วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 19, 2548

วิพากษ์การทำวิทยานิพนธ์

ช่วงนี้ผมอู้งานไม่ได้มาเขียนบล็อกหลายวัน ไม่ได้ตกอยู่ในห้วงยามของความเศร้าแบบที่เคยพร่ำเพ้อไว้ในบล็อกวันก่อนหรอกครับ ก็ยังมีสะเก็ดความเศร้าหลงเหลืออยู่บ้าง แต่เรื่องนั้นคงต้องแล้วแต่ชะตาฟ้าลิขิตล่ะครับ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

เรื่องของเรื่องที่ผมหายไปแบบผลุบโผล่ไม่ต่อเนื่องเหมือนก่อน เพราะต้องเร่งทำเค้าโครงวิทยานิพนธ์ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะปิดเทอม ผมจะได้กลับไปพักที่เมืองไทยอย่างสบายใจ ช่วงนี้เลยต้องปั่นงานและไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาผมบ่อยๆ เมื่อวานก็ตั้งใจว่าจะกลับมาเขียนหลังจากกินอาหารเย็นบ้านอาจารย์เสร็จ ปรากฏว่ากว่าจะถึงคฤหาสน์ของผมก็ปาไปตีหนึ่งแล้ว แถมไม่ได้กลับมาตัวเปล่า ผมยังชักชวนมิตรทางวิญญาณของผมกลับมาด้วย มันชื่อว่า “ความกรึ่ม” ครับ (จริงๆผมยังมีมิตรทางวิญญาณอีกคน ชื่อ “ความเมา” แต่มันไม่ค่อยโผล่มาเท่าไร เพราะผมแข็งแรง ๕๕๕)

ก็อาจารย์ผมเปิดทั้งแชมเปญ ต่อด้วยไวน์ขาว ไวน์แดง แล้วผมเป็นคนขี้เกรงใจน่ะครับ เจ้าบ้านรินมาให้หากเราไม่ดื่มจะเสียน้ำใจกันเปล่าๆ ผมก็ดื่มซะเต็มคราบเลย ๕๕๕

“กรึ่ม” ได้ที่ขนาดนั้น สมองคงแล่นหรอกครับ อย่ากระนั้นเลยผมจึงชวนมิตรทางวิญญาณของผมไปนอนเกลือกกลิ้งที่เตียงนุ่มๆกันดีกว่า

กอดกันกลมเลยครับ ตื่นมาอีกทีก็บ่ายแก่ๆแล้ว

ร่างกายเริ่มกลับมาสดชื่น เลยมาเขียนบล็อกต่อ ไม่อยากทิ้งไว้นาน เดี๋ยวบล็อกจะร้างแล้วก็ต้องปิดตัวเองไปในที่สุด ปล่อยบล็อกร้างนานๆนี่เป็นนิสัยที่ไม่ดีเลยนะครับ เหมือนทำเค้าท้อง พอคลอดมาก็ไม่รับ ดังนั้น ใครรู้ตัวว่าเปิดบล็อกแล้วทิ้งร้างมานาน ขอความกรุณากลับไปอัพเดทบล็อกของท่านด้วยนะ :)

................

วันก่อนผมได้คุยกับสหายทางวิชาการของผม ปรากฏว่ามันไปประสบปัญหาเรื่องสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่เมืองไทยเข้า กรรมการสอบขอแก้เรื่องที่มันทำหลายประเด็น ทั้งๆที่ตอนสอบเค้าโครงก็ผ่านไปด้วยดี แต่พอมาคราวนี้สอบเนื้อหา กรรมการดันย้อนกลับไปรื้อเค้าโครงของมันอีก เลวร้ายกว่านั้น ไอ้เค้าโครงบทต่างๆที่รื้อเป็นส่วนที่บรรดากรรมการทั้งหลายขอให้เขียนเองด้วย

อึ้งครับ ใครเจออย่างนี้คงอึ้งไปตามกัน

ผมไม่แน่ใจว่าการศึกษาระดับปริญญาโทและการทำวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทยของคณะอื่นจะเหมือนกับคณะผมหรือเปล่า ผมเลยขอกล่าวเฉพาะในส่วนของนิติศาสตร์ที่ผมคุ้นเคยแล้วกัน

ปริญญาโทนิติศาสตร์ มธ. เมื่อก่อนเรียนกันมาราธอนมากครับ เรียนครอสเวิร์คหมดนี่ก็เกือบ ๔ ปีได้ ทำวิทยานิพนธ์อีก ๓-๔ ปี หาได้ยากมากครับบนโลกใบนี้ที่เรียนปริญญาโทยาวนานเกือบทศวรรษ

จนกระทั่งปีการศึกษา ๒๕๔๔ รุ่นที่ผมและเพื่อนเข้าไปเรียนปีแรก ก็มีการเปลี่ยนหลักสูตร เรียนครอสเวิร์คแค่ปีครึ่งหรือ ๓ เทอม จากนั้นก็ลงมือทำวิทยานิพนธ์ รวมระยะเวลาทั้งครอสเวิร์คและวิทยานิพนธ์ต้องไม่เกิน ๔ ปี

จากการที่ผมเป็นลูกครึ่งเคยเรียนทั้งโทที่เมืองไทย (แต่ลาออกมาก่อนเพื่อมาเรียนต่อที่นี่) และกำลังทำเอกที่ฝรั่งเศส ผมเลยมานั่งคิดๆ มองระบบวิทยานิพนธ์ที่ฝรั่งเศสแล้วย้อนกลับไปดูที่บ้านเรา มีข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ได้หลายประเด็นครับ ตั้งแต่ตัวเนื้อหา ระบบการสอบ ยันการ “จิ้มก้อง” อาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการ

ประเด็นแรก ระบบการสอบวิทยานิพนธ์

การสอบวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทยต้องสอบสองรอบ คือ สอบเค้าโครงและสอบตัวเล่ม ส่วนที่ฝรั่งเศส ผมสอบรอบเดียว ปีแรกผมก็วิ่งหาอาจารย์ที่ปรึกษา เสนอว่าผมจะทำหัวข้ออะไร ถ้าอาจารย์ตกลงรับ เราก็ไปลงทะเบียนหลักสูตรปริญญาเอกได้ จากนั้นเราก็ทำงานไปปรึกษากับอาจารย์เราไปเรื่อยๆจนครบสามปี ถ้าปิดเล่มได้ก็ขอสอบ อาจารย์ก็จะหารือกับเราว่าจะตั้งใครเป็นกรรมการบ้าง แล้วก็นัดสอบเพื่อปกป้องวิทยานิพนธ์ของเรา

ผมเห็นว่าระบบของบ้านเราน่าจะสอบมากเกินไป วิทยานิพนธ์เป็นงานของเราร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ระหว่างการทำงานตลอด ๒-๓ ปีนี้ เราก็โดนอาจารย์อัดตลอด ถ้าเค้าเห็นว่างานได้มาตรฐานพอควรก็จะอนุญาตให้ปิดเล่มเพื่อเตรียมสอบ ในทางกลับกันถ้าไม่โอเค เราก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ แต่ที่เมืองไทยกลับเป็นว่าโดนอาจารย์ที่ปรึกษานวดแล้วนวดอีก พอไปสอบเค้าโครง กรรมการดันมาแก้ของเราอีก แก้เสร็จ สอบเล่มรอบที่สอง ไม่พอใจ แก้อีก แก้ไปแก้มา จนบางครั้ง “งาน” ของเราแทบไม่เหลือเนื้อหาที่เราตั้งใจจะทำเลย กลายเป็นเขียนตามใบสั่งกรรมการ

แก้ตามใจกรรมการขนาดนี้ ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ของเราแล้วครับ เรียกว่าวิทยานิพนธ์ของศ.ดร. อัตตา อีโก้จัด ประธานกรรมการ, รศ.ดร. มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ กรรมการ, รศ.ดร. กูเก่ง อย่าเถียงกู กรรมการ, ผศ.ดร. ไม่ได้อ่าน แต่ขออัด กรรมการ และรศ.ดร.ได้ครับท่าน ดีครับผม อาจารย์ที่ปรึกษา น่าจะเหมาะสมกว่า

ถามว่าแล้วยอมแก้ตามทำไม เถียงสิ สู้สิ

ถ้าโลกแห่งความฝัน สหายทางวิชาการของผมมันคงทำไปแล้ว แต่บนโลกหม่นๆ (ของมันในขณะนี้) ก็คงได้แต่นั่งจดๆๆๆ ที่เค้าสั่งให้แก้พร้อมๆกับด่าในใจว่า “แมร่ง... (เติมคำในช่องว่างตามอัธยาศัย) ....”

ไม่ต้องเดือดร้อนไปถามเปาบุ้นจิ้นหรอกครับ วิญญูชนอย่างเราๆลองช่างน้ำหนักดู งานที่เราทำมา ๒-๓ ปี แต่กรรมการเอาไปอ่านแค่สัปดาห์เดียว (จริงๆอาจอ่านบนรถระหว่างเดินทางมาสอบ เค้าให้ไปอ่านตั้งหลายสัปดาห์ ดันเอาไปนอนกอดเล่นซะงั้น) มาถึงก็ชี้นิ้วกราดสั่งแก้นั่นแก้นี่ มันเป็นธรรมมั้ย?

ปัญหาเบื้องต้นอยู่ที่หน้าที่ของกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่ามีระเบียบมหาวิทยาลัยข้อไหนที่เขียนหน้าที่ของกรรมการไว้หรือไม่ แต่โดยทั่วไปเราเอ่ยคำว่า “กรรมการ” แล้ว ก็จะนึกถึงคนที่มีหน้าที่ในการตัดสินหรือชี้ขาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เข้าไปล้วงลูกทำหรือแก้ไขในเรื่องนั้นๆเสียเอง ยิ่งไปกว่านั้น ผมดูระบบของฝรั่งเศสและลองสอบถามคนที่เคยผ่านสมรภูมิการสอบวิทยานิพนธ์ในประเทศอื่นๆแล้วก็ยิ่งงงไปกันใหญ่กับระบบที่บ้านเราเป็นอยู่ ผมพบว่ากรรมการสอบมีหน้าที่ในการสอบเท่านั้น กรรมการจะอัดประเด็นจุดอ่อนหรือที่น่าสงสัยในวิทยานิพนธ์ของเรา แล้วเราก็ต้องอธิบายไป เท่านั้นเองหน้าที่กรรมการ

บ้านเราเล่นมีสอบสองครั้ง กรรมการก็เข้ามาแทรกแซงงานของเราตั้งแต่การสอบเค้าโครง ไปตัดนั่นนิด เติมนี่หน่อย พอสอบตัวเล่ม กรรมการยังไม่พอใจ อยากให้แก้อีกเลยลงมติให้ผ่านแบบมีเงื่อนไข (รู้สึกจะมีที่ไหแลนด์ที่เดียวมั้งครับนี่) เราก็ต้องตามไปแก้อีกรอบ ที่สำคัญกรรมการบางคนดันลืมว่าเคยสั่งให้นักศึกษาไปแก้เองแต่ดันมาอัดนักศึกษาอีกว่าเอามาจากไหนนี่มันประเด็นใหม่ เจอยังงี้เข้าก็หัวเราะไม่ออกร้องไห้ไม่เป็นล่ะครับ

ถ้าระบบการสอบวิทยานิพนธ์เมืองไทยยังเป็นเช่นนี้ เห็นจะหนีไม่พ้น “งาน” ที่อยู่ในนามของนักศึกษาแต่มีวิญญาณของประธานกรรมการและกรรมการซ่อนอยู่ แล้วระบบความรับผิดชอบในงานจะอยู่ที่ไหนยังน่าสงสัยอยู่ งานในชื่อของเรา แต่ไม่ได้เป็นความคิดเรา คนอ่านอยากวิจารณ์ก็ต้องวิจารณ์ “งาน” ของผู้เขียนหาใช่ “งาน” ของกรรมการไม่ มิพักต้องกล่าวถึงวิทยานิพนธ์ประเภท “งานฝาก” ที่กรรมการอยากรู้เลยสั่งให้เขียน กรรมการบางคนสนใจแต่ไม่มีปัญญาเขียนเองหรือมีปัญญาแต่ขี้เกียจก็มา “ฝาก” ให้เด็กค้นแล้วเขียนลงในวิทยานิพนธ์ กรรมการบางคนทำราวกับว่าวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเป็นห้องน้ำหรือห้องนอนที่ไว้ใช้สำเร็จความใคร่กามกิจทางวิชาการของตนเอง

ผมคิดว่าคนที่มีสิทธิในการล้วงลูกวิทยานิพนธ์ของเรามีได้คนเดียวเท่านั้น คือ อาจารย์ที่ปรึกษา เพราะเป็นคนที่ทำงานร่วมกับเรามาตลอดสามถึงสี่ปี แต่ถ้าเราไม่เห็นด้วยก็ยังมีสิทธิสงวนเรื่องที่เราอยากเขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ของเราได้ เพราะในท้ายที่สุด วิทยานิพนธ์นั้นก็ปรากฏในนามของเรา

ตลอดการเรียนปริญญาเอกในปีแรกของผม ผมกำหนดประเด็นปัญหาและร่างเค้าโครงละเอียดในวิทยานิพนธ์พร้อมกับหารืออาจารย์ที่ปรึกษาผมโดยตลอด อาจารย์ย้ำกับผมในทุกครั้งว่าเป็นงานของผม ผมมีเสรีภาพในการประดิษฐ์เค้าโครงของผมได้เต็มที่ แกเพียงแต่เสนอแนะในสิ่งที่แกคิดว่าเหมาะให้ผมรู้เท่านั้น จะเอาหรือไม่เอาอยู่ที่ผม แกบอกผมว่าเราออกแบบเค้าโครงได้หลายรูปแบบ ผมมีอิสระในการคิดได้เต็มที่ หลายครั้งแกก็โอเคตามผม และอีกหลายครั้งผมก็เชื่อตามแก ต้องยอมรับว่ามีบางประเด็นที่ผมมองไม่เห็นแต่พอแกพูดขึ้นเท่านั้นแหละ ผมปิ๊งเลย

ไม่เพียงแต่เนื้องานเท่านั้นที่เรากับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมกันทำ หากยังรวมถึงการตั้งกรรมการสอบอีกด้วย อาจารย์อยากเอาใครมาเป็นกรรมการก็ต้องถามเราก่อน ในขณะเดียวกันอาจารย์เองก็จะแนะนำด้วยว่าใครที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่เราทำและเหมาะมาเป็นกรรมการสอบ ย้อนมาดูที่บ้านเราอาจารย์ที่ปรึกษามักจะผูกขาดการทาบทามกรรมการสอบ เหตุผลที่ผมนึกออกมีสามประการ หนึ่ง นักศึกษาเราไม่รู้จักอาจารย์เท่าไรนัก สอง อาจารย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมีน้อยเต็มที จึงไม่จำเป็นต้องหารือว่าจะตั้งใครเป็นกรรมการดี ยังไงๆกรรมการก็จะวนกันอยู่ที่หน้าเดิมๆ และสาม อาจารย์ที่ปรึกษายึดอำนาจจากเราไปเพื่อลดขั้นตอน เพราะเกรงว่าหากมัวแต่หารือจะเสียเวลาอันมีค่าในการทำวิจัยหาเงินของตนไป

เมื่อผู้เชี่ยวชาญเรามีน้อยผสมกับอาจารย์ที่ปรึกษาจัดการทาบทามคนที่เค้าสนิทหรือเคารพเป็นการส่วนตัวก็เกิดปัญหาตามมาอีก อาจารย์ที่ปรึกษาแทนที่จะช่วยปกป้องวิทยานิพนธ์เรายามที่กรรมการอัดตอนสอบ แต่กลับนิ่งเฉย ไม่อนาทรร้อนใจ ปล่อยให้กรรมการอัดอย่างเมามัน ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังไปช่วยกรรมการอัดเราอีกด้วย

ทำไมเป็นเช่นนั้น?

ผมคิดว่ามาจากระบบอาวุโสซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเราครับ จริงอยู่การเคารพอาวุโสเป็นข้อดีที่เรามีเหนือชาติอื่นๆ แต่บางครั้งมันก็เป็นดาบสองคม เราเคารพมากจนเกินเรียกว่าเคารพ ผู้ใหญ่ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เถียงไม่ได้ ถึงอยากเถียงก็ไม่ควรเถียง เพราะเถียงไปอาจสร้างความหมั่นไส้ให้แก่บรรดาผู้ใหญ่ที่ถือว่าตนเป็น authority ในด้านนั้นๆ

ไม่น่าแปลกใจเลยที่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่กล้าปกป้องวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ในเมื่อกรรมการและประธานกรรมการล้วนแล้วแต่เป็น “มาเฟีย” ในสาขานั้นๆ แหม... ขืนอาจารย์ที่ปรึกษาออกรับแทนเด็กก็กลายเป็นการดับอนาคตตัวเองไปสิครับ

เพื่อนผมคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า นักเรียนไทยเข้าสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ฝรั่งเศส กรรมการสอบถามเรื่องที่ลึกมากๆ นักเรียนไทยคนนั้นตอบไม่ได้ งง อึ้ง อาจารย์ที่ปรึกษาออกรับแทนว่า “ผมคิดว่าประเด็นที่ท่านกรรมการถามมานี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ที่ลูกศิษย์ของผมเท่าไรนัก มันลึกเกินไป ผมขอตอบแทนแล้วกัน...” น่าคิดนะครับว่าประโยคนี้ผมจะมีโอกาสได้ยินจากอาจารย์ที่ปรึกษาของบ้านเราหรือเปล่า

ประเด็นที่สอง เนื้อหาของวิทยานิพนธ์

เท่าที่ผมอ่านวิทยานิพนธ์ในสาขากฎหมายมา เค้าโครงวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ “สำเร็จรูป” เริ่มจากบทที่ ๑ บทนำ บทที่ ๒ ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา พัฒนาการ บทที่ ๓ กฎหมายอังกฤษ บทที่ ๔ กฎหมายอเมริกา บทที่ ๕ กฎหมายฝรั่งเศส บทที่ ๖ กฎหมายเยอรมัน และปิดท้ายที่บทที่ ๗ สรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ

กล่าวเช่นนี้ วิทยานิพนธ์สาขานิติศาสตร์ไทยล้วนแล้วแต่เป็นกฎหมายเปรียบเทียบ (จริงๆไม่ใช่เปรียบเทียบด้วย เป็นการเอาเรื่องนั้นๆ ของกฎหมายหลายๆประเทศมาแปะลงไปมากกว่า คำว่า “กฎหมายเปรียบเทียบ” มีระเบียบวิธีที่ลึกกว่านั้น ไว้มีโอกาสผมจะเล่าให้ฟัง)

นอกจากเป็นกฎหมายเปรียบเทียบแล้ว เรายังพบเห็นวิทยานิพนธ์ที่เหมือนเอาเรื่องทางปฏิบัติมาเขียนอยู่ดาษดื่น

ถามว่าวิทยานิพนธ์แบบนี้ผิดมั้ย ? ผมว่าไม่ผิด แต่ไม่ควรเป็นแบบนี้ทั้งหมด วิทยานิพนธ์ประเภทคล้ายกับงานวิจัยตามส่วนราชการต่างๆที่จ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยทำ วิทยานิพนธ์ประเภทคล้ายกับเรื่องในทางปฏิบัติ วิทยานิพนธ์ประเภทที่ไม่สะท้อนถึงงานในทางทฤษฎี ผมว่าไม่ควรจะมีมากจนเกินไป

เพื่อนผมคนหนึ่งมาหารือกับผมบ่อยครั้งว่าเรื่องที่มันทำมีปัญหาอะไรบ้าง มีทางแก้อย่างไร เราจะแก้กฎหมายมาตราไหนดี เราจะเสนอร่างกฎหมายใหม่ๆเพื่อสร้างกลไกใหม่ๆเพื่อแก้ไขปัญหานั้นดีหรือไม่

ผมได้ยินคำถามทำนองนี้บ่อยครั้ง

คนส่วนใหญ่มักติดขัดที่บทสุดท้ายเรื่องข้อเสนอแนะคือไม่รู้ว่าจะเสนออะไรดี ผมเห็นว่าถ้านึกไม่ออกก็ไม่จำเป็นต้องเสนอ ข้อเสนอแนะนี่ถ้าไม่มั่นใจ ไม่รัดกุม ผมว่ายิ่งไม่ควรเสนอ นักศึกษามักคิดกันว่าบทสุดท้ายในชื่อว่า “บทสรุปและข้อเสนอแนะ” บังคับให้เราต้องเสนอ “สิ่งใหม่” ที่ไม่เคยมีในวงการกฎหมายมาก่อนลงไปให้มันดูเท่ ดูดี ผมกลับเห็นว่าอันตราย ข้อเสนอที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ ข้อเสนอที่ไม่ปิดจุดอ่อนให้รัดกุม ข้อเสนอที่อธิบายในทางทฤษฎีไม่ได้เท่าไรนัก ยิ่งจะโดนกรรมการต้อนได้ง่าย (แต่กรรมการบ้านเราอาจไม่สนใจประเด็นนี้ ๕๕๕)

ผมเห็นว่าถ้าอยากหา “สิ่งใหม่” ควร “ใหม่” ทางทฤษฎีมากกว่า เอาทฤษฎีมาฟาดฟันกัน ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่หลักของวิทยานิพนธ์ในระดับมหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิต ถ้าหาไม่ได้ก็น่าจะเป็นการรวบรวมในเรื่องนั้นๆแล้วนำมาสังเคราะห์ นำมาร้อยเรียงในแง่มุมที่ต่างออกไป

แต่ในทางความเป็นจริง ลองมองย้อนกลับไปที่วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิตตามชั้นหนังสือที่ห้องสมุดดูสิครับ ผมว่ามีไม่เกินสิบเล่มที่ว่าถึงงานทางทฤษฎี นอกนั้นก็งานเชิงวิจัย งานภาคปฏิบัติ งานที่เอาตำราของบรรดากรรมการมาแปะๆลงไป

เมื่อวิทยานิพนธ์นิติศาตร์มหาบัณฑิตของบ้านเราเป็นกฎหมายเปรียบเทียบ(แบบแปะของเค้ามา)ห้าถึงหกประเทศผสมกับงานเชิงวิจัยแบบที่ส่วนราชการนิยมจ้างให้ทำ จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นบทสรุปและข้อเสนอแนะว่า...

๑. กฎหมายประเทศ ....บลา บลา บลา..... ว่าอย่างนี้
๒. กฎหมายไทยยังไม่มีเหมือนที่ประเทศ ....บลา บลา บลา....มี
๓. จึงเสนอว่า ประเทศไทยควรเอาอย่างที่ประเทศ .....บลา บลา บลา....... มีมาใช้เสีย

เอวังด้วยประการฉะนี้

ง่ายมั้ยครับ

ประเด็นที่สาม คุณภาพของนักศึกษาและการอุทิศตนของอาจารย์

ผมขอสวมวิญญาณคุณปริเยศภาคไม่ไว้หน้าใครเพื่อที่จะบอกว่า นักศึกษาในระดับมหาบัณฑิตในคณะผมที่มีคุณภาพควรค่าแก่การเรียนระดับมหาบัณฑิตนั้นมีน้อยจนเรียกได้ว่านับหัวได้

ไปโทษนักศึกษาก็ไม่ถูกนัก ในเมื่อบ้านเรามีตลาดแรงงานที่ขึ้นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ใครได้ปริญญาโท ปริญญาเอก เงินเดือนยิ่งเยอะ เช่นนี้ยิ่งทำให้ปรัชญาการศึกษาระดับสูงมั่วไปหมด จากเดิมที่การศึกษาระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตเป็นการศึกษาเชิงลึกในเรื่องเฉพาะเพื่อผลิตคนไปเป็นนักวิชาการในด้านนั้นๆกลายเป็นการศึกษาเพื่อเอาไปขึ้นเงินเดือน เพื่อฆ่าเวลาเพราะจบตรีมาแล้วยังนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรดี เพื่อเรียนตามที่พ่อแม่สั่ง เพื่อเรียนตามเพื่อนๆ ฯลฯ

ไม่น่าแปลกใจที่เราจะไม่ค่อยพบนักศึกษาปริญญาโทที่มีฉันทะทางวิชาการ ที่มุ่งมาดปรารถนาไปเป็นนักวิชาการ ที่มีนิสัยชอบค้นคว้าและขีดเขียน ที่มีนิสัยชอบคิดและถกเถียง กลับกัน เราจะพบแต่นักศึกษาปริญญาโทที่เข้ามาเรียนไปเพื่อเอาวุฒิปริญญาโทเพื่อไปใช้สอบผู้ช่วยผู้พิพากษา “สนามเล็ก” ที่เปิดรับแต่พวกมหาบัณฑิตทำให้คู่แข่งมีน้อยลง

เมื่อตลาดเป็นแบบนี้ คณะต่างๆก็หนีไม่พ้นในการปรับตัวเข้ากับตลาด แย่งกันเปิดสารพัดหลักสูตร สารพัดโครงการ เพื่อดึงดูดใจนักศึกษาที่เป็นเหมือน “ลูกค้า” ในมหาวิทยาลัย “แม็คโดนัลด์”

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นักศึกษาที่มาเรียนแบบมีเป้าหมายแค่เอา “กระดาษแผ่นเดียว” จะไม่ทุ่มเทค้นคว้า ขีดเขียน ในวิทยานิพนธ์ของตนเองเท่าไรนัก ขอเพียงเอาตัวรอดเพื่อได้กระดาษแผ่นนั้น ทุกอย่างก็เสร็จสมอารมณ์หมาย

ไม่เพียงแต่คุณภาพของนักศึกษาเท่านั้น ตัวอาจารย์เองก็เช่นกัน อาจารย์ที่อุทิศตนให้กับวิทยานิพนธ์ของนักศึกษามีน้อยมาก นักศึกษาอู้ ขี้เกียจไม่หมั่นติดต่อาจารย์ ผิดที่ตัวนักศึกษาเอง แต่จะให้นักศึกษาวิ่งรอกหาอาจารย์ทุกวันโดยไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่น แบบนี้เห็นทีจะไม่ไหวเหมือนกัน

ธรรมเนียมของเราไม่นิยมให้นักศึกษาติดต่อกับอาจารย์ บางคนอาจให้เด็กติดต่อทางอีเมล์ แล้วเกิดพี่ท่านไม่เปิด หรือเปิดแล้วไม่ตอบล่ะครับ ผมว่าไม่น่าแปลกนะกับการอนุญาตให้เด็กโทรมาหาเพื่อนัดคุยกันเรื่องงาน ทุกวันนี้ผมก็โทรนัดอาจารย์ที่ปรึกษาผมตลอด แรกๆก็ไม่ค่อยกล้า จนอาจารย์ผมงงว่าทำไม ผมเลยอธิบายไปว่าบ้านผมไม่ค่อยมีเท่าไร

ที่ผมเรียกร้องการอุทิศตนจากอาจารย์ไม่ได้หมายความถึงขนาดที่ว่าอาจารย์ต้องนั่งเฝ้าคณะทุกวัน ขอเพียงเจียดเวลาอันมีค่าจากงานวิจัยทั้งหลายเพื่อมาคุยกับเด็กในเรื่องวิทยานิพนธ์สักนิดก็พอครับ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยแล้วมาเร่งเอาสองสามเดือนสุดท้าย

เอาเข้าจริง บ่นๆไปก็หนีไม่พ้นไปพัวพันกับเรื่องค่าตอบแทนของอาจารย์อีก อาจารย์ต้องกินต้องใช้เหมือนคนทั่วๆไป เงินเดือนสองถึงสามหมื่นเศษๆ คงไม่พอยาไส้กับชีวิตเมืองหลวง ไหนจะลูกจะเมีย ก็ต้องออกไป “ขุดเงิน” เอากับงานวิจัยบ้าง

เป็นแบบนี้ จะไปบ่นอะไรได้ครับ

เช่นนี้แล้ว เราคงไม่อาจคาดหวังงานชั้นดีจากวิทยานิพนธ์ที่ทั้งลูกศิษย์ทั้งอาจารย์มาเร่งเอาสองเดือนสุดท้ายได้กระมังครับ

................

ผมวิพากษ์การทำวิทยานิพนธ์ไทยยาวมาก มานั่งนึกๆดู ผมเองก็ไม่รู้ว่าอนาคตถ้าผมมีโอกาสไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว ผมจะทำอย่างไร ในเมื่อระบบมันเป็นเช่นนี้ คนตัวเล็กๆมีแค่สองมือเปล่าอย่างผมจะไปต้านทานระบบที่เก่าแก่และฝังรากลึกได้เท่าไรกันเชียว ได้แต่หวังว่าผมจะยืนอยู่ในระบบนี้ได้โดยไม่โดนกลืนเข้าไปด้วย ถ้าถึงวันหนึ่งผมถูกกลืนเข้าไป หากใครพบเห็น ขอความกรุณาเตะก้นแรงๆให้ผมรู้ตัวละกัน จักเป็นพระคุณอย่างสูง

เอาเข้าจริง ที่ผมร่ายยาวมาทั้งหมดมันก็เป็นปัญหางูกินหาง พันกันไปมาไม่รู้จบ ตั้งแต่ระบบการสอบ การประนีประนอมสไตล์ “ไทยๆ” ความอาวุโส การตั้งตนเป็น authority ในสาขาต่างๆ คุณภาพนักศึกษา ระบบการศึกษาระดับสูง ภารกิจของมหาวิทยาลัย ภารกิจของการศึกษาระดับสูง ค่าตอบแทนอาจารย์ เวลาที่อาจารย์มีให้กับนักศึกษา ตลาดแรงงาน ฯลฯ ไล่ไปเรื่อยๆสงสัยจะไม่จบครับ เฮ้อ...

น่าจะถึงเวลาที่ต้องคิดดังๆเสียทีว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตรที่มีลานวิ่งเล่นให้ลูกของชนชั้นกลาง (ส่วนใหญ่) หรือเป็นแหล่งบ่มเพาะทางปัญญากันแน่

12 ความคิดเห็น:

Blogger ratioscripta กล่าวว่า...

ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

7:43 ก่อนเที่ยง  
Blogger ratioscripta กล่าวว่า...

ก่อนหน้านี้ที่ลบไปก็ความเห็นผมเองอ่ะครับ

แต่ด้วยความผิดพลาดทางความเขลาของผมเอง เลยทำให้ความเห็นดังกล่าวไปไม่หมด ผมขออนุญาตเอามันออกเอง และโพสใหม่ดังนี้ครับ...

อ่านแล้วปลง

สองสามปีหลังมานี้ ชีวิตผมเหมือนได้ก้าวออกมาอยู่ในโลกของความจริง เหมือนที่ผมเขียนไว้ในบล็อกของผม

ผมรักชีวิตสมัยเรียนของผมจริงๆ ไม่ว่าจะระดับใด โดยเฉพาะระดับปริญญาโท

เฉพาะช่วงคอร์สเวิร์คก่อนทำวิทยานิพนธ์ของผม

ช่วงนั้นผมสนุกกับการคิดประเด็นและปัญหาใหม่ๆ รวมทั้ง การทดสอบ ตรวจสอบ ปัญหาเก่าๆ วิธีคิดเก่าๆ ที่ได้เรียนสอนกันมาในระดับปริญญาตรี

สนุกดีจัง อิสระทางความคิด และการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์

เห็นด้วยกับเจ้าของบล็อก คุณภาพนักศึกษาเป็นปัญหาหนึ่ง เพราะสังเกตได้ว่า ในห้องเรียนโทที่ผมเคยเรียน น้อยรายเหลือเกินที่จะได้มีการถกเถียงกับอาจารย์

มิพักต้องกล่าวถึง (วลียอดฮิตของเจ้าของบล็อกมัน) ถกเถียงกันเองของนักศึกษา ซึ่งในความคิดผม ผมว่ามันสำคัญพอๆกับ หรือมากกว่า การถกเถียงกับอาจารย์

ผมเริ่มต้นวิทยานิพนธ์ของผมด้วยความไม่รู้ เนื่องจากระบบการเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ในบ้านเราก็น่าจะเป็นปัญหา นักศึกษาไม่แกร่งพอ และไม่ชัดพอที่จะสรรหาหัวข้อที่ตัวสนใจจริงๆ

แต่แม้จะได้หัวข้อที่ตัวสนใจจริงๆ ก็ไม่มั่นใจว่า อาจารย์คนไหนจะเอาด้วย

ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ หาอาจารย์ที่ปรึกษาให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปขอหัวข้อกับท่าน ซึ่งแน่นอน เราจะได้หัวข้อที่สามารถทำวิทยานิพนธ์ได้แน่ๆ และย่อมเป็นหัวข้อที่ท่านสนใจและอยากทำเองแต่อาจจะไม่มีเวลา

แต่สำหรับเรา ...

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้อาจารย์ที่ปรึกษาก่อนหัวข้อ ก่อนหน้านั้นเคยคิดหัวข้อหนึ่งไว้แล้ว แต่ก็ต้องพับไป ด้วยเหตุผลที่ไม่ค่อยมีปัญหาในทางปฏิบัติเท่าไหร่ มีแต่ปัญหาในทางทฤษฎี

แล้วหัวข้อปัจจุบันของผมก็ห่างไกลเหลือเกินกับความรู้ของผมที่มีอยู่ ผมใช้เวลากว่าครึ่งปีในการทำความเข้าใจแฟ้มข้อมูลที่อาจารย์โอนมาให้ ก่อนที่จะสอบผ่านเค้าโครงไปได้

ผมใช้เวลาอีกเกือบสองปีในการสอบเล่มเต็ม

ผมใช้เวลานานเกินไป เหตุหนึ่งนอกจากความขี้เกียจและความไม่รับผิดชอบส่วนตัวแล้ว คือ การที่ผมต้องตัดสินใจ ก้าวเท้าออกมาจากการเป็นผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์ที่เป็นอยู่เกือบสองปี ออกมาหาต้นสังกัดทำงานประจำของตัวเอง

การเรียนปริญญาโทในบ้านเรา อย่างน้อยก็ในคณะที่ผมรัก มีแต่หลักสูตรพาร์ทไทม์ นั่นเพื่อรองรับคนทำงานตอนกลางวันแล้วมาเรียนกลางคืน ไม่มีหลักสูตรฟูลไทม์ การลงทะเบียนเรียน ทำได้เทอมละ สามวิชา

ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเขียนวิทยานิพนธ์ของผมมาก

กว่าผมจะจบคอร์สเวิร์ค ใช้เวลา 2 ปี (ของผมหลักสูตรใหม่ เมื่อก่อนก็เป็นอย่างที่เพื่อนผมมันว่าไว้ คือ 4 ปี) และจากนั้นก็ต้องปั่นงานวิทยานิพนธ์ส่ง ซึ่งอย่างเร็ว ก็สามารถที่จะจบได้ใน 2 ปีครึ่ง แต่เท่าที่ผมสอดสายตามองดู หาคนจบสองปีครึ่งมิได้ พวกที่เรียนพร้อมกับผม หากตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์ต่อไป ไม่มีใครที่จบก่อนผมเลย (จะภูมิใจดีมั๊ย)

คนที่จบไปแล้วในเวลาสองปีครึ่งคือ คนที่ตัดสินใจ ไม่ทำวิทยานิพนธ์ โดยหันไปเลือกสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าวิจัยด้วยตนเองอิสระ โดยต้องอยู่ในเงื่อนไข ลงวิชาคอร์สเวิร์คมากกว่าพวกผม 6 หน่วยกิต หรือ สองวิชา และมีการสอบปากเปล่าประมวลวิชา ที่ได้ร่ำเรียนมาแล้ว ในวิชาบังคับของสาขา

ผมได้แต่นั่งมองตาละห้อย

ผมเป็นคนทำอะไรได้ทีละอย่าง ไม่ถนัดอย่างยิ่งกับการทำงานไปและเรียนไป ตลอดเวลาของการทำงานประจำปีครึ่ง ควบคู่ไปกับการเรียนโท ผมทำได้ไม่ดีเลยทั้งสองอย่าง ผิดกับช่วงเวลาที่งดงามในความทรงจำตอนช่วงที่ผมเรียนคอร์สเวิร์คอย่างเดียวโดยไม่ต้องทำงาน (แม้ว่าปีแรกของการเรียนโท ผมจะต้องเรียนและสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิตไปด้วยก็ตาม .. แต่มันก็ยังเป็นการเรียนวะ)

ถึงตอนนี้ผมทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากตามแก้งานที่กรรมการแต่ละท่านสั่งให้แก้ไข เพื่อการันตีว่าผมจะได้เข้าพิธีรับปริญญาบัตร ชั้นนิติศาสตรมหาบัณฑิตของผม จริงๆไม่ใช่แค่ของผมคนเดียว แต่เป็นของพ่อ แม่ของผมด้วย

ผมตั้งใจจะนำปริญญาใบนี้เป็นของขวัญวันเกิดให้พ่อของผมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าผมจะมีแรงกายและแรงใจคว้ามันมาเป็นของขวัญให้พ่อของผมได้หรือไม่ หากได้มาคงเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจและดีใจมาก เช่นเดียวกับครอบครัวและญาติมิตรผู้ให้กำลังใจกับผมมาตลอด แม้ว่าของขวัญชิ้นนี้จะบูดเบี้ยวไปสักเพียงใดก็ตาม

7:50 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถึงคุณราโชสคิปตะ

ผมกำลังเสื่อมศรัทธากับวงการหนังสือพิมพ์บ้านเรา
เป็นความขมขื่นที่พูดไม่ออก

เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ที่ผมคุ้นเคย... ฉบับนั้นแหละ

ประเด็นเรื่องคุณหญิงน่ะแหละ
คือ จะด่า จะว่ากันทางวิชาการ ผมไม่ว่าดอกครับ
หรือเล่นกันเชิงการเมืองก็ได้
แต่ไปลากเอาเรื่อง "นั้น" เข้ามาเนี่ย มันทุเรศครับ
ผมว่า บทความที่ฮิตติดชาร์ตผู้จัดการอยู่ตอนนี้
คืองานชิ้นโบว์ดำที่สุดในประวัติการณ์ของหนังสือพิมพ์นี้
เทียบได้กับ ที่ดาวสยามเคยลงรูปตัดต่อ แล้วเป็นชนวนเหตุการณ์สิบหก เอ๊ย หกตุลานั่นแหละครับ

เป็นการเอาสถาบันมาโจมตี และปลุกระดมกันอย่างหน้าด้านๆ

ผมไม่ได้หดหู่เลย เรื่องการด่าวุฒิ ด่าศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ผมรู้สึกหดหู่ ว่า เออ ทำไมเราถึงใช้ "สิ่งนั้น" กันพร่ำเพรื่อ

ทำไมเราเอาไว้ใช้เป็นสิ่งโจมตีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
ทำไมเราถึงพยายามโยงว่า "ท่านผู้นั้น" ชอบใคร เกลียดใคร และอีกฝ่ายต้องเป็นทรราชภัยจัญไรแผ่นดิน

เราเจ็บปวดกันไม่พออีกเหรอ
คดีลอบปลงพระชมม์สมัยคุณปรีดี
คดีหกตุลา
คดีพยายามลอบปลงพระชมม์ ที่เป็นเหตุให้ รสช. อ้างเพื่อยึดอำนาจ
คดีสติ้กเกอร์
คดีหมิ่นในอีกหลายๆกรณี คนติดคุกฟรีเพียงเพราะพูดว่าอยากเกิดเป็นเจ้านาย

ฯลฯ

นี่จะเอาอีกเรื่องหรือไง ?

เออ ถ้าหนังสือพิมพ์ขวาจัด อย่างแนวหน้าเขียน ผมยังไม่อะไรเท่าไร

นี่หนังสือพิมพ์ที่ผมคุ้นเคยว่ะ
คุณสิริอัญญา ก็เป็นนักกฎหมายชื่อดังในวงการทนายความ

ใจรู้สึกหนักๆว่ะ (ไม่เหมือนหนักใจนะ)

แต่ไม่ต้องห่วงครับ คุณราโช เรื่องนั้นอ้ะผมเขียนแน่ๆ แต่อาจจะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่ตอนนี้ขอหนักใจก่อน

เออว่ะ คุณก็มีบล๊อกนิ
แล้วผมจะมาส่งข้อความไว้ในบล๊อกเจ้านิติรัฐทำไมเนี่ย... เวงจิงๆ

8:33 ก่อนเที่ยง  
Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

๕๕๕ พี่บุญชิตมาเขียนไว้ในบล็อกผมก็ดีครับ ผมจะได้เสือกรู้ไปด้วย

อ่านที่พี่บุญชิตเขียนแล้ว ผมเลยเกิดอาการ "ปิ๊ง" มาทันที

ปิ๊งเรื่องที่จะเขียนนะครับ หาใช่ปิ๊งพี่บุญชิตแต่ประการใด

พรุ่งนี้ (ถ้าคืนนี้ไม่ได้เจอไวน์) หรือาจมะรืน (ถ้าคืนนี้เจอไวน์) คงได้ชมกัน

ผมจะเอาปากไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนอีกแล้ว อันนี้เสี้ยนใหญ่เสียด้วย ๕๕๕

8:45 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สำหรับเรื่องวิทยานิพนธ์
ผมอ่านไม่จบว่ะ แค่ท่อนนี้

"...แก้ตามใจกรรมการขนาดนี้ ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ของเราแล้วครับ เรียกว่าวิทยานิพนธ์ของศ.ดร. อัตตา อีโก้จัด ประธานกรรมการ, รศ.ดร. มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ กรรมการ, รศ.ดร. กูเก่ง อย่าเถียงกู กรรมการ, ผศ.ดร. ไม่ได้อ่าน แต่ขออัด กรรมการ และรศ.ดร.ได้ครับท่าน ดีครับผม อาจารย์ที่ปรึกษา น่าจะเหมาะสมกว่า..."

ผมก็หัวเราะขี้แตกไปแล้ว อ่านต่อไม่ไหว ใครผ่านระบบมหาบัณฑิตนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์บ้านเราไป คงนึกภาพออกกันทุกคน และคงขำเท่าๆกับผม (สาขาอื่นๆเข้าใจว่าไม่มีขนาดนี้)

แต่คุณลืมกรรมการพวกนี้ไปนะ ...
"นาย ปราศเวลา ต้องมาเป็นกรรมการ" อธิบดีกลมกำจัดยุงลาย ... พวกนี้แหละชอบอ่านวิทยานิพนธ์ในรถก่อนสอบ

"ฯพณฯ เก่ง ในตำรา" ผู้พิพากษาหรือตุลาการประจำสานกระบุง ... ท่านเหล่านี้ปกติใจดี แต่วิทยานิพนธ์อย่ามาแตะ หรือวิจารณ์คำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยขิงฉันเป็นใช้ได้"

ผมภวณาขอให้คุณราโช อย่าเจอกรรมการสองท่านนี้เลย ปัญหาคือ ตอนจะล่าลายเซ็นน่ะ คุณจะท้อใจจนแทบอยากไปกระโดดสะพานลอยให้รถไฟใต้ดินทับว่ะ
เพราะท่านจะไม่ว่า หาตัวได้ยากมาก

ผมเองโชคดี กรรมการของผมทุกท่าน เห็นชื่อแล้วโดยมากหนาว เพราะส่วนใหญ่เป็นประธานเล่มอื่นกัน แต่เล่มผมได้รวมฮิต... แต่ส่วนใหญ่ท่านจะใจดีและนัดได้ไม่ยากนัก รวมทั้งทุกท่านก็มีความเป็นนักวิชาการสูงครับ แต่ที่ประทับใจจริงๆ คือ ท่านเลขาธิการ ป.ป.ช. คนเก่า เพราะ ท่านสนใจงานของผมตั้งแต่สมัยเป็นบทความ... จนมาเป็นวิทยานิพนธ์ หากฎหมายมาให้ ชวนคุยแนะนำตรงโน้นตรงนี้ให้ตั้งยืดยาวทั้งๆที่ท่านมีภาระมาก ผมปลื้มใจมาจนทุกวันนี้ครับ

ไว้อ่านตกผลึก (เลิกขำ) แล้วจะมาเม้นต์ต่อ

8:51 ก่อนเที่ยง  
Blogger pin poramet กล่าวว่า...

ตอนนี้ชอบมาก

12:19 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทักทายจ้า
เข้ามาจากเว๊ปพี่อัฐแหล่ะ เลยรู้ว่านายป๊อกมีเว๊ปเป็นของตัวเองด้วย
อ่านแล้วสนุกดี ได้ความรูอีกต่างหาก
Bonne continuation นะจ๊ะ
..........พลอย...........

8:35 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

"ใครรู้ตัวว่าเปิดบล็อกแล้วทิ้งร้างมานาน ขอความกรุณากลับไปอัพเดทบล็อกของท่านด้วยนะ :)"

เหมือนว่าต้องเข้าไปอัพของเราบ้างแล้ว ช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไปอัพ เพราะไม่มีอารมณ์อย่างมากค่ะ

...
เข้ามาอ่านเรื่องทำวิทยานิพนธ์ ประดับสมอง(ที่ส่วนใหญ่เป็นขี้เลื่อย)ได้ดีมากเลยค่ะ

ตอนนี้กำลังคิดจะเรียนต่อปริญญาโทค่ะ ... รอเรื่องงานให้เข้าที่ก่อน แต่ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา อิอิ

ขอบคุณค่ะ ^^
KoPoK

10:21 หลังเที่ยง  
Blogger ลักษ์ กล่าวว่า...

เรียนโทปีสองต้องเลือกทำวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์
จนป่านนี้ยังเลือกไม่ถูก ปวดหมอง
มีคำแนะนำดีดีมั้ย

4:39 หลังเที่ยง  
Blogger kritz กล่าวว่า...

สวัสดีครับ ติดตามงานงานของพี่มานานแล้ว
ไม่ทันได้เรียนด้วย เพราะพี่ไปฝรั่งเศสเสียก่อน

ไอ้เรื่องความรักที่เข้าด้ายเข้าเข็มนี่ ไม่รู้ใช่กับเพื่อนผมรึป่าวนะครับ...
ก็รุ่นน้องที่กลุ่มพี่ไง น้อง น.(นามสมมติ)..เรื่องมันนานมาแล้วช่างเหอะ

+++++++++++++++

อ่านแล้วเศร้านะครับสำหรับวิชาการไทย
การศึกษาปริญญาโทมันเป็นของคนมีเงินไปแล้ว
ผมเองก็อยากเรียนมากๆ แต่ไม่มีเงินพอ เทอมนึงต้อง 2 หมื่นปลายๆ ถึงสามหมื่นแน่ะ ตอนนี้อดอยากเก็บเงินอยู่ อยากเรียนกฎหมายมหาชน เพราะใจรัก

อยากเป็นนักวิชาการ อาจารย์ และนักวิจัย มันมีความสุขประหลาดๆนะ

+++++++++++++++++++

ปัญหานึงในบ้านเราคือ เราขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมหาชนนะ
คิดดูตอนเรียนยังแอบโดด แอบหลับ และสอบผ่านๆไปอย่างแกนๆ

ตอนบ้านเมืองมีปัญหาทางกฎหมายมหาชน หลายคนดันทะลึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉยเลย ทั้งๆที่ตอนเรียนมันก็ไม่เข้าใจอะไรจริงๆสักที

อย่างว่าล่ะ เสียงตนเรียนสูงมันดังกว่าเสียงคนเรียนจบแค่ตรีนี่นา

นี่ล่ะประเทศไทย

ป.ล. ชอบบทความนี้มาก

7:03 ก่อนเที่ยง  
Anonymous เด็ก ป.โท กล่าวว่า...

บทความนี้โดนใจมากเลยครับ ขออนุญาตคัดลอกเก็บไว้ครับ - -'

11:50 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ในส่วนของการทำวิทยานิพนธ์ในบ้านเราที่อ่านมาในบทความข้างต้นนี้ ก็สามารถบอกไดว่า การศึกษาบ้านเราเรื่องมาก แต่คนที่ลำบากคงเป็นตัวนักศึกษาเอง ถ้าหากระบบเป็นแบบต่างประเทศก็ดีนะค่ะ และฉันก็หวังว่าจะได้เจออาจารย์ที่ปรึกษาที่ให้ความสำคัญกับเราจริงๆ

3:45 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก