วันอังคาร, กรกฎาคม 17, 2550

แถลงการณ์-ปูลานซาส-นิติปรัชญาสายมาร์กซิสต์

ตอนนี้กำลังขมักเขม้นเขียนแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอยู่ บล็อกเลยร้างไปนาน

นอกจากเรื่องแถลงการณ์แล้ว ผมกำลังหมกมุ่นอยู่กับ กับงานของมาร์กซิสต์สายโครงสร้างนิยมอยู่

(จะปั่นวิทยานิพนธ์ไม่จบเอาก็เพราะเหตุนี้ ๕๕๕)

ผมเริ่มอ่านความคิดของอัลทูสแซร์แบบคร่าวๆ โดยปูพื้นแบบเด็กเรียน ก ไก่ (ผมไม่มีความรู้ทางปรัชญามากนัก และไม่ได้ถูกฝึกมาทางนี้โดยตรง อาศัยอ่านเอาเองแบบเก็บเล็กผสมน้อย)

ผมเริ่มจากหนังสือพวก ประวัติศาสตร์ปรัชญาการเมืองเบื้องต้น ดิกชันนารีของปรัชญาการเมืองต่างๆ ตอนนี้เริ่มหาญกล้า ขยับไปอ่านตัว Texte ของจริง มึนไปเลย ตำราที่ผมใช้ เขาจัดกลุ่ม อัลทูสแซร์ - บาลิบาร์ - ปูลานซาส ไว้ด้วยกัน มีอัลทูสแซร์เป็นผู้กรุยทางแนวคิด กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ และ เอเตียง บาลิบาร์ ผู้เป็นลูกศิษย์ก็มาสานต่อ ส่วนปูลานซาส ผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน

จนวันหนึ่งไปค้นหนังสือที่ห้องสมุด นั่งขลุกอยู่หมวดนิติปรัชญา เจอวารสารนิติปรัชญา ชื่อ Archives de philosophie du droit ฉบับประจำปี 1967 ธีมหลักในหัวข้อ มาร์กซ์และกฎหมายสมัยใหม่ มีบทความของปูลานซาสอยู่ ก็เลยพึ่งรู้วันนั้นเองว่า นิคอส ปูลานซาส เป็นศาสตราจารย์นิติปรัชญา โดยสมาทานกับแนวคิดของอัลทูสแซร์อยู่มาก

เริ่มเกิดความสนใจในปูลานซาสมากขึ้น เพราะ เป็นนักกฎหมายโดยตรง แม้อัลทูสแซร์จะพูดถึงกฎหมายและศาลอยู่บ้าง แต่ก็พูดถึงเล็กน้อยในฐานะเป็นกลไกของรัฐอันหนึ่ง

มีข้อน่าสังเกตอยู่นิดนึง ทั้งปูลานซาสและอัลทูสแซร์ จบชีวิตไม่ค่อยสวยงามเท่าไร ปูลานซาสฆ่าตัวตาย ๓ ตค ๑๙๗๙ ขณะที่มีอายุเพียง ๔๓ ปี ส่วนอัลทูสแซร์ บีบคอเมียตัวเอง ตายหรือเปล่า และศาลตัดสินว่าไม่ผิด เพราะกระทำลงไปโดยไม่รู้สำนึก

มีของฝากสำหรับผู้อ่านฝรั่งเศสได้ http://ciepfc.rhapsodyk.net/นี่เป็นเว็บไซต์ของ ศูนย์นานาชาติว่าด้วยการศึกษาปรัชญาฝรั่งเศสร่วมสมัย ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๐๐๒ โดย อแล็ง บาดิอู

http://ciepfc.rhapsodyk.net/article.php3?id_article=176
และอันนี้เป็นบทความที่เอเตียน บาลิบาร์ เขียนถึงนิคอส ปูลานซาส จากเว็บไซต์เดียวกัน

ผมไปเขียนกระทู้เกี่ยวกับปูลานซาสไว้ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน มีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุก เชิญชมได้ที่

http://www.sameskybooks.org/webboard/show.php?Category=sameskybooks&No=17336&page=2

ผมจะพยายามสกัดแนวคิดของมาร์กซิสต์สายนี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกฎหมาย มาให้ได้มากที่สุด และจะเอามาเล่าให้ฟังเรื่อยๆนะครับ เพราะเท่าที่อ่านๆแล้ว ใช้อธิบายปรากฏการณ์ของสังคมไทยและรัฐไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องการครอบงำของอุดมการณ์ประชาธิปไตย "อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบไทยๆ" และพฤติกรรมการรับใช้อำนาจรัฐและรับใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตย "อันมีพระมหากษัตริยฺเป็นประมุขแบบไทยๆ" ของนักกฎหมายไทย

จะว่าไป หากเอาแนวคิดของอัลทูสแซร์ – ปูลานซาส มาจับดู ผมว่ามันเข้าเค้าอยู่ พอจะมาอธิบายได้เลยว่าทำไม กลไกต่างๆของรัฐไทย ถึงไปทางเดียวกันหมด (เช่น ทหาร ศาล นักกฎหมาย สื่อ ล้วนแล้วแต่เป็นกลไกรับใช้อุดมการณ์ ปชต “อันมีกษัตริย์เป็นประมุข”) โดยเฉพาะเหตุใด รัฐไทยถึงดึงเอา ชนชั้นแรงงาน เอ็นจีโอ เข้าไปเป็นพวกได้หมด

สำหรับผู้อยากเข้าใจความคิดโดยย่อของนิติปรัชญาสายมาร์กซิสต์ ผมเห็นว่าบทกลอนของ "นายภูติ" บทนี้ สรุปได้เป็นอย่างดี

ตราชูนี้ดูเที่ยง บ่มิเอียงจริงไหมหือ
ขวาซ้ายเท่ากันหรือ รึจะหย่อนอยู่ข้างไหน
เพ่งดูตราชูตั้ง ข้านี้ยังไม่แน่ใจ
ที่เที่ยงนั้นเพียงใด ที่ว่าไม่แค่ไหนกัน

ตราชูคู่กฎหมาย ตราชิ้นไว้เพื่อสุขสันต์
สังคมมิป่วนปั่น เพราะกฎข้อบังคับจุน
แต่นี้เพื่อใครหรือ มวลชนหรือเพื่อนายทุน
ยิ่งตรองยิ่งหัวหมุน จนสุดยากจะกล่าวขาน

ยุคทาสแม้นทาสสู้ กฎว่าสูต้องดับขันธ์
กฎนี้เพื่อใครกัน วานแถลงให้แจ้งใจ
ยุคเจ้าแม้หวังมี สิทธิเสรีธิปไตย
เจ็ดโคตรหัวขาดไป ดิ้นแด็กแด็กลงเป็นผี

ยุคนี้แม้นสหาย มุ่งทำลายกฎุมพี
เพื่อสิทธิเสรี ของมวลชนกรรมกร
ก็ถูกซัดเค้เก้ เอาซังเตเป็นที่นอน
หากตราชูมิคลอน เข้าข้างเขาก็แปลกใจ

เพ่งดูตราชูนี้ จนตาหยีทั่งบอดใส
ยิ่งเพ่งยิ่งมองไป ก็ยิ่งเอียงเข้านายทุน
นี่หรือคือตราชู ที่เชิดคูธรรมดุลย์
ที่แท้แส้นายทุน หวดกระหน่ำหลังมวลชน

นายทาสเขียนกฏหมาย คนคือควายไม่เป็นคน
จ้าวเขียนก็สัปดน เขียนจนคนเป็นเทวดา
เวลานายทุนเขียน คนก็เปลี่ยนไปเป็นหมา
โลกเอ๋ยอนิจจา นี่แหล่ะหวายุติธรรม์

ชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น
ยามใดเมื่อชนกรร มาชีพผองครองสังคม
กฎหมายก็จะหัน รับใช้ชั้นที่เคยตรม
ส่วนใหญ่ในสังคม พานพ้องธรรมเคียงตราชู

6 ความคิดเห็น:

Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เมื่อนานมาแล้ว
เคยเรียนอัลธูแซร์กับอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ
หนังสือ รัฐและกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ
ที่อ.กาญจนาแปล ก็ยังเป็นหนังสือในดวงใจจนทุกวันนี้

การฆ่าเมียของอัลธูแซร์
นี่เป็นที่เลื่องลือจริงๆ 55

ป.ล.รอฟังแถลงการณ์ของอาจารย์วรเจตน์ด้วยใจจดจ่อ

3:25 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พวกมาร์กซิสม์มองว่ากฎหมาย ศาสนา ตลอดจนไอดีโอโลจีอื่นๆ นั้นมันเป็น โครงสร้างส่วนบนของสังคม ซึ่งถูกสร้างขึ้นและดำรงอยู่เพื่อประโยชน์และตอบสนองพวกนายทุนอยู่แล้วหละครับ

ดังนั้นในสายตาของพวกมาร์กซิสม์ (ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างนิยม ออร์โธด็อกซ์ นีโอฯ หรืออะไรก็ตาม) สิ่งที่เรียกว่าโครงสร้างส่วนบนมันจำเป็นที่จะต้องมีอยู่เพื่อสนับสนุนการกดขี่ชนชั้นล่างให้อยู่ภายใต้อุ้งตีนของตนต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ทั้งนี้ไม่ว่ารัฐหรือสังคมนั้นๆ จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (มีกษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ก็ตาม)คอมมิวนิสต์ เผด็จการ ฯลฯ โครงสร้างส่วนบนเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ดี แต่อาจถูกผลิตซ้ำ แต่งหน้าทาแป้งใหม่บ้างให้กลมกลืนและตอบสนองกับสิ่งที่นายทุนหรือชนชั้นบนได้ประโยชน์ที่สุด

1:51 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ช่วงนี้ผมใช้อินเทอร์เน็ทไม่ได้
เนื่องจากย้ายมาอยู่ Aix-en-Provence ได้เกือบเดือนแล้ว
ต้องมายืมชาวบ้านเล่น

กำลังกลุ้มใจว่า วิทยานิพนธ์ทำๆไป จะตันหรือไม่

เพราะสุดท้าย มุมมองของกระบวนยุติธรรมเชิงรัฐธรรมนูญไทย
ต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

ก็จะพยายามคุ้มครองเท่าที่ไม่แตะต้องกับ "โครงสร้าง" เชิงสถาบันและเชิงสังคม ที่เป็นอุดมการณ์ของสังคมและรัฐไทย

(คำวินิจฉัยที่เห็นภาพมากๆ คือ คดี คนเป็นโปลิโอ ห้ามเป็น ผพษ./ อก.)

กำลังคิดว่า จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไรให้เป็นวิชาการ
นอกจากจะกล่าวแค่ว่า นี่เป็น ระบบ "ไทยๆ"

ผมจะลองอ่านงานที่คุณอ้างมาดู
เผื่อจะเชื่อมโยงได้

ขอบคุณครับ

7:33 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เต็มที่เลยปึ๋ง กรูยังติดตามผลงานของมรึงอยู่เรื่อยๆ นะ

9:12 ก่อนเที่ยง  
Blogger Kriangsak กล่าวว่า...

เมื่อสนทนากันถึงแวดวงนักปรัชญาฝรั่งเศส เร็วๆ นี้ พี่คนนึงก็เล่าให้ฟังว่าอาจารย์ป็อก กำลังอ่านปูลานซาสอยู่ วันนี้ก็ได้ฟังคำยืนยัน

ผมเองสารภาพตรงๆ ว่าไม่รู้จักปูลานซาส และงานนิติปรัชญาสายนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้ไปศึกษาต่อ

ถึงจะพูดอะไรเกี่ยวกับปูลานซาสไม่ได้ แต่ก็ขออนุญาตเอาความรู้และความสนใจ เกี่ยวกับสายปรัชญาการเมืองร่วมสมัยและนักคิดร่วมสมัยของฝรั่งเศสที่ได้ติดตามอยู่ มาแบ่งปันกัน เพราะคิดว่าน่าเป็นเส้นทางคู่ขนานกันไปกับสายนิติปรัชญาได้

ต้องขอโทษคนที่อยู่เมืองไทยหรือไม่สามารถอ่านจากฝรั่งเศสได้ เพราะทั้งหมดที่จะพูดถึงเป็นภาษาฝรั่งเศสและเป็นหนังสือใหม่ ที่กว่าจะมีฉบับแปลก็คงจะอีกสักพักใหญ่ๆ

เริ่มจาก Alain Badiou (บาดิอู) ที่ได้ให้ลิ้งค์เอาไว้ พอดีเพิ่งได้อ่านบทความล่าสุดของเขาใน Le Monde เรื่องการสูญพันธุ์ของนักคิดฝ่ายซ้าย

โดยสรุป Badiou ก็เชื่อว่านักคิดฝ่ายซ้ายของฝรั่งเศส ในฐานะสถาบันนั้น กำลังจะตายอย่างเป็นทางการ เพราะระบอบที่เรียกว่า "Sarkozysme" นำไปสู่การอยู่รอดของทางเลือก 2 แนวเท่านั้น คือสายสุดโต่งกับสายปฏิกริยาที่ต้องอาศัยการรวมตัวแบบพันธมิตร

Badiou มีหนังสือเล่มล่าสุดที่กำลังเป็นที่สนใจและวิพาษ์วิจารณ์ เพราะเขาประณามวิธีการของนักคิดฝรั่งเศสหลายคนที่ใช้อิสราเอลและ "ยิว" เป็นจุดอ้างอิง เพื่อนำไปสู่การต่อสู้แบบสายปฏิกริยาพันธมิตร

อีกเล่มและอีกคน ที่เชื่อมโยงกันอย่างดีคือ "D'une révolution conservatrice" ของ Didier Eribon

นี่คือหนังสือที่สามารถให้คำอธิบายสำหรับความพ่ายแพ้ของแนวคิดสังคมนิยมในฝรั่งเศส (ต่อแนวคิดอนุรักษ์นิยม)และถูกหยิบมาอธิบายปรากฏการณ์เลือกตั้งประธานาธิบดี 2007 ได้อย่างดี ถึงแม้หนังสือจะไม่ได้ตั้งใจจะเขียนอธิบายการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ แต่ต้องการใช้มุมมองประวัติศาสตร์ อธิบายการเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิวัติแบบอนุรักษ์นิยม" ในฝรั่งเศส แต่ผู้เขียนก็ให้ภาพและคำอธิบายที่ต่อเนื่องและน่าเชื่อถือต่อการทำความเข้าใจการเมืองร่วมสมัยของฝรั่งเศส

Didier Eribon เป็นทั้งศิษย์ก้นกุฏิและคนสนิทของ Bourdieu (แต่สอนหนังสืออยู่ที่ Berkley) ที่ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับการจากไปของ Bourdieu หนังสือมีคุณค่ามากในฐานะของประมวลเหตุการณ์เกี่ยวกับกระบวนการต่อสู้ของฝั่งซ้ายและนักคิดฝั่งซ้ายอย่าง Foucault, Derrida, Deleuze และ Gauttari

อันนี้ ถ้าอ่านควบคู่ไปกับ Goodbye Mr. Socialist ของ Antonio Negri (คนนี้เป็นอิตาเลียน และกำลังเป็นที่สนใจมากจากชาว marxists) ก็จะได้ภาพของการเปลี่ยนแปลงของอิทธิพลของสงัคมนิยม โดยเฉพาะสาย Marxism ในยุโรปได้เป็นอย่างดี

รวมทั้งอีกเล่มที่น่าจะเกี่ยวกับ Marx มากที่สุดในที่นี้ คือ Sauver Marx? Empire, multitude, travail immatériel ของ Pierre Dardot, Christian Laval, El Mouhoub Mouhoud

เล่มนี้ น่าสนใจเพราะเป็นงานที่พูดถึงแนวคิดใหม่ คือ multitude ที่เปลี่ยนภาษาและวิธีอธิบายการเคลื่อนไหวของชั้นชนแรงงาน (อาจจะหาจุดร่วมกับงานใหม่ของ Gauttari &? เรื่อง Micropolitique ได้)

และแถมให้ "La haine de la démocracy" หรือความเกลียดชังของประชาธิปไตย ของ Jacques Rancière ที่ต้องการดีเฟน "ประชาธิปไตย" ซึ่งมีรากฐานจากวัฒนธรรมปัจเจกนิยม ที่กำลังตกเป็นเหยื่อของสังคม ว่าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ ไม่แน่ เล่มนี้อาจจะมีชุดของเหตุผลดีๆ ที่เราเอามาปรับใช้ เพื่อดีเฟนประชาธิปไตยในประเทศไทยแบบมีพลังมากขึ้นก็ได้

3:45 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ใครจะว่าไงผมไม่รู้ แต่ผมมั่นใจว่าอาจารย์ของผมคนนี้เป็นกลางแน่นอน สู้สู้นะครับ เข้ามาติดตามผลงานตลอด รีบๆ จบกลับมาเป็นอาจารย์นะครับ

6:13 หลังเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก