วันเสาร์, เมษายน 26, 2551

ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม



"Je ne suis pas d’accord avec ce que vous dites, mais je me battrai jusqu’à la mort pour que vous ayez le droit de le dire"

"ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับที่ท่านพูด แต่ข้าพเจ้าจะต่อสู้จนตัวตายเพื่อให้ท่านได้มีสิทธิพูด"

ประโยคนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๑๙๐๖ ในงานภาษาอังกฤษชื่อ "The Friends of Voltaire" ของ Evelyn Beatrice Hall เธอสันนิษฐานว่าวอลแตร์เป็นผู้กล่าว แต่จากการสำรวจหลักฐานทุกชิ้นแล้ว ไม่ปรากฏว่าวอลแตร์กล่าวไว้จริงหรือไม่ ในงานชิ้นใด

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า ประโยคนี้เป็นความคิดของวอลแตร์ ซึ่งคนรุ่นหลังๆสรุปเอาจากบทบาทของวอลแตร์ในช่วงที่เขาเข้าไปมีบทบาทต่อสู้ รณรงค์ให้ปล่อยผู้ต้องหาในหลายๆคดี เพราะกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น

.............

เสรีภาพในความรัก

เชื่อว่าทุกคนคงเคยรักใครบางคน

เช่นกันทุกคนคงเคยไม่รัก เฉยๆแบบไม่รักไม่เกลียด หรือถึงขนาดเกลียดใครบางคน

ความรักเป็นเรื่องของหัวใจ เรื่องของรสนิยม บางครั้ง หากเอา “มาตรวัด” ทางศีลธรรมมาจับก็คงไม่เหมาะ

การชี้นิ้วว่าเอ็งเป็นคนเลว เพราะเอ็งไม่รักคนคนเดียวกับข้า

การเหมารวมเอาว่าการที่เขาไม่รักใครบางคนย่อมเป็นตัวชี้วัดว่าเขาเป็นคนเลว

คนคนหนึ่งที่ปล้น ฆ่า ข่มขืน อาจกลายเป็นคนดีในชั่วข้ามคืนด้วยเหตุเพียงว่า เขาประกาศตนว่ารักคนคนเดียวกับที่คนส่วนมากเขารักกัน

ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเป็นการล้ำพรมแดนเสรีภาพแห่งความรัก

ความเห็นบางความเห็นอาจไม่เข้ากันกับรสนิยมกระแสหลักของคนจำนวนมาก แต่ก็ไม่จำเป็นที่ต้องปิดกั้นไม่ให้เขาเหล่านั้นได้แสดงออก

การประกาศตนว่ารักใครสักคนสามารถทำได้อย่างองอาจ

และในบางกรณีการประกาศตนเช่นว่านั้น ยังอาจส่งผลกระตุ้นอะดรีนาลีนในร่างกายให้หลั่งออกมาจนสร้างความปีติสุขให้แก่ตนเองได้อีกด้วย

แล้วเหตุใดการบอกว่าไม่รักหรือรู้สึกเฉยๆ จึงต้องถูกคุกคามจากอำนาจ – ทั้งตามกฎหมายและนอกกฎหมาย - ด้วยเล่า

การรักหรือไม่รักใครสักคนย่อมเกิดจากมโนธรรมสำนึกส่วนตน หาเกิดจากการบังคับไม่จะให้ทำเช่นไร

หากมโนธรรมสำนึกของเขาบอกเขาว่า เขารักและเทิดทูนคนคนหนึ่ง หรือพระเจ้าในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คนคนเดียวกันกับคนที่คนส่วนใหญ่รักและเทิดทูน

หรือ หากมโนธรรมสำนึกของเขาบอกว่า เขารู้สึกเฉยๆกับคนที่คนส่วนใหญ่รัก

เขาจะโดนคุกคามจากภัยใดหรือไม่

วันหนึ่ง เราอาจเห็นคนรุมกระทืบคนที่ไม่รักคนคนหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เขารักกัน

ร้ายแรงกว่านั้น เราอาจเห็นการฆาตกรรมหมู่กลางมหานคร ด้วยมูลเหตุเพียงว่า เหยื่อพวกนี้ไม่มีรสนิยมแบบที่คนส่วนมากเขามี

มีแต่สังคมป่าเถื่อนและไร้อารยะเท่านั้น ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้ความคิด ความเชื่อ หรือรสนิยมที่แตกต่าง

ฤาสังคมแห่งนี้ แม้เพียงเสรีภาพในความรัก ก็มิอาจหยิบยื่นให้แก่กันได้

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกคุกคามอย่างมากพอแล้ว แล้วนี่จะไม่เหลือพื้นที่ให้เสรีภาพในความรักบ้างเลยหรือ


วันพฤหัสบดี, เมษายน 17, 2551

บทความใหม่ของผม

โฆษณาบทความใหม่ของผม

๑. ยุบพรรคในต่างประเทศ

รอตีพิมพ์ในประชาชาติธุรกิจ น่าจะสัปดาห์หน้า

๒. องค์กรตุลาการกับประชาธิปไตย

http://www.sameskybooks.org/2008/04/17/judge-and-democracy/

วันอังคาร, เมษายน 08, 2551

แด่หยุด แสงอุทัย

เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของศ.ดร.หยุด แสงอุทัย ในฐานะที่ผมได้อ่านตำรา บทความ หมายเหตุท้ายฎีกา คำอภิปรายต่างๆของหยุด จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นลูกศิษย์ทางตำรา ผมไม่มีอะไรจะอุทิศให้ นอกเสียจากนำบทความของผมที่เกี่ยวกับเรื่องพระราชอำนาจ (หยุดแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้บ่อยครั้ง) มาเผยแพร่อีกครั้ง ทางเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน

นี่เป็นบทนำที่ผมเขียน ส่วนรายละเอียด อ่านเพิ่มเติมต่อที่

http://www.sameskybooks.org/2008/04/04/yud/

.................

วันที่ ๘ เมษายน ปีนี้ เป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ผู้มีคุณูปการต่อวงการกฎหมายไทย

หยุด เกิดเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๑ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนมัธยมโฆษิตสโมสร เนติบัณฑิตไทยจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม สำเร็จปริญญาเอกกฎหมายขั้นเกียรตินิยมชั้นสูง (Magna Cumlaude) จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน

ในอดีต เคยรับราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการร่างกฎหมาย จนกระทั่งถึงปี ๒๕๑๑ จึงเกษียณอายุราชการ นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นอีก เช่น ตุลาการรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะต่าง ๆ แทบทุกลักษณะวิชาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่น ๆ ด้วย

หยุดแต่งตำราทางกฎหมาย เขียนบทความทางกฎหมายและบันทึกท้ายคำพิพากษาฎีกาไว้เป็นจำนวนมาก

ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๒

..............

หยุดเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแทบทุกประเภท แต่ที่ได้การยอมรับนับถือเป็นอย่างมาก คือ กฎหมายอาญา และกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้หยุดยังเขียนตำราคลาสสิก “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป” ซึ่งปัจจุบันยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

หยุดเข้าไปมีบทบาททางการเมืองเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยตำแหน่งของหยุดแล้วก็เปรียบเสมือนเป็น “มือกฎหมาย” ของรัฐบาลนั่นเอง จากบทบาทดังกล่าว ส่งผลให้หยุดต้องรับวิบากกรรมทางการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามของจอมพล ป. (ดูรายละเอียดได้ในบทความ “กรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙” ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้ที่ http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_1973.html%20%20%20และhttp://midnightuniv.org/midnight2545/document9542.html)

จากการศึกษาตำรากฎหมายของรัฐธรรมนูญของหยุด บทความ หรือคำอภิปรายต่างๆ เรายืนยันได้ว่า หยุด มีความคิดอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย คือ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีผู้ใดที่มีและใช้อำนาจทางการเมืองโดยปราศจากความรับผิดชอบ เพื่อมิให้กษัตริย์ต้องรับผิด ตามคำกล่าวที่ว่า “The King Can Do No Wrong” จึงต้องมิให้กษัตริย์กระทำการใดๆ เว้นแต่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการซึ่งเป็นผู้กระทำอย่างแท้จริง

ดังปรากฏให้เห็น เช่น

“ในขณะนี้ปรากฏว่าได้มีการวิพาษ์วิจารณ์การกระทำของพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมสาธารณะหรือในทางหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์” และ "องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ"
(ในบทความชื่อ “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” อ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙)

“ในเวลานี้ ในประเทศไทยยังมีรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนเอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับการปรึกษาหารือ สิทธิที่จะทรงสนับสนุน และสิทธิที่จะทรงตักเตือน ไปใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ มักจะนำพระราชดำรัสในการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการดังกล่าวนั้น ไปเผยแพร่แก่สื่อมวลชนบ้าง แก่บุคคลอื่นบ้าง การที่ทำเช่นนั้น อาจเป็นโดยเจตนาดี เพราะเห็นว่าจะเป็นที่เชิดชูพระเกียรติบ้าง หรือเห็นว่าแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยบ้าง หรือเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าและรับสนองพระราชประสงค์บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งนั้น คำแนะนำหรือตักเตือนของพระมหากษัตริย์ย่อมต้องเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ และจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ ถ้าคณะรัฐมนตรีจะรับคำแนะนำตักเตือนไปปฏิบัติ ต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบของตนเอง จะอ้างพระมหากษัตริย์มิได้ เพราะเป็นการนำพระมหากษัตริย์ไปทรงพัวพันกับการเมือง” และ "... ในกรณีที่ไม่ทรงเห็นด้วย ก็จะทรงทักท้วงตักเตือนให้เห็นภยันตรายของการดำเนินตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงทักท้วงเช่นว่านี้ ย่อมเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะต้องประชุม ปรึกษาหารือกันใหม่ คณะรัฐมนตรีอาจยืนยันความเห็นเดิมก็ได้ และเมื่อคณะรัฐมนตรียืนยันตามความเห็นเดิม พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงยอม เพราะคณะรัฐมนตรีต่างหากเป็นผู้รับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ..."
(หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๕. หน้า ๔๖-๔๗)

ผู้เขียนได้รับความรู้ทางกฎหมายจากตำราของหยุด และได้รับอิทธิพลทางความคิดของหยุดในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมาพอสมควร และเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของหยุด แสงอุทัย ผู้เขียนจึงขออนุญาตใช้พื้นที่ของฟ้าเดียวกันในการเผยแพร่บทความบางส่วนของผู้เขียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นการอุทิศแด่ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้แก่

๑. พระราชอำนาจ การลงพระปรมาภิไธย และการสนองพระบรมราชโองการ

๒. พระราชดำรัสของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
๓. อะไรคือ ตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์”
๔. การลดพระราชอำนาจกษัตริย์ในสวีเดน และการเพิ่มพระราชอำนาจกษัตริย์ในลิคเตนสไตน์
๕. กฎมณเฑียรบาลกับรัฐธรรมนูญ

อนึ่ง บทความเหล่านี้ เคยเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะในหลายๆที่มาก่อน หากผู้ใดเคยอ่านมาแล้ว ผู้เขียนต้องขออภัยที่นำ “ของเก่า” มา “ขายใหม่” และหากจะก่อให้เกิดประโยชน์โภชผล ผู้เขียนขออุทิศให้แด่ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย