วันเสาร์, พฤษภาคม 21, 2548

Un enfant ? Si je veux … quand je veux

ผมมีอาการเจ็บป่วยทางใจส่งผลให้ร่างกายทรุดไปด้วย สาเหตุเดิมๆครับ ตั้งใจว่าจะอยู่ในวังวนนี้ไม่เกินวันอาทิตย์ ภายในวันจันทร์ผมหวังจะกลับมาเป็นผู้เป็นคนให้ได้ อาจต้องเสาะแสวงหาคลินิกลบความทรงจำอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Eternal sunshines แต่ผมอยากให้หมอมีออพชั่นพิเศษแบบลบเป็นเรื่องๆได้ ไม่อยากให้ลบทิ้งหมดอ่ะ

พอเสียใจ ใจก็เสีย กายก็เสีย สมองก็ฝืดตามไปด้วย แต่ไม่อยากทิ้งบล็อกนานครับ เลยขอเอาของเก่ากลับมาหากินใหม่ เรื่องที่ผมลงในบล็อกวันนี้ผมเขียนเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ลงเว็บไซต์กฎหมายแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการทำแท้งในยุโรป

ประโยค « Un enfant ? Si je veux … quand je veux » ที่ผมใช้เป็นชื่อเรื่องวันนี้ เป็นสโลแกนหลักในการชุมนุมเรียกร้องให้มีกฎหมายอนุญาตทำแท้งในฝรั่งเศส แปลได้ประมาณว่า “ถ้าฉันอยากมีลูก ฉันก็จะมี แต่ถ้าฉันไม่อยาก ฉันก็จะไม่มี” สตรีชาวฝรั่งเศสที่มาชุมนุมจะเปล่งเสียงตะโกนนี้ไปทั่ว เธอมองว่าตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์เป็นของเธอ เธอมีสิทธิเลือกว่าจะให้ออกเป็นทารกหรือจะทำลายทิ้งเสีย

..................

๒๙ พฤศจิกายน ๒๐๐๔ สภาผู้แทนราษฏรให้ความเห็นชอบร่างรัฐบัญญัติอนุญาตให้มีการทำแท้งเสรีที่นางซีโมน เวย (Simone Veil) รมต.สาธารณสุข (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ) เป็นผู้เสนอ การอภิปรายก่อนลงมติใช้เวลายาวนานสามวันสามคืน ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๒๘๔ ต่อ ๑๘๙ เป็นที่น่าสังเกตว่าเสียงที่ลงมติเห็นชอบกลับมาจากพรรคสังคมนิยมและพรรคฝ่ายซ้ายอื่นๆที่เป็นฝ่ายค้าน ในขณะที่ส.ส.จำนวนมากของพรรคฝ่ายขวาที่เป็นรัฐบาลกลับลงมติไม่เห็นชอบ (เสียงข้างมากในสภาของพรรคฝ่ายขวามี ๒๙๒ เสียงแต่กลับลงมติเห็นชอบเพียง ๙๙ เสียง) เรียกได้ว่า กฎหมายนี้ผ่านได้เพราะฝ่ายค้านช่วยไว้โดยแท้ (กรณีฝ่ายค้านช่วยลงมติรับร่างกฎหมายเช่นนี้คงเกิดขึ้นได้ยากหรืออาจไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย)

เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคฝ่ายขวามีทัศนคติที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมต่อการทำแท้งแต่เหตุใดรัฐบาลฝ่ายขวาภายใต้นายกรัฐมนตรีฌาคส์ ชีรัคและประธานาธิบดีวาเลรี่ จิสการ์ด เดสแต็งซึ่งก็มาจากฝ่ายขวากลับผลักดันกฎหมายนี้ เหตุต่อเนื่องมาจากนายจิสการ์ด เดสแต็งได้หยิบหยกประเด็นสิทธิสตรีไปใช้ในการหาเสียงและสัญญาว่าจะผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลก็แต่งตั้งรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงรวมถึง ๔ คน ประธานาธิบดีจิสการ์ด เดสแต็งได้สนับสนุนนางเวยอย่างเต็มที่ในการผลักดันกฎหมายการทำแท้งเสรีถึงแม้เสียงคัดค้านในพรรคจะมีมากก็ตาม ประกอบกับบรรยากาศในช่วงนั้นที่ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของสังคมนิยม สตรีนิยม สวัสดิการนิยม และการเรียกร้องความเสมอภาค ซึ่งเริ่มแพร่กระจายตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม ๑๙๖๘ ที่นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานร่วมกันประท้วงประธานาธิบดีเดอ โกลล์

รัฐบัญญัติ “เวย” (loi « Veil ») ซึ่งเรียกตามชื่อนางซีโมน เวยนี้ไม่ได้เป็นเพียงการปลดปล่อยให้มีการทำแท้งได้ตามความสมัครใจเท่านั้นแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของสตรีนิยมอีกด้วย การทำแท้งเสรีถือเป็นการปลดแอกของสตรีอีกครั้งหลังจากการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้งสำเร็จเมื่อ ๒๑ ตุลาคม ๑๙๔๕ จะว่าไปแล้วฝรั่งเศสซึ่งเรามองกันว่าเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แต่ในความเป็นจริงสิทธิสตรีในบางประเด็นยังล้าหลังอยู่สังเกตได้จากสตรีพึ่งมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อปี ๑๙๔๕ ซึ่งช้ากว่าไทยที่ให้สิทธิแก่สตรีตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ปัจจุบันนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเงินเดือนของหญิงและชาย

การทำแท้งหรือที่เรียกกันในฝรั่งเศสว่า “ L’interruption volontaire de grossesse, IVG ” นั้น กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าการทำแท้งจะมีขึ้นได้ตามคำร้องขอของหญิงมีครรภ์ซึ่งเห็นว่าตนอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ (une situation de détresse) หญิงมีครรภ์เป็นเพียงผู้เดียวที่จะตัดสินใจว่าอย่างไรที่เรียกว่า สถานการณ์ที่ยากลำบากอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

๑. การทำแท้งต้องกระทำโดยแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข

๒. การทำแท้งมีขึ้นได้ภายในระยะเวลา ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ เดิมรัฐบัญญัติ “เวย” กำหนดไว้ที่ ๑๐ สัปดาห์ต่อมาในปี ๒๐๐๑ รัฐบัญญัติ “โอบรี้” (loi « Aubry ») ได้ขยายระยะเวลาของอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ออกไปเป็น ๑๒ สัปดาห์

๓. ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นผู้เยาว์ เดิมจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ปัจจุบันรัฐบัญญัติ “โอบรี้” (loi « Aubry ») แก้ไขให้ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองแต่ต้องพาบุคคลบรรลุนิติภาวะตามแต่ที่ตนเลือกมาด้วย

๔. ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นคนต่างประเทศ ต้องอาศัยในฝรั่งเศสมาไม่น้อยกว่า ๓ เดือน เว้นแต่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง

๕. หญิงที่ร้องขอทำแท้งต้องผ่านการปรึกษาหารือจากแพทย์และนักสังคมสงเคราะห์ โดยเริ่มจากการปรึกษาแพทย์ครั้งแรกเพื่อรับทราบข้อมูลและวิธีการทำแท้งในรูปแบบต่างๆ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ ในสัปดาห์เดียวกันนั้น หญิงต้องผ่านการสัมภาษณ์โดยนักสังคมสงเคราะห์ ผลจากการสัมภาษณ์ไม่ได้บังคับให้หญิงต้องเปลี่ยนใจไม่ทำแท้งแต่หญิงยังคงมีสิทธิในการยืนยันตามคำร้องเดิม เมื่อผ่านการสัมภาษณ์แล้วหญิงจะได้ใบรับรอง ปิดท้ายด้วยการปรึกษาแพทย์ครั้งที่สองเพื่อให้หญิงยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร กฎหมายกำหนดให้การปรึกษาแพทย์ครั้งที่สองนี้ต้องมีขึ้นอย่างช้า ๑ สัปดาห์หลังการปรึกษาแพทย์ครั้งแรกและ ๒ วันหลังการสัมภาษณ์โดยนักสังคมสงเคราะห์ จากนั้นก็ขึ้นทะเบียนรอรับการทำแท้งต่อไป

วิธีการทำแท้งนอกจากจะวางยาสลบและใช้เครื่องมือทำตามที่เรารู้กันดีแล้วยังมีการทำแท้งโดยการกินยาให้แท้งลูก เช่น RU 486 อีกด้วยซึ่งกฎหมายพึ่งอนุญาตในปี ๑๙๘๘ แต่บังคับให้ใช้กันในโรงพยาบาลเท่านั้น จนกระทั่งเดือน กรกฎาคม ๒๐๐๔ นายฟิลิปป์ ดูสท์ บลาซี่ รมต.สาธารณสุขได้ออกรัฐกฤษฎีกากำหนดให้การทำแท้งด้วยการใช้ยาสามารถทำได้นอกโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการกินยาให้แท้งลูกนี้กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ภายใน ๕ สัปดาห์ของอายุครรภ์เท่านั้น สำหรับค่าใช้จ่ายจากการทำแท้งทั้งสองวิธีสามารถนำไปเบิกจากกองทุนประกันสังคมได้

จากการสำรวจสถานการณ์ด้านการทำแท้งในปัจจุบันของฝรั่งเศสพบว่า อัตราการทำแท้งในช่วงปี ๑๙๙๐ ถึง ๑๙๙๕ ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ รายต่อปี นับแต่ปี ๑๙๙๖ อัตราก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น ในปี ๒๐๐๒ จำนวนทำแท้งรวม ๒๐๕,๖๒๗ เทียบกับจำนวนการเกิด ๘๐๐,๐๐๐ คน จำนวนการทำแท้งในสตรีที่มีอายุระหว่าง ๑๕ ปีถึง ๔๙ ปีอยู่ที่ ๑๔.๓ ต่อ ๑,๐๐๐ อัตราการทำแท้งของผู้เยาว์อยู่ที่ ๑๐,๗๐๐ ราย สองในสามของการทำแท้งทั้งหมดเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลของรัฐ ร้อยละ ๓๕ ใช้วิธีการทำแท้งโดยการใช้ยา สตรีฝรั่งเศสเดินทางไปทำแท้งยังต่างประเทศปีละประมาณ ๕,๐๐๐ คน แคว้นที่อัตราการทำแท้งสูงได้แก่ Ile-de-France, Languedoc-Roussillon, Provence-Alpes-Côte d'Azur และเกาะ Corse ส่วนแคว้นที่มีอัตราต่ำได้แก่ Pays de la Loire และ Basse-Normandie

ลองมาดูกฎหมายของประเทศอื่นกันบ้าง ผมสำรวจกฎหมายเรื่องทำแท้งของประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปแล้วพบว่า ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้มีการทำแท้งเสรีได้ภายในระยะเวลา ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วการทำแท้งไม่อาจเกิดขึ้นได้เว้นแต่กรณีจำเป็นต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตของมารดาและบุตร

ฮอลแลนด์ สหราชอาณาจักร และสวีเดน เป็นประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ในระยะเวลายาวนานที่สุดในสหภาพยุโรป กล่าวคือ ๒๔ สัปดาห์ของอายุครรภ์สำหรับการทำแท้งในสองครั้งแรก และลดลงเหลือ ๑๘ สัปดาห์สำหรับการทำแท้งในครั้งที่สาม ระยะเวลาที่ยาวนานดังกล่าวทำให้คนต่างชาติจำนวนมากเดินทางมายังฮอลแลนด์และสหราชอาณาจักรเพื่อทำแท้ง ส่วนสวีเดนนั้นมีกฎหมายห้ามคนต่างชาติเข้ามาทำแท้งในประเทศตน

กล่าวสำหรับฮอลแลนด์ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ฮอลแลนด์จะอนุญาตให้ทำแท้งได้ในระยะเวลาที่นานกว่าประเทศอื่นๆ แต่อัตราการทำแท้งกลับต่ำที่สุดในโลกเพียง ๖.๕ ต่อจำนวนสตรี ๑๐๐๐ คน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลฮอลแลนด์มุ่งให้การศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดเป็นสำคัญ ในทางปฏิบัติอายุครรภ์นานที่สุดที่มาทำแท้งอยู่ที่ ๒๒ สัปดาห์ กรณีอายุครรภ์ถึง ๒๔ สัปดาห์หาได้ยาก ร้อยละ ๙๕.๕ ของการทำแท้งทั้งหมดในฮอลแลนด์มีระยะเวลาของอายุครรภ์ที่ ๑๓ สัปดาห์ คนต่างชาตินิยมเดินทางมาทำแท้งที่ฮอลแลนด์ ในปี ๒๐๐๓ มีจำนวนถึง ๔,๓๔๗ รายจากจำนวนการทำแท้งทั้งหมด ๓๓,๑๕๙ ครั้งหรือคิดเป็นร้อยละ ๑๓ จำนวนการทำแท้งนอกจากเกิดจากคนต่างชาติที่อาศัยประโยชน์จากกฎหมายของฮอลแลนด์แล้วยังมาจากคนชาติอื่นที่อพยพเข้ามาจนเป็นพลเมืองฮอลแลนด์อีกด้วย จึงเกิดข้อถกเถียงกันว่าเป็นการสมควรหรือไม่ที่จะออกกฎหมายห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้ามาทำแท้งและควรลดระยะเวลาของอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งลงไปหรือไม่ น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยที่ฮอลแลนด์พึ่งมีกฎหมายรับรองการทำแท้งเมื่อปี ๑๙๘๔ หรือ ๑๐ ปีให้หลังฝรั่งเศสแต่สิทธิการทำแท้งในฮอลแลนด์ก็ก้าวไกลไปกว่าฝรั่งเศสมาก

โรมาเนียรับรองให้การทำแท้งชอบด้วยกฎหมายเมื่อปี ๑๙๘๙ ภายหลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ และเป็นเพียงประเทศเดียวในยุโรปที่อัตราการทำแท้งสูงกว่าอัตราการเกิด (ปี ๒๐๐๓ มีการทำแท้งรวม ๒๓๐,๐๐๐ รายในขณะที่มีการเกิด ๒๑๒,๔๕๙ คน) ในปี ๑๙๘๕

สเปนได้ออกกฎหมายยกเว้นโทษจากการทำแท้งใน ๒ กรณี กรณีแรกเป็นกรณีที่จำเป็นต้องทำแท้งเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายอย่างร้ายแรงต่อกายและใจของมารดาหรือการตั้งครรภ์อันเนื่องมาจากถูกข่มขืน กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ภายใน ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ กรณีที่สองเป็นกรณีที่เสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารกในครรภ์ กฎหมายได้ขยายระยะเวลาออกไปเป็น ๒๒ สัปดาห์ของอายุครรภ์

โปรตุเกสก็เช่นกัน กฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ในกรณีเป็นอันตรายต่อกายหรือใจของมารดา (๑๒ สัปดาห์ของอายุครรภ์) การตั้งครรภ์เนื่องมาจากถูกข่มขืน (๑๖ สัปดาห์) และเสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารก (๒๔ สัปดาห์) สตรีที่ทำแท้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าอัตราการทำแท้งเถื่อนในโปรตุเกสมีสูงมากประมาณ ๒๐,๐๐๐ ถึง ๔๐,๐๐๐ รายต่อปี นอกจากนี้ในแต่ละปีสตรีโปรตุเกสประมาณ ๑,๐๐๐ คนเดินทางไปยังสเปนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำแท้ง ด้านคลินิกที่รับทำแท้งในสเปนก็นิยมลงโฆษณาตามสื่อต่างๆในโปรตุเกสเป็นประจำ

เอสโตเนียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ กฎหมายเอสโตเนียอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ภายใน ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ แต่ในสายตาของชาวเอสโตเนียแล้วมองว่าการทำแท้งเป็นการคุมกำเนิดธรรมดาชนิดหนึ่ง อีกนัยหนึ่งชาวเอสโตเนียมักไม่ป้องกันการตั้งครรภ์ก่อน เมื่อมีการตั้งครรภ์ก็ใช้วิธีทำแท้งเอา ด้วยเหตุนี้อัตราการทำแท้งจึงมีสูงมาก ในปี ๒๐๐๒ คิดแบบเฉลี่ยแล้วพบว่ามีการทำแท้ง ๘๓ รายต่อการเกิด ๑๐๐ คน สตรีในช่วงอายุ ๑๕-๔๙ ปีมีอัตราการทำแท้งสูงถึง ๓๒ ต่อ ๑,๐๐๐ (ในขณะที่อัตราเฉลี่ยรวมทุกประเทศในสหภาพยุโรปอยู่ที่ ๑๐.๔ ต่อ ๑,๐๐๐) ร้อยละ ๗๐ ของสตรีที่มาทำแท้งต่างเคยผ่านการทำแท้งมาก่อนแล้ว

สาเหตุหนึ่งที่ชาวเอสโตเนียมักใช้วิธีการทำแท้งเป็นหลักคือ ในสมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตนั้น ยาคุมกำเนิดขาดแคลนและถุงยางอนามัยไม่เพียงพอและขาดคุณภาพ ประกอบกับประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ อัตราการทำแท้งที่สูงจนน่าตกใจดังกล่าวทำให้ทางการเอสโตเนียหันมารณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด อีกทางหนึ่งก็สนับสนุนให้มีบุตรด้วยการให้เงินช่วยเหลือและสวัสดิการต่างๆ

ประเทศอื่นๆที่อนุญาตให้มีการทำแท้งเสรี ได้แก่ เยอรมนี ฮังการี สาธารณรัฐเชค ลิธัวเนีย แลตเวีย สโลวาเกีย เบลเยียม เดนมาร์ก และลักเซมเบิร์ก (๑๒ สัปดาห์) ออสเตรีย (๑๒ สัปดาห์แต่ ขยายเป็น ๒๐ สัปดาห์ในกรณีเป็นอันตรายต่อมารดาและทารก) ฟินแลนด์ (๑๒ สัปดาห์แต่ขยายเป็น ๒๔ สัปดาห์ในกรณีเป็นอันตรายต่อมารดาและทารก) กรีซ (๑๒ สัปดาห์แต่ขยายเป็น ๒๐ สัปดาห์ในกรณีการตั้งครรภ์เกิดจากการข่มขืน) สโลเวเนียและอิตาลี (๑๐ สัปดาห์)

ไอร์แลนด์ มอลตา โปแลนด์ และไซปรัส เป็น ๔ ประเทศในสหภาพยุโรปที่ไม่อนุญาตให้มีการทำแท้งเว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นซึ่งเป็นกรณีที่จำกัดจริงๆ การทำแท้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีโทษหนัก ไอร์แลนด์และมอลตาเคร่งครัดกับการทำแท้งมากถึงขนาดหยิบยกมาเป็นประเด็นในการเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปว่าสหภาพยุโรปต้องไม่แทรกแซงกฎหมายภายในของตนในเรื่องการทำแท้ง

กล่าวสำหรับไอร์แลนด์นั้น ในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมามีความพยายามทำประชามติให้ออกกฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ถึง ๓ ครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในแต่ละปีสตรีไอร์แลนด์ประมาณ ๗,๐๐๐ คนเดินทางไปทำแท้งยังประเทศที่อนุญาต อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นเพียงกรณีเดียวที่กฎหมายอนุญาต คือ เป็นอันตรายแก่ชีวิตของมารดาแต่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองของมารดาหรือคณะกรรมการเฉพาะกิจที่จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป

โปแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกมีอิทธิพลสูง ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้มีการทำแท้งเว้นแต่ในกรณีที่เป็นอันตรายต่อมารดา การตั้งครรภ์เกิดจากถูกข่มขืน และเสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารก แพทย์ที่ทำแท้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปีในขณะที่สตรีที่เข้ารับการทำแท้งไม่มีโทษ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าอัตราการทำแท้งเถื่อนในโปแลนด์จึงมีสูง ในปี ๒๐๐๓ การทำแท้งโดยชอบด้วยกฎหมายมีเพียง ๑๗๐ รายในขณะที่การทำแท้งเถื่อนมีสูงถึง ๑๒๐,๐๐๐ ราย หลังจากการต่อสู้อย่างยาวนานในที่สุดการเรียกร้องขององค์กรสตรีก็สำเร็จ ขณะนี้รัฐสภาของโปแลนด์กำลังพิจารณาร่างกฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตามบรรดาองค์กรสตรีวิตกว่าแม้ร่างดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบจากสภาแต่ถ้าฝ่ายขวากลับมาครองอำนาจประกอบกับด้วยแรงผลักดันของศาสนจักรก็มีความเป็นไปได้ว่าการทำแท้งจะเป็นสิ่งต้องห้ามอีก

ทางด้านไซปรัส มีข้อสังเกตว่าแม้กฎหมายจะกำหนดให้การทำแท้งเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติแล้วเจ้าหน้าที่มักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยปละละเลยให้มีการทำแท้งเถื่อน สังเกตได้จากไม่มีแพทย์ที่ทำแท้งเถื่อนรายใดถูกดำเนินคดีเลย

…………….

ประเด็นเรื่องการทำแท้งถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์กับสิทธิในร่างกายของมารดา ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปได้รับรองสิทธิในชีวิตไว้ชัดเจนแต่ไม่ได้รับรองสิทธิในการทำแท้งอย่างเสรี อย่างไรก็ตามคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปไม่ได้บอกไว้ชัดเจนว่าสิทธิในชีวิตนั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร ตัวอ่อนในครรภ์จะถือว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในชีวิตแล้วหรือไม่ ดังนั้นการทำแท้งจะไปกระทบกับสิทธิในชีวิตหรือไม่ยังน่าสงสัยอยู่

คำพิพากษาบรรทัดฐานในหลายประเทศในยุโรปยืนยันว่ากฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนในครรภ์ การถกเถียงเรื่องการทำแท้งเสรีเป็นที่น่าสนใจและยังคงดำรงต่อไปเพราะนอกจากมุมมองทางกฎหมายแล้วการทำแท้งยังไปเกี่ยวพันกับประเด็นอื่นๆตั้งแต่สิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิสตรี ศาสนา ศีลธรรม จารีตประเพณี ค่านิยม อุดมการณ์การเมืองระหว่างอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า ตลอดจนปัญหาทางนิติปรัชญาอีกด้วย

11 ความคิดเห็น:

Blogger ratioscripta กล่าวว่า...

ผมเคยเขียนเรื่องทำนองนี้ในบล็อกของผมแล้วเช่นกัน เมื่อเพื่อนเขียนอีก ก็ขอเข้ามาอ่านแล้วแสดงความเห็นเล็กน้อย

คงพอได้กลิ่นแห่งความต่างในหัวข้อเดียวกันระหว่างบล็อกนี้และของผม จะว่าผมอนุรักษ์นิยม ก็กึ่งๆ

ประเด็นที่ผมเห็นว่าเป็นแก่นหลักในการต่อสู้เรียกร้องและการถกเถียงอันยาวนานในเรื่องการทำแท้ง เห็นจะมีอยู่ เรื่องหนึ่ง คือ สิทธิสตรี

ผมคงไม่สรุปว่าใครคิดผิดถูก เพราะสิ่งที่ผมคิดก็ยังไม่รู้ว่าจะผิดหรือถูก

ผมจำได้ว่าเคยอ่านงานอยู่ชิ้น ฝรั่งเขียนไว้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจหากผมจะเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารผิดๆ เนื่องด้วยความสามารถทางด้านภาษาต่างประเทศของผมมีอยู่อย่างจำกัด

ทำนองนี้ล่ะครับ คือ สิทธิสตรีในการใช้ร่างกายของตนเอง แต่หัวเรื่องของเขาจริงๆคือ การถกเถียงกันเรื่องกรณี "อุ้มบุญ" นั่นคือ การที่หญิงคนหนึ่งตัดสินใจอุ้มท้องแทนหญิงอีกคนที่ต้องการลูกแต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยตนเองได้ โดยแลกเปลี่ยนกับเงิน

ทำได้อย่างเสรีหรือไม่ สิทธิสตรีหรือไม่

แล้วประเด็นก็ต้องพันเกี่ยวไปถึง การคิดเทียบเคียงกับปรากฏการณ์อื่นๆในสังคม เช่น สิทธิสตรีกับการทำแท้งเป็นต้น หรือแม้กระทั่ง สิทธิสตรีที่จะขายบริการทางเพศแลกกับเงิน นั่นก็สิทธิในร่างกายของหญิงเช่นกัน

ต้องขอออกตัว อีกครั้งว่าผมไม่ใช่พวกกดขี่ข่มเหงเพศตรงข้าม และไม่ใช่ผู้ที่ต่อต้าน พร้อมกับทำหน้าเบ้ เวลามีประเด็นเรื่องสิทธิสตรีแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม ผมสนับสนุนกิจการและกิจกรรมของสิทธิสตรี ถ้าผมทำอะไรได้ ก็อยากทำด้วย

แต่ผมอยากเห็นวิธีคิดอีกด้านของการเรียกร้องสิทธิสตรี

งานชิ้นนั้น ก็โปรยและตอบคำถาม มาเหมือนๆกับหลายๆประเด็นที่คาบเกี่ยวกับปัญหาเช่นนี้ นั่นคือ ลงท้ายด้วย การเป็นสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย รวมไปถึงสิทธิในการกำหนดตนเอง และสิทธิเสรีภาพในการเข้าทำสัญญา

แต่มีอยู่สองสามประโยคที่ทำให้ผม ฉุกคิด และรู้สึกว่าด้านนี้ยังมีอยู่ในการเรียกร้องสิทธิสตรี นั่นคือ เขาบอกว่า ในเรื่องการทำสัญญาจ้างอุ้มครรภ์ดังกล่าว มีนักสิทธิสตรีสองกลุ่มออกมาชนกันเอง นั่นคือกลุ่มที่สนับสนุนซึ่งเป็นกระแสส่วนใหญ่ กับ กลุ่มน้อย ที่ออกมาต่อต้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า การกระทำดังกล่าวหาใช่การเพิ่มคุณค่าให้แก่สตรีแต่อย่างใดไม่ ตรงกันข้าม กลับลดคุณค่าของหญิงให้เป็นแค่โรงงานผลิตเด็ก

ซึ่งเจ้าของความคิดเองก็อาจจะไม่ได้มาไกลจนถึงเรื่องทำแท้ง แต่ผมเอาเขามาเดินต่อในทางของผม

ผมมาคิดต่อว่า ในเรื่องการทำแท้ง การที่หญิงตัดสินใจยุติการมีชีวิต และยุติการก้าวสู่สภาวะของ "บุคคล" ของเด็ก กับการที่หญิงเก็บเด็กนั้นไว้ อย่างไหนจะส่งเสริมคุณค่าของหญิงมากกว่ากัน

ไม่รู้สิ ผมมองว่าอย่างหลังนะ

อาจจะมีปัญหาตามมามากมายว่า หากปล่อยให้หญิงตั้งท้องต่อไปทั้งๆที่ไม่ต้องการ จะไม่เป็นผลร้ายต่อหญิงและเด็กมากกว่าเหรอ ผมมองว่าก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่...

1. มันไม่ใช่สำหรับหญิงและเด็กทุกคนในสถานการณ์อย่างนั้น ผมเคยอ่านงานอยู่ชิ้นหนึ่ง เธอก็เกือบทำแท้ง เพราะคิดว่าตนไม่พร้อมและคงไม่มีความสุขในอนาคตหากเก็บเด็กคนนี้ไว้ แต่ด้วยอะไรมาดลใจไม่ทราบ ทำให้เธอตัดสินใจรักษาชีวิตน้อยๆนั้นไว้ ใครจะทราบ อีกยี่สิบกว่าปีต่อมา เป็นเด็กคนที่เธอเกือบโยนลงโถส้วมคนนี้แหล่ะ ที่อุปถัมภ์ ทำให้เธอมีชีวิตสุขสบายในบั้นปลาย

2.ผมไม่คิดว่า การทำแท้งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดของปัญหาความไม่พร้อมดังกล่าว การวางแผนครอบครัว สภาพเศรษฐกิจ เป็นปัญหาการท้องที่ไม่พร้อม การแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการทำแท้ง มันก็คงไม่ต่างอะไรกับ การฆ่าตัวตาย เพราะไม่อยากผจญปัญหาร้อยแปด ทำแท้งเพราะจน ทางแก้ ก็ต้องทำให้รวย เลี้ยงเองไม่ได้ รัฐต้องเข้ามา อย่างน้อย ก็แสดงความรับผิดชอบที่ตัว ให้ความรู้ และสร้างสภาพสังคม ที่ทำให้หญิงผู้นั้นไม่พร้อมที่จะเป็นแม่ได้ด้วย

แต่ผมก็ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดช่องให้ทำแท้งได้นะครับ ทำน่ะทำได้ แต่มันต้องตอบคำถามได้ด้วยว่า ทำเพื่ออะไร แล้วได้อะไร

ง่ายๆคือ รับผิดชอบในการตัดสินใจนั้นได้หรือไม่

รับผิดชอบไม่ใช่การหลอกตัวเอง ไม่ใช่การหลอกว่าสิ่งที่ทำนั้นมันชอบธรรมแล้ว

หรือกล่าวได้ว่า เพราะมันจำเป็น ถึงต้องทำ อะไรคือจำเป็น ผมเคยว่าไว้แล้วว่า หญิงทุกคนที่ทำแท้งก็จำเป็นทั้งนั้น ไม่มีใครผิวปากไปด้วยความสุขขณะถูกหมอทั้งเถื่อนและไม่เถื่อนทำแท้ง

ผมคิดว่าลำพังช่องทางที่กฎหมายไทยเปิดไว้ ก็น่าจะเพียงพอ นั่นคือ ให้ทำแท้งได้ในกรณีที่ต้องรักษาชีวิตของมารดาไว้ นั่นคือชีวิตมารดาอยู่ในอันตราย ทางเดียวที่จะช่วยชีวิตมารดาได้ คือ ต้องทำลายชีวิตในครรภ์นั้นเสีย โดยไม่มีทางเลือกอื่น กับกรณีที่หญิงท้องโดยถูกข่มขืน (ซึ่งสองกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดอายุครรภ์ในการทำแท้งด้วยซ้ำ เพียงแต่เป็นวินิจฉัยของหมอเองว่า อายุครรภ์เท่าใด จึงจะไม่เป็นอันตราย และยิ่งกรณีที่ต้องทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตมารดา ยิ่งไม่ต้องไปดูอายุครรภ์เลย เท่าไร หากต้องทำเพื่อรักษาชีวิตมารดาก็ต้องทำ เหตุที่กำหนดอายุครรภ์เพราะกลัวว่าทำแล้วแม่จะอันตราย ฉะนั้นหากชีวิตแม่มีอันตราย แม้อายุครรภ์มันจะเกินก็ต้องทำล่ะครับ)

หากจะเพิ่ม ผมว่า เพิ่มเหตุที่ทารกในครรภ์อาจผิดปกติหรือมีกาย หรือสมองที่พิการ อย่างรุนแรง อันนี้ก็น่าจะเป็นอีกความ "จำเป็น" หนึ่งที่ยินยอมให้ทำได้

ผมยังคงพึงใจกับการบีบให้แคบ แล้วเปิดช่องให้ทำได้อย่างจำกัด ในปัญหาที่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวพันกับ คำว่า "ศีลธรรม" น่ะครับ

เพราะผมไม่ได้มองว่า เรากำลังรักษาสิทธิของหญิง หรือสิทธิของทารกในครรภ์อย่างเดียว ในฐานะปัจเจกบุคคลรายใดรายหนึ่งเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่เรากำลังรักษาด้วย นั่นคือ ศีลธรรม ครับ

ก่อนจบ...

ขอแสดงความยินดีกับอาร์เซนอล แชมป์เอฟเอคับ ทีมล่าสุดครับ

เกี่ยวกันไหมเนี่ย

7:07 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Very knowledgeable krab. Thank you for sharing your ideas.

POL_US

1:11 ก่อนเที่ยง  
Blogger David Ginola กล่าวว่า...

แวะมาทักทายครับ

ผมว่าถ้าถามความเห็นนักเศรษฐศาสตร์(กระแสหลัก) เกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง เค้าคงจะต้องไปนั่งคำนวณหา individual benefits and costs of abortion, social benefits and costs of abortion แล้วก็ derive social welfare function ออกมาเสียก่อนจึงจะออกความเห็นได้

ที่พูดมาเนี่ยก็มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนทำวิจัยมาแล้วนะครับ ผมไม่เคยอ่านงานวิจัยฉบับเต็มๆ แต่เคยเห็นผ่านตามาครับ

แต่ผมว่าที่สุดแล้วเรื่อง sensitive อย่างการทำแท้งนี้ มันก็แล้วแต่ความคิดของแต่ละบุคคล ต่างจิตต่างใจจริงๆแหละครับ แม้งานวิจัยที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็ยังมีความเป็น subjective อยู่ดี

แต่ถ้าถามผมนะ ผมว่าไปแก้ที่ต้นเหตุดีกว่า ให้การศึกษาเรื่องคุมกำเนิดให้ดี มันก็น่าจะลดการท้องแบบไม่ได้ตั้งใจลงไปได้เยอะนะครับ

หรือทุกท่านคิดอย่างไร?

11:06 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ป๊อก

ผมขออีเมลคุณหน่อยสิ

ส่งไปหาผมที่ pokpongj@yahoo.com นะ

7:46 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เพิ่งนึกออกจากอีเมล์ว่า ปกป้องที่เขาคุยๆกัน นี่คือคุณปกป้อง จันวิทย์...

ไอ้ผมก็นึกว่าปกป้อง ศรีสนิท เวรจริงๆ
เกือบเรียกว่าพี่อ๋องตั้งหลายที

อย่างนี้มีลูกให้ชื่อปกป้องบ้าง เผื่อฉลาด

9:14 ก่อนเที่ยง  
Blogger pin poramet กล่าวว่า...

ตกลงคุณพี่บุญชิตเข้าใจผมผิดมาตลอดหรือเนี่ย !!!

10:24 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมชั่งใจอยู่นานในการตอบเรื่องนี้ เพราะความเห็นของผมมันค่อนข้างหมิ่นเหม่และสุดโต่ง

กล่าวคือ ผมไม่เห็นด้วย หากรัฐจะมีบทบาทในการ “ปกป้องศีลธรรม” ให้ใคร
ผมเห็นว่ารัฐสมัยใหม่ มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และรับรองเจตจำนงอิสระของสมาชิกในรัฐมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของสมาชิกคนอื่นๆ หรือความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของรัฐหรือสังคมในภาพรวม เพราะเหตุหนึ่งของการมีรัฐ คือเพื่อรักษาไม่ให้ประชาชนในรัฐกระทำการตามใจชอบของตนจนละเมิดต่อผู้อื่นจนเกิดสภาวะอนาธิปไตย

เหมือนกับที่ผมเห็นโดยสุจริต (แต่ไม่เสียค่าตอบแทน) ว่า หลักความสมบูรณ์ของนิติกรรม เพียงแค่นิติกรรมนั้นไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็พอ ไม่จำต้องมีคำว่า “ศีลธรรมอันดี...”

เพราะคำถามที่ตามมา คือ ศีลธรรมอันดีนั้น คือศีลธรรมอันดีของใคร ?
ของสังคม ? ของประชาชน ? ถ้าอย่างนั้นใครเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรเป็นศีลธรรมอันดีเล่า ? นายมูลทณต์ แย้มไรฟัน พ่อค้าไข่ปิ้งหน้าคณะคุรุศาสตร์จุฬาฯ ? ของผู้พิพากษาศาลแพ่ง ? ของรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดี ? หรือของใครที่ไหน

ผมว่า “ศีลธรรม” มันเป็นเรื่องของปัจเจกชน เป็นความเชื่อของแต่ละคน ระดับศีลธรรมของคนไม่เท่ากัน ศีลธรรมของคนหนึ่ง อาจจะเป็นบาปกรรมของอีกคนหนึ่งได้เสมอ เช่นศีลธรรมของพวกซิธ ฆ่าเจไดเด็กๆ เพื่อเพิ่มพลังได้ไม่ผิด ศีลธรรมของเจได ห้ามรัก โกรธ กลัว ฯลฯ

เช่นนี้หากรัฐจะปกป้องศีลธรรม มันก็มีปัญหาอีก ว่าปกป้องศีลธรรมให้ใคร ? ดังนั้นผมจึงเห็นว่า รัฐนั้น เพียงควบคุมการกระทำของประชาชน ไม่ให้ละเมิดกันเอง หรือละเมิดต่อรัฐ ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก็น่าจะพอ ส่วนศีลธรรม เป็นเรื่องใครใคร่เชื่อ ปฏิบัติไปตามครรลองของแต่ละคน เช่น เรื่องกินเหล้า ที่ทางพุทธและอิสลามว่าผิดศีลธรรม ทางศาสนาอื่นว่าไม่เป็นไร เชนนี้รัฐที่ดีก็ไม่ควรห้ามคนกินเหล้า ยกเว้นรัฐที่นับถือศาสนาในระดับเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ เช่นรัฐธรรมนูญของอิหร่าน

ดังนั้น คำพูดที่ผมเกลียดที่สุดประโยคที่สอง (ประโยคที่หนึ่ง คือ “เรื่องนี้ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ มิควรใช้หลักนิติศาสตร์”) คือ “ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ” ผมเป็นชาวพุทธครับ และมั่นใจว่าเป็นชาวพุทธที่ดี แม้ไม่ห้อยพระ แต่ผมก็สวดมนตร์ทำวัตรบ่อยๆในวันพระ ทำบุญตักบาตรเท่าที่โอกาสจะมี เคยบวช อ่านหนังสือธรรมะไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งเล่ม

แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการยกเหตุผลว่า “ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ” มาเพื่อเป็นข้อยุติ หรือเป็นเหตุผลให้รัฐดำเนินการหรือไม่ดำเนินการอะไร ผมว่าเป็นเหตุผลปิดปากชาวบ้าน ที่ไม่ยุติธรรม เช่นการห้ามไม่ให้บริษัทเบียร์ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์... เพราะบ้านเราเป็นเมืองพุทธ สั่งปิดเกมส์โชว์ทางทีวี ... เพราะบ้านเราเป็นเมืองพุทธ ... ไม่ให้ตั้งบ่อนคาสิโน (แต่เจือกขายหวย) เพราะบ้านเราเป็นเมืองพุทธ ห้ามนางงามถ่ายรูปคู่กับพระเจดีย์ พระปรางค์ เพราะประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ... ห้ามค้าประเวณี (แต่มีอาบ อบ นวด ฟาร์มแมว วัดโพธิ์ ฯลฯ ได้) เพราะบ้านเราเป็นเมืองพุทธ

ผมว่าเหตุผลแบบนี้ มันเป็นเหตุผลปิดปาก เราใช้เหตุผล “บ้านเราเป็นเมืองพุทธ” มาเพื่อปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วยมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง เราใช้เหตุผลประหลาดๆ แบบนี้เพื่อระงับกิจกรรมของรัฐหรือเอกชนมาแล้วเท่าไร (เช่นการที่ท่านมหาหัวเกรียน ผู้ชอบคิดว่าศีลธรรมนั้นไซร้อยู่ในมือฉัน ออกมาประท้วงไม่ให้เอากิจการเบียร์ไทยระดับโลกเข้าตลาดหลักทรัพย์ซะงั้น) ไม่มีตรรกะที่ยอมรับได้ในทางการเมืองการปกครองมารองรับ ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับกิจกรรมต่างๆเหล่านั้น ผมจะรับได้แบบไม่มีปัญหา ถ้าเหตุผลเป็นอย่างนี้...

ไม่ให้ตั้งบ่อนคาสิโน เพราะรัฐเกรงจะเกิดปัญหาอาชญากรรมในระดับที่ยากต่อการควบคุม หรือคนจะเล่นการพนันจนทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ห้ามค้าประเวณีเสรี เพราะป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์

เซ็นเซอร์รายการ “บิ๊กฮักเกอร์” หรือย้ายเวลาออกอากาศ เพราะสุ่มเสี่ยงว่าจะมีการปั๊มป๊ามกันหน้าจอ ทำให้เด็กๆใจแตก เกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ

ผมรับเหตุผลพวกนี้ได้ทั้งสิ้น เพราะเป็นเหตุผลเพื่อการป้องกันรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม

ไม่ใช่เหตุผลว่า มันขัดต่อศีลธรรมของใครก็ไม่รู้... ศีลธรรมศาสนาไหนก็ไม่รู้ ในที่สุดเมื่ออ้างกันมากๆ ศีลธรรมก็จะกลายเป็นเรื่องดับเบิ้ลหรือขนาดทริปเปิ้ลสะแตนดาร์ด ว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ไม่ควรมีการพนันที่ถูกกฎหมาย แต่ไหงหวยขายได้ นี่ก็ตอบไม่ได้แล้ว

แต่ถ้าใช้เหตุผลในเชิงความสงบเรียบร้อยของสังคม เราจะตอบได้ ว่าที่มีบ่อนไม่ได้ เพราะบ่อนแม่มเล่นกันทุกวันเช้ายันดึก คนสามารถเสียตังค์จนล้มประดาตายได้ภายในสิบสองชั่วโมง แต่หวยนั้น สามารถควบคุมได้ เพราะมันออกเพียงสองสัปดาห์ครั้ง จะแทงให้วายวอดอย่างไรก็ไม่รุนแรงรวดเร็วเท่าคาสิโน ดังนั้นรัฐจึงพออนุโลมให้ขายหวยได้ เพราะกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมน้อยกว่าการเปิดบ่อน

กลับมาเรื่องทำแท้ง เมื่อผมมองว่า รัฐไม่มีหน้าทีต้องรักษาศีลธรรมให้ใครแล้ว ผมจึงเห็นว่า รัฐไม่ควรห้ามสตรีผู้ตั้งครรภ์ไม่ให้ทำแท้ง เพราะการทำแท้งของเธอนั้น มันเป็นเรื่องที่เธอเองต้องตัดสินใจ รัฐไม่น่าที่จะทำหน้าที่เป็นครูศีลธรรม ห้ามเธอทำแท้ง เพราะการทำแท้งนั้น ไม่ได้ทำให้สังคมเดือดร้อน เพราะถ้าพูดแรงๆ ก็คือ “มันเรื่องของเขา จิ๊ของเขา มดลูกของเขา”

ก็ตอนเขา “เอาลูกเข้าท้อง” ไม่เห็นเขาต้องมาขออนุญาตรัฐเลย แล้วไหงตอนจะเอาออก รัฐถึงต้องมาห้ามด้วย ไม่ยุติธรรมเลย

ผมเองเชื่อว่า ตราบใดที่ทารกยังไม่พ้นจากช่องคลอดของผู้เป็นแม่ ยังเป็นสิทธิของผู้เป็นแม่ แต่เมื่อใดที่พ้นออกมาแล้ว เขาเป็นบุคคล และพ้นจากอำนาจการตัดสินใจของผู้เป็นแม่ อันนี้ถือตามกฎหมายแพ่งปัจจุบัน

เว้นแต่เราจะหาเหตุผลที่พอฟังได้ในเชิงสังคมว่า การทำแท้งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคมอย่างไร

เมื่อเทียบกับการที่มีเด็กถูกทอดทิ้ง หรือเด็กที่เกิดมา แต่ไม่มีใครรักเลย และกลายเป็นปัญหาต่อสังคม เป็นเหยื่ออาชญากรรม หรือเป็นผู้ประกอบอาชญากรรมเสียเองในอนาคต

ผมเห็นด้วยกับคุณราโช ว่า สิ่งมหัศจรรย์ที่ผู้หญิงทำได้เท่านั้น คือการให้กำเนิดชีวิตใหม่จากร่างกายของตน ... เป็นมหัศจรรย์แห่งชีวิตและธรรมชาติ ... เป็นศักดิ์ศรีที่สูงยิ่งของผู้หญิง แต่ผมขอวงเล็บไว้นิดหนึ่งว่า มหัศจรรย์เช่นว่านั้น ควรจะเกิดจากความรักด้วย

แม้ความรักเพียงช่วงสั้นๆ หากมีก็คุ้มค่า เสมือนกับอมิดาลาที่ให้กำเนิดลุค และเลอา ทายาทของดาร์ธ เวเดอร์ (แอนาคิน) จอมโฉด แต่เธอก็สุขใจ แม้เธอจะตายหลังจากนั้น แต่ทารกก็มีคนที่รักเขา ไม่ว่าจะเป็นโอบีวัน เบล ออกาน่า หรือแม้แต่ลุงโอเว่นและป้าเบรู

เฮ้ย สตาร์วอรส์มาจากไหนวะ...!!!

แต่ถ้าเด็กที่เกิดมาโดยไม่ได้รับความรักเลย นี่มันเป็นเรื่องน่าเศร้า

ผมคิดว่า การเปลี่ยนใจไม่ทำแท้ง รักษาเด็กไว้ ที่คุณราโชเล่ามาเป็นเรื่องยิ่งใหญ่น่าสรรเสริญ

แต่ผมก็เคารพ หากใครจะไม่เอาไว้ ... และไม่คิดว่า รัฐจะต้องไปรักษาศีลธรรมให้ โดยละเลยถึงประโยขน์ของเธอ ประโยชน์ของเด็ก

ศีลธรรมนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ผู้ศรัทธาก็พึงรักษาไว้เองครับ.

3:17 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เอากระทู้มาให้อ่านกันเล่นๆ...

การรักษาศีลธรรมจนละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P3494253/P3494253.html

คือถ้าเอาทุกเรื่องไปโยงเข้าศีลธรรม ศาสนา การพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผลกไม่เกิดน่ะครับ...

3:36 หลังเที่ยง  
Blogger ratioscripta กล่าวว่า...

ขอบคุณครับพี่บุญชิตฯ ที่แสดงทัศนะ ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องศีลธรรมกับกฎหมายขึ้นมา

ไว้ผมจะลองเขียนดูนะครับ ว่าเราจะสามารถพูดคุยเรื่องศีลธรรมในกฎหมาย ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

และเป็นเหตุเป็นผลด้วยครับ

5:24 หลังเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

Vous avez un blog très agréable et je l'aime, je vais placer un lien de retour à lui dans un de mon blogs qui égale votre contenu. Il peut prendre quelques jours mais je ferai besure pour poster un nouveau commentaire avec le lien arrière.

Merci pour est un bon blogger.

6:10 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

It's impressive that you are getting thoughts from this paragraph as well as from our discussion made at this place.

Here is my site ... anti cellulite treatment

2:24 หลังเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก