วันพุธ, มีนาคม 26, 2551

ยุบพรรคในตุรกี

ผมอ่านข่าวในคมชัดลึก เขาเอาเรื่องยุบพรรคตุรกีมารายงาน

http://www.komchadluek.net/2008/03/26/x_pol_k001_195765.php?news_id=195765

ผมไม่รู้ว่าคนเขียนข่าวนี้มีวัตถุประสงค์อะไร

ถ้าคนเขียน ต้องการชิ่งไปหาพลังประชาชนแล้วล่ะก็ ผมว่าคนละเรื่องเลย

มองในแง่ดี เขาไม่รู้เรื่องตุรกี มองในแง่ร้าย เขาอาจรายงานข่าวมาไม่ครบ เพื่อเอาบางส่วนมาชิ่งใส่พลังประชาชน (ซึ่งก็น่าจะใช่ เพราะเปิดหัวมาย่อหน้าแรกก็เอาเรื่องแบร์ลุสโคนี่มาเทียบกับทักษิณ)

ผมอ่านข่าวนี้พบในหนังสือพิมพ์ที่นี่ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม เสียดายที่ไม่ได้เอามาเล่าให้ฟังทันที แต่เมื่ออ่านเจอในคมชัดลึกแล้ว ก็ต้องลุกมาอธิบายให้เข้าใจเสียหน่อย

เรื่องมีอยู่ว่า ตุรกี หลังจากการปฏิวัติอย่างถึงรากถึงโคนในสมัย มุสตาฟา เคมาล อัลตาเติร์ก ราวๆปี ๑๙๒... กว่าๆ ตุรกี ก็เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

เขาเรียกกันเล่นๆว่า การปฏิรูปแบบ เคมาลิสต์ ตามชื่อของ มุสตาฟา เคมาล อัลตาเติร์กมีหลักพื้นฐานอยู่ ๖ ประการ คือ สาธารณรัฐ ประชานิยม (อันนี้ไม่เหมือนของเรานะ ของเขาหมายถึงการเพิ่มสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค) รัฐฆราวาส ปฎิวัติปฎิรูป ชาตินิยม อำนาจรัฐนิยม (อันนี้หมายถึงรัฐเป็นผู้เล่นหลักในการเปลี่ยนแปลง)

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ก็เช่น ประกาศให้ตุรกีเป็นสาธารณรัฐ ยกเลิกสุลต่าน ยกเลิกตำแหน่งกาหลิบ เปลี่ยนปฏิทินอิสลามให้มาใช้ตามสากล ปฏิรูปการศึกษาให้สอดรับกับประเทศอื่นๆ ร่างประมวลแพ่งและอาญาใหม่ โดยเอาของฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลีมาดู เปลี่ยนตัวอักษรในภาษาตุรกี ให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้ง ยกเลิกกฎหมายอิสลาม ในบัตรประชาชนไม่ต้องระบุศาสนา

สำคัญที่สุด คือ ประกาศให้ตุรกีเป็นรัฐฆราวาสโดยสมบูรณ์แบบ แยกศาสนาออกจากการเมืองและรัฐ รัฐตุรกีจะเป็นกลางทางศาสนา ไม่มีโรงเรียนอิสลาม ไม่มีการสอนวิชาศาสนา สตรีห้ามสวมผ้าลุมหัว

สาเหตุที่ตุรกีต้องประกาศตนเป็นรัฐฆราวาส ก็ไม่ต่างอะไรกับหลายๆประเทศในยุโรป ที่ศาสนาจักรเข้ามามีบทบาทแทรกแซงการเมืองจนวุ่นวายไปหมด

กล่าวได้ว่า ความเป็นรัฐฆราวาส เป็นเรื่องอ่อนไหวและแตะต้องไม่ได้ของตุรกีเลยทีเดียว...

มาถึงปัจจุบัน ปี ๒๐๐๒ พรรคยุติธรรมและการพัฒนาของนายกฯ เอโดร์กาน หรือพรรค AKP ได้เสียงข้างมากถล่มทลาย เป็นรัฐบาล ก็เริ่มเกิดความกังลกันขึ้น เพราะ พรรคนี้มีแนวทางอนุรักษ์นิยม อิสลามนิยม

กลางปีที่แล้ว มีเดินขบวนกันยกใหญ่ เพื่อขับไล่ ปธน ออก เพราะเรื่องกระทำการกระทบหลักรัฐฆราวาส

เดือน กพ ปีนี้ รัฐบาลผลักดันให้สภาออกกฎหมายยกเลิกการห้ามเอาผ้าคลุมหัวของสตรีมุสลิม ก็เลยเกิดประท้วงกันขึ้น

สส ฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องไปถึงอัยการ อัยการทำสำนวนร้อยกว่าหน้า เสนอต่อศาล รธน เพื่อให้สั่งยุบพรรคของนายกฯนี้ ในข้อหามีพฤติกรรมหลายประการที่ขัดกับหลักรัฐฆราวาส โดยเฉพาะเรื่องออกกฎหมายยกเลิกการห้ามเอาผ้าคลุมหัวของสตรีมุสลิม

ปัญหามีอยู่ว่า คือการเผชิญหน้ากันสองสิ่ง ระหว่าง พรรครัฐบาลนี้ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด พึ่งได้รับเลือกกลับเข้ามาใหม่ไม่นาน กับ การกระทำของพรรคไปกระทบเอากับหลักรัฐฆราวาสซึ่งเป็นอุดมการณ์หลักของตุรกี

ฝ่ายรัฐบาลก็อ้างว่าตนมีเสียงข้างมาก ฝ่ายต่อต้านก็อ้าง ใช่ เสียงข้างมากก็จริง แต่ไม่ใช่ทำเรื่องที่กระทบหลักพื้นฐานแบบนี้

นายกฯบอกว่า คำฟ้องนี้เป็นคำฟ้องที่ชนกับเจตจำนงแห่งชาติ เพราะ พรรคเราได้เสียงข้างมาก การเมืองในระบอบ ปชต ของยุโรป สนามสู้กันหลักๆอยู่ที่รัฐสภา ไม่ใช่ศาล

ตอนนี้ก็รอศาล รธน ตัดสินอยู่

อนึ่ง ศาล รธน เคยยุบพรรคมา ๒๔ พรรค นับแต่ปี ๑๙๖๒ ได้แก่ พรรคมีอุดมการณ์ มีการกระทำกระทบหลักรัฐฆราวาส พรรคที่สนับสนุนชาวเคิร์ด พรรคซ้ายจัด

หากเอามาเปรียบเทียบกับไทย จริงอยู่ ข้อเหมือนอาจอยู่ที่ พรรคที่อาจถูกยุบเป็นพรรคเสียงข้างมาก คนเลือกมาเยอะ

แต่ข้อแตกต่าง ซึ่งผมว่าต้องเน้นเป็นพิเศษ มิฉะนั้นจะกลายเป็นพูดข่าวครึ่งเดียว คือ เหตุแห่งการยุบพรรคตุรกี เขามี รธน เขียนรับรองหลักการพื้นฐานไว้ชัด ๖ ประการ ซึ่งพรรคการเมืองกระทำการละเมิดไม่ได้ (ก็เหมือนๆกับเรา ที่ห้ามแตะเรื่องความเป็นราชอาณาจักร กับรัฐเดี่ยว) หากล้ำเส้นไป ก็อาจโดนยุบพรรคได้

แต่ของเรา เหตุแห่งการยุบพรรคที่เอามาเล่นคืออะไร คือเรื่องกรรมการบริการพรรคทำผิด กม เลือกตั้ง โดนใบแดง แล้ว "ให้ถือว่า" กระทำการอันได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย

บ้ามั้ยครับ....

อย่างไรเสีย การยุบพรรคของตุรกี ก็เป็นไปตามหลักกติกาทั่วๆไป ที่ยุบเพราะเรื่องอุดมการณ์ เรื่องกระทำการกระทบหลักการพื้นฐานของรัฐ เหมือนในหลายๆประเทศที่ยุบพรรคแนวๆนาซี ฟาสซิสต์

ความเห็นผม...

ผมไม่อยากให้มีการยุบพรรคใดๆเลย ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติดีที่สุด จะขวาจัด ซ้ายจัด จะบ้าบอแค่ไหน ก็ต้องเปิดให้เขาได้มีโอกาสแสดงความเห็น

แต่ก็ต้องเข้าใจยุโรป ต้องเอาเรื่องยุบพรรคมาใส่ เพราะ เขากลัว ปวศ ซ้ำรอย เหมือน พรรคนาซีครองอำนาจ หรือ พรรคโหดๆขึ้นมาเป็นรัฐบาลจ้องจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำสงคราม

ผมกำลังค้นเรื่องยุบพรรคการเมืองในต่างประเทศอยู่

ไปเจอรายงานของ คณะกรรมการประชาธิปไตยโดยกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า คณะกรรมการเวนิส ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่ง สังกัด Conseil de l'Europe รายงานนี้เผยแพร่ในปี ๑๙๙๘

เขาไปสำรวจรัฐธรรมนูญหลายประเทศ เรื่องข้อห้ามของพรรคการเมือง และการยุบพรรคผมสรุปคร่าวๆ (ส่วนจะเขียนละเอียดเมื่อไร รอสักหน่อยนะครับ จะพยายามเจียดเวลาจากวิทยานิพนธ์มาเรียบเรียง)

ข้อห้ามของพรรคการเมือง อาจแบ่งได้ ๓ กลุ่ม

กลุ่มแรก
เรื่องอุดมการณ์ เป้าหมายของพรรค เช่น ห้ามอุดมการณ์ฟาสซิสต์ นาซี เหยียดผิว เชื้อชาติ ศาสนา แบ่งแยกดินแดน หรือกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง เกลียดชัง ในบางประเทศ ใช้คำกว้างๆ ว่า กระทบต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งเปิดให้ศาลใช้ดุลพินิจเป็นกรณีไป (ไม่เหมือนของเรา มาตรา ๒๓๗ ใช้คำว่า ให้ถือว่า)

กลุ่มสอง
เรื่องรูปแบบ เช่น ชื่อพรรค สัญลักษณ์พรรค ห้ามไปในทางศาสนา หรืออย่างแคนาดา ห้ามชื่อพรรคมีคำว่า อินเดเพนเดนท์

กลุ่มสาม
เรื่องการจัดองค์กรในพรรคเช่น ระเบียบพรรคต้องเป็น ปชต สมาชิกต้องเป็นคนสัญชาติของรัฐนั้น

ส่วนมาตรการบังคับ หรือ แซงชั่น นั้น ก็มีสามรูปแบบ

หนึ่ง ไม่มีมาตรการลงโทษใดๆ

สอง ไม่อนุญาตให้จดทะเบียน เช่น บางประเทศการจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องไปขอจดทะเบียนก่อน เจ้าหน้าที่ก็อาจไม่อนุญาตให้จด แต่หลายประเทศในยุโรป ตั้งพรรคได้เลย ไม่ต้องจดทะเบียน เพราะ ถือเป็นเสรีภาพในการรวมกลุ่มกัน

สาม ยุบพรรค ก็แบ่งเป็นให้ศาล รธน ยุบ หรือ ศาลยุติธรรม ยุบ แล้วแต่ประเทศ

ในทางปฏิบัติหลังสงครามโลก มียุบพรรคกันมาก พวกพรรคแนวๆฟาสซิสต์ นาซี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยปรากฎ

วันศุกร์, มีนาคม 14, 2551

แคลร์ ปัจฉิมานนท์

กลายเป็นกิจวัตรของผมไปแล้ว เวลา ๕ ทุ่มของที่นี่ ต้องเปิดอินเตอร์เน็ต ดูทีวีออนไลน์ช่อง ๓ ถ้าวันไหนพลาดไป ก็ต้องย้อนกลับไปดูให้ได้

คือ รายการโลกยามเช้า ช่อง ๓ ตี ๕

นอกจากเนื้อหาดีแล้ว ยังชอบผู้ประกาศด้วย

เธอชื่อ แคลร์ ปัจฉิมานนท์

ไม่รู้เพราะอะไร... ทำไมถึงชอบ

แต่รู้สึกว่า... เธอมีเสน่ห์ดี

หลายคนบอกว่า เธอเจ้าเนื้อไปนิด แต่ผมกลับมองว่าเธอดูดีในแบบฉบับของเธอ

พอผมนิยมชมชอบเข้า ก็ไปตามหาข้อมูลในเน็ต เจอประวัติและบทสัมภาษณ์เธอหลายชิ้น อ่านดูก็ยิ่งชอบเธอเข้าไปอีก

สงสัยผมจะแพ้ทางผู้หญิงสไตล์นี้กระมัง

วันพฤหัสบดี, มีนาคม 06, 2551

ศาลโมร็อกโกตัดสินจำคุกวิศวกรหนุ่มฐานเปิดเฟซบุ๊คโดยใช้ข้อมูลของเจ้าชาย

ในเฟซบุ๊ค เราเจอข้อมูลที่แสดงตนเป็นนิโกลาส์ ซาร์โกซี่ถึง ๘๐ คน (ประธานาธิบดีฝรั่งเศส) เป็นชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ๖ คน (อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) เป็นฟร็องซัวส์ มิตแตรองด์ ๔ คน (อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) และเป็นโอซามา บิน ลาเดนอีก ๓ คน

การสร้างข้อมูลในเว็บไซต์เฟซบุ๊คโดยเอาชื่อและข้อมูลของบุคคลผู้มีชื่อเสียงมาใส่ อาจเป็นเรื่องปกติ บางคนทำลงไปเพื่อล้อเลียนสนุกสนาน บางคนทำลงไปด้วยหวังดีอยากประชาสัมพันธ์ให้กับบุคลลผู้มีชื่อเสียงทั้งหลาย

แต่สำหรับโมร็อกโกนั้น การกระทำเช่นนี้ทำให้คุณติดคุกได้...

๕ กุมภาพันธ์ ตำรวจโมร็อกโกบุกเข้าจับกุมนายฟูอาด มูร์ทาดา วิศวกรคอมพิวเตอร์วัย ๒๖ ปี ในข้อหา “บังอาจ” ใช้ข้อมูลและรูปของเจ้าชายมูเลย์ ราชิด พระอนุชาคนสุดท้ายของกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ ๖

เพื่อตรวจสอบว่านายฟูอาด มูร์ทาดา ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายซึ่งจะทำอันตรายต่อราชวงศ์ ตำรวจจึงต้องควบคุมตัวเขา ไว้ในสถานที่ลับถึง ๓๖ ชั่วโมง ผู้ใกล้ชิดของนายฟูอาด มูร์ทาดา ยืนยันว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมและทรมาน

ฟูอาด มูร์ทาดา ให้การว่าตนสร้างไฟล์ในเฟซบุ๊คโดยใช้ข้อมูลและรูปภาพของเจ้าชายราชิด ก็เพราะมีความประทับใจในตัวเจ้าชายราชิดมาก หาได้กระทำลงไปเพื่อลบหลู่ดูหมิ่นแต่อย่างใด เขาแถลงในเว็บไซต์ว่า เขาขอโทษและแสดงความเสียใจต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะครอบครัวของเขา ฟูอาดยอมรับว่าตนกระทำลงไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้มีเจตนาร้าย เขาเป็นเพียงคนธรรมดาๆที่อยากมีงานที่ดีและมั่นคง มีชีวิตที่เรียบง่ายเท่านั้น

๒๒ กุมภาพันธ์ ศาลโมร็อกโกตัดสินให้จำคุกนายฟูอาด มูร์ทาดา เป็นเวลา ๓ ปี และปรับ ๑๐,๐๐๐ ดีร์แฮม (ประมาณ ๘๗๔ ยูโร หรือเกือบๆ ๔๒,๐๐๐ บาท)

องค์กร Amnesty ประณามการตัดสินของศาลโมร็อกโกว่า “นี่เป็นการจองจำความคิดเห็น” ในขณะที่องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporteur sans frontière) ตำหนิบริษัท โมร็อกโก เทเลคอม ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายหลักของโมร็อกโก ด้วยเหตุที่บริษัทยอมเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการให้กับทางการและช่วยตำรวจจับลูกค้าของตนเอง

บล็อกเกอร์ชาวโมร็อกโกทั้งหลาย ต่างร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์คดีของฟูอาดว่าเป็นคดีที่ไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง พวกเขาเกรงว่าการปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่จะลุกลามมาสู่บล็อกเกอร์ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้จับกุมสื่อมวลชนหลายรายที่ “หมิ่น” และไม่เคารพพระมหากษัตริย์

ล่าสุด ผู้คนในวงการบล็อกและสื่อมวลชนได้ร่วมกันเปิดเว็บไซต์ http://www.helpfouad.com/ เพื่อสนับสนุน นายฟูอาด มูร์ทาดา ปัจจุบันเว็บไซต์นี้กลายเป็นเว็บไซต์ที่มีคนเข้ามากที่สุดในโมร็อกโก

และเมื่อวันที่ ๑ มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเตอร์เนตทั่วโลกได้รวมตัวกันชุมนุมตามเมืองใหญ่ๆ เช่น ราบัต ปารีส มอนทรีออล ลอนดอน บรัสเซลล์ อัมสเตอร์ดัม และวอชิงตัน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายฟูอาด มูร์ทาดา

อ่านข่าวนี้แล้ว ก็ชวนให้คิดว่า ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดที่ประเทศไทย จะเป็นอย่างไรหนอ?

ข้อมูลเพิ่มเติม

เว็บไซต์เฟซบุ๊ค
http://www.facebook.com/

เว็บไซต์สนับสนุนฟูอาด
http://www.helpfouad.com/

รวบรวมข่าวเกี่ยวกับคดีฟูอาดทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส
http://www.helpfouad.com/1157.html

ชมภาพบรรยากาศการประท้วงเมื่อวันที่ ๑ มีนาคมได้จาก youtube
http://www.youtube.com/watch?v=MOozV-_Z5Vg
http://www.youtube.com/watch?v=KyRWFJxf5nw&feature=related
http://www.youtube.com/watch?v=2WdqlAMi7zM&feature=related

ผู้เขียนเคยเขียนเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระมหากษัตริย์ในโมร็อกโกไว้สั้นๆ ในบล็อก http://etatdedroit.blogspot.com/2007/08/blog-post.html

วันพุธ, มีนาคม 05, 2551

ศาลฝรั่งเศสสั่งแบนเว็บไซต์นักเรียนให้คะแนนครู

วันที่ ๓ ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลฝรั่งเศสได้พิจารณาคดีคำฟ้องฉุกเฉินของสหภาพครู SNES-FSU และครูอื่นๆอีก ๕๐ คน ซึ่งขอให้ศาลสั่งให้เจ้าของเว็บไซต์ www.note2be.com ยุติการเผยแพร่การให้คะแนนครูโดยนักเรียน

เว็บไซต์ note2be เริ่มเปิดทำการเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสให้คะแนนครูกลับคืนบ้าง ด้วยเห็นว่าครูมีอำนาจในการให้คุณให้โทษแก่นักเรียนผ่านทางคะแนนในแต่ละวิชา แต่นักเรียนกลับไม่มีโอกาสประเมินผลงานของครู นอกจากนี้ก็ยังเปิดกระดานข่าวให้นักเรียนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์การทำงานของครู

เว็บมาสเตอร์ได้แบ่งการให้คะแนนออกเป็น ๖ กลุ่ม ได้แก่ ความน่าสนใจ, ความชัดเจนในเนื้อหาที่สอน, การมีเวลาให้กับนักเรียน, ความเป็นธรรม, บุคลิกน่าเคารพนับถือ, ความกระตือรือร้น นาย Stéphane Cola ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ เปิดเผยว่า นับแต่เปิดทำการ มีครูถึง ๗ หมื่นคนที่ถูกนักเรียนนำมาให้คะแนน ค่าเฉลี่ยคะแนนของครูแต่ละคนอยู่ที่ ๑๔ เต็ม ๒๐ ในแต่ละวันมีผู้ใช้บริการเข้ามาคลิกถึง ๒ แสนครั้ง

สหภาพแรงงานครู SNES-FSU เห็นว่าเว็บไซต์ดังกล่าว เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่กระทบต่อการเรียนการสอนและวิชาชีพครู จึงร่วมกันฟ้องศาล
ศาลสั่งให้เว็บมาสเตอร์ต้องลบชื่อครูและข้อมูลที่เกี่ยวกับการให้คะแนนครูออกทั้งหมดภายใน ๔๘ ชั่วโมง และให้เว็บมาสเตอร์จ่ายค่าเสียหายทางสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ร้องทุกคนคนละ ๑ ยูโร ศาลให้เหตุผลว่าการใช้เสรีภาพทางข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องมีข้อจำกัด ไม่อาจกระทบต่อกิจกรรมการเรียนการสอนได้ ศาลยังกล่าวอีกว่า การแสดงความคิดเห็นในกระทู้และการให้คะแนนครูโดยปราศจากการกลั่นกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการมาก ย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อการทะเลาะเบาะแว้งและบาดหมางกัน

มีข้อสังเกตว่า ศาลตัดสินให้เว็บไซต์ถอดชื่อครู คะแนน และข้อวิจารณ์ออก และศาลได้ห้ามเว็บไซต์เปิดพื้นที่ให้มีการให้คะแนนครูเท่านั้น นั่นหมายความว่าผู้ใช้บริการเว็บนี้ยังสามารถให้คะแนนและวิจารณ์โรงเรียนได้อยู่

นาย Xavier Darcos รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล เขาบอกว่าภารกิจที่ยากของอาชีพครู ไม่ควรถูกกล่าวร้ายหรือทำให้เสียหายจากบุคคลนิรนามและบุคคลที่ไม่เปิดเผยตัวตน ทางด้านนาย Francis Gerguin เลขาธิการสหภาพครู SNES-FSU กล่าวว่า นี่เป็นชัยชนะของทุกคน ไม่ใช่แค่ตนที่พอใจ ไม่ใช่แค่สหภาพครูของเราที่พอใจ แต่ผู้ประกอบวิชาชีพการเรียนการสอนทั้งหมดต่างพอใจกับคำตัดสินของศาลนี้

ทางด้านนาย Stéphane Cola ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ยืนยันว่า คำตัดสินของศาลอันน่ากังวลนี้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นอุปสรรคต่อแนวคิดของการมีอินเตอร์เนทในแง่ที่มุ่งหมายให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม และเขาจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลต่อไป เขายังให้ข้อมูลอีกว่าในหลายประเทศก็มีเว็บไซต์ในลักษณะเดียวกันนี้และศาลก็ไม่ได้กีดขวางการแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์แต่อย่างใด

นาย Cola ชี้แจงว่า กฎหมายเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารเปิดทางให้ครูที่ถูกนักเรียนระบุชื่อและให้คะแนนในเว็บไซต์สามารถร้องขอต่อเว็บมาสเตอร์ให้ลบชื่อของตนเองออกได้ แต่ในแต่ละวันมีครูเพียงประมาณ ๑๐๐ คนเท่านั้นที่ดำเนินการเช่นนี้

ในระหว่างอุทธรณ์คำสั่งของศาลนี้ นาย Cola ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะปรับรูปแบบของเว็บไซต์ให้เหลือเพียงวิจารณ์โรงเรียนโดยไม่ให้วิจารณ์ครู หรือจะปิดเว็บไซต์ชั่วคราวไปก่อนจนกว่าศาลจะตัดสินอุทธรณ์

ผู้คนในวงการอินเตอร์เน็ตเห็นว่าคำตัดสินนี้ไม่เป็นธรรมต่อการดำเนินการของเว็บไซต์ ไม่เป็นธรรมต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่เป็นธรรมต่อวงการเว็บไซต์โดยรวม ต่อไปภายหน้าเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้มีการตั้งกระทู้วิพากษ์วิจารณ์บุคคลใดหรืออาชีพใดอาจถูกสั่งห้ามอีกก็เป็นได้

อนึ่ง แม้เว็บไซต์ให้คะแนนครูแห่งนี้จะถูกกระบวนการยุติธรรม “แบน” แต่พฤติกรรมลอกเลียนแบบก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ในขณะนี้มีเว็บไซต์ www.note2bib.com เปิดพื้นที่ให้คนไข้หรือผู้รับบริการทางการแพทย์ได้มีโอกาสให้คะแนนแพทย์

คาดหมายได้ว่าอาจมีเว็บไซต์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นตามมาเป็นดอกเห็ด ให้คะแนนกันได้ตั้งแต่ช่างตัดผม ไปจนถึงคนขายขนมปัง...