วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 20, 2548

ซัดดัม ฮุสเซน : จำเลยของโลกหรือจำเลยของสหรัฐอเมริกา ?



วันนี้ -๑๙ ต.ค. ๒๐๐๕- ศาลพิเศษแห่งอิรักได้เปิดกระบวนพิจารณาคดีสำคัญคดีหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ คือ คดีกล่าวหาว่าซัดดัม ฮุสเซนและพวกอีก ๗ คนมีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการเข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ๑๔๓ คนในเมือง Doujaïl เมื่อปี ๑๙๘๒

อดีตเผด็จการแห่งอิรักในวัย ๖๗ ปีขึ้นศาลอย่างองอาจในชุดสูทสีเทาพร้อมเสื้อเชิ้ตสีขาวปราศจากเน็คไท ผู้พิพากษา Rizkar Mohammed Amine ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ซัดดัมว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม ใช้กำลังเข้าปราบปราม หน่วงเหนี่ยวกักขัง และทรมาน ตลอดจนไม่เคารพกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ความผิดส่วนตัวเหล่านี้มีโทษประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญาของอิรัก ซึ่งซัดดัมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยืนยันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์

ตลอดการไต่สวน ซัดดัมใช้วิธีการนิ่งไม่ตอบคำถามใดๆ แต่สวนผู้พิพากษา Amine กลับไปด้วยคำพูดที่ว่า “คุณเป็นใคร คุณต้องการอะไร” ซัดดัมยังอ้างกฎหมายอยู่บ่อยครั้งว่า “ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ในฐานะประมุขของรัฐ ผมมีสิทธิไม่ตอบคำถามใดๆ” ซัดดัมยังปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจของศาลด้วยเหตุผลที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในศาลนี้ไม่มีฐานที่มาที่ถูกต้อง

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ปีก่อน ซัดดัม ฮุสเซนได้ถูกพาตัวไปขึ้นศาลพิเศษแห่งอิรักครั้งหนึ่ง ผู้พิพากษาให้ซัดดัมแนะนำตนเอง

“ผมคือซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีแห่งอิรัก” เขายืนยัน และย้ำอีกครั้งว่า “ผมคือ ซัดดัม ฮุสเซน อัล มาจิด (แปลว่า ผู้ยิ่งใหญ่) ประธานาธิบดีแห่งอิรัก”

เมื่อผู้พิพากษาแย้งว่า “ไม่ใช่ คุณเป็นอดีต”

ซัดดัมยืนกรานว่า “ไม่ ปัจจุบัน และได้รับเลือกมาจากประชาชน” เขายังถามกลับไปด้วยว่า “แล้วคุณล่ะเป็นใคร? ได้รับการแต่งตั้งจากกฎหมายใด กระบวนการยุติธรรมในอิรักต้องเป็นตัวแทนประชาชน แต่คุณเป็นตัวแทนของไอ้พวกกองกำลังที่มายึดครองอิรัก คุณปราบปรามชาวอิรักตามคำสั่งของไอ้กองกำลังนั่น”

ผู้พิพากษาได้แจ้งแก่ซัดดัมว่าเขามีสิทธิในการมีทนายความ ซัดดัมตอบกลับอย่างประชดประชันว่า “แหม ไอ้พวกอเมริกามันบอกว่าผมมีเงินหลายล้านฝากอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ถ้างั้น ผมก็ขอตั้งทนายความสักคนละกัน”

การพิจารณาคดีนี้นัดต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ซึ่งทนายความของซัดดัม Khalil al-Doulaïmi ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปอีก ๓ เดือน

.....................

ซัดดัมและทนายความต้องการเดินหมากเดียวกับสโลโบดัน มิโลเซวิช อดีตผู้นำยูโกสลาเวียที่โดนข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และเป็นอาชญากรสงคราม คดีของมิโลเซวิชกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลระหว่างประเทศในกรณียูโกสลาเวียซึ่งสหประชาชาติได้จัดตั้งขึ้น ณ กรุงเฮก ประเทศฮอลแลนด์ มิโลเซวิชอาศัยช่องว่างของวิธีพิจารณาที่เปิดโอกาสให้มิโลเซวิชให้การได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับยังมีการเผยแพร่การพิจาณาคดีทางสื่อโทรทัศน์และอินเตอร์เนทอีกด้วย มิโลเซวิชจึงให้การด้วยการพูดเรียกร้องความชอบธรรม ความถูกต้อง และความเห็นอกเห็นใจ

กล่าวให้ถึงที่สุด มิโลเซวิชกำลังเล่นกับ “สื่อ” ด้วยการเรียกคะแนนนิยมจากชาวเซอร์เบียนั่นเอง

ดูเหมือนว่ากลยุทธของมิโลเซวิชจะได้ผลเสียด้วย เพราะเกิดปฏิกริยาทางการเมืองตอบรับไปในทางที่เป็นคุณแก่มิโลเซวิชอยู่พอควร

ซัดดัมเองก็ตั้งใจจะใช้มุขนี้ ทว่ากระบวนพิจารณาของศาลพิเศษแห่งอิรักกับกระบวนพิจารณาของศาลระหว่างประเทศในกรณียูโกสลาเวียแตกต่างกันสิ้นเชิง ในศาลพิเศษแห่งอิรัก จำเลยไม่มีสิทธิในการให้การใดๆได้ถ้าผู้พิพากษาไม่ได้ถาม อีกนัยหนึ่งผู้พิพากษาเป็น “ผู้เล่นหลัก” ในกระบวนพิจารณาคดีนั่นเอง ในขณะที่ศาลระหว่างประเทศในกรณียูโกสลาเวียหรือศาลระหว่างประเทศในกรณีรวันดาตลอดจนศาลอาญาระหว่างประเทศจะเปิดโอกาสให้จำเลยให้การได้มากกว่า

สังเกตได้จากกระบวนการพิจาณาคดีที่ซัดดัมพยายามพูดเพื่อทำลายความชอบธรรมของศาลและกองกำลังอเมริกา แต่ก็ถูกผู้พิพากษาตัดบทเสมอ

ในส่วนของการเปิดเผยกระบวนพิจารณาทางสื่อนั้น สหรัฐอเมริกาเห็นบทเรียนจากคดีมิโลเซวิช จึงไม่ยอมเป็นอันขาดที่จะเปิดโอกาสให้ซัดดัม “เล่นกล้อง” เหมือนมิโลเซวิช ด้วยเหตุนี้ สหรัฐอเมริกาจึงยอมให้เผยแพร่การพิจารณาคดีซัดดัมได้ภายใต้การควบคุมของกองทัพอเมริกันเท่านั้น

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาผลักดันให้รัฐบาลอิรัก (ซึ่งมะกันก็ชักใยอยู่) จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีซัดดัมเองโดยไม่พึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศหรือให้สหประชาชาติจัดตั้งศาลพิเศษให้

ไม่เพียงแต่กระบวนพิจารณาในคดีของซัดดัมและคดีมิโลเซวิชที่แตกต่างกันเท่านั้น ในส่วนของรูปคดีก็ยังไม่เหมือนกันอีกด้วย กล่าวคือ แม้โดยเนื้อหาของคดีจะคล้ายกันที่ข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่กรณีของมิโลเซวิช ถูกฟ้องเป็นคดีเดียว ส่วนกรณีซัดดัมนั้น ถูกฟ้องเป็น ๑๒ คดี ในการกระทำความผิดหลักๆ ๗ ครั้งตลอดที่ซัดดัมครองอำนาจตั้งแต่ ๑๙๖๘-๒๐๐๓ ได้แก่

๑.) การสังหารหมู่สมาชิกกลุ่มชาวเคิร์ดแห่งบาร์ซานี่ ปี ๑๙๘๓
๒.) ปฏิบัติการ "Anfal" สังหารชาวเคิร์ด ปี ๑๙๘๘
๓.) การรมแก๊ซสังหารชาวเคิร์ดที่เมือง Halabja ปี ๑๙๘๘
๔.) การรุกรานคูเวต ปี ๑๙๙๐
๕.) การปราบกบฏชีอะห์ ปี ๑๙๙๑
๖.) การวางแผนฆาตกรรมหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามหลายครั้ง
๗.) การวางแผนฆาตกรรมผู้นำทางศาสนาฝ่ายตรงกันข้ามหลายครั้ง

เรียกได้ว่า คดีที่เปิดกระบวนพิจารณาเมื่อวันที่ ๑๙ ต.ค. เป็นเพียงส่วนจิ๊บจ๊อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับข้อกล่าวหาที่เหลือ

อาจสงสัยกันว่า เหตุใดจึงไม่รวมคดีของซัดดัมเข้าเป็นคดีเดียวไปเลยเพราะฐานความผิดก็เหมือนกันคือ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลทางกฎหมายที่ความผิดของซัดดัมเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระและมีข้อเท็จจริงต่างกัน อีกส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลทางกลยุทธของอเมริกา เมื่อแบ่งเป็นหลายๆคดี อาจมีคดีใดคดีหนึ่งที่พิจารณาเสร็จก่อนจะได้ลงโทษซัดดัมได้ทันที เพราะในทุกคดี โทษคงหนีไม่พ้นประหารหรือจำคุกตลอดชีวิตเป็นแน่

......................

กล่าวสำหรับศาลพิเศษแห่งอิรักนี้ ก่อตั้งเมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๐๐๓ (ก่อนจับซัดดัมได้ ๓ วัน) โดยอดีตผู้ปกครองอิรักชั่วคราวชาวอเมริกันนาม Paul Bremer เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอาชญากรรมที่เกิดแก่ชาวอิรักในสมัยซัดดัมเรื่องอำนาจตั้งแต่ ๑๗ ก.ค. ๑๙๖๘ ถึง ๑ พ.ค. ๒๐๐๓ เรียกได้ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อเล่นงานซัดดัมและพวกโดยตรง

ศาลนี้ประกอบไปด้วยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษา ๕ คน มีวาระ ๕ ปี ศาลอุทธรณ์มีผู้พิพากษา ๙ คนและคณะลูกขุนอีก ๒๐ คน มีวาระ ๓ ปี นอกจากนี้ยังมีอัยการอีก ๒๐ คนมีวาระ ๓ ปี รัฐบาลอิรักอาจตั้งผู้พิพากษาชาวต่างประเทศทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในฐานะผู้เชี่ยวชาญอาชญากรรมสงครามก็ได้ ปัจจุบันรัฐบาลอิรักได้ตั้ง Michael Scharf ศาตราจารย์กฎหมายระหว่างประเทศชาวอเมริกาขึ้นเป็นผู้พิพากษาผู้เชี่ยวชาญแล้ว สำหรับนาย Michael Scharf ผู้นี้ รัฐบาลอเมริกาได้ส่งมาเป็นตัวแทนเพื่อให้ความช่วยเหลือการจัดตั้งศาลพิเศษแห่งนี้

ในคดีของซัดดัม ผู้พิพากษาทั้ง ๕ คนไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรนัก ภูมิหลังของผู้พิพากษาทุกคนถูกเก็บเป็นความลับ สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอิรักอ้างว่าจำเป็นต้องรักษาความลับไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้พิพากษา แต่เท่าที่ทราบไม่มีผู้พิพากษาคนใดที่เป็นมุสลิมนิกายซุนนีห์เหมือนซัดดัม

ศาลพิเศษในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นศาลแรกที่เกิดขึ้นในวงการกฎหมายระหว่างประเทศ ก่อนหน้านั้นเรามีศาลระหว่างประเทศในกรณียูโกสลาเวียและศาลระหว่างประเทศในกรณีรวันดา แต่ทั้งสองศาลนี้ก็ได้รับการจัดตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติในหมวด ๗ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

เรียกได้ว่า เป็นศาลที่มีที่มาตามกฎหมายระหว่างประเทศและประชาคมโลกให้การยอมรับในนามของสหประชาชาตินั่นเอง

โดยทั่วไป การจัดตั้งศาลขึ้นเพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะย่อมทำมิได้ ในกรณียูโกสลาเวียและรวันดานั้น จะเห็นได้ว่าความผิดสำเร็จแล้วจึงมีการตั้งศาลขึ้นมาภายหลังเพื่อพิจารณาคดีเหล่านั้นโดยเฉพาะ แต่เนื่องจากกฎบัตรสหประชาชาติเปิดช่องไว้ และเป็นการทำในนามของสหประชาชาติอันเท่ากับว่าประชาคมโลกตกลงร่วมกันให้ทำได้

สหประชาชาติเล็งเห็นถึงจุดอ่อนของการจัดตั้งศาลพิเศษที่อาจขัดกับหลักกฎหมายดังกล่าว จึงริเริ่มให้มีการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้นโดยสนธิสัญญากรุงโรม มีผลใช้บังคับตั้งแต่ ๑ ก.ค. ๒๐๐๒ ปัจจุบันมีรัฐสมาชิกให้สัตยาบันยอมผูกพันกับสนธิสัญญานี้แล้วรวม ๙๗ ประเทศ

เป้าหมายหลักของการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศก็เพื่อพิจารณาบรรดาคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต นับแต่การฆ่าชาวยิวโดยนาซีสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ การสังหารคนจำนวนมากในชิลีสมัยนายพลปิโนเชต์ เหตุการณ์ “ทุ่งสังหาร” ในสมัยเขมรแดง การฆ่าชาวโคโซโวและบอสเนียในอดีตยูโกสลาเวีย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

ในอนาคตหากมีคดีทำนองนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นเป็นการเฉพาะ แต่ให้นำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งมีหลักประกันว่าเป็นศาลที่จัดตั้งเป็นการถาวร ทั่วไป ไม่เจาะจงกรณีใดกรณีหนึ่ง มีผู้พิพากษามาจากหลายประเทศที่เป็นกลาง ตลอดจนมีกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรม

ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อแย่งงานจากศาลภายในประเทศ เป็นอัตวินิจฉัยของรัฐสมาชิกเองว่าจะพิจารณาคดีเองให้เสร็จเสียก่อนหรือจะยื่นเรื่องให้พิจารณาศาลอาญาระหว่างประเทศเลยก็ได้ ความข้อนี้นับเป็นช่องโหว่ให้รัฐบาลชั่วคราวของอิรักตัดสินใจจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นเป็นการภายในเอง โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายของอิรัก ทั้งนี้ ข้อหาที่ซัดดัมได้รับทั้งหมด ล้วนแล้วแต่มีโทษประหารทั้งสิ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า สหรัฐอเมริกายืนยันเสียงแข็งมาตลอด อย่างไรเสียก็จะไม่ลงนามให้สัตยาบันสนธิสัญญาจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังเที่ยวข่มขู่ประเทศอื่นๆอีก ใครอยากให้สัตยาบันก็เชิญตามสบาย แต่ต้องทำข้อตกลงยกเว้นไว้ด้วยว่าเมื่อรัฐสมาชิกให้สัตยาบันไปแล้วจะไม่นำมาใช้บังคับกับสหรัฐอเมริกา

คงเกรงว่าสักวันหนึ่งจอร์จ บุช อาจต้องกลายเป็นจำเลยในความผิดอาชญากรรมสงครามต่อศาลอาญาระหว่างประเทศกระมัง

เห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า
นี่มันการเมืองระหว่างประเทศในยุคเรือปืนหรือเปล่า?
แล้วเราจะมีกฎหมายระหว่างประเทศทำไม?
แล้วเราจะเรียนจะสอนกฎหมายระหว่างประเทศไปเพื่ออะไร?
สหประชาชาติมีไว้เป็นเสือกระดาษอย่างนั้นหรือ?

......................

ศาลพิเศษแห่งอิรักได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่นักกฎหมายและองค์กรเอกชนระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความชอบธรรมทางกฎหมายในการจัดตั้งศาลและกระบวนการพิจารณาคดีที่อาจจะไม่เป็นธรรมต่อจำเลย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอเมริกายืนยันตลอดว่าศาลแห่งนี้จัดตั้งขึ้นโดยเจตจำนงของชาวอิรักเอง รัฐบาลอิรักต้องการจัดตั้งศาลพิเศษของตนเพื่อพิจารณาคดีเพราะเห็นเป็นเรื่องภายในของประเทศตน และไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

นี่ก็เป็นเหตุผลทางการเท่านั้น แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่าสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้คดีของซัดดัมอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะจะหลุดพ้นจากการควบคุมและแทรกแซงของตนไป


รายงานขององค์กรเอกชน Human Rights Watch ยืนยันว่ารัฐสภาอเมริกาได้อนุมัติเงินช่วยเหลือจำนวน ๑๒๘ ล้านตอลล่าร์ให้แก่รัฐบาลอิรักในการจัดตั้งที่ทำการศาลพิเศษแห่งอิรัก เงินเดือนของเจ้าหน้าที่ การเก็บหลักฐาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเชิญผู้เสียหายทั้งหลายมาให้การ การให้เงินอุดหนุนนี้อาจส่งผลให้การพิจารณาคดีของศาลพิเศษแห่งอิรักเสียความเป็นกลางไป

รายงานยังกังวลอีกว่ากระบวนการพิจารณาคดีไม่ให้หลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาอย่างพอเพียง ผู้พิพากษาทุกคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ซึ่งเป็นคู่อริของซัดดัม กระบวนการคัดค้านผู้พิพากษาก็ไม่มี อีกทั้งจำเลยยังไม่มีสิทธิในการขอดูเอกสารต่างๆอีกด้วย

เมื่อเข้าไปในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของศาลพิเศษแห่งอิรัก http://www.iraq-ist.org/en/home.htm แล้ว ก็ไม่พบรายละเอียดมากเท่าไรนัก มีเพียงกฎหมายจัดตั้งศาลและสรุปกระบวนการพิจารณาไว้อย่างสั้นๆเพียง ๗ ข้อ สหรัฐอมริกาและรัฐบาลอิรักพยายามเก็บทุกอย่างไว้เป็นความลับ ประเด็นนี้สร้างความลำบากใจแก่องค์กรเอกชนทั้งหลายที่จับตามองการพิจารณาของศาลพิเศษแห่งอิรัก ว่าเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่ออิรักซึ่งมีอธิปไตยเป็นของตนเองแสดงเจตนา (แม้ว่ารัฐบาลอิรักชุดใหม่หลังระบอบซัดดัมจะเกิดขึ้นด้วยฝีมือของกองทัพอเมริกันก็ตาม) เช่นนี้ ประชาคมระหว่างประเทศก็ไม่อาจแทรกแซงได้ คงได้แต่ภาวนาว่าศาลแห่งนี้จะมีกระบวนการพิจารณาที่เป็นธรรมอยู่บ้าง

เอาเข้าจริง สิ่งที่นักกฎหมายอย่างผมไม่อยากเห็น แต่ความจริงก็เป็นที่ประจักษ์ชัด ก็คือ กระบวนการทางกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับคดีซัดดัมในขณะนี้ก็เป็นเพียงรูปแบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อหาความชอบธรรมให้สหรัฐอเมริกาในการตอบประชาคมโลกได้เท่านั้นเอง อย่างที่รู้กัน ผลสุดท้ายคงไม่ผิดไปจากที่ชาวโลกคาดการณ์ไว้

ไม่แน่ คำกล่าวที่ว่า “กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายแต่อยู่ที่ปืน” หรือ “กฎหมายระหว่างประเทศไม่มีคุณค่าเหลืออีกแล้วนับแต่สหรัฐอเมริหาแหกมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการบุกอิรัก” อาจเป็นจริงในยุคของเรา

6 ความคิดเห็น:

Blogger ratioscripta กล่าวว่า...

พูดถึงเรื่องศาลพิเศษที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะนั้น

ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเราก็เคยมี แล้วจะเขียนเรื่องนี้แลกเปลี่ยน เพื่อเหลียวหลังและแลหน้า

"คดีพระยอดเมืองขวาง" ครับ

7:16 ก่อนเที่ยง  
Blogger crazycloud กล่าวว่า...

เคยมีผู้กล่าวว่า สหรัฐไม่มีนโยบายต่างประเทศ เหตุไฉนจึงเป็นเช่นนั้น

เพราะ สหรัฐมีแต่นโยบายในประเทศ ที่หน้าด้านนำไปใช้ในประเทศอื่นๆที่เขามีอธิปไตย

การใช้นโยบายในประเทศดังกล่าว กระทำอุกอาจ โดยไม่สนใจใยดีกับ กฎหมาย กรอบกติกา ที่มนุษย์ผู้เจริญควรเคารพ

หากจะลองทบทวนผลงานการใช้ นโยบายเข้าแทรกแซงในพื้นที่ต่างๆภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยุโรปเสียหายหนักจนต้องขอรับความช่วยเหลือในโครงการ มาแชล จึงไม่อาจขึ้นมาคานอำนาจกับสหรัฐได้

อาทิ

กรณีกบฎคอนทร้า ในนิคารากัว

กรณีในเอลซัลวาดอร์

กรณีในคิวบา

กรณีในลิเบีย

กรณีในสงครามอิรัก อิหร่าน

กรณีสงครามเวียดนาม

กรณีสงครามอ่าวเปอร์เซีย

กรณี Black Hawk Down

กรณีอิสราเอล ปาเลสไตน์

กรณีทั้งหลาย แสดงออกอย่างชัดเจนว่า อเมริกา ในเรื่องกฎหมายนั้น "หมา" ที่สุด (ไม่ได้พูดด้วยอารมณ์แต่ไม่รู้จะหาคำใดมาบรรยาย)

การดำเนินนโยบายในประเทศ หากสาวสืบ คืบความจะพบลักษณะสำคัญของอเมริกา

ประการแรก อเมริกาเป็นสังคมมีปมด้วยทางวัฒนธรรม เข้าทำนอง กลบปมด้วยสร้างปมเขื่อง

ประการที่สอง อเมริกาเป็นสังคมที่ชักใยโดยพวก ไซออน (ส่วนใหญ่เป็นยิว) พวกนี้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง บริจาคเงินให้พรรคการเมือง จึงมีอิทธิในการกำหนดนโยบาย (เห็นได้ชัดในกรณีอิสราเอล)

ประการที่สาม อเมริกาเป็นสังคมจิตวิญญาณบกพร่อง เนื่องจากชอบ แดกด่วนจนอ้วนกันทั้งประเทศ บริโภคนิยมและนิยมบริโภคจึงต้องคอยเบียดเบียนชาวบ้านเขา
แคทารีน่าถล่ม รอตั้งอาทิตย์กว่าจะช่วยได้ สู้บ้านเราก็ไม่ได้

ประการที่สี่ อเมริกัน เป็นสังคมวิตกจริต กลัวโน้น กลัวนี้เกินควร แต่หากภัยมีจริง ถามว่า ไม่ใช่คุณหรือที่เป็นคนก่อ

"อ้ายอเมริกันจัญไร

แม่งไปที่ไหนแดกที่นั้น

เหมือนปลวกกระซวกเมามัน

กัดแทะแบ่งชั้นชำเรา


อ้ายอเมริกันเหวย

ไฉนเลยมึงได้เลวถึงเพียงนั้น

เห็นคนเป็นหมาหรือ มึงต้องฆ่าฟัน

แก่งแย่งตีมันให้บรรลัย


อ้ายอเมริกันสันดาน

หัวกบาลของกูมึงเห็นไหม

จะข้ามคร่อมโขกขี่กันทำไม

มึงก็ใจกูก็จิตลองคิดดู


อ้ายอเมริกันเหวยๆ

อย่าคิดเลยว่ามึงเก่งเที่ยวอวดรู้

บ้านช่องตัวเองไม่เคยดู

ปล่อย นิโกร อินเดียอยู่ อย่างเดียวดาย


อ้ายอเมริกันสันขวาน

จะล้างผลาญพวกกูไปถึงไหน

หรือมึงจะหมายดูดถึงตีนเลียขี้ไคล

กูยอมให้มึงทำได้ไอ้ชาติคน


อ้ายอเมริกันสถุนย์

เที่ยวกักตุน ทรัพยา ค่าสถาน

เที่ยวรานรุก รบเร่ง เบ้งสันดาน

จนชาวบ้าน เขาชวนหัว ระอาเอือม


อ้ายอเมริกันที่รัก

กูนั้นหนัก กูนั้นหน่วง ในอกแสน

มึงก็มี มึงก็ไม่ ขาดแคลน

แต่ตัวแลน ยังดีกว่า ราคามึง

เมฆบ้า
ด้วยความรักแด่ เฉพาะอเมริกันสันดานชั่ว

8:31 ก่อนเที่ยง  
Blogger ratioscripta กล่าวว่า...

อาจารย์ทวีเกียรติเคยพูดคุยกับพวกผมในห้องเรียนว่า

ตอนนี้สิ่งที่อเมริกาส่งออกมากที่สุดหาใช่สินค้า โภคภัณฑ์อันใดไม่ หากแต่เป็น

"สงคราม"

และนั่นก็หมายความว่า สหรัฐชอบธรรมที่จะไปใช้บ้านของคนอื่น เป็นที่ตั้งฐานกำลังของตัวเอง

รบนอกบ้าน จะแตกจะหัก จะบรรลัย ก็นอกบ้าน

ช่างหัวแม่ (ง) มัน

9:02 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เอาข่าวมาฝาก

เอเอฟพี / เอเจนซี - กระทรวงกลาโหมของอิรักยืนยันว่า ทนายความของลูกน้องซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก ที่เพิ่งถูกกลุ่มคนร้ายลักพาตัวไปเมื่อคืนนี้ ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหมของอิรักแจ้งว่า ซะอ์ดูน ญานาบีทนายความประจำตัวของญาวัด อัลบันดาร์ อัล ซาดูนที่ขึ้นศาลพร้อมกับซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรักเมื่อวันพุธ (19) ได้เสียชีวิตลงแล้ว หลังจากถูกคนร้ายบุกลักพาตัวไปจากบ้านเมื่อคืนนี้

โดยเจ้าหน้าที่ของอิรักพบศพเขาอยู่ใกล้กับสุเหร่าแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงแบกแดด โดยสภาพศพถูกยิงหลายนัดที่ศีรษะและหน้าอก จนเสียชีวิต

ด้านทนายความอาวุโสของกลุ่มทนายจำเลยกล่าวว่า ได้รับข้อมูลยืนยันถึงการเสียชีวิตของญานาบีจากครอบครัวเขาแล้ว และว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเป็นความพยายามที่จะขัดขวางกระบวนการทำงานของทนายในการแก้ต่างให้บรรดาจำเลยที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง

อ่านต่อได้ที่นี่จ้า
http://www.manager.co.th
/Around/ViewNews.aspxNewsID=9480000145585

3:11 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แวะมาคั่นพูดสั้นนิดนึงว่า ...

มีความสุขมากๆนะคะ ^__^

5:41 ก่อนเที่ยง  
Blogger Gelgloog กล่าวว่า...

ข้อเขียนนี้อ่านแล้วช่วยเปิดหูเปิดตาผมจริงๆ

แล้วจะแวะเข้ามาติดตามอีกนะคร้าบ

10:29 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก