วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 25, 2550

นี่คือนิธิ ใน พ.ศ.นี้

มติชนฉบับวันจันทร์ที่ ๒๖ พ.ย. ลงคอลัมน์ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ดังเช่นเคย

หากเปิดหน้า ๖ แล้วปิดชื่อผู้เขียนของคอลัมน์นี้ไว้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมคงไม่มีทางเดาได้ว่านิธิเป็นผู้เขียน

นับแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ผมอ่านบทความของนิธิ ที่เกี่ยวกับการเมืองทีไร แล้วรู้สึกทะแม่งๆทุกที แต่จากผลงานที่ผ่านมาของเขา (ยอมรับเลยว่าผมโตมากับมติชน ศิลปวัฒนธรรม และบทความของนิธิ) ผมก็พยายามคิดเข้าข้างเขาอยู่ว่า คนระดับนิธิ คงไม่มีทางเอนเอียงไปทาง “ฝ่ายนั้น” แน่ๆ

แต่กับบทความตอนนี้ เป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้อีกครั้งหนึ่ง (หลังจากที่นิธิไม่เคยประณาม ๑๙ กันยา แบบชัดเจนเลยสักครั้ง)

ในความเห็นผม นิธิ ณ พ.ศ.นี้ ไม่ใช่นิธิ คนเดียวกันกับที่เขียนงานและผมติดตามงานมาตลอดในสมัยก่อน

เชิญอ่านและพิจารณาตาม (ตัวแดง ผมเน้นเอง)

.............

นายกฯ ของวิกฤตการเมือง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแสดงความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป (ภายใต้สภาวการณ์ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คือภายใต้ระบบราชการซึ่งมีกองทัพเป็นผู้นำ) มาอย่างน้อยสามเรื่องแล้ว คุณอภิสิทธิ์เสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเสีย เมื่อจะจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม,คุณอภิสิทธิ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงและสัญญาว่าจะแก้ไขเมื่อได้เป็นรัฐบาล และไม่กี่วันมานี้ คุณอภิสิทธิ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับ กกต.ที่แนะนำมิให้นักการเมืองใช้ 111 อดีตผู้บริหาร ทรท.เป็นสื่อในการหาเสียง

เฉพาะประเด็นสุดท้ายนี้ พรรคการเมืองส่วนใหญ่กลับพร้อมจะปฏิบัติตาม แม้แต่พรรคพปช.ซึ่งแสดงให้ประจักษ์ว่าสืบทอดมาจากพรรค ทรท.ก็เพียงแต่มีผู้ใหญ่บางคนของพรรคแถลงว่าจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ

อันที่จริง ทุกพรรคการเมืองควรจับมือกันสู้ในประเด็นนี้ คือพร้อมใจกันที่จะไม่ฟังคำแนะนำนี้ของ กกต. แม้อาจมีโทษถึงยุบพรรค ก็เป็นการยุบพรรคทั้งหมด เพราะพรรคการเมืองจะมีประโยชน์อันใด หากไม่สามารถปกป้องสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานซึ่งให้หลักประกันไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าคำแนะนำนี้อาจสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบแก่พรรคการเมืองต่างๆ ก็ตาม แต่ความได้เปรียบจนทำให้ได้ร่วมรัฐบาลจะมีประโยชน์อันใด หากต้องเป็นรัฐบาลภายใต้อำนาจมืดบางอย่างที่ทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจในการดำเนินการใดๆ จริง... อำนาจมืดนี้มีอยู่แล้ว หรือกำลังก่อตัวขึ้นก็ตาม ล้วนเป็นอำนาจที่ไม่ต้องรับผิด (accountable) กับใครทั้งสิ้น ขืนปล่อยไว้ การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงก็เป็นแค่จำอวด

และนี่แหละที่ทำให้คุณอภิสิทธิ์เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีในยามนี้ที่สุดอะไรคือปัญหาใหญ่สุดซึ่งรัฐบาลใหม่อันใครๆ ก็รู้ว่าอ่อนแอต้องเผชิญ เวลานี้นักธุรกิจด้านอุตสาหกรรม,การเงิน,และการค้าพากันพร่ำบอกรัฐบาลใหม่ให้ทำโน่นทำนี่ หรือไม่ทำโน่นไม่ทำนี่ ในท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมัน,การแข่งขัน,และภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก จนกำลังจะกลายเป็นคำตอบเดียวของสังคมไทยไปแล้ว ทั้งๆ ที่วิกฤตนี้มีคนไทยอีกมากต้องเผชิญร่วมกัน คำตอบของคนกลุ่มเดียวจะเป็นคำตอบของคนทั้งหมดได้อย่างไร

แต่ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่สุดที่สังคมไทยต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้แน่หรือ แม้ไม่ปฏิเสธว่าปัญหานี้มีความสำคัญที่จะต้องจัดการอย่างรอบคอบและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่เพราะปัญหาเศรษฐกิจกระทบต่อผู้คนโดยตรง และทันตาเห็น จึงเป็นปัญหาที่ผู้ถูกกระทบมักมีปากเสียง (บ้างมีมาก บ้างมีน้อยเป็นธรรมดา) รู้จักแม้แต่การรวมตัวจัดองค์กรข้ามกลุ่มผลประโยชน์ เพื่อกดดันเชิงนโยบายอย่างได้ผล

ไม่ว่านักธุรกิจอุตสาหกรรม,การเงิน และการค้า หรือชาวประมงที่ต้องทนแบกรับราคาน้ำมัน หรือนักเรียนในกรุงเทพฯ ที่ไม่อาจแบกรับราคารถเมล์ได้ เอสเอมอีที่พากันหยุดกิจการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานบางกลุ่ม ฯลฯ ล้วนสามารถเคลื่อนไหวในเชิงนโยบายได้ทั้งสิ้น

ฉะนั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจจะมีปัญหาใหญ่สักเพียงใด สังคมไทยดูเหมือนจะมีพลังในการจัดการได้ดีกว่าด้านอื่นๆ เสียอีก (แม้จัดการแล้วไม่ดีนักก็ตาม) เพราะอำนาจต่อรองกระจายไปยังคนหลากหลายกลุ่มกว่าเรื่องอื่นๆ

ความหลากหลายของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทำให้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเลือกตั้ง มีแนวโน้มว่าจะมีความเป็นธรรมอยู่บ้าง

ปัญหาที่ใหญ่กว่าเศรษฐกิจคือปัญหาการเมืองต่างหาก เพราะภายใต้ภาวการณ์ที่รัฐธรรมนูญ 2550 สร้างขึ้น ระบบราชการซึ่งมีกองทัพนำ จะควบคุมความเคลื่อนไหวของนักการเมือง รวมทั้งในซีกรัฐบาลมิให้ทำได้ในทางหนึ่งทางใด แม้แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทบริวารและพันธมิตรของระบบราชการและกองทัพได้ หากนักการเมืองโดยเฉพาะที่เป็นนายกรัฐมนตรี จำนนต่อแรงกดดันเหล่านี้ การเมืองไทยจะถึงจุดอับจนยิ่งไปกว่าปัจจุบัน

วิกฤตที่ใหญ่ที่สุดของไทยเวลานี้ ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่เป็นวิกฤตการเมืองเพียงเพราะเรามีนายกรัฐมนตรีที่แหยต่ออำนาจของกองทัพเพียงอย่างเดียว แม้แต่พลังของกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่จะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองเชิงนโยบายก็ไม่อาจทำได้อีกต่อไป เพราะอำนาจล้นฟ้าของ พ.ร.บ.ความมั่นคงจะขวางกั้นการเคลื่อนไหวทุกอย่างที่ขัดผลประโยชน์ของระบบราชการและกองทัพ ด้วยข้อหาทำลายความมั่นคง

ไม่เฉพาะแต่ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาอะไรๆ ก็แก้ไม่ได้ทั้งนั้น ซ้ำร้ายระบบราชการและกองทัพเองก็ล้าหลังเกินกว่าจะแก้ปัญหาอะไรที่สังคมไทยต้องเผชิญได้อีกแล้ว อย่างเก่งก็ทำซ้ำรอยเดิม ซึ่งนอกจากไม่แก้ปัญหาแล้ว ยิ่งทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้นไปอีก

ฉะนั้น หากไม่หลุดออกไปจากวิกฤตการเมืองในครั้งนี้ ไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤตด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้

ความนุ่มนวลก็มีความสำคัญ แม้ว่าการปลดปล่อยการเมืองไทยออกจากระบบราชการและกองทัพเป็นภารกิจเร่งด่วนและสำคัญสุดยอด แต่เราควรหลีกเลี่ยงการปะทะนองเลือดกับกองทัพอย่างที่เคยเกิดมาแล้วในเหตุการณ์ 14 ตุลาและพฤษภาทมิฬ ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาล้วนอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนของกองทัพเอง ซึ่งทำให้หลีกเลี่ยงการปะทะได้ยากขึ้น ความนุ่มนวลแต่แกร่งกล้าของคุณอภิสิทธิ์อาจช่วยให้คุณอภิสิทธิ์สามารถนำทหารกลับกรมกองโดยสงบ และสร้างระบบราชการให้เป็นเครื่องมือที่ซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองนโยบายที่ประชาชนสร้างขึ้นผ่านกระบวนการทางการเมืองได้

และนี่เป็นข้อได้เปรียบของคุณอภิสิทธิ์เหนือคู่แข่งที่แสดงอาการแข็งกร้าวหยาบคาย เพราะโอกาสที่เราจะดันทหารกลับกรมกองโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อนั้นมีอยู่

แน่นอนคุณอภิสิทธิ์ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าพรรคการเมืองซึ่งทหารกลุ่มหนึ่งในคณะรัฐประหารหนุนหลัง เพราะภารกิจของพรรคนั้นย่อมไม่มีอะไรมากไปกว่าคอยรับใช้ระบบราชการซึ่งมีกองทัพเป็นผู้นำ อันเป็นเหตุให้เมืองไทยมืดมนลงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง

สิ่งเดียวที่ขาดไปสำหรับคุณอภิสิทธิ์ก็คือ คุณอภิสิทธิ์ต้องแสดงความนุ่มนวลและแกร่งกล้าในความถูกต้องกับพรรคประชาธิปัตย์ของคุณอภิสิทธิ์เองด้วย เพราะคนจำนวนมากยังจำได้ว่า พรรคนี้เคยมีคนดีเป็นผู้นำ แต่ความดีและความนิยมที่เขาได้รับไม่อาจทำให้เขาแกร่งกล้าพอจะจัดการปัญหาทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากสมาชิกของพรรคเอง คุณอภิสิทธิ์ควรแสดงให้เห็นแต่แรกว่า ใบหน้าคุณอภิสิทธิ์นั้น เมื่อลูบไปแล้ว จะไม่ปะจมูกอันเป็นสมาชิกชั้นนำของพรรคเอง

เพราะนายกรัฐมนตรีที่จะนำประเทศไทยให้พ้นจากวิกฤตทางการเมืองไปได้ในครั้งนี้ ต้องแกร่งทั้งภายนอกและภายใน

...................

นิธิเชื่อว่า อภิสิทธิ์เป็นนายกฯที่กล้าชนกับทหาร?
นิธิเชื่อว่า อภิสิทธิ์เหมาะเป็นนายกฯเพราะกล้าค้านเรื่องกฎอัยการศึก กฎหมายความมั่นคง และกฎ กกต เรื่อง ๑๑๑ คน?

แล้วพรรคใด โดยการนำของใคร คิดสูตร ม.๗
แล้วพรรคใด โดยการนำของใคร มีส่วนนำพาสถานการณ์เข้ามุมอับ จนทหารหาเหตุออกมารัฐประหาร
แล้วพรรคใด โดยการนำของใคร ที่ไม่เคยแตะต้อง คมช ตลอดปีเศษที่ผ่านมา

12 ความคิดเห็น:

Blogger ศรัทธา กล่าวว่า...

ปปช.???
พปช.???
งงไปหมดแล้ว

3:31 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมไม่เคยฝากความหวังกับนิธิ เอียวศรีวงศ์ในประเด็นสาธารณะ

จึงไม่เคยมีความหวังต่อความคิดเห็นของนิธิในลักษณะดังกล่าว

และไม่เคยเชื่อว่าความคิดเห็นดังกล่าวจะมีคุณภาพในลักษณะที่โยงไปยังรูปธรรมของการยกระดับรายได้ คุณภาพชีวิตคนไทยเลยแม้แต่สักคนเดียว

เอาบริบทเรื่องเขื่อนปากมูล หรือ โรงไฟฟ้า หินกรูด-บ้านนอก ที่ นิธิจับมาตลอดในช่วงสิบปีนี้ก็ได้

ผมนึกไม่ออกเลยว่า คุณภาพชีวิต ระดับรายได้ ของคนในสองพื้นที่ดังกล่าว หรือเอาทั้งประเทศไทยก็ได้ ดีขึ้นจากผลงานทางวิชาการของนิธิทั้งชีวิตได้อย่างไรหรือแม้แต่การต่อสู้ของนิธิได้อย่างไร

ใครแน่จริง ช่วยแสดงกลไกให้ดูด้วย ว่า Contribution อย่างเป็นรูปธรรมของ ผลงานนิธิว่าสุดท้ายโยงไปยังคุณภาพชีวิต ระดับรายได้ หรือแม้แต่ ความสุขมวลรวมประชาชาติของคนไทยได้อย่างไร


อันที่จริง ผมไม่เคยศรัทธากับความเห็นของคนที่เรียกตนเองว่าปัญญาชนสาธารณะ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตไทยแบบพิเศษดังกล่าว

เมื่อก่อน เราเคยมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "ราษฎรอาวุโส"

มา ณ บัดนี้ เรามีสี่งมีชีวิตที่เรียกว่า "ปัญญาชนสาธารณะ"

น่าตลก ที่บรรดาปัญญาชนสาธารณะ เหล่านี้คึกคักมากในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนโดยเฉพาะสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

พอมาระบอบเผด็จการทหาร และระบอบ พ.ร.บ ความมั่นคงภายใน

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ปัญญาชนสาธารณะ กลับเงียบเหมือนถูกเป่าสาก

ใครก็ได้ ที่เชื่อว่าตนเองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตดังกล่าว ช่วยบอกผมที


ว่านิยาม ของปัญญาชนสาธารณะ คืออะไร

อะไรคือหน้าที่ ของปัญญาชนสาธารณะ

ผลประโยชน์ของการมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าปัญญาชนสาธารณะ ต่อคนไทย สังคมไทย อย่างเป็นรูปธรรม คืออะไร

12:28 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เงียบเหมือนถูกเป่าสาก
..
..
โปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง
..
..
เงียบเหมือนถูกเป่าสาก

โดนเต็มๆ

6:56 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมเพิ่งเจอบลอกของพี่ ว่างๆแล้วจะเข้ามาอ่านบ่อยๆนะครับ ขออนุญาตล่วงหน้าเลยแล้วกัน พอดีเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศสเหมือนกันครับ

เฮ้ย...ผมสนใจการเมืองมาก อยากเรียนด้านกฎหมายมหาชน แต่การเมืองไทยทำให้เจ็บช้ำน้ำใจเหลือเกิน ผมต้องอยู่กับมันไปทั้งชีวต ตั้งใจจะไม่เรียนกฎหมายมหาชนแล้วครับ เปลี่ยนไปเลือกเอกอื่นที่ทำให้ไม่ทุกข์ดีกว่า

ระบอบประชาธิปไตยที่หลายคนคิดว่าเป็นระบอบที่ดีที่สุด แต่ผมว่าไม่...ไม่เคยศรัทธาระบอบนี้เลยครับ แม้ว่ามาเรียนที่ฝรั่งเศส ต้นแบบประชาธิปไตยของโลกอีกประเทศหนึ่ง ผมก็ไม่ได้รู้สึกศรัทธาขึ้นมา

โดยเฉพาะที่ไทย...กระบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยสมัยในหลวงประชาธิปก นักวิชาการต่างชาติหลายคนยังไม่ยอมรับเลยครับว่าเป็นการปฏิวัติ ผมก็อีกคนที่ไม่ยอมรับ ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรนอกจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ส่วนสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน...ไม่ต้องพูดถึงเลยครับ

ขอโทษด้วยครับที่นอกเรื่องหมดเลย ในที่สุดผมก็หนีไม่พ้นการเมือง ทุกข์อีกแล้ว

ผมไม่สนใจหลักวิชาการอะไรเท่าไหร่นะครับ ผมเป็นนักศึกษาแหกคอก เอาแบบไหนก็ได้...แต่ขอให้บ้านเมืองจะสงบสุขทีเถอะ เท่าที่รู้ทั้งวิชาการและความเป็นจริง หาทางไม่เจอเลยถ้านักการเมืองและคนไทยยังเป็นแบบนี้อยู่

ผมไม่ใช่ปัญญาชนสาธารณะนะครับ ไม่ฝักฝ่ายการเมืองฝ่ายใดและไม่ชอบหรือรู้จักนายนิธิเป็นการส่วนตัว แต่ขอตอบแทนคนเหล่านั้น

ปัญญาชนสาธารณะก็คือคนที่คิดและแสดงความคิดเห็นของตนออกมาคนหนึ่งเท่านั้นแหล่ะครับ อย่าไปคิดมากกับคำจำกัดความของคำเหล่านี้เลย ถือเสียว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของคนคนหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิ์เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นนั้น...อย่างที่อ้างประชาธิปไตยกันนั่นแหล่ะครับ ตัวอย่างง่ายๆ..ก็ที่กำลังทำอยู่นี่แหล่ะครับ

ส่วนประโยชน์ที่คนเหล่านี้มีต่อคนไทย สังคมไทยก็คือทำให้รู้ว่ายังมีคนที่คิดได้บ้าง อย่างน้อยลูกหลานไทยที่จะเกิดมาในอนาคตจะได้ไม่อายและด่าเหมารวมว่าบรรพบุรุษรุ่นเราๆปัญญาอ่อน คิดไม่ได้กันเลย ผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดก็คงต้องย้อนถามคนตั้งคำถามแล้วหล่ะครับ บางอย่างไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์เป็นรูปธรรมเสียทีเดียวก็ได้ นายนิธิเขียนบทความขาย ไม่ได้แจกและบังคับใครอ่านอยู่แล้ว หากแต่รัฐบาล...ประเทศทั้งประเทศ คนทุกคน จริงอยู่ที่ตอบสนองความต้องการทุกคนไม่ได้ แต่ก็ต้องคิดถึงคนส่วนใหญ่และมีความเท่าเทียมในการดูแล

ประชาชนนึกถึงแต่รายได้และผลประโยชน์ต่างๆ รัฐบาลก็ได้ใจสิครับ คุณภาพชีวิตประชากรดูกันที่ตรงนี้หรือครับ...หลักวิชาการ ถ้าต่างคนต่างนึกถึงคุณธรรมและประโยชน์ส่วนรวม ต่อให้จนก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ครับ

ยิ่งปัจจุบัน...มีผลสำรวจออกมาว่าคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับรัฐบาลโกงแต่ขอให้ประชาชนมีความสุข คนไทยส่วนใหญ่เป็นกันขนาดนี้แล้วหรอครับ เห็นแก่ตัวมากๆ

แล้วจะเข้ามาอ่านเรื่อยๆครับ

2:51 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นพ้องด้วย กับ ปริเยศ ....เต็ม ๆ แต่ไม่อยากระบุชื่อ เพราะไม่กล้าหาญเท่าปริเยศ

ยังจำได้ ตอนรัฐบาลประชาธิปไตย เห็นมีแต่ความกล้าหาญของนักวิชาการ โดยเฉพาะ สำนักท่าพระจันทร์ นี่แหละ (และน่าสงสัยว่า จะเป็นคณาจารย์ที่อยู่ในคณะเดียวกับที่ ปริเยศ ฯ จบ ป. โท มาด้วยมั๊ง ) ออกมาโต้แย้ง "ความไม่ชอบธรรม" "ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ฯลฯ ของรัฐบาลทักษิณฯ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง กม.บางฉบับ ที่ให้อำนาจในการปราบปรามการก่อความไม่สงบฯ ซึ่ง ดูมันช่างน่านับถือยิ่งนัก

ตอนรัฐประหาร ไม่ใช่แค่เงียบ แต่มีแอบดีใจ แค่เพียงเพราะมีคนมาขับไล่คนบางกลุ่มออกไปได้ แต่ประเทศไทยต้องยอมเสียทุกอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการนั้น ก็ยอมเสีย แม้กระทั่ง ศักดิ์ศรี ในความปากกล้าและความน่านับถือของนักวิชาการเหล่านั้นไปด้วย

ตอนหลัง นักวิชาการกลุ่มนี้ รวมถึง นักเขียน บล๊อกยอดนิยมบางท่าน เริ่มเห็นความไม่เข้าท่าเข้าทาง เหนียม ๆ นิดหน่อย มีการลงชื่อ ท้ายหนังสือแถลงการณ์บ้าง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญบ้าง เรียกร้องรัฐธรรมนูญคืนมาบ้าง เอาไปแปะในหัวบล๊อกตัวเองบ้างว่า อยากได้รัฐธรรมนูญ ๔๐ คืนมา ผมอยากจะ ถ่มน้ำลายรดหน้าแม่งยิ่งนักครับ ... เพราะมันคือ ไอ้พวกกลับกรอก

อย่างไรก็ตาม ผมว่าสังคมไทยยังมีความหวัง เพราะประเด็นเหล่านี้ ต้องยอมรับว่า มีนักวิชาการไทยบางคน แม้จะน้อยก็ตาม กล้าออกมาต่อต้านแต่ต้น เช่น อ.วรเจตน์ฯ รวมถึง อ. ป๊อก เจ้าของบล๊อกนี้ด้วย แต่นักวิชาการที่ปากกล้า ดูดีมีหลักการ ที่เคยออกมาโวยวายสมัยประชาธิปไตย หายเข้ากลีบเมฆ ไม่รู้ว่า ละอายใจกันบ้างหรือไม่

สำหรับ พรรค ปชป. ไม่ต้องไปหวังอะไร ตั้งแต่ ยุค รสช. พรรคนี้ ก็อ้างว่า "ผมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา" ซึ่งฟังดูดีมีหลักการ แต่ตอนรัฐประหาร ไม่เห็นกล้าจะออกมากล่าวคัดค้าน ตำหนิ แล้วอ้างเดิม เพื่อต่อสู้ให้ระบบรัฐสภาที่เขาเชื่อมั่นกลับคืนมา แถมยังมีท่าทีสนับสนุน มาโดยตลอด

สุดท้ายหลังเลือกตั้ง ด้วยอิทธิฤทธิของ กกต. และ ผู้มีอำนาจในตอนนี้ ปชป. คงได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม กันหลายพรรค ภายใต้ รัฐธรรมนูญ ๕๐ ที่มีข้อด้อย (โดยเฉพาะ บทบัญญัติที่มีผลทำให้ สส. ฝ่ายรัฐบาล สามารถต่อรอง กับ รัฐบาล ในการสนับสนุนนโยบายสำคัญ ๆ ของรัฐบาลได้ ) จะส่งเสริมให้เกิดวงเวียน อย่างเหตุการณ์เหมือนสักเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว รัฐบาลผสมนี้ ก็จะมีอายุสั้น สัก ๑ ปี แล้วล้มไป ใครที่มีกิจการอะไร ก็เตรียมหาทางหนีทีไล่ไว้ดี ๆ นะครับ เพราะมันคงแย่อย่างนี้ไปอีกนาน และท่านก็เตรียมปิดกิจการไว้ล่วงหน้าได้เลย

10:29 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เฮ้ย!! คห.ข้างบนอย่าอวยพรอย่างงี้สิโว้ย!!! การเมืองแบบไหนก็ต้องค้าขายต่อไป

4:32 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

แล้วถ้ามองการเมืองตามความเป็นจริงล่ะคะ มองเท่าที่ทีจากผู้สมัครนายกทั้งหมด

อันที่จริง หลักการที่น่าจะเป็นในเรื่องการเมือง เรื่องสังคม เราควรจะพูดถึงอยู่แล้ว และถ้าเป็นไปได้แต่ละคนคงหวังอยู่ลึกๆว่าอยากให้ยกมาพูกคุย หรือตระหนักกันในวงกว้าง

แต่ในชีวิตจริง ในขณะที่เราพูดกันอยู่ ก็เกิดเหตุปัจจัย เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายอยู่ตลอดเวลา ช่วงเวลาที่เลวร้ายของรัฐประหารทางการเมืองไทยที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนที่เกลียดการบังคับช่วงชิงนั้น พยายามมองหาสิ่งที่ยุติธรรม สิ่งที่ปราศจากการใช้อำนาจ สิ่งที่เลวน้อยที่สุดกับผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ

เราเอง ก็เป็นหนึ่งในผู้คนเหล่านี้นะคะ แต่เมื่อช่วงเวลาที่สังคมได้ดำเนินตามความเป็นจริงผ่านไป เราก็ได้คำถามใหม่ขึ้นมา(ถามตัวเอง)เราจะถามหาสิ่งที่เราเองคิดว่าดีที่สุดต่อคนไทยไปอีกนานแค่ไหน ทั้งๆที่รู้ว่าเปอร์เซนต์การเกิดมันแทบจะไม่มี โดยเฉพาะในสังคมแบบนี้ สังคมที่มีอะไรบางสิ่งบางอย่างเป็นใหญ่ บางอย่างที่ยากต่อการพูดถึง บางอย่างที่แทรกซึมอยู่ทั่วทุกในอณูของสังคม จะขยับตัวทำอะไรก็ไม่งอกงาม ติดขัดไปหมดแบบนี้

บางอย่างที่ทำให้เราต้องกลับมาอยู่ในช่วงเวลาปัจจุบัน พิจารณา (ไม่ใช่ยอมรับ) ในสิ่งที่ดูโอเคที่สุด

ประเด็นบริบทของปัญญาชนสาธารณะ ในแง่ของแก่นลึกๆจริงๆเห็นด้วยกันคุณที่ไม่ลงชื่อค่ะ ว่าก็เป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่ในแง่ของบทบาทที่แต่ละคนแสดงออกมาจากแก่นลึกๆของตัว อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นของการพัฒนาคุณภาพชีวิต รายได้จากคุณปริเยศ เราไม่ทราบค่ะ ว่าพัฒนาได้จริงรึเปล่า แต่ยังมีประเด็นส่วนตัวที่คิดว่านิธิน่าจะเคลื่อนไหวจากฐานที่ต้องการพัฒนาวิธีคิด และมุมมองจากคนภายนอกกลุ่มเขื่อนปากมูล หรือบ่อนอกในแง่ของมุมมองว่าพวกเขาสำคัญยังไง อยู่ร่วมและบทบาทในสังคมไทย เราจะสนับสนุนให้คนไทยมีกระบวนการที่เข้มแข็งแบบนี้ได้อย่างไร .. โดยลำพังแล้วคุณภาพชีวิต กับการยกระดับรายได้ ไม่สามารถคาดหวังทำได้จากความเห็นของนักวิชาการคนเดียวหรอกค่ะ หรือถ้ามีความคิดเห็นดีๆออกมา ดูเป็นรูปธรรมแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำได้ในรัฐบาลที่มีฐานการเมืองมาจากความสกปรกอยู่ดี...

ขอบคุณหลายๆมุมมองที่แตกต่างนะคะ เรียนรู้อะไรได้เยอะเลยค่ะ

1:12 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แค่มีทัศนะไม่ตรงกันเรื่องนึง ทำไมต้องยัดเยียดความเป็น "ฝ่ายนั้น" "ฝ่ายนี้" กันด้วย

ไม่มีใครที่จะเห็นตรง หรือเห็นต่างกันไปได้ทุกเรื่อง

การนับ "ฝ่ายนั้น" "ฝ่ายนี้" เขานับกันยังไง ขนาด
สมัคร กับเฉลิม ยังนับมาเป็น "ฝ่ายนี้" ได้ เพียงแค่เห็นตรงกันเรื่องเดียวว่าไม่เอาคมช. ทั้ง ๆ ที่ที่ผ่านมาทั้ง 2 คนก็รับใช้เผด็จการมาตลอด อุดมการณ์ก็แตกต่างจากผู้ไฝ่เสรี หรือคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าโดยตลอด จนแม้แต่ทุกวันนี้ ก็ยังไม่เปลี่ยน ถ้าลองถอดใจเป็นกลางดู

ถามว่าประเทศถึงทางตันเพราะอะไร ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าอีกฝ่ายไม่ดึงดันเอาชนะ โดยใช้วิธีสกปรกทุกทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยชอบ เหตุการณ์มันก็คงจะไม่บานปลายเช่นกัน

8:33 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

bourgeois + lumpenprolitariat

4:22 หลังเที่ยง  
Blogger a portrait of the engineer as a young man กล่าวว่า...

งานนี้คุณปริเยศสุดยอดครับ

ว่าจะแค่เข้ามาอ่านแล้วจากไปเงียบเงียบ

ผมขอปรบมือให้ดังดังครับ

(ไม่เงียบแล้วทีนี้)

5:13 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมมานั่งคิดว่า

ปัญญาสาธารณะมากกว่า

ผมเชื่อในระบบ มากกว่าตัวบุคคล

บุคคลเลื่อนไหลคล้อยเคลื่อนด้วยเหตุปัจจัย

ปัญญาสาธารณะมากกว่าที่จะเป็นกลไกขับดันที่ดีที่สุด

แต่มันจะถูกสันดาปด้วยผู้ที่ต่อสู้เพื่อปัญญาสาธารณะนั้น

ผมไม่ถูกใจนิดเดียวเรื่องที่อ้างถึงความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง

เพราะมันจะมีผู้ผิดพลาด

มันไม่มีบรรยากาศแห่งการร่วมมือ

ผมไม่เคยเห็นตูรามคอยด่าซีดานถ้าซีดานไม่สามารถใส่พานให้ยิงประตู

ถ้าคิดว่าสิ่งที่มีกันอยู่ทีม ก็ต้องทีม

วิจารณ์เรื่องทฤาฎีหรือแนวทางปฏิบัติก็ต้องวิจารณ์แนวทางปฏิบัติ

การกระทำมันต้องเป็นไปโดยร่วมกันมากกว่ากระมังครับ

นี่แหล่ะคือสิ่งที่ยากที่สุด

ยากกว่าวิพากษ์เสียอีก

เพราะผมต้องการผู้ส่งพลังเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างเช่นกัน

จากเด็กผู้มีเส้นทางแต่ไร้ตีน

7:46 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

บล๊อกเหี้ยไรวะเนี่ย มีแต่ควาย
ไอ้ปริเยศส้นตีนเอ๊ย ทัศนคติเหี้ยๆ เสือกมีคนชมอีก เวร
ประเทศตกต่ำก็เพราะพวกควายอย่างมึงนะหละ
แยกไม่ออก อะไรดี อะไรชั่ว ถุย!!!

11:17 หลังเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก