วันนี้ผมเขียนบล็อกเรื่อง “กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กับคดีคุณเริงชัย” ไปได้เล็กน้อยแล้ว บังเอิญไปอ่านข่าวที่เนติบริกรให้สัมภาษณ์ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้รัฐธรรมนูญในประเด็นกระบวนการสรรหาและเลือกป.ป.ช.เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น
เห็นแล้วก็อดไม่ได้ต้องแสดงความเห็น
เดิมผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้อยู่ตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าป.ป.ช.ทั้ง ๙ คนมีความผิดจริง แต่คิดว่าจะรอให้มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาให้ชัดเสียก่อนว่าจะเอาแนวทางใดคงจะเหมาะกว่า
เมื่อรัฐบาลมีรูปแบบการแก้ไขกระบวนการสรรหาป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว ผมจึงขอลัดคิวเขียนเรื่องนี้ก่อน ส่วนเรื่องคุณเริงชัย ในตอนหน้า ไม่พลาดแน่นอนครับ
ความเดิมเริ่มจากป.ป.ช.ไปออกระเบียบภายในเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้ตนเอง ส.ว.กลุ่มหนึ่งเห็นท่าไม่ดีจึงยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐๐ ต่อไป
ศาลฎีกาฯพิพากษาให้ป.ป.ช.มีความผิด ต้องโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน
แรกๆ ป.ป.ช. ยังดื้อด้านว่า ไม่ใช่โทษจำคุกจริงเพียงแค่รอลงอาญา ตนจึงมีสิทธิดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ในท้ายที่สุด ทนกระแสสังคมไม่ไหวจนต้องลาออกจากตำแหน่ง (ผมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องลาออกด้วย เพราะทั้ง ๙ คนพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมายไปแล้วนับแต่ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษา)
เมื่อป.ป.ช.ชุดประวัติศาสตร์พ้นจากตำแหน่งไปก็ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาและเลือกกันใหม่
รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๗ วรรคสามกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้เหมาะสมเป็นป.ป.ช.รวม ๑๕ คน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นสามส่วน ๓-๗-๕ คือ
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือเจ็ดคน - ๗ คน
สาม ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน - ๕ คน
ปัญหาเกิดขึ้นกับสัดส่วนกรรมการสรรหาที่มาจากผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีส.ส. พรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ ๕ คน
สภาชุดก่อนมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีสมาชิกเป็นส.ส. ตั้งแต่ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ชาติพัฒนา ความหวังใหม่ มวลชน จึงไม่มีปัญหาในการเลือกตัวแทนมาเป็นกรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองให้ครบ ๕ คน
ในขณะที่สภาผู้แทนราษฏรปัจจุบันมีจำนวนพรรคการเมืองที่มีส.ส.ในสภาเหลือแค่ ๔ พรรค คือ ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย และมหาชน เมื่อแต่ละพรรคส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการสรรหาได้เพียงพรรคละหนึ่งคน มีเหลือแค่ ๔ พรรค ทำอย่างไรก็ไม่มีทางหากรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองให้ครบ ๕ คนได้
ใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่งจะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้
ใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่งจะมีมหกรรมการ “ดูด” ยกพรรคถึงขนาดนี้
แล้วจะทำอย่างไร ? จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่ ?
โดยส่วนตัวผมเห็นว่าถ้าต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วยเรื่องจิ๊บจ๊อยแค่นี้ล่ะก็ คงไม่มีความจำเป็น ส่วนกรณีมาตรา ๒๙๗ ที่สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันไม่สอดคล้องด้วยนั้นให้ใช้หลักการใช้และตีความกฎหมายเป็นตัวช่วยไป
ต้องไม่ลืมว่าการใช้และตีความกฎหมายต้องทำให้กฎหมายเกิดผล บทบัญญัติทุกมาตราเกิดขึ้นในนิติพิภพนี้มีเพื่อใช้บังคับ ไม่มีบทบัญญัติใดเกิดขึ้นเพื่อความโก้เก๋โดยไม่มีที่ให้ใช้บังคับ หากมีบทบัญญัติที่ไม่มีที่ให้ใช้ - ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด – ก็ต้องยกเลิกกฎหมายนั้น
กรณีนี้เช่นกัน เมื่อมาตรา ๒๙๗ บอกว่า กรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองมี ๕ คน อ่านมาตรา ๒๙๗ แบบตรงๆไม่มีอ้อมค้อม ภายใต้สถานการณ์การเมืองปัจจุบันอย่างไรก็ไม่มีทางเสกให้กรรมการสรรหาในส่วนนี้เพิ่มเป็น ๕ ได้ เช่นนี้มาตรา ๒๙๗ ก็เป็นหมันไป จึงจำเป็นต้องใช้การตีความกฎหมายเข้าช่วย
การตีความมาตรา ๒๙๗ ให้เกิดผลใช้บังคับภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ก็ต้องลดกรรมการสรรหาในส่วนลดเหลือพรรคการเมืองจากเดิม ๕ คนให้เหลือ ๔ คน รวมเหลือกรรมการสรรหาทั้งชุด ๑๔ คน
กรรมการเหลือ ๑๔ คน อย่างไรเสียก็ไม่กระทบถึงกระบวนการสรรหา ป.ป.ช. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเสียงที่ใช้เสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นป.ป.ช.ต่อวุฒิสภาต้องมีเสียงสามในสี่ขึ้นไป หาได้กำหนดเป็นจำนวนชัดเจนว่า ๑๒ เสียง ( สามในสี่ของ ๑๕) ขึ้นไปไม่
หากเราไม่ตีความกฎหมายให้เกิดผลเช่นนี้แล้ว หากต่อไปในภายภาคหน้า เกิดมีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทำนองนี้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองภายใต้ระบอบทักษิณมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบ่อยๆเช่นนี้ด้วยแล้ว เรามิจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญกันรายวันหรือ
ไม่ได้หมายความว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว เราอาจละเลย ไม่ต้องแก้ไขปรับปรุง
แต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดระเบียบสถาบันการเมืองและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ควรแก้ไขก็ต่อเมื่อเป็นประเด็นที่สำคัญจริงๆ
..................
ภายหลังที่รัฐบาลยืนยันแล้วว่าจะเดินเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ คุณทักษิณออกมาให้สัมภาษณ์แสดงสปิริตที่ผมฟังแล้วคลื่นเหียนอยากอาเจียนอย่างยิ่ง
แหม... นายกฯอะไรนี่ช่างมีสปิริตจริงหนอ
คุณทักษิณบอกว่า “รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะแก้ไขประเด็นเดียว คือไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปเป็นกรรมการในการสรรหาองค์กรอิสรทุกองค์กร” และ “เราถือว่าไม่ต้องเอาการเมืองดีกว่า เอาแบบตรงไปตรงมา คือไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่ง”
สปิริตนี้จะสวยงามไร้มลทินอย่างยิ่งหากคุณทักษิณเอ่ยตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว สภาชุดที่แล้ว
รัฐบาลที่แล้ว สภาชุดที่แล้ว ที่การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกครั้ง มีกรรมการสรรหาในส่วนตัวแทนพรรคการเมืองล้วนแล้วแต่มาจากซีกรัฐบาลทั้งนั้น
ทำไมคุณทักษิณไม่หยิบยกประเด็นแก้ไขกรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว สภาชุดที่แล้ว ทั้งที่ตอนนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากว่ารัฐบาลเข้าแทรกแซงการสรรหาองค์กรอิสระด้วยการส่งตัวแทนซีกรัฐบาลเข้าไปเป็นกรรมการสรรหา ทั้งที่ตอนนั้นนักวิชาการเรียกร้องให้มีการแก้ไขในประเด็นนี้
ทำไมความรับรู้ของคุณทักษิณจึงช้านัก
ทำไมคุณทักษิณพึ่งออกมาสนับสนุนให้แก้ในประเด็นนี้ในสถานการณ์ที่กรรมการสรรหาในส่วนที่มาจากพรรคการเมือง อาจกลายเป็นซีกฝ่ายค้านที่มีมากกว่ารัฐบาล (มีฝ่ายค้าน ๓ พรรคอาจเป็นกรรมการสรรหาได้ ๓ คน ในขณะที่รัฐบาลมี ๑ พรรค อย่างไรเสียกรรมการสรรหาในส่วนที่มาจากพรรคการเมือง สัดส่วนของรัฐบาลย่อมน้อยกว่าแน่ )
หรือต้องรอให้ผลประโยชน์ของตนเสียไปก่อน ต่อมกระตุ้นสปิริตจึงเริ่มทำงาน
หรือเกรงว่า หากคุณเสนาะ เจ้าพ่อวังน้ำเย็น คึกสร้าง “นิยายงูเห่าภาค ๒” ยกพลไปตั้งพรรคใหม่เป็นฝ่ายค้านแล้ว กรรมการสรรหา ๕ คน จะกลายเป็นฝ่ายค้านสี่ – ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน วังน้ำเย็น – รัฐบาลหนึ่ง – ไทยรักไทย –
เพื่อความเป็นธรรมต่อคุณทักษิณ เอาเป็นว่าคิดในแง่ดีว่าคุณทักษิณพึ่งรู้ตัวแล้วกัน จะได้พิจารณาในส่วนเนื้อหาต่อไป
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๗ ที่เนติบริกรออกมาแถลงเมื่อวานนี้ กรรมการสรรหาป.ป.ช.รวม ๑๕ คนประกอบด้วยสี่ส่วน คือ
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน - ๖ คน
สาม ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๔ คน
สี่ ผู้นำฝ่ายข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร – ๒ คน
ส่วนที่ ๑ ถึง ๓ ไม่มีปัญหาอะไรนัก แต่ที่ควรนำมาพูดถึงคือส่วนที่ ๔
จากปัญหาที่ตัวแทนจากพรรคการเมืองมีไม่ครบ ๕ คนจึงต้องนำมาแก้กันใหม่ เมื่อเกิดบัญชาจากคุณทักษิณที่มีสปิริตสูงส่งมาก (แต่มาช้าไปหน่อย) ว่าไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองมายุ่งในกระบวนการสรรหา เนติบริกรแสนดีก็รีบรับคำบัญชาไปนั่งขบคิดว่าจะออกแบบสัดส่วนกรรมการสรรหาใหม่อย่างไรดี
เดิมมีกรรมการสรรหาที่มาจากพรรคการเมืองที่มีส.ส.ซึ่งเป็นกรรมการสรรหาที่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเปิดช่องให้การเมืองเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ (ฝีมือใครกันหนอที่ทำเช่นนี้ในสภาชุดที่แล้ว) ประกอบกับสปิริตของท่านนายกฯ (สปิริตที่ช้าไปหลายปีและมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ไม่อาจรู้ได้) จึงเห็นควรให้ตัดกรรมการสรรหาที่มาจากพรรคการเมืองออกไป และไปลากเอาตัวแทนจากองค์กรอิสระอื่นๆตามรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาแทน
อย่างไรก็ตาม เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีกรรมการสรรหาที่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเพื่อสร้างความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อตัดตัวแทนจากพรรคการเมืองไปแล้วก็ต้องหาตำแหน่งที่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา
เท่าที่เนติบริกรคิดออก คือ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎร
แต่ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรบอกว่า ตำแหน่งตนต้องมีความเป็นกลาง ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับการสรรหา (สปิริตอีกแล้วครับท่าน แหมแล้วจะมาหาว่าท่านเป็นประธานโภชินฯได้อย่างไรกัน) เนติบริกรจึงสร้างนวัตกรรมใหม่ทางรัฐธรรมนูญขึ้นซึ่งซาร่าห์ต้องตะโกนว่า “โอ้ พระเจ้า จอร์จ มันยอดมาก”
นวัตกรรมชิ้นใหม่ทางรัฐธรรมนูญจากปลายปากกาของเนติบริกร คือ “ผู้นำฝ่ายข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร”
ไม่ต้องไปพึ่งพา สสร. หรอกครับ เนติบริกรคนเดียวก็เสกตำแหน่งใหม่นี้ขึ้นได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วยาม ขอมีใบสั่งมาเถอะครับ ผมจัดให้
ตำแหน่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย
ตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เว้นแต่ การสรรหาป.ป.ช.ตามมาตรา ๒๙๗ เท่านั้น
ตำแหน่งที่ไม่ได้กำหนดที่มาที่ไปไว้
ตำแหน่งที่มีงานทำงานเดียว คือ การสรรหาป.ป.ช.
ตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือน
ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่า “ผู้นำเสียงข้างมากในสภา เราเรียกตามแบบมาตรฐานของต่างประเทศว่าผู้นำเสียงข้างมากซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้ไปเลือกผู้นำฝ่ายค้าน มันก็แบ่งคนออกเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจจะเลือกกันในหรือนอกสภาก็ได้ ที่แบ่งคนออกเป็นสองพวกในสภา นี่คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีมากว่า ๑๐ ปีแล้ว”
ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่า “เป็นการเลือกกันเองของ ส.ส.ที่มีเสียงข้างมากในสภา โดยมีการรับรองสนับสนุนจาก ส.ส.รัฐบาลเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งวิธีการเลือกอาจจะลงมติในสภา นอกสภา หรือทำบัญชีหางว่าวก็ได้ แต่ต้องมีรายชื่อให้ประธานสภาตรวจสอบได้” แต่วิธีการได้มาที่เนติบริกรบอกนี้ไม่ได้เขียนในรัฐธรรมนูญ หากเป็นเพียงความคิดของเนติบริกรเท่านั้น (พึงระลึกไว้เสมอว่าเนติบริกรไม่ใช่รัฐธรรมนูญ)
ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่ามีมานาน เพราะใช้ตรรกะคิดว่า เมื่อมีผู้นำฝ่ายค้านมาหลายสิบปีก็ต้องมีผู้นำฝ่ายข้างมากมาหลายสิบปีเช่นกัน
ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่ารัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๐ กำหนดตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านแสดงว่าต้องมีผู้นำฝ่ายข้างมากด้วย
ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่าต่างประเทศก็มีกัน
ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ อุตส่าห์สรรหาตรรกะการให้เหตุผลโดยพิจารณาจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันและอดีต โดยเทียบเคียงจากกฎหมายต่างประเทศ แต่กลับไม่กำหนดงานให้ผู้นำฝ่ายข้างมากทำ นอกจากการสรรหา ป.ป.ช.เท่านั้น
ประเด็นว่าตำแหน่งนี้ในต่างประเทศมีหรือไม่ อย่างไร รัฐธรรมนูญไทยมีเจตนารมณ์หรือไม่ อย่างไร อาจถกเถียงกันได้ (แต่ส่วนตัวผมเห็นว่าบ้านเราไม่มี ถ้าจะมีก็ต้องบอกว่าทำงานอะไร มีที่มาอย่างไร ส่วนของต่างประเทศนั้นมี แต่เป็นเพียงการรวมกลุ่มกันในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเพื่อผลักดันร่างกฎหมาย ล็อบบี้ เสนอญัตติต่างๆ) แต่ที่ผมอยากชี้ให้ท่านผู้อ่านอึ้ง ทึ่ง เสียว คือ ความสามารถอันเอกอุของเนติบริกร
เสนอแบบของตัวเองไป แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่เอาแล้วตั้งตุ๊กตามาให้ว่าอยากได้กรรมการสรรหาแบบนี้ เนติบริกรเราจัดให้ได้ในบัดดล แถมยังเตรียมชุดคำตอบไว้ครบถ้วนอีกด้วย ใครถามมา ฉันตอบได้
เก่งกาจอะไรอย่างนี้ แล้วจะไม่ให้ตำแหน่ง “เนติบริกร” ได้อย่างไรครับ
ผมเห็นว่าตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายข้างมาก” อาจมีก็ได้ ถ้าจำเป็น แต่ต้องผ่านการวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ ต้องตอบได้ว่าตำแหน่งนี้มีเพื่อมาทำงานอะไร ซ้ำซ้อนกับตำแหน่งอื่นหรือไม่ มีที่มาอย่างไร จัดว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ มีเงินเดือนหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ คิดแค่ไม่กี่ชั่วยามแล้วเสกขึ้นมาจากอากาศ เพราะมีใบสั่งอยากได้
การนิรมิตตำแหน่งขึ้นมาเพื่อใช้งานสรรหาป.ป.ช.งานเดียวแบบนี้ ผมเห็นว่าไม่น่าเป็นการร่างกฎหมายที่ดี ถ้าจะหาตำแหน่งเพื่อมาคู่กับผู้นำฝ่ายค้านในการเป็นกรรมการสรรหา ก็น่าระบุไปให้ชัดเลยว่า ส.ส.ที่พรรคการเมืองสังกัดรัฐบาล
เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของกรรมการสรรหาทั้งหมดแล้ว น่าสงสัยต่อไปว่ารัฐบาลจะไม่มีช่องทางเข้าแทรกแซงกรรมการสรรหาอีกจริงหรือ ปลอดการเมืองจริงหรือ ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง คือ อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน
ฐานคิดของ สสร. ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นนักวิชาการ บางคนเป็นถึงศาสตราจารย์ ย่อมมีคุณวุฒิและความเป็นกลางปลอดจากการเมือง แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ สิ่งที่พิสูจน์ให้เราเห็น คือ กระบวนการเลือกตั้งอธิการบดีในแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีการเมืองเข้าแทรกตลอดอยู่แล้ว สู้กันราวกับเป็นการเลือก ส.ส. ย่อมๆเลยทีเดียว บางมหาวิทยาลัยฝ่ายการเมืองยังปรารถนาเข้าแทรกด้วย (มหาวิทยาลัยของผมนี่ถ้ารัฐบาลมีอำนาจเลือกอธิการได้ สงสัยคงไม่ได้เห็นชื่อคนปัจจุบันที่เป็นอธิการบดีอยู่เป็นแน่) นอกจากนี้สภาพปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยของรัฐผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ยิ่งน่าสงสัยต่อไปว่าจะเกิดการล็อบบี้ในหมู่กรรมการสรรหาที่มาจากอธิการบดีหรือไม่
เอาเข้าจริง เราจะสรรหาสารพัดสูตรมาออกแบบกรรมการสรรหาให้วิเศษเพียงใดก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากการแทรกแซงทางการเมืองได้ อย่างไรเสียการบล็อกโหวตก็ต้องเกิดขึ้น เช่นกันเราอาจไม่มีความจำเป็นต้องสนใจเรื่องกระบวนการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆเหล่านี้เลย หากผู้ดำรงตำแหน่งของเรามีความเป็นกลางและปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต ไม่เอนเอียงฝ่ายใด
ในฝรั่งเศส คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ๙ คนมาจากการเลือกของประธานาธิบดี ๓ คน การเลือกของประธานสภาผู้แทนราษฎร ๓ คน การเลือกของประธานวุฒิสภา ๓ คน มีที่มาจากการเมืองล้วนๆ แต่ก็ทำงานได้ดี เพราะไม่ได้คิดว่าการแต่งตั้งนั้นเป็นบุญคุณอะไรกัน
สิ่งที่น่าคิดต่อไปอีก คือ ตอนแรกคุณทักษิณบอกว่า “รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะแก้ไขประเด็นเดียว คือไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปเป็นกรรมการในการสรรหาองค์กรอิสรทุกองค์กร” แล้วเหตุใดตอนนี้จึงเสนอแก้แค่การสรรหาป.ป.ช.กรณีเดียว
เมื่อแสดงสปิริต แสดงความบริสุทธิ์ใจไม่อยากให้การเมืองมายุ่งกับการสรรหาแล้ว ทำไมไม่แก้การสรรหาองค์กรอื่นๆไปพร้อมกัน
เนติบริกรให้เหตุผลสองข้อ “๑. กรอบระยะเวลาค่อนข้างจำกัด หากมีหลายประเด็นจะใช้เวลาแก้ไข อภิปราย และลงมตินานมาก ในที่สุดก็จะปิดสมัยประชุมและการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. อาจจะช้าออกไปทุกที ๒.รัฐธรรมนูญนี้ได้ยกร่างโดยรับฟังความเห็นที่หลากหลายทุกมาตรา หากแก้ไขในส่วนที่ยังไม่เป็นปัญหา อาจมีปัญหาว่าจะนำองค์ประกอบอะไรใส่ลงไปเป็นการเปิดประเด็นให้หลากหลาย ไม่สามารถตกผลึกได้ในเวลาที่จำกัด เดี๋ยวจะกลายเป็นทำอะไรลวกๆ และรวบรัด”
คุณทักษิณให้เหตุผลว่า “รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าจะแก้ไข ต้องทำเท่าที่จำเป็น ถ้าไปแก้หลักการของกฎหมายเกินไป จะเกิดการตั้งคำถามว่าทำถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีปัญหาคือเรื่องของ ป.ป.ช. ดังนั้นก็ขอแก้ทางเทคนิค เพื่อขอให้มีคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. เพื่อให้มี ป.ป.ช.สามารถทำงานได้ก่อน ในส่วนของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระอื่นๆ ก็พร้อมแก้ไข ถ้าพบว่าจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต หรือถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าหลักการตรงนี้จะต้องเปลี่ยนทั้งหมด ก็จะแก้ไขภายหลัง วันนี้ขอแค่คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ก่อน”
เหตุผลฟังแล้วก็พอไปได้ครับ...
แต่มันขัดกับสปิริตที่นายกฯประกาศไว้ทีแรกเท่านั้นเอง เป็นสปิริตที่ในสมัยรัฐบาลที่แล้วนายกฯนึกไม่ออก เป็นสปิริตที่ในสมัยรัฐบาลชุดนี้ นายกฯพึ่งนึกออก เป็นสปิริตที่นายกฯนึกออกเมื่อสัปดาห์ก่อนแต่สัปดาห์นี้หายไปเสียแล้ว
....................
เปรียบเทียบคณะกรรมการสรรหาป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๗ ทั้งสามร่าง
ร่างรัฐบาลล่าสุด
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน - ๖ คน
สาม ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๔ คน
สี่ ผู้นำฝ่ายข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร – ๒ คน
ร่างรัฐบาลก่อนหน้านั้น
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน - ๖ คน
สาม ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๔ คน
สี่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร – ๒ คน
ร่างฝ่ายค้าน (ฝ่ายค้านเห็นควรแก้กรรมการสรรหาในทุกองค์กร ไม่ควรแก้เฉพาะป.ป.ช.)
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๗ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือเจ็ดคน – ๗ คน
สาม สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเลือกกันเองให้เหลือห้าคน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเลือกกันเองให้เหลือสองคน – ๗ คน