ขำไม่ออก๑. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องการ นายกฯพระราชทาน
๒. เพลงแองแตร์นาซิยงนาล เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา สามารถร้องบนเวทีเดียวกันกับ เพลงหนักแผ่นดิน เพลงความฝันอันสูงสุด เพลงเราสู้
เพลงแองแตร์นาซิยงนาล เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เพลงคนกับควาย เพลงถั่งโถมโหมแรงไฟ ปรากฏบนเวทีนายกฯพระราชทาน
๓. บทกลอนของวิสา คัญทัพ "ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ปรากฏบนเวทีนายกฯพระราชทาน
๔. ใส่เสื้อเช ใส่เสื้อดาวแดง ใส่หมวกกรีนแบเร่ต์ติดดาวแดง แต่ไปชุมนุมกับเวทีนายกฯพระราชทาน ไปชี้หน้าว่าคนอื่นเป็นคอมมิวนิสต์
๕. ปฏิญญาธรรมศาสตร์ ของขบวนการสนธิ พิจารณาจาก การอภิปราย เนื้อหา วัตถุประสงค์ ตลอดจนวาระซ่อนเร้นแล้ว ไม่น่าสอดคล้องกับ มธ.
ต้องยอมรับว่า ไม่มากก็น้อย ชื่อ มธ. ยังพอมีอะไรๆอยู่บ้างที่สะท้อนถึงความเป็น มธ. การปล่อยให้ขบวนการสนธิเอาไปใช้เช่นนี้ จะเหมาะสมหรือ? แค่มาประชุมใน มธ. แล้วเหมาเอาชื่อ มธ. ไปใช้ คงไม่มีเหตุเพียงพอกระมัง
๖. ปราโมทย์ ชัยอนันต์ โสภณ สนธิ เจิมศักดิ์ คำนูณ ใช้สูตรเดิมๆของขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย”
๗. เปลี่ยนชื่อ “ข้าราชการ” เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ถือว่าไม่จงรักภักดี
๘. ตั้งพรรควันที่ ๑๔ ก.ค. ซึ่งตรงกับวันปฏิวัติฝรั่งเศส ถือว่าไม่จงรักภักดี
๙. ไปฟินแลนด์พูดคุยเรื่องตั้งพรรคการเมือง พ้องกับที่เลนินไปกบดานก่อนกลับมาโค่นพระเจ้าซาร์ปี ๑๙๑๗ ถือว่าไม่จงรักภักดี
๑๐. ปฏิรูประบบราชการไม่ได้ เพราะมีมาแต่สมัย ร.๕ มิฉะนั้นถือว่าไม่จงรักภักดี น่าเศร้ากว่าที่ชัยอนันต์ สมุทวณิช ราชบัณฑิตทางรัฐศาสตร์ กูรูทางปฏิรูประบบราชการ เจ้าของตำราคลาสสิก “รัฐ” และ “๑๐๐ ปี ปฏิรูประบบราชการไทย” เข้าร่วมกับเวทีที่กล่าวหานั้นด้วย
หรือว่าบ้านเราไม่มีหลัก ไม่มีอุดมการณ์ที่แน่นอน ถาวร มั่นคง ไม่คำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์ หาก "ฉวยโอกาส" เอามาใช้ได้ตามสถานการณ์?
...............
เอาคอลัมน์
วิภาคแห่งวิพากษ์ หน้า ๓ ของมติชน วันที่ ๒๔ และ ๒๕ พ.ค. มาฝาก
-๑-สังคม ฐาน "ความรู้" สังคม แห่ง ศตวรรษที่ 21 ศึกษา "การปล่อยข่าว"การที่คนของ เตียวล่อ จะออกไป ปล่อยข่าว ด้วยการกระซิบในหมู่ราษฎรให้ร้ายเกี่ยวกับ ม้าเฉียว แล้วบางส่วนจะเชื่อถือ เห็นชอบด้วย
มิได้เป็นเรื่องแปลก
ที่ว่ามิได้เป็นเรื่องแปลกมิใช่ว่าจะมองข้ามลักษณะบริสุทธิ์โดยพื้นฐานของมวลชน หากแต่อยู่ที่องค์ประกอบที่ว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ของฝ่ายใด
เป็นของฝ่าย เตียวล่อ หรือว่าเป็นฝ่ายม้าเฉียว
กระนั้น หากจะมีการยกระดับข่าวปล่อยที่มาจากคนของ เตียวล่อ ให้พัฒนาขึ้นให้มีลักษณะที่ครอบคลุมทั้งเสฉวน ให้มีลักษณะที่ครอบคลุมทั่วทั้งดินแดนตงง้วน ก็จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือมากกว่าการกระซิบเพียงอย่างเดียว
แท้จริงแล้ว กระบวนการกระซิบนั้น เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดำเนินไป อย่างยาวนานอย่างยิ่ง
ยาวนานตั้งแต่เริ่มมี ภาษา อันเป็นข้อตกลงร่วมในทางสังคม
ยาวนานตั้งแต่การก่อรูปขึ้นของมนุษย์ที่พัฒนามาจากมนุษย์วานรมีลักษณะทางสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันในยุคแห่งชุมชนบุพกาล
นั่นเป็นเรื่องของมวลชน นั่นเป็นเรื่องของแต่ละปัจเจกบุคคล
สภาพที่คนๆ หนึ่งได้ข่าวมาอย่างหนึ่งแล้วนำไปบอกกล่าวกับอีกคนหนึ่ง หากเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็มิได้เป็นเรื่องแปลก
เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินไปอย่างเป็นปกติ
เพราะนี่คือกระบวนการแจ้งข่าวสารเยี่ยงคนที่รู้จักกันและต้องการให้อีกฝ่ายรับรู้ข่าวสารอย่างทัดเทียมกัน
เพียงแต่ว่าหากนำเอาข่าวสารนั้นกระจายไปสู่สาธารณะก็จำเป็นต้องมีการกรอง
กระบวนการกรองข่าวที่ดีที่สุดก็คือ การตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าข่าวสารนั้นมีข้อมูล ความเป็นจริง มากน้อยเพียงใด
ที่ว่าเป็นจริงมิได้หมายความว่าเป็นจริงอย่างที่เราคิด
ตรงกันข้าม ที่ว่าเป็นจริงนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นจริง มีหลักฐานรองรับอย่างแน่นหนาและเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
ปมเงื่อนตรงนี้เองที่ต้องใช้หลักแห่งกาลามสูตรมาเป็นเครื่องมือ
นั่นก็คือ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา ด้วยการถือสืบๆ กันมา ด้วยการเล่าลือด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ ด้วยตรรกะ ด้วยการอนุมาน ด้วยการคิดตรองตามแนว เหตุผล เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ เพราะนับถือว่าเป็นครูของเรา
การปลงใจเชื่อโดยมองข้ามหลักแห่งกาลามสูตรนั้นเองที่นำไปสู่ความผิดพลาดอย่างสำคัญ
นั่นก็คือ การปลงใจเชื่อโดยไม่มีการตรวจสอบนั่นก็คือ การปลงใจเชื่อเพราะการคิดเอง เออเอง
น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นยังอยู่ที่ว่า ทั้งๆ ที่รับข้อมูลข่าวสารหนึ่งมาอยู่ในมือโดยไม่มีการตรวจสอบว่าข้อมูลเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
แต่ได้นำเอาข้อมูลข่าวสารนั้นไปเผยแพร่ต่อ
เป็นการเผยแพร่ต่อโดยมีเป้าหมายที่เห็นว่าข้อมูลข่าวสารนั้นจะนำไปสู่การทำลายบุคคลและกลุ่มบุคคลอันเป็นปรปักษ์ของตน
โดยไม่คำนึงว่าเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องเท็จ
หากคนๆ นั้นเป็นนักพูด นักอภิปราย ก็ถือได้ว่าเป็นนักพูด นักอภิปราย ที่ไร้ความรับผิดชอบในเรื่องข้อเท็จจริง
หากคนๆ นั้นเป็นนักเขียน ก็ถือได้ว่าเป็นนักเขียนที่ไร้ความรับผิดชอบในเรื่องข้อเท็จจริง
มุ่งเอาสีสัน มุ่งเอาความมัน มุ่งเอาการทำร้ายโค่นล้มปรปักษ์มาอยู่เหนือกว่าสัจจะและความเป็นจริง มุ่งเอาความเด่นความดัง และกระทั่งมุ่งเอาการให้ร้ายป้ายสีเป็นเหมือนบันไดหกในทางการเมือง
ในที่สุดแล้วก็แยกจำแนกไม่ได้ระหว่าง อกุศล กับ กุศล
ในที่สุดแล้วก็แยกจำแนกไม่ได้ระหว่าง มีโทษ กับ ไม่มีโทษ
ปมเงื่อนสำคัญก็คือ การเอาประโยชน์เฉพาะหน้าทางการเมืองมาบดบังความเป็นจริงที่แท้จริง มาบดบังสำนึกแห่งความรับผิดชอบในทางจริยธรรม
ทุกสังคมปรารถนาเห็นความรู้ ไม่ว่าความรู้เชิงธรรมชาติหรือความรู้เชิงสังคม
กระนั้น ความรู้ก็ต้องอยู่บนฐานแห่งความจริง
การแสวงหาความรู้บนฐานแห่งความจริงก่อให้ความรู้นั้นมีความบริบูรณ์ มีความสมบูรณ์เป็นคุณ
นั่นก็คือ นำไปสู่ความรู้ที่แท้ นำไปสู่ความจริงที่จริงแท้
-๒-สังคม ฐาน "ความรู้" สังคม แห่ง ศตวรรษที่ 21 ศึกษา "นักรัฐศาสตร์"การที่คนคนหนึ่งตกเป็นเหยื่อ ข่าวลือ การที่คนคนหนึ่งตกเป็นเหยื่อ ข่าวปล่อย ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยและการลือผ่านปากต่อปาก ผ่านสื่อทั้งสื่อเย็นและสื่อร้อน ผ่านสื่อรุ่นเก่าและสื่อรุ่นใหม่
มิได้เป็นเรื่องแปลก มิได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย
ไม่ว่าจะเป็นสังคมในยุคของ ขงเบ้ง ไม่ว่าจะเป็นสังคมในยุคของ พระยาเม็งราย ไม่ว่าจะเป็นสังคมในยุคของ สุนทรภู่ ไม่ว่าจะเป็นสังคมในยุคของท่าน เทียนวรรณ ไม่ว่าจะเป็นสังคมในยุคของท่าน หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา
กระบวนการข่าวลือ ล้วนสามารถ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ ดำเนินไป
กระบวนการ ข่าวปล่อย ล้วนสามารถ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ ดำเนินไป
แม้ในยุคแห่งข่าวสาร ข้อมูล ที่สื่อร้อนเช่นโทรทัศน์ดำรงอยู่คู่เคียงมากับสื่อเย็นเช่นหนังสือพิมพ์
กระบวนการ ข่าวลือ กระบวนการ ข่าวปล่อย ก็ยังดำรงอยู่และดำเนินไป
แม้ในยุคแห่งการเติบใหญ่พัฒนาในลักษณะก้าวกระโดดของสื่อสมัยใหม่เช่น เว็บไซต์ ออนไลน์ ที่ไหลลื่นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โลกกลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ได้ภายในพริบตาพลัน
กระบวนการ ข่าวลือ กระบวนการ ข่าวปล่อย ก็ยังดำรงอยู่และดำเนินไป
น่าเศร้าก็ตรงที่เป็นการเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไป โดยที่มิได้อาศัยเครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพตามไปด้วย
ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นก็คือ การเก็บรับ ข่าวลือ การเก็บรับ ข่าวปล่อย โดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและจริงจัง สร้างความเสียหายให้กับตนเองอยู่แล้วในระดับที่แน่นอนหนึ่ง
การแพร่ ข่าวลือ การแพร่ ข่าวปล่อย ที่มิได้มีการตรวจสอบยิ่งเป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวงมากยิ่งกว่าเพราะว่าเท่ากับส่งสารอย่างขาดไร้ซึ่งความรับผิดชอบ
น่าเศร้าอย่างยิ่งก็ตรงที่ประดาคนซึ่งมีบทบาทในการเผยแพร่ ข่าวลือ เผยแพร่ ข่าวปล่อย อย่างเอาการเอางานอยู่ในขณะนี้นั้น
จำนวนหนึ่ง ได้ชื่อว่าเป็น นักรัฐศาสตร์
จำนวนหนึ่ง ได้ชื่อว่าเป็น เอ็นจีโอ ที่มีพื้นฐานในทางวิศวกรรมศาสตร์ เคยทำงานใกล้ชิดอยู่กับผู้ใหญ่ที่มีเกียรติภูมิจากการสร้างความปรองดองขึ้นในชาติบ้านเมือง
โดยความเป็น นักรัฐศาสตร์ น่าจะสามารถเข้าถึงความรู้ ความจริง ได้ลึกซึ้ง
อย่างน้อยก็ลึกซึ้งมากกว่าชาวบ้านที่เรียนน้อย รู้น้อย ส่วนใหญ่ ยิ่งเป็นดุษฎีบัณฑิตยิ่งชวนให้เข้าใจว่ามากด้วยความรอบรู้
เช่นเดียวกับความเป็นวิศวกรน่าจะอยู่ในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แห่งการตรวจสอบ
น่าแปลกที่ความปั่นป่วนวุ่นวายภายในสังคมส่งผลให้ นักรัฐศาสตร์ จำนวนหนึ่ง ส่งผลให้ วิศวกร จำนวนหนึ่ง เกิดความสับสน
สับสนและหลงเชื่อโดยไม่ผ่านกระบวนการครุ่นคิดตามหลัก "กาลามสูตร" แห่งพุทธองค์
สังคมเคยเชื่อว่า ปัญญาชน นักวิชาการ ที่ได้ดุษฎีบัณฑิตมาจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือ
พูดอะไรก็ต้องล้างหูน้อมรับฟังด้วยความนบนอบ
สังคมเคยเชื่อว่า นักพัฒนาสังคมที่อ้างว่ารักคนยากคนจน เชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตย เชื่อมั่นในพลังของมวลมหาประชาชน เป็นผู้ที่น่าเชื่อถือ
พูดอะไรก็ต้องล้างหูน้อมรับฟังด้วยความนบนอบ
แต่สถานการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคม การเคลื่อนไหวทางการเมือง ในระยะหลัง เริ่มสร้างความไม่แน่ใจ
สังคมมีความไม่แน่ใจกับพฤติกรรมของ "เด็กเลี้ยงแกะ" นั้นแน่นอนอย่างยิ่งอยู่แล้ว
แต่เมื่อประสบเข้ากับสภาพที่ ปัญญาชน นักวิชาการ นักพัฒนาสังคม นำเอา ข่าวลือ นำเอา ข่าวปล่อย ที่ปั้นน้ำเป็นตัวโดย "เด็กเลี้ยงแกะ" มาเผยแพร่ด้วยความเชื่อมั่นอย่างหัวปักหัวปำ
จึงยิ่งทำให้รู้สึกได้ว่าในที่สุดจุดต่างระหว่าง "เด็กเลี้ยงแกะ" กับ "นักรัฐศาสตร์" นั้นอยู่ที่ไหน
ที่น่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้นยังอยู่ที่ความไม่แน่ใจว่า กระบวนการขับเคลื่อน กระบวนการอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองมีบรรทัดฐานอยู่ที่ไหนและตรงไหน
มีบรรทัดฐานอยู่ที่ความรู้ มีบรรทัดฐานอยู่ที่ความจริง หรือโดยการกุข่าว ลวงโลก
ในที่สุด ก็ต้องย้อนกลับไปทบทวนในเรื่องของ "ฐานความรู้"
ในที่สุด ก็ต้องย้อนกลับไปทบทวนในเรื่องของ "ฐานความจริง"
ในที่สุด ก็ต้องย้อนกลับไปทบทวนในเรื่องของ "ฐานคุณธรรม"
ว่าจะชำแรกแทรกซ่านอยู่ในกระบวนการแสวงหาความรู้และกระบวนการแสวงหาความจริงได้อย่างไร
หากความรู้และความจริงดำเนินไปอย่างไร้คุณธรรมเสียแล้วจะยังมีคุณค่าอันใดได้อีกเล่า
.................
คนที่เขียน หน้า ๓ ในมติชนรายวัน เป็นที่รู้กันในวงการว่าเป็นคนเดียวกันกับคนที่ใช้ลายเซ็น "บรรณาธิการบริหาร" ในมติชนสุดสัปดาห์
คนที่ใช้ลายเซ็น "บรรณาธิการบริหาร" ในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นที่รู้กันในวงการว่าเป็นคนเดียวกันกับ เสถียร จันทิมาธร
เสถียร จันทิมาธร เป็นที่รู้กันในวงการว่าเป็นคนคนเดียวกันกับ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา
ในระยะหลังสังเกตได้ว่างานเขียนของเสถียร จันทิมาธร ไม่เห็นด้วยกับขบวนการสนธิเท่าไรนัก
สร้างความฉุนเฉียวให้สนธิไม่น้อย
จะเห็นได้จากสุรวิชช์ วีรวรรณ คอลัมนิสต์ผู้จัดการเขียนโจมตีเสถียรใน "สไตล์ผู้จัดการ บวก ซ้อเจ็ด บวก เซี่ยงเส้าหลง" กล่าวคือ ไม่อัดตรงๆแต่อ้อมๆใบ้ๆเอา
ตามมาด้วยสนธิเอาปกมติชนสัปดาห์ ตอนกษัตริย์เนปาล ไปวิจารณ์ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์
เห็นข้อเขียนของเสถียรล่าสุดแล้ว
บอกได้ว่า "แรง" ทีเดียว แต่จะ "แรง" ขนาดไหน ต้องติดตามปฏิกริยาจากสนธิต่อไป