วันเสาร์, เมษายน 30, 2548

เมื่อผมอยากเป็นบล็อกเกอร์กะเค้ามั่ง

กระแสเว็บบล็อกมาแรงจริงๆครับ ผมลองเข้าบล็อกนู้นออกบล็อกนี้มาหลายที่แล้วแต่ก็ยังไม่ลงมือทำบล็อกของตัวเองเสียที ได้แต่ไปดูของคนอื่น ดูแล้วก็อยากมีบ้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เริ่มเขียน

จนกระทั่งผมไปเจอบล็อกของคุณปิ่น ปรเมศวร์ http://pinporamet.blogspot.com/ ผมอ่านแล้วก็ถูกใจ นึกในใจว่ากูอยากเขียนให้ได้อย่างนี้สักครึ่งนึงก็ยังดี ผมไม่ได้รู้จักกับคุณปิ่นเป็นการส่วนตัว แต่ติดตามงานของแกมานาน เรียกได้ว่า รู้จักแกผ่านทางหน้ากระดาษ หน้าจอคอมพิวเตอร์ ผมทราบกิตติศัพท์ของคุณปิ่นดีว่าแกเป็นจอมยุทธรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนักเศรษฐศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นคลื่นลูกใหม่ที่มาแรง ถ้าเว็บบล็อกของผมไปได้ตลอดรอดฝั่งผมก็ขอยกความดีความชอบให้คุณปิ่นในฐานะที่บล็อกแกเป็นแรงบันดาลใจให้ผมลุกมาเขียนบ้าง

ผมอ่านบล็อกของคุณปิ่นและผองเพื่อนแล้วผมก็ช่างอิจฉายิ่งนัก

อะไรที่ผมอิจฉา?

ผมอิจฉาที่นักวิชาการในสายเศรษฐศาสตร์ช่วยกันผลิตงานออกไปในวงกว้าง ทั้งคุณปิ่น เพื่อนๆ มิพักต้องกล่าวถึงรุ่นใหญ่อย่างอาจารย์รังสรรค์ หรือ อาจารย์วรากรณ์ งานในวงกว้างที่ผมบอกหมายถึงงานที่ว่าถึงสิ่งรอบๆตัวที่เราเห็นภาพชัดเจน จับต้องได้ อธิบายให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ เข้าใจได้ง่าย ทั้งๆที่โดยเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์เองน่าจะซับซ้อนพอดู

กล่าวให้ถึงที่สุด ผมหมายถึงงานที่เขียนตามหน้าหนังสือพิมพ์อย่างที่อาจารย์รังสรรค์ อาจารย์วรากรณ์ คุณปิ่น ในสาขาเศรษฐศาสตร์ หรือ อาจารย์นิธิ อาจารย์เกษียร อาจารย์เสกสรรค์ ในสาขารัฐศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ ที่คนไม่มีพื้นความรู้ในด้านนั้นๆ คนทั่วๆไป สามารถอ่านได้สบายๆ

ย้อนกลับมาดูสาขาของผม ผมสำรวจแล้วงานวิชาการทางกฎหมายในวงกว้างมีน้อยมาก นักวิชาการที่อธิบายกฎหมายแบบง่ายๆ ไม่มีศัพท์แสงหรูหรา คนทั่วไปเข้าถึง ผมว่านับตัวได้ จริงๆอาจมีเยอะก็ได้แต่ไม่ได้ผลิตงานออกมาให้เห็น ผมอยากเห็นนักวิชาการในสาขากฎหมายผลิตงานได้ทั้งที่แบบมีสาระหนักๆและแบบเบาๆที่อ่านได้แบบไม่ต้องเอากะไดมาปีนขึ้นไปสอยลงมา ผมหารือกับสหายทางวิชาการของผมตลอดถึงประเด็นนี้ว่าอะไรคือสาเหตุที่พวกเราไม่สามารถทำแบบที่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ทำกัน

เราได้ข้อสรุปตรงกันครับว่า เรายึดติดกับรูปแบบมากเกินไป สังเกตว่าเราเขียนงานแต่ละครั้งเราต้องร่ายยาวว่ามาตรานั้นอย่างนี้ หลักกฎหมายว่าอย่างนั้น แล้วยังติดกับรูปแบบภาษากฎหมายซึ่งทำความเข้าใจยากอีกด้วย มิพักต้องกล่าวถึงประเพณีหรือค่านิยมบางประการที่ฝังอยู่ในตัวพวกเรา นั่นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ผมเห็นว่า โดยเนื้อหาวิชาแล้ว มันน่าจะเข้าถึงยากพอดู คนทั่วไปมักจะเห็นว่าเราเถียงกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง เถียงกันเรื่องรูปแบบ ไม่ได้เน้นผลเท่าไร มัวแต่ไปจับจ้องอยู่ที่วิธีการว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ (ไม่แปลกที่ท่านนายกฯถึงไม่ค่อยชอบกฎหมายเท่าไร) ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไรให้เห็นภาพ แต่เป็นความจริงที่ใครไม่ได้มาเรียนจะไม่รู้หรอกว่าทำไมเราถึงเป็นแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าไม่ใช่ข้ออ้างที่นักวิชาการนิติศาสตร์จะละทิ้งหน้าที่ในการผลิตงานในวงกว้าง มิฉะนั้นเราก็ไม่ต่างกับพวกอยู่บนหอคอยงาช้าง ใครรุกล้ำเข้ามาในพรมแดนเรา เราก็จะตะโกนกลับไปว่า ไอ้พวกนี้ไม่รู้เรื่อง สะเออะ ไม่รู้กฎหมายแล้วมาพูด ผมกลับคิดว่า ก็เค้าไม่รู้ เราก็ยิ่งมีหน้าที่อธิบายให้เค้ากระจ่าง

ยิ่งนับวัน ผมกลัวว่าพวกเราจะแปลกแยกออกจากสังคมมากขึ้นๆ คบกันเองแต่พวกนักกฎหมายด้วยกัน ต่อสู้ ชิงไหวชิงพริบ หรือร้ายกว่านั้นเอากฎหมายมาเล่นแร่แปรธาตุเพื่อเป้าหมายบางประการ ในขณะที่สังคมมองพวกเราด้วยสายตาแปลกๆว่า ไอ้พวกนี้มันทำอะไรกัน เถียงกันอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง พวกเราก็ชี้นิ้วกลับไปว่า ก็พวกคุณนั่นแหละที่ไม่รู้เรื่อง

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมตัดสินใจเขียนบล็อกนี้

ผมอยากลองเขียนเรื่องในวงการกฎหมายแบบเข้าใจง่ายๆ จับต้องได้ อ่านสบายๆ ไม่ต้องเอากะไดมาปีนไปสอยลงมา ไม่ต้องอ่านแล้วธาตุไฟในร่างกายปั่นป่วน
แต่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ยังไงผมจะพยายามลองดู

ผมได้ชักชวนสหายทางวิชาการของผมให้เปิดบล็อกด้วย ให้มันว่ากฎหมายอาญาที่มันถนัด (แต่เอาเข้าจริงแล้วผมว่ามันถนัดทุกสาขา) ส่วนผมก็จะว่าในส่วนของกฎหมายมหาชนที่ผมพิสมัย ไม่รู้ว่ามันจะได้ฤกษ์เปิดเมื่อไร ถ้ามันเข้ามาอ่านก็อยากบอกมันว่า "รีบๆมาเปิดได้แล้ว จะได้เป็นเพื่อนกัน ถ้ายังไม่มีเวลาเขียนก็เอาที่เคยโพสตามเว็บบอร์ดลงไปก่อนก็ได้"

ในส่วนบล็อกของผมนี้ นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว ผมอาจหยิบยกประเด็นการเมือง สังคม หรือสิ่งต่างๆรอบตัวที่ผมเห็นในแต่ละวันเอามาเล่าให้ฟัง อาจมีเรื่องราวที่น่าสนใจในฝรั่งเศสที่ผมไปเจอ ข่าวประเด็นร้อน หนัง หรือไวน์ที่ผมไปลอง (อันนี้ของชอบ)

สุดท้าย...

ขอบคุณเว็บบล็อกที่ทำให้ผมมีพื้นที่ในการสำเร็จความใคร่ทางวิชาการ

พรุ่งนี้ หวังว่าผมคงคิดออกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี