วันเสาร์, พฤศจิกายน 10, 2550

นักศึกษาประท้วง

นักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส รวมตัวกันประท้วงกฎหมายใหม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ๒ ฉบับ คือ รัฐบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพและความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย และรัฐบัญญัติความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย

สภานักศึกษาได้ลงมติให้ปิดมหาวิทยาลัย มีการเอาเก้าอี้ โต๊ะไปกีดขวางประตูทางเข้าอาคาร และห้องบรรยาย ในเมืองใหญ่ๆ นักศึกษาเริ่มเดินขบวนแล้ว

กฎหมาย ๒ ฉบับนี้ มีสาระสำคัญที่ทำให้นักศึกษารวมตัวกันประท้วงอยู่หลายข้อ ดังนี้

การเพิ่มอำนาจอธิการบดี
เดิม อธิการบดีมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี เป็นได้วาระเดียว แต่กฎหมายใหม่กำหนดเป็นวาระละ ๔ ปี และเป็นได้ ๒ วาระติดต่อกัน นอกจากนี้ยังเพิ่มอำนาจให้อธิการบดีอีก เช่น สิทธิในการวีโต้กรณีการรับข้ารัฐการ เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และนักวิจัยเข้าทำงาน, การจ้างบุคลากรบางส่วนด้วยสัญญาจ้างแรงงาน

ที่มาของอธิการบดี
เดิม สภามหาวิทยาลัย สภานักศึกษา สภาอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาเอก ประชุมใหญ่ร่วมกัน เพื่อลงมติเลือก โดยอธิการบดีต้องได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด (รวมประมาณ ๗๐-๑๒๐ เสียง) แต่ต่อไปจะเปลี่ยนให้อธิการบดีมาจากการเลือกของสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น โดยต้องได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด (รวมประมาณ ๑๓ -๒๒ เสียง)

การปรับโครงสร้างสภามหาวิทยาลัย
กฎหมายใหม่ลดจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยให้เหลือ ๒๐-๓๐ คน จากเดิมที่มีถึง ๓๐ -๖๐ คน สัดส่วนของตัวแทนจากนักศึกษา จากเดิมมีร้อยละ ๒๐-๒๕ ก็ลดเหลือเพียงร้อยละ ๓-๕ ตรงกันข้ามกลับไปเพิ่มสัดส่วนให้กับกรรมการที่มาจากคนนอกได้ถึง ๗-๘ คน นอกจากนี้กฎหมายยังลดบทบาทของสภานักศึกษา จากเดิมที่มีสิทธิจัดทำข้อเสนอได้ ให้เหลือเพียงการให้คำปรึกษาหารือเท่านั้น

การอนุญาตให้มหาวิทยาลัยตั้งกองทุนรับเงินจากเอกชน
กฎหมายใหม่ยอมให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดตั้งกองทุนเฉพาะ เพื่อรับเงินบริจาคจากเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยมีอำนาจในการบริหารกองทุนนี้ด้วยตนเอง ไม่ต้องจัดส่งเข้ารัฐ

นักศึกษาเห็นว่ากฎหมายใหม่สองฉบับนี้ เป็นก้าวแรกของการ “ขาย” มหาวิทยาลัยให้เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอนาคต เอกชน ภาคธุรกิจ สามารถแทรกแซงมหาวิทยาลัยได้ โดยผ่านทาง กรรมการสภามาหวิทยาลัยในส่วนคนนอก และการบริจาคเงินผ่านกองทุน จะเป็นเช่นไร หากมีธุรกิจขนาดใหญ่บริจาคเงินมหาศาลให้มหาวิทยาลัย จากนั้นมหาวิทยาลัยก็แต่งตั้งตัวแทนจากธุรกิจนั้นเข้าเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย? รัฐบาลพยายาม “ผลักภาระผูกพัน” ที่ตนมีตอมหาวิทยาลัย (โดยเฉพาะงบประมาณที่รัฐต้องจัดให้แต่ละปี) ไปให้เอกชนทำแทน

นักศึกษายังเห็นอีกว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ปฏิรูปมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ตรงกันข้ามกับสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยแข่งขันกันหารายได้ แข่งขันกันเอง คณะที่เปิดสอนวิชาที่ไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานจะอยู่ได้อย่างไรในสภาวะแข่งขันกันสูงเช่นนี้ พวกเขาเชื่อว่า ต่อไปสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีจะกลายเป็น “ศูนย์รวมอำนาจ” การบริหารงานมหาวิทยาลัยทั้งหมด ทั้งการตั้งคณะ การเปิดหลักสูตร การทำข้อตกลงร่วมมือกับภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยอื่น การกำหนดอัตราบุคลากร การจ้างอาจารย์โดยใช้สัญญาจ้าง

ทางรัฐบาลได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการประท้วงของนักศึกษาว่า ทำไมจึงพึ่งมาประท้วง ทั้งๆที่กฎหมายนี้มีผลใช้มาตั้งแต่ ๑๐ สิงหาคม ฝ่ายนักศึกษาบอกว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พวกเขารวมตัวกันประท้วงในเดือนสิงหาคม เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงปิดเทอม เมื่อเปิดเทอมเดือนกันยายน ก็ต้องรณรงค์ในหมู่นักศึกษาด้วยกันอีก กว่าจะพร้อมประท้วงได้ ก็ต้องข้ามมาถึงเดือน พ.ย.

รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาระดับสูงและการวิจัย ยังตั้งข้อสงสัยอีกว่า การประท้วงของสหภาพนักศึกษามีสหภาพแรงงานอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะ ประท้วงปิดมหาวิทยาลัยในช่วงเดียวกันกับที่สหภาพแรงงานรถไฟ รถใต้ดิน นัดหยุดงาน และเห็นตัวแทนจากสหภาพแรงงานหลายคนไปพบปะกับสหภาพนักศึกษา

หลังจากประธานาธิบดีซาร์โกซี่ และรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฟียง ผ่านช่วงฮันนีมูนมาได้ ๕ เดือน ตอนนี้ก็ถึงเวลาประท้วง เดินขบวน และนัดหยุดงานให้รัฐบาลต้องรับมือกันแล้ว เพราะรัฐบาลเร่งผลักดันนโยบายสำคัญซึ่งกระทบคนจำนวนมาก ตั้งแต่การเปลี่ยนระบบสวัสดิการของคนเกษียณอายุ การปรับปรุงมหาวิทยาลัย การเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ประชาชน การยุบศาลในหลายจังหวัดและจัดเขตอำนาจศาลทางพื้นที่เสียใหม่

ผมชอบบรรยากาศประท้วงของที่นี่มาก แม้บางครั้งอาจต้องเดือดร้อนจากการประท้วงของพวกเขาบ้าง (เช่นเข้าคณะไม่ได้ รถไฟ รถราง รถเมล์ รถใต้ดินไม่วิ่ง) แต่ก็เข้าใจดี เพราะการต่อสู้ในประเด็นสาธารณะจำเป็นต้องมีเครื่องมือเหล่านี้เพื่อใช้แสดงออกและต่อรองกับรัฐ ที่สำคัญการประท้วงที่นี่ มีประเด็นชัดเจน เป็นเอกภาพ มีการจัดตั้งโดยสหภาพแรงงานที่มีประสิทธิภาพ (ไม่เหมือนสหภาพแรงงานบ้านเรา)

7 ความคิดเห็น:

Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อร๊ายยยย ดั้นอ่านแล้วดั้นนึกถึงข่าว Dartmouth College ใน Newyorktimes เมื่อเดือนสองเดือนที่แล้วเลยค่ะ ดั้นยังตัดเก็บไว้อยู่เลยค่ะ


เรื่อง วาระการดำรงตำแหน่ง ดั้นว่าดีออกค่ะ มันเป็นแรงจูงใจอย่างนึงในการทำงานที่จะกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งให้สั้นลง แล้วสามารถต่ออายุได้ จะได้ไม่ปล่อยเกียร์ว่างตกเขาหลังได้ตำแหน่งแล้ว และเป็นได้แค่สองวาระติดก็จิ๊บๆ ค่ะไม่เป็นการผูกขาดจนเกินไปก็โอนะคะ

ส่วนการให้สิทธิวีโต้ ก็เป็นแค่การถ่วงดุลอำนาจเป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารสามารถจัดการได้มากขึ้น มันก็คงเป็นผลจากที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถบริหารงานได้อ่ะค่ะ ดั้นเฉยๆ นะคะ ต้องถามต่างหากอ่ะค่ะ อะไรเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของอธิการบดี แล้วแบ่งโครงสร้างกันอย่างไรมากก่าอ่ะค่ะ


เรื่องที่ดั้นว่าสำคัญคือเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างสภามหาลัยและที่มาของอธิการอ่ะค่ะ

สัจธรรมนะคะ “อยากได้ใครก็ตั้งคนของกลุ่มคนนั้นไว้ในสภา ใครมึอำนาจก็ได้ไป “ ก็คงไม่แปลกนะคะ

ในขณะที่มหาลัยส่วนใหญ่กำลังพยายามลดบทบาทของ alumni อย่างเคส Dartmouth หรือต้องหวาดระแวงกับอำนาจของกลุ่มทุนจากภายนอกที่ต้องทำให้มหาลัยต้องถูกฟ้องร้องเป็นคดีประวัติศาสตร์อย่างเคส Wilson school at Princeton

มหาลัยฝาหรั่งเศสกลับเพิ่มบทบาทคนนอกและลดบทบาทสภานักศึกษาอย่างรุนแรง ก็น่าอยู่หรอกคะที่จะประท้วง
ทำดีแต่ก็ทำอะไรไม่เนียนนิคะ ก็สมควรโดนละค่ะ ชาวบ้านเค้ามีแต่ขอแก้ไข Bylaws เพิ่มบอร์ดหรือตั้งAdvisory Board หรือแก้ Quorums นะคะ


ในประเด็นเรื่องเป็นจุดเริ่มต้นของการขายมหาลัย ดั้นว่ามันก็เป็นแค่การตลาดสำหรับการเรียกร้องของนักศึกษาเท่านั้นแหละค่ะ มหาลัยในปัจจุบันต้องการเงินทุนไม่สามารถตัดอุปการะของผู้สนับสนุนและปฎิสัมพันธ์กับสังคมและธุรกิจได้หรอกค่ะ ทั้งคู่ต้องพึ่งพากันอย่างสม่ำเสมอ เพียงแต่ต้องหาจุดที่เหมาะสม หาวิธีการป้องกันปัญหา
ทำยังงัยให้ไม่เกิดผลประโยชน์ขัดกันเหมือนเคส Carnegie Hall หรือ ถ่วงดุลอำนาจได้อย่างเหมาะสม
ทำยังงัยให้มหาลัยไม่เดินออกไปรับใช้เพียงแต่ผลประโยชน์ของธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว
ทำยังงัยให้บอร์ดจากบุคคลภายนอกถึงเรื่องการรับเงินทุนจากภายนอกจนทำให้ผลประโยชน์ขัดกัน
ทำยังงัยให้บุคคลจากภายนอกต้องรับผิด และมี Duty of care และ Duty of Loyalty เหมือนคนภายใน
ทำยังงัยเพื่อจะทำให้มีการบริหารเงินในกองทุน specific fund ใน charitable organization อย่างมหาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่างหากอ่ะค่ะ


ตามนั้นนะคะ จุ๊ฟ จุ๊ฟ รักทุกคนเลยค่ะ

5:30 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถ้ามองเรื่องนี้ จากมุมมองแบบในสหรัฐฯ จะรู้สึกแปลกใจมาก ๆ เพราะในสหรัฐฯ จะพบว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะแข่งขันกันหารายได้ เป็นเรื่องปกติ และ รายได้นี่เอง ก็จะผลักดันให้วงการวิชาการในสหรัฐฯ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน มีความเจริญก้าวหน้า และได้รับการยอมรับนับถือ ในระดับที่น่าทึ่งทีเดียวครับ

8:56 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจารย์ครับ
วิเคราะห์การเมืองช่วงนี้ให้ฟังหน่อยสิครับ กำลังดุเดือด แล้วอาจารย์จะกลับมาเมืองไทยเมื่อไหร่ หรือจะจบเมื่อไหร่ครับ คนมธ. ถามถึงเสมอ

8:26 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ข่าว Dartmouth ของวันที่ September 10, 2007 นะคะ นะคะ เผื่อครายอยากอ่าน

ดั้นไม่รู้ว่าจะโพสได้อะเป่าอะคะ มันจะผิดกฎหมายมั้ยอะคะ สงสัยเหมือนกัน

บอลมาแล้ว ไปดูบอลแล้วค่า

3:48 หลังเที่ยง  
Blogger veer กล่าวว่า...

POL_US: อาจะพูดได้ว่าที่คนประท้วงซาโก้เพราะว่าเขาพยายามจะเปลี่ยนฝรั่งเศสให้เป็นสหรัฐอเมริกา (neo liberalism)?

1:29 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมเห็นพ้องกับ คุณความเห็นที่ ๑) เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย เรื่องที่ว่าจะ "ขาย" หรือไม่ คงจะเป็น คำพูด ที่ทำให้ดูมีน้ำหนัก ฟังแล้วดูรุนแรง เสียมากกว่า นะครับ

ส่วนนายซาโก้ฯ อะไรเนี่ย จะมีวัตถุประสงค์อย่างไร ผมก็แค่เดาว่า ผู้บริหาร มหาวิทยาลัย ก็ควรจะมีหน้าที่ในการแสวงหาทรัพยากรมาใช้ในการบริหารงานด้วย การรับเงินบริจาคจากศิษย์เก่า หรือ รับเงินจากเอกชน มาเป็นกองทุนบริหารมหาวิทยาลัยนี่ น่าจะเป็นเรื่องดี และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการบริหารงาน ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ต้องการส่งเสริมงานวิจัยให้ก้าวหน้า ไม่รับเงินบริจาคจากเอกชน ฯลฯ จะเอาเงินมาจากไหน มาทุ่มเท ให้เจริญก้าวหน้าได้

ที่จริงมหาวิทยาลัยไทย และ สถาบันการศึกษาไทย ก็ควรจะริเริ่มหารายได้ ที่มาจากศิษย์เก่า และ ดึงเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนามหาวิทยาลัย หรือ สถาบันการศึกษานั้นเช่นกัน

ผมเคยไปเยี่ยมเพื่อนที่ โคโลราโด้ โรงเรียนอนุบาล ยังแสวงหารายได้ ทรัพยากร และ การสนับสนุนจากองค์กรเอกชนเลยครับ รูปแบบที่เขาใช้ ก็คือ ดึงความร่วมมือจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้เข้าไป เป็น Volunteer ตามความถนัด เช่น สอนหนังสือในวิชาต่าง ๆ แก่เด็กที่อาจจะแบ่งไปหลายกลุ่ม ตามความสามารถทางสติปัญญา ซึ่งต้องใช้ครูบาอาจารย์ (ซึ่งส่วนใหญ่ที่อาสาเข้าไปจะเป็น นศ. ระดับปริญญาโท หรือ เอก ในสาขานั้น ๆ) มีการแสวงหาเงิน และ รางวัลจาก ร้านค้า และบริษัทเอกชน เพื่อส่งเสริมให้เด็ก (อนุบาล) เหล่านั้น ได้แสดงออกซึ่งความสามารถพิเศษที่เขามี (แต่เขายังอาย ไม่กล้าแสดงออกมา) โดยครู และ อาสาสมัคร จะเป็นคนกระตุ้น ให้เด็กเหล่านั้นคิด ซึ่งเด็กแต่ละคน ในท้ายที่สุด จะได้รับการประกาศถึงความสามารถพิเศษที่เขามี (ที่อาจจะแตกต่างกัน หรือเหมือนกับเด็กอื่น ๆ ) ครับ

11:43 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

การประท้วง หยุดเดินรถ เป็นเรื่องปกติของคนฝรั่งเศส
ปีไหนไม่มีซิแปลก... เน๊าะ

แค่จะแวะมาบอกว่า พี่ย้ายบ้าน (บล็อก) ไปที่อยู่ใหม่แล้วนะ เป็น

http://mdview.wordpress.com มุมมองหลายมิติ


อย่าลืมแก้ไข link อันใหม่ล่ะ

2:28 หลังเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก