วันพุธ, มิถุนายน 08, 2548

รัฐบาลกับการแก้ไขกระบวนการสรรหา ป.ป.ช.

วันนี้ผมเขียนบล็อกเรื่อง “กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กับคดีคุณเริงชัย” ไปได้เล็กน้อยแล้ว บังเอิญไปอ่านข่าวที่เนติบริกรให้สัมภาษณ์ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้รัฐธรรมนูญในประเด็นกระบวนการสรรหาและเลือกป.ป.ช.เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น

เห็นแล้วก็อดไม่ได้ต้องแสดงความเห็น

เดิมผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้อยู่ตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าป.ป.ช.ทั้ง ๙ คนมีความผิดจริง แต่คิดว่าจะรอให้มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาให้ชัดเสียก่อนว่าจะเอาแนวทางใดคงจะเหมาะกว่า

เมื่อรัฐบาลมีรูปแบบการแก้ไขกระบวนการสรรหาป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว ผมจึงขอลัดคิวเขียนเรื่องนี้ก่อน ส่วนเรื่องคุณเริงชัย ในตอนหน้า ไม่พลาดแน่นอนครับ

ความเดิมเริ่มจากป.ป.ช.ไปออกระเบียบภายในเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้ตนเอง ส.ว.กลุ่มหนึ่งเห็นท่าไม่ดีจึงยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐๐ ต่อไป

ศาลฎีกาฯพิพากษาให้ป.ป.ช.มีความผิด ต้องโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน

แรกๆ ป.ป.ช. ยังดื้อด้านว่า ไม่ใช่โทษจำคุกจริงเพียงแค่รอลงอาญา ตนจึงมีสิทธิดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ในท้ายที่สุด ทนกระแสสังคมไม่ไหวจนต้องลาออกจากตำแหน่ง (ผมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องลาออกด้วย เพราะทั้ง ๙ คนพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมายไปแล้วนับแต่ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษา)

เมื่อป.ป.ช.ชุดประวัติศาสตร์พ้นจากตำแหน่งไปก็ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาและเลือกกันใหม่

รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๗ วรรคสามกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้เหมาะสมเป็นป.ป.ช.รวม ๑๕ คน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นสามส่วน ๓-๗-๕ คือ
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือเจ็ดคน - ๗ คน
สาม ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน - ๕ คน

ปัญหาเกิดขึ้นกับสัดส่วนกรรมการสรรหาที่มาจากผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีส.ส. พรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ ๕ คน

สภาชุดก่อนมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีสมาชิกเป็นส.ส. ตั้งแต่ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ชาติพัฒนา ความหวังใหม่ มวลชน จึงไม่มีปัญหาในการเลือกตัวแทนมาเป็นกรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองให้ครบ ๕ คน

ในขณะที่สภาผู้แทนราษฏรปัจจุบันมีจำนวนพรรคการเมืองที่มีส.ส.ในสภาเหลือแค่ ๔ พรรค คือ ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย และมหาชน เมื่อแต่ละพรรคส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการสรรหาได้เพียงพรรคละหนึ่งคน มีเหลือแค่ ๔ พรรค ทำอย่างไรก็ไม่มีทางหากรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองให้ครบ ๕ คนได้

ใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่งจะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้

ใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่งจะมีมหกรรมการ “ดูด” ยกพรรคถึงขนาดนี้

แล้วจะทำอย่างไร ? จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่ ?

โดยส่วนตัวผมเห็นว่าถ้าต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วยเรื่องจิ๊บจ๊อยแค่นี้ล่ะก็ คงไม่มีความจำเป็น ส่วนกรณีมาตรา ๒๙๗ ที่สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันไม่สอดคล้องด้วยนั้นให้ใช้หลักการใช้และตีความกฎหมายเป็นตัวช่วยไป

ต้องไม่ลืมว่าการใช้และตีความกฎหมายต้องทำให้กฎหมายเกิดผล บทบัญญัติทุกมาตราเกิดขึ้นในนิติพิภพนี้มีเพื่อใช้บังคับ ไม่มีบทบัญญัติใดเกิดขึ้นเพื่อความโก้เก๋โดยไม่มีที่ให้ใช้บังคับ หากมีบทบัญญัติที่ไม่มีที่ให้ใช้ - ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด – ก็ต้องยกเลิกกฎหมายนั้น

กรณีนี้เช่นกัน เมื่อมาตรา ๒๙๗ บอกว่า กรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองมี ๕ คน อ่านมาตรา ๒๙๗ แบบตรงๆไม่มีอ้อมค้อม ภายใต้สถานการณ์การเมืองปัจจุบันอย่างไรก็ไม่มีทางเสกให้กรรมการสรรหาในส่วนนี้เพิ่มเป็น ๕ ได้ เช่นนี้มาตรา ๒๙๗ ก็เป็นหมันไป จึงจำเป็นต้องใช้การตีความกฎหมายเข้าช่วย

การตีความมาตรา ๒๙๗ ให้เกิดผลใช้บังคับภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ก็ต้องลดกรรมการสรรหาในส่วนลดเหลือพรรคการเมืองจากเดิม ๕ คนให้เหลือ ๔ คน รวมเหลือกรรมการสรรหาทั้งชุด ๑๔ คน

กรรมการเหลือ ๑๔ คน อย่างไรเสียก็ไม่กระทบถึงกระบวนการสรรหา ป.ป.ช. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเสียงที่ใช้เสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นป.ป.ช.ต่อวุฒิสภาต้องมีเสียงสามในสี่ขึ้นไป หาได้กำหนดเป็นจำนวนชัดเจนว่า ๑๒ เสียง ( สามในสี่ของ ๑๕) ขึ้นไปไม่

หากเราไม่ตีความกฎหมายให้เกิดผลเช่นนี้แล้ว หากต่อไปในภายภาคหน้า เกิดมีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทำนองนี้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองภายใต้ระบอบทักษิณมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบ่อยๆเช่นนี้ด้วยแล้ว เรามิจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญกันรายวันหรือ

ไม่ได้หมายความว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว เราอาจละเลย ไม่ต้องแก้ไขปรับปรุง

แต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดระเบียบสถาบันการเมืองและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ควรแก้ไขก็ต่อเมื่อเป็นประเด็นที่สำคัญจริงๆ

..................

ภายหลังที่รัฐบาลยืนยันแล้วว่าจะเดินเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ คุณทักษิณออกมาให้สัมภาษณ์แสดงสปิริตที่ผมฟังแล้วคลื่นเหียนอยากอาเจียนอย่างยิ่ง

แหม... นายกฯอะไรนี่ช่างมีสปิริตจริงหนอ

คุณทักษิณบอกว่า “รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะแก้ไขประเด็นเดียว คือไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปเป็นกรรมการในการสรรหาองค์กรอิสรทุกองค์กร” และ “เราถือว่าไม่ต้องเอาการเมืองดีกว่า เอาแบบตรงไปตรงมา คือไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่ง”

สปิริตนี้จะสวยงามไร้มลทินอย่างยิ่งหากคุณทักษิณเอ่ยตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว สภาชุดที่แล้ว

รัฐบาลที่แล้ว สภาชุดที่แล้ว ที่การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกครั้ง มีกรรมการสรรหาในส่วนตัวแทนพรรคการเมืองล้วนแล้วแต่มาจากซีกรัฐบาลทั้งนั้น

ทำไมคุณทักษิณไม่หยิบยกประเด็นแก้ไขกรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว สภาชุดที่แล้ว ทั้งที่ตอนนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากว่ารัฐบาลเข้าแทรกแซงการสรรหาองค์กรอิสระด้วยการส่งตัวแทนซีกรัฐบาลเข้าไปเป็นกรรมการสรรหา ทั้งที่ตอนนั้นนักวิชาการเรียกร้องให้มีการแก้ไขในประเด็นนี้

ทำไมความรับรู้ของคุณทักษิณจึงช้านัก

ทำไมคุณทักษิณพึ่งออกมาสนับสนุนให้แก้ในประเด็นนี้ในสถานการณ์ที่กรรมการสรรหาในส่วนที่มาจากพรรคการเมือง อาจกลายเป็นซีกฝ่ายค้านที่มีมากกว่ารัฐบาล (มีฝ่ายค้าน ๓ พรรคอาจเป็นกรรมการสรรหาได้ ๓ คน ในขณะที่รัฐบาลมี ๑ พรรค อย่างไรเสียกรรมการสรรหาในส่วนที่มาจากพรรคการเมือง สัดส่วนของรัฐบาลย่อมน้อยกว่าแน่ )

หรือต้องรอให้ผลประโยชน์ของตนเสียไปก่อน ต่อมกระตุ้นสปิริตจึงเริ่มทำงาน

หรือเกรงว่า หากคุณเสนาะ เจ้าพ่อวังน้ำเย็น คึกสร้าง “นิยายงูเห่าภาค ๒” ยกพลไปตั้งพรรคใหม่เป็นฝ่ายค้านแล้ว กรรมการสรรหา ๕ คน จะกลายเป็นฝ่ายค้านสี่ – ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน วังน้ำเย็น – รัฐบาลหนึ่ง – ไทยรักไทย –

เพื่อความเป็นธรรมต่อคุณทักษิณ เอาเป็นว่าคิดในแง่ดีว่าคุณทักษิณพึ่งรู้ตัวแล้วกัน จะได้พิจารณาในส่วนเนื้อหาต่อไป

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๗ ที่เนติบริกรออกมาแถลงเมื่อวานนี้ กรรมการสรรหาป.ป.ช.รวม ๑๕ คนประกอบด้วยสี่ส่วน คือ

หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน - ๖ คน
สาม ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๔ คน
สี่ ผู้นำฝ่ายข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร – ๒ คน

ส่วนที่ ๑ ถึง ๓ ไม่มีปัญหาอะไรนัก แต่ที่ควรนำมาพูดถึงคือส่วนที่ ๔

จากปัญหาที่ตัวแทนจากพรรคการเมืองมีไม่ครบ ๕ คนจึงต้องนำมาแก้กันใหม่ เมื่อเกิดบัญชาจากคุณทักษิณที่มีสปิริตสูงส่งมาก (แต่มาช้าไปหน่อย) ว่าไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองมายุ่งในกระบวนการสรรหา เนติบริกรแสนดีก็รีบรับคำบัญชาไปนั่งขบคิดว่าจะออกแบบสัดส่วนกรรมการสรรหาใหม่อย่างไรดี

เดิมมีกรรมการสรรหาที่มาจากพรรคการเมืองที่มีส.ส.ซึ่งเป็นกรรมการสรรหาที่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเปิดช่องให้การเมืองเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ (ฝีมือใครกันหนอที่ทำเช่นนี้ในสภาชุดที่แล้ว) ประกอบกับสปิริตของท่านนายกฯ (สปิริตที่ช้าไปหลายปีและมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ไม่อาจรู้ได้) จึงเห็นควรให้ตัดกรรมการสรรหาที่มาจากพรรคการเมืองออกไป และไปลากเอาตัวแทนจากองค์กรอิสระอื่นๆตามรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาแทน

อย่างไรก็ตาม เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีกรรมการสรรหาที่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเพื่อสร้างความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อตัดตัวแทนจากพรรคการเมืองไปแล้วก็ต้องหาตำแหน่งที่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา

เท่าที่เนติบริกรคิดออก คือ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎร

แต่ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรบอกว่า ตำแหน่งตนต้องมีความเป็นกลาง ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับการสรรหา (สปิริตอีกแล้วครับท่าน แหมแล้วจะมาหาว่าท่านเป็นประธานโภชินฯได้อย่างไรกัน) เนติบริกรจึงสร้างนวัตกรรมใหม่ทางรัฐธรรมนูญขึ้นซึ่งซาร่าห์ต้องตะโกนว่า “โอ้ พระเจ้า จอร์จ มันยอดมาก”

นวัตกรรมชิ้นใหม่ทางรัฐธรรมนูญจากปลายปากกาของเนติบริกร คือ “ผู้นำฝ่ายข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร”

ไม่ต้องไปพึ่งพา สสร. หรอกครับ เนติบริกรคนเดียวก็เสกตำแหน่งใหม่นี้ขึ้นได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วยาม ขอมีใบสั่งมาเถอะครับ ผมจัดให้

ตำแหน่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย

ตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เว้นแต่ การสรรหาป.ป.ช.ตามมาตรา ๒๙๗ เท่านั้น

ตำแหน่งที่ไม่ได้กำหนดที่มาที่ไปไว้

ตำแหน่งที่มีงานทำงานเดียว คือ การสรรหาป.ป.ช.
ตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือน

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่า “ผู้นำเสียงข้างมากในสภา เราเรียกตามแบบมาตรฐานของต่างประเทศว่าผู้นำเสียงข้างมากซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้ไปเลือกผู้นำฝ่ายค้าน มันก็แบ่งคนออกเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจจะเลือกกันในหรือนอกสภาก็ได้ ที่แบ่งคนออกเป็นสองพวกในสภา นี่คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีมากว่า ๑๐ ปีแล้ว”

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่า “เป็นการเลือกกันเองของ ส.ส.ที่มีเสียงข้างมากในสภา โดยมีการรับรองสนับสนุนจาก ส.ส.รัฐบาลเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งวิธีการเลือกอาจจะลงมติในสภา นอกสภา หรือทำบัญชีหางว่าวก็ได้ แต่ต้องมีรายชื่อให้ประธานสภาตรวจสอบได้” แต่วิธีการได้มาที่เนติบริกรบอกนี้ไม่ได้เขียนในรัฐธรรมนูญ หากเป็นเพียงความคิดของเนติบริกรเท่านั้น (พึงระลึกไว้เสมอว่าเนติบริกรไม่ใช่รัฐธรรมนูญ)

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่ามีมานาน เพราะใช้ตรรกะคิดว่า เมื่อมีผู้นำฝ่ายค้านมาหลายสิบปีก็ต้องมีผู้นำฝ่ายข้างมากมาหลายสิบปีเช่นกัน

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่ารัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๐ กำหนดตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านแสดงว่าต้องมีผู้นำฝ่ายข้างมากด้วย

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่าต่างประเทศก็มีกัน

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ อุตส่าห์สรรหาตรรกะการให้เหตุผลโดยพิจารณาจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันและอดีต โดยเทียบเคียงจากกฎหมายต่างประเทศ แต่กลับไม่กำหนดงานให้ผู้นำฝ่ายข้างมากทำ นอกจากการสรรหา ป.ป.ช.เท่านั้น

ประเด็นว่าตำแหน่งนี้ในต่างประเทศมีหรือไม่ อย่างไร รัฐธรรมนูญไทยมีเจตนารมณ์หรือไม่ อย่างไร อาจถกเถียงกันได้ (แต่ส่วนตัวผมเห็นว่าบ้านเราไม่มี ถ้าจะมีก็ต้องบอกว่าทำงานอะไร มีที่มาอย่างไร ส่วนของต่างประเทศนั้นมี แต่เป็นเพียงการรวมกลุ่มกันในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเพื่อผลักดันร่างกฎหมาย ล็อบบี้ เสนอญัตติต่างๆ) แต่ที่ผมอยากชี้ให้ท่านผู้อ่านอึ้ง ทึ่ง เสียว คือ ความสามารถอันเอกอุของเนติบริกร

เสนอแบบของตัวเองไป แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่เอาแล้วตั้งตุ๊กตามาให้ว่าอยากได้กรรมการสรรหาแบบนี้ เนติบริกรเราจัดให้ได้ในบัดดล แถมยังเตรียมชุดคำตอบไว้ครบถ้วนอีกด้วย ใครถามมา ฉันตอบได้

เก่งกาจอะไรอย่างนี้ แล้วจะไม่ให้ตำแหน่ง “เนติบริกร” ได้อย่างไรครับ

ผมเห็นว่าตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายข้างมาก” อาจมีก็ได้ ถ้าจำเป็น แต่ต้องผ่านการวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ ต้องตอบได้ว่าตำแหน่งนี้มีเพื่อมาทำงานอะไร ซ้ำซ้อนกับตำแหน่งอื่นหรือไม่ มีที่มาอย่างไร จัดว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ มีเงินเดือนหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ คิดแค่ไม่กี่ชั่วยามแล้วเสกขึ้นมาจากอากาศ เพราะมีใบสั่งอยากได้

การนิรมิตตำแหน่งขึ้นมาเพื่อใช้งานสรรหาป.ป.ช.งานเดียวแบบนี้ ผมเห็นว่าไม่น่าเป็นการร่างกฎหมายที่ดี ถ้าจะหาตำแหน่งเพื่อมาคู่กับผู้นำฝ่ายค้านในการเป็นกรรมการสรรหา ก็น่าระบุไปให้ชัดเลยว่า ส.ส.ที่พรรคการเมืองสังกัดรัฐบาล

เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของกรรมการสรรหาทั้งหมดแล้ว น่าสงสัยต่อไปว่ารัฐบาลจะไม่มีช่องทางเข้าแทรกแซงกรรมการสรรหาอีกจริงหรือ ปลอดการเมืองจริงหรือ ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง คือ อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน

ฐานคิดของ สสร. ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นนักวิชาการ บางคนเป็นถึงศาสตราจารย์ ย่อมมีคุณวุฒิและความเป็นกลางปลอดจากการเมือง แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ สิ่งที่พิสูจน์ให้เราเห็น คือ กระบวนการเลือกตั้งอธิการบดีในแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีการเมืองเข้าแทรกตลอดอยู่แล้ว สู้กันราวกับเป็นการเลือก ส.ส. ย่อมๆเลยทีเดียว บางมหาวิทยาลัยฝ่ายการเมืองยังปรารถนาเข้าแทรกด้วย (มหาวิทยาลัยของผมนี่ถ้ารัฐบาลมีอำนาจเลือกอธิการได้ สงสัยคงไม่ได้เห็นชื่อคนปัจจุบันที่เป็นอธิการบดีอยู่เป็นแน่) นอกจากนี้สภาพปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยของรัฐผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ยิ่งน่าสงสัยต่อไปว่าจะเกิดการล็อบบี้ในหมู่กรรมการสรรหาที่มาจากอธิการบดีหรือไม่

เอาเข้าจริง เราจะสรรหาสารพัดสูตรมาออกแบบกรรมการสรรหาให้วิเศษเพียงใดก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากการแทรกแซงทางการเมืองได้ อย่างไรเสียการบล็อกโหวตก็ต้องเกิดขึ้น เช่นกันเราอาจไม่มีความจำเป็นต้องสนใจเรื่องกระบวนการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆเหล่านี้เลย หากผู้ดำรงตำแหน่งของเรามีความเป็นกลางและปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต ไม่เอนเอียงฝ่ายใด

ในฝรั่งเศส คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ๙ คนมาจากการเลือกของประธานาธิบดี ๓ คน การเลือกของประธานสภาผู้แทนราษฎร ๓ คน การเลือกของประธานวุฒิสภา ๓ คน มีที่มาจากการเมืองล้วนๆ แต่ก็ทำงานได้ดี เพราะไม่ได้คิดว่าการแต่งตั้งนั้นเป็นบุญคุณอะไรกัน

สิ่งที่น่าคิดต่อไปอีก คือ ตอนแรกคุณทักษิณบอกว่า “รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะแก้ไขประเด็นเดียว คือไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปเป็นกรรมการในการสรรหาองค์กรอิสรทุกองค์กร” แล้วเหตุใดตอนนี้จึงเสนอแก้แค่การสรรหาป.ป.ช.กรณีเดียว

เมื่อแสดงสปิริต แสดงความบริสุทธิ์ใจไม่อยากให้การเมืองมายุ่งกับการสรรหาแล้ว ทำไมไม่แก้การสรรหาองค์กรอื่นๆไปพร้อมกัน

เนติบริกรให้เหตุผลสองข้อ “๑. กรอบระยะเวลาค่อนข้างจำกัด หากมีหลายประเด็นจะใช้เวลาแก้ไข อภิปราย และลงมตินานมาก ในที่สุดก็จะปิดสมัยประชุมและการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. อาจจะช้าออกไปทุกที ๒.รัฐธรรมนูญนี้ได้ยกร่างโดยรับฟังความเห็นที่หลากหลายทุกมาตรา หากแก้ไขในส่วนที่ยังไม่เป็นปัญหา อาจมีปัญหาว่าจะนำองค์ประกอบอะไรใส่ลงไปเป็นการเปิดประเด็นให้หลากหลาย ไม่สามารถตกผลึกได้ในเวลาที่จำกัด เดี๋ยวจะกลายเป็นทำอะไรลวกๆ และรวบรัด”

คุณทักษิณให้เหตุผลว่า “รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าจะแก้ไข ต้องทำเท่าที่จำเป็น ถ้าไปแก้หลักการของกฎหมายเกินไป จะเกิดการตั้งคำถามว่าทำถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีปัญหาคือเรื่องของ ป.ป.ช. ดังนั้นก็ขอแก้ทางเทคนิค เพื่อขอให้มีคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. เพื่อให้มี ป.ป.ช.สามารถทำงานได้ก่อน ในส่วนของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระอื่นๆ ก็พร้อมแก้ไข ถ้าพบว่าจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต หรือถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าหลักการตรงนี้จะต้องเปลี่ยนทั้งหมด ก็จะแก้ไขภายหลัง วันนี้ขอแค่คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ก่อน”

เหตุผลฟังแล้วก็พอไปได้ครับ...

แต่มันขัดกับสปิริตที่นายกฯประกาศไว้ทีแรกเท่านั้นเอง เป็นสปิริตที่ในสมัยรัฐบาลที่แล้วนายกฯนึกไม่ออก เป็นสปิริตที่ในสมัยรัฐบาลชุดนี้ นายกฯพึ่งนึกออก เป็นสปิริตที่นายกฯนึกออกเมื่อสัปดาห์ก่อนแต่สัปดาห์นี้หายไปเสียแล้ว

....................

เปรียบเทียบคณะกรรมการสรรหาป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๗ ทั้งสามร่าง

ร่างรัฐบาลล่าสุด
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน - ๖ คน
สาม ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๔ คน
สี่ ผู้นำฝ่ายข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร – ๒ คน

ร่างรัฐบาลก่อนหน้านั้น
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน - ๖ คน
สาม ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๔ คน
สี่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร – ๒ คน

ร่างฝ่ายค้าน (ฝ่ายค้านเห็นควรแก้กรรมการสรรหาในทุกองค์กร ไม่ควรแก้เฉพาะป.ป.ช.)
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๗ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือเจ็ดคน – ๗ คน
สาม สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเลือกกันเองให้เหลือห้าคน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเลือกกันเองให้เหลือสองคน – ๗ คน

10 ความคิดเห็น:

Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

เสริมต่ออีกนิด พอดีพึ่งนึกออก

ผมเห็นว่าฐานคิดของรัฐบาลอยู่แค่ กรรมการสรรหาป.ป.ช.ในส่วนที่มาจากพรรคการเมืองมี ๕ คน แต่ปัจจุบันมีแค่ ๔ พรรค รัฐบาลจึงไปแก้ไขอยู่กรณีเดียว ติดใจอยู่แค่ ๔ กับ ๕

เดิมทีตอนเขี่ยลูก คุณทักษิณคงกะเอาเท่ ประกาศโครมครามเลยว่า จะแก้กระบวนการสรรหาทุกองค์กร

ไปๆมาๆคงไปคิดๆดูแล้ว เกิดเปลี่ยนใจแก้แค่ ป.ป.ช.ประเด็นเดียว

ตามเกมไม่ทันเลยครับ

เอาเข้าจริงผมคิดว่าจะ ๔ จะ ๕ ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราควรมาคุยกันให้ชัดว่าคณะกรรมการสรรหาของทุกองค์กรนั้นควรเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร สัดส่วนเท่าไร จะเอาฝ่ายการเมืองหรือไม่ ถ้าต้องเอาเพราะเพื่อเป็นจุดยึดดยงกับประชาชน จะต้องแบ่งสัดส่วนเท่าไรให้เหมาะสม

เช่นนี้น่าจะเป็นการตั้งโจทย์ที่ถูกกว่า

จะ ๔ จะ ๕ ผมเห็นว่าไม่ใช่โจทย์ที่ถูกนัก

กรณีนี้รัฐบาลบอกว่าเวลาน้อยจึงแก้ประเด็นเดียว

ผมสงสัยนักว่าถ้ารัฐบาลคิดโมเดลคณะกรรมการสรรหาของทุกองค์กรอิสระโดยเอื้อประโยชน์กับตนได้ออกหมดแล้ว จึงตัดสินใจแก้พร้อมกันหมดในครั้งนี้ รัฐบาลก็อาจให้เหตุผลก็ได้ว่า มีความจำเป็นต้องแก้ไปพร้อมๆกัน

ยังคิดไม่ออก หรือมีวาระซ่อนเร้น ก็บอกว่า ระยะเวลาสั้น แก้ทีละนิดๆไปก่อน ส่วนประเด็นอื่น รอฟังเสียงประชาชน

แต่ถ้าคิดออก มีโมเดลในใจเรียบร้อย ก็บอกว่า จำเป็นต้องแก้พร้อมกันเพื่อความเป็นระบบ

8:01 ก่อนเที่ยง  
Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

อีกหน่อย พอดีพึ่งอ่านคอลัมน์ของเซี่ยงฯในผู้จัดการ

เซี่ยงบอกไว้น่าคิดว่า "โถ ตัดกรรมการสรรหาส่วนที่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองออก เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน พรรคไทยรักไทย จะเป็น เสียงข้างน้อย ไม่ 1 ใน 4 ก็ 2 ใน 4 แต่กลับเพิ่ม ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้าน เข้าไปให้ดูเหมือน เป็นธรรม แต่ที่แท้ก็เพื่อให้สัดส่วนของตนเองเพิ่มเป็น 1 ต่อ 1 แค่นี้ก็ยังอุตส่าห์ หลอกลวง กัน"

เซี่ยงเห็นว่ารัฐบาลลักไก่บอกว่าลดตัวแทนการเมือง เอาเข้าจริงเป็นการดึงสัดส่วนของตนให้เท่ากับฝ่ายค้านต่างหาก

8:05 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เรื่องระบบการคัดเลือกคณะกรรมการองค์กรอิสระฯ นี่ บอกตรง ๆ ผมเห็นแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฯ ปัจจุบันมาตั้งแต่ต้น เรื่องนี้ เคยถกเถียงกันอย่างมาก แม้แต่ในห้องเรียนที่ ป.โท คณะนิติศาสตร์ มธ. ผมเห็นกระบวนการทั้งหมด เป็นกระบวนการทางการเมืองฯ ที่ฝ่ายอื่น ๆ ไม่ควรจะเข้ามายุ่งเกี่ยวเลยด้วยซ้ำฯ อีกประการหนึ่ง ผมไม่เชื่อว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ จะแตกต่างจากไปจากคนธรรมดาสามัญ ที่มีรักโลภ โกรธ หลง อยากมีเกียรติ มีอำนาจ มีตำแหน่งทางการเมืองเหมือน ๆ กัน ของพรรค์นี้ ไม่เข้าใครออกใครหรอก พระยังหลงในตำแหน่งฯ เลย นับประสาอะไรกับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฯ จะเป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นต์ได้อย่างไร เราเห็นตัวอย่างมากมาย นักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ พอถูกเสนอตำแหน่งให้เข้าไปเป็น รองนายกฯ รมว. ฯลฯ ขี้คล้านจะกลายพันธุ์ในบัดดล

ถ้าเรายอมรับว่า ข้อเท็จจริง เรื่องพรรค์นี้ คือ กระบวนการทางการเมืองแล้ว เราก็จะปล่อยให้เป็นกระบวนการทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง แนวคิดทางรัฐศาสตร์และการเมืองการปกครอง เรายอมรับว่า ผู้แทนราษฎร คือ ตัวแทนของเจตจำนงค์ของประชาชน ในทางทฤษฎี เขาจึงต้องรับผิดชอบในทางการเมืองและการกระทำของเขา ในทางตรงกันข้าม ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ที่มาจากนักวิชาการ ศาลฎีกา ฯลฯ ไม่ใช่ผู้แทนของปวงชน และไม่มีกระบวนการอะไรที่สามารถแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนได้ หากผู้ที่ได้รับการคัดเลือก เลว ทราม ต่ำ ช้าฯ บุคคลที่เป็นคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่ต้องรับสนองพระบรมราชโองการฯ ไม่ต้องลาออกฯ หากกระบวนการคัดเลือกได้คนที่ไร้ความสามารถมาทำงาน ฯ เป็นต้น

ตามแนวคิดของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น การแต่งตั้งบุคคลสำคัญ ๆ ในทางการเมือง จึงเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร โดยประธานาธิบดีทั้งสิ้น จะดีจะเลวอย่างไร ประธานาธิบดีรับไปเต็ม ๆ จนกว่าโลกจะมลายไปเลยก็ว่าได้ อนุมาตรา ๒ ของ มาตรา ๒ (Article II Section 2) ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ได้ให้อำนาจเต็มแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเสนอชื่อผุ้ที่จะเป็นฑูต รัฐมนตรี กงสุล ผู้พิพากษาของศาลสูงสุด ศาลระดับ Federal Court และ เจ้าหน้าที่อื่นของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำหนดให้สภา Congress มีอำนาจออกกฎหมายจะให้อำนาจแก่บุคคลอื่น แต่งตั้งข้าราชการได้ แต่เฉพาะระดับต่ำ (Inferior Officers) เท่านั้น

เรื่องทำนองนี้ เคยมีคำพิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐ เกี่ยวกับการแทรกแซงอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐ โดยสภา Congress ที่ออกกฎหมายมา ลดอำนาจประธานาธิบดี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒ นี้ ศาลสูงสุดประกาศว่ากฎหมายในลักษณะดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่อาจบังคับใช้ได้ ประธานาธิบดี ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน และได้รับอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อปวงชนในทางการเมืองชั่วนิจนิรันดร์เท่านั้น ที่จะใช้อำนาจในการแต่งตั้งบุคคลสำคัญ ในทุก ๆ องค์กร ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (SEC) หรือ คณะกรรมการที่ทำงานเป็นอิสระอื่น ๆ กฎหมายที่กำหนดกระบวนการการสรรหาบุคคลโดยแทรกแซงอำนาจประธานาธิบดี ย่อมเป็นหมันไป

ผมว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา หากเรายอมรับว่ากระบวนการทางการเมืองไทย ได้รับการพัฒนาแบบไม่ยั่งยื่น ถูกแทรกแซงมาโดยตลอด ทั้งทางฝ่ายทหาร และ ฝ่ายข้าราชการโดยเฉพาะนักวิชาซึ่งได้รับการแต่งตั้งและเข้าดำรงตำแหน่ง พร้อมกับแสวงหาประโยชน์ที่ได้จากการ ระบบการเมืองไทยมาเนิ่นนาน แล้ว เราก็ต้องยอมรับว่า ทุกอย่าง กำลังจะดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลา กระบวนการทางการเมือง ก็ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางการเมืองที่พัฒนาไปตามธรรมชาติของมัน ประชาชนก็จะได้เรียนรู้ สิ่งใด ใครทำดี ทำเลว ย่อมได้รับการจารึกไว้ตราบฟ้าดินสลาย

ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ใช่เพราะคุณทักษิณฯ เป็นรุ่นพี่ของผม แต่ผมว่าด้วยแนวคิดทางรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาที่เป็นจริง ไม่ว่าใครก็เลวได้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ ก็เลวได้ ไม่ต่างจากคนธรรมดาฯ

11:25 หลังเที่ยง  
Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

พอดีพี่พลเปิดประเด็นมาแบบนี้

ผมเลยถือโอกาสแสดงจุดยืนเรื่องกระบวนการได้มาซึ่งองค์กรอิสระต่างๆเสียหน่อย

ผมเห็นว่าเราสร้างแบบอย่างไรก็หนีไม่พ้นคน คนที่มีกิเลส ป้องกันอย่างไรกูจะเอาสักอย่างก็ทำได้ ตอนแรกคิดว่าแบบตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญจะป้องกันได้ เอาเข้าจริงนักการเมืองก็หาทางแทรกได้อีก

อย่างที่บอกไว้ว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญ "จับโจร" มุ่งแต่กีดกันโจร จับโจร แต่ไม่ได้ประเมินว่า โจรก็มีฝีมือ แล้วจะให้แก้ตามฝีมือโจรไปเรื่อยๆกระนั้นหรือ

ผมเห็นว่ากระบวนการได้มาซึ่งองค์กรอิสระนั้น ไม่จำเป็นต้องกำหนดให้มันซับซ้อน ยิ่งซับซ้อน ยิ่งเกิดปัญหา (อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้) เมื่อซับซ้อนก็ยิ่งมีช่องว่าง ยิ่งมีข้อให้เถียงกันไม่จบ ต่างฝ่ายก็ดึงดันเพราะผลประโยชน์มหาศาล

ผมคิดว่ากำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้ชัด แล้วการเมืองเป็นคนตั้งผมก็ว่าไม่แปลก

อาจเกรงกันว่า คนที่เข้าไปก็ต้องตอบแทนนักการเมืองคนตั้งสิ

ผมถามว่าแล้วทุกวันนี้มันต่างกันงั้นหรือ?

เราอาจสร้างหลักประกันในการทำงานอย่างอิสระได้โดย กำหนดวาระให้ยาว และฝ่ายการเมืองเอาเค้าออกจากตำแหน่งไม่ได้

คือ การเมืองตั้งแล้วจบ

เค้าทำงานเต็มที่ โยกย้ายไม่ได้ ปลดไม่ได้

เว้นแต่ออกตามกระบวนการถอดถอน

ผมมั่นใจว่าคนมารับตำแหน่งก็น่าจะมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ศักดิ์ศรี และทำหน้าที่อย่างเป็นกลางได้ เพราะ เค้าหลุดจากฝ่ายการเมืองทันทีนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง

อาจบอกว่าผมมองโลกในแง่ดีหรือเปล่า?

ของแบบนี้มันต้องใช้เวลาครับ

ไปไล่จับมาก โจรยิ่งหนี แล้วหนีแนบเนียน ทำอะไรไม่ได้ เพราะมาตามกระบวนการ

12:06 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พี่คิดว่า สิ่งที่อาจารย์ฯ เกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามฯ นั้น พี่เห็นด้วยเลย คือ ต้องปล่อยให้เป็นกระบวนการทางเมือง เขาจะต้องรับผิดชอบในสิ่งเขาทำ เขาเลือก เขาดำเนินการ หากเขาเลือกคนที่ไม่ได้เรื่องมาฯ เขาต้องยอมรับและถูกตราหน้าไปจนแผ่นดินกลบหน้านั่นแหละ ที่สหรัฐฯ เขาใช้วิธีการที่กล่าวไปแล้ว และไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้มากมายนักด้วยซ้ำ แต่เขากลับทำงานได้ดีฯ โดยเฉพาะผู้พิพากษาของศาลสูงสุดสหรัฐฯ แม้จะได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ซึ่งมีพรรคการเมืองฯ สนับสนุนฯ ซึ่งทุกคนมองว่า ผู้พิพากษาเหล่านี้ จะไม่เป็นกลาง แต่เมื่อปฏิบัติ เขากลับปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเที่ยงตรงฯ ไม่ถูกครอบงำโดยพรรคการเมืองใด ๆ เขาจะดำรงตำแหน่งตลอดวาระ โดยไม่ถูกปลดออก เว้นแต่กระบวนการ impeachment ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ประธานาธิบดี จะยุ่งเกี่ยวอีกไม่ได้

เรื่องความดีความชั่วนี่ ไม่ได้เลือกอาชีพหรอก เป็นอธิการบดีแล้ว มีเกียรติ มีตำแหน่ง มีศักดิ์ศรี ได้รับพระราชทานสายสะพายเต็มบ่า แต่ก็ไม่เคยพอเลย คนก็คือ คน จะดีจะเลว จะมี รัก โลภ โกรธ หลง ฯ ไม่ได้เกี่ยวกับอาชีพฯ หรอก จุดยืนที่พี่พูดมาโดยตลอด และคิดว่า ถ้านักวิชาการ สสร. ไม่เขียนรัฐธรรมนูญ แบบนี้ วิถีประชาธิปไตย ที่จะต้องได้รับการพัฒนาและเติบโตแบบธรรมชาติ ที่ยอมรับว่ามันคือกระบวนการทางการเมือง น่าจะค่อย ๆ ได้รับการพัฒนาดีขึ้นเรื่อย ๆ กระบวนการทางการเมือง ควรจะต้องได้รับการพัฒนาด้วยวิถีทางทางการเมือง เรื่องนี้ก็เช่นกัน ควรจะเป็นเรื่องที่กระบวนการทางการเมืองต้องดำเนินการ และจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองกระทำลงไป มันจะดีขึ้นเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ ซึ่งในที่สุดเขาจะรู้ว่า หากเขาไม่สนใจกระบวนการทางการเมือง ชิวิตของเขาจะเต็มไปด้วยความมืดมน โดยเฉพาะ คนกรุงเทพนี่แหละตัวดี ออกมาโวยวายตลอด แต่ไม่เคยใช้สิทธิในทางการเมืองฯ

12:52 ก่อนเที่ยง  
Blogger pin poramet กล่าวว่า...

1. แต่อย่าลืมประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งประเทศ

ต่างจากการเมืองในระบบรัฐสภาที่การเลือกนายกฯเป็นการเลือกทางอ้อม โดยผู้แทนที่ประชาชนเลือกอีกที

ฐานที่มาแห่งอำนาจต่างกัน ขอบเขตอำนาจหน้าที่จึงแตกต่างกันครับ

ประเด็นนี้สำคัญนะครับ

2. ในระบบผู้นำเข้มแข็ง อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ผู้นำมีวาระการดำรงตำแหน่งจำกัด และปัจจัยสำคัญที่เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จของระบบนี้ก็คือ ความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง

อย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯที่มีอำนาจมากมาย ไม่ได้ขึ้นมาง่ายๆนะครับ ไม่ใช่ใช้เงินซื้อพรรคหรือสร้างพรรค ขึ้นเป็นผู้นำพรรค แล้วจ่อคิวรอเป็นหัวหน้ารัฐบาล

แต่ประธานาธิบดีก็เป็นเพียงสมาชิกพรรคคนหนึ่ง ไม่ใช่หัวหน้าพรรค ต้องแข่งกันภายในพรรค(โดยหาเสียงเกือบทั่วประเทศ) เพื่อให้ได้สิทธิของการเป็นตัวแทนเสียก่อนด้วย ก่อนจะลงเลือกตั้ง โดยต้องหาเสียงกับคนทั้งประเทศ

กว่าจะได้มาซึ่งอำนาจมหาศาล มันมีกลุ่มผลประโยชน์คอยตรวจสอบตามรายทางมากมาย และหลายระดับ

ที่สำคัญระบบการเมืองอเมริกัน เป็นระบบ 'สหพันธรัฐ' ซึ่งแต่ละรัฐยอมสละอำนาจบางส่วนให้กับ 'รัฐบาลกลาง' (Federal government) โดยเฉพาะด้านต่างประเทศ ที่ represent สหพันธรัฐ ดังนั้น ตำแหน่งประธานาธิบดีจึงห่างไกลจากการชีวิตประจำวันของประชาชนธรรมดา ซึ่งใกล้ชิดกับรัฐบาลรัฐมากกว่า

แต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกานี่มีครบเลยนะครับ ส.ส. ส.ว. ผู้ว่าการรัฐ อัยการสูงสุด ฯลฯ และมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีของตัวเองด้วย รัฐในอเมริกาจึงคลับคล้ายเป็นประเทศๆหนึ่ง

นี่เป็นตัวอย่างนิดหน่อยเท่านั้น ดังนั้น ผมคิดว่าการเปรียบเทียบสองประเทศ ต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกัน รวมถึง rule of the game ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็น อย่างระมัดระวัง

3. การแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ

เนื่องจาก องค์กรอิสระหลายองค์กรถูกออกแบบเพื่อเป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งโดยหลักการแล้ว ต้องไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายบริหาร

นวัตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นจาก รธน ใหม่นี้ ปฏิรูปมาจากองค์กรเดิมที่เคยมีอยู่ แต่ตอนนั้นสังกัดฝ่ายบริหาร เช่น ปปป.เดิมที่สังกัดสำนักนายกฯ เป็นต้น

ในระบบการเมืองแบบรัฐสภา โดยเฉพาะการเมืองแบบไทยๆ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติสัมพันธ์ใกล้ชิด (ลำพังการให้ รมต.พ้นจาก สส. ไม่เพียงพอในการสร้างกลไกการคานและดุลอำนาจได้) ซึ่งฝ่ายบริหารครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติมาโดยตลอด (ซึ่งเป็นผลจากกติกา) ผู้นำเสียงข้างมากในสภา มีอยู่แล้ว ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี แม้ตัวอาจจะไม่อยู่ในสภา(ตามกฎหมาย)

ดังนั้น กระบวนการคัดสรรสมาชิกองค์กรอิสระจึงไม่สมควรถูกเลือกโดยสภาล้วนๆ เพราะผู้เลือกมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะต้องเป็นผู้ถูกตรวจสอบในบั้นปลาย เมื่อผู้แทนมีพฤติกรรมแบบสัตว์เศรษฐกิจ ก็ย่อมต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเป็นธรรมดา

การออกแบบที่มาของกระบวนการคัดสรรสมาชิกองค์กรอิสระจึงมีความสำคัญ เพราะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการได้มาซึ่งสมาชิกที่เป็นอิสระ สมเจตนารมณ์

ซึ่งการได้รับคัดเลือกจากฝ่ายใช้อำนาจรัฐ (รัฐบาล) ที่ต้องถูกตรวจสอบ หรือฝ่ายที่ถูกฝ่ายใช้อำนาจรัฐครอบงำได้โดยระบบ (นิติบัญญัติที่ถูกรัฐบาลครอบงำได้ง่าย) จึงไม่สามารถการันตีความเป็นอิสระได้เลย มิหนำซ้ำยังทำลายความเป็นอิสระ ดังปรากฏในผู้ที่ได้รับคัดเลือกชุดหลังๆของหลายองค์กรอิสระ

โจทย์แรกจึงอยู่ที่ว่า จะออกแบบกลไกการคัดสรรสมาชิกองค์กรอิสระอย่างไรให้ได้สมาชิกที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง

โจทย์ที่สองก็คือ จะออกแบบกลไกการคัดสรร ให้ยึดโยงกับประชาชนอย่างไร เพราะองค์กรอิสระไม่ควรถูกงอกมาจากชนชั้นนำทางอำนาจ โดยหาลิงก์กับประชาชนทั่วไปไม่เจอ

การให้อธิการบดีก็ดี หรือจากสมาชิกองค์กรอิสระอื่นๆ ที่มีลิงก์กับประชาชนต่ำ อาจแก้โจทย์แรกได้ดีกว่าการให้สภามีส่วนในการคัดเลือก (ผมบอกว่า ดีกว่านะครับ เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงระบบไม่ชัดเจน)แต่ตอบโจทย์สองไม่ได้

ในขณะที่การปล่อยให้การคัดเลือกเป็นกระบวนการของรัฐสภาล้วนๆ ตอบโจทย์สองได้ชัด แต่ยากจะตอบโจทย์ข้อแรกได้

จะตอบโจทย์ทั้งสองอย่างไรร ผมไม่มีคำตอบ

ถ้าคิดเล่นๆ (แบบเล่นมากๆเลยนะครับ) คือ สุดขั้วหนึ่งคือ ใช้ประชาชนทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (อ้าว ก็จะหาลิงก์กับประชาชน ก็ให้ประชาชนเลือกเองเลยสิ ไม่เห็นต้องผ่านผู้แทน) อีกสุดขั้วหนึ่งคือ แนวคิดเสธหนั่นที่ว่า ให้องคมนตรีเป็นผู้เลือก (ก็ถ้าอยากได้คนที่สังคมไทยมาตรฐานเชื่อถือ ก็เอาคนที่ในหลวงตั้ง มาคัดสรรแล้วส่งให้วุฒิสภาเลือกเลยสิ)

แต่โมเดลที่อยู่ตรงกลางๆ คือสิ่งที่น่าสนใจที่สุด

โมเดลกลางๆของผมทางหนึ่งคือ ให้วุฒิสภาจัดการทั้งกระบวนการเลย (ทั้งคัดสรรและคัดเลือก) โดยคัดสรรจากกรรมาธิการวิสามัญที่สมาชิกวุฒิสภาเลือกกันเอง ทำบัญชีรายชื่อเสนอที่ประชุมวุฒิสภาเลือก

แต่ข้อแม้สำคัญก็คือ ถ้าเป็นอย่างนั้น วุฒิสภาต้องเปลี่ยนที่มาแห่งอำนาจเสียก่อน จะมีที่มาจากการเลือกตั้งด้วยระบบแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ (เพราะฐานที่มาแห่งอำนาจไม่ต่างอะไรจาก สส. ทำให้วุฒิสภาทำตัวเหมือน สส. - ลองอ่านบทความที่ผมเคยเขียนในเวปปกป้องดูประกอบ จันวิทย์นะครับไม่ใช่ศรีสนิท)

ถ้าออกแบบระบบเลือกตั้งไม่ให้ฝ่ายบริหารครอบงำวุฒิสภาได้เหมือนปัจจุบัน วุฒิสภาสามารถทำหน้าที่นี้ได้ทั้งกระบวนการ

โจทย์ต่อมาก็คือ แล้วจะออกแบบเลือกตั้งวุฒิสภาอย่างไรดี

หากคิดแบบง่ายๆ ก็ใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง อันนี้ดุลอำนาจในวุฒิสภาจะต่างจาก สส.แน่นอน แต่ปัญหาคือบริหารจัดการเลือกตั้งยาก

ซึ่งถ้าเปลี่ยนที่มาของวุฒิสภา อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาก็ต้องเปลี่ยนด้วย และผมว่า สามารถให้วุฒิสภารับหน้าที่คัดสรรและคัดเลือกองค์กรอิสระไปได้เลย

จะออกแบบการเลือกตั้งวุฒิสภาอย่างไรร ต้องรอให้พี่บุญชิตกลับไปนอนฝัน แล้วเอาไอเดียในฝันมาเล่าสู่กันฟังอีกทีนึง

1:31 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เดี๋ยวคงต้องมาเคลียร์เรื่องนอนฝัน

วันนึงผมเถียกับตาปิ่น เรื่อง ส.ส. ควรสังกัดพรรคหรือไม่
เถียงจนผมจำนนด้วยเหตุผลในขณะนั้น แต่ไม่ยอมแพ้

คืนนั้นผมเก็บไปฝัน และแปลก คือในฝันได้บอก
ทางออกที่สามารถอธิบาย "ข้อติดใจ" ที่ค้างอยู่ของผมได้หมด

มันแปลกมาก คือเคลียร์ทุกข้อสงสัยเลย

ผมเคยผ่านวิทยานิพนธ์ เพราะมีความฝันมาช่วยเขียนแล้วทีนึง

...........
(ต่อไปนี้ข้อความส่วนตัว)
เฮ้ย เอ็กซ์มันรับพี่ที่เดียวว่ะ HK !!! แต่เสือกรับในสาขากฎหมายแพ่งซะงั้น (droit de la responsabilité et des assurances) ครูชื่อ Brushi (ใครวะ ไม่ใช่ Pontier ด้วยโว้ย)

เครียดฉิบหาย วันนี้จะไปคุยกับครูสเคลมองต์ ว่าทำไมทำกับฉันอย่างนี้ และอาจจะขอให้เขายัดเข้าเคลมองต์เลย เหมือนกรณียัยกาเร่ต์ปีที่แล้ว

นี่หัวตื้อไปเลยว่ะ ซวยรับวันเกิด HK !!!

8:21 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เรื่องที่ถกเถียงกัน คือ โมเดลไหนจะดีกว่ากัน ซึ่งผมไม่ทราบเหมือนกัน แต่ที่แน่ ๆ ผมเชื่อว่า วิถีทางทางการเมืองต้องได้รับการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ สสร. ดูเหมือนจะกระโดดข้ามไปเยอะมาก และอธิบายไม่ได้ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ที่ต้องมประชาชนเป็นจุดเชื่อม หรือเป็นฐานให้อำนาจฯ คุณทักษิณฯ ก็ได้อำนาจมาจากปวงชน ตามระบบที่เรายึดถือมานาน คือ ระบบรัฐสภาแบบอังกฤษฯ จะว่าไม่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงก็ถูก แต่ก่อนเลือกตั้ง ทุกคนก็รู้ว่า ถ้าอยากให้ใครเป็นนายกฯ ต้องเลือกพรรคไหน จุดสำคัญ คือ การได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชนเหมือนกัน แต่ต่างระบบกันเท่านั้นฯ

อธิการบดีฯ สำคัญเช่นใด ทำไม สำคัญเฉพาะอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐฯ เท่านั้นหรือ อย่างนี้ แบ่งชนชั้นวรรณะ ระหว่างอธิการบดี มหาวิทยาลัยเอกชน กับมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือไม่ หรือ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยของดีกว่า หรือเลวไม่เป็น แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชน เลวได้ และต่ำต้อยกว่าฯ

คณะกรรมการฯ สรรหา ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่ได้สนองพระบรมราชโองการ ฯลฯ ไม่มีจุดเชื่อมกับอำนาจอธิปไตย ที่เป็นของปวงชนฯ มีรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนนักการเมือง มีกลุ่มผลประโยชน์ฯ (Interest group) หนุนหลัง หรือ ไปหนุนหลังกลุ่มผลประโยชน์ได้ฯ ไม่ต่างจากนักการเมืองหรอกฯ ผมมองไม่เห็นจุดเชื่อมโยงใด ๆ ระหว่างอำนาจอันสูงส่ง กับสถานะที่เขามีฯ

ด้วยเหตุผลที่ผมเชื่อในกระบวนการทางการเมืองฯ แต่ไม่ทราบว่า คุณปิ่นฯ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจระบบของไทยและสหรัฐดีฯ จะเชื่ออย่างไร แต่ผมไม่เชื่อว่า ใครจะดีหรือเลวกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นอธิการบดีฯ หรือนักการเมือง มันขึ้นอยู่กับบริบทในของบุคคลนั้นว่าเขาจะมีอำนาจฯ มีโอกาสในการทำดีหรือทำชั่ว แล้วเขาหักห้ามใจได้หรือไม่ ได้เท่านั้น

ในสหรัฐฯ มีระบบการเมืองที่แข็งแกร่ง มีผลประโยชน์มากมายหนุนหลังฯ ผู้สมัครฯ แต่ก็มีเลวมากมาย อย่างผู้ว่าการรัฐอิลลินอย ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไป เพิ่งถูกดำเนินคดีฐานทุจริตฯ ไป ผู้ว่าการรัฐอิลลินอย คนก่อน ก็มาบรรยายที่มหาวิทยาลัยของผม ท่านก็ว่า ท่านได้รับการสนับสนุนทางการเงินนับร้อย ๆ ล้านดอลล่าร์ กว่าจะได้มาเป็นผู้ว่าการรัฐฯ อย่างที่คุณปิ่นฯ ว่านั่นแหละ

สรุป คือ ผมเชื่อว่ามันเป็นกระบวนการทางการเมือง ที่ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาตัวฯ และมันเป็นบริบทของสังคมไทย ที่ประชาชนชอบรักษาสิทธิ์ แต่ไม่ยอมทำตามหน้าที่ที่ตนเองมี การยัดเยียดอะไรโดยขาดพื้นฐานการพัฒนาการที่ดี ก็เหมือนกับที่คุณปิ่นฯ ว่า คือ การชักว่าวทางวิชาการ ที่ไม่อาจจะคาดหวังได้ว่าอะไรจะดีขึ้น แล้วคอยดูผลสุดท้ายว่ามันเป็นอย่างไร อีกไม่นานเกินรอฯ คงไม่ตายก่อนแน่ ๆ ๆ

9:24 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เพิ่มเติมอีกนิด อย่าเอาในหลวงท่านมาปนการเมืองเลย ถ้าเรารบกวนบารท่านบ่อยฯ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นฯ แต่ที่แน่ ๆ ไม่เป็นผลดีแน่ ๆ ๆ ที่ผมไม่พูดถึงอเมริกาอย่างละเอียด ประการแรก คือ ผมไม่แน่ใจว่าที่ผมศึกษา ๒ ปี ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มานั้น ผมรู้จริงหรือไม่ ประการที่สอง มันเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนฯ แต่อย่างไร ก็ตาม ขอกล่าวดังนี้

โดยประสบการณ์ เรื่องอเมริกา ไม่ใช่เงินซื้อเสียง แบบโดยตรง อาจจะจริง แต่ไม่ใช่เงินฯ ซื้อเสียงทางอ้อม เห็นจะไม่จริง ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยหลายท่าน มาแสดงปาฐกถาฯ ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอย ท่านก็ยอมรับว่า ต้องใช้เงินจำนวนมากฯ ยิ่งระดับประธานาธิบดีแล้ว ใช้เงินน่าจะหลายร้อยล้านหรือเป็นพันล้านดอลล่าร์ฯ เพื่ออะไรหรือ แค่เกียรติฯ หรือ อะไร

อัยการสูงสุด และผู้พิพากษาของแต่มลรัฐฯ ส่วนใหญ่ ของมาจากเลือกตั้งโดยตรงเหมือนกัน ก็ใช้เงินหลายเหมือนกัน ซึ่งเงินเดือนรวมกันในวาระที่ดำรงตำแหน่งฯ ก็ยังไม่ได้ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของการลงทุน รณรงค์การเลือกตั้ง เป็นอัยการสูงสุดและพิพากษาประจำมลรัฐฯ

อะไรคือ ทำให้ระบบที่ดูเหมือนจะแย่ ดำรงอยู่ได้ อันนี้ น่าคิดฯ เท่าที่ผมเรียนกฎหมายอาญาและกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐมา พบว่า เมื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีฯ หรือผู้ว่าการรัฐฯ เข้าไปทำงานแล้ว เขาทำงานจริงจังฯ ระบบการสืบสวนดำเนินคดีโดย FBI ที่เข้มแข็ง สามารถเข้ามาดำเนินคดีกับคดีเกือบทุกประเภทในระดับมลรัฐ เพราะสหรัฐเป็นแบบ Dual jurisdictions ที่คู่ขนานระดับมลรัฐและรัฐบาลกลางฯ มีอีกหลายตัวแปรที่น่าสนใจครับ

9:43 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

情趣用品,情趣用品,情趣用品,情趣用品,情趣用品,情趣用品,情趣,情趣,情趣,情趣,情趣,情趣,情趣用品,情趣用品,情趣,情趣,A片,A片,情色,A片,A片,情色,A片,A片,情趣用品,A片,情趣用品,A片,情趣用品,a片,情趣用品,A片,A片

A片,A片,AV女優,色情,成人,做愛,情色,AIO,視訊聊天室,SEX,聊天室,自拍,AV,情色,成人,情色,aio,sex,成人,情色

免費A片,美女視訊,情色交友,免費AV,色情網站,辣妹視訊,美女交友,色情影片,成人影片,成人網站,H漫,18成人,成人圖片,成人漫畫,情色網,日本A片,免費A片下載,性愛

情色文學,色情A片,A片下載,色情遊戲,色情影片,色情聊天室,情色電影,免費視訊,免費視訊聊天,免費視訊聊天室,一葉情貼圖片區,情色視訊,免費成人影片,視訊交友,視訊聊天,言情小說,愛情小說,AV片,A漫,AVDVD,情色論壇,視訊美女,AV成人網,成人交友,成人電影,成人貼圖,成人小說,成人文章,成人圖片區,成人遊戲,愛情公寓,情色貼圖,色情小說,情色小說,成人論壇


av女優,av,av片,aio交友愛情館,ut聊天室,聊天室,豆豆聊天室,色情聊天室,尋夢園聊天室,080聊天室,視訊聊天室,080苗栗人聊天室,上班族聊天室,成人聊天室,中部人聊天室,一夜情聊天室,情色聊天室,情色視訊

A片,A片,A片下載,做愛,成人電影,.18成人,日本A片,情色小說,情色電影,成人影城,自拍,情色論壇,成人論壇,情色貼圖,情色,免費A片,成人,成人網站,成人圖片,AV女優,成人光碟,色情,色情影片,免費A片下載,SEX,AV,色情網站,本土自拍,性愛,成人影片,情色文學,成人文章,成人圖片區,成人貼圖

8:04 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก