วันพุธ, มิถุนายน 01, 2548

เมื่อชาวฝรั่งเศส ๑๕,๔๕๐,๒๗๙ คนคว่ำธรรมนูญยุโรป (๑)

ผลการลงประชามติของชาวฝรั่งเศสว่าจะให้สัตยาบันธรรมนูญยุโรปหรือไม่เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ค. ออกมาแล้ว เป็นไปตามคาดครับ ฝรั่งเศสไม่เอาด้วยถึงร้อยละ ๕๕ เอาด้วยร้อยละ ๔๕ มีผู้ออกมาใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ ๗๐ ผลที่ออกมานี้นับว่าเกินกว่าที่โพลคาดการณ์ไว้ ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา โพลทุกสำนักชี้ว่าฝรั่งเศสไม่เอาแน่ๆแต่ตัวเลขวิ่งอยู่ที่ร้อยละ ๕๑ ถึง ๕๓ ผิดกับที่ผมคิดไว้ว่าเมื่อคนใช้สิทธิมากแทนที่จะเป็นพวกที่เห็นด้วยออกมาช่วยๆกันลงคะแนน กลับกลายเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยต่างหากที่รวมพลังปฏิเสธธรรมนูญยุโรปนี้

ผมลองนั่งตรึกตรองเอาจากข้อมูลที่ผมมีอยู่ในมือทั้งหมด คิดว่าน่าจะตกผลึกพอสมควรที่จะวิเคราะห์ให้เห็นภาพได้ แต่เพื่อไม่ให้บล็อกตอนนี้ยาวจนเกินไป (ปกติบล็อกผมก็ยาวทุกตอนอยู่แล้ว) ผมขอสกัดเอามาแต่เนื้อๆ และคัดเอาน้ำๆที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยออกไปแล้วกัน

ก่อนจะไปว่ากันถึงเนื้อหา ผมขอแสดงตัวเลขที่น่าสนใจจากประชามติ ๒๙ พ.ค. เพื่อใช้ประกอบทำความเข้าใจ ดังนี้

ตัวเลขที่น่าสนใจในประชามติ ๒๙ พ.ค. ๒๐๐๕

เห็นด้วย ร้อยละ ๔๕.๓๒
ไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๕๔.๖๘
ผู้ออกมาใช้สิทธิ ร้อยละ ๖๙.๓๔
บัตรเสียหรือไม่ลงคะแนน ร้อยละ ๒.๕๑

ผู้สนับสนุนพรรค UMP (พรรครัฐบาล ขวากลาง) ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๗๖
ผู้สนับสนุนพรรค UMP (พรรครัฐบาล ขวากลาง) ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๒๔
ผู้สนับสนุนพรรค UDF (ขวากลาง) ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๗๖
ผู้สนับสนุนพรรค UDF (ขวากลาง) ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๒๔
ผู้สนับสนุนพรรค FN และพรรค MPF (ขวาจัด) ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๔
ผู้สนับสนุนพรรค FN และพรรค MPF (ขวาจัด) ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๙๖
รวมฝ่ายขวา ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๖๕
รวมฝ่ายขวา ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๓๕

ผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยม ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๔๑
ผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยม ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๕๙
ผู้สนับสนุนพรรคเขียวและพรรคอื่นๆที่มีแนวทางเดียวกับพรรคเขียว ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๓๖
ผู้สนับสนุนพรรคเขียวพรรคอื่นๆที่มีแนวทางเดียวกับพรรคเขียว ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๖๔
ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๕
ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๙๕
รวมฝ่ายซ้าย ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๓๓
รวมฝ่ายซ้าย ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๖๗

ไม่ระบุว่าสนับสนุนพรรคใด ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๓๙
ไม่ระบุว่าสนับสนุนพรรคใด ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๖๑

๘๔ จังหวัดที่คะแนนไม่เห็นด้วยมีมากกว่าเห็นด้วย
๑๖ จังหวัดที่คะแนนเห็นด้วยมีมากกว่าไม่เห็นด้วย

จังหวัด ปารีส มีผู้เห็นด้วยสูงสุด ร้อยละ ๖๖.๔๕
จังหวัด ปาส์ เดอ กาเลส์ (อยู่ทางตอนบนสุดของประเทศ) มีผู้ไม่เห็นด้วยสูงสุด ร้อยละ ๖๙.๕๐

เหตุผลที่ออกเสียงไม่เห็นด้วย
ธรรมนูญนี้มีผลร้ายแรงต่อการว่างงานในฝรั่งเศส ร้อยละ ๔๖
ต้องการแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลปัจจุบัน ร้อยละ ๔๐
การไม่ให้สัตยาบันสร้างโอกาสในการเจรจาเพื่อแก้ไขธรรมนูญดังกล่าว ร้อยละ ๓๕
ธรรมนูญยุโรปเอียงไปทางทุนนิยมเสรีมากเกินไป ร้อยละ ๓๔
ธรรมนูญยุโรปมีเนื้อหาสลับซับซ้อน ยากที่จะเข้าใจ ร้อยละ ๓๔

......................

บล็อกตอนนี้มุ่งค้นหาคำตอบใน ๓ คำถาม คือ
คำถามแรก ทำไมชาวฝรั่งเศสไม่เอาธรรมนูญยุโรป ?
คำถามที่สอง อะไรจะเกิดขึ้นกับฝรั่งเศสหลังจากกการคว่ำธรรมนูญยุโรป ?
คำถามที่สาม อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกอื่นๆและสหภาพยุโรปหลังจากกการคว่ำธรรมนูญยุโรป ?

คำถามแรก สาเหตุที่ฝรั่งเศสไม่เอาธรรมนูญยุโรป

ทำไมชาวฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปถึงร้อยละ ๕๕ ? ต่อประเด็นปัญหานี้ เราพอจะวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปได้รวม ๔ สาเหตุ

หนึ่ง ชาวฝรั่งเศสต้องการลงโทษรัฐบาล
เป็นที่ทราบกันดีว่าการลงคะแนนตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งก็ดี การลงประชามติก็ดี เหมือนกับการเล่นกับกระแสสังคม ใครจับอารมณ์ของประชาชนในช่วงนั้นถูก ใครช่วงชิงจังหวะได้ถูกที่ถูกเวลา ย่อมเป็นผู้ชนะ

คงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่า ผลของการลงคะแนนเสียงสะท้อนถึงอารมณ์ทางการเมืองของประชาชนในห้วงเวลานั้น

ก่อหน้านี้รัฐบาลโดนประชาชนโหวตสั่งสอนมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งแรก การเลือกตั้งสมาชิกสภาแคว้นเมื่อเดือนมีนาคม ๒๐๐๔ ซึ่งฝ่ายซ้ายกวาดไปเกือบทุกที่นั่ง และครั้งที่สอง การเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๐๐๔ ที่ฝ่ายซ้ายกวาดไปมากกว่าครึ่งอีกเช่นกัน

ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลนิ่งนอนใจกับสัญญาณทั้งสองครั้งดังกล่าว หากรัฐบาลปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นโยกรัฐมนตรีบางตำแหน่ง

ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก

เมื่อคะแนนเริ่มฟื้นกลับมา รัฐบาลก็มักจะมีโครงการหรือนโยบายใหม่ๆที่กระทบส่วนได้เสียของประชาชนจำนวนมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย การปฏิรูประบบประกันสังคม การขยายเวลาการทำงานออกไป การปฏิรูประยะเวลาเกษียณอายุ ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลอ้างเสมอมาว่านโยบายแต่ละชุดจำเป็นต่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคม อยากให้ร่างกายแข็งแรงก็จำเป็นต้องกินยาขมบ้างเป็นธรรมดา

เช่นนี้แล้ว ไม่น่าแปลกใจเลยว่าตลอดสามปีที่ผ่านมา ทำไมคะแนนินยมของรัฐบาลไม่กระเตื้องขึ้นเลย

ชีรัคคงไม่ได้นิยมการดูดวงกระมังครับ (ไม่เหมือนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไทยคนหนึ่งซึ่งตอนนี้ไปได้ดิบได้ดีเป็นแม่บ้าน ครม. มีคนเล่ากันมา –จริงเท็จอย่างไรไม่อาจทราบได้- ว่าเดิมร่างรัฐธรรมนูญไทยมี ๓๓๕ มาตรา แต่แกไปดูดวงมาแล้วหากเลขออกที่ ๓๓๕ ร่างฯอาจไม่ผ่าน แกเลยไปเขียนเพิ่มมาอีกมาตรากลายเป็น ๓๓๖ มาตราดังปัจจุบัน ฮามั้ยครับ) ว่าดวงของรัฐบาลจะไม่เหมาะคิดทำการใหญ่ในวันที่ ๒๙ พ.ค. กระแสความนิยมในรัฐบาลถึงได้ลดลงฮวบฮาบเอาในช่วงใกล้ลงประชามติพอดี

เมื่ออารมณ์เหม็นเบื่อรัฐบาลพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ประจวบเข้ากับกำหนดวันลงประชามติมาถึงพอดี มิต้องสงสัยเลยว่า จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยการลงประชามติ ๒๙ พ.ค. เป็นช่องทางในการลงโทษรัฐบาลเป็นคำรบที่สาม

เอาเข้าจริงคนฝรั่งเศสจิบไวน์ กินบาแก็ตต์ป้ายโฟรมาช ก็ไม่ได้มีเหตุมีผลไปกว่าคนไทยกินข้าวแกงนักหรอกครับ

สอง เกรงว่าตนจะเสียผลประโยชน์จากธรรมนูญยุโรปฉบับนี้
เนื้อหาในธรรมนูญยุโรปมีหลายส่วนที่อาจกระทบระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ดำรงอยู่มานานในฝรั่งเศส โดยเฉพาะในภาค ๓ ว่าด้วย นโยบายของสหภาพยุโรป

กล่าวกันว่า ธรรมนูญฉบับนี้โปรทุนนิยมเสรี ซึ่งก็เป็นไปตามกระแสหลักของโลกปัจจุบันและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการก่อตั้งสหภาพยุโรปที่ต้องการให้การไหลเวียนของทุนภายในสหภาพยุโรปเป็นไปอย่างเสรี

คนฝรั่งเศสหวาดวิตกกันว่าหากยอมรับธรรมนูญยุโรปไปแล้ว ตนจะถูกกระทบจากแรงงานและทุนที่ไหลบ่ามาจากประเทศสมาชิกอื่น เช่น แรงงานจากประเทศยุโรปตะวันออกอาจใช้ประโยชน์จากธรรมนูญนี้เข้ามาแย่งงานคนฝรั่งเศสทำ หรือวิสาหกิจที่ลงทุนในฝรั่งเศสอาจย้ายฐานการผลิตไปในประเทสยุโรปตะวันออกแทนเพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

เกษตรกรเองก็กังวลใจว่ารัฐจะลดการช่วยเหลือภาคเกษตรลง

คนทั่วไปวิตกว่าระบบบริการสาธารณะของฝรั่งเศสจะถูกกระทบจากการเปิดเสรีและการลดบทบาทของรัฐในการบริการต่างๆ

ชาวฝรั่งเศสก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจเหมือนกันนะครับคุณปิ่น อะไรที่เห็นว่าจะมากระทบผลประโยชน์ของตนล่ะก็ ยากนักที่จะยอมง่ายๆ

สาม ความเข้าใจที่ผิดพลาด

จะด้วยเจตนาหรือความไม่รู้ก็ไม่อาจทราบได้ คนฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งเอาประเด็นปัญหาแทบจะทุกเรื่องเข้ามาพัวพันกับธรรมนูญยุโรปนี้ ราวกับว่า การลงประชามติไม่เอาธรรมนูญยุโรปเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างไรอย่างนั้น

ขุดมาได้ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบสอบ Bac การเปลี่ยนหลักสูตรในมหาวิทยาลัยหรือที่เรียกกันว่า LMD การขยายเวลาเกษียณ การขยายเวลาการทำงาน การลดจำนวนวันหยุด การก่อการร้าย การห้ามใช้ผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิมในโรงเรียน อัตราการว่างงาน การไหลออกของผู้ประกอบการไปยังประเทศจีน การทุ่มตลาด Directive บอลเคนสไตน์ที่กำหนดให้แรงงานหรือทุนจากประเทศสมาชิกเข้ามาในฝรั่งเศสได้ง่ายขึ้น ฯลฯ

ทั้งๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับธรรมนูญยุโรปเลย หากจะเกี่ยวก็เพียงแต่ว่าธรรมนูญยุโรปพูดไว้กว้างๆ ส่วนในรายละเอียดเป็นเรื่องในทางปฏิบัติที่ต้องเจรจาต่อรองกันต่อไปในอนาคต

บางคนเห็นว่า การไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป จะทำให้รัฐบาลหันมาสนใจในเรื่องดังกล่าว
บางคนเห็นว่า การไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป จะแสดงถึงความเป็น “กบฏ” ต่อการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศสเพื่อรับกับกระแสโลกในศตวรรษที่ ๒๑
บางคนเห็นว่า การไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป จะแสดงถึงความเป็น “เด็กแนว” ของตน
บางคนเห็นว่า การไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป จะทำให้ฝรั่งเศสไปเจรจาต่อรองแก้ไขเนื้อหาบางส่วนได้อย่างมีน้ำหนัก

ความเข้าใจที่ผิดพลาดนี้ไม่ได้หมายความว่าอ่อนประชาสัมพันธ์นะครับ ผมว่างานนี้หาเสียงหนักใช้ได้ทีเดียว แต่อย่างว่าครับ อารมณ์คนมันไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษา เวลาที่นักศึกษาชุมนุมประท้วงด้วยอารมณ์ก็เหมือนกับยาสีฟันที่ถูกบีบออกจากหลอด เราไม่อาจจับมันยัดกลับเข้าไปในหลอดได้ดังเดิม

แล้วไม่ได้มีแต่ฝ่ายสนับสนุนธรรมนูญยุโรปหาเสียงคนเดียวนี่ครับ ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิรณรงค์ตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่เช่นกัน การหาเสียงไม่ให้เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผมว่าง่ายกว่านะ ก็เล่นงัดมาโจมตีอย่างเดียวเลยว่า ธรรมนูญยุโรปมีแต่ข้อเสีย เรารับไปแล้วจะฉิบหายวายป่วงกันหมด

สี่ เสียงในฝ่ายซ้ายแตกกันเอง
ธรรมชาติของฝ่ายขวาจัดที่บูชาในชาตินิยมและอธิปไตยนิยม แน่นอนที่จะไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปที่มีเป้าหมายบูรณาการแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน โดยลดบทบาทของรัฐสมาชิกลงแต่กลับไปเน้นที่บทบาทของสหภาพยุโรปเป็นหลัก

ธรรมชาติของฝ่ายซ้ายจัดที่ต่อต้านรัฐ ตลาด ทุน การแข่งขันเสรี แน่นอนที่จะไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปที่มีเป้าหมายในการสร้างระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมในสหภาพยุโรป

สองขั้วนี้ เราทราบกันดีว่าไม่มีทางได้คะแนนเสียงเห็นด้วยอย่างแน่แท้

ส่วนรัฐบาลที่เป็นขวากลาง ก็มีนโยบายโปรยุโรปมาตลอดและยังเป็นคนชงเรื่องนี้มากับมืออีกด้วย ย่อมคาดหวังได้ว่าจะโดกยคะแนนมาเป็นกอบเป็นกำ

แน่นอนแค่เสียงของขวากลางอาจไม่เกินร้อยละ ๕๐ จำต้องอาศัยเสียงของฝ่ายซ้ายที่มีพรรคสังคมนิยมและพรรคเขียวมาช่วยหนุนด้วย

ปกติพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสและพรรคเขียวมีนโยบายสนับสนุนสหภาพยุโรปเสมอมา การปฏิรูปสหภาพยุโรปในหลายกรณีทำในสมัยรัฐบาลฝ่ายซ้าย แรกเริ่มเดิมทีคิดกันว่าไม่น่ามีปัญหา น่าจะโกยคะแนนมาได้มากพอควร

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น พรรคสังคมนิยมเกิดเสียงแตกแบ่งเป็นสองขั้ว ขั้วสนับสนุนนำโดยนายฟร็องซัวส์ ฮอลล็องด์ เบอร์หนึ่งของพรรค นายลีโอแนล จอสแป็งอดีตนายกฯ นายแจ็ค ลอง อดีตรมต.ศึกษา นางมาร์ติน ออบรี้ อดีตรมต.สาธารณสุข นายโดมินิก เสตราส์ คาห์น อดีต รมต.คลัง ฯลฯ ขั้วต่อต้านนำโดยนายโลร็องต์ ฟาบิอุส เบอร์สองของพรรค นายอองรี่ เอ็มมานูเอลลี่ อดีตประธานสภาฯ

ถึงขั้นต้องจัดให้มีการโหวตภายในของสมาชิกพรรคทั่วประเทศ เป็นไปตามคาดครับ ฝ่ายสนับสนุนชนะ ก็คนกุมอำนาจในพรรคส่วนใหญ่เป็นฝ่ายสนับสนุนทั้งนั้น

ฝ่ายต่อต้านไม่จบง่ายๆ ออกมารณรงค์หาเสียงในนามพรรคเช่นกัน แต่บอกว่าเป็นฝ่ายพรรคสังคมนิยมที่ไม่สนับสนุนธรรมนูญยุโรป ที่สำคัญเดินเกมหาเสียงได้ดีครับ ทำงานหนัก

กล่าวกันว่าการแตกเป็นสองขั้วความคิดในพรรคสังคมนิยมส่วนหนึ่งมาจากสงครามภายในพรรคที่ทั้งฮอลล็องด์และฟาบิอุสต่างแย่งชิงการนำพรรคเพื่อเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี ๒๐๐๗

ผลจากการลงคะแนนเห็นชัดว่า ผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยมไปลงคะแนนไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๕๙ ในขณะที่เห็นด้วยเพียงร้อยละ ๔๑ เท่ากับว่า ฝ่ายของนายฮอลล็องด์ชนะในพรรค แต่ฝ่ายของนายฟาบิอุสแย่งชิงมวลชนผู้ลงคะแนนตัวจริงเสียงจริงได้มากกว่า

พรรคเขียวก็เช่นกัน มีสถานการณ์ไม่แตกต่างจากพรรคสังคมนิยม เสียงแตกออกเป็นสองขั้ว

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ก็ส่อแววแล้วว่า คะแนนรวมของคนที่เอาธรรมนูญยุโรปคงสู้ฝ่ายที่ไม่เอาไม่ได้แน่

............................

ผมร่างประเด็นคำถามที่สอง อะไรจะเกิดขึ้นกับฝรั่งเศสหลังจากกการคว่ำธรรมนูญยุโรป ? และคำถามที่สาม อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกอื่นๆและสหภาพยุโรปหลังจากกการคว่ำธรรมนูญยุโรป ? ไว้แล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์เท่าไร และหากเอามาลงในตอนนี้พร้อมกันหมดบล็อกผมคงยาวเป็นหางว่าวแน่ๆ ประกอบกับผมต้องเสด็จออกจาคฤหาสน์น้อยๆของผมเพื่อไปช่วยรุ่นพี่ผมคนนึงในการเตรียมตัวสอบ เลยขอเอาส่วนที่เหลือไปต่อเป็นตอนที่สองของวันหน้าแล้วกัน

ถ้าวันนี้ผมไม่ซัดไวน์มากจนเกินไป คงได้เห็นตอนที่สองทันที
ตรงกันข้าม ถ้าผมซัดไปมาก คงต้องรอร่างกายฟื้นก่อนนะครับ

8 ความคิดเห็น:

Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ท่าน นิติรัฐ “ขนาดไม่สำคัญ” หรอกครับ จะยาวหรือไม่ ไม่สำคัญ ขอให้ดี มีเนื้อหาดีฯ แล้วจะเข้ามาอ่านอีก

Pol@USA

9:28 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นด้วยทั้งหมด

แต่คำเปรียบเปรยเรื่องการบีบยาสีฟัน นี่มันมีอยู่ก่อน หรือคุณคิดขึ้นมาเองหว่า

เห็นภาพจริงๆ ผมเจอปัญหาบ่อย...

บางทีหนักมือไปหน่อย... ไอ๊หยา... บีบออกมาตั้งนิ้วนึง -_-!

10:55 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เปรียบเปรยได้ดีทีเดียวค่ะ ^^

KoPoK

3:39 หลังเที่ยง  
Blogger David Ginola กล่าวว่า...

waiting for the second piece krab

8:34 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

ดีครับ วิเคราะหืดี นี่เรียนหรือ ทำงานที่ไหนนิครับ

2:09 หลังเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0719
coach handbags
nba jerseys
guess factory
canada goose outlet
ugg outlet
kate spade outlet
canada goose jackets
canada goose outlet
ray ban sunglasses
oakley sunglasses

11:46 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0927

basketballl shoes
ray ban sunglasses
canadian goose
issey miyake
dsquared2
ugg boots clearance
moncler jackets
coach outlet
michael kors outlet
mlb jerseys




3:40 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www1027





michael kors outlet
christian louboutin shoes
canada goose
jordan uk
kate spade
mbt shoes
red bottom shoes
coach outlet
prada shoes
hogan shoes

8:25 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก