม่ต้องสงสัย ถ้าเป็นผู้ชาย ผมคงไม่เชิญมากินข้าวเย็นที่บ้านอย่างแน่แท้ (ฮา)

เมนูที่ผมจัดให้สาวยุ่น คือ ผัดกระเพราหมูผสมไก่ (แต่กระเพราไม่มี ใช้โหระพาแทน) กับ ต้มยำกุ้ง (เช่นเคย กุ้งแพง ผมเลยใช้แบบรวมมิตรทะเลแช่แข็ง) อันนี้เป็นจานหลัก มีเครื่องดื่มเป็นไวน์แดง Côte du Rhône

เพื่อสร้างความดัดจริตให้สมกับที่อยู่ฝรั่งเศส ผมสรรหาออเดิร์ฟหรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่า Entrée เป็นปอเปี๊ยะ บวกด้วยอะเปเรตีฟเป็น Muscadet (แรดมั้ยครับท่านผู้ชม)

เธอเดินทางมาถึงบ้านผมตอน ๒ ทุ่ม (ที่นี่กินข้าวเย็นช้า แต่คงไม่ช้าไปกว่าสเปนที่ปาเข้าไปเกือบ ๔ ทุ่ม)

เรากินกันไป คุยกันไป จนเกือบเที่ยงคืน ผมเลยอาสาไปส่งเธอสมกับเป็นสุภาพบุรุษชายไทย

ผมส่งเธอถึงที่บ้านด้วยดี โชคดีที่เวลาขณะนั้นยังพอทันที่จะขึ้นรถ Tram รอบสุดท้ายกลับบ้านผม

มีนายตรวจขึ้นมา หญิงวัยกลางคนกับสาววัยรุ่นตระหนกเล็กน้อย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะหล่อนไม่ยอมตอกตั๋วรถ พูดง่ายๆ คือ ลักไก่ขึ้นรถฟรีนั่นเอง

ด้วยความที่ผมขึ้นรถ Tram รอบสุดท้ายเป็นประจำ ผมจึงหันไปบอกหล่อนว่า “ไม่มีปัญหาครับ นายตรวจรอบสุดท้ายนี่มาเพื่อรักษาความปลอดภัยเท่านั้น ไม่ได้มาตรวจตั๋ว” หญิงวัยกลางคนถามผมกลับมาว่า “แล้วเธอตอกตั๋วหรือเปล่า” ผมตอบกลับไปด้วยความอิ่มเอมใจว่า “อ่อ ผมมีตั๋วเดือนครับ”

ในใจคิดว่า ถึงกูเป็นคนต่างชาติมาอยู่บ้านมรึง แต่กูก็ไม่โกงนะเว้ย

รถ Tram วิ่งไปเรื่อยๆ ทุกอย่างดูปกติดีจนกระทั่งชายวัยรุ่นคนหนึ่งมานั่งตรงข้ามผม ศีรษะโกนเลี่ยน ปลายคิ้วมีห่วงเหล็กพันธนาการไว้ เช่นเดียวกับใบหูทั้งสองข้าง

จมูกผมไวพอดูพอที่จะรู้ได้ว่าเขาต้องดื่มมาไม่น้อยเป็นแน่

เขาถือถุงใบใหญ่ข้างในมีเสื้อหนึ่งตัว และจากการที่เขาคุ้ยหาอะไรบางอย่างในถุงทำให้ผมเห็นว่าลึกลงไปในนั้นมีเศษผ้าอีกชิ้นหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมาย

มือขวาของซุกไว้ในกระเป๋าเสื้อโค้ตตลอดเวลา แต่มือซ้ายกลับปล่อยวางอย่างอิสระ

แม้มือขวาของเขาจะซ่อนไว้ในกระเป๋า แต่บางครามันก็โผล่ออกมา ผมสังเกตเห็นว่ามือนั้นเปื้อนสี สีนั้นออกแดงๆ ผมตั้งสมมติฐานในเบื้องต้นสองข้อ หนึ่ง หมอนี่อาจเป็นช่างทาสี (เพราะชุดที่เขาสวมใส่ก็มอมแมมพอดู) เสร็จงานตรงไปกินเหล้าแล้วพึ่งกลับบ้าน สอง หมอนี่อาจเป็นวัยรุ่นที่ดื่มจนเมาแล้วท้องหิวก่อนกลับบ้านเลยหาซื้อเคบับกินแต่ดันราดซอสอย่างเมามันจนเลอะเทอะ

ตลอดทางหมอดูมีอาการลุกลี้ลุกลน

ผ่านไปได้ ๔-๕ ป้าย เขาก้มลงไปคุ้ยหาของในถุงใบนั้น คุ้ยไปคุ้ยมา ผมเลยเหลือบไปเห็นชัดๆกับตา ด้านในเสื้อตัวนั้นเต็มไปด้วยเลือด สีแดงแจ๋อย่างนั้นคงไม่ใช่สีทาบ้านหรือซอสแน่ๆ ไอ้เศษผ้าที่อยู่ลึกสุดก็สีแดงฉานพอกัน
ผมรีบหันออกไปมองนอกหน้าต่างทันที เพราะกลัวเขารู้ตัวว่าผมเห็นของไม่พึงประสงค์ในถุงใบนั้น

หลังจากการคุ้ยหา เขาไม่พบสิ่งที่เขาต้องการ ท่าทางหัวเสียอย่างเห็นได้ชัด ทันใดนั้นเอง เขารีบกระโดดลงจากรถทันที

ในใจผมพยายามคิดว่า คงเป็นวัยรุ่นชกต่อยกันมากระมัง แต่คิดไปคิดมา ก็น่าสงสัยกับอาการแปลกๆของเขาอยู่

ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปนึกภาพมือของเขา ความเชื่อของผมที่ว่าเขาชกต่อยมาคงไม่จริง เพราะมือนั้นเปื้อนเลือดแบบกระจายเต็มมือ แม้ว่าสีของเลือดจะจางลงก็ตาม

ผมลองละทิ้งความสนใจเรื่องของชายหนุ่มด้วยการหันไปคุยกับหญิงสองคนที่ไม่ยอมตอกตั๋ว

แต่ผมก็ดันไปเห็นรอยเลือดที่หยดบนพื้นบริเวณที่นั่งของชายวัยรุ่นคนนั้นอีก รอยเลือดนี้เป็นลิ่มๆ หยดๆ แดงๆ สดๆ คราวนี้จะอย่างไรก็ต้องเป็นเลือดแน่นอน

หลังจากการสนทนาด้วยความรวดเร็ว ผมและหญิงสองคนนั้นจึงตัดสินใจไปบอกนายตรวจว่ามีเหตุการณ์ไม่ปกติ (ทีแรกหญิงวัยรุ่นไม่อยากให้ไปยุ่ง ธุระไม่ใช่) ผมเล่ารายละเอียดให้นายตรวจฟัง นายตรวจจึงรีบลงป้ายถัดไปเพื่อวิ่งไล่ตาม นายตรวจอีกคนวิทยุไปหาตำรวจ นาง(สาว)ตรวจอีก ๒ คนก็มายืนคุยบริเวณรอยเลือด

ผมยืนยันไปว่าผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อย่างน้อยก็น่าจะลองตรวจสอบดู

นาง(สาว)ตรวจขอเบอร์โทรศัพท์ผมไป เพราะอาจจำเป็นต้องเรียกมาสอบถามเพิ่มเติมหรือเป็นพยานในวันถัดไป

ตอนนี้ผมได้แต่ภาวนาว่าผมคงเดาผิดและมองโลกในแง่ร้ายเกินไป เพราะผมขี้เกียจไปวุ่นวายกับราชการฝรั่งเศส ก็ภาษาผมห่วยบรม และอย่างน้อยก็จะได้ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

แต่ถ้าเป็นอย่างที่ผมคิด ผมก็พร้อมให้ความร่วมมือ อย่างน้อยก็ภูมิใจว่าไม่เสียแรงที่อ่านการ์ตูนโคนันมานาน

จาการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างผม หญิงสองคน นายและนาง(สาว)ตรวจ และผู้โดยสารที่มาแจมตอนหลังอีก ๒-๓ คน เราได้ข้อสรุปตรงกันว่าเหตุการณ์นี้น่าจะไม่ปกติ

ไม่รู้พรุ่งนี้ผมต้องไปเป็นพลเมืองดีหรือเปล่า?

วันศุกร์, พฤศจิกายน 04, 2548

จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้ เราต้องดูแลเป็นพิเศษ

“ผมตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เราต้อง ดูแลเป็นพิเศษ แต่เราต้องดูแลคนทั้งประเทศด้วย แต่เวลาจำกัด ต้องเอาเวลาไปจังหวัดที่เราได้รับความไว้วางใจมากเป็นพิเศษ จังหวัดที่ไว้วางใจเราน้อยต้องเอาไว้ทีหลัง ไม่ใช่ไม่ไป คิวต้องเรียงอย่างนี้ ผมเป็นคนพูดตรงไปตรงมา เปิดเผย สื่อมวลชนอยู่ต้องเปิดเผย ไม่มีความลับสำหรับผม วันนี้คิดกับประชาชนอย่างไร ก็อยากเห็นคนทั้งประเทศไม่ว่าอยู่ที่ไหน เลือกหรือไม่เลือกผม ก็อยากให้ทุกคนหายจน แต่เนื่องจากเวลาจำกัดก็ต้องไล่ลำดับกันไป แต่เจ้าหน้าที่ก็ทำเหมือนกันหมดทั่วประเทศ”

................

มุมมองทางกฎหมาย

ประเด็นแรก สังคมไทยยังแยกการเมืองระดับชาติกับระดับท้องถิ่นไม่ออก

โดยหลัก เราเลือก ส.ส. เพื่อไปทำหน้าที่ออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ในขณะที่นายกฯและคณะรัฐมนตรี ก็ทำหน้าที่บริหารประเทศในเรื่องระดับชาติ เช่น นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศ ความมั่นคงปลอดภัย สาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ท้องถิ่นทำไม่ได้ ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จัดการเรื่องบริการสาธารณะระดับท้องถิ่น เช่น รักษาความสะอาด สุขอนามัย ถนน บ่อน้ำ

ในเมื่อปัจจุบัน เรากระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีตั้งแต่ระดับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือ เมืองพัทยา ก็ควรแบ่งแยกภารกิจกันให้ชัดว่าเรื่องใดเป็นงานของ ส.ส. เรื่องใดเป็นของท้องถิ่น

คำที่เราใช้เรียก ส.ส. ว่า “ผู้แทนฯ” นั้น ก็คือ “ผู้แทนราษฎร” ของคนทั้งประเทศ หาใช่ “ผู้แทนราษฎร” ของจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งหรือเขตเลือกตั้งใดเลือกตั้งหนึ่ง เราไม่อาจบอกว่า นายแม้ว เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเฉพาะเขตสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ได้ เช่นกัน นายเติ้ง ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเฉพาะจังหวัดสุพรรณบุรี

เหตุที่ต้องแบ่งออกเป็น ส.ส เขตนั้น ส.ส. เขตนี้ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการจัดการเลือกตั้งเท่านั้น สภาผู้แทนราษฎรต้องการสมาชิกที่หลากหลาย กระจายไปทั่วทั้งประเทศ ไม่ให้กระจุกอยู่ที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และเพื่อความเสมอภาคของพลเมืองทุกคนที่จะมีสิทธิเลือกตั้งในเขตของตน จึงจำเป็นต้องแบ่งเขตเลือกตั้งออกไปทั้งประเทศ

เมื่อผู้สมัครรายใดได้รับเลือกเป็น ส.ส. แล้ว เขาย่อมไม่ผูกพันกับเขตเลือกตั้ง ทว่าเป็นตัวแทนใช้อำนาจอธิปไตยของคนไทยทั้งหมด เช่น บ้านผมอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ ๓๓ กรุงเทพฯ ส.ส.ในเขตนี้ก็ไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเฉพาะในเขตจอมทอง บางขุนเทียนเท่านั้น งานในพื้นที่ประเภททำถนน ฉีดวัคซีน กำจัดยุงลาย เป็นหน้าที่ของ ส.ก. ส่วน ส.ส. เขตบ้านผมก็ทำหน้าที่พิจารณาออกกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร

แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยยังแยกบทบาทระหว่างส.ส.กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ออก ผู้รับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้งหลายจึงต้องยึดติดกับพื้นที่ หมั่นลงพื้นที่ จัดสรรงบประมาณไปลงในพื้นที่ ต้องสร้างถนน หาน้ำ หาไฟ หาบ่อ กำจัดยุงลาย ตัดผม ส่งพวงหรีด ร่วมงานบวช ทำหมันสุนัข ตัดแว่น ทำฟัน หากไม่ทำ คะแนนเสียงก็ตก ชาวบ้านไม่เลือก เพราะไม่ได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมให้ชาวบ้านเห็น

เช่นนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามี ส.ส.ใช้สโลแกนว่า “คิดอะไรไม่ออกบอกจองชัย” หรือ “ส.ส.100 ศพ”

ผมเห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งควรเข้ามามีบทบาทประชาสัมพันธ์ในประเด็นนี้ ให้ชาวบ้านรู้ถึงบทบาทของ ส.ส. ว่าแตกต่างกับท้องถิ่นอย่างไร ไม่ใช่มุ่งแต่สวมบทเป็นมือปราบปืนโหด จ้องชักแต่ใบเหลือง ใบแดง

หากเราแยกบทบาทได้ชัดเจนแล้ว ต่อไป ส.ส.ก็ไม่ต้องพะวงกับพื้นที่ตนเองมากนัก หากเอาเวลาที่เหลือไปศึกษาวิจารณ์ร่างกฎหมาย (ไม่ใช่สำนักงานสภาพิมพ์แจกไปทีไรไปกองทิ้งไห้ปลวกกิน) หรือไปตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทางด้านท้องถิ่น ก็ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านดังที่ตนถนัดและคุ้นเคยเพราะอยู่ใกล้ชิด ส่วนชาวบ้านเอง ก็เรียกร้องได้ถูกคน จะเอาบ่อน้ำ จะเอาถนน ก็ให้ไปบอกท้องถิ่น ส่วนการพิจารณาเลือก ส.ส. ก็มีสองมิติ คือ เลือกเพราะอยากได้รัฐบาลจากพรรคนี้ หรือ เลือกไปทำหน้าที่ร่างกฎหมายและตรวจสอบรัฐบาล

โอษฐภัยที่นครสวรรค์เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะทั้งชาวบ้านและนักการเมืองยังคงมีค่านิยมแบบเดิมอยู่ คุณทักษิณก็จำเป็นต้องพูดทำนองนี้เพื่อเรียกคะแนนนิยม ทางด้านชาวบ้านก็ดีใจที่เห็นผลพลอยได้จากการเลือกส.ส.พรรคไทยรักไทย

ส่วนตัวคุณทักษิณเอง ควรระลึกไว้เสมอว่าตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี หาใช่นายกเทศมนตรีไม่ บทบาทที่คุณทักษิณที่ลงไปล้วงไปเดินเองอยู่ทุกวันนี้ ดูแล้วไม่ต่างอะไรกับนายกเทศมนตรีเลย

เอาเข้าจริง ก็ควรให้ความเป็นธรรมกับคุณทักษิณ จะเอาอะไรมากมายกับคนที่ไม่สมาทานกับการกระจายอำนาจ หากพิสมัยบูรณาการอำนาจเข้าหาตนเองมากกว่า ถ้าคิดได้ดังนี้ การเรียกร้องข้างต้นของผม ก็คงจะมากเกินไป

ประเด็นที่สอง หากนายกฯทำดังที่พูดจริงก็หมิ่นเหม่ที่จะขัดกับหลักความเสมอภาค

นิติรัฐเรียกร้องว่าฝ่ายปกครองจะกระทำการใดที่ไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจำต้องมีกฎหมายให้อำนาจ และเมื่อกระทำไปแล้วก็ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายที่มีอยู่ (ผมเคยกล่าวไว้แล้วที่ http://etatdedroit.blogspot.com/2005/05/blog-post_02.html) อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ยึดหลักนิติรัฐอย่างเข้มข้น ก็จะเรียกร้องต่อไปอีกว่าหากฝ่ายปกครองจะกระทำการใดที่เป็นการให้ประโยชน์แก่ประชาชนก็ต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ด้วย เช่น ออสเตรีย ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘ บัญญัติว่า “องค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆได้ก็แต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

กล่าวสำหรับประเทศไทย ยังไม่ไปไกลขนาดออสเตรีย เราถือแค่ว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” และ “เมื่อมีอำนาจ ก็ห้ามขัดต่อกฎหมาย” กรณีให้ประโยชน์แก่ประชาชน ฝ่ายปกครองย่อมกระทำได้ แต่เมื่อกระทำแล้วก็ห้ามกระทำการขัดต่อกฎหมาย

“หลักความเสมอภาค” ถือเป็นกฎหมายอันหนึ่ง ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐ รับรองหลักความเสมอภาคไว้ว่า
“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”

ดังนั้น เมื่อฝ่ายปกครองจะกระทำการที่เป็นการให้ประโยชน์แก่ประชาชน ก็ต้องคำนึงถึงหลักความเสมอภาคด้วย การให้ประโยชน์ด้วยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เพศ หรืออายุก็ดี การให้ประโยชน์ด้วยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมก็ดี การให้ประโยชน์ด้วยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองก็ดี ย่อมไม่ชอบด้วยหลักความเสมอภาค

ย้อนกลับไปดูที่คำพูดของคุณทักษิณที่ผมคัดมาไว้ด้านบน แล้วเชิญวิญญูชนพิจารณาดูเอาเองเถิดว่าขัดหลักความเสมอภาคหรือไม่

..................

มุมมองทางการเมือง


ผมสำรวจบรรดากองเชียร์ ณ กระดานข่าวราชดำเนิน บางคนกลับยกย่องว่า นายกฯเป็นคนจริง ใจนักเลง ไม่สร้างภาพ เข้าใจสังคมวิทยาการเมืองเป็นอย่างดี

สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของสุรนันท์ เวชชาชีวะที่ว่า “อย่างไรก็ตาม วันนี้คงไม่ต้องไปดัดจริตแบบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ต่อปากต่อคำ ไม่จำเป็น (หาช่องกระทบไปถึงอภิสิทธิ์ได้ด้วย แหม ทำไปได้ – ผมเอง) เพราะวันนี้สังคมมนุษย์เป็นสังคมการเมือง หากจังหวัดใดมี ส.ส.ที่มาจากพรรคเดียวกัน เวลาหารือกันก็ง่ายขึ้น ไม่ต้องแยกพรรคแยกพวก แยกประเด็นการเมือง เวลารัฐบาลจะตัดสินใจอะไรก็หันมาถาม ส.ส. ซึ่งส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกัน ทำให้มีเอกภาพมาก”

คำพูดหรือทัศนคติทำนองนี้ใช้ได้ดีในระบอบพ่อขุนสฤษดิ์ที่ยกย่องว่าผู้นำต้องเป็นกล้าได้กล้าเสีย ใจนักเลง คำไหนคำนั้น ตอบแทนบุญคุณ

แต่ พ.ศ.นี้หาใช่ยุคสฤษดิ์ไม่

ผู้นำที่โผงผาง รวบอำนาจสั่งการ (โดยอ้างที่ความรวดเร็ว ความเด็ดขาด ความเป็นนักเลง) ผู้นำที่นิยมการบริภาษคนไปทั่ว บางครั้งก็ด้วยคำหยาบคาย (โดยอ้างความจริงใจ ความเป็นชาวบ้าน) ผู้นำที่ไม่เปิดพื้นที่ให้ผู้อื่นเห็นต่าง (โดยอ้างว่าตนรู้ดีที่สุด คนอื่นไม่รู้เรื่อง) ผู้นำที่หลุดคำพูดแต่ละครั้งชวนให้เกิดความแตกแยกแก่สังคม (โดยอ้างความจริงใจ ความแปลกใหม่แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน) ไม่น่าจะเป็นผู้นำที่ดีในโลกยุคปัจจุบัน

คำกล่าวที่ว่าการเมืองคือการบริหารจัดการความเชื่อ ยังคงเป็นจริงเสมอ สิ่งสำคัญที่สุดในทางการเมืองอยู่ที่ความเชื่อถือ ความศรัทธา วจีกรรมใดที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือย่อมไม่พึงกระทำ

ยิ่งช่วงนี้ คุณทักษิณอยู่ในช่วงขาลง มีคนจ้องจับประเด็น จับคำพูด เพื่อทำลายความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว ยิ่งต้องพึงระวังมากขึ้น

คุณทักษิณต้องพึงสังวรณ์ไว้เสมอว่าตนสวมหมวกสองใบ หัวหน้าพรรค ใบหนึ่ง และนายกรัฐมนตรี อีกใบหนึ่ง การพูดที่นครสวรรค์ คุณทักษิณต้องไม่ลืมว่าอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี เอาเข้าจริง ผมไม่เห็นว่าคุณทักษิณจะต้องพูดแบบนี้ เพราะอย่างไรเสีย คนนครสวรรค์ก็เห็นเองอยู่ดี

สังเกตได้เสมอๆว่าโอษฐภัยของนายกฯมักมาจากพูดบลัฟ พูดเรียกเสียงเฮจากชาวบ้าน พูดยกตนว่าข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าเจ๋ง เอาง่ายๆ คือ นายกฯกะเอาเท่ แต่ไม่พึงระวังว่าความเท่เช่นนี้บางทีก็ไม่เป็นผลดีแก่ตนเอง ผมเดาว่า คราวนี้ก็เช่นกัน อาจเป็นไปได้ว่า คุณทักษิณคิดว่าสิ่งที่ตนพูดนั้นแสดงถึง “ความเท่” เฉพาะตัวกระมัง เป็นความเท่ที่เกิดจากการกล้าพูดความจริง ไม่เสแสร้งแกล้งทำ

บางคนบอกว่าปากพาไป ผมเห็นว่าปากพาไปจริง แต่ปากที่ว่ามีสมองและจิตใต้สำนึกของนายกฯนำพาไปก่อน หาใช่หลุดออกมาโดยไม่คิดไม่ สังเกตจากนายกฯกล่าวซ้ำบ่อยครั้ง วนไปวนมา ย้ำไปย้ำมา และเน้นย้ำเสมอว่าตนพูดจริง เป็นคนจริงใจ

เรียกได้ว่าจิตใต้สำนึกและนิสัยของนายกฯคนนี้เป็นแบบนี้นั่นเอง มันก็เหมือนกับนิสัยฯของนายกฯแต่ละคน อย่างชวน เราก็จะเห็นแต่ “ยังไม่ได้รับรายงาน” “ต้องขอเวลาพิจารณา” “ผมสั่งการไปแล้ว” หรืออย่างชวลิตที่พูดวกวน ฟังไม่รู้เรื่อง

ในฐานะที่คุณหญิงอ้อและหนูอุ๊งอิ๊งเป็นบุคคลเพียงไม่กี่คนในโลกที่คุณทักษิณยังพอฟังและเชื่ออยู่บ้าง ผมเห็นว่าคุณหญิงอ้อและหนูอุ๊งอิ๊งน่าจะให้คุณทักษิณบันทึกโอษฐภัยของตนเองแล้วนำมาเตือนสติก่อนนอนทุกครั้งว่าต่อไปนี้จะไม่พูดอีก มิฉะนั้นจะถูกตี ตั้งแต่

“บกพร่องโดยสุจริต” (ซุกหุ้น)
“ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” (บริภาษยูเอ็นที่วิจารณ์นโยบายปราบยาเสพติด)
“ทหารโอเวอร์รีแอ็ค” (ทหารชายแดนไทย-พม่ายิงกับพม่า)
“โจรกระจอก” (ปัญหาภาคใต้)
“ผมรู้ตัวหมดแล้วใครทำ เรามาถูกทางแล้ว” (ปัญหาภาคใต้)
“ไอ้พวกนี้ไม่เก็บไว้ทำพันธุ์” (ปัญหาภาคใต้)
“เดี๋ยวผมจะลองลงไปนอนเล่นสักสองคืน” (ปัญหาภาคใต้)
“ใครเงินไม่พอมาเอาที่ผม” (ทั่วไป)
“เขาคงทะเลาะกับเมีย” (กรณีทนายสมชายถูกอุ้ม)
“ไอ้พวกนี้ ขาประจำ” (ตอบโต้นักวิชาการ)
“ไอ้พวกนี้ ไม่เลือกเบอร์ ๙” (ตอบโต้คนที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล)
“เสียงฝ่ายค้านไม่พอ ผมให้ยืม” (ตอบสรยุทธ กรณี ทรท ต้องการเสียงเกิน ๓๐๐ เพื่อปิดทางฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ)
“รมต ของผม ใครโกง ไม่ต้องมีใบเสร็จ ผมจัดการแน่” (นโยบายปราบทุจริต)

จนมาถึง ล่าสุด “ผมตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เรา ต้องดูแลเป็นพิเศษ”

เตือนมาด้วยความรัก (ไม่ใช่รักแบบลุงธิด้วย)
เพราะผมไม่อยากเห็นนายกฯที่ใครก็ล้มได้ยาก แต่กลับตายด้วยปากตนเอง

วันอังคาร, พฤศจิกายน 01, 2548

พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน

หมายเหตุ - ผมเคยเขียนบล็อกวิจารณ์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เมื่อเกือบสองเดือนที่แล้ว จำได้ว่ายังเขียนไม่จบ ตอนนี้กลับมาปัดฝุ่นเขียนจนครบถ้วนกระบวนความแล้ว เชิญผู้มีจิตศรัทธาติดตามชมได้
ตอนแรกเชิญอ่านได้ที่ http://etatdedroit.blogspot.com/2005_08_01_etatdedroit_archive.html

..............


-๓-
ข้อพิจารณาบางประการใน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สมควรกล่าวในเบื้องต้นว่าผมพิจารณาเนื้อหาของ พ.ร.ก.ฉบับนี้จากมุมมองทางกฎหมาย หาใช่มุมมองทางรัฐศาสตร์หรือภูมิศาสตร์การเมืองแต่ประการใด และหากข้อวิจารณ์ของผมจะมีข้ออ่อนอยู่บ้าง คงหนีไม่พ้นที่ผมไม่ได้ประสบเหตุการณ์โดยตรง หากเป็นเพียงนักกฎหมายคนหนึ่งที่มองจากวงนอกเข้าไป

จากการสำรวจ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีข้อควรพิจารณารวม ๕ ประเด็น ดังนี้

หนึ่ง ความจำเป็นเร่งด่วนในการออกกฎหมายในรูป พ.ร.ก.

ในการออกโทรทัศน์ร่วมกับคุณอานันท์ นายกฯชี้แจงประเด็นนี้ว่า เหตุการณ์ระเบิดที่ยะลาเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องเร่งออกกฎหมายในรูป พ.ร.ก. และเอาเข้าจริงแล้ว พ.ร.ก. กับ พ.ร.บ. ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะอย่างไรเสียรัฐบาลต้องนำ พ.ร.ก. กลับมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอยู่ดี

นายกฯ พูดความจริงอีกแล้วครับ แต่เช่นเคย... จริงครึ่งเดียว

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘ บอกว่า คณะรัฐมนตรีจะออก พ.ร.ก. ได้ในกรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

นั่นก็หมายความว่า ถ้ามีเหตุการณ์ใดเข้ากรณีดังกล่าวแล้ว เราไม่มีหนทางอื่นอีก จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายมาเพื่อแก้ไขปัญหา หากมัวแต่รอเอาเข้าสภาคงไม่ทันการณ์เป็นแน่ รัฐธรรมนูญเล็งเห็นปัญหานี้ จึงสร้าง พ.ร.ก. ขึ้นมาให้รัฐบาลออกกฎหมายได้เองเพื่อใช้ไปพลางก่อน โดยจำกัดกรอบไว้ว่าจะทำได้ต้องเข้ากรณีใดบ้างตามมาตรา ๒๑๘

เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่ยะลาซึ่งนายกฯใช้เป็นข้ออ้างในการออก พ.ร.ก. นี้ จะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดระเบิดขึ้น รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาได้ในพริบตาเดียว โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือหรือกฎหมายที่มีอยู่เดิมแก้ไขปัญหาได้ เท่ากับว่าความจำเป็นที่ต้องออก พ.ร.ก. (เหตุการณ์ที่ยะลา) ได้ผ่านพ้นไปแล้ว การหยิบยกเหตุการณ์ที่ยะลามาอ้าง จึงไม่น่าจะสมเหตุสมผลเท่าไรนัก

บางคนอาจกล่าวว่าสถานการณ์ภาคใต้ที่มีระเบิดรายวันนี่ยังไม่เรียกจำเป็นเร่งด่วนอีกหรือ? ผมไม่เถียงครับ แต่ถ้าบอกว่าออกมาแก้ปัญหาภาคใต้โดยเฉพาะแล้วล่ะก็ เหตุใดไม่ออกมาเป็น พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุใดจึงออกเป็น พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกกรณี

ยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.ก. ฉบับนี้มีลักษณะเป็น “กฎหมายกลาง” ที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกกรณีไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะภาคใต้ยังและให้อำนาจรัฐในการกระทบสิทธิและเสรีภาพมากกว่าปกติ ฝ่ายบริหารจึงไม่พึงรวบอำนาจในการออกกฎหมายลักษณะนี้ไว้ แต่ควรออกเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้ถกเถียงกันในสภาดีกว่า

ในต่างประเทศที่นายกฯอ้างถึงบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายผู้รักชาติของสหรัฐอเมริกา หรือกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายของอังกฤษ ล้วนแต่ออกในรูป พ.ร.บ. แทบทั้งสิ้น

ส่วนกรณีที่นายกฯย้ำว่า พ.ร.ก. กับ พ.ร.บ.ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะอย่างไรเสียรัฐบาลต้องนำ พ.ร.ก. กลับมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอยู่ดี ความข้อนี้ไม่เป็นจริง ผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่าโดยแท้จริงแล้ว พ.ร.ก. แตกต่างจาก พ.ร.บ. อย่างไร

เมื่อคณะรัฐมนตรีออก พ.ร.ก. ใช้บังคับแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องนำ พ.ร.ก.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาทำได้เพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น รัฐสภาไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในพ.ร.ก.นั้นได้ กรณีนี้แตกต่างไปจากการออกกฎหมายในรูป พ.ร.บ. ที่รัฐสภามีอำนาจพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ได้เต็มที่ จะเห็นได้ว่าการออกกฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในรูปของ พ.ร.ก. จึงเป็นการตัดทอนอำนาจของสมาชิกรัฐสภาในการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อภิปราย หรือแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติต่างๆ

มิพักต้องกล่าวถึงผลทางกฎหมายที่เมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก. แล้วก็มีผลใช้บังคับเทียบเท่า พ.ร.บ.ทันที

คำกล่าวที่ว่า พ.ร.ก. ก็เหมือน พ.ร.บ. จึงไม่เป็นความจริง

พึงตระหนักไว้เสมอว่า พ.ร.ก. เป็นข้อยกเว้นในกระบวนการนิติบัญญัติจึงต้องใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ กฎหมายที่ออกในรูป พ.ร.ก. อันมีมูลเหตุจูงใจมาจากการลดขั้นตอนการทำงานเพื่อความสะดวกรวดเร็วย่อมไม่ใช่เหตุผลที่จะออก พ.ร.ก. ได้ในทุกกรณี

สอง ระยะเวลาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

บทบัญญัติในมาตรา ๕ กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ใดก็ได้ โดยมีระยะเวลาไม่เกินสามเดือน อ่านมาตรานี้แล้วก็ดูท่าจะดี แต่ถ้าอ่านต่อไปจะเห็นว่า พ.ร.ก.อนุญาตให้นายกฯต่อเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปได้เรื่อยๆครั้งละไม่เกินสามเดือน

นั่นก็หมายความว่า หากสามเดือนแรกผ่านไป นายกฯอาจประกาศต่ออีก ๓ เดือน ไปเรื่อยๆโดยไม่มีระยะเวลาจำกัด

เรายอมรับว่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลย่อมมีความจำเป็นในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางเพื่อความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหา และมีอำนาจพิเศษเพื่อเพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา หากต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาทุกครั้ง อาจทำให้ล่าช้าจนเกินไป อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์คลี่คลายหรือเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ก็เป็นที่น่าคิดว่าสมควรนำประกาศเช่นว่านั้นมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจรัฐในการกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นและส่งผลให้หลักนิติรัฐลดความเข้มข้นลง จึงเป็นข้อยกเว้นที่ควรใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆและต้องมีมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพผ่านทางอำนาจนิติบัญญัติ เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปพลางก่อนได้ระยะหนึ่งแล้ว รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้รัฐสภาเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การอ้างเหตุผลที่ว่าหากนำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้านั้นย่อมมีน้ำหนักน้อยลง

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา ๕ แล้ว จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดความเชื่อมโยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้กับรัฐสภา แต่กลับกำหนดให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเท่านั้นโดยไม่คำนึงว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจะกินระยะเวลานานเท่าไร เราไม่ปฏิเสธว่าอำนาจตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินควรสงวนไว้กับฝ่ายบริหาร แต่การให้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้กับฝ่ายบริหารโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาและไม่มีความเชื่อมโยงกับรัฐสภาเลยเช่นนี้ ก็ไม่น่าปรากฏในรัฐที่ประกาศตนเป็นนิติรัฐ

อนึ่ง ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส กฎหมายยอมให้รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกหรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อนได้ภายในระยะเวลา ๑๒ วัน หากเกินกว่านั้น รัฐบาลต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

สาม การจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามมาตรา ๑๑ (๑)

กรณีที่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรง มาตรา ๑๑ (๑) ให้อำนาจนายกฯในการประกาศให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรา ๑๒ กำหนดว่าเจ้าหน้าที่จะจับกุมและควบคุมตัวได้ก็ต่อเมื่อขออนุญาตจากศาลเสียก่อน โดยควบคุมตัวได้ไม่เกิน ๗ วัน ขยายได้อีกคราวะละไม่เกิน ๗ วัน แต่รวมแล้วทั้งหมดต้องไม่เกิน ๓๐ วัน

อำนาจเช่นว่านี้ มีข้อควรสงสัยหลายประเด็น

ตั้งแต่เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยไว้ในสถานที่ใด? บุคคลที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามมาตรา ๑๑ (๑) มีสถานะใด? เป็นผู้ต้องหาหรือไม่? ถ้าไม่เป็นผู้ต้องหาแล้ว สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา ถึงมาตรา จะใช้บังคับกับเขาด้วยหรือไม่? การพิจารณาของศาลในการอนุญาตให้จับและควบคุมตัว จะใช้มาตรวัดจากอะไร? เท่ากับการออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่?

ในด้านจำนวนวันที่ควบคุมตัว มาตรา ๑๒ กำหนดว่ารวมแล้วต้องไม่เกิน ๓๐ วัน หากจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๘๗ วรรค ๖ กำหนดให้ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน ๑๒ วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน ๘๔ วัน

ระยะเวลาสูงสุดในการควบคุมตัวตามที่ พ.ร.ก. กำหนด คือ ๓๐ วัน ระยะเวลาสูงสุดในการควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ๘๔ วัน เท่ากับว่าผู้ต้องสงสัยอาจถูกควบคุมตัวนานถึง ๑๑๔ วัน หรือเกือบ ๔ เดือน !!!

อย่างไรก็ตาม นายกฯได้ออกประกาศฉบับหนึ่งลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ชื่อ “ประกาศตามาตรา ๑๑ ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘” ซึ่งวางแนวปฏิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่ในการใช้อำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย

เมื่อพิจารณาเนื้อหาของประกาศดังกล่าวแล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามได้ครบถ้วน ก็น่าจะเป็นหลักประกันได้ดีในระดับหนึ่ง

สี่ ผลผลิตจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. นี้ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายศาลปกครอง

บทบัญญัติในมาตรา ๑๖ ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

อ่านเผินๆ ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่อ่านลงไปให้ลึก มาตรานี้เป็นการตัดตอนอำนาจของศาลปกครองในการควบคุมการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.

บทบัญญัติที่ตัดอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๑๖ แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.๒๕๔๕ ก็ได้กำหนดไว้ในทำนองเดียวกันว่า มิให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.)

อย่างไรก็ตาม กรณี บสท. ยังพอมีเหตุผลอธิบายได้ว่าข้อพิพาทของ บสท. มีความโน้มเอียงไปทางธุรกิจ การค้า การเงิน แต่กรณี พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นเรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องทางปกครองโดยแท้

จริงอยู่ อาจบอกกันว่าเมื่อพ.ร.ก.เขียนยกเว้นอำนาจศาลปกครองเอาไว้เช่นนี้ ก็จำเป็นอยู่เองที่ศาลยุติธรรมจะเข้ามามีอำนาจพิจารณาแทนในฐานะที่เป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป ความข้อนี้มีข้อควรพิจารณา ๒ ประการ

ประการแรก ความเหมาะสมของศาลยุติธรรมในการพิจารณาคดีปกครอง

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่หยิบยกมาอ้างกันเมื่อคราวผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลปกครอง คือ ความไม่ชำนาญของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมในการพิจารณาคดีปกครอง เมื่อปัจจุบันเรามีศาลปกครองเปิดดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ประกอบกับศาลปกครองก็ได้ผลิตคำพิพากษาที่มีคุณภาพออกมาเป็นจำนวนหนึ่งและพิสูจน์ให้สังคมไทยได้เห็นว่าศาลปกครองปฏิบัติภารกิจได้ดีพอสมควร เช่นนี้แล้ว การกำหนดให้ข้อพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน – ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วมีลักษณะเป็นคดีปกครองอย่างมิต้องสงสัย – อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม จะไม่เป็นการผิดฝาผิดตัวหรือ

เราไม่ปฏิเสธว่ามีคดีบางประเภทที่โดยเนื้อหามีลักษณะเป็นคดีปกครองแต่กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม แต่การกำหนดยกเว้นเช่นว่านั้นก็มีเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางเทคนิค (เช่น ความชำนาญของศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีเหล่านี้มานาน ได้แก่ คดีภาษี คดีแรงงาน เป็นต้น) หรือเหตุผลทางประวัติศาสตร์ (เช่น ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ หรือข้อพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร)

ถ้าผู้ร่าง พ.ร.ก. มีเจตนารมณ์ให้คดีที่เกิดจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมจริงแล้ว ผู้ร่างก็ต้องอธิบายให้ได้ว่า เหตุใดศาลปกครองจึงไม่มีความเหมาะสมในการพิจารณาคดีดังกล่าว และศาลยุติธรรมมีความเชี่ยวชาญในข้อพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร แต่ทว่าจนถึงวันนี้ เรายังไม่ได้ยินคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องต่อประเด็นนี้

ประการที่สอง การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมจริงหรือ?

ประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่นับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมีผลใช้บังคับ กล่าวคือ มีศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจทั่วไปในคดีแพ่งและคดีอาญา และมีศาลปกครองที่มีเขตอำนาจทั่วไปในคดีปกครอง

มีข้อควรสังเกตว่า ในคดีที่โดยเนื้อแท้เป็นคดีปกครองแต่ด้วยเหตุผลความจำเป็นบางประการที่ควรให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณา กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองก็จะกำหนดเป็นการเฉพาะให้คดีเหล่านั้นไปอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม

ดังเช่นในมาตรา ๙ วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ที่กำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทั้งๆที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นคดีปกครอง

เมื่อข้อพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมีลักษณะเป็นคดีปกครอง โดยทั่วไปก็ต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง หากผู้ร่างมีเจตนารมณ์ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ก็ต้องบัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่าข้อพิพาทจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ให้อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมทำนองเดียวกับที่ปรากฏในมาตรา ๙ วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ต่อบทบัญญัติในมาตรา ๑๖ ของพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ เราอาจตีความได้ ๒ นัย

นัยแรก ข้อพิพาทจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. เป็นคดีปกครอง แต่ผู้ร่างไม่ต้องการให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง จึงเขียนยกเว้นไว้ แต่ในนิติรัฐจำเป็นต้องมีองค์กรตุลาการเข้ามาควบคุมการใช้อำนาจ จึงตีความไปในทางที่ให้ศาลยุติธรรมเข้ามามีเขตอำนาจในกรณีนี้ แม้จะไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม

นัยที่สอง เมื่อข้อพิพาทจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.มีลักษณะเป็นคดีปกครอง ย่อมหมายความในทางกลับกันว่าศาลยุติธรรมไม่มีเขตอำนาจ เมื่อศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเขียนใน พ.ร.ก. ให้ยกเว้นอำนาจศาลยุติธรรม แต่เมื่อบทบัญญัติในมาตรา ของ พ.ร.ก.ไปยกเว้นอำนาจศาลปกครองไว้อีก ก็เท่ากับว่าทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองก็ไม่มีเขตอำนาจในกรณีนี้

หากเป็นไปตามนัยแรก ศาลยุติธรรมก็เข้ามามีเขตอำนาจ
แต่ถ้าเป็นไปตามนัยที่สอง ก็หมายความว่า ไม่มีศาลใดเลยที่มีเขตอำนาจในการควบคุมการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลยุติธรรมจะรับคดีตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไว้พิจารณา ก็ยังเกิดปัญหาตามมาในเรื่องความเหมาะสมในวิธีพิจารณา กล่าวคือ ผู้มีสิทธิฟ้องคดีในศาลยุติธรรมจะแคบกว่าผู้มีสิทธิฟ้องคดีในศาลปกครอง ศาลยุติธรรมถือหลักว่าผู้ฟ้องคดีต้องถูกโต้แย้งสิทธิเสียก่อน เรียกได้ว่า ผู้ฟ้องต้องมีสิทธิตามที่กฎหมายรับรองแล้วถูกผู้อื่นโต้แย้งสิทธิหรือทำการกระทบสิทธิของตน แต่ศาลปกครองถือหลักแค่เพียงขอให้ผู้ฟ้องมีส่วนได้เสียพอสมควรในเรื่องที่ฟ้อง

ผลจากการยึดหลักเรื่องการฟ้องคดีต่างกันเช่นนี้ ทำให้ศาลยุติธรรมไม่รับคำฟ้องขอเพิกถอนกฎ (สำหรับผู้ไม่ได้เรียนกฎหมาย – กฎ - จะมีผลใช้บังคับทั่วไป – คำสั่ง – จะมีผลใช้บังคับเฉพาะเจาจง) เพราะถือว่าผู้ฟ้องนั้นยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิของตน เพราะ กฎดังกล่าวยังไม่ได้มีผลใช้บังคับกับผู้ฟ้องโดยตรง หากจะฟ้องก็ต้องฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจของกฎนั้น ในขณะที่ศาลปกครองจะรับฟ้องหากผู้ฟ้องมีส่วนได้เสียเพียงพอต่อกฎนั้น

ความแตกต่างในวิธีพิจารณาของศาลยุติธรรมกับศาลปกครองยังส่งผลมาถึงประเด็นเรื่องผลของคำวินิจฉัยอีกด้วย เมื่อศาลยุติธรรมไม่รับการฟ้องขอเพิกถอนกฎโดยตรงแล้ว แต่รับฟ้องเพิกถอนคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจของกฎนั้น หากศาลยุติธรรมพิจารณาแล้วเห็นว่ากฎนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลยุติธรรมก็มีอำนาจเพียงไม่นำกฎนั้นมาใช้บังคับกับคดีเท่านั้น หามีอำนาจเพิกถอนกฎนั้นไม่ ในทางกลับกัน ถ้าเป็นศาลปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนกฎทั้งฉบับให้มีผลเป็นการทั่วไป ไม่เฉพาะกับคดีได้ เรียกได้ว่าศาลปกครองสามารถทำลายกฎให้หายไปจากระบบกฎหมายได้ถ้ากฎนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อโยงเข้ากับพ.ร.ก. จะเห็นได้ว่าหากผมต้องการฟ้องขอเพิกถอนกฎที่ออกมาตามพ.ร.ก. ผมก็ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎนั้นเพื่อใช้กับผมเสียก่อน จากนั้นผมก็ต้องไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อขอเพิกถอนคำสั่ง โดยอ้างว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะออกโดยอาศัยอำนาจของกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าศาลเห็นอย่างที่ผมบอก ศาลก็จะเพิกถอนคำสั่งนั้นให้ และไม่นำกฎนั้นมาใช้บังคับกับคดีของผม แต่กฎนั้นก็ยังคงมีผลต่อคนอื่นต่อไปแม้ว่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

ก็คงต้องภาวนาว่าศาลยุติธรรมจะรับข้อพิพาทจากการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.นี้ไว้พิจารณา และนำหลักกฎหมายปกครองมาใช้ในคดีเหล่านี้เพราะโดยเนื้อแท้แล้วมีลักษณะเป็นคดีปกครอง

ต่อประเด็นปัญหาการตัดอำนาจของศาลปกครองนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง แม้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในรัฐบาลออกมาช่วยกันชี้แจง พ.ร.ก.ฉบับนี้หลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดเลยที่จะตอบคำถามว่าเหตุใด พ.ร.ก. ฉบับนี้ต้องเขียนยกเว้นอำนาจศาลปกครอง

ผมลองเดาใจผู้ร่างดู มีสมมติฐานอยู่สามข้อที่ควรพิจารณา

ข้อแรก ศาลปกครองไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการพิจารณาคดีตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ ทั้งๆที่โดยเนื้อหาแล้วเป็นคดีปกครอง

ต่อสมมติฐานข้อแรก อย่างที่กล่าวไปแล้ว ผู้ร่างไม่เคยออกมาอธิบายเลยว่า เหตุใดศาลปกครองจึงไม่มีความเหมาะสมในการพิจารณาคดีดังกล่าว และศาลยุติธรรมมีความเชี่ยวชาญในข้อพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร

ข้อสอง ผู้ร่างเกรงกลัวมาตรการชั่วคราวของศาลปกครองที่อาจทำให้เครื่องมือในการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสะดุดลง เช่น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ออกคำสั่ง ผู้มีส่วนได้เสียอาจฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว พร้อมกับร้องขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวด้วยการสั่งทุเลาการบังคับการตามคำสั่งดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หากศาลให้ตามที่ร้องขอ เจ้าหน้าที่ก็ต้องยุติการบังคับตามคำสั่งนั้นไว้ชั่วคราว เช่นนี้แล้ว การบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องใช้คำสั่งดังกล่าวเป็นเครื่องมือก็อาจสะดุดได้

ต่อสมมติฐานข้อสอง หากผู้ร่างเกรงว่าศาลปกครองอาจออกมาตรการชั่วคราวทำให้การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสะดุดลง ผู้ร่างก็สามารถเขียนพ.ร.ก.งดเว้นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการชั่วคราวก็ได้ ไม่จำเป็นที่ต้องงดเว้นกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองทั้งฉบับ วัตถุประสงค์ที่ต้องการหลีกเลี่ยงมาตรการชั่วคราวจนถึงขนาดต้องงดเว้นกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองทั้งฉบับ ดูอย่างไรแล้วก็ไม่ได้สัดส่วนกัน

นอกจากนี้ หากเป็นอย่างที่ผมคิดจริงแล้ว แสดงว่าผู้ร่างไม่เคารพในดุลพินิจของศาลปกครองเอาเสียเลย บทบัญญัติในข้อ ๗๒ วรรคสามแห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดเงื่อนไขในการทุเลาการบังคับตามคำสั่งไว้ ๓ ข้อ ได้แก่ หนึ่ง กฎหรือคำสั่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย สอง การให้กฎหรือคำสั่งมีผลต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจนยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และสาม การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะ

ศาลปกครองจะทุเลาการบังคับตามคำสั่งได้ ต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง ๓ ข้อเสียก่อน ไม่ใช่ว่าจะทุเลาการบังคับตามคำสั่งให้ดังที่ผู้ฟ้องขอมาทุกกรณี

ผมเชื่อว่าในกรณีที่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ ศาลปกครองมีวิจารณญาณดีพอที่จะไม่ทุเลาการบังคับตามคำสั่งให้ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อการบริหาราชการแผ่นดิน

ข้อสาม ผู้ร่างคิดอยู่แล้วว่าเมื่อเป็นคดีปกครอง โดยทั่วไปย่อมอยู่ในอำนาจของศาลปกครองไม่ใช่ศาลยุติธรรม เมื่อศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเขียนกฎหมายยกเว้นอำนาจศาลยุติธรรมอีก จึงยกเว้นเฉพาะอำนาจของศาลปกครองก็เพียงพอ

ต่อสมมติฐานข้อสาม เป็นสมมติฐานที่ผมภาวนาว่าผู้ร่างคงไม่คิดเช่นนั้นจริงๆ หากผู้ร่างมองข้ามช็อตถึงขนาดนั้นก็หมายความว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ต้องการหลบเลี่ยงการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยองค์กรตุลาการนั่นเอง

ผมเห็นว่าสมมติฐานทั้งสามข้อไม่มีน้ำหนักเอาเสียเลย และหากสมมติฐานทั้งสามข้อเป็นจริง ก็แสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ออกอาการลนลานตั้งแต่ยังไม่ใช้บังคับ ออกอาการกินปูนร้อนท้องก่อนที่จะมีข้อพิพาท และนับเป็นผลงานชิ้นเอกอุของทีมงานผู้ร่างโดยแท้ แสดงถึงจินตนาการอันสูงส่งในการเขียนกฎหมายหลบเลี่ยงไว้ล่วงหน้าได้แทบทุกมุม

มีข้อควรสังเกตว่า ในฝรั่งเศส รัฐสภาเคยออกกฎหมายมาตัดอำนาจศาลปกครองเหมือนกัน แต่เมื่อมีผู้ฟ้องคดีไปยังศาลปกครอง ศาลปกครองกลับรับไว้พิจารณา เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคดี Dame Lamotte ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๑๙๕๐ มีข้อเท็จจริงว่า รัฐสภาได้ออกรัฐบัญญัติลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๑๙๔๓ ในมาตรา ๔ บัญญัติว่า “ผู้ได้รับผลกระทบจากสัมปทานไม่อาจฟ้องต่อต่อศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมได้” แต่สภาแห่งรัฐในฐานะศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า “รัฐบัญญัติดังกล่าวไม่อาจตัดการฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งหรือกฎต่อศาลปกครองได้ การฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งหรือกฎเปิดกว้างเสมอแม้จะไม่มีกฎหมายใดกำหนดไว้ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อประกันการเคารพหลักความชอบด้วยกฎหมาย”

น่าคิดว่าหากมีใครฟ้องคดีตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อศาลปกครองแล้ว ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ในขณะที่ พ.ร.ก. ตัดอำนาจของศาลปกครองไว้เช่นนี้

นายกฯบอกเสมอว่าอำนาจที่ให้กับเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. ไม่ได้สุ่มสี่สุมห้าให้ไป มีเงื่อนไขการใช้อำนาจกำกับอยู่เสมอ แต่จะเป็นประโยชน์อะไรหากไม่มีองค์กรอื่นเป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจนั้น

ถ้อยคำใน พ.ร.ก. ที่เป็นเงื่อนไขการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่จะเขียนสวยหรูอย่างไรก็ได้ ถ้อยคำสวยหรูดังกล่าวจะกลายเป็นแค่ตัวอักษรบนกระดาษ หากปราศจากการควบคุมการใช้อำนาจโดยองค์กรตุลาการ

แน่ละ เจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจทุกคนย่อมบอกว่าการใช้อำนาจของตนอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดทุกประการ แต่ถามว่า คนที่ตีกบาลผู้อื่น แล้วบอกว่าฉันตีถูกตัว ฉันมีอำนาจตี เราจะเชื่อได้ร้อยเปอร์เซนต์หรือ หลักประกันของเจ้าของหัวที่ถูกตีจะมีอยู่หรือไม่หากไม่มีองค์กรอื่นมาเป็นผู้ชี้ขาด

ต้องไม่ลืมว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เรายอมผ่อนปรนลดขั้นตอนการตรวจสอบ ก่อน การใช้อำนาจ แต่เราไม่อาจยอมตัดตอนการตรวจสอบ หลัง การใช้อำนาจ

กล่าวย้ำอีกครั้ง หลักนิติรัฐเรียกร้องให้ฝ่ายปกครองต้องกระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องมีองค์กรตุลาการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติในมาตรา ของพ.ร.ก.ฉบับนี้แล้วก็น่าคิดว่าจะหมิ่นเหม่ขัดต่อหลักนิติรัฐหรือไม่

.....................

จนถึงขณะนี้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใกล้ครบ ๓ เดือนแล้ว และรัฐบาลได้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก ๓ เดือน ผมจึงถือโอกาสเรียกร้องว่า

๑. รัฐบาลควรจัดทำรายงานอย่างละเอียดเสนอต่อสาธารณชนแสดงผลของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตลอด ๓ เดือนที่ผ่านมา
๒. เช่นกัน กอส. ควรประเมินผลงานการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมาด้วย
๓. กอส.และรัฐบาลควรรวบรวมข้อสังเกต ข้อท้วงติงของผู้ห่วงใยใน พ.ร.ก. ฉบับนี้เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป