วันจันทร์, พฤษภาคม 02, 2548

แนะนำตัวผม

ผมเขียนบล็อกติดกันมา ๓ วันแล้ว (หวังว่าความสม่ำเสมอของผมจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ) แต่ยังไม่ได้แนะนำตัวเลยว่าผมเป็นใคร

เพื่อนหรือคนรู้จักผมอาจบอกว่า “มึง (หรือเธอ) จะแนะนำไปหาพระแสงของ้าวอะไรฟะ กรูรู้จักแล้ว”

แต่ผมอยากแนะนำครับ ไม่ได้จะโฆษณาหาเสียงอะไร ทำไปเผื่อว่ามีใครผ่านไปผ่านมาจะได้รู้กำพืดว่าไอ้หมอนี่มันเป็นใคร (ทำเหมือนว่าบล็อกผมจะมีคนเข้าเยอะงั้นแหละ) อย่างน้อยถ้าทราบความเป็นมาของผมก็อาจทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่ามันเป็นแบบนี้นี่เองมันถึงคิดอย่างนี้เขียนอย่างนี้

ผมทำงานขีดๆเขียนๆ สอนๆพูดๆ อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ครับ เข้าทำงานวันแรก ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีในปีเดียวกัน ทำอยู่ได้ ๑๐ เดือนทางคณะและอาจารย์ที่ผมเคารพก็ถีบผมให้มาเรียนต่อที่นี่ (ถีบแบบนี้ดีครับ ไม่เจ็บ ผมชอบ)

เย็นวันหนึ่ง ช่วงกลางปี ๒๕๔๕ คณบดีตอนนั้นและอธิการบดีในตอนนี้บอกผมบนโต๊ะอาหาร ชั้น ๒ คณะนิติศาสตร์ว่า เตรียมตัวไปเรียนต่อได้แล้ว ผมฟังแล้วก็อึ้ง คิดในใจว่าไหงมันเร็วงี้ฟะ จริงๆก็พอเดาๆได้ว่าทุนรัฐบาลฝรั่งเศสประจำปี ๒๕๔๕ ถึงตาผมแล้ว แต่ผมก็พยายามบ่ายเบี่ยง หลบไปหลบมา เพราะ หนึ่ง ผมตั้งใจเรียนปริญญาโทที่คณะให้จบก่อน ตอนนั้นเหลืออีกปีครึ่งเอง สอง ผมกำลังเพลินกับงานสอน (ไม่เอางานธุรการนะ) ในคณะมาก แถมยังได้ออกนอกคณะไปซ่าส์ที่สภาในหลายๆคราวอีกด้วย และสาม แหะแหะ อันนี้สำมะคัญมาก ภารกิจด้านความรักของผมยังไม่สิ้นสุดครับ กำลังอยู่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม ถ้าเป็นภาษามวยไทย ก็เรียกได้ว่าเสียงปี่กลองเชิดเตือนว่าใกล้หมดยกสุดท้ายแล้ว แล้วจะให้ผมทิ้งไปกลางคันได้อย่างไร (กรุณาอย่าถามต่อว่าผลเป็นอย่างไร)

ผมถามแกกลับไปว่า ผมปฏิเสธไม่ได้แล้วใช่มั้ย แกตอบว่า รีบไปเรียน ตอนนี้คุณอยู่ไปก็ทำอะไรเต็มที่ไม่ได้ เรียนให้จบกลับมาแล้วจะทำอะไรก็ทำได้เต็มที่ รีบๆจบ แล้วจะได้มาช่วยกัน

สิ้นเสียงนั้น ผมก็รับด้วยเสียงอ่อยๆว่า ครับ

ไม่ใช่ผมไม่อยากไปเรียนนะ ผมตั้งใจแต่แรกแล้วว่าจะไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสไม่ก็เยอรมัน สมัยผมเรียนปริญญาตรีก็ไปเรียนภาษาเยอรมันที่เกอเธ่ กะว่าจะหาทางไปเยอรมันแน่ๆ แต่พอเรียนแล้ว ไม่ไหวครับ ภาษาอะไรไม่รู้ยากมาก มีตั้ง ๓ เพศ แถมคำนึงเขียนติดกันเป็นพืด อ่านออกเสียงก็ยาก ผมเลยกลับลำไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ Alliance française แทน

ผลหรือครับ โดดมากกว่าเรียน ก็ผมมันไม่ค่อยมีวินัยเท่าไร ขนาดเรียนที่คณะผมยังไม่เข้าเรียนเลย

เห็นมั้ยครับ ผมมีความตั้งใจว่าจะไปเรียนจริงๆจึงไปลงเรียนภาษาไว้ แม้จะโดดมากกว่าก็เถอะ แต่นั่นแหละ ผมยังไม่อยากไปเร็วขนาดนั้น มันตั้งหลักไม่ทัน ตามเหตุผลสามข้อที่ผมบอกข้างต้น

อีกใจนึง มาคิดดูแล้ว ผมว่ามาเรียนเลยก็ดีเหมือนกัน เกิดเรายิ่งอยู่นานติดใจไม่ยอมมาเรียนต่อนี่จะยุ่งกันใหญ่ แล้วเหตุผลที่คณบดีผมยกมาก็มีน้ำหนักพอควร

สุดท้ายผมก็ออกเดินทางมุ่งสู่ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๕

ปีแรกก็มาเรียนภาษาอย่างเดียว ผมถูกส่งให้ไปเรียนที่ Vichy เป็นเมืองเล็กๆอยู่กลางประเทศ เมืองนี้มีชื่ออยู่สามด้าน หนึ่ง เป็นเมืองหลวงสมัยนายพลฟิลิป เปแต็ง ครองอำนาจในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมัน หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “ระบอบวิชี่” สอง เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านน้ำแร่และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และสาม เป็นเมืองที่เงียบสงบมีแต่คนเกษียณ หมา และขี้ของหมา

Vichy มีโรงเรียนภาษาที่ดัง รัฐบาลฝรั่งเศสหวังดีต่อผมมากเลยส่งให้ผมมาอยู่อย่างเดียวดายตลอด ๑ ปีเต็ม (แต่ผมคิดในใจว่าไม่ต้องหวังดีกับกูขนาดนี้ก็ได้ กูเหงาเว้ย)

ปีที่สอง ผมเข้าเรียนกฎหมายในระดับ DEA การศึกษาที่ฝรั่งเศสไม่เหมือนบ้านเรา ที่นี่เรียนปริญญาตรีที่เรียกว่า Licence ๓ ปี จากนั้นเรียนปริญญาโทที่เรียกว่า Maîtrise อีก ๑ ปี และใครที่จะต่อปริญญาเอกต้องเรียน DEA (อาจเทียบเป็น เตรียมปริญญาเอกคงได้มั้ง) อีก ๑ ปี จากนั้นจึงมาขั้นสุดท้าย คือการทำวิทยานิพนธ์เพื่อขอรับปริญญาเอกที่เรียกว่า Doctorat ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๓ ปี เกินได้แต่ขาดไม่ได้

ปัจจุบันการศึกษาในฝรั่งเศสปรับหลักสูตรใหม่ให้เข้ากับสหภาพยุโรป ตรี ๓ ปีเดิมประกอบด้วย DEUG 1, DEUG 2, Licence ก็เปลี่ยนมาเป็น Licence 1, Licence 2, Licence 3 ส่วน Maîtrise และ DEA ก็ยุบรวมกันเป็นปริญญาโทในชื่อ Master 1และ Master 2 ปริญญาเอกยังคงชื่อเดิมว่า Doctorat เรียนภายในเวลา ๓ ปีขึ้นไป ผมเป็นนักศึกษาในระบบเดิมรุ่นสุดท้าย เข้าใจว่าปีนี้ทุกมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนหมดแล้ว อาจมีบางมหาลัยยังต่อรองขอใช้ระบบเดิมปีนี้เป็นปีสุดท้าย แต่ส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนไปหมด

ผมเลือกไปเรียนระดับ DEA ที่มหาวิทยาลัย Nantes ตั้งอยู่ที่เมือง Nantes อยู่ทางด้านซ้ายบนของประเทศ ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก

สู้รบปรบมือมาได้ ๑ ปีก็สำเร็จได้ปริญญามาในชื่อ DEA de Droit public général et Droit de l’environnement แปลว่า DEA สาขากฎหมายมหาชนทั่วไปและกฎหมายสิ่งแวดล้อม

ผมทำ Mémoire (เป็นรายงานชิ้นหนึ่งความยาวประมาณ ๖๐-๑๐๐ หน้า บังคับต้องทำทุกคนถ้าต้องการจะจบ) ในหัวข้อ La notion d’intérêt à agir dans le contentieux administratif en matière d’environnement แปลเป็นไทยว่า ส่วนได้เสียของผู้ฟ้องในคดีปกครองที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เลือดตาแทบกระเด็นครับกว่าจะทำเสร็จและจบมาได้

ปีนี้เป็นปีที่สามของผมในฝรั่งเศสแต่เป็นปีแรกของการลงทะเบียนปริญญาเอก ผมลงทะเบียนที่มหาวิทยาลัยเดิม ทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อที่แปลเป็นไทยประมาณว่าการควบคุมฝ่ายปกครองโดยองค์กรตุลาการ นับจนถึงตอนนี้ผมเหลือเวลาอีก ๒ ปีครึ่ง หวังว่าจะจบตามกำหนดได้ หรืออย่างช้าอาจต่ออีกไม่เกิน ๑ ปี แม้เพื่อนฝรั่งเศสและอาจารย์จะบอกว่าเค้าต้องทำกัน ๕ ปีขึ้นไป งานถึงจะออกมาดี แต่ไม่รู้ล่ะ ผมอยากกลับบ้านไปทำงานแล้ว ทุนหมดขึ้นมาใครจะส่งผมเรียนต่อล่ะครับ ถ้านามสกุลชินวัตรก็ว่าไปอย่างเนอะ

ส่วนงานต่อไปในภายภาคหน้า คงหนีไม่พ้นไปขีดๆเขียนๆพูดๆในเรื่องกฎหมายปกครอง กฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง ที่สำนักเดิมซึ่งผมถือว่าเป็นตักศิลาของวิชานิติศาสตร์ (ขอโม้สถาบันตัวเองหน่อย ๕๕๕) และอาจไปด้อมๆมองๆวิชาอื่นๆที่ผมพิสมัยเป็นการส่วนตัว เช่น นิติปรัชญา แต่คงต้องบ่มเพาะฝีมือให้เก่งกล้ากว่านี้สักหน่อย ใครที่อยู่ในยุทธจักรเดียวกับผมคงรู้ว่าคนที่จะจับวิชานิติปรัชญาต้องเป็นผู้ที่มีวรยุทธที่เยี่ยมยอดเพียงใด

อันนี้เป็นงานประจำของผม

ส่วนเรื่องงานอดิเรก ตอนนี้มาแรงที่สุดคงเป็นเว็บบล็อกกับการสนทนาทางเอ็มเอสเอ็นกับมิตรและสหายทางวิชาการของผม ที่เหลือก็เหมือนคนทั่วๆไป ดูหนัง ฟังเพลง ดูฟุตบอล ตามข่าว อ่านหนังสือพวกการเมือง ประวัติศาสตร์

ที่พิเศษหน่อยเห็นจะเป็น การละเลียดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะน้ำองุ่นที่กินแล้วเมา ผมชอบเป็นพิเศษ

ก่อนผมมา ผมตั้งใจว่าจะไปเอาวิชาความรู้ ประสบการณ์มาให้มากโดยไม่ยอมตกเป็นทาส เกือบสำเร็จครับ ผมไม่ติดน้ำหอม ไม่ติดสินค้าแบรนด์เนม ไม่ติดแฟชั่น ไม่ติดอาหาร ไม่ติดความหรูหราสไตล์ฝรั่งเศส ไม่ติดสาวฝรั่งเศส แต่ผมแพ้เจ้าไวน์นี่แหละครับ

ผมเชื่อในคำกล่าวที่ว่าชื่อย่อมสะท้อนถึงสิ่งที่ถูกแทนโดยชื่อนั้น เมื่อรู้จักตัวตนผมพอสังเขปแล้ว ลองมาพิจารณาดูชื่อผมบ้างกันดีกว่า

ชื่อที่ผมใช้ในบล็อกว่า Etat de droit มีที่มาอย่างไรอาจสงสัยกัน

Etat de droit แยกออกเป็น ๒ คำ Etat แปลว่า รัฐ Droit แปลว่า กฎหมาย รวมกันแปลว่า รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย หรือเรียกให้สวยๆตามภาษาในยุทธจักรของผม คือ นิติรัฐ

นิติรัฐคืออะไร

ตอบแบบกำปั้นทุบดิน คือ รัฐกฎหมาย

ขยายความต่อไปก็คือ รัฐที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ รัฐที่ยอมจำกัดตนเอง (auto-limitation) อยู่ภายใต้กฎหมาย

อธิบายให้เห็นภาพ นิติรัฐเรียกร้องว่าเวลาที่รัฐจะกระทำการบางอย่างบางประการ ต้องถามตัวเองก่อนว่ามีกฎหมายอะไรให้อำนาจไว้หรือไม่ ถ้ามีรัฐก็ลงมือกระทำได้แต่ถ้าหาไม่พบรัฐก็ห้ามกระทำ

กล่าวให้ถึงที่สุดเป็นไปตามหลักของกฎหมายมหาชนที่รัฐทำได้เท่าที่กฎหมายให้ซึ่งตรงกันข้ามกับทำได้ตราบที่ไม่มีกฎหมายห้ามอันเป็นหลักกฎหมายเอกชน

ทำไมรัฐต้องไปควานหากฎหมายให้มันยุ่งยากด้วย ผมขอแสดงวงจรความสัมพันธ์ให้ดูคร่าวๆ

เป็นที่ทราบกันดีว่ายามใดที่รัฐลงมือทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนแล้วจำเป็นต้องใช้อำนาจบางประการ จำเป็นต้องถือเอกสิทธิ์บางประการ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบรรลุซึ่งภารกิจนั้น การใช้อำนาจก็ดี การมีเอกสิทธิ์เหนือเอกชนก็ดี ย่อมหลีกเลี่ยงไม่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ยาก เพื่อให้อำนาจและเอกสิทธิ์มีความชอบธรรมจึงจำเป็นต้องให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอธิปไตยให้ความเห็นชอบเสียก่อน ในเมื่อจะไปทำการที่กระทบสิทธิของผม คุณก็ต้องมาขออนุญาตผมซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ การขออนุญาตจากประชาชนให้ครบ ๖๐ กว่าล้านคนนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ก็ต้องสร้างระบบผู้แทนประชาชนขึ้นมาเพื่อไปออกเสียงแทน ผู้แทนที่ว่าคือสมาชิกรัฐสภา การออกเสียงของสมาชิกรัฐสภามาในรูปของกฎหมาย เมื่อกฎหมายให้อำนาจรัฐไปกระทำก็เท่ากับว่าประชาชนยินยอมนั่นเอง

เอวังด้วยประการฉะนี้

เมื่อพิจารณาจากวงจรที่ผมกล่าวมาแล้วจะพบว่า กฎหมายในนิติรัฐต้องรับหน้าที่ในการเป็นแหล่งที่มาของอำนาจเพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐจะไปทำการใดๆตามอำเภอใจไม่ได้ เรียกได้ว่า รัฐจะหยิบกระบองไปตีกบาลใครโดยเจ้าของกบาลไม่อนุญาตไม่ได้เป็นอันขาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐหากฎหมายที่ให้อำนาจตัวเองได้แล้วไม่ได้หมายความว่าจะลงมือทำได้อย่างไร้ขอบเขต หากทว่าเวลาที่รัฐลงมือกระทำการใดๆไปแล้วก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ด้วย อีกนัยหนึ่งคือห้ามกระทำการขัดกับกฎหมายนั่นเอง

กฎหมายที่ว่าไม่ได้หมายความเฉพาะกฎหมายลายลักษณ์อักษรเท่านั้น หากยังรวมไปถึงกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย ดังนั้น เมื่อรัฐตัดสินใจลงมือกระทำแล้ว รัฐก็ต้องระวังมิให้ไปขัดกับ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น จารีตประเพณี หลักกฎหมายทั่วไป คำพิพากษาบรรทัดฐาน กฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลใช้บังคับในกฎหมายภายใน ทั้งนี้เป็นไปตามลำดับศักดิ์ของกฎหมาย

ที่กล่าวกันว่า นิติรัฐคือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายนั่นก็คือ รัฐที่มีกฎหมายเป็นทั้งที่มาของอำนาจ (Source) และเป็นข้อจำกัดการใช้อำนาจ (Limitation) นั่นเอง

แล้วกฎหมายที่เป็น “แกน” ของนิติรัฐเช่นว่านั้นต้องมีลักษณะอย่างไร ?

กฎหมายที่เป็น “แกน” ไม่ได้หมายความว่าจะมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ กฎหมายไม่อาจบอกให้คนกลายเป็นหมู ให้ใช้หัวเดินแทนเท้า หญิงกลายเป็นชาย ชายกลายเป็นหญิง หรือดวงอาทิตย์ขึ้นทิศตะวันตก ตกทางทิศตะวันออก

ประวัติศาสตร์สอนเราว่าการปกครองที่เลวร้ายในสมัยนาซีล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกฎหมายทั้งสิ้น ฮิตเลอร์ยึดอำนาจสภาและออกกฎหมายที่ไร้มนุษยธรรมใช้เป็นจำนวนมากโดยกล่าวอ้างอย่างเต็มปากเต็มคำว่าการกระทำของพลพรรคนาซีเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

นิติรัฐในสมัยนาซีย่อมเป็นนิติรัฐที่ไม่พึงปรารถนา

ด้วยเหตุนี้หลักนิติรัฐจึงเรียกร้องต่อไปอีกว่า กฎหมายที่ใช้ในนิติรัฐต้องเป็น “กฎหมายที่ดี”

กฎหมายที่ดีต้องมีเนื้อหาที่แน่นอนชัดเจน ไม่มีโทษย้อนหลัง ได้สัดส่วน มีความเป็นธรรมและเสมอภาค

อย่างไรก็ตาม หลักนิติรัฐที่ผมร่ายยาวมาทั้งหมดจะไม่มีความหมายอะไรเลยแต่เป็นเพียงตัวอักษรบนกระดาษ เป็นแค่หลักการที่ฟังแล้วดูโก้เก๋เท่านั้น หากเราไม่มีองค์กรมาตรวจสอบว่ารัฐทำตามหลักการนั้นหรือไม่

แล้วองค์กรที่ว่าควรจะเป็นใคร

แน่นอนว่าหากฝ่ายบริหารซึ่งเป็นแกนหลักในการใช้อำนาจในการจัดทำงานบริการสาธารณะต่างๆ ฝ่ายบริหารซึ่งเป็นแกนหลักในการลงมือกระทำการบางอย่างบางประการแล้วมีแนวโน้มที่จะไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากที่สุด กลับอาสามารับบทบาทหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบเสียเองว่าการกระทำต่างๆนั้นมีกฎหมายให้อำนาจและขัดต่อกฎหมายหรือไม่แล้ว เห็นทีจะไม่เป็นกลางเท่าไรนัก เรียกได้ว่า เมื่อทำเอง ตรวจเองแล้วคงยากที่จะบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด

หน้าที่ในการตรวจสอบดังกล่าวจึงควรตกเป็นขององค์กรที่มีความเป็นกลางและอิสระ กล่าวเช่นนี้คงหนีไม่พ้นองค์กรตุลาการนั่นเอง

อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นองค์กรตุลาการ

องค์กรตุลาการมีลักษณะสำคัญ ๕ ประการ หนึ่ง มีความเป็นกลางและอิสระ สอง ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท สาม คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่ยุติ สี่ คำวินิจฉัยนั้นต้องมีเหตุผลประกอบ และห้า มีวิธีพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้คู่ความโต้แย้งกันได้

นี่คือเนื้อหาสาระของนิติรัฐแบบคร่าวๆจริงๆแล้วยังมีรายละเอียดอีกมากซึ่งผมขอไม่ก้าวล่วงไปกล่าวถึงเพราะจะซับซ้อนจนกลายเป็นวิชาการจนเกินไป

หากมีคนถามผมว่าจะอธิบายเนื้อหาสาระของนิติรัฐให้รวบรัดแต่ได้ใจความที่สุดได้อย่างไร ผมก็ขอตอบว่า “นิติรัฐ คือ รัฐที่จำกัดตนเองอยู่ภายใต้กฎหมายโดยจะกระทำการก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจและกระทำไปได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย กฎหมายเช่นว่าต้องเป็นกฎหมายที่ดี และการกระทำเหล่านั้นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรตุลาการ”

รัฐสมัยใหม่ปัจจุบันนี้ประกาศตัวเองว่าเป็นนิติรัฐทั้งนั้น แต่ระดับความเข้มข้นอาจต่างกันอยู่บ้างตามระบอบการเมืองการปกครองและสภาพสังคมของแต่ละประเทศ

ผู้ปกครองในรัฐสมัยใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยึดถือหลักนิติรัฐ ผู้ปกครองเป็นมนุษย์ปุถุชน เมื่อมีอำนาจย่อมอาจใช้อำนาจไปในทางที่ผิดได้ หากไม่มีกฎหมายเป็นตัวกำกับแล้ว ราษฎรย่อมเสี่ยงที่จะอยู่ภายใต้การปกครองที่เป็นไปตามอำเภอใจ จริงอยู่ผู้ปกครองอาจเป็นคนดี แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนดีก็เป็นมนุษย์ที่อาจพลัดหลงเข้าไปในทางที่ผิดได้

ผมเห็นว่า “นิติรัฐ” เป็นหลักเบื้องต้นก่อนที่จะเข้าสู่พรมแดนของกฎหมาย เป็นหลักที่รัฐเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่พึงปรารถนา เป็นหลักที่เริ่มติดปากคนไทยนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับ และเป็นหลักที่ผู้ปกครองควรยึดถือ จึงเอามาใช้เป็นชื่อผม

อย่าถามต่อนะว่าแล้วทำไมไม่ใช้ชื่อบล็อกว่า “นิติรัฐ” ล่ะ ใช้ “ Etat de droit ”ทำไม ผมตอบได้แค่ว่าผมกระแดะครับ

8 ความคิดเห็น:

Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จะชมมานานละว่าช่วงหลังนี่ เขียนหนังสือดีขึ้นและอ่านง่ายขึ้นมาก ไม่ค่อยซับซ้อนเหมือนที่ผ่านๆมา หรือ ถ้าเขียนเรื่องที่ซับซ้อนก็ขยายความจนผู้อ่านเข้าใจได้ดี..ฝีมือพัฒนา..ไชโย..

สำหรับคราวนี้เป็นการแนะนำตัว ไม่ขอเม้นต์อะไรมาก เพราะ.... ส่วนเรื่องชือ่เสียงเรียงนามนั้น เห็นว่าไพเราะดีอยู่แล้ว Etat de droit ก้อฟังดูเหมาะดีกะสไตล์การเขียน อีกอย่าง คำว่า état ในภาษาฝรั่งเศสเอง ก็มีความหมายถึง สถานะ และ สภาพ ได้อีกด้วย ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนจากตัวอักษรตัวใหญ่ เป็นตัวเล็ก คือ état de droit ก็จะได้ความหมายว่า สภาพหรือสถานะกฎหมาย คงไม่ถึงขนาด สภาพบุคคลอะไรหรอกนะ อันนั้นคงไปไกลไปซักกะหน่อย แต่น่าจะมีความหมายเลาๆว่า สภาพของคนที่อยู่กะกฎหมายเป็นหลักมากกว่า ซึ่งก็ตรงกับสไตล์อย่างไม่ต้องสงสัย บทสรุปของสมการนี้ จึงเป็นว่า..ชื่อนี้เหมาะแล้ว ไม่กระแดะหรอกน่า..

หัดทำความสะอาดบ้านสม่ำเสมออย่างที่ตั้งใจซะบ้าง เห็นพูดมาประมาณ deux cents cinquante fois แล้ว และ ตอนนี้เป็นเวลาอาหารเย็น จึงขอทิ้งท้ายว่า..aller,bon vin !!

8:15 หลังเที่ยง  
Blogger pin poramet กล่าวว่า...

เหอ เหอ

ในที่สุด ก็มีคนเขียน Blog ยาวกว่าผมแล้ว

ชื่อเรียกยากมาก อ่านก็ไม่ออก เรียกคุณป๊อกแล้วกันนะครับ

ตั้งใจจะกลับเมืองไทยเมื่อไหร่ครับ ผมคงกลับอีกทีช่วงปลายกรกฎาคม ถ้าอยู่เมืองไทยตรงกัน นัดคุยกันหน่อย น่าสนุก

1:29 ก่อนเที่ยง  
Blogger The Corgiman กล่าวว่า...

อ่านเพลินเลยครับ ได้ความรู้ด้วย

ยอดเยี่ยมครับ

4:43 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ยาวจนไม่รู้จะเริ่มตรงไหนก่อน

เอาเป็นว่า ถ้าผู้เขียนว่าง ก็ลองเขียนเรื่องการจิบไวน์บ้างก็ดีครับ

ผมเองมั่วไปหมด จับไม่ถูก ไวน์ดี ไวน์ไม่ดีเป็นอย่างไร

รู้แค่ตอนซื้อ มองหาแต่ของบอร์กโดซ์ หาปีที่เข้าท่าจากปฏิทินที่เห็นในร้านซักผ้า (2002 นี่ปีดีใช่ป้ะ)

ตอนกินก็แยกไม่ค่อยออก... อ่านในเวบ เขาว่าให้สัมผัสว่ามีกลิ่นคาราเมล กลิ่นดอกไม้ หรือกลิ่นเนื้อไม้ ผมก็บื้ออีก ... ดมทีไรมันก็ไอ้กลิ่นไวน์ (ละวะ)

เดี๋ยวนี้ไม่ได้ดื่มวิสกี้อีกเลย เพราะดื่มคนเดียวไม่มันส์
แต่ไวน์นั้นดื่มคนเดียว (เมาคนเดียว) ได้

อีกอย่าง ครูผม Madame Anne ROLENT (ผู้เขียนจำได้ป่าว) บอกว่า ถ้าเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ให้ดื่มไวน์แดงบอกโดซ์วันละแก้ว...
แต่ผมดันลืมว่า แกให้ดื่ม "วันละเพียงหนึ่งแก้ว"
หรือ "วันละหนึ่งแก้วขึ้นไป..."

ผมเลยตีความให้เป็นประโยชน์ต่อจำเลย เป็นอย่างหลัง...

1:15 หลังเที่ยง  
Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

ขอบคุณทุกคนครับ ใจชื้นขึ้นมาหน่อยว่าผมเขียนหนังสือแล้วอ่านรู้เรื่อง

แต่ผมคงแก้ไม่หายนะ โรคเขียนบล็อกยาว

เขียนทีไรมันไหลไปเรื่อย

อยากเขียนภาษาฝรั่งเศสได้ลื่นอย่างนี้มั่ง

ส่วนเรื่องไวน์นั้น

ผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก คิดแบบตรระกะที่อุบาทว์ที่สุดในบรรดานักดื่มไวน์ คือ ไวน์แพงก็ต้องเป็นไวน์ดี

ง่ายมั้ยครับ

แต่ผมไม่ค่อยชอบ บอร์กโดซ์นะ รสมันติดฝาดๆมั้ง

ลองมากินไวน์แคว้น Cote du rhone ดู ผมว่ามันหร่อยกว่า (ขอใช้ศัพท์ง่ายๆนะว่าอร่อย อธิบายแบบนักชิมไวน์ไม่เป็นอ่ะ)

แต่จริงๆผมชอบไวน์อีกชนิดนึงมากที่สุด

ไวน์ฟรีครับ...

11:12 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

^___^ ยินดีที่ได้รู้จักอีกครั้งค่ะ

KoPoK

9:40 หลังเที่ยง  
Blogger หนูแยมเองจ้า ^o^ กล่าวว่า...

หวัดดีจ้า

หนูชื่อแยมอ่ะนะ ชื่อจริงชื่อสุพัฒน์ แปลว่าการพัฒนาไปในทางที่ดี ชื่อเหมือนผู้ชายแต่หนูเป็นผู้หญิงนะจ๊ะ (ถึงจะไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไหร่ก็เหอะ 555) วันนี้หนูตั้งใจจะมาหาวิธีการทำวิทยานิพนธ์ทางด้านกฎหมายให้น้องสาว แต่ไหงหาไปหามาดันมาเจอเวปของพี่เข้า อิอิ บอกตามตรงนะ ถูกใจๆ ปกตินักกฎหมายเค้าออกจะเก๊กๆ หน่อยเนอะ แต่ไหงพี่ไม่เหมือนใครล่ะเนี่ย อ่านบทความแนะนำตัวของพี่แล้วสรุปด้วยคำพูดที่ว่า " อ่านะ " อิอิ ^^ ยิงดีที่ล่ายรู้จักจ้า ^O^ วันนี้ไปก่อนนะจ๊ะ ไว้มาเยี่ยมใหม่จ้า ลั้นลาลั้นลา

8:46 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ช่วยเล่าเรื่องเมืองVichy อีกได้มั้ย ถ้าจะให้ดีเล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับประเทศฝรั่งเศสด้วยนะคะ
Merci

6:24 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก