โฆษณา
หนังสือของผม
สำนักพิมพ์โอเพ่นใจดี ใจป้ำ และใจกล้า รวมงานของผมออกเป็นหนังสือเล่ม
ต้นฉบับรวบรวมส่งไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม
ตอนนี้พร้อมวางแผงแล้ว ในชื่อ "พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"
ราคาปก ๑๖๕ บาท
แต่ถ้าสั่งทาง http://www.tarad.com/openbooks/
ลดเหลือ ๑๔๐ บาท ค่าส่งฟรี
ด้วยภารกิจการศึกษา ณ ต่างแดน ผมยังไม่มีโอกาสเห็นหนังสือเล่มแรกของผมในชีวิต จึงไม่อาจเรียงลำดับสารบัญให้ดูได้
ขอเอาคำนำ และคำนิยมซึ่งเขียนโดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ครูของผม มาให้ชมเป็นหนังตัวอย่างก่อน
.......................
คำนิยม
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๙ กล่าวคือ ๖๐ ปีล่วงมาแล้ว มีเหตุการณ์สำคัญในทางการเมืองและกฎหมายเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ บางเหตุการณ์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทางการเมืองและกฎหมายของประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้
เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในช่วงต้นปี ศาลฎีกาซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลอาชญากรสงครามได้มีคำพิพากษาคดีอาชญากรสงครามที่ ๑/๒๔๘๙ ว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๘ เฉพาะที่ลงโทษการกระทำก่อนวันใช้กฎหมายนี้เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังจึงขัดกับรัฐธรรมนูญ และเป็นโมฆะ ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นับเป็นการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรก อนึ่งมีข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง และไม่ได้เกิดขึ้นโดยการทำรัฐประหาร แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย
เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นในช่วงกลางปี วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนในพระที่นั่งบรมพิมาน เสด็จสรรคต สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสืบมาจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์สวรรคตส่งผลกระเทือนต่อรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์โดยตรง เพราะในเวลานั้นท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการฉกฉวยโอกาสทางการเมืองของนักการเมืองฝั่งตรงข้าม และการทำรัฐประหารในเวลาต่อมา รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์จึงกลายเป็นคนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ และต้องไปถึงแก่อสัญกรรมในต่างประเทศในที่สุด
เหตุการณ์ที่สามเกิดขึ้นในช่วงปลายปี เมื่อจอมพลผิณ ชุณหะวัณ ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๙ ฉีกรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๔๘๙ เชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าและผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๙๐ (รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม) นับแต่นั้นมาประเทศไทยก็เข้าสู่ “วงจรอุบาทว์” คือ การทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้ง แล้วก็ทำรัฐประหารอีกซ้ำไปซ้ำมาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
พุทธศักราช ๒๕๔๙ เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญในทางการเมืองและกฎหมายหลายเหตุการณ์ และนับเป็นปีที่มีความผันผวนทางการเมืองไม่แพ้เมื่อหกสิบปีก่อน เริ่มจากการเคลื่อนไหวของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การเรียกร้องขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๗ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าพระองค์ไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย ผลจากความตึงเครียดทางการเมืองดังกล่าวนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่การปฏิเสธไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ทำให้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งทั้งประเทศเป็นโมฆะโดยให้เหตุผลว่าการจัดคูหาเลือกตั้งทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ เกิดการดำเนินคดีอาญากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนกระทั่งการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ในคืนวันที่ ๑๙ กันยายนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้เรายังไม่สามารถประเมินผลของความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้ ในเวลานี้ ฝุ่นควันแห่งความสับสนวุ่นวายยังฟุ้งกระจายอยู่
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันในประเด็นทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมายมหาชนอย่างมาก ประเด็นที่ถกเถียงกันนั้นหลายประเด็นมีความแหลมคม บางประเด็นก็เกี่ยวพันกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เช่น ประเด็นเรื่องนายกพระราชทาน ประเด็นต่างๆซึ่งปรากฏเป็นประเด็นหลักในหนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเรื่องพระราชอำนาจกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังเป็นสิ่งที่ไม่ลงตัวในระบบกฎหมายและการเมืองไทย ความแตกแยกทางความคิดปรากฏให้เห็นทั่วไปในทุกวงการ วงการนิติศาสตร์ได้รับผลพวงแห่งความขัดแย้งนี้ไม่น้อยไปกว่าวงการอื่น
ในช่วงเวลาแห่งความสับสนนี้ นักกฎหมายหนุ่มอายุยังไม่ถึงสามสิบปีคนหนึ่งได้เขียนบทความแสดงทัศนะในทางกฎหมายและการเมืองในประเด็นต่างๆ ด้วยสำนวนที่ชวนอ่าน แหลมคมไปด้วยลีลาภาษาและการเปรียบเปรยที่กระทบใจยิ่ง ที่สำคัญนักกฎหมายหนุ่มคนนี้มีความ “กล้า” ที่นับว่าหาได้ยาก แม้ในบรรดานักกฎหมายที่อาวุโสกว่าเขาโดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชน ในบทความบางบทความ เช่น ความเงียบของนักกฎหมายมหาชน นักกฎหมายผู้นี้ได้ตั้งประเด็นท้าทายบรรดานักกฎหมายมหาชนไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
ผมรู้จักปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เขียนบทความซึ่งกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้มาหลายปีแล้ว ปิยบุตรเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆของผม ปัจจุบันเขาศึกษากฎหมายมหาชนในระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส ปิยบุตรตั้งใจจะเป็นอาจารย์ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือแล้ว และเมื่อตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่างลง เขาก็สอบผ่านเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสมความตั้งใจ เชื่อว่าไม่ช้าไม่นานนักเราจะได้ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายมหาชนระดับคุณภาพอีกคนหนึ่งมาประดับวงการกฎหมายไทย
แม้ปิยบุตรจะอายุยังไม่ถึงสามสิบปี แต่อายุดูจะไม่เป็นอุปสรรคต่อมุมมองและประเด็นทางกฎหมายของเขาเลย นับแต่ข้อเขียนของเขาปรากฏในเว็ปไซต์โอเพ่นออนไลน์และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ปิยบุตรถูกมองอยู่เงียบๆ อย่างชื่นชมจากบรรดาครูบาอาจารย์ของเขา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผู้อ่านจะได้รับคำตอบเมื่อพลิกไปอ่านหนังสือเล่มนี้ในหน้าถัดไป
สังคมไทยเป็นสังคมที่ดูเหมือนจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความเห็น แต่แห้งแล้งความรู้ ความเห็นส่วนมากที่เกิดขึ้นเป็นความเห็นที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึก มากกว่าเกิดจากการพิจารณาอย่างแยบคาย และด้วยใจที่เป็นธรรม แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นเพียงการรวบรวมบทความของปิยบุตร เป็นหนังสือเล่มเล็ก แต่เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ไม่เล็กเลย ปิยบุตรได้แสดงให้เราเห็นถึงทัศนะอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ หนังสือเล่มนี้จะชวนให้เราถกเถียงและโต้แย้งกันบนพื้นฐานของความรู้และใจอันเป็นธรรม
ผมขอแสดงความยินดีต่อปิยบุตรที่งานเขียนของเขาได้รับการรวมพิมพ์เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ และเห็นภาพอีกด้านหนึ่งของกฎหมายและการเมืองไทย
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์
๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๙
................
คำนำ
หากใช้การเข้าเรียนปี ๑ คณะนิติศาสตร์เป็นเกณฑ์ นับได้ว่าผมวนเวียนอยู่ในวงการกฎหมาย ๙ ปีกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้ยินคนทั่วไปพร่ำบ่นอยู่บ่อยครั้งว่ากฎหมายเป็นเรื่องเข้าใจยาก มีแต่พวกนักกฎหมายที่เข้าใจกันเอง เมื่อสำรวจงานในลักษณะ Pop academic ก็พบว่ามีนักวิชาการกฎหมายไม่มากที่เขียนงานทำนองนี้เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ อาจเป็นเพราะว่าในหมู่นักกฎหมายนิยมการเขียนงานตามรูปแบบทางวิชาการ มีการอ้างบทบัญญัติมาตราต่างๆ คำพิพากษาบรรทัดฐาน อุทาหรณ์ หลักกฎหมายทั้งไทยและเทศ ตลอดจนภาษากฎหมายที่อ่านแล้วต้องแปลความอีก รูปแบบเช่นนี้ทำให้คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมองว่างานเขียนทางกฎหมายช่างไม่น่าอภิรมย์แม้แต่น้อย
จากสภาพการณ์ดังกล่าว ผมจึงมีความตั้งใจว่าหากมีโอกาสผมอยากจะทดลองเขียนงานในลักษณะเข้าใจง่ายเพื่อแสดงความเห็นทางกฎหมายที่พัวพันกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันตามที่ตนถนัด จนกระทั่งผมมาศึกษาต่อต่างแดน เวลาว่างในการอ่านและเขียนมีมากขึ้น ประกอบกับนวัตกรรมใหม่อย่าง “บล็อก” ทำให้ผมมีพื้นที่เขียนงานได้ตามใจปรารถนา
ผมตัดสินใจเปิดบล็อกเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๘ เพื่อใช้เป็นเวทีเขียนความเห็นทางกฎหมายและการเมือง รวมทั้งเล่าประสบการณ์ที่ผมผ่านพบระหว่างอยู่ต่างแดน โดยตั้งใจว่าจะเขียนแบบสบายๆ ไม่เน้นรูปแบบเหมือนงานวิชาการที่ต้องมีเชิงอรรถ มีเค้าโครง เขียนบล็อกไปได้สักพัก พี่ป้อง อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ก็ชักชวนผมไปเขียนคอลัมน์ “นิติรัฐ” ในนิตยสารโอเพ่นที่กลับมาในโฉมใหม่แบบออนไลน์ นอกจากนี้พี่ป้องยังติดต่อ พี่ลาภ บุญลาภ ภูสุวรรณ แห่งประชาชาติธุรกิจ ให้ผมไปเขียนประจำในประชาชาติธุรกิจทุกเดือนอีกด้วย ปีเศษผ่านไป งานของผมก็มากพอที่จะรวมเล่มได้
หนังสือเล่มนี้เป็นการคัดสรรงานของผมที่ปรากฏในหลายที่ ทั้งในบล็อกของผม (http://www.etatdedroit.blogspot.com) ในโอเพ่นออนไลน์ (http://www.onopen.com) และในประชาชาติธุรกิจ แน่ละ นี่ย่อมไม่ใช่งานวิชาการมาตรฐานที่ควรค่าแก่การนำไปใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ตรงกันข้ามเป็นเพียงการรวบรวมบทความที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆมาตลอดปีกว่า ด้วยมุ่งหมายให้บุคคลทั่วไปซึ่งแม้ไม่ได้เรียนกฎหมายก็สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้
แก่นกลางของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การอธิบายกฎหมายตามสถานการณ์การเมืองที่เข้มข้นในช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณ ๒ ภายใต้บรรยากาศการเผชิญหน้ากันระหว่าง “ทักษิณ... ออกไป” และ “ทักษิณ,,, สู้สู้” ซึ่งต่างช่วงชิงการโหน “พระราชอำนาจ” ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เป็นธรรมดา เมื่องานเขียนกฎหมายไปคาบเกี่ยวกับการเมือง ย่อมมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เข้าทางผู้สนับสนุนกลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่ง แต่ไปขัดแย้งกับผู้สนับสนุนอีกกลุ่มหนึ่งเข้า จึงหลีกหนีไม่พ้นที่งานของผมจะได้ทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ
ฌอง-ปอล ซาตร์ เคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ถูกสาปให้เสรี” ผมเชื่ออย่างที่ซาตร์กล่าว เสรีภาพอยู่กับตัวผม และผมไม่อาจปฏิเสธมันได้ ตรงกันข้ามผมต้องใช้มันภายใต้ความรับผิดชอบของตัวผมเอง ผมตระหนักดีว่าข้อเขียนของผมหลายชิ้นคงไม่ถูกจริตของผู้มีรสนิยม “อภิชนนิยม” และอาจกระทบกับ “อำนาจเก่า” ที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมานาน แต่ทั้งหมดล้วนทำไปด้วยความสุจริตและอยู่ในกรอบของเสรีภาพที่ผมพึงมี
เป็นธรรมเนียมของการเขียนคำนำหนังสือ จำเป็นต้องมีคำขอบคุณยืดยาว คำนำหนังสือของผมก็คงหลีกหนีกติกานี้ไปไม่พ้น ผมขอขอบคุณไล่ไปทีละคน เริ่มจากลำดับแรก พี่ป้อง อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชักนำผมเข้าสู่บรรณพิภพทั้งแบบออนไลน์และแบบกระดาษเปื้อนหมึก หากปราศจากซึ่งอาจารย์หนุ่มแห่งสำนักท่าพระจันทร์คนนี้แล้วไซร้ ผมคงได้แต่เป็นนักอ่านที่ดีเท่านั้น นอกจากนี้พี่ป้องยังเป็นธุระอย่างเอาการเอางานในการรวมเล่มครั้งนี้อีกด้วย ลำดับที่สอง พี่โญ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของสำนักพิมพ์โอเพ่น ที่กล้ารวมงานของผมเป็นหนังสือเล่ม “กล้า” ในที่นี้ คือ กล้าที่จะขาดทุนและอาจรวมถึงกล้าที่จะติดตาราง (ฮา) ลำดับที่สาม รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ผมเคารพรักทั้งแง่วิชาการและวิถีชีวิต อาจารย์ยอมสละเวลามาเขียนคำนิยมให้หนังสือของนักวิชาการไร้อันดับอย่างผม สมควรกล่าวด้วยว่าความรู้ที่ผมมีและใช้ในการเขียนงาน ส่วนหนึ่งมาจากการฝึกวิชากับอาจารย์วรเจตน์ ลำดับที่สี่ พี่ลาภ บุญลาภ ภูสุวรรณ จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ผู้ให้โอกาสผมเข้าไปเขียนคอลัมน์ในประชาชาติธุรกิจ พี่ลาภต้องอดทนทวงต้นฉบับของผมซึ่งส่งช้าเป็นประจำทุกเดือน แต่พี่ลาภก็ไม่เคยปริปากตำหนิผมสักครั้ง ลำดับที่ห้า กองบรรณาธิการโอเพ่นทุกท่านที่ช่วยรวบรวมงาน พิสูจน์อักษร จัดรูปเล่ม และลำดับสุดท้าย ขาดเสียมิได้ บล็อกเกอร์ทุกคนที่ร่วมถกเถียงกันมาตลอดปีเศษ และผู้อ่านงานของผมทั้งในโอเพ่นและประชาชาติธุรกิจ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นเครื่องมือวัดความอดทนในการรับฟังความเห็นต่าง ท่ามกลางบรรยากาศประชาธิปไตยขมุกขมัวใต้รองเท้าบู๊ต ด้วยความเชื่อว่าประชาธิปไตยที่สวยงามต้องมีศิลปะในการจัดการความขัดแย้ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถถังหรือปืน
ปิยบุตร แสงกนกกุล
วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๙
วันคล้ายวันเกิดแม่ ณ หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส
................
-๒-
บทความของผม
มีบทความใหม่สองเรื่อง
เรื่องแรก
ประชาธิปไตยแบบ “ไทยๆ” คืออะไร
http://www.onopen.com/2007/editor-spaces/1545
เรื่องที่สอง
ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองในฝรั่งเศส (๑)
http://www.onopen.com/2007/01/1536
งานนี้จะทยอยเขียนเป็นตอนๆไป ประเมินแล้วไม่น่าเกิน ๑๐ ตอน