คำวินิจฉัยเมื่อ ๓๐ พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลร้ายแรง กำลังเขียนวิจารณ์แบบยาวๆอยู่ ตอนนี้ขอวิจารณ์คร่าวๆไปก่อน ดังนี้
๑. ตอกย้ำหลักการอุบาทว์เรื่องยอมรับอำนาจที่มาจากรัฐประหาร โดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่อย่างใด น่าประหลาดมากตรงที่ ตลก. (ตุลาการนะครับ อย่าอ่านเป็น ตะ-หลก ไป) บอกว่า ยุบสภา เลือกตั้ง จ้างพรรคเล็ก กลายเป็นการเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบ แต่ตัวบทกฎหมายที่ศาลเอามาใช้ฟันพรรคการเมือง หรือฐานที่มาของตัว คณะ ตลก. ซึ่งมาจากอำนาจรัฐประหาร ตลก. กลับไม่พูดถึง น่าคิดว่าหากมีใครหาช่องส่งเรื่องไปศาลเพื่อขอเพิกถอน คำสั่ง คปค ทั้งหมด หรือ ให้วินิจฉัยว่ารัฐประหาร ๑๙ กันยา ไม่ชอบ บรรดาศาลไทยทั้งหลายจะว่าอย่างไร
๒. ยืนยันว่า การใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษ ถ้าไม่ใช่กฎหมายอาญา สามารถทำได้ ปัจจุบันหลักการนี้ล้าสมัยไปเสียแล้ว ศาลในหลายประเทศตีความโดยยึดหลัก "ความมั่นคงแห่งนิติฐานะ" และ "การคุ้มความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย" เป็นสำคัญ ไม่ว่าโทษนั้นจะเป็นทางอาญาหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าเป็นผลร้าย ก็จะใช้ย้อนหลังไม่ได้ทั้งนั้น
๓. การให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัย ไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอ หลายประเด็นนำคุณค่าทางการเมืองมาวินิจฉัย บางประเด็นนำคำกล่าวของปรปักษ์ของผู้ถูกฟ้องมาพิจารณาเป็นสำคัญอีกด้วย (กรณีคำให้การของสุเทพ)
๔. โครงสร้างคำวินิจฉัย ไม่มีอะไรมากไปกว่า นำคำฟ้อง คำให้การ มาร้อยเรียงกัน แล้วก็ตัดสินฟันธง นอกนั้นก็เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคไทยรักไทยโดย คณะ ตลก.
๕. สร้างบรรทัดฐานประหลาด เช่น การยุบสภา ศาลเข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร ทั้งๆที่ยุบสภาเป็นเรื่องการเมือง เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยแท้ ไม่มีที่ไหนในโลกให้ศาลเข้ามาตรวจสอบการยุบสภา
๖. การเชื่อมโยงกรณีธรรมรักษ์และเสี่ยเพ้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการเชื่อมโยงกรณีสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สุเทพ และไทกร น่าจะไม่เป็นธรรม
๗. คำวินิจฉัย ๓๐ พ.ค. คือ การรัฐประหารซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ปิดหนทางสมานฉันท์ และเป็นการปลุกคนขึ้นมาสู้กับเผด็จการ คราวนี้จะพึ่งบารมีพระราชดำรัสเหมือนปีที่แล้ว คงยากอยู่ ต้องไม่ลืมว่ายามใดที่คนรู้สึกว่าถูกรังแก ไม่ได้รับความเป็นธรรม จะเอาอะไรมาหยุดก็คงยากทั้งนั้น
๘. ทำให้เกิดแนวร่วมต่อต้านรัฐประหารมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มที่ค้านอยู่แต่เดิม ๑๒ กลุ่ม, คนรักทักษิณ, สมาชิกพรรคไทยรักไทย, ก๊วนอดีต สส ไทยรักไทย ที่รีบแยกตัวออกไปเลียบู๊ต คมช แต่มาโดนตัดสิทธิ์, ชาวบ้านทั่วไปที่เริ่มรู้สึกว่า คมช เข้ามาไม่เห็นมีอะไรดี
๙. ผมเสียดายโอกาสที่วงการตุลาการไทยจะสร้างมิติใหม่ให้แก่สังคม กลับกลายเป็นว่า คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ไม่เพียงแต่ทำให้พรรคไทยรักไทยตายเท่านั้น หากยังทำให้ตุลาการตายไปจากนิติรัฐและประชาธิปไตยอีกด้วย
๑๐. คำวินิจฉัยนี้แสดงให้เห็นเลยว่า วงการตุลาการไม่ใช่กลไกสำคัญในการแก้ปัญหาหรือวิกฤตให้กับสังคมไทย ตรงกันข้าม ถ้าพูดแบบ หลุยส์ อัลทูสแซร์ ก็คือ ตุลาการเป็นกลไกปราบปรามของรัฐ (appareil répressif de l'Etat) เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพที่รับใช้สถาบันหรือองค์กรใดองค์หนึ่งที่มีอำนาจนำในสังคม ที่สร้างคุณค่า ความเชื่อ อุดมการณ์ให้สังคม (ซึ่งอัลทูสแซร์เรียกว่า appareil idéologique de l'Etat)
๑๑. จากเหตุการณ์คำวินิจฉัยนี้ ยิ่งทำให้ผมมั่นใจเกินร้อยว่า เราควรต่อต้านกระบวนการตุลาการภิวัตน์ให้ถึงที่สุด แน่นอนเราต้องมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรตุลาการ แต่นั่นไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์
๑๒. เมื่อคืน ผมนอนไม่หลับ ผมไม่รู้ว่าเราจะเรียนจะสอนกฎหมายไปเพื่ออะไร แม้กระทั่งองค์กรผู้ใช้กฎหมาย ที่เราเคยเชื่อๆกันมาตลอดว่า อย่างน้อยก็พอไว้วางใจได้อยู่บ้าง มีหลักมีเกณฑ์ มีเหตุมีผลอยู่บ้าง กลับกลายมาเป็นผู้ค้ำจุนเผด็จการทหารไปเสียเอง ผมคิดว่าตั้งแต่กรณี นายกฯ ม๗, คดีเพิกถอนเลือกตั้ง, ๑๙ กันยา จนถึงคำวินิจฉัยล่าสุดนี้ ทำให้วงการกฎหมายตกต่ำ
เราจะเรียนจะสอนกันทำไม เมื่อเรียนกันมาแล้ว ในท้ายที่สุด ใครมีปืน ก็คือผู้ชนะ ใครมีอำนาจ คนนั้นถูกต้อง
เราอาจต้องสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ แบบรุ่นก่อนๆที่ต้องสอนในเชิงหลักการทั่วไป เพราะไม่มีตัวบทรัฐธรรมนูญให้สอน หรือถ้ามี ก็เป็นตัวบทที่ทหารครองเมือง ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
หรือถ้านักศึกษาบางคนอยากไปสอบเนติบัณฑิต ผู้พิพากษา อัยการ เจอข้อสอบแบบคำวินิจฉัยเมื่อวาน จะตอบอย่างไร
๑๓ ที่ผมกล่าวไปในบล็อกวันก่อนว่า วิกฤตอาจจะจบก็ได้ในปลายปีนี้ ด้วยนกหวีดแบบเดิม ตอนนี้ผมเปลี่ยนความเห็นแล้ว ผมคิดว่า เราอาจหลีกหนีการนองเลือดไปไม่พ้น และต้องตระหนักไว้ด้วยว่า ตุลาการเป็นผู้ร่วมปิดประตูสมานฉันท์นี้