วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 22, 2550

ข้าราชการกับสหภาพแรงงาน

วันนี้ระหว่างนั่งเขียนหนังสือ เปิดทีวีไทย ดูเรื่องเล่าเช้านี้ไปด้วย

ได้ยินข่าวเล็กๆข่าวหนึ่ง เรื่องมีกลุ่มคนเสนอให้ข้าราชการมีเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

ผมลองไปสำรวจหน้าหนังสือพิมพ์ ก็ไม่พบรายละเอียดเท่าไร แต่ไปเจอในประชาไท ซึ่งก็มีรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น

ผมฟังจากที่คุณปลื้ม ลูกหม่อมอุ๋ยพูดแล้ว แกค้านสุดฤทธิ์ว่าอันตราย ประเทศไทยจะบริหารงานกันด้วยม็อบ

ผมว่าแกวิตกกังวลเกินไปหน่อย

ผมฟังจากที่คุณสรยุทธพูดในรายการว่า ผู้เสนอจะเอาให้ข้าราชการมีสิทธินัดหยุดงาน โดยไม่ยื่นใบลา

ผมว่าไม่คุณสรยุทธเข้าใจผิด ก็ผู้เสนอเข้าใจผิด ไม่ก็รายงานข่าวไม่ละเอียด

ที่เสนอกัน ผมคิดว่าน่าจะหมายถึง ให้เสรีภาพข้าราชการในการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้

ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เมื่ออยู่ในสหภาพแรงงาน ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้อง นัดชุมนุม นัดหยุดงานได้ ซึ่งกฎหมายแรงงานก็กำหนดวิธีการในการนัดหยุดงานไว้แล้ว ว่าต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน ต้องมีคนทำงานตามปกติเหลืออยู่บ้าง เป็นต้น

ดังนั้น ที่ว่าหากให้ข้าราชการเป็นสมาชิกสหภาพแล้ว จะทำให้ข้าราชการมีสิทธิหยุดงานกันมั่วซั่ว ไม่ต้องส่งใบลา น่าจะไม่ถูกต้อง

ปัจจุบันระบบกฎหมายไทยยังไม่ยอมรับให้ข้าราชการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาตรา ๔๕ รับรองไว้ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น"

แต่เกรงว่าข้าราชการจะยกมาตรานี้อ้างเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานกัน เลยล็อคไว้อีกชั้นในมาตรา ๖๔ ว่า "บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจรรยาบรรณ"

ซึ่งก็มีกฎหมายห้ามไม่ให้ข้าราชการตั้งสหภาพแรงงานไว้

ผมเห็นว่าข้าราชการเป็นแรงงานประเภทหนึ่ง ควรอนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงานได้ ส่วนที่กลัวกันว่าจะทำให้บริการสาธารณะ งานราชการเสียหากนัดหยุดงานกัน เราก็ไปกำหนดรายละเอียดในกฎหมายลูกบทได้ว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น หากสหภาพข้าราชการจะนัดหยุดงาน ก็ให้แจ้งส่วนราชการล่วงหน้ากี่วัน หรือ หากนัดหยุดงานก็ต้องมีหลักประกันขั้นต่ำว่ายังคงมีบริการสาธารณะอยู่ แม้การบริการจะน้อยลง แต่ก็ยังมีอยู่

นอกจากนี้ ไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกในองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ด้วยซึ่งมีข้อตกลงว่าข้าราชการมีสิทธิในการร่วมหรือจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

เรื่องนี้น่ารณรงค์กันต่อไป (ที่ผ่านมารู้สึกจะมีกลุ่มอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ที่รณรงค์ต่อเนื่อง)

แต่เชื่อได้เลยว่า รัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีทางยอมให้เสรีภาพเรื่องนี้แก่ข้าราชการแน่นอน

3 ความคิดเห็น:

Blogger Unknown กล่าวว่า...

หวังว่าสักวัน งานเขียน เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงานในระบบราชการของพี่ ที่เขียนไว้ตอนทำ Independent Research ที่ นิติ มธ. จะได้รับการยิบยกมาใช้ประโยชน์

อยากเห็นองค์กรนี้เกิดขึ้นจริง ๆ ในระบบราชการไทย ไทยเสียที น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า ข้อเสียนะครับ .....

11:41 หลังเที่ยง  
Blogger Tier Etat กล่าวว่า...

อันนี้เห็นด้วยจริงครับ ขนาดมีแนวคิดว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบ ในร่างพรบ.มหาลัยต่างๆ ก็ยังมีมาตรากำหนดกันไม่ได้พนักงานมหาวิทยาลัยรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน อย่างดีที่สุดก็แค่เป็นสภาพนักงาน น่าสงสารคนที่รับใช้ชาติ
"ข้าราชการไทย" กลุ่มคนที่ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพมากที่สุด

5:15 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0815
moncler outlet
ray ban eyeglasses
louboutin shoes
issey miyake perfume
red bottom
ralph lauren outlet
coach outlet online
christian louboutin shoes
vibram fivefingers shoes
ray ban eyeglasses

10:11 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก