วันอาทิตย์, มิถุนายน 25, 2549

๗๔ ปี ๒๔ มิถุนา


๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

นี่คือประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑ ซึ่งเขียนโดยนายปรีดี พนมยงค์ และพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้อ่าน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑
ราษฎรทั้งหลาย

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในการตกต่ำในการเศรษฐกิจและความฝืดเคืองทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่น ๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ใช้ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง ! บ้านเมืองกำลังอัตคัตฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้มีงานทำจึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเท่าไหรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฏหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎร อดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริย์” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

คณะราษฎร
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน” เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีประชาธิปไตยไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕ ณ กรุงปารีส

สุนทรพจน์นี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ปรีดีได้กล่าวถึงสาเหตุที่ตัดตั้งคณะราษฎร สาเหตุที่เลือกใช้คำว่า “คณะราษฎร” การประเมินผลงานของคณะราษฎรในการปฏิบัติตามหลัก ๖ ประการ และการสำรวจความผิดพลาดของคณะราษฎร

ดังความบางตอน เช่น

“คิดแต่เพียงเอาชนะทาง “ยุทธวิธี” ในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยมิได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะนั้นไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูก “การโต้อภิวัฒน์” (Counter – Revolution) ซึ่งจะให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง”

“การเชิญท่านข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในขบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕”

“ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดสังเกตว่า ภายหลังรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่ได้ล้มระบบปกครองตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ฉบับที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นต้นมา จนถึง ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕ ก็เป็นเวลากว่า ๓๕ ปีแล้ว ประชาธิปไตยก็ยังล้มลุกคลุกคลานตลอดมา เกจิอาจารย์บางพวกที่แสดงว่าก้าวหน้าก็ไม่เกื้อกูลชนรุ่นใหม่ให้เข้าใจเหตุแท้จริงที่เป็นอุปสรรคแก่การพัฒนาประชาธิปไตย หากท่านเหล่านั้นมุ่งหน้าที่จะขุดเอาคณะราษฎรที่ล้มสลายไปแล้วนั้นขึ้นมาต่อสู้ด้วยการเสาะหาเรื่องที่เป็นคำบอกเล่า (Hearsay) มาเป็นหลักวิชาการใส่ความคณะราษฎร”

http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=11&s_id=11&d_id=10&page=1&start=1

.............

มายาคติเกี่ยวกับคณะราษฎรและ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

“คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ราษฎรยังไม่พร้อมกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัชกาลที่ ๗ ตั้งใจจะถวายรัฐธรรมนูญให้ปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว แท้จริงแล้วคณะราษฎรไม่ได้มีเจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง หากต้องการอำนาจเท่านั้น จะเห็นได้จากได้อำนาจมาก็ขัดแย้งและเป็นเผด็จการเสียเอง”

26 ความคิดเห็น:

Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ้วก

9:48 ก่อนเที่ยง  
Blogger bact' กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ

12:37 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มองย้อนกลับไปข้างหลัง ผมคิดว่า ถ้าปราศจาก คณะราษฎรและปรีดี การเรียกร้องรัฐธรรมนูญในประเทศไทย คงจะมีการนองเลือดและบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมากแทนที่จะปราศจากการเสียเลือดเนื้อดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

เมื่อพิจารณาปัจจัยในประเทศไทยและโลก คณะราษฏรและปรีดี ทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้ แล้ว เพราะโลกในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่2(หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี1929:พ.ศ.2472) และหลังจากนั้น ช่างโกลาหลดีแท้

ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าปรีดีเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด บางทีปรีดี อาจจะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯแทนสฤษดิ์ และประเทศไทยในปัจจุบันคงจะไม่น้อยหน้าประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้

และถ้าปรีดี อยู่จนได้เห็นการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของสหภาพโซเวียด การใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดของจีนและเวียดนาม ปรีดีจะคิดอย่างไรกับเค้าโครงเศรษฐกิจที่เขียนขึ้นเมื่อ 2475???

6:58 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แนวคิดปฏิวัติ รับมาจากฝรั่ง ฝรั่งคลั่งแค้นเจ้าเหนือหัว จนก่อการกำเริบ แล้วกรณีไทยมันเหมือนกับฝรั่งหรือเปล่า

ข้อกล่าวหาของนายปรีดี มีเหตุผลจริงหรือที่กล่าวหา รัชกาลที่ 7 หากไม่เป็นเช่นนั้น นายปรีดี ก็มั่วหรือใส่สีได้เหมือนกัน

ความห่ามสุกของคณะราษฎร ช่วยแปลงร่าง ระบอบแห่งเทวราช มาสู่ ระบอบ อำนาจสัตว์การเมือง และสัตว์การเมืองก็ตัวใหญ่าขึ้นเมื่อผสมพันธ์กับ อำนาจทุนนิยม ทั้ง ทุนนิยมขุนนาง ทุนนิยมดิจิต

สรรพสิ่งล้วน เป็น วิภาษซึ่งกัน เป็นสัมพันธ์

ประโยชน์สุข คือ ของจริง

จริงกว่า ระบอบการปกครอง

จริงกว่า กรอบกฎเกณฑ์ใดๆ

บางครั้ง อาจจะช้าเกินไปที่จะรอ ให้ทุกคนเข้าใจความจริงดังว่า

10:49 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เมนต์ข้างบนติดกันนี่มีกลิ่นใครบางคน
คุ้นๆ นะ..

เดี๋ยวนี้ใช้ชื่อผีกะเค้าแล้วเหรอครับ ไหนบอกว่าไม่ชอบไง

7:07 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมว่า ก้าวพลาดก้าวใหญ่ของคณะราษฎร์ (หรืออาจจะเป็นของอ.ปรีดีด้วย) คือ การแสดงท่าที ประนีประนอม หรือ อ่อนปรนลงในหลักการ ที่พยายามชูมาแต่แรกว่าจะต่อสู้เพื่อยืนยันว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน" ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง (แน่นอนนั่นก็คือ กษัตริย์) อันเป็นหลักการที่แท้ ของประชาธิปไตย

เพราะหลัก เรื่องนี้ ไม่ได้ถูกพูดถึง หรือเน้นย้ำอีกเลย ภายหลังการยึดอำนาจสำเร็จ

แนวคิดเรื่อง "ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ" ถูกชูเข้ามาแทนที่โดย อ.ปรีดี เอง ซึ่งปัญหาก็คือ เจ้าหลักที่ว่านี่ แท้จริงแล้วมันไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่คือ ระบอบที่ี่ยังแฝงแนวคิดว่ากษัตริย์ยังเป็นใหญ่กว่าประชาชน เพียงแต่อาจมีกรอบอะไรบางอย่างเพิ่มขึ้นยิ่งกว่าเดิมเท่านั้น

ีแล้วก็เลยโดยฝ่ายตรงข้ามทั้ง "หยิบมาใช้ประโยชน์" แล้วก็ "โจมตี" ไปพร้อม ๆ กัน

2:19 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมแยกเป็น 2ประเด็น คือที่มาของความล้มเหลวของปรีดี และที่มาของความล้มเหลวของคณะราษฎร

ผมไม่ได้คิดว่าการผ่อนปรนต่อพระราชวงศ์ ดังความเห็นข้างบน หรือ (Counter – Revolution)ตามคำของปรีดี เป็นจุดที่นำมาซึ่งความล้มเหลวสำคัญของปรีดีนะ และแปลกใจที่นักรัฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ แม้แต่ปรีดีเองกลับคิดเช่นนั้น

ความล้มเหลวสำคัญของปรีดีคือ เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผน และเค้าโครงเศรษฐกิจที่ปรีดีเขียนนั้นโน้มเอียงไปทางระบบเศรษฐกิจแบบคอมมูนิสม์อย่างชัดเจน แต่ต่างกันในรายละเอียดไม่มากนัก(ผมเคยคิดว่าจะเขียนเรื่องลัทธิเศรษฐกิจของปรีดี หลายทีแล้ว แต่คิดไปคิดมาไม่เขียนดีกว่า ใครมีความรู้เรื่องลัทธิเศรษฐกิจการเมืองลองไปอ่านเองแล้วกัน)

การที่ปรีดีเชื่อมั่นในระบอบเศรษฐกิจแบบวางแผน ผลคือปรีดีเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิคอมมิวนิสม์ หรือระบบเศรษฐกิจแบบมีการวางแผนในประเทศไทย ทำให้พันธมิตรตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่2นำโดยสหรัฐฯ ไม่วางใจในปรีดี ยิ่งปรีดีให้การสนับสนุนโฮจิมิน กลุ่มการเมืองในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพระราชวงศ์ กลุ่มศักดินา ข้าราชการพลเรือน ทหารบก ตำรวจ ไม่วางใจในปรีดีเช่นกัน

ถ้าบอกว่าปรีดีประนีประนอม พระราชวงศ์นำมาซึ่งความล้มเหลว แล้วจะอธิบายกรณีของสมาชิกคณะราษฎรอย่าง “แปลก” ว่าอย่างไร เพราะแปลกแทบไม่ประนีประนอมพระราชวงศ์เลย แม้แต่พระราชวงศ์สำคัญอย่าง รังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของรัชกาลที่5 ถูกจับกุมภายใต้การสั่งการของแปลกและถูกส่งไปขังตะรุเตาหลายปี

ก่อนสงครามโลกและหลังสงครามโลกครั้งที่2 เป็นการปะทะกันของลัทธิเศรษฐกิจ 2สาย ระหว่างเศรษฐกิจกลไกตลาดและเศรษฐกิจแบบวางแผน สมรภูมิของการปะทะกันกินอาณาเขตทั้งพื้นที่กายภาพ พื้นที่ทางปัญญาและอื่นๆ ผลของการปะทะกันก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจจำนวนมากในหลายประเทศ ประเทศไทยอยู่ในข่ายนี้

แม้แต่แปลก เอง ท้ายที่สุดหลังจากครองอำนาจในประเทศมาหลายปี ถูกสหรัฐซึ่งร่วมมือกับอำนาจเก่าในประเทศโค่นลงไป เพราะมีท่าทีเปิดกว้างกับจีนแดง

ถ้าใครคิดเอาเรื่องการประนีประนอม พระราชวงศ์เป็นก้าวพลาดของคณะราษฏร ผมคิดว่าคนนั้นคิดผิดมากๆ

แม้แต่คณะราษฎร ใช่ว่าสมาชิกทุกคนจะเห็นด้วยกับลัทธิเศรษฐกิจของปรีดี

สิ่งที่คณะราษฎรพลาดคือการไม่ประสานความเข้าใจให้ดีระหว่างสมาชิกกันเองว่าจะนำพาประเทศไปในทิศทางใดทางเศรษฐกิจ ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยใช้โอกาสในการเป็นพันธมิตรกับตะวันตก และใช้โอกาสนั้นมาสนับสนุนเศรษฐกิจ การทหาร ในประเทศไทย ดังไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ใช้โอกาสดังกล่าวในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจประเทศ ปฏิรูปที่ดิน และพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ถ้าคณะราษฎรเป็นพันธมิตรกับตะวันตก ย่อมส่งผลดีต่อประเทศมากกว่า สฤษดิ์ ถนอม และประภาส เป็นคนดำเนินการแทน

4:58 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคนข้างบนผมนี่เหมือนกัน ที่ หยิบยกแต่ขอบเขตที่ตัวเองศึกษามาอธิบายเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่เอาเข้าจริง ข้อโต้แย้งเรื่องนี้มีหลายแง่มุมให้ตีความ แถมยังรีบสรุปเอาเองดื้อ ๆ อีกด้วยว่า ใครที่คิดเรื่องการยอม ผ่อนปรนเป็นการก้าวพลาด เจ้าพวกนั้นคิดผิด

เป็นไปได้ว่า สิ่งที่คนข้างบนพยายามนำเสนอ (ตามที่ ร่ำเรียนมา แต่อ่านแล้วคนอื่นเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง) อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง..ไม่เถียง (แต่ใหญ่หรือเปล่าก็ไม่แน่)

แต่การไม่เดินหน้าใช้ระบอบประชาธิปไตย (ในที่นี้หมายถึง ในทุกภาคส่วน ทั้งสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ใช่เฉพาะ ภาคเศรษฐกิจอย่างเดียว) ในระยะที่สุกงอม และมีผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังอยากเปลี่ยนผ่าน ด้วยการยินยอม ประนีประนอม อยู่ภายใต้ระบอบเดิมอีก อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ก็ได้

ที่บอกว่านั่น น่าจะเป็นการก้าวพลาดครั้งใหญ่ ก็เพราะการยืนยันหลักการ "ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ" เป็นปัญหาในระดับ "หลักการและแนวคิด" ไม่ใช่ในระดับ "การวางแผน และดำเนินการ" ซึ่งเป็นส่วนประกอบย่อย ๆ เท่านั้น

เพราะเหตุแห่งการชูหลักการนั้นทำให้ พวกเจ้านิยมไม่ตาย (แม้เจ้าจะตายไปบ้าง หรือถูกกระทำไปบ้างก็เป็น คนละเรื่องกับ "แนวคิด")

เมื่อแนวคิดเรื่องนี้ยังคง มี แทรกซึม ส่งผ่าน ถ่ายทอดอยู่ในสังคมไทย ก็ไม่ต้องหวังว่าแนวใหม่ใด ๆ จะแทรกเข้ามาเพื่อเติบโตได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะทำผ่านทาง ระบบเศรษฐกิจได้ดีขนาดไหนก็ตาม

แนวคิดมันดูเหมือนจะนิ่งไปแต่ก็ไม่ตาย เท่าที่ผ่านมา เราก็เห็นชัดกันอยู่แล้วว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ไปหยิบมันมาเน้นย้ำ หรือชูมันขึ้นมาอีก ก็มักได้ผลทุกทีไป (สฤษดิ์นี่ตัวดีที่สุด) ขนาดคนที่ไม่ได้รับความเชื่อถืออะไรนักมาก่อนอย่าง ประมวลและสนธิ ยังใช้มันได้ผลเลย

ปัญหาใหญ่ ของคณะราษฎร์ มันอยู่ที่ภาพที่ติดมา ตั้งแต่ตอนเริ่มต้น จนกลายเป็น "มายาคติ" ต่างหาก ไม่่ใช่ภาคต่อ ว่าใครปกครอง หรือปกครองกันในระบอบ ซึ่งจะเรียกว่าอะไร ก็ได้ตามแต่จะคิดและบอกกับ ประชาชนของผู้มีอำนาจ

เมื่อเริ่มด้วยการ หลุดหลักการที่ไม่น่าจะ ใช่ประชาธิปไตยออกมา ฝ่ายตรงข้าม (หมายถึงทุกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าสาเหตุใด) ก็ต้องเข้า "ช่วงใช้" และ สร้างภาพเพื่อ "เหยียบย่ำ" ทำให้กลายเป็นเรื่องขาดความจริงใจ ในการเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นมายาคติ พอนำมาประกอบกับ การกระทำในด้านอื่น ๆ เข้าไปอีก

คณะราษฎร์ ก็ไม่ต้องผุดต้องเกิด ในสายตาของคนไทย เท่านั้นเอง :P

1:35 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พี่บุญชิต เขียนได้ถูกแล้ว ถ้าเลิกคิดอีกฝ่ายเป็นพระเอก อีกฝ่ายผู้ร้าย เราจะเห็นอะไรชัดเจนมากขึ้น

ปรีดีมีทั้งดีและไม่ดี เยี่ยงรัฐบุรุษชั้นนำของโลกโดยทั่วๆไป ที่ดีก็มีคุณูปการมหาศาล ที่ไม่ดีแทบทำประเทศไทยให้พังทลายลงไป

สำหรับคุณ BioLawCom ผมคิดว่าคุณลองไปศึกษาบรรยากาศสังคมเศรษฐกิจ การเมืองโลก ยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2472 และการปะทะกันระหว่างลัทธิฟาสซิสต์ ลัทธิคอมมิวนิสม์ ลัทธิประชาธิปไตยทุนนิยม ในช่วงสงครามโลก และหลังสงครามโลก ด้วยการปะทะกันระหว่างลัทธิทุนนิยมกับลัทธิคอมมิวนิสม์ เพื่ออรรถรสในการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจ คุณจะไม่ทราบเลยว่าโลกในช่วงนั้นถูกขับดันโดยอะไร ทั้งนี้โลกในช่วงนั้น (พ.ศ. 2472-2534) โกลาหลด้วยการปะทะกัน อันมีที่มาจากความคิดทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะสิ่งนั้นจะมาในนามของ ชาตินิยม ฟาสซิสต์ ระบบทุนนิยม ระบบคอมมิวนิสม์ หรืออะไรก็ตามที ตัวละครสำคัญทางประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือของโลก มีใครบ้าง ที่ยืนขึ้นมาโดยไม่มีความคิดใดๆซ่อนอยู่ข้างหลัง

มองย้อนหลังและลองไล่ดูเถอะครับ ประวัติศาสตร์ช่วงนั้น คือที่สุดของที่สุดแล้ว สำหรับอารยธรรมของมนุษย์ชาติ

4:49 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หุ หุ คุณบุญชิต ผม BioLawCom ครับ ที่ใช้ชื่อนี้ เพราะผมต้องการบอกว่าผมเล่นอยู่สามเรื่อง คือ ไบโอเทค กฎหมาย แล้วก็คอมพิวเตอร์..ไม่ใช่ biolaw ที่จะมาเรียกกันมั่ว ๆ สั้น ๆ..เพราะไม่งั้นจะมีพวกเข้าใจ ผิดว่า ผมเล่นเรื่อง กฎหมาย bio ไปเสียฉิบ กรุณาทำความ เข้าใจใหม่ (ฮา ฮา)

แค่คิด หรือถามให้ชี้ "ยุค" แห่งการปลุก กระแสนิยมเจ้า เพื่อประโยชน์ทางการเมือง นี่ก็ผิดประเด็นแล้ว...

เพราะประเด็นที่สื่อเป็นเรื่อง "แนวคิด" ที่มีอยู่ ฝังราก ถ่ายทอด มีผลกับการเมือง เมื่อไอ้แนวคิดนี่ มันมีอยู่แล้ว อดีตก็มี ปัจจุบันก็มี เชื่อว่า ต่อไปในอนาคต ก็คงต้องมี.. โดยไม่ต้องเจาะยุค มันก็งัดมาใช้งานได้เสมอ จะมานั่งถาม คำถามกระพี้ ๆ ทำไมว่า ยุคไหนวะ บอกกรูหน่อย ถ้าไม่หลับหูหลับตานับ..ก็คงเห็นได้เอง

ส่วนที่คุณพยายามนำเสนอว่า การขุดรากถอนโคนไปเลย ก็ใช่ว่าจะดี..นั่นมันเรื่อง "ความคิดเห็น" (เอาเอง) ..ไม่ต่างจากผม เพราะผมคิดเองเหมือนกันว่า ถ้าไอ้ "แนวคิด" นี้ยังมีอยู่ ก็เป็นอุปสรรค ในการพัฒนา ประชาธิปไตยกันล่ะ

..ธรรมดาครับ คิดเห็นต่างกันได้ เรื่องแบบนี้ เถียงกันให้ตาย ก็ไม่จบ เพราะเป็นเรื่อง "คาดเอาเอง" กันทั้งนั้น เพียงแต่ อย่าเที่ยวมานั่งดูถูกกันแล้วกันว่า "เฮ้ยกูถูก แล้วเอ็งผิด"..ตลก.. หรือถ้าอยากคุยยาว ๆ เรื่องนี้ ก็ไปตั้งเรื่องเอาใหม่ จะได้คุยกันได้ถูก ๆ จุดหน่อย

ผมว่า คุณเองมองประเด็นหลักในการพูดคุยกันครั้งนี้ (ของผม) ผิดไปมาก เพราะผมไม่ได้มาชวนคุย เพื่อวิเคราะห์การบ้านการเมือง หรือ "ความเป็นไป ของระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบเจ้านิยม ในประเทศไทย" ในยุคนั้น ยุคนี้ (อันเป็นประเด็น ที่คุณพยายาม จะเปิด แล้วไล่ให้ไปศึกษามาใหม่)

แต่ผมกำลังคุยประเด็นปัญหา "มายาคติ" ต่อคณะราษฎร์ ที่เจ้าของบล็อกตั้งไว้ต่างหากว่า เอ..มันน่าจะเกิดจากอะไรหว่า ?

ผมมองว่า ไอ้เจ้า "มายาคติ" (จะดี หรือไม่ดีก็ไม่ทราบ) ที่ว่า มันมีปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ ถูกอีกฝ่าย ยกเป็นข้อโจมตีสำคัญ (จนน่าจะเป็นการก้าวพลาดด้วย) ก็คือ การชูหลักการดังกล่าว จนน่าจะเป็นการเปิดโอกาส มันคงความเข้มแข็ง ดำรงอยู่ แล้วกลายเป็นเรื่องไม่จริงใจ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามที่คณะราษฎร์ กล่าวอ้างไว้ แต่แรกไป...

"ก้าวพลาด" ของคณะราษฎร์ ของผม ก็คือ ก้าวนั้น ส่งผลกระทบต่อ "คณะราษฎร์" หรือ "ตัวผู้ก้าว" ครับ เมื่อไปเลือกชูสิ่งนั้นมา จนกลายเป็นเงื่อนปมให้โจมตีได้ ดาบนั้นคืนสนอง เกิดมายาคติบางอย่างขึ้น ซึ่งดู ๆ แล้ว ไม่ใช่แนวชื่นชมเท่าไหร่ ก็เลยบอกว่าเขา "พลาด"

ยังไม่ทันได้คุยกันเลยว่า "ก้าวพลาด" นี้ เป็นของประเทศไทย จนจะทำให้ใครหยิบจับ ประเด็นมั่วไปมั่วมาเพื่อโชว์กึ๊น วิเคราะห์ว่า การปกครองไทยที่ผ่านมา มันก็ยังดีอยู่นี่..(พลาดตรงไหนวะ ? ฮา)

อืม..สงสัยว่า เราต้องทำความเข้าใจใหม่กันจริง ๆ ด้วย แต่ "ประเด็น" นะครับ ที่ต้องเข้าใจใหม่ ไม่ใช่ "ประวัติศาสตร์ กับการเมือง" ที่ต้องทำความเข้าใจใหม่ (แป่ว)

ขอไปดูบราซิลกันล่ะ...เริ่มแล้ว :P

5:25 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อิ อิ จบแล้ว 3-0 ไปอีกขั้นแล้ว บราซิลพ้ม...

พ้มจะไปเถียงเรื่องเศรษฐกิจอะไรกับคุณได้ล่ะครับ..
คุณปริเยศ

อย่าว่าแต่ต้องไปศึกษาระบบเศรษฐกิจยุคนั้น สมัยนั้น มาใหม่เลย ผมอาจต้อง กลับไปนั่งอ่านสิ่ง ที่คุณเขียนก่อนหน้านี้ใหม่อีกหลายตลบ เพราะยังอ่านไม่รู้เรื่องเลยจนบัดนี้ (ฮา)

ก็บอกแล้วว่า ปัจจัยเศรษฐกิจที่คุณว่ามาน่ะ คงมีผล กับการความล้มเหลวของคณะราษฎร์ ไม่ได้เถียง

แต่ก็บอกไปแล้วเหมือนกันว่า อย่าสร้างกรอบใส่ตัวเอง ด้วยการหยิบจับเฉพาะมุมที่ตัวเองร่ำเรียน มานำเสนอใครต่อ
ใครเขาสิว่าของข้าถูกต้องอยู่คนเดียว..มุมอื่น ๆ ที่วิเคราะห์กันมามันผิดหมด มันไม่ถูกหรอก...

ตรรกแบบนี้ ก็รังแต่จะปิดกั้นตัวเองอยู่นั่น กลายเป็นพวกผูกขาดความรู้ ความเข้าใจ และความถูกต้องไป..๕๕๕๕ อย่าให้มันเป็นงั้นเลยน่าคุณ แบบนี้แลกเปลี่ยนกันไม่สนุกหรอกครับ

7:42 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คุณ BioLawCom
ผมคิดว่า นอกจากเรื่องสังคมเศรษฐกิจของโลกและของไทยในช่วงนั้น คุณควรไปอ่านประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยในช่วงนั้นด้วย

ผมคิดว่านักกฏหมายอย่างพี่บุญชิต ยังรู้บริบททางประวัติศาสตร์เลยว่าเกิดอะไรในช่วงนั้นดูได้จาก "... ขนาดว่ากฎหมายผ่านสภา กษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธย สภาก็กล้ายืนยันร่างประกาศใช้ได้ก็มี หรือกษัตริย์ขัดกับรัฐบาล กษัตริย์ต้องถอย ...."

เพราะคุณไม่ทราบบริบททางประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยในช่วงนั้น และคุณไม่ทราบบทบาทของวิกฤติเศรษฐกิจ1929 หรือ พ.ศ. 2472กับเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั่วโลก ผนวกกับคุณไม่ทราบบทบาทของลัทธิเศรษฐกิจการเมืองกับแนวนโยบายแห่งชาติของมหาอำนาจต่างๆทั้งในช่วงก่อนสงครามโลกและหลังสงครามโลกครั้งที่2 ....แล้วคุณจะไปอ่านที่ผมเขียนเข้าใจได้อย่างไร

จู่ คุณก็โผล่มาวิจารณ์คณะราษฏร ด้วยความคิดที่แบบ ว่า "ความล้มเหลวของคณะราษฎร มาจากการประนีประนอมกับพวกเจ้า" ซึ่งถ้าคุณทราบบริบททางประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและบรรยากาศทางการเมืองโลก คุณจะไม่เขียนอะไรแบบนั้นแน่นอน

ว่าไปแล้วข้อเสนอ2อาทิตย์ก่อน ของเฉลิม อยู่บำรุงที่ให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ก็เลียนแบบข้อเสนอของพระยามโนฯ แต่สิ่งที่พระยามโนฯ เสนอมาจากผลสะเทือนของสิ่งที่เรียกว่า "เค้าโครงทางเศรษฐกิจ" ดังที่มีการโต้ตอบโดยตรงของพระปกเกล้า กับ ปรีดี และทำให้นายปรีดีต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศชั่วคราว ยังมีเหตุการณ์กบฏบวรเดช ความแตกแยกของ 4ทหารเสือ และ ความขัดแย้งรัฐบาลคณะราษฎรกับพระปกเกล้าฯ

และจะว่าไปแล้วหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในทางตัวบุคคล คณะราษฎรเชิญพระราชวงศ์องค์สำคัญออกนอกประเทศไทยเกือบหมด บารมีของพระราชวงศ์แทบไม่มีเลย สิ่งที่คุณเห็นบทบาทของพระราชวงศ์ไม่ว่าจะเป็นโดยอะไรแล้วก็แล้วแต่ในปี พ.ศ. 2549 มันคนละบรรยากาศกับปี พ.ศ.2476 เสียด้วยซ้ำ

เมื่อ คุณไม่รู้บริบททางประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยและโลก คุณจะอ่านที่ผมเขียนเข้าใจได้อย่างไร ไปศึกษามาก่อนดีกว่าจะมาวิจารณ์ครับ

12:51 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คุณ BioLawCom
ลป
ลืมไป ผมจะบอกว่าผมเชียร์ อาร์เจนตินา และหวังเป็นอย่างยิ่ง อาร์เจนตินาจะผ่านเยอรมันไปได้ แม้ว่าโอกาสจะน้อยกว่าการผ่านเม็กซิโกก็ตาม

และการเชียร์อาร์เจนตินา และการชื่นชอบเล่นบอลสไตล์ละตินหรือสไตล์รุกแบบสเปนของผม ในประเทศที่คนส่วนใหญ่รู้จักแต่บอลสไตล์อังกฤษและมองว่าอังกฤษเล่นดีที่สุดโลกหรือจักรวาลนี่ เป็นอะไรที่ขมขื่นเป็นอย่างยิ่งสำหรับผม 555

1:03 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

น้องมิ้มครับ

พี่ชอบ อาร์เจนตินา และสเปน มานานแล้วครับ และการที่สเปนมาถึงรอบนี้ แม้แพ้ฝรั่งเศส ถือว่าเป็นอะไรที่มาไกลแล้วสำหรับสเปน เพราะสเปน ใครก็รู้ว่าหมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม 555 ส่วนใหญ่สเปนไม่ผ่านรอบแรกเสียด้วยซ้ำ แต่สำหรับผู้เล่นสเปนชุดนี้ ส่วนใหญ่ยังหนุ่มและอายุน้อย คิดว่ามีอนาคตที่ดีกับยูโร2008 นะครับ

สำหรับอังกฤษ ผมเสียใจที่จะบอกว่า อังกฤษมีผู้เล่นที่ดีที่สุด ดีกว่าชุดบอลโลก 1998 ยูโร 2000 บอลโลก2002 และ ยูโร 2004 เสียอีก แต่กุนซือ คือสเวนกลับทีมแบบ เน้นผลชัยชนะไว้ก่อน เลยสูญเสียโอกาสจะแสดงให้โลกเห็นถึงศักยภาพของทีมชาติอังกฤษที่ดีที่สุดในรอบ 12ปี ถ้าอังกฤษได้เป็นแชมป์บอลโลกขึ้นมาด้วยการเล่นสไตล์นี้ หุหุหุ คงไม่รู้จะพูดอย่างไรเหมือนกัน แต่ได้แต่หวังว่าการเล่นบอลสไตล์นี้คงไม่ระบาดไปทั่วโลกนะครับ ไม่งั้น ทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกคงหมดสเน่ห์กันพอดี

แต่ที่น่ากลัวคือ ทีมจากแอฟฟริกา ครับ แม้ว่า ทีมจากแอฟฟริกา เงินทุนจะน้อย แต่คงมีโอกาสเข้ารอบลึกในบอลโลกครั้งต่อไปแน่นอน

สุดท้ายหวังว่าอาร์เจนตินาจะผ่านเยอรมันไปได้เถอะครับ เจ้าประคุ้ณ

4:10 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คุณ BioLawCom

ผมจะเขียนให้เข้าใจง่ายๆ นะครับ คุณเริ่มต้นจากการอภิปรายว่าคณะราษฏรพลาดที่ประนีประนอมกับเจ้า ซึ่งผมเองไม่ทราบว่า นิยามของพฤติกรรมอย่างไหนที่เรียกว่าประนีประนอมกับเจ้า พฤติกรรมอย่างไหนที่ไม่ประนีประนอมกับเจ้า แต่จากการอ่านที่คุณเขียนมาดูเหมือนว่า การที่ระบอบกษัตริย์และวัฒนธรรมเชิงจงรัก อยู่ในประเทศไทยเป็นการประนีประนอมเจ้า และถือเป็นการก้าวพลาดของคณะราษฎร

ผมขอเขียนถึงเฉพาะ ในสิ่งที่คุณพยายามยืนยันว่าคณะราษฎรพลาดในเรื่องของสถาบันกษัตริย์

ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลง คณะราษฎรจำกัดอำนาจของพระราชวงศ์เสียหมดอย่างน้อยในเชิงอำนาจทางบริหารและอำนาจทรัพย์สินอื่นๆ อาจจะเว้นแต่อำนาจในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งจริงๆอำนาจในเชิงสัญลักษณ์ก็ไม่ค่อยมีบทบาทอะไรมากไม่เหมือนสมัยนี้ สิ่งที่เราเห็นในวัฒนธรรมการแสดงความจงรักฯในปัจจุบัน ต่างจากวัฒนธรรมการจงรักฯสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน 2475 คงตามมาด้วยการเดินขบวนต่อต้านกันขนานใหญ่ในกรุงเทพฯ หรือการรุกฮือของกลุ่มคนแล้ว ยิ่งพิจารณาเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 กำลังการทหารที่ใช้ก่อการ เป็นไปแบบตกกะไดพลอยโจน คือ พระยาพหลฯ ซึ่งไม่ได้อยู่ในสายการคุมกำลังไปต้อนทหารไปชุมนุมที่พระที่นั่งอนันต์ฯ แล้วประกาศแถลงการณ์ขึ้นมา ขณะที่กำลังทหารที่อยู่ในการบัญชาการจริงๆคือกำลังทหารกลุ่มหนึ่งที่ไปคุมตัว “บริพัตร” ที่วังบางขุนพรหม และตามด้วยการให้หลวงศุภชลาศัยไปยืนหนังสือที่วังไกลกังวล (มีบันทึกน่าสนใจจากหนึ่งในคณะผู้ก่อการคนหนึ่ง คือหลวงศุภชลาศัย ที่พึ่งตีพิมพ์ออกมาในปีนี้ เดือนนี้ อ่านได้จาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับมิถุนายนถึงความในใจของหลวงศุภชลาศัย และเหตุการณ์ขณะยื่นหนังสือต่อพระปกเกล้าฯ) และเหตุการณ์อื่นๆตามมา ผมขี้เกียจจะพิมพ์ ถ้าสนใจลองไปหาหนังสืออ่านเองแล้วกันมีหลายต่อหลายเล่ม

สรุปได้ว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงวันที่ 10ธันวาคมปีเดียวกัน ไม่มีปฏิกิริยาโต้กลับจากผู้สนับสนุนหรือผู้จงรักฯ สถาบันเลย จนกระทั่งมีกรณี “เค้าโครงทางเศรษฐกิจ” และความแตกแยกของแกนนำคนสำคัญของคณะราษฏร อย่างสี่ทหารเสือ จนนำไปสู่ การลี้ภัยชั่วคราวของปรีดี การปิดสภา การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา การปฏิวัติของคณะราษฏร กบฏบวรเดช และ ฯลฯ จะเห็นได้ว่า เรื่องการลดบทบาทของพระราชวงศ์ ให้อยู่ในขอบเขตในระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่าคณะราษฎร ทำได้ดียิ่งไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร จนถึงเรียกว่าเป็นการก้าวพลาดอะไรของคณะราษฏรดังที่คุณยกมาเลย แต่ความแตกแยกของคณะราษฏรนั่นแหละเป็นก้าวพลาดของคณะราษฏรเองที่สูญเสียอำนาจไปอย่างรวดเร็ว และอำนาจกลับไปกระจุกตัวที่ 2คน คือ “แปลก” กับ “ปรีดี"” ไม่ใช่ในนามของคณะราษฏรอีกต่อไป

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่ามันแยกไม่ออกจากบริบททางการเมืองโลกในช่วงนั้น โลกในช่วงนั้นเป็นโลกก่อนมหาสงครามจะเริ่ม มีความคิดทางฟาสซิสต์ ความคิดทางคอมมิวนิสม์ ปะทุขึ้นมา ถ้าเขียนตรงๆ จะเห็นว่า “แปลก” ดำเนินรอยตามลัทธิฟาสซิสต์ และ “ปรีดี” ดำเนินรอยตาม ลัทธิคอมมิวนิสม์ แต่ “แปลก” จะได้พันธมิตรสนับสนุนจากในเมืองมากกว่าปรีดีที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มลูกศิษย์ใน มธก และลูกศิษย์ทางกฎหมาย เพราะ แปลกใช้ความเป็นชาตินิยมเป็นจุดขาย มีการเน้นบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากบทบาทรัฐในเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี แม้ว่าแปลกจะเบียดเบียนพ่อค้าจีนอย่างไร พ่อค้าจีนและชนชั้นกลางในเมืองช่วงนั้น ยังเห็นด้วยกับระบบเศรษฐกิจแบบ “แปลก” มากกว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี

แต่จุดหักเห อยู่ที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ป้อมค่ายต่างของโลกมันแยกเป็น 2ค่ายอย่างชัดเจน หลังสงครามโลก ปรีดี เอาอาวุธส่วนหนึ่งไปสนับสนุนโฮจิมินในการกู้ชาติฝรั่งเศส ตรงนี้ทำให้โลกตะวันตกอันมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ซึ่งเน้นการเตรียมทำสงครามกับโลกคอมมิวนิสม์ ไม่สนับสนุนปรีดี ดังจะเห็นได้จากการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐ ในสมัยปรีดี ต่างจากการสนับสนุนในสมัยรัฐบาลแปลกชุดที่ขึ้นครองอำนาจหลังปรีดีออกจากประเทศไทยด้วยกรณีสวรรคต

และ เมื่อแปลกเปลี่ยนใจหันมาดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับจีนแดงมีการส่งคนไปเป็นลูกบุญธรรมโจวเอินไหล มีการติดต่อกับจีนแดงอย่างลับๆ สฤษดิ์ภายใต้การสนับสนุนกลุ่มอำนาจเก่าร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐ ยึดอำนาจแปลก และสิ่งที่คุณเรียกว่า ก้าวพลาดของคณะราษฏร มันเริ่มขึ้นหลังจากนั้นแหละ ซึ่งคงไม่สามารถเรียกว่าเป็นก้าวพลาดของคณะราษฏรได้ เพราะคณะราษฎรในช่วงนั้นไม่มีแล้ว มีแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม และรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

และถ้าถอยหลังกลับไปในช่วงที่มีคณะราษฏรอยู่ การเชิญพระราชวงศ์องค์สำคัญไปนอกประเทศ การให้พระราชวงศ์ออกจากราชการ การยึดวังและทรัพย์สินของพระราชวงศ์เป็นของรัฐ ไม่มีธรรมเนียมการแสดงความจงรักอย่างในสมัยปัจจุบันนี้ และหลังจาก พระปกเกล้า สละราชย์ ไม่มีกษัตริย์ประทับอยู่ในประเทศไทยตั้งหลายปี แล้วคุณจะระบุว่าคณะราษฎรพลาดที่ประนีประนอมกับเจ้าได้อย่างไร

5:12 ก่อนเที่ยง  
Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

มีเรื่องมาให้ช่วยจินตนาการเล่นๆ

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า...

๑. ปรีดีไม่ประนีประนอมกับเจ้าในการร่าง รธน ฉบับถาวร ๑๐ ธค

๒. ปรีดีไม่เสนอเค้าโครงฯหรือเสนอแบบละมุนละม่อม

๓. ไม่เกิดเหตุการณ์ ร ๘ สวรรคต

๔. ปรีดีใช้ขบวนการเสรีไทยจัดตั้งพรรคการเมืองต่อไป

9:19 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ร่วมด้วยช่วยคิด

1.ช่วยนิยามเพิ่มเติมด้วย การประนีประนอมเจ้าและไม่ประนีประนอมเจ้าคืออะไร

เพราะหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ มีการเนรเทศ "บริพัตร" และพระราชวงศ์สำคัญไปบันดุง อินโดนีเซีย บางองค์ไปเวียดนาม รวมทั้งมีการยึดทรัพย์พระราชวงศ์เป็นของรัฐ ฝ่ายนิยมเจ้าบอกว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่ประนีประนอม ฝ่ายไม่โปรเจ้าบอกว่านี่คือการประนีประนอมแล้ว สรุปไม่มีนิยามที่ชัดเจนและยอมรับได้จากทั้ง2ฝั่ง

2. ช่วงนั้นความคิดทางเศรษฐกิจของโลกหลักๆ เป็น 2สาย คือสายของสังคมนิยมเน้นบทบาทของรัฐในการวางแผน ไม่มีกรรมสิทธิ์เอกชน อีกสายเน้นบทบาทของรัฐในการลงทุนทางอุตสาหกรรมแต่ยังคงกรรมสิทธิ์ของเอกชนไว้ สายนี้ถ้าผมจำไม่ผิดความคิดนี้ มีต้นกำเนิดจากเยอรมันนี โดย เฟรดเดอริก ลิสท์ แนวความคิดนี้ดูเหมือนว่าหลวงวิจิตรวาทการและจอมพลแปลกจะชอบมาก เพราะสอดคล้องกับลัทธิเชื้อชาตินิยม ชาตินิยม ดังนั้นเมื่อจอมพลแปลกมีอำนาจจึงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปทำนองดังกล่าว แต่ปัญหาคือ จอมพลแปลกได้ความคิดนี้มาจากหลวงวิจิตรฯ หรือมีความคิดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบนี้มาก่อนตั้งแต่สมัยเรียนฝรั่งเศสแล้ว?? เพราถ้าจอมพลแปลกเชื่อเช่นนั้นในตอนวางแผนก่อการกับปรีดีที่ฝรั่งเศส แปลกน่าจะค้านความคิดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของปรีดี เพราะ2ความคิดนี้เสมือนน้ำกับน้ำมัน ไม่มีวันเข้ากันได้ แต่ผมไม่พบหลักฐานเช่นนั้น หรือแปลกจะประนีประนอมกับปรีดีไปก่อนเพื่องานที่ใหญ่กว่าคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็อาจเป็นได้ แต่ประเด็นนี้ผมยังตามอยู่เพราะอยากรู้จริงๆว่าความคิดทางเศรษฐกิจของจอมพลแปลกมีที่มาจากไหน

แต่อย่างไรก็ดี วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ซัดมายังไทย ทำให้มีการ “ดุล” ข้าราชการที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์จำนวนมาก(ให้ข้าราชการออกจากราชการเพื่องบประมาณประเทศได้ดุล คนสมัยนั้นจึงเรียกว่าการดุลข้าราชการออก) ข้าราชการหลายคนจึงมีความโกรธแค้นและหันมาร่วมมือกับคณะราษฎร ที่ไม่ร่วมมือโดยตรงก็นิ่งเฉย ดังนั้นประเด็นเศรษฐกิจจึงเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นว่าจะบริหารจัดการเศรษฐกิจไปอย่างไร ดังนั้นปรีดีคิดหาทางออกอะไรได้ทางเศรษฐกิจ ต้องเสนอความคิดนั้นอย่างเต็มที่ แต่ปรีดีคงคาดไม่ถึงว่าจะมีแรงต้านอย่างมาก โดยเฉพาะบทพระราชวิจารณ์เค้าโครงทางเศรษฐกิจ จากพระปกเกล้าฯ(บางท่านให้ความเห็นว่าเป็นการร่างโดยพระยาศรีวิศาลวาจา) เหตุการณ์สมมติอันนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะนี่เป็นแกนหลักของอุดมการณ์ของปรีดีเลยทีเดียว

3.หลัง ร. 8 สวรรคต มีการปฏิวัติโดยทหารนะครับ เป็นพวกราชครู เพราะจอมพลแปลกหลบไปอยู่ปทุมธานี หมดสิ้นอำนาจอย่างเป็นทางการแต่บารมียังมีอยู่ เมื่อปฏิวัติเสร็จจึงไปเชิญจอมพลมาเป็นผู้นำ เพราะฉะนั้นข้อวิจารณ์ปรีดีเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ที่ประชาธิปัตย์ให้คนไปร้องตะโกนในโรงหนัง จึงมีน้ำหนักในการโน้มน้าวคนสมัยนั้นแค่ไหน เมื่อเทียบกับสิ่งที่ สนธิ ลิ้มทองกุล พยายามปลุกมวลชนและได้ผลจำนวนมากดังในยุคปัจจุบัน และถ้าทหารไม่ปฏิวัติ ปรีดีกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อยู่ดี และถ้าไม่มีกรณี ร.8 สวรรคต ผมเชื่อว่า CIA และสหรัฐฯยังสนับสนุนให้ทหารโค่นปรีดีอยู่ดี เพราะปรีดีมีท่าทีให้การสนับสนุนโลกคอมมิวนิสม์อย่างเปิดเผย ดังจะเห็นจากการส่งอาวุธให้โฮจิมิน และผลสะเทือนจากเค้าโครง ทำให้ปรีดีเป็นสัญลักษณ์ของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสม์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

4. ถ้าปรีดี ใช้เสรีไทย จัดตั้งพรรคการเมือง ผลเหมือนกับข้อ 3 ข้างบน คือโดนสหรัฐฯและทหารไทยโค่นอยู่ดี ประเทศเดียวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 ที่ดำเนินนโยบายใกล้ชิดโซเวียตและไม่ถูกสหรัฐฯแทรกแซงหรือโค่นอำนาจคืออินเดีย แต่อินเดียเป็นประเทศที่มีลักษณะจำเพาะแตกต่างจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก และดูประสบการณ์ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คืออินโดนีเซียที่ ซูกาโนร์ ถูกโค่นโดยซูฮาร์โตและสหรัฐฯนะครับ

สรุป ไม่ว่าเป็นอย่างไร ปรีดี ถูกสหรัฐฯและกองทัพไทย โค่นอยู่ดี เพราะอุดมการณ์สังคมนิยมของตนเอง

10:07 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่ค่อยชอบประโยคนี้เท่าไหร่ครับ

"ในประเทศที่คนส่วนใหญ่รู้จักแต่บอลสไตล์อังกฤษและมองว่าอังกฤษเล่นดีที่สุดโลกหรือจักรวาลนี่ เป็นอะไรที่ขมขื่นเป็นอย่างยิ่งสำหรับผม 555"

ผมเห็นว่ากล่าวถูกเพียงครึ่งเดียวครับ เพราะการที่คนส่วนใหญ่รู้จักบอลสไตล์อังกฤษ ก็เพราะส่วนใหญ่ชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมายที่คงไม่ต้องสาธยายกัน ซึ่งอันนี้ผมเห็นด้วยครับ (แต่จริงๆก็ไม่เห็นด้วยทั้งหมดอีกนะครับ เพราะคำว่า "รู้จักแต่" บอลสไตล์อังกฤษ แปลว่า สไตล์อื่นไม่รู้จักเลยหรือ)

และการก้าวล่วงไปรู้ถึงขนาดว่า คนส่วนใหญ่นั้นมองว่าอังกฤษเล่นดีที่สุด(ใน)โลก หรือ จักรวาลนี่ อันนี้ผมต้องขอโทษนะครับ ผมว่า "มั่ว" แล้วครับ

ถ้าไม่ใช่คนทรง หรือผู้ที่อ่านใจคนได้ คำกล่าวข้างต้นก็ผิดถนัดนัก อีกอย่าง หลากหลายคนก็หลากหลายความคิดในการเชียร์
"ทีม" "สไตล์" "หน้าตานักบอล" "สีสัน" "สีเสื้อ" มากมายต่างๆกันไปครับ

สรุป... คนส่วนใหญ่ ไม่ได้เห็นว่าอังกฤษเล่นดีที่สุดในโลกหรือจักรวาลนี่ครับ เพราะฉะนั้นหากคิดได้แบบนี้แล้ว (ถ้าคิดได้นะครับ)ก็เลิกขมขื่นได้อย่างแน่นอนครับ

4:39 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

บางเรื่อง บางสิ่ง แกล้งทำลืม ๆ ไปบ้างก็ดีนะครับ .....

11:08 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

5555 ตกลงบล็อกตอนนี้คุยกันเรื่องอาไร ??? แหมะงั้นขอนอกเรื่องบ้างนะ อย่าว่ากัน..

ผมล่ะเห็นด้วยกับคุณบุญชิตจริง ๆ ว่าปัญหาความล้าหลัง ของนักวิชาการสายสังคมศาสตร์บ้านเรา คือ ชอบมีเรื่อง "วิชาข้า วิชาแก" (แต่ไม่รู้นะว่า อันนี้ต้องการ กระทบใครที่คุยกันอยู่ ระหว่างผมกับคุณปริเยศ.. ฮา)

แต่ก่อนจะว่าใคร อยากเรียนคุณบุญชิตว่า ช่วยสังเกต วิเคราะห์ให้ดี ๆ หน่อยก็แล้วกันว่า ใครควรจะได้ชื่อว่า มีปัญหาและมีตรรกแบบนั้น... ถ้าใครที่พยายามเอาวิชา เดียวมาวิเคราะห์เรื่อง ๆ หนึ่ง พร้อมกับสรุปดื้อ ๆ ว่า ไอ้คนอื่น ที่วิเคราะห์ในมุมอื่นสาขาอื่น นักกฎหมายบ้าง นักรัฐศาสตร์บ้าง "มันคิดผิดมาก ๆ"

ผมว่า "ไอ้นายนี่มีปัญหา" เพราะ มีแนวคิดเรื่องที่ว่า ซ่อนอยู่เต็ม ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเปร่งถ้อยคำว่า "วิชาข้า วิชาเอ็ง" ออกมาสักแอะด้วยซ้ำ

ส่วนคนเตือนไอ้นายนี่อีกที น่ะไม่มีปัญหาหรอกคุณ เขาไม่เตือนว่า "เอ้ย นั่นมันมุมเอ็งไม่เกี่ยวกะข้า" เสียหน่อย

เขาเตือนว่า อย่าเอาแต่วิชาเอ็งมาวิเคราะห์อย่างเดียว แต่ควรมองมันให้รอบด้าน ...มุมเอ็งก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่มุมที่คนอื่นวิเคราะห์ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ของเรื่องนั้นได้เหมือนกัน ...แบบนี้่น่ะไม่ใช่วิชาข้า วิชาเอ็งหรอกนะ..จำไว้ ..อาจต้องกลับไปตรองดูใหม่ เพราะมันมีจุดต่างซ่อนอยู่

ไอ้ "ตัววิทยาศาสตร์" ที่ว่า รองรับ สอดประสานกันได้ โดยไม่มี วิชาข้า วิชาเอ็ง น่ะคงจริง แต่ในส่วนของ ไอ้ "คนที่เรียน" แล้ว บอกว่า ไม่มีปัญหาแบบคน สายสังคมศาสตร์ อันนี้ไม่แน่นะ... ๕๕๕ ..เคยประชุมวางแผนงานประชุมวิชาการที่เยอรมัน เห็นเด็กวิศวะทะเลาะกัน วงประชุมเกือบแตก

สุดท้ายเด็กสายวิศวะมาบ่นกันเองให้ฟังว่า ให้เด็ก วิศวะที่เรียนเน้นต่างสาขามาคุยกัน มันก็งี้แหละพี่ "คุยกันไม่รู้เรื่อง" นี่ยังมิพักต้องไล่ให้มันไปคุยข้ามสาย กับเด็กเพียววิทยาศาสตร์เลย....สรุปงานนั้น ไม่ต้องแปลกใจถ้า การประชุมสายสังคมศาสตร์ คนฟังแล้วได้อะไรที่สอดคล้องกันมากกว่า
สายวิทยาศาสตร์ กับวิศวะกรรมศาสตร์อีก (ฮาไหม ?)

รู้สึกคุณปริเยศ จะติดใจในความรู้ และความ เสนอหน้ามาวิเคราะห์ มายาคติต่อคณะราษฎร์ ของผมมาก จนต้องเขียนแล้วเขียนอีกหลายตลบ... แล้วไล่ให้ไปเรียนใหม่หมด...(พอดีแก่หงำเหงือก)

สุดท้าย..สงสัยคุณปริเยศจะพึ่งรู้ว่า สาเหตุที่ผมอ่าน ของคุณไม่รู้เรื่อง อาจไม่ใช่เพราะ ผมไม่อยาก ทำความเข้าใจ หรือสนใจวิชาเศรษฐศาสตร์.. แต่เป็นเพราะ คุณเขียนไม่รู้เรื่องเองต่างหาก เลยจำต้องมาเขียนอธิบายใหม่ให้ผมอ่านอีกรอบ.. (ฮา)

ไม่ได้กวนทีนนะครับ..เพียงแต่จะบอกว่า..
ได้ผลนะครับ เพราะ ครั้งนี้ ผมอ่านรู้เรื่องแล้วล่ะ ๕๕๕ ต้องขอขอบคุณในความพยายาม และขอบคุณที่ตีความ คำว่า "อ่านไม่รู้เรื่อง" ของผมออก

เอาเป็นว่า ผมคงรอบรู้ไม่เท่าคุณ (มั้ง) ..แต่ถ้าคุณเอง คิดว่า ประเด็นที่ผมหยิบยกขึ้นมา ไม่ใช่ปัจจัยหนึ่งเลย ที่ทำให้เกิด "มายาคติ" ต่อคณะราษฏร์ อันนี้ผมก็จนปัญญาอธิบาย..

คำถามของคุณเจ้าของบล็อกว่า ถ้า อ.ปรีดี ไม่ดำเนินนโยบายแนวประนีประนอมกับแนวคิด เจ้านิยมจะเกิดอะไรขึ้น...

ผมขอตีกันไว้ก่อนเลยนะว่า คำถามนี้ ไม่ใช่ประเด็น เดียวกับ "มายาคติ" นะครับ แต่คุณกำลังถามว่า ถ้า อ.ปรีดี ไม่ทำอย่างนั้น.. การเมืองการปกครอง ในประเทศไทยเราจะมี โฉมหน้าอย่างไร...

วิ่งตรงเข้าสู่ประเด็น "วิเคราะห์การเมือง" ที่คุณบุญชิต และคุณปริเยศ อยากคุยไปเต็ม ๆ ดังนั้นต่อไป ก็ต้องมาคุยกันใหม่ (นี่ผมมานั่งจับประเด็น ให้นะ ฮา ฮา อย่าคิดมาก)

แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น จะลองพยายามตอบคำถามของ คุณปริเยศ ดูก่อนว่า "ประนีประนอม" คืออะไร ช่วยนิยามให้ชัดซิ ? (สรุปว่า ที่เถียงกันมานี่ คุณยังไม่เข้าใจลักษณะการ "ประนีประนอม" ดอกหรือนี่...โอ้ว พระเจ้าช่วย !)

ก็ถ้าคุณเข้าใจได้ว่า (แต่จะเข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า ผมไม่ทราบนะครับ แค่จะชี้ให้ดู) เหตุการณ์ การยึดอำนาจ 2475 แท้จริงแล้ว มันก็คือ ความพยายามต่อสู้กับฐานอำนาจเดิม ซึ่งในที่นั้น ก็คือ การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ที่อำนาจ ทางการเมืองที่ชอบธรรม เป็นเรื่องของชาติกำเนิด และผู้ใช้อำนาจมีสิทธิขาดอย่างเต็มที่ ตามที่ ร. ๕ ทรงให้กำเนิดจนลงหลักปักฐานในสังคมไทยนั่นล่ะ

2475 เป็นการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง "ฐาน" อำนาจทางการเมืองกันใหม่ ให้ย้ายไปอยู่ใน มือประชาชน ซึ่ง อ.ปรีดี ใช้คำว่า "‘อำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชน" หรือ ปวงชนเป็นที่มา ของอำนาจสูงสุดทางการเมือง (คำประกาศแรก)

คุณก็จะเข้าใจได้ทันทีครับว่า การประกาศแบบไม่ หักดิบ ย้ายฐานอำนาจเดิมจากกษัตริย์ (แล้วคงไว้แต่งานพระราชพิธี) ไปยังมือประชาชนจริง ๆ ด้วยการ เปลี่ยนไปใช้คำว่า "ราชาธิปไตยภายใต้ รัฐธรรมนูญ" พร้อมกับอธิบายว่า 2475 คือ การต่อสู้กันเพื่อสร้าง "ระบอบนี้" นั่นแหละ มันก็คือ การประนีประนอมที่ผมว่า

เพราะประโยค ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ นั้นมีความหมายในเชิงว่า ระบอบการปกครอง ที่กษัตริย์ยังเป็นใหญ่อยู่ แต่สร้างกรอบบางอย่างขึ้นมา เพื่อไม่ให้กษัตริย์ ทรงใช้อำนาจได้ตาม อำเภอใจ เหมือนระบอบเดิมเท่านั้น

ซึ่งก็ด้วยท่าทีแบบนั้นเอง ได้กลายเป็นปัญหาสำคัญ ในทางแนวคิดและหลักการ เพราะมันได้เปิดโอกาส ให้คิดต่อไปได้ว่า ประชาชนอาจจะเป็นเจ้าของ อำนาจสูงสุด แต่อำนาจสูงสุดนี้สามารถโอน ไปที่ กษัตริย์ได้ตลอดเวลา จนกลายเป็นเรื่องถกเถียง กันอย่างมาก ครั้งร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับในเวลานั้น ว่าตกลงแล้ว อำนาจอธิปไตยจะเป็นของประชาชน หรือมาจากประชาชนที่เปลี่ยนมือได้เมื่อเกิดเหตุอะไร
บางอย่าง การชูพระราชอำนาจเพื่อประโยชน์ทาง การเมืองบางอย่าง ในสถานการณ์บางอย่าง เลยมักเกิดให้เห็นได้อยู่บ่อย ๆ

หากเราเข้าใจว่า อำนาจ และความชอบธรรม ทางการเมืองเป็นของประชาชน เป็นแนวคิดแบบหนึ่ง กับความชอบธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องของชาติกำเนิด เป็นของคู่ตรงข้าม ของสองระบอบ คุณก็จะเข้าใจ การประนีประนอมนั้น เพราะอ.ปรีดี ได้ทำให้ของสอง อย่างนี้ เป็นเหมือนของสิ่งเดียวกัน...

อย่างไรก็ตาม กลับไปที่คำถามของคุณเจ้าของบล็อก ผมเรียนอย่างนี้ก่อน (กลัวเข้าใจผิด) ว่า ทีผมเขียน แสดงความคิดเห็นเรื่อง "ก้าวพลาดของคณะราษฎร์" จนเกิดเป็น "มายาคติ" มาทั้งหมดหลายครั้ง นั่นยังไม่มีส่วนไหนเลยนะครับ ที่ผมตำหนิ การกระทำ ของอ.ปรีดี หรือแม้แต่ของคณะราษฎร์เอง (จนใครต่อใคร โดยเฉพาะคุณปริเยศ ต้องพยายาม เขียนบอกว่า อ.ปรีดีทำถูกต้องแล้ว ถ้าไม่ทำป่านนี้ บ้านเมืองฉิบ...หายไปไหนไม่รู้)

ประเด็นทั้งหมดที่เขียนมามีอยู่แค่ว่า เหตุใด "มายาคติ" นั่นมันถึงเกิดขึ้น..แล้วดำรงอยู่ แม้ถึงปัจจุบันก็ตาม.. ก็เลยลองแสดงความคิดเห็นดูว่า เอ...เป็นเพราะนั่น หรือเปล่า นี่หรือเปล่า ? ก็เท่านั้น อย่าเอาไปพันกันยุ่ง

แต่ถ้ามาถามว่า แล้วถ้าอ.ปรีดีไม่ประนีประนอม หรือละมุนละม่อมแบบนั้นล่ะจะเกิดอะไรขึ้น ??

ผมตอบแน่ไม่ได้หรอก แต่ขอเดาแบบง่าย ๆ เลยว่า... คงมีปัญหาใหญ่แน่ ๆ กับบ้านเมืองไทยในยุคนั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงอะไรไปเลยแบบหักดิบ หน้ามือเป็นหลังมือ ย่อมเป็นเรื่องยากที่ทำได้แบบ ไม่เสียเลือดเสียเนื้อ คณะราษฎร์ทำงานไม่ได้ คนไทยไม่ร่วมมือ เกิดการเผชิญหน้าของฐาน อำนาจเก่าใหม่ .. บลา บลา บลา

...บางคนอาจตะโกนบอกผมว่า เฮ้ย...ก็ถ้า เอ็งคิดว่า ไม่ทำแบบนั้นประเทศไทยจะแย่...แล้วจะไปบอกว่า การกระทำของ คณะราษฏร์ หรือของ อ.ปรีดี "ข้อผิดพลาด" ทำไมล่ะ ในเมื่อน่าจะถูกต้องดีอยู่แล้ว...

ผมก็จะตอบต่อไปว่า เฮ้ย..ผิดแล้วคุณ...ที่ผมบอกว่า "พลาด" ผมไม่ใช่ต้องการด่าว่า "พลาดเพราะทำไม่ดี" นะ

แต่ที่ใช้ "พลาด" จนเกิดปัญหากับตัวเอง ก็เพราะ จังหวะเริ่มนั้นดันไป เปิดช่องให้ "ใครบางคน" หยิบยกมาโจมตีได้ว่า ไม่มีความจริงใจ ในการเปลี่ยนแปลง, ไม่ได้ตั้งใจมอบ อำนาจให้ประชาชนจริง ๆ, แนวคิดราชาเป็นใหญ่ ยังมีอยู่...จนถูกสร้างเป็น "มายาคติ" ให้คนติดภาพนั้น ตลอดมา...ต่างหากเล่า...เกิดผลต่อคณะราษฎร์เอง

ไม่งั้น ถ้อยคำประเภท ร.๗ จะให้อยู่แล้วรอมร่อ แล้วไม่น่ารีบร้อน หรือ คณะราษฎร์ อยากได้อำนาจ ไว้เองล่ะสิ มันใช้ไม่ได้ผลหรอก (แน่นอนอาจมีปัจจัยอื่นประกอบอยู่ด้วยก็ได้)

อย่างไรก็ตาม ผมมีคำถาม ต่อนิดเดียวครับว่า แล้วถ้าหากใครคิดว่า การประนีประนอมแบบนั้นดีอยู่แล้ว ต่อประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ในประเทศไทย แม้ในยุคต่อ ๆ มานี้

คุณช่วยตอบผมหน่อยเถอะว่า ทำไม นักวิชาการรุ่นหลัง ๆ (บางคน) ที่อยากให้ประเทศไทย เป็นประชาธิปไตย แบบเต็มใบ ต้องออกมาพูดว่า "การถวายคืน พระราชอำนาจ" ไปชั่วคราว เพื่อตั้งใครขึ้นมาใหม่ (ซึ่งน่าจะมีแนวคิด เบื้องหลัง แบบอำนาจโอนไป โอนมาได้ระหว่างประชาชนกับกษัตริย์) ...จึงเป็นการ ทำให้ประชาธิปไตยในบ้านเราถอยหลังเข้าคลองล่ะ ?

ใครก็ได้ตอบพ้มที ????

6:21 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมสังหรณ์ใจว่าประเทศไทย นอกจากมีความวุ่นวายทางภาคใต้แล้ว ยังอาจจะมีความรุนแรงในเมืองหลวง วันนี้ ทักษิณ กล่าวตรงๆ ถึง "คนมีบารมี" ซึ่งส่อนัยยะไปถึงบุคคลหลายคน อาจจะนำพาไปสู่การปะทะกับคนมีบารมีจริงๆที่ทักษิณไม่ได้หมายถึงก็ได้ ยังไม่นับเรื่องการยุบพรรคการเมือง 2พรรค ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคทั้ง 2พรรคจริง คงจะสะใจพวกที่มีอารมณ์เกลียดนักการเมืองเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้คิดถึงเสถียรภาพของประเทศและระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปกับอารมณ์เกลียดด้วย

ในจดหมายเวียนอีเลกทรอนิกส์ของกลุ่มเพื่อนเศรษฐศาสตร์จุฬาฯของกลุ่มผม พวกเรากำลังกังวลใจถึงความตกต่ำทางเศรษฐกิจของโลกที่กำลังย่างกรายเข้ามาและคงจะกระทบต่อประเทศไทยในระดับหนึ่ง จะมากหรือน้อยผมจนปัญญาที่จะบอก แต่คิดอย่างที่เคยคุยกับสหายที่ใช้นาม "ฤษณรส" ในบล็อกผมที่ปิดไปตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ปีสองปีหลังจากนี้ไป คงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อประเทศไทย แต่ถึงอย่างไร ผมไม่อยากให้ชะตากรรมของประเทศไทยเดินตามรอยฟิลิปปินส์

ปัญหาหนึ่งที่ผมกังวลมาก คือการแตกแยกของสายสัมพันธ์ในสังคม ผมรู้สึกมานานแล้ว ว่าคนในสังคมส่วนหนึ่งไม่มีสายสัมพันธ์ของความเป็นชาติกับคนในสังคมอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าเขียนตรงๆคือ ผมรู้สึกว่าคนรุ่นอายุ25-35ปี ที่มีการศึกษาสูง หน้าที่การงานดี ฐานะทางเศรษฐกิจดี(อันนี้ไม่ใช่ผมแน่ๆ)และอยู่ในเมืองหลวง ไม่มีความเชื่อมโยงทางความรู้สึก ความทุกข์ร้อนร่วมกันกับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยากจนข้นแค้นและปราศจากโอกาสตลอดจนการศึกษาที่ดี ปัญหาเหล่านี้นับวันจะถ่างออกไปเรื่อยๆ มีความรุนแรงสะท้อนอยู่และถ้าไม่แก้ มันคงจะปะทุออกมาเป็นความรุนแรงอย่างแน่นอน

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำและตักเตือนด้านบนของพี่ POL_US พี่ชายที่ผมเคารพนับถือเสมอมา

6:26 หลังเที่ยง  
Blogger crazycloud กล่าวว่า...

วรรคสุดท้ายของ ปริเยศ ถูกต้อง ชัดเจน

วรรคสุดท้ายที่สั้นๆของปริเยศ นี่แหละครับ คือ สิ่งที่พบเจอในบล็อกนี้ แล้วทำหใผมรู้สึกอดรนทนไม่ได้

ทนไม่ได้กับความไม่ดูดำดูดี หรือกระทั่งคิดถึง ความทุกข์ร้อนของคนส่วนใหญ่

สิ่งที่ผมเรียกว่า "ปัญญาอ่อนชน" หรือ "โรคง่อยทางปัญญา" ไม่ได้หมายความว่า เขาบางคน ไม่มีความรู้ แต่ความรู้ที่เขาทั้งหลายมี ไม่ได้ตอบโจทก์สำคัญอะไรเลย

เมื่อ ปัญญาชน ขาดกระทั่งความตระหนักรู้ในความทุกข์ยาก สิ่งที่ผมพยายามนำเสนอประกาต่อมา คือ การให้ปัญญาชนไปนอนตากแดด เพื่อจะได้เข้าใจความร้อนบนหลังชาวนา แบบที่ผมถูกฝึกจากพ่อมาโดยตลอด

อันตรายอย่างยิ่งอยู่ตรงนี้แหละ เพราะปัญญาชนบางคน อาจกลายเป็น คณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง รัฐมนตรียุติธรรม หรือกระทั่ง คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ที่อาจกลายเป็นรัฐมนตรีคลังในอนาคต หากคนเหล่านี้ขาดความเข้าใจ และกลายเป็นผู้กำหนดความคิดทางสังคม ลูกชาวนาอย่างผมคงหมดหวัง

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่ขออดทน โดยการใช้คำพูดนุ่มนวลอีกต่อไป ขอกลับไปใช้สันดานแบบชาวนามีเรื่อง กระหน่ำตีที่จิตใจดีกว่า

ปริเยศ ปริเยศ ปริเยศ ดีที่โลกนี้มีนายอยู่ เพราะตลอดเวลา ที่ผมเริ่มเข้าสู่บล็อก

สำหรับผม การไปเคลื่อนไหว ไม่ใช่การลงไปสัมผัสกับประชาชนหรอกนะ

แต่ผมเพียงเคลื่อนตัวจากหมู่ประชาชนผู้ยากไร้ออกมา เพื่อป้าวประกาศความทุกข์ยากให้ พ่อ แม่ พี่น้อง และบรรพบุรุษของผม

ด้วยเหตุที่ผม ไม่ใช่ คนรุ่นอายุ25-35ปี ที่มีการศึกษาสูง หน้าที่การงานดี ฐานะทางเศรษฐกิจดี และอยู่ในเมืองหลวง ไม่มีความเชื่อมโยงทางความรู้สึก ความทุกข์ร้อนร่วมกันกับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยากจนข้นแค้นและปราศจากโอกาสตลอดจนการศึกษาที่ดี

นี่แหละมัง ที่ทำให้ผมต่างจาก บรรดา ปัญญาชนบางคน ในบล็อกนี้

ท้ายที่สุด ขอ คารวะ ปริเยศ ด้วยใจจริง

6:19 ก่อนเที่ยง  
Blogger crazycloud กล่าวว่า...

ปริเยศ ปริเยศ ปริเยศ ดีที่โลกนี้มีนายอยู่ เพราะตลอดเวลา ที่ผมเริ่มเข้าสู่บล็อก นอกจากทีมงานการเคลื่อนไหวที่ธรรมศาสตร์ ปริญญา อินทาเนียร์หนุ่ม แล้ว ก็มีนายนี่แหละที่อ่านได้ทะลุ

สำหรับเรื่อง เสรีนิยม นั้น ผมคิดว่าเสรีนิยม เป็นลัทธิเศรษฐกิจที่มีประโยชน์ แต่อย่าลืมว่า Invisible hands คือ มือสองข้างที่มองไม่เห็น

คำถามที่แท้ คือ มือแห่งกลไกตลาดนั้น ถูกใช้ไปทำอะไรต่างหาก

ผมเพิ่งวาง หนังสือ Confession of an economic hitman ของ John Perkins หลังจากอ่านมาหลายรอบ แล้วค้นพบว่า

โจทย์สำคัญ ของ Liberal และ Neo-Liberal คือ จะใช้ เสรีนิยม ให้เกิดประโยชน์สุขแก่หมู่คนผู้ทนทุกข์อย่างไร ในเมื่อ Liberal ป่วยเป็นโรค Capital Cancer

วิสัชชนา วิสัชชนา

6:31 ก่อนเที่ยง  
Blogger crazycloud กล่าวว่า...

เพิ่มเติม

สิ่งที่ผมพบ ในการเคลื่อนไหว คือ ประชาชนที่มาในพันธมิตรประชาชน เหมือนแม่น้ำสองสี คือ เป็นชนชั้นกลางในกรุง และอำเภอเมือง และเกษตรกร ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจในปัญหาของกันและกัน

สำหรับเกษตรกร สำหรับคงไม่ประโยชน์อะไรที่คิดเรื่อง ซุกหุ้น เลี่ยงภาษี ผลประโยชน์ทับซ้อน ปัญหาของเขา คือ กำไรจากการเพาะปลูก หนี้สิน หรือกระทั่งกลุ่มสึนามิ ที่มีคนตายจริง สามหมื่นห้าพันคน โดยบางคนยังไม่ได้รับเงินทดแทนเลย

ในขณะที่ชนชั้นกลางในเมือง จะขาดความเข้าใจในเรื่อง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนต่างจังหวัด เกษตรกรโคนม หอมแดง ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA แต่จะไปสนใจในประเด็น ซุกหุ้น ภาษี หรือ แปรรูปมากกว่า

สิ่งเหล่านี้ คือ ช่องว่างที่ถ่างออกมาก และสิ่งที่ผมได้รับเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ต้องมานั่งหาดัชนีตัวเลขชี้วัดให้เสียเวลา หรือเงินวิจัย

ปัญหาต่างๆ คือ ปัญหาแท้ๆ คือ ความเป็นความตาย คือข้าว ปลา อาหาร น้ำ ไฟ หนี้สิน อาการปวดหลัง ยาทัมใจ โรคประสาทของผู้ทุกข์ยาก

ผมก็ไม่รู้ว่า บางคน ริเป็น มาร์คซิส ภาษาอะไร ที่มัวแต่ท่องบ่นทฤษฎี วิจารณ์โครงสร้างส่วนบน โดยขาดความเข้าใจหรือเปิดหูเปิดตารับรู้ความทุกข์ยากของโครงสร้างส่วนล่าง ผมเรียกพวกนี้ ว่า พวกซ้ายซากเน่า !

หรือที่จริงแล้ว ภายใต้หน้ากากอันสวยงาม พรั่งพร้อมด้วย ดีกรี เขาเหล่านั้น คือ นายทุนน้อย ที่อาศัยกระแสทางวิชาการ แอบไต่เต้าตัวเองขึ้นสู่โครงสร้างส่วนบน เสียเองในภายหน้า แบบที่ผู้ทรงปัญญาทั้งหลายทำกัน

อย่าลืม ว่า ปัญญาชน คือ ผู้ที่คนยากไร้ในสังคมให้เกียรติเรามาก ให้ความเคารพ ให้การสรรเสริญ เมื่อเราได้รับมาก ก็เป็นพันธหน้าที่ที่มากขึ้นกว่าปกติ ในการที่เราจะร่วมกันดูแลสังคม มิใช่หรือ

โปรดตรอง โปรดตรอง

6:56 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เซ็ง!!!! พวกชอบสาดคำพูดสวยหรู ความรู้เหลือหลาย ประชาธิปไตยเฮงซวยน่ะสิ ที่เริ่มต้นมาจากการอยากได้อำนาจของกลุ่มคนชนนำของประเทศไม่กี่คน แต่ชอบอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ ลองไปถามดูประชาชนจริงๆ บ้างหรือเปล่าว่าระหว่าง ระบบที่มีนักการเมือง+ชนชั้นปกครอง กับ ระบบกษัตริย์ประชาชนรัก เทิดทูน และต้องการระบบไหนมากกว่ากัน พวกคณะราษฏรทั้งหลาย มีแผ่นดินอยู่หรือไม่ มีกี่คนที่อยู่และตายในบ้านเกิดตัวเอง

2:34 หลังเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0719
kyrie 4
air jordan 4
brequet wathes
oakley sunglasses
stuart weitzman shoes
prada handbags
longchamp handbags
ecco shoes
ray ban sunglasses
coach factory outlet

11:50 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก