วันพุธ, ธันวาคม 19, 2550

เกี่ยวกับเลือกตั้ง ๒๓ ธันวา

นี่เป็นงานที่ผมส่งให้ประชาชาติธุรกิจ จะตีพิมพ์ในฉบับวันที่ ๒๐ ธันวาคมนี้

............

เลือกตั้ง ๒๓ ธันวา

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ที่จะถึงนี้ มีข้อควรพิจารณาในหลายประเด็น ดังนี้

๑. ระบบเลือกตั้งถอยหลังเข้าคลอง
การเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต ๔๐๐ คน และ ส.ส.ระบบสัดส่วน ๘๐ คน ในส่วนของ ส.ส.ระบบแบบแบ่งเขต รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเลือกผู้สมัครได้ตามจำนวนส.ส.ที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น นั่นหมายความว่าผู้มีสิทธิแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครได้ในจำนวนที่ไม่เท่ากัน บางเขตเลือกตั้งอาจเลือกได้ ๑ คนหรือ ๒ คนหรือ ๓ คนแล้วแต่กรณี ซึ่งสร้างความไม่เท่าเทียมกันในการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขต และอาจจะส่งผลกระทบต่อไปถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

สำหรับ ส.ส.ระบบสัดส่วนจำนวน ๘๐ คน ซึ่งมาจากการเลือกบัญชีรายชื่อโดยแบ่งเป็น ๘ กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ ๑๐ คน นั้น ไม่สามารถอธิบายได้ว่าต้องการให้ผู้แทนตามบัญชีรายชื่อของแต่ละกลุ่มจังหวัดเป็นผู้แทนของกลุ่มประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใด และจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการแบ่งกลุ่มจังหวัด การจัดแบ่งบัญชีรายชื่อเป็น ๘ บัญชีและลดจำนวน ส.ส.ระบบสัดส่วนให้เหลือเพียง ๘๐ คน ได้ทำลายข้อดีของระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ลง โดยไม่มีเหตุผลทางวิชาการใดรองรับ นอกจากเหตุผลที่ว่าเกรงกลัวพรรคการเมืองใหญ่ในอดีตที่เคยเข้ายึดครองที่นั่งของ ส.ส.ระบบสัดส่วน เป็นจำนวนมากและมีการอ้างตัวเลขคะแนนเสียงที่ประชาชนสนับสนุนเท่านั้น

ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่นำมาใช้กับการเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม จึงเป็นระบบการเลือกตั้งที่ถอยหลังเข้าคลอง เป็นไปเพียงเพื่อไม่ให้มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดและให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ

๒. “กด” ของ กกต
จากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ ๓-๕/๒๕๕๐ ที่ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ๑๑๑ คนเป็นเวลา ๕ ปีนั้น ผู้เขียนได้เคยวิจารณ์มาแล้ว แต่ในบทความนี้จำเป็นต้องพูดถึงมติของ กกต.เกี่ยวกับกรรมการบริหาร ๑๑๑ คน

กรรมการบริหารพรรค ๑๑๑ คน ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งหลายประการ ได้แก่ สิทธิเลือกตั้ง, สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น, สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น, สิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย และเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ, สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น, สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้ ส.ว. มีมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง, สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น, สิทธิขอจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมือง, สิทธิออกเสียงประชามติ, การดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม กกต. ได้ออกมติห้ามอดีตกรรมการบริหารพรรค ๑๑๑ คน ปราศรัยช่วยผู้สมัครอื่น ขึ้นโปสเตอร์ ตลอดจนปรากฏตัวบนเวทีหาเสียง มติของ กกต. นี้ มีข้อควรพิจารณาใน ๒ ประเด็น

หนึ่ง มติของ กกต. เป็นการขยายความการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของอดีตกรรมการบริหารพรรค ๑๑๑ คน มากเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด สิทธิทางการเมืองที่ถูกเพิกถอนนั้น ย่อมไม่รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ เช่น เสรีภาพในความคิด เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เสรีภาพในการเดินทาง ฯลฯ

สอง หากต้องการให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดถึงความชอบด้วยกฎหมายของมติ กกต. นี้ ก็น่าสงสัยอีกเช่นกันว่า ศาลใดจะมีอำนาจพิจารณา เพราะ กกต. ออกมายืนยันว่าเป็นเพียงมติและการตอบข้อหารือต่อพรรคการเมืองเท่านั้น หาใช่คำสั่งหรือกฎที่มีผลไม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ศาลย่อมไม่มีอำนาจพิจารณา

จะเห็นได้ว่า นอกจาก กกต. จะออกมติที่ตัดสิทธิอื่นๆมากกว่าที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดแล้ว กกต.เองก็ไม่กล้าพอที่จะทำมตินี้ให้ออกมาในรูปของคำสั่งหรือกฎ เพื่อให้มีผลผูกมัดทางกฎหมายและตัว กกต. เอง มติ กกต. จึงไม่มีสถานะเป็น “กฎ” หากเป็นได้เพียง “กด” ของ กกต. เท่านั้น

๓. ๓๐๙ แผลงฤทธิ์
ในระหว่างรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญออกมายืนยันว่า บทบัญญัติในมาตรา ๓๐๙ ไม่ได้มีไว้คุ้มครองสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรณีเอกสารลับของ คมช. ที่กำหนดแผนงานการสกัดกั้นพรรคพลังประชาชน ถือเป็นบททดสอบแรกของมาตรา ๓๐๙

คณะอนุกรรมการสอบสวนกรณีเอกสารลับที่ กกต. แต่งตั้งขึ้น ได้ลงมติว่า คมช. มีความผิดตามกฎหมาย ในส่วนของเสียงข้างน้อยที่เห็นว่า คมช. ไม่ผิด อนุกรรมการบางคนให้เหตุผลว่า คมช ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๓๐๙

ในขณะที่ทางฝ่ายของ คมช. เอง ก็ยืนยันถึงความคุ้มครองตามมาตรา ๓๐๙ ดังที่ปรากฏในหนังสือชี้แจงของ คมช. ความว่า “ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความมั่นคงของชาตินั้นได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๔๙ มาตรา ๓๔ วรรค ๑ และมาตรา ๓๗ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา ๒๙๘ และมาตรา ๓๐๙ ให้ถือว่าการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.๒๕๕๐) เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ”

ล่าสุด กกต. ได้วินิจฉัยว่า คมช. ไม่มีความผิด โดยบางส่วนให้เหตุผลว่า กกต. ไม่มีอำนาจวินิจฉัย บางส่วนให้เหตุผลว่า คมช. มีความผิดแต่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๓๐๙ และบางส่วนให้เหตุผลว่าเอกสารลับเป็นเพียงแผนงานของ คมช. ยังไม่ได้มีการปฏิบัติการตามแผน จึงยังไม่ถือว่าลงมือกระทำความผิด

ในท้ายที่สุด หากองค์กรตุลาการมีโอกาสวินิจฉัยประเด็นเอกสารลับ หรือในประเด็นอื่นๆที่มีการอ้างบทบัญญัติในมาตรา ๓๐๙ องค์กรตุลาการจะยืนยันหรือไม่ว่ามาตรา ๓๐๙ มีผลคุ้มครองสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หากองค์กรตุลาการยืนยันเช่นนั้น แล้ว สสร. จะรับผิดชอบกับเหตุผลที่ตนได้อ้างไว้อย่างไร?

๔. ยุบพรรค?
ในรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย การยุบพรรคการเมืองจะทำโดยองค์กรตุลาการ ซึ่งส่วนใหญ่ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนมูลเหตุของการยุบพรรค ก็มาจากพฤติกรรมอันขัดแย้งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และต้องเป็นมูลเหตุที่ใหญ่อย่างเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง หาใช่เรื่องหยุมหยิมเพียงเล็กน้อยไม่

เมื่อมองย้อนดูของประเทศไทย ตลอดระยะเวลารณรงค์เลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม กรรมการการเลือกตั้งบางคนออกมา “ขู่” รายวันว่าจะยุบพรรคการเมือง ด้วยเหตุเล็กน้อย ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ที่คำขู่ยุบพรรคนั้นมุ่งตรงไปที่พรรคพลังประชาชนเพียงพรรคเดียว เช่น ผู้สมัครแจกซีดีที่ปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้สันบสนุนพรรคพลังประชาชน หรือ การลงลายมือชื่อในใบสมัครของพรรคพลังประชาชนของผู้สมัครพรรคการเมืองหนึ่ง เป็นต้น

การยุบพรรคเพื่อกำจัดตัดตอนกลุ่มอำนาจเก่า ไม่เพียงแต่จะแก้วิกฤติการเมืองไม่ได้เท่านั้น ตรงกันข้ามกลับก่อวิกฤติระลอกใหม่ให้หนักกว่าเดิมเข้าไปอีก

๕. กกต ก่อวิกฤติหรือแก้วิกฤติ
เชื่อกันว่า การเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม เป็นกุญแจสำคัญในการออกจากวิกฤติการเมืองที่ดำเนินมาหลายปี ความข้อนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ขึ้นกับพฤติกรรมของ กกต. เป็นสำคัญ กกต. ต้องตระหนักเสมอว่าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่องค์กรภายใต้คำสั่งของคณะรัฐประหาร รัฐบาล หรือผู้มีบารมีทั้งหลาย
หาก กกต. จัดการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม ทำตาม “ใบสั่ง” ของใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก วิกฤตทางการเมืองคงต้องดำเนินต่อไปเป็นแน่

๖. ควรไม่เลือกใคร?
สำหรับผู้ต่อต้านรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของ คมช. และองค์กรอันเป็นผลิตผลของ คมช. ตลอดจนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ในการเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคมที่จะถึงนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเขาเหล่านั้นต้อง “ไม่เลือก” พรรคการเมืองที่มีพฤติกรรม ดังต่อไปนี้

หนึ่ง พรรคการเมืองที่ไม่ประณาม ไม่ต่อต้าน แต่กลับสนับสนุนหรือนิ่งเฉยกับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
สอง พรรคการเมืองที่มีส่วนสนับสนุนหรือทำให้เกิดรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
สาม พรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวทางไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น สูตรนายกรัฐมนตรีพระราชทานมาตรา ๗
สี่ พรรคการเมืองที่ไม่วิจารณ์หรือวิจารณ์อย่างกระมิดกระเมี้ยนพอหอมปากหอมคอต่อการดำเนินงานของ คมช. และองค์กรผลิตผลของ คมช.
ห้า พรรคการเมืองที่สนับสนุนให้ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

หากผู้ใดยังคงยืนยันอุดมการณ์ต่อต้านรัฐประหาร ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่เขาจะเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมดังกล่าว หากผู้ใดที่ไม่สนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา และรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แต่กลับบอกว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ เป็นคนประนีประนอม เข้ามาแล้วจะไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นอีก เหมาะสมในการเผชิญหน้ากับทหารอย่าง “นุ่มนวล” ทั้งๆที่หัวหน้าพรรคการเมืองนั้น มีส่วนในการนำพาสถานการณ์เข้าสู่วิกฤต ไม่เคยวิจารณ์รัฐประหาร ๑๙ กันยา ไม่เคยวิจารณ์ คมช และสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ข้ออ้างเช่นนี้ย่อมไม่สมเหตุสมผล

๗. เลือกตั้ง ๒๓ ธันวา เลือกตั้งเฉพาะกิจ
ด้วยสถานการณ์การเมืองก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยายน จนมาถึงการเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม เป็นสถานการณ์การเมืองในสภาวะ “อปกติ” ดังที่เราทราบกันดี ประกอบกับเป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา เราจึงไม่อาจปฏิเสธความเชื่อมโยงระหว่างการเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม กับรัฐประหาร ๑๙ กันยาและสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

ผู้เขียนเห็นว่า ความสำคัญของการเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคมนี้ อยู่ที่ “เอาหรือไม่เอารัฐประหาร ๑๙ กันยา” “เอาหรือไม่เอา คมช. องค์กรผลิตผลของ คมช. และรัฐบาลของ คมช.” และ “เอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐” มากกว่าเรื่องนโยบาย

เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม จะเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ และน่าจะดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน การดำเนินนโยบายต่างๆ อาจไม่สะดวกราบรื่น ตรงกันข้าม ภารกิจหลักของรัฐบาลชุดต่อไป คือ นำพาทหารเข้าสู่กรมกอง จัดวางระบอบประชาธิปไตยให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอยตามปกติ และเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา เมื่อแล้วเสร็จ ก็อาจจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ซึ่งปราศจากเงาของ คมช.

การเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม เป็นเครื่องมือเพียงประการเดียวที่ประชาชนจะได้ใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ยอมรับรัฐประหาร การใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพิจารณาไม่เลือกพรรคการเมืองที่ “สังฆกรรม” ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อมกับ คณะรัฐประหารและพวก จึงเป็นหนทางอย่างสันติวิธีที่จะสามารถใช้มโนธรรมสำนึกและเหตุผลในการต่อสู้กับกระบวนการรัฐประหาร และอำนาจนอกรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ซึ่งก่อตัวมาตั้งแต่ก่อน ๑๙ กันยา จนถึงปัจจุบัน

เพื่อมิให้การรัฐประหารเกิดขึ้นอีก และยืนยันว่ารัฐประหารเป็นสิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตย
เพื่อมิให้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญทั้งหลายได้สำแดงเดชเข้าแทรกแซงการเมืองโดยไม่ให้คุณค่าเสียงของประชาชน เพื่อให้ผู้ร่วมขบวนการรัฐประหารทั้งหลายได้รับทราบว่า “เราไม่เอารัฐประหาร” และตักเตือนพวกเขาว่า “ต่อไปอย่าทำอีก รัฐประหารไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน”
และเพื่อยืนยันสิทธิในการปกครองตนเองของพลเมือง

เราไม่มีทางเลือกใด นอกจากใช้สิทธิเลือกตั้งไปในทางที่ “ไม่เป็นคุณ” ต่อขบวนการรัฐประหาร และอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสุดท้าย จะดูเหมือนเป็น “ปาหี่” ก็ตาม

15 ความคิดเห็น:

Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หายไปนาน มาอีกที เอาซะอิ่มเลยนะท่าน ช่วงนี้เราเงียบๆ ทำงานกะเล่นเกมส์ออนไลน์ฆ่าเวลา เพื่อรอเวลาตบหน้าคมช.วันอาทิตย์นี้แหละ ซุ่มมานาน

ปล.พนักงานเราเลือกพลังประชาชนตั้งแต่บัญชียันคนรถเลยละ

3:42 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นบทความที่เยี่ยมเหมือนเคยครับอ.

12:39 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รอดูสงกรานต์ใบเหลือง ใบแดงกันดีกว่า

พปช. จะรอดเหลือครบ 200 หรือไม่

เหลือครบเท่าเดิม อัตราจ่าย 1:50
เหลือ 200 - 210 อัตราจ่าย 1:3.5
เหลือ 180-200 อัตราจ่าย 1:1.5

Francaise des jeux น่าเปิดแทงว่ะเนอะ

7:30 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมคิดว่า ผู้เขียนบทความนี้ตกข้อสำคัญไปข้อหนึ่ง คือข้อที่ว่า "ควรไม่ฟังปัญญาชนสาธารณะคนใด"

เพราะสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "ปัญญาชนสาธารณะ" จำนวนมาก ไม่ได้มีหลักการหรือผลประโยชน์สาธารณะ
ดังที่อวดอ้าง นอกจาก ความเกลียดชัง "ทักษิณ" และ "พรรคไทยรักไทย" เป็นการส่วนตัว


ที่ทักษิณ เรียกปัญญาชนพวกนี้ ว่า "ขาประจำ" ย่อมชอบแล้ว เพราะ ปัญญาชนสาธารณะพวกนี้มีอคติหรือความเกลียดชังทักษิณ เป็นการส่วนตัว แต่หน้าด้านและไร้ยางอายที่ใช้คำว่า "สาธารณะ" เป็นคำบังหน้าพฤติกรรมของตนเอง

กว่ารัฐประหารหนึ่งปีที่ผ่านมา เราเคยเห็นปัญญาชนสาธารณะ หรือบล็อกเกอร์ที่แต่งตั้งตัวเองเป็นปัญญาชนสาธารณะ ที่เคยเคลื่อนไหวคึกคักต่อต้านทักษิณจะเป็นจะตาย เคลื่อนไหวอะไรในการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะในระบอบ คมช. บ้าง

บล็อกเกอร์บางท่านที่เคยเป็นภูมิแพ้จาก พ.ร.ก ฉุกเฉินจนจะเป็นจะตาย เคยมีปฏิกริยาทางร่างกายอะไรกับ พ.ร.บ ความมั่นคงภายในฯ ที่พึ่งผ่านสภาเผด็จการไปเมื่อวันที่19 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมาบ้าง

ผมอดสมเพชและทุเรศไม่ได้ เมื่อนึกถึงวิวาทะเรื่องนักวิชาการสังคมศาสตร์กับงานวิจัยเมื่อปีสองปีก่อนไม่ได้

ผมเคยตั้งคำถามว่าพวกนักวิชาการสังคมศาสตร์ที่เรียกตัวเองว่าปัญญาชนสาธารณะ โดยเฉพาะสายเศรษฐศาสตร์ ว่าทำไม พวกคุณไม่ทำงานวิจัยกันตามบรรทัดฐานและหน้าที่ที่ควรจะต้องทำ

มาแหกปาก โวยวาย ด่าทอ นักการเมืองด้วยเรื่องใด

บล็อกเกอร์บางท่านบอกว่าต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะ

ทุเรศชิบ ในระบอบ คมช.ที่ผ่านมา พวกท่านหายกันไปไหน เวลานี้แหละที่ต้องการให้พวกท่านมาปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ

ถ้าไม่สามารถจะปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ก็ควรกลับไปทำงานวิชาการให้ดี สอนหนังสือให้ดี

ประชาชนดูแลตัวเองกันได้ ไม่ต้องให้พวกท่านมาหากินโดยใช้ประชาชนเป็นคำบังหน้าอีกต่อไป

และที่สำคัญ หวังว่า ก่อนที่จะใช้สรรพนามเรียกขานตัวเองว่า "ปัญญาชนสาธารณะ" จะมีความละอายใจบ้างหรือตั้งคำถามในใจตัวเองด้วย ว่าพฤติกรรมและการกระทำของท่าน มีสิ่งใดที่เรียกได้ว่าควรคู่เป็น ปัญญาชนสาธารณะ

3:14 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากให้คุณปริเยศยกตัวอย่างมาให้ชัดๆ ว่าเป็นใครครับ
พอดีไม่ค่อยได้ติดตาม
เดี๋ยวจะโดนหลอกอีก

11:59 ก่อนเที่ยง  
Blogger Isriya กล่าวว่า...

oakyman: ปัญญาชนสาธารณะที่เป็น blogger มีไม่เยอะหรอกครับ

(ผมไม่ได้คุยกับปริเยศในเรื่องนี้ แต่เดาจากความคิดที่เคยคุยกันก่อนหน้ามาบ้าง ผมก็คิดว่าเดาถูก)

4:01 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่ชอบโจรบ้าน แต่เลือกเชิญชวนที่จะนำโจรสลัดมาปราบ...

เลือกการแสดงออกด้วยการเลือกที่ต้องอยู่ไปอีกสี่ปี ไม่มีทางอื่นแล้วจริง ๆ หรือ

เอาเถอะไม่เป็นไร...ประเทศไม่ใช่ของผมคนเดียว และเชื่อว่า ผมไม่ใช่ชุดแรก ๆ ที่จะตายหากความหายนะมาถึง... เสียดายทึ่ถึงเวลานั้น คงต้องสมน้ำหน้าคนอื่นด้วยน้ำตาตัวเอง

8:16 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

น่าสงสารประเทศไทยเพราะมีทั้งปลิงการเมือง ปีศาจการเมือง เหลือบทางการเมือง มาด่าคนอื่นว่าโกง พอตนเองเข้ามามีทางกอบโกยก็เป็นปลิงเป็นเหลือบเสียเอง ต้องรอคนร่นใหม่มาเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองต้องเสริมสร้างคุณธรรม จรรยาบรรณ ไอ้หน้าเก่าๆมากินและจากไปให้มันตายไปก่อน
ประเทศไทยจงเจริญ !!!!!

5:15 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่มีใครเกลียดชังทักษิณหรอกคุณปริเยศ เบื่อคุณน่ะ เบื่อ เสนออะไรดีๆ บ้างดีอย่ามัวแต่ใช้สำนวน เบื่อ เผื่อประเทศชาติจะดีขึ้นมาบ้าง

2:39 ก่อนเที่ยง  
Blogger Tier Etat กล่าวว่า...

บทความนี้จับใจจิงๆ ครับ

9:15 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่รับรอง ส.ส. พปช. 65 คนนี่ ร้ายกว่าที่คิดนะ
คิดแล้วว่าจะมีแบบนี้...

แต่ไม่คิดว่าจะหน้าด้านกันขนาดนี้...

1:55 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เศร้าโคตร เลือกตั้งเสร็จแทนที่จะเดินหน้าประเทศนี้..........อภิสิทธิ์ชน คุณกลัวประชาชนขนาดนี้เชียวหรือ?

6:07 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

``หนึ่ง พรรคการเมืองที่ไม่ประณาม ไม่ต่อต้าน แต่กลับสนับสนุนหรือนิ่งเฉยกับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
สอง พรรคการเมืองที่มีส่วนสนับสนุนหรือทำให้เกิดรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
สาม พรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวทางไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น สูตรนายกรัฐมนตรีพระราชทานมาตรา ๗
สี่ พรรคการเมืองที่ไม่วิจารณ์หรือวิจารณ์อย่างกระมิดกระเมี้ยนพอหอมปากหอมคอต่อการดำเนินงานของ คมช. และองค์กรผลิตผลของ คมช.
ห้า พรรคการเมืองที่สนับสนุนให้ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐''

ห้า พรรคการเมือง ที่พื้นฐานในอดีต เคยแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระ (ถือว่าเป็นแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไหม?)

หก พรรคการเมือง ที่พื้นฐานในอดีต เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน ฆ่าตัดตอน (ถือว่าเป็นแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไหม?)

เจ็ด พรรคการเมือง ที่พื้นฐานในอดีต เคยแทรกแซงสื่อ (ถือว่าเป็นแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไหม?)

1:24 หลังเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0719
miu miu handbags
polo outlet
marc jacobs outlet
ugg outlet
adidas outlet
ferragamo outlet
mulberry outlet
pacers jerseys
jordan shoes
kobe 9

11:56 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0815
ray ban eyeglasses
red bottom
ralph lauren uk
nike chaussure
ultra boost 3.0
christian louboutin sale
christian louboutin shoes
jordans
canada goose jackets
ugg boots

10:23 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก