โมร็อกโก เป็นประเทศหนึ่งที่ผมตั้งใจจะไปเยือนให้ได้ อยากไปตะลุยประเทศอิสลามสักครั้งในชีวิต ที่เล็งไว้ ก็อยากไปมาร์ราเกซ เอสสวิรา และเฟส มีคนบอกว่าขอวีซ่าท่องเที่ยวได้ง่ายด้วย
วันนี้เข้าไปอ่านหนังสือพิมพ์ Le Monde พบข่าวน่าสนใจเกี่ยวกับโมร็อกโก เก็บมาฝากกัน
...............
เหลืออีกไม่ถึงหนึ่งเดือน จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่สัญญาณจากวังยังดูเหมือนว่าจะตีกรอบให้เสรีภาพของสื่อมวลชนมีข้อจำกัดอยู่ อาเหม็ด เบ็นเชมซี ผู้อำนวยการหนุ่มวัย ๓๓ ปี ของนิตยสารรายสัปดาห์ Tel Quel (ตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส) และ Nichane (ตีพิมพ์เป็นภาษาอาหรับ) อาจถูกลงโทษจากการตีพิมพ์บทบรรณาธิการในนิตยสารของเขา
คดีของเบนเชมซีจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในวันที่ ๒๔ สิงหาคมนี้ ด้วยข้อหาตีพิมพ์บทความที่ “ขาดการเคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์” ซึ่งมีโทษจำคุก ๕ ปี
เบนเชมซีเขียนบทบรรณาธิการ มีเนื้อหาเป็นการวิจารณ์พระราชดำรัสของกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ ๖ เกี่ยวกับการปฏิรูปโมร็อกโกให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เขาใช้ชื่อบทบรรณาธิการว่า “แกจะพาฉันไปไหนล่ะ พี่ชาย?” (ชื่อนี้ล้อเลียนมาจากเพลงยอดฮิตในช่วงปี ๗๐ ที่ว่า “Où tu m'emmènes, mon frère ?” ชื่อบทบรรณาธิการต้องการสื่อว่า โมฮัมเหม็ดที่ ๖ จะนำพาโมร็อกโกไปสู่ประชาธิปไตยจริงหรือ) เบนเชมซี วิจารณ์กษัตริย์องค์อธิปัตย์โดยตรง ต่อกรณีการผูกขาดอำนาจของพระองค์ และไม่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างจริงใจ
เขาถูกตำรวจจับกุมและสืบสวนนานร่วม ๒๐ ชั่วโมง ก่อนถูกส่งฟ้อง ในขณะที่รัฐบาลก็สั่งยึดนิตยสารทั้งสองฉบับ ด้วยเหตุผลที่ว่า “หมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี” เบนเชมซี่กล่าวว่า “ถ้าผมต้องการสื่อสารถึงพระมหากษัตริย์ ผมไม่ลืมหรอกที่จะแสดงความเคารพสักการะอย่างนอบน้อม แต่นี่ผมต้องการพูดถึงพระองค์ในฐานะมนุษย์ ในฐานะ “ผู้บังคับบัญชาของความเชื่อทั้งหลาย” ลองดูที่วังสิ พวกรายล้อมพระองค์นั่นแหละที่มีแต่ทำให้พระองค์หลงลืมตนมากขึ้น ในขณะที่เจตนาของผม คือ การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ต้องการหมิ่นประมาทพระองค์เลย”
รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร กล่าวว่า “นักข่าวพวกนี้กระทำการละเมิดต่อจรรยาบรรณพื้นฐานของวิชาชีพสื่อมวลชน ในโมร็อกโก พวกเขามีสิทธิพูดถึงพระราชดำริ หรือพระราชดำรัสได้ แต่ต้องทำโดยปราศจากการทำให้พระองค์เสื่อมเสียและไม่สง่างาม”
.......................
ผมลองสำรวจการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญของโมร็อกโกแล้ว พบว่า โมร็อกโกมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีสองสภา สภาผู้แทนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม พึ่งมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและจำกัดอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ในปี ๑๙๙๖ แต่ในความเป็นจริง พระมหากษัตริย์ยังมีอำนาจแทรกแซงทางการเมืองอยู่มาก เช่น รัฐมนตรี ๔ กระทรวงหลัก ได้แก่ มหาดไทย ยุติธรรม ต่างประเทศ และศาสนา เป็น “สายตรง” จากวัง แม้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดไว้ก็ตาม นอกจากนี้พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาติ และศาสนาอิสลาม เป็นจอมทัพของชาติ และมีกองกำลังส่วนพระองค์ คำขวัญประจำชาติ คือ “พระเจ้า ปิตุภูมิ และกษัตริย์”
โมฮัมเหม็ดที่ ๖ ครองราชย์เมื่อปี ๑๙๙๙ ต่อจากฮัสซันที่ ๒ พระราชบิดา พระองค์มีความตั้งใจจะปฏิรูปโมร็อกโกให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ตามแนวทางของฆวน คาร์ลอสของสเปน เมื่อขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ พระองค์ได้ส่งสัญญาณด้วยการสั่งปล่อยนักโทษการเมืองออกจากคุก และให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับเข้าประเทศได้ แต่นักวิชาการและสื่อมวลชนบางส่วนยังมองว่า แม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่ากษัตริย์องค์ก่อน แต่โดยสาระสำคัญแล้ว พระองค์ยังคงสงวนพระราชอำนาจไว้อยู่ เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏโดยตรง หากผ่านกลไกต่างๆของพระองค์นั่นเอง
นอกจากนี้ พระองค์พยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ให้เป็น “มนุษย์” มากขึ้นและลด “ความลึกลับ ความศักดิ์สิทธิ์ ความเข้าไม่ถึง” ลง เช่น ให้โอกาสประชาชนเข้าร่วมพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระองค์ การเยี่ยมเยียนประชาชน หรือ การอนุญาตให้เรียกสมญานามว่า “ M 6” (M คือ Mohammed)
ก่อนหน้านั้น ในปี ๒๐๐๓ บรรณาธิการนิตยสาร Demain ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก ๓ ปี ในข้อหา “กระทำการอันกระทบต่อระบอบกษัตริย์ หมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นอันตรายต่อบูรณภาพของดินแดน” แต่โมฮัมเหม็ดที่ ๖ ได้พระราชทานอภัยโทษให้
.....................
แม้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในเรื่องสถาบันกษัตริย์ในโมร็อกโก ยังเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” และ “อ่อนไหว” เหมือนไทย แต่เราจะเห็นความแตกต่างประการหนึ่ง คือ สื่อมวลชน ปัญญาชน ยังร่วมใจกันต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างน้อยพวกเขาก็ชิงพื้นที่จากสื่อสาธารณะ (เน้นว่า “สาธารณะ” ไม่ใช่ “ใต้ดิน”) นำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในอีกด้านได้บ้าง มิใช่มีแต่ข่าวสาร “เทิดพระเกียรติ” เพียงถ่ายเดียว