วันเสาร์, ตุลาคม 29, 2548

ขอความร่วมมือ

เนื่องมาจาก คุณปิ่น ปรเมศวร์ สวมตำแหน่ง ป๋าดัน ราวกับไตรภพ สนับสนุนให้ผมเข้าสู่บรรณพิภพของจริง ด้วยการเปิดโอกาสให้ผมขีดเขียนคอลัมน์ประจำในโอเพ่น ออนไลน์ และประชาชาติธุรกิจ

ผมน้อมรับความปรารถนาดีของคุณปิ่นด้วยความยินดียิ่ง

แต่ปัญหามีอยู่ว่า คุณปิ่นสวมบทบรรณาธิการเอาการเอางาน (อย่างที่ผมเคยเอ่ยไว้ตอนเขียนคำนิยมในหนังสือ "บล็อก บล็อก" ของเขา) ด้วยการให้ผมคิดชื่อคอลัมน์ของผม

ผมไร้สิ้นซึ่งไอเดียจริงๆ คิดออกบางชื่อก็เกรงว่าจะลิเกเกินไป ดูออกขำๆ ไม่ค่อยวิชาการเท่าไร

เลยต้องมาขอความกรุณาจากมิตรรักบล็อกเกอร์ทุกท่าน ช่วยคิดชื่อคอลัมน์ให้ผมด้วย

เอาสองคอลัมน์เลยยิ่งดีนะครับ โอเพ่น หนึ่ง ประชาชาติธุรกิจ หนึ่ง

ขอบคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้

วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 27, 2548

เสรีภาพในการเลือกดื่มสุราหลากประเภท

มิตรรักบล็อกเกอร์ที่เป็นนักท่องราตรี – ทั้งขาประจำและขาจร - เคยสังเกตหรือไม่ว่า ตามร้านเหล้าหรือสถานบันเทิงยามราตรีในมหานครแห่งความสุขได้กระทำอนันตริยกรรมต่อพลพรรคนักดื่มอยู่เป็นอาจิณ

พลพรรคนักดื่มในที่นี้ หมายความถึง บรรดาผู้นิยมชมชอบการเสพสุราในลักษณะที่เป็นสุรา ชมชอบรสชาติของสุราหลากสีหลากเผ่าพันธุ์ หาใช่ชมชอบเพราะมันเป็นน้ำดื่มก่อความเมาและขาดสติไม่ อีกนัยหนึ่ง เขาเหล่านั้นมองสุราเสมือนเป็นอาหารชนิดหนึ่ง

เรียกได้ว่า การลิ้มรสสุราจำต้องมีศิลปทางอาหาร (Gastronomie) ประกอบด้วย มิใช่สักแต่ ชน... หมด... เมา... อ้วก

อนันตริยกรรมที่ผมกล่าว คือ การปิดกั้นเสรีภาพในการเลือกดื่มสุราที่หลากหลาย

ร้านเหล้าทั้งหลายมักรับเหล้ามาขายแบบผูกขาดไว้เพียงไม่กี่ยี่ห้อ แบ่งสรรไปตามเกรด เหล้าเกรดหนึ่งมีทางเลือกให้ผู้บริโภคไม่เกินสองยี่ห้อ

บ่อยครั้งที่เราพบเห็น ...

ต่ำสุด คือ แสงโสม (บางร้านอาจอัพเกรดตนเองให้หรู ด้วยการไม่สั่งแสงโสมมาขาย หารู้ไม่ว่า เศรษฐีบางคนอาจพิสมัยแสงโสมก็เป็นได้ โดยเฉพาะพวกฝรั่งหัวทองอยากลองเหล้าไทยแท้)

ขยับเกรดมาที่วิสกี้บ่ม ๕ ปี นำโดย นายร้อยเป่าปี่ “๑๐๐ ไพเพอร์” ของเครือชีวาส เมื่อก่อนยังมี บลู อีเกิ้ลส์ หรือ สเปย์ รอแยล มาสู้บ้าง แต่ผมกลับไปสำรวจภาคสนามครั้งก่อน พบว่าน้อยร้านนักที่จะมี บลู อีเกิ้ลส์ หรือ สเปย์ รอแยล ปัจจุบันค่ายแบล็ค เลเบิ้ล ส่งเหล้าบ่ม ๕ ปีตัวใหม่ ไอ้เขากวาง “เบนมอร์” เข้ามาสู้กับ ๑๐๐ ไพเพอร์

เกรดสุดท้ายที่ร้านจะสรรหามาให้ดื่ม คือ ระดับพรีเมียม ได้แก่ ไอ้กาดำ “แบล็ค เลเบิ้ล”และ แม่ชี “ชีวาส”

กล่าวอย่างรวบรัด ในสถานบันเทิง นักดื่มเมืองไทยมีสิทธิดื่มเหล้ายี่ห้อดังต่อไปนี้เท่านั้น
เหล้าบ่ม ๕ ปี ๑๐๐ ไพเพอร์ และ เบนมอร์
ระดับกลาง เร้ด เลเบิ้ล และซันทอรี่ เร้ด อาจมีบัลเลนไทน์มาแทรกบ้าง
พรีเมียม แบล็ค เลเบิ้ล และ ชีวาส (เดี๋ยวนี้ชีวาสก็เหลืออยู่ไม่กี่ร้านแล้ว)

มิพักต้องกล่าวถึง การจำกัดสิทธิให้ท่านได้ดื่มแค่ วิสกี้ เท่านั้น อยากสะเออะกินบรั่นดี ก็เชิญกลับไปกินที่บ้าน

คิดแล้วก็น่าเศร้าใจสำหรับนักดื่มที่ไม่ได้มองสุราเป็นแค่น้ำเมาจริงๆ

วันหนึ่ง เขาอยากรำลึกความหลังครั้งเป็นนักศึกษาเบี้ยน้อยหอยน้อยด้วยการดื่มแสงโสม จะได้หรือไม่?
วันหน้า เขาถูกหวยก้อนใหญ่ อยากล่อบลู เลเบิ้ล กรีน เลบิ้ล โกลด์ เลเบิ้ล จะได้หรือไม่?

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ มีสองประการ

ประการแรก บริษัทเหล้า ทำการตลาดยุคใหม่ ด้วยการซื้อร้านเหล้ายกร้าน แล้วบังคับให้ขายแต่ยี่ห้อของตน ผมเคยไปหลังสวน ร้านเหล้าร้านหนึ่ง มีเหล้าให้ท่านเลือกเพียง ๒ ยี่ห้อ คือ ๑๐๐ ไพเพอร์ และ ชีวาส ซึ่งทั้งสองยี่ห้อนี่เป็นของบริษัทเดียวกัน แบบนี้ ผมถือว่าบริษัทเหล้า ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และสถานบันเทิง รวมหัวกันปิดกั้นทางเลือกของผู้บริโภคขนานแท้

อีกประการหนึ่ง เห็นจะมาจากรสนิยมการดื่มเหล้าของคนไทย ที่ไม่ใส่ใจเรื่องรสชาติ ขอให้เมาเป็นพอ เมื่อผู้บริโภคอยากโชว์ฐานะ ก็กินแบล็ค เมื่อผู้บริโภครายได้น้อยลง ก็ขอเป็นเร้ด คนจรหมอนหมิ่น ก็ต้อง ๑๐๐ ไพเพอร์ และ เบนมอร์ หรือไม่ก็กินยี่ห้ออะไรก็ได้ตามแต่ความสวยงามของเด็กเชียร์เหล้า เช่นนี้แล้ว เกิดร้านเหล้าสั่งยี่ห้ออื่นมาสงสัยคงเจ๊งเป็นแน่

ไม่น่าแปลกใจที่อาชีพเด็กเชียร์เบียร์-เหล้าจึงเฟื่องฟู ก็ผู้บริโภคไม่ได้สนใจเหล้าที่รสชาติเอาเสียเลย ไม่มีเจตจำนงเสรีในการเลือกดื่ม แต่กลับไปผูกติดกับความจิ้มลิ้มของเด็กเชียร์ (ล่าสุด ผมพบว่ามีเด็กเชียร์เครื่องดื่มแก้แฮงค์แล้วด้วย)

วงการเบียร์ก็เช่นกัน ตามสถานบันเทิง ท่านจะพบเห็นแต่ ไอ้เขียว ดาวแดง ไฮเนเก้น ผมซึ่งเป็นคนพิสมัยรสขมของพี่สิงหา ช่างอึดอัดใจยิ่งนักยามไปตระเวนราตรี แล้วมันเหมือนจะฮั้วกันอย่างไรก็ไม่รู้ ถ้าสถานบันเทิง ต้องไอ้เขียว ถ้าร้านอาหาร ต้องพี่สิงหา ถ้าร้านหมูกะทะ ต้องช้างกระทืบโรง กับน้องใหม่ เสือไทเกอร์

เดชะบุญ มอลลี่ ร้านประจำผม ยังมีพี่สิงหาไปขายอยู่

วัฒนธรรมการดื่มของคนไทยอีกข้อหนึ่งที่ทำเอาผมโดนสถานบันเทิงเคืองหลายหน คือ การกินเหล้าผสมมิกเซอร์

เราสามารถพบเห็นอย่างดาษดื่นกับภาพสาวน้อยหน้าตาจิ้มลิ้มดื่มเหล้าอย่างบ้าพลังด้วยการผสมกับโค้ก (เหล้าเท่านิ้วครึ่งข้อ ที่เหลือโค้กล้วน) เมื่อสาดลงคอไปแล้ว ก็ไม่ต่างกับการดื่มโค้กดับกระหาย เพียงแต่โค้กนี้มีแอลกอฮอล์อยู่หน่อยเท่านั้นเอง

จะว่าไป น่าจะผลิตโค้กออกขายไปเลย เป็นรุ่นใหม่ ผสมแอลกอฮอลด้วย

ดื่มไปเพื่อให้เมา ผสมโค้กให้หวาน เพราะไม่ชอบรสเหล้า แต่ต้องดื่มเพราะอยากเมา

ผมถือว่าพฤติกรรมดื่มเหล้าเช่นนี้ได้ทำลายคุณค่าของเหล้าลงไปให้เหลือเป็นเพียงเครื่องดื่มสร้างความเมาและขาดสติเท่านั้น

สถานบันเทิงจับจริตของนักเที่ยวเมืองไทยได้ดี จึงลดราคาเหล้าให้ผู้บริโภคพอสู้ไหว แล้วมาโขกเอากะค่ามิกเซอร์ น้ำเปล่า โซดา โค้ก ต้นทุนขวดละไม่น่าเกิน ๕ บาท พี่ท่านเอามาขายในร้านราคาตั้งแต่ ๓๐ ถึง ๖๐ ตามแต่ย่านของสถานบันเทิง

ผมเป็นคนดื่มเหล้าแบบใส่น้ำแข็ง ๒ ก้อน ไม่ผสมอย่างอื่น พฤติกรรมอย่างนี้ จะไม่ให้ร้านเหล้าเคืองได้อย่างไร

ครั้งหนึ่ง ผมมีเหล้าฝากที่มอลลี่ วันนั้นเขียนงานมาก แล้วปวดหัว อยากไปคลายเครียด เลยแว้บไปนั่งดื่มชิล ชิล คนเดียว ผมสั่งน้ำแข็งไป ๒ ถัง น้ำเปล่า ๒ ขวด รวมแล้ว ๑๒๐ บาท ผมไม่หน้าด้านพอ จึงต้องสั่งกับแกล้มมานั่งกินอีกสองอย่าง ทั้งๆที่อิ่มแปล้จนท้องจะแตก

ไม่แน่ ถ้าผมไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ร้านเหล้าอาจกาหัวไม่ให้ผมเข้าร้านเค้าก็เป็นได้

.................

ผมอยากเห็นพัฒนาการของนักดื่มบ้านเราขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น ออกสู่โลกกว้างว่า เหล้ามีให้ท่านเลือกบริโภคหลากหลาย เหล้าใส วิสกี้ บรั่นดี เบียร์ ไวน์ จิน ปาสตีส์ สารพัดประเภท หาได้มีแค่ วิสกี้ เบียร์ RTD และค็อกเทล ดังที่สถานบันเทิง “กึ่ง” บังคับให้ท่านเลือกกินแค่นี้

แต่เอาเข้าจริง ของพรรค์นี้ มันก็ขึ้นกับความชอบและรสนิยมส่วนบุคคลอยู่ดี ผมคงไปบังคับใครไม่ได้

จากการท่องอยู่ในยุทธจักรสุรามาได้ ๘ ปี ผมสรุปได้ว่า

ถ้าคำนวณกันที่ปริมาณ คนไทยบริโภคแอลกอออล์มากติดอันดับต้นๆของโลก แต่ถ้าใช้มาตรวัดจากการกินเหล้าเป็น กินเหล้าอย่างมีศิลปะ กินเหล้าให้หลากหลายนั้น หรือความรู้ด้านเหล้านั้น เห็นทีจะรั้งท้าย

เพลง ปรัชญา หนังสือ ภาพยนตร์ ก็มีแบบแนว “ทางเลือก” กันแล้ว

เมื่อไรหนอจะมีร้านเหล้าทางเลือกบ้าง

วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 20, 2548

ซัดดัม ฮุสเซน : จำเลยของโลกหรือจำเลยของสหรัฐอเมริกา ?



วันนี้ -๑๙ ต.ค. ๒๐๐๕- ศาลพิเศษแห่งอิรักได้เปิดกระบวนพิจารณาคดีสำคัญคดีหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ คือ คดีกล่าวหาว่าซัดดัม ฮุสเซนและพวกอีก ๗ คนมีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการเข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ๑๔๓ คนในเมือง Doujaïl เมื่อปี ๑๙๘๒

อดีตเผด็จการแห่งอิรักในวัย ๖๗ ปีขึ้นศาลอย่างองอาจในชุดสูทสีเทาพร้อมเสื้อเชิ้ตสีขาวปราศจากเน็คไท ผู้พิพากษา Rizkar Mohammed Amine ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ซัดดัมว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม ใช้กำลังเข้าปราบปราม หน่วงเหนี่ยวกักขัง และทรมาน ตลอดจนไม่เคารพกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ความผิดส่วนตัวเหล่านี้มีโทษประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญาของอิรัก ซึ่งซัดดัมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยืนยันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์

ตลอดการไต่สวน ซัดดัมใช้วิธีการนิ่งไม่ตอบคำถามใดๆ แต่สวนผู้พิพากษา Amine กลับไปด้วยคำพูดที่ว่า “คุณเป็นใคร คุณต้องการอะไร” ซัดดัมยังอ้างกฎหมายอยู่บ่อยครั้งว่า “ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ในฐานะประมุขของรัฐ ผมมีสิทธิไม่ตอบคำถามใดๆ” ซัดดัมยังปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจของศาลด้วยเหตุผลที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในศาลนี้ไม่มีฐานที่มาที่ถูกต้อง

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ปีก่อน ซัดดัม ฮุสเซนได้ถูกพาตัวไปขึ้นศาลพิเศษแห่งอิรักครั้งหนึ่ง ผู้พิพากษาให้ซัดดัมแนะนำตนเอง

“ผมคือซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีแห่งอิรัก” เขายืนยัน และย้ำอีกครั้งว่า “ผมคือ ซัดดัม ฮุสเซน อัล มาจิด (แปลว่า ผู้ยิ่งใหญ่) ประธานาธิบดีแห่งอิรัก”

เมื่อผู้พิพากษาแย้งว่า “ไม่ใช่ คุณเป็นอดีต”

ซัดดัมยืนกรานว่า “ไม่ ปัจจุบัน และได้รับเลือกมาจากประชาชน” เขายังถามกลับไปด้วยว่า “แล้วคุณล่ะเป็นใคร? ได้รับการแต่งตั้งจากกฎหมายใด กระบวนการยุติธรรมในอิรักต้องเป็นตัวแทนประชาชน แต่คุณเป็นตัวแทนของไอ้พวกกองกำลังที่มายึดครองอิรัก คุณปราบปรามชาวอิรักตามคำสั่งของไอ้กองกำลังนั่น”

ผู้พิพากษาได้แจ้งแก่ซัดดัมว่าเขามีสิทธิในการมีทนายความ ซัดดัมตอบกลับอย่างประชดประชันว่า “แหม ไอ้พวกอเมริกามันบอกว่าผมมีเงินหลายล้านฝากอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ถ้างั้น ผมก็ขอตั้งทนายความสักคนละกัน”

การพิจารณาคดีนี้นัดต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ซึ่งทนายความของซัดดัม Khalil al-Doulaïmi ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปอีก ๓ เดือน

.....................

ซัดดัมและทนายความต้องการเดินหมากเดียวกับสโลโบดัน มิโลเซวิช อดีตผู้นำยูโกสลาเวียที่โดนข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และเป็นอาชญากรสงคราม คดีของมิโลเซวิชกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลระหว่างประเทศในกรณียูโกสลาเวียซึ่งสหประชาชาติได้จัดตั้งขึ้น ณ กรุงเฮก ประเทศฮอลแลนด์ มิโลเซวิชอาศัยช่องว่างของวิธีพิจารณาที่เปิดโอกาสให้มิโลเซวิชให้การได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับยังมีการเผยแพร่การพิจาณาคดีทางสื่อโทรทัศน์และอินเตอร์เนทอีกด้วย มิโลเซวิชจึงให้การด้วยการพูดเรียกร้องความชอบธรรม ความถูกต้อง และความเห็นอกเห็นใจ

กล่าวให้ถึงที่สุด มิโลเซวิชกำลังเล่นกับ “สื่อ” ด้วยการเรียกคะแนนนิยมจากชาวเซอร์เบียนั่นเอง

ดูเหมือนว่ากลยุทธของมิโลเซวิชจะได้ผลเสียด้วย เพราะเกิดปฏิกริยาทางการเมืองตอบรับไปในทางที่เป็นคุณแก่มิโลเซวิชอยู่พอควร

ซัดดัมเองก็ตั้งใจจะใช้มุขนี้ ทว่ากระบวนพิจารณาของศาลพิเศษแห่งอิรักกับกระบวนพิจารณาของศาลระหว่างประเทศในกรณียูโกสลาเวียแตกต่างกันสิ้นเชิง ในศาลพิเศษแห่งอิรัก จำเลยไม่มีสิทธิในการให้การใดๆได้ถ้าผู้พิพากษาไม่ได้ถาม อีกนัยหนึ่งผู้พิพากษาเป็น “ผู้เล่นหลัก” ในกระบวนพิจารณาคดีนั่นเอง ในขณะที่ศาลระหว่างประเทศในกรณียูโกสลาเวียหรือศาลระหว่างประเทศในกรณีรวันดาตลอดจนศาลอาญาระหว่างประเทศจะเปิดโอกาสให้จำเลยให้การได้มากกว่า

สังเกตได้จากกระบวนการพิจาณาคดีที่ซัดดัมพยายามพูดเพื่อทำลายความชอบธรรมของศาลและกองกำลังอเมริกา แต่ก็ถูกผู้พิพากษาตัดบทเสมอ

ในส่วนของการเปิดเผยกระบวนพิจารณาทางสื่อนั้น สหรัฐอเมริกาเห็นบทเรียนจากคดีมิโลเซวิช จึงไม่ยอมเป็นอันขาดที่จะเปิดโอกาสให้ซัดดัม “เล่นกล้อง” เหมือนมิโลเซวิช ด้วยเหตุนี้ สหรัฐอเมริกาจึงยอมให้เผยแพร่การพิจารณาคดีซัดดัมได้ภายใต้การควบคุมของกองทัพอเมริกันเท่านั้น

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาผลักดันให้รัฐบาลอิรัก (ซึ่งมะกันก็ชักใยอยู่) จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีซัดดัมเองโดยไม่พึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศหรือให้สหประชาชาติจัดตั้งศาลพิเศษให้

ไม่เพียงแต่กระบวนพิจารณาในคดีของซัดดัมและคดีมิโลเซวิชที่แตกต่างกันเท่านั้น ในส่วนของรูปคดีก็ยังไม่เหมือนกันอีกด้วย กล่าวคือ แม้โดยเนื้อหาของคดีจะคล้ายกันที่ข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่กรณีของมิโลเซวิช ถูกฟ้องเป็นคดีเดียว ส่วนกรณีซัดดัมนั้น ถูกฟ้องเป็น ๑๒ คดี ในการกระทำความผิดหลักๆ ๗ ครั้งตลอดที่ซัดดัมครองอำนาจตั้งแต่ ๑๙๖๘-๒๐๐๓ ได้แก่

๑.) การสังหารหมู่สมาชิกกลุ่มชาวเคิร์ดแห่งบาร์ซานี่ ปี ๑๙๘๓
๒.) ปฏิบัติการ "Anfal" สังหารชาวเคิร์ด ปี ๑๙๘๘
๓.) การรมแก๊ซสังหารชาวเคิร์ดที่เมือง Halabja ปี ๑๙๘๘
๔.) การรุกรานคูเวต ปี ๑๙๙๐
๕.) การปราบกบฏชีอะห์ ปี ๑๙๙๑
๖.) การวางแผนฆาตกรรมหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามหลายครั้ง
๗.) การวางแผนฆาตกรรมผู้นำทางศาสนาฝ่ายตรงกันข้ามหลายครั้ง

เรียกได้ว่า คดีที่เปิดกระบวนพิจารณาเมื่อวันที่ ๑๙ ต.ค. เป็นเพียงส่วนจิ๊บจ๊อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับข้อกล่าวหาที่เหลือ

อาจสงสัยกันว่า เหตุใดจึงไม่รวมคดีของซัดดัมเข้าเป็นคดีเดียวไปเลยเพราะฐานความผิดก็เหมือนกันคือ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลทางกฎหมายที่ความผิดของซัดดัมเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระและมีข้อเท็จจริงต่างกัน อีกส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลทางกลยุทธของอเมริกา เมื่อแบ่งเป็นหลายๆคดี อาจมีคดีใดคดีหนึ่งที่พิจารณาเสร็จก่อนจะได้ลงโทษซัดดัมได้ทันที เพราะในทุกคดี โทษคงหนีไม่พ้นประหารหรือจำคุกตลอดชีวิตเป็นแน่

......................

กล่าวสำหรับศาลพิเศษแห่งอิรักนี้ ก่อตั้งเมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๐๐๓ (ก่อนจับซัดดัมได้ ๓ วัน) โดยอดีตผู้ปกครองอิรักชั่วคราวชาวอเมริกันนาม Paul Bremer เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอาชญากรรมที่เกิดแก่ชาวอิรักในสมัยซัดดัมเรื่องอำนาจตั้งแต่ ๑๗ ก.ค. ๑๙๖๘ ถึง ๑ พ.ค. ๒๐๐๓ เรียกได้ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อเล่นงานซัดดัมและพวกโดยตรง

ศาลนี้ประกอบไปด้วยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษา ๕ คน มีวาระ ๕ ปี ศาลอุทธรณ์มีผู้พิพากษา ๙ คนและคณะลูกขุนอีก ๒๐ คน มีวาระ ๓ ปี นอกจากนี้ยังมีอัยการอีก ๒๐ คนมีวาระ ๓ ปี รัฐบาลอิรักอาจตั้งผู้พิพากษาชาวต่างประเทศทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในฐานะผู้เชี่ยวชาญอาชญากรรมสงครามก็ได้ ปัจจุบันรัฐบาลอิรักได้ตั้ง Michael Scharf ศาตราจารย์กฎหมายระหว่างประเทศชาวอเมริกาขึ้นเป็นผู้พิพากษาผู้เชี่ยวชาญแล้ว สำหรับนาย Michael Scharf ผู้นี้ รัฐบาลอเมริกาได้ส่งมาเป็นตัวแทนเพื่อให้ความช่วยเหลือการจัดตั้งศาลพิเศษแห่งนี้

ในคดีของซัดดัม ผู้พิพากษาทั้ง ๕ คนไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรนัก ภูมิหลังของผู้พิพากษาทุกคนถูกเก็บเป็นความลับ สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอิรักอ้างว่าจำเป็นต้องรักษาความลับไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้พิพากษา แต่เท่าที่ทราบไม่มีผู้พิพากษาคนใดที่เป็นมุสลิมนิกายซุนนีห์เหมือนซัดดัม

ศาลพิเศษในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นศาลแรกที่เกิดขึ้นในวงการกฎหมายระหว่างประเทศ ก่อนหน้านั้นเรามีศาลระหว่างประเทศในกรณียูโกสลาเวียและศาลระหว่างประเทศในกรณีรวันดา แต่ทั้งสองศาลนี้ก็ได้รับการจัดตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติในหมวด ๗ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

เรียกได้ว่า เป็นศาลที่มีที่มาตามกฎหมายระหว่างประเทศและประชาคมโลกให้การยอมรับในนามของสหประชาชาตินั่นเอง

โดยทั่วไป การจัดตั้งศาลขึ้นเพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะย่อมทำมิได้ ในกรณียูโกสลาเวียและรวันดานั้น จะเห็นได้ว่าความผิดสำเร็จแล้วจึงมีการตั้งศาลขึ้นมาภายหลังเพื่อพิจารณาคดีเหล่านั้นโดยเฉพาะ แต่เนื่องจากกฎบัตรสหประชาชาติเปิดช่องไว้ และเป็นการทำในนามของสหประชาชาติอันเท่ากับว่าประชาคมโลกตกลงร่วมกันให้ทำได้

สหประชาชาติเล็งเห็นถึงจุดอ่อนของการจัดตั้งศาลพิเศษที่อาจขัดกับหลักกฎหมายดังกล่าว จึงริเริ่มให้มีการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้นโดยสนธิสัญญากรุงโรม มีผลใช้บังคับตั้งแต่ ๑ ก.ค. ๒๐๐๒ ปัจจุบันมีรัฐสมาชิกให้สัตยาบันยอมผูกพันกับสนธิสัญญานี้แล้วรวม ๙๗ ประเทศ

เป้าหมายหลักของการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศก็เพื่อพิจารณาบรรดาคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต นับแต่การฆ่าชาวยิวโดยนาซีสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ การสังหารคนจำนวนมากในชิลีสมัยนายพลปิโนเชต์ เหตุการณ์ “ทุ่งสังหาร” ในสมัยเขมรแดง การฆ่าชาวโคโซโวและบอสเนียในอดีตยูโกสลาเวีย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

ในอนาคตหากมีคดีทำนองนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นเป็นการเฉพาะ แต่ให้นำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งมีหลักประกันว่าเป็นศาลที่จัดตั้งเป็นการถาวร ทั่วไป ไม่เจาะจงกรณีใดกรณีหนึ่ง มีผู้พิพากษามาจากหลายประเทศที่เป็นกลาง ตลอดจนมีกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรม

ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อแย่งงานจากศาลภายในประเทศ เป็นอัตวินิจฉัยของรัฐสมาชิกเองว่าจะพิจารณาคดีเองให้เสร็จเสียก่อนหรือจะยื่นเรื่องให้พิจารณาศาลอาญาระหว่างประเทศเลยก็ได้ ความข้อนี้นับเป็นช่องโหว่ให้รัฐบาลชั่วคราวของอิรักตัดสินใจจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นเป็นการภายในเอง โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายของอิรัก ทั้งนี้ ข้อหาที่ซัดดัมได้รับทั้งหมด ล้วนแล้วแต่มีโทษประหารทั้งสิ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า สหรัฐอเมริกายืนยันเสียงแข็งมาตลอด อย่างไรเสียก็จะไม่ลงนามให้สัตยาบันสนธิสัญญาจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังเที่ยวข่มขู่ประเทศอื่นๆอีก ใครอยากให้สัตยาบันก็เชิญตามสบาย แต่ต้องทำข้อตกลงยกเว้นไว้ด้วยว่าเมื่อรัฐสมาชิกให้สัตยาบันไปแล้วจะไม่นำมาใช้บังคับกับสหรัฐอเมริกา

คงเกรงว่าสักวันหนึ่งจอร์จ บุช อาจต้องกลายเป็นจำเลยในความผิดอาชญากรรมสงครามต่อศาลอาญาระหว่างประเทศกระมัง

เห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า
นี่มันการเมืองระหว่างประเทศในยุคเรือปืนหรือเปล่า?
แล้วเราจะมีกฎหมายระหว่างประเทศทำไม?
แล้วเราจะเรียนจะสอนกฎหมายระหว่างประเทศไปเพื่ออะไร?
สหประชาชาติมีไว้เป็นเสือกระดาษอย่างนั้นหรือ?

......................

ศาลพิเศษแห่งอิรักได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่นักกฎหมายและองค์กรเอกชนระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความชอบธรรมทางกฎหมายในการจัดตั้งศาลและกระบวนการพิจารณาคดีที่อาจจะไม่เป็นธรรมต่อจำเลย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอเมริกายืนยันตลอดว่าศาลแห่งนี้จัดตั้งขึ้นโดยเจตจำนงของชาวอิรักเอง รัฐบาลอิรักต้องการจัดตั้งศาลพิเศษของตนเพื่อพิจารณาคดีเพราะเห็นเป็นเรื่องภายในของประเทศตน และไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

นี่ก็เป็นเหตุผลทางการเท่านั้น แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่าสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้คดีของซัดดัมอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะจะหลุดพ้นจากการควบคุมและแทรกแซงของตนไป


รายงานขององค์กรเอกชน Human Rights Watch ยืนยันว่ารัฐสภาอเมริกาได้อนุมัติเงินช่วยเหลือจำนวน ๑๒๘ ล้านตอลล่าร์ให้แก่รัฐบาลอิรักในการจัดตั้งที่ทำการศาลพิเศษแห่งอิรัก เงินเดือนของเจ้าหน้าที่ การเก็บหลักฐาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเชิญผู้เสียหายทั้งหลายมาให้การ การให้เงินอุดหนุนนี้อาจส่งผลให้การพิจารณาคดีของศาลพิเศษแห่งอิรักเสียความเป็นกลางไป

รายงานยังกังวลอีกว่ากระบวนการพิจารณาคดีไม่ให้หลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาอย่างพอเพียง ผู้พิพากษาทุกคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ซึ่งเป็นคู่อริของซัดดัม กระบวนการคัดค้านผู้พิพากษาก็ไม่มี อีกทั้งจำเลยยังไม่มีสิทธิในการขอดูเอกสารต่างๆอีกด้วย

เมื่อเข้าไปในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของศาลพิเศษแห่งอิรัก http://www.iraq-ist.org/en/home.htm แล้ว ก็ไม่พบรายละเอียดมากเท่าไรนัก มีเพียงกฎหมายจัดตั้งศาลและสรุปกระบวนการพิจารณาไว้อย่างสั้นๆเพียง ๗ ข้อ สหรัฐอมริกาและรัฐบาลอิรักพยายามเก็บทุกอย่างไว้เป็นความลับ ประเด็นนี้สร้างความลำบากใจแก่องค์กรเอกชนทั้งหลายที่จับตามองการพิจารณาของศาลพิเศษแห่งอิรัก ว่าเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่ออิรักซึ่งมีอธิปไตยเป็นของตนเองแสดงเจตนา (แม้ว่ารัฐบาลอิรักชุดใหม่หลังระบอบซัดดัมจะเกิดขึ้นด้วยฝีมือของกองทัพอเมริกันก็ตาม) เช่นนี้ ประชาคมระหว่างประเทศก็ไม่อาจแทรกแซงได้ คงได้แต่ภาวนาว่าศาลแห่งนี้จะมีกระบวนการพิจารณาที่เป็นธรรมอยู่บ้าง

เอาเข้าจริง สิ่งที่นักกฎหมายอย่างผมไม่อยากเห็น แต่ความจริงก็เป็นที่ประจักษ์ชัด ก็คือ กระบวนการทางกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับคดีซัดดัมในขณะนี้ก็เป็นเพียงรูปแบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อหาความชอบธรรมให้สหรัฐอเมริกาในการตอบประชาคมโลกได้เท่านั้นเอง อย่างที่รู้กัน ผลสุดท้ายคงไม่ผิดไปจากที่ชาวโลกคาดการณ์ไว้

ไม่แน่ คำกล่าวที่ว่า “กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายแต่อยู่ที่ปืน” หรือ “กฎหมายระหว่างประเทศไม่มีคุณค่าเหลืออีกแล้วนับแต่สหรัฐอเมริหาแหกมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการบุกอิรัก” อาจเป็นจริงในยุคของเรา

วันจันทร์, ตุลาคม 10, 2548

เนื่องมาจากบล็อกตอนพระราชอำนาจ

ก่อนอื่นต้องขอบคุณ Pol_us ที่นำบล็อกตอน “พระราชอำนาจกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่ผมเขียนขึ้นไปเผยแพร่ในบล็อกของเขา บังเอิญว่าผมโพสตอนนี้ลงในบล็อกของผมแล้วมันหายไปดื้อๆเลย กู้กลับมาก็ไม่ได้ ดีที่ได้ความรอบคอบของปิ่น ปรเมศวร์ช่วยนำไปโพสเก็บไว้ในบล็อกของเขา ประกอบกับ Pol_us นำไปเผยแพร่อีก ทำให้ข้อเขียนของผมยังอยู่ในโลกไซเบอร์สเปซ

ผมอ่านคนที่มาแสดงความเห็นในบล็อกของ Pol_us แล้ว มีคนที่ใช้นามว่า “เซนเซอร์” เข้ามาวิจารณ์งานของผม

เป็นธรรมดา เมื่อมีผู้ใดมาวิจารณ์แล้วเราคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็จำเป็นต้องอรรถาธิบายกลับไป ผมลองไปโพสในบล็อกของ Pol_us แล้ว แต่ทางพันทิปอนุญาตให้เฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่โพสได้ ผมเลยต้องกลับรังของผมเพื่อมาอธิบายให้คุณเซนเซอร์ เข้าใจ
รบกวนพี่ Pol_us หรือใครที่รู้จักคุณเซนเซอร์ ช่วยบอกให้คุณเซนเซอร์ เข้ามาอ่านคำชี้แจงของผมด้วย

...............

-๑-
ข้อวิจารณ์ของคุณเซนเซอร์


เป็นบทความที่มีจุดอ่อนในแนวความคิดและข้อเท็จจริงอยู่อย่างมากครับผมจะพูดถึงเฉพาะที่เป็นข้อเขียนของบทความนี้ จะยกเฉพาะที่อยู่ในบทความนี้ เพื่อให้สั้นๆหน่อย เพราะถ้าจะแสดงความเห็นเรื่องนี้จริงๆคงต้องยาวมากๆ

1. จากบทความ "ข้อแรก ผมพูดถึงระบอบไม่ใช่ตัวบุคคล ขอให้ท่านสร้างจินตภาพว่าเมืองไทยปกครองในระบอบนี้โดยอย่าพึ่งดูว่าใครเป็นกษัตริย์ ใครเป็นนายกฯ"

- เริ่มต้นของบทความก็ตั้งสมมติฐานที่ไม่ตรงกับสภาพและข้อเท็จจริงแล้ว ในความเห็นของผมกล่าวได้ว่าบทความนี้จบตั้งแต่ตอนนี้แล้ว

2. "หากพระมหากษัตริย์ยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยอีกและพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว"

- ผู้เขียนยกมาก็ดีแล้ว ผมมีคำถามว่า แล้วถ้าเกิน 30 วัน จะตีความว่าอย่างไร และควรใช้หลักการใดบ้างในการตีความ

3. อย่างไรก็ตาม แม้เราจะยอมรับว่าพระราชอำนาจในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญนั้นมีจริงในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่พระราชอำนาจเช่นว่าก็ไม่อาจหลุดจากกรอบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้

- พระองค์ท่านเคยมีพระราชดำรัสในโอกาส 5 ธันวา ครั้งหนึ่งแล้วว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าผู้เขียนต้องการศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง ก็ควรไปหาเทปมาดู แล้วขบคิดพิจารณาหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วจะรู้ว่าลึกซึ้งกว่าที่เคยเข้าใจ

4. The King Can Do No Wrong

บทนี้ เป็นบทที่แย่ที่สุดของผู้เขียน โดยเฉพาะ "ต่อไปการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงคงไม่ต้องวิ่งฝ่ายการเมืองแต่วิ่งฝ่ายอื่นแทนกระมัง"แสดงให้เห็นแนวความคิดของผู้เขียนว่าคงจะนิยมการวิ่งบอกได้แต่ว่า ทุกครั้งที่ทรงใช้"อำนาจ" ทรง"รับผิดชอบ" เสมออาจเกินกว่าที่ผู้เขียนบทความจะเข้าใจ

โดย: <เซ็นเซอร์> วันที่: 8 ตุลาคม 2548 เวลา:17:30:07 น.

-๒-
ตอบคุณเซ็นเซอร์

๑. ผมออกตัวเช่นนั้นก่อน ก็เพราะ ต้องการอธิบายว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องเป็นเช่นไร

ผมเข้าใจดีว่าของไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะ แต่ที่มันเฉพาะมันไม่ได้จะอยู่ตลอดกาลนะครับ หากเป็นเฉพาะองค์ปัจจุบันที่มีพระบารมีมาก ถ้าสำรวจนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ก็จะพบว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในแต่ละรัชกาล ก็ไม่เหมือนกัน

ที่ผมออกตัวแบบนี้ไปก่อน ก็เพื่อให้เข้าใจว่าโดยหลักแล้วระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ควรเป็นเช่นไร

ส่วนที่คุณเซนเซอร์บอกว่า “ในความเห็นของผมกล่าวได้ว่าบทความนี้จบตั้งแต่ตอนนี้แล้ว” ก็เป็นดุลพินิจของคุณเอง ผมไม่ขอก้าวล่วง

๒. ผมไม่เข้าใจที่คุณเซนเซอร์ถาม

ตัวบทมาตรา ๙๔ ก็เขียนชัดแล้วว่าถ้าในหลวงไม่ลงพระปรมาภิไธยและส่งคืนภายใน ๓๐ วัน นายกฯก็ประกาศใช้ได้

ถ้าเกิน ๓๐ วันดังที่คุณเซนเซอร์ถาม นายกฯ ก็ต้องประกาศใช้กฎหมายได้สิครับ ไม่เห็นต้องตีความอะไรเลย คุณลองอ่านมาตรา ๙๔ ดีๆละกัน ช้าๆอย่ารีบ อย่าใจร้อนรีบมาตอบโต้ผม คุณก็จะรู้เอง

อ่านดีๆนะครับ

มาตรา ๙๔
“... เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”

ผมเน้นตัวหนาไว้เลย เพื่อให้คุณเซนเซอร์อ่านให้เคลียร์

๓. ผมไม่เคยบอกว่าในหลวงตรัสว่าพระองค์ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ แต่ผมเขียนบทความเพื่อสื่อไปยัง “นักจงรักภักดีเฉพาะกิจ” ทั้งหลาย ที่พยายามเอาพระองค์มาแอบอ้างเพื่อหวังผลอื่นๆ โดยยกว่าพระองค์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

ผมย้อนไปดูในบทความที่ผมเขียน ไม่มีตรงไหนที่ผมบอกว่าพระองค์ยืนยันว่าพระองค์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

จึงไม่จำเป็นที่ต้องไปหาเทปพระราชดำรัส ๕ ธันวา (จริงๆต้อง ๔ ธันวานะครับ) อย่างที่คุณบอก

๔. ผมขอคำอธิบายให้ชัดเจนสักนิดว่าที่คุณเซนเซอร์บอกว่าตอนนี้แย่ที่สุดนั้นแย่อย่างไร ขอความกรุณาชี้แจงให้กระจ่าง การบอกว่าสิ่งใดแย่ควรมีเหตุผลประกอบ การกล่าวหาว่าโดยไม่แสดงเหตุผลก็คล้ายกับกล่าวหาแล้วไม่รับผิดชอบนั่นเอง

ถ้าใช้ตรรกะเดียวกับคุณเซนเซอร์ ผมก็อาจกล่าวเช่นกันว่า ข้อวิจารณ์ของคุณในตอนนี้แย่ที่สุด

ช่วยอธิบายให้ผมทราบด้วยว่าที่ผมเขียนหลัก The King Can Do No Wrong นั้นมีข้อบกพร่องตรงไหน ผมจะได้มาชี้แจงคุณถูก

การตัดบางวรรคในงานของผมมา แล้วเหมาเอาว่าผมนิยมการวิ่งเต้น เป็นการกล่าวหาที่ตื้นเขินที่สุดเท่าที่ผมพบเห็น ผมวิจารณ์ว่ามีการวิ่งเต้นไม่จำเป็นที่ผมต้องเห็นดีเห็นงามกับการวิ่งเต้น ก็เพราะผมวิจารณ์ยิ่งแสดงว่าผมไม่เห็นด้วยกับการวิ่งเต้น ไม่เข้าใจตรรกะการให้เหตุผลของคุณในข้อนี้มากๆ

เช่นกัน ผมไม่เคยบอกเลยว่าพระองค์ไม่รับผิดชอบ นี่เป็นการตีความของคุณเอาเอง

แต่ที่ผมเน้นคือ เราควรต้องป้องกันพระองค์ออกจากการรับผิดชอบทางการเมือง

รบกวนคุณเซ็นเซอร์ช่วยมาตอบด้วย

รอคอยคำตอบของคุณเซนเซอร์อยู่

ด้วยมิตรภาพ

วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 06, 2548

๒๙ ปี ๖ ตุลา


รูปนายตำรวจคาบบุหรี่มาดเท่ห์ถือปืนลั่นไกยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างไม่สะทกสะท้านราวกับตนเป็นคาวบอยหรือเจ้าพ่อ อัล คาโปนก็มิปาน ผมจำความได้ว่าเห็นมันครั้งแรกเมื่อตอนผมอยู่ชั้นมัธยมต้น

ผมสงสัยจึงไตร่ถามพ่อ พ่อผมผู้เรียนหนังสือจบชั้นประถม ๔ เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า ๖ ต.ค. ๒๕๑๙ เกิดการล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตรโดยฝีมือของกลุ่มขวาจัดที่คิดว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นภัยต่อราชบัลลังก์ และมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ซับซ้อนจนไม่อาจเปิดเผยในที่สาธารณะได้

ด้วยความรู้เท่าหางอึ่งที่ยังแยกไม่ออกว่า ๑๔ ตุลา ๑๖ กับ ๖ ตุลา ๑๙ แตกต่างกันอย่างไร ผมจึงไปขอความรู้เพิ่มเติมจากมาสเตอร์สอนวิชาสังคมศึกษาที่โรงเรียน

มาสเตอร์บอกผมว่า นักศึกษาในช่วงนั้นเหิมเกริม กำเริบ คิดการณ์ใหญ่ จะเปลี่ยนแปลงเมืองไทยให้เป็นคอมมิวนิสต์ จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อนบ้านของเราเป็นคอมมิวนิสต์กันหมดแล้ว อีกไม่นานคอมมิวนิสต์จะเข้ามากินประเทศไทย ประชาชนจึงเกรงว่าไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์จึงต้องร่วมมือกันสู้กับนักศึกษา

สมควรกล่าวด้วยว่า บางครั้งมาสเตอร์ก็เรียกเหตุการณ์ ๑๖ ตุลา และมาสเตอร์คนเดียวกันนี้เคยบอกผมว่าปรีดีเป็นคนอยู่เบื้องหลังในกรณีสวรรคตในหลวงอานันท์

จนกระทั่งก้าวเข้าสู่มัธยมปลาย ผมเริ่มเสาะหาหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอ่าน เมื่อผมก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย จากการเรียนวิชาพื้นฐานตอนปี ๑ ที่อาจารย์ชาญวิทย์เป็นผู้สอน จากการค้นคว้าอ่านหนังสือสะสมเรื่อยมา ผมจึงเริ่มปะติดปะต่อพอเข้าใจว่า ๖ ตุลา มีที่มาและที่ไปอย่างไร

ผมพบว่าคนอย่างมาสเตอร์ในยุคสมัยนั้นคงมีมากเอาการ

มากถึงขนาดที่ฆ่านักศึกษาสายเลือดไทยเหมือนกันได้อย่างโหดเหี้ยม เลือดเย็น
มากถึงขนาดโห่ร้องสะใจยามเห็นนักศึกษาถูกฆ่าหรือทารุณกรรม
มากถึงขนาด “ฆ่าซ้ำสอง” ด้วยการนำเหล็กตอกซ้ำลงบนร่างของนักศึกษาที่สิ้นลมหายใจไปแล้ว
มากถึงขนาดเตะต่อยเอากับร่างไร้วิญญาณที่ถูกแขวนคอ
มากถึงขนาดสาดกระสุนเข้าไปในหมู่นักศึกษามือเปล่า
มากถึงขนาดลากเอานักศึกษาที่หลบภัยอยู่ในวัดออกมาให้ตำรวจจับ
และ มากถึงขนาดกระทำการอุกอาจเช่นว่ากลางท้องสนามหลวง หน้าพระราชวังและวัดพระแก้ว

....................

ตลอดวันนี้ทั้งวัน ผมเปลี่ยนชื่อในเอ็มเอสเอนเป็น “๖ ตุลา ลืมไม่ลง คนในรูปยังไม่ได้รับโทษ” แล้วเอารูปของนายตำรวจคนนี้ขึ้นโชว์

มีคนเข้ามาทักทายผมเป็นจำนวนมาก

“๖ ตุลา คืออะไรคะ”
“แล้วคนในรูปคือใครเหรอ”
“ตำรวจคนนี้เค้าไปทำอะไรคะ”
“พี่ๆ นี่โปสเตอร์ปิดหนังไทยสมัยก่อนเหรอ โคตรเท่เลย”

ไม่น่าแปลกใจที่ ๖ ตุลาถูกหลงลืมจากสายธารแห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกันที่บางคนเรียกเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา เป็น ๑๖ ตุลา

ผมนำรูปนายตำรวจคนนี้ขึ้นโชว์ในเอ็มเอสเอ็นและตั้งชื่อในเอ็มเอสเอ็นเช่นว่านั้น ไม่ใช่ว่าผมอาฆาตหรือเคียดแค้นนายตำรวจแต่อย่างใด ผมซึ่งเกิดไม่ทัน ย่อมไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเหตุการณ์ ๖ ตุลา พ่อแม่พี่น้องญาติสนิทมิตรสหายก็ไม่มีสักคนเดียวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม

ทว่าผมทำไปเพื่อเรียกความทรงจำแก่ผู้ผ่านเข้ามาในโลกไซเบอร์สเปซว่าสังคมไทยเคยเกิดเหตุการ์สังหารหมู่ ณ ใจกลางมหานคร ฆาตกรทั้งหลายยังไม่ได้รับโทษใดๆเลย ส่วนรูปภาพของนายตำรวจผมเห็นเป็นสัญลักษณ์ของ “อำนาจ” ที่ถือสิทธิในการ “ฆ่า” คนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

ภาวนาว่า ๖ ตุลา จะไม่ย้อนกลับมาเกิดกับสังคมไทยอีก เป็นเรื่องแปลก มนุษยชาติผ่านสงคราม การฆ่า การนองเลือด มาหลายต่อหลายครั้ง แต่มนุษย์ก็ไม่เคยเก็บมาเป็นบทเรียน

หรือมนุษย์จะเหมือนไดโนเสาร์ที่ต้องฆ่ากันเองจนสิ้นเผ่าพันธุ์ ?

ลุงธิ - น้าเหลี่ยม

ลุงธิ - น้าเหลี่ยม

โดย บล็อกเกอร์ออนไลน์ 9 กันยายน 2548 18.18 น.

หมายเหตุ : ข้อเขียนเรื่อง “ลุงธิ - น้าเหลี่ยม” นั้น มาจากใน “www.บล็อกเกอร์.co.th” ที่ผู้อ่านท่านหนึ่งใช้นามว่า 666 Post เข้ามาตรง “ความคิดเห็นที่ 19” เข้ามาท้ายเรื่อง “จากลุงธิถึงน้าเหลี่ยม (15)” ซึ่งเชื่อว่าใครที่ได้อ่านต้องสะ “ท้อน” ใจทุกคน

คลิกที่นี่ เพื่อฟังเสียงข้อเขียนชิ้นนี้ อ่านโดย ลุงธิ

ฉบับเต็มมีรูปแบบวิธีการวางย่อหน้าตามต้นฉบับดังนี้

................

ประทัดที่ ลุงธิ จุดขึ้นนัดแรก ใครเลยจะคิดว่าอานุภาพแรงกว่านิวเคลียร์เสียอีก งานนี้น้าเหลี่ยมคงคาดไม่ถึงเหมือนกันว่าจะมีมวลชนออกมาเป็นแนวร่วมกับลุงธิเยอะขนาดนี้

ลุงธิเดินหมากแรกด้วยรู้ว่าเล่นกับน้าเหลี่ยม คงไม่มีข้อหาใดที่จะทะลวงใจบรรดาลูกแกะได้เท่ากับข้อหา “นอกใจพ่อ” ลุงธิทิ้งระเบิดปูพรมก่อนด้วยการเขียนคอลัมน์ต่อว่าน้าเหลี่ยม ด้วยความช่วยเหลือของมือขวา –คลำนาน รามบุตรา- ลุงธินำบทความของตนและคนอื่นๆที่เขียนว่าน้าเหลี่ยมนอกใจพ่อลงในสื่อของตนอย่างต่อเนื่อง

ลุงธิคงลืมความหลังครั้งเก่าก่อนไปแล้วว่า เมื่อ ๔ ปีก่อนลุงธิยังรักกับน้าเหลี่ยมอย่างดูดดื่ม น้าเหลี่ยมตด ลุงธิก็ว่าหอม น้าเหลี่ยมเอาเงินไปซ่อน ลุงธิก็ว่าเรื่องเล็กน้อย ผิดพลาดกันได้ ควรให้น้าเหลี่ยมทำงาน น้าเหลี่ยมจะสร้างหนี้ จะแจกเงิน ลุงธิก็ไม่เคยพูดถึงความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ใครว่าน้าเหลี่ยม ลุงธิพร้อมจะแอ่นอกออกรับแทนเสมอ

ลุงธิต่อว่าน้าเหลี่ยมสารพัด ตั้งแต่น้าเหลี่ยมผิดกาลเทศะที่ไปวัดย่านสนามหลวงเพื่อทำพิธี น้าเหลี่ยมชอบสร้างหนี้ ใช้เงินฟาด น้าเหลี่ยมสนับสนุนอบายมุข น้าเหลี่ยมปลดเจ้าสำนักวัด น้าเหลี่ยมคิดนอกใจพ่อ ไม่เห็นหัวพ่อ น้าเหลี่ยมไม่ยึดมั่นคำที่พ่อสั่งสอน น้าเหลี่ยมไม่สมาทานการอยู่กินพอเพียง น้าเหลี่ยมขึ้นป้ายภาพตัวเองในชุดเต็มยศ น้าเหลี่ยมชักใยให้เอาเจ๊ นักตรวจออกจากตำแหน่ง น้าเหลี่ยมแต่งตั้งพวกพ้อง น้าเหลี่ยมจะสร้างอาณาเขตของน้าเหลี่ยมเสียเอง

ลุงธิเป็นสื่อที่มากความสามารถอย่างหาตัวจับยาก ลุงธิใช้วิชาชักแม่น้ำสารพัดสายโยงเข้าหาน้าเหลี่ยมเพื่อกล่าวหาน้าเหลี่ยมข้อหาเดียวว่าน้าเหลี่ยมนอกใจพ่อ

แม้ลุงธิจะตำหนิน้าเหลี่ยมสม่ำเสมอ แต่ลุงธิก็บอกว่าทำไปเพราะลุงธิเป็นกัลยาณมิตรกับน้าเหลี่ยมจึงต้องออกมาเตือนบ้าง

ลูกแกะสงสัยกันมากว่าทำไมลุงธิจึง “เปลี้ยนไป๊” ได้เพียงนี้ บ้างว่าลุงธิไม่พอใจน้าเหลี่ยมเรื่องเจ้าสำนักวัดแห่งแดนอีสาน บ้างว่าลุงธิไม่พอใจเรื่องสถานีออกอากาศที่ลุงธิอยากได้ แต่ลุงธิยืนยันเสมอมาว่าลุงธิทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ลุงธิให้โอกาสน้าเหลี่ยมามากพอแล้ว แต่น้าเหลี่ยมทำไม่ได้อย่างที่พูด ลุงธิจึงต้องขอคิดบัญชี

ลุงธิเป็นนักจับจังหวะ จับอารมณ์ของมวลลูกแกะที่สูสีกับน้าเหลี่ยม เมื่อเกิดประเด็น เจ๊ นักตรวจ เข้าอีก กระแสที่ลุงธิปลุกไว้ก็เริ่มขยายตัว ก็บังเอิญว่า เจ๊ นักตรวจ ได้รับการโปรโมทขึ้นจนราศีเริ่มจับ กระแสว่าน้าเหลี่ยมนอกใจจึงแรงขึ้น

ต่อมาลุงธิได้พันธมิตรคนใหม่ คือ เฒ่าอกหัก แดนสามหมอก

เฒ่าอกหักยำหนังสือออกมาสองเล่ม ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า พิมพ์แล้วพิมพ์อีกก็ยังไม่พอต่อความต้องการของเหล่าลูกแกะทั้งหลาย ลุงธิเอาหนังสือของเฒ่าอกหักลงเผยแพร่ในสื่อของตนด้วย แต่ละวันมีบรรดาลูกแกะเข้ามาอ่านจำนวนมาก

สถานศึกษาย่านท่าพระจันทร์เปิดโอกาสให้ลุงธิและเฒ่าอกหักไปพูดเรื่องน้าเหลี่ยมนอกใจพ่อ ลูกแกะไปฟังอย่างมืดฟ้ามัวดิน

ลุงธิเป็นนักพูดฝีปากดี เรียกเสียงเชียร์จากลูกแกะได้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับลูกแกะเกิดอาการเหม็นเบื่อน้าเหลี่ยมเสียแล้ว ทั้งๆที่ไม่กี่เดือนก่อน เหล่าลูกแกะเกือบ ๒๐ ล้านตัวยังไปเลือกน้าเหลี่ยมให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านอยู่เลย ลูกแกะฟังลุงธิจนเคลิ้ม พลางคิดว่าน้าเหลี่ยมคงนอกใจพ่อจริงๆ

ลุงธิและเฒ่าอกหักยิ่งได้ใจ ตั้งตนเป็นผู้ปกป้องพ่อ

น้าเหลี่ยมออกมาปฏิเสธว่าตนยังรักพ่อเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เคยคิดนอกใจพ่อแม้แต่น้อย คนที่กล่าวหาตนนั่นแหละ ระวังเหาจะขึ้นศีรษะ

ลุงธิยังคงแหย่น้าเหลี่ยมต่อไปด้วยการเอานิยายเรื่องหนึ่งที่เสียดสีน้าเหลี่ยมว่านอกใจพ่อไปอ่านออกอากาศ

น้าเหลี่ยมเป็นคนเลือดร้อน อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เมื่อมาถึงขั้นนี้ น้าเหลี่ยมก็ทนไม่ไหว จึงสั่งให้เต๋อ ธงธง และเจ๊มิ่ง จัดการเอารายการของลุงธิออกจากสถานี ด้วยข้อหาที่ว่าลุงธิเองนั่นแหละที่นอกใจพ่อ

น้าเหลี่ยมหารู้ไม่ว่าตนเดินหมากผิดเสียแล้ว ข้อหานอกใจพ่อเอง น้าเหลี่ยมยังแก้ไม่หลุด ยังมาสร้างข้อหารุกรานสื่อเพิ่มขึ้นอีก ลุงธิเลยได้แนวร่วมใหม่ จากเดิมที่ลุงธิมีแนวร่วมแค่ลูกแกะบางฝูง คราวนี้ลุงธิได้เพื่อนสื่อทุกค่ายและคนสอนหนังสือเรื่องสื่อมาเป็นพวกอีก

ขนาดสื่อคู่ปรับลุงธิอย่าง หัวใส กรั่บกรั่บ และ เจิม รู้ทัน ยังเข้าข้างลุงธิ

ลุงธิมีสื่อในมืออีกหลายชิ้นที่น้าเหลี่ยมแทรกแซงไม่ได้ ข้อหาที่ผูกมัดน้าเหลี่ยมเริ่มหนักขึ้นๆจากการเผยแพร่ตามสื่อของลุงธิ

น่าแปลกใจไม่น้อย มีลูกแกะบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของลุงธิและแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ แต่สื่อของลุงธิเองกลับไม่ปรากฏความเห็นเล่านั้น สื่อของลุงธิมีแต่ข้อความเห็นดีเห็นงามกับลุงธิ ให้กำลังใจลุงธิ ยกย่องลุงธิเป็นวีรบุรุษ

ลุงธิจึงเพิ่มพลังวัตรเข้าไปอีกด้วยการพาดหัวบนสื่อของลุงธิเสียเลยว่า “เรา (ลุงธิและหมู่ลูกแกะ) จะสู้เพื่อพ่อ”

ในสายตาของเหล่าลูกแกะเอง น้าเหลี่ยมก็ไม่น่าไว้วางใจอยู่แล้ว ไหนจะชอบขโมยเงินไปอย่างแนบเนียน ไหนจะเลือกที่รักมักที่ชัง ไหนจะบ้าอำนาจ ไหนจะเป็นมือปราบปืนโหด เมื่อเกิดข้อหาใหม่ๆขึ้นอีก เครดิตของน้าเหลี่ยมก็ลดฮวบ

ลุงธิเปิดเกมใหม่เข้าหาปัญญาชนด้วยการไปจัดรายการ ณ สถานศึกษาย่านท่าพระจันทร์ ลุงธิได้แนวร่วมใหม่ๆจำนวนมาก ก็สถานศึกษาแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับอำนาจ ลูกแกะแห่กันมาฟังลุงธิเล่นงานน้าเหลี่ยมทุกสัปดาห์ ผลิตภัณฑ์ที่ลุงธิจำหน่ายขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทั้งเสื้อยืดที่ใส่แล้วจะกลายเป็นผู้พิทักษ์พ่อ ทั้งเพลงปลุกใจ ทั้งวีซีดีรายการที่ลุงธิตำหนิน้าเหลี่ยม

ลูกแกะชอบใจลุงธิ เพราะลุงธิจับจริตของลูกแกะออกตรงที่ลูกแกะเริ่มไม่นิยมน้าเหลี่ยม แต่ก็ไม่มีใครกล้าต่อกรกับน้าเหลี่ยม ลุงธิจึงสวมบทอัศวินขี่ม้าขาวนำพาฝูงแกะไปชนกับน้าเหลี่ยมด้วยตนเอง บทบาทเช่นนี้นับว่าได้ใจลูกแกะยิ่งนัก

ในสายตาของลูกแกะ ลุงธิเปรียบเสมือนฮีโร่ผู้กล้าต่อกรกับมวยเฮฟวี่เวทอย่างน้าเหลี่ยม

ลุงธิยังเดินหมากทางกฎหมายอย่างโก้ไม่หยอก ด้วยการฟ้องน้าเหลี่ยมในโรงในศาลเพื่อให้น้าเหลี่ยมชดใช้เงิน ๑ หน่วยเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของสื่อมวลชน น้าเหลี่ยมก็ฟ้องกลับลุงธิให้ลุงธิชดใช้เงิน ๕๐๐ ล้านหน่วย

ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน ยามชังน้ำตาลยังว่าขม ลูกแกะออกมาเห็นใจลุงธิว่าโดนน้าเหลี่ยมรังแก ลูกแกะบางตัวเปรียบเทียบไปถึงว่าค่าตัวลุงธิตั้ง ๕๐๐ ล้านหน่วยแต่ค่าตัวน้าเหลี่ยมแค่หน่วยเดียว

ขณะนี้ลุงธิถือไพ่เหนือน้าเหลี่ยมเล็กน้อย ไม่รู้ว่าลุงธิจะอุ้มกระแสรักพ่อไปได้นานเท่าไร แต่ดูเหมือนว่าลุงธิเริ่มเปลี่ยนเกมอีกครั้ง ด้วยการลดกระแสรักพ่อลงไป เพราะลุงธิรู้ดีว่าข้อหานี้ที่ยกมาโจมตีน้าเหลี่ยมไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไรนักและคงใช้ได้ไม่นาน

ลุงธิกลับไปเล่นงานน้าเหลี่ยมโดยตรงทั้งเรื่องขโมยเงิน บ้าอำนาจ รักพวกพ้อง เป็นมือปราบปืนโหด ด้วยเหตุว่าลุงธิมีแนวร่วมจำนวนมากแล้วนั่นเอง ลุงธิจึงไม่จำเป็นต้องโหนกระแสแบบเดิม แนวร่วมของลุงธิมีทั้งฝูงแกะสอนหนังสือ ฝูงแกะสมองดี ฝูงแกะเอกชน ฝูงแกะซ้ายเก่า ฝูงแกะเพื่อชีวิต ฝูงแกะสื่อมวลชน ฝูงแกะฝ่ายค้าน ฝูงแกะชาวบ้าน ฝูงแกะรู้ทันน้าเหลี่ยม

แนวร่วมของลุงธิทั้งหมดนี้มารวมกันด้วยเจตนาเดียว คือ ไม่เอาน้าเหลี่ยม

น้าเหลี่ยมคงประเมินฝีมือลุงธิผิดไปจริงๆ น้าเหลี่ยมคงไม่คาดว่าการปลดรายการลุงธิ การฟ้องลุงธิ จะเป็นการสร้างแนวร่วมมุมกลับให้แก่ลุงธิไปในตัวโดยที่ลุงธิไม่ต้องเสียเหงื่อสักหยด

บทเรียนครั้งนี้สอนน้าเหลี่ยมเป็นอย่างดีว่า งูกับลุงธิ ให้ตีลุงธิก่อน

................

ลุงธิยังคงเล่นงานน้าเหลี่ยมต่อไป...ต่อไป...และต่อไป

ลูกแกะทั้งหลาย ตื่นเถิด ตาสว่างได้แล้ว ชีวิตนี้ของพวกท่านทุกวันศุกร์ต้องไปฟังรายการ “ลุงธิอัดน้าเหลี่ยม” โดยไม่ต้องมีข้ออ้างใดๆมารองรับ...

กราบอกลุงธิ