วันศุกร์, มิถุนายน 03, 2548

เมื่อชาวฝรั่งเศส ๑๕,๔๕๐,๒๗๙ คนคว่ำธรรมนูญยุโรป (๒)

คำถามที่สอง อะไรจะเกิดขึ้นกับฝรั่งเศสหลังจากกการคว่ำธรรมนูญยุโรป ?

เมื่อผลการลงประชามติออกมาว่าชาวฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบันธรรมนูญยุโรปเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศฝรั่งเศสในสองมุม

หนึ่ง การเมืองภายในประเทศ
ชีรัคและแกนนำรัฐบาลรู้ดีว่าในเสียงที่ไม่เอาด้วยกับธรรมนูญยุโรปนั้น จำนวนหนึ่งทำไปเพื่อลงโทษรัฐบาล เมื่อคนส่วนใหญ่ส่งสัญญาณแรงๆไปที่รัฐบาลเช่นนี้ ชีรัคก็มิอาจอยู่เฉยได้

ทันทีที่ผลการลงคะแนนออกมาอย่างไม่เป็นทางการ ชีรัครีบออกโทรทัศน์แถลงทันทีว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการเมืองภายในบางประการแน่นอน สองวันให้หลัง นายฌอง-ปิแอร์ ราฟฟาแร็งก็ลาออกจากตำแหน่งโดยการเกลี้ยกล่อมของชีรัค

ชาวฝรั่งเศสเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าตั้งแต่ปี ๒๐๐๒ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ฝรั่งเศสมีนายกฯไม่ได้ความอันดับต้นๆในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ

สาเหตุที่ชีรัคเลือกนายราฟฟาแร็งมาเป็นนายกฯและปล่อยให้อยู่มาได้สามปีท่ามกลางเสียงก่นด่าจากทุกสารทิศ มีเพียงประการเดียว คือ ชีรัคไม่ต้องการนายกฯที่เข้มแข็งและมีคะแนนนิยมมากกว่าตน บทเรียนจากรัฐบาลของนายกฯจอสแป็งที่มาจากฝ่ายซ้ายสอนชีรัคเสมอมาว่า ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกนายกฯที่เซื่องๆไว้จะดีกว่า

กล่าวได้ว่า งานนี้ราฟฟาแร็งเป็นเหยื่อของประชามติโดยแท้

ชีรัครีบกลบกระแสความไม่พอใจรัฐบาลไม่ให้ประทุต่อไปด้วยการให้ราฟฟาแร็งลาออก (อาจไปเป็นประธานวุฒิสภาต่อไป) แล้วตั้งนายโดมินิก เดอ วิลล์แป็งมาดำรงตำแหน่งแทน พร้อมทั้งลากเอานิโกล่าส์ ซาร์โกซี่ คู่ปรับต่างวัยซึ่งมีคะแนนนิยมสูงกลับมาเป็น รมต.มหาดไทยอีกคำรบหนึ่ง

กล่าวสำหรับนายวิลล์แป็งผู้นี้ รู้กันดีว่าเป็นพลพรรคของชีรัคตัวยง พิสูจน์ฝีไม้ลายมือมาแล้วทั้งในตำแหน่ง รมต.ต่างประเทศ (ไปกล่าวสปีชในที่ประชุมยูเอ็นเรื่องจุดยืนของฝรั่งเศสที่ไม่เห็นด้วยกับการโจมตีอิรักของอเมริกา งานนั้นเล่นเอาอเมริกาหน้าชาอยู่) และรมต.มหาดไทย คะแนนนิยมก็ไม่เลวนัก ชีรัคเลยเลือกมาเพราะเป็นคนที่ตนคอนโทรลได้และมีภาพลักษณ์ดีในระดับหนึ่ง

ส่วนนายซาร์โกซี่นั้น เป็นที่ฮือฮามากว่าไฉนเขาจึงยอมกลับมาเป็นหมายเลขสองในรัฐบาลนี้อีก คอการเมืองรู้ดีว่าซาร์โกซี่มีความกระสันอยากเป็นผู้สมัครในนามพรรครัฐบาลเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ๒๐๐๗ ซึ่งอาจต้องขัดใจกับชีรัคที่ร่ำๆว่าจะลงอีกรอบเช่นกัน ปลายปีที่แล้วซาร์โกซี่ลงทุนลาออกจาก รมต.คลัง แล้วไปเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อคุมฐานเสียงพรรคในการผลักดันตนเองเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ๒๐๐๗ แล้วเหตุใดครั้งนี้จึงยอมกลับมาช่วยกันกู้วิกฤต เมื่อกลับมาทั้งที ระดับอย่างซาร์โกซี่ –ผู้เป็นซูเปอร์นายกฯในทางพฤตินัยในขณะเป็น รมต. มหาดไทย และรมต.คลัง- ทำไมไม่ขอตำแหน่งนายกฯไปเลย

การปรับเปลี่ยนเบอร์หนึ่งและเบอร์สองในรัฐบาลชุดนี้ของชีรัคสะท้อนให้เห็นว่าเขาตระหนักดีถึงอุณหภูมิการเมืองของประชาชนที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ อีกประการหนึ่ง นับได้ว่าช่วงนี้ยังเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะอีกด้วย เพราะปรับเสร็จก็เข้าฤดูพักร้อนที่ทุกคนจะละวางประเด็นการเมืองไว้ชั่วคราวแล้วมุ่งหน้าไปพักผ่อนอย่างเต็มที่ กว่าจะกลับมาสู้กันใหม่ก็ต้นกันยายน อุณหภูมิของคอการเมืองบางคนที่อาจยังไม่พอใจที่ชีรัคปรับเปลี่ยนน้อยเกินไปอาจลดลงก็เป็นได้

สอง บทบาทของฝรั่งเศสในสหภาพยุโรป
เมื่อฝรั่งเศสในฐานะผู้ก่อตั้งและพี่เบิ้มของสหภาพยุโรป แถมยังเป็นหัวโจกในการจัดทำธรรมนูญยุโรปนี้อีกด้วย กลับกลายเป็นประเทศแรกที่ปฏิเสธไม่เอาธรรมนูญยุโรปเสียเอง เช่นนี้แล้วภาวะผู้นำของฝรั่งเศสในสหภาพยุโรปจะลดลงไปอย่างมิต้องสงสัย

คืนวันที่ ๒๙ พ.ค. หลังจากรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ ชีรัคออกมาแถลงทันทีว่า ผลของประชามตินี้เป็นการแสดงออกที่สวยงามตามวิถีประชาธิปไตย ประชาชนในฐานะเจ้าของอธิปไตยได้แสดงเจตนารมณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป อย่างไรก็ตามชีรัคย้ำว่าผลครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าฝรั่งเศสจะไม่เอาด้วยกับการรวมตัวกันในนามสหภาพยุโรป พร้อมทั้งยืนยันว่าฝรั่งเศสจะเป็นแกนหลักในการดำเนินงานของสหภาพยุโรปต่อไป

นั่นก็เป็นพิธีกรรมทางการเมืองเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงฝรั่งเศสเสียหน้าไปพอสมควร และจะยิ่งเสียหนักขึ้นหากสมาชิกทั้ง ๒๔ ประเทศต่างเห็นดีเห็นงามกับธรรมนูญยุโรป แต่กลับไม่มีผลใช้บังคับเนื่องจากฝรั่งเศสเป็นแกะดำ

ฝรั่งเศสมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการจับมือกับเยอรมันเพื่อเป็นหัวหอกของสหภาพยุโรปในการต่อสู้กับอเมริกาในเวทีโลก (ไม่น่าเชื่อนะครับ เมื่อ ๖๐ ปีที่แล้วยังรบกันอยู่เลย ตอนนี้รักกันมาก) ปรากฏว่าเยอรมันเพื่อนซี้ตัดช่องน้อยแต่พอตัวให้สัตยาบันธรรมนูญนี้ไปแล้วด้วยช่องทางรัฐสภา เพราะรู้ดีว่าหากใช้ช่องประชามติแบบฝรั่งเศสคงไม่ผ่านเป็นแน่ เมื่อคู่หู “ฟร็องโก-อัลเลอมองด์” ไม่ครบคู่เสียแล้ว ก็เป็นที่น่าคิดว่าเยอรมันจะกลายเป็นผู้นำเดี่ยวในสหภาพยุโรปหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีเสือซุ่มอย่างสเปนซึ่งอยากขึ้นมาเป็นลูกพี่บ้าง แต่ติดที่ว่าไม่ได้เป็นประเทศผู้ก่อตั้ง แถมยังไม่ค่อยมีสตางค์เหมือนพวกพี่เบิ้มทั้งหลาย มางานนี้สเปนเดินยืดอกเต็มที่เพราะเป็นประเทศแรกที่ให้สัตยาบันด้วยช่องทางประชามติ จะไม่ผ่านได้อย่างไรครับ ในเมื่อชาวสเปนได้ประโยชน์มหาศาลจากสหภาพยุโรปไปเยอะ ขณะที่คนฝรั่งเศสกลัวว่าตนจะเสียประโยชน์

ประเด็นที่น่าคิดต่อไปอีก คือ เมื่อธรรมนูญยุโรปคว่ำไปแล้ว หากมีการเจรจาเพื่อจัดทำธรรมนูญใหม่ในครั้งต่อไปแล้ว ฝรั่งเศสจะมีอำนาจต่อรองเหลือมากน้อยเพียงใด ถ้าจะเอ่ยเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือวิ่งล็อบบี้เพื่อนให้เห็นดีเห็นงามกับตัวแล้วจะมีใครฟังฝรั่งเศสอีกหรือไม่

ฝ่ายที่สนับสนุนธรรมนูญยุโรปในฝรั่งเศสต่างหยิบยกข้อวิตกเหล่านี้มาเป็นประเด็นหาเสียงในการรณรงค์ก่อนมีประชามติ แต่ฝ่ายไม่สนับสนุนกลับเห็นตรงกันข้ามว่าหากเรารับธรรมนูญยุโรปไปก็ไปแก้ไขเพิ่มเติมได้ลำบากเพราะต้องใช้มติเอกฉันท์หรือมติเสียงข้างมากพิเศษ

ส่วนตัวผมแล้ว ฝรั่งเศสอาจเสียหน้าและอาจเสียบทบาทไปบ้างแต่ในท้ายที่สุดอย่างไรเสียสหภาพยุโรปคงขาดฝรั่งเศสไปไม่ได้และฝรั่งเศสก็มิอาจขาดจากสหภาพยุโรปได้เช่นกัน ฝรั่งเศสยังมีศักยภาพที่เพียงพอในการผลักดันสหภาพยุโรปไปข้างหน้าเพื่อต่อกรกับอเมริกา (มหาอำนาจปัจจุบัน) จีนและอินเดีย (มหาอำนาจใหม่) และรัสเซีย (มหาอำนาจเก่าที่อาจจะกลับมา) ในขณะที่ฝรั่งเศสเองก็มิอาจออกรบกับมหาอำนาจเหล่านี้เพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้ฝรั่งเศสและประเทศสมาชิกในยุโรปอื่นๆต่างก็จำเป็นต้องรวมตัวกันในการเดินบนกระดานหมากรุกโลก

เอาเข้าจริง ถ้าเราพิจารณาถึงฝ่ายที่ไม่สนับสนุนธรรมนูญยุโรป เสียงส่วนใหญ่ไม่ได้บอกว่าจะไม่เอากับสหภาพยุโรป หากแต่ขอเพียงแก้ไขปรับปรุงสหภาพยุโรปในทางที่เขาเห็นควร (เช่น ไม่ทุนนิยมเสรีจนเกินไป, ปกป้องประโยชน์และเอกลักษณ์ของชาติบ้าง เป็นต้น) มีเพียงเสียงส่วนน้อยซึ่งเป็นพวกขวาจัดเท่านั้นที่ประกาศกร้าวเลยว่าไม่อยากให้ฝรั่งเศสไปสังฆกรรมกับสหภาพยุโรป (น่าขันที่หัวโจกของขวาจัดออกมาต่อต้านยุโรปทุกอย่างแต่กลับไปเป็นสมาชิกสภายุโรปทั้งนั้น)

คำถามที่สาม อะไรจะเกิดขึ้นต่อประเทศสมาชิกอื่นๆและสหภาพยุโรป ?

ธรรมนูญยุโรปนี้จะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อสมาชิกทั้ง ๒๕ ประเทศให้สัตยาบันทั้งหมด เมื่อฝรั่งเศสไม่ให้สัตยาบันเป็นประเทศแรกก็หมายความว่าไม่มีทางที่ธรรมนูญยุโรปนี้จะมีผลไม่ว่าประเทศที่เหลือจะให้สัตยาบันทั้งหมดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ยังไม่เริ่มกระบวนการให้สัตยาบันหลายประเทศ เช่น ฮอลแลนด์ ลักเซมเบิร์ก โปแลนด์ ต่างยืนยันว่า ผลประชามติ ๒๙ พ.ค. ไม่มีผลเหนี่ยวรั้งกระบวนการให้สัตยาบันของตน

มีเพียงอังกฤษเท่านั้นที่เริ่มมีเสียงแว่วมาแล้วว่าอาจจะไม่ดำเนินกระบวนการให้สัตยาบันด้วยประชามติเพราะไม่เห็นความจำเป็นอีกต่อไป ถึงอังกฤษจะยอมรับธรรมนูญนี้ ก็ไม่มีทางที่จะมีผลใช้บังคับ

เป็นที่ทราบกันดีว่าอังกฤษไม่ได้พิศวาสสหภาพยุโรปเท่าไรนัก จะเห็นได้จากการไม่ร่วมสังฆกรรมใช้เงินยูโร หรือการเดินทางภายในสหภาพยุโรปอย่างเสรีโดยไม่ต้องขอวีซ่าหรือที่รู้จักกันดีในนามกฎ “เช็งเก้น” คนอังกฤษมีความอนุรักษ์และภาคภูมิใจในชาติของตนสูง และไม่อยากเสียเอกลักษณ์บางอย่างจากการเข้าร่วมสหภาพยุโรป

เชื่อได้ว่าเมื่อไรที่อังกฤษทำประชามติในประเด็นที่เกี่ยวกับสหภาพยุโรปแล้ว ยากนักที่จะผ่านได้หรือถ้าผ่านก็ผ่านแบบเต็มกลืน กรณีนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลอังกฤษคาดการณ์ไว้ว่าอาจมีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไม่รับธรรมนูญนี้ และประเทศนั้นก็ต้องรับผิดชอบไปในข้อหาเป็นต้นเหตุคว่ำธรรมนูญ อังกฤษจึงหลีกเลี่ยงขอเป็นประเทศสุดท้ายที่จะเริ่มกระบวนการให้สัตยาบัน หากมีอุบัติเหตุให้ธรรมนูญคว่ำไปเสียก่อน อังกฤษก็ลอยตัวไม่ขอเริ่มกระบวนการให้สัตยาบัน

นับได้ว่าอังกฤษอ่านเกมขาดจริงๆ

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑ มิ.ย. ที่ผ่านมา ฮอลแลนด์ – หนึ่งในประเทสผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรป - ได้ลงประชามติ ผลปรากฏว่าชาวฮอลแลนด์ร้อยละ ๖๑.๖ ไม่รับธรรมนูญยุโรป มีผู้รับเพียงร้อยละ ๓๙.๔ มีผู้ออกมาใช้สิทธิรวมร้อยละ ๖๒.๘

ก่อนหน้านี้ผลสำรวจในฮอลแลนด์ก็ออกมาแบบสุ่มเสี่ยงว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ผลจริงๆออกมากลับสูงหว่าที่คาดคิด วิเคราะห์กันว่าสาเหตุหนึ่งที่ตัวเลขวิ่งขึ้นไปสูงขนาดนี้น่าจะมาจากการที่ฝรั่งเศสไม่รับธรรมนูญยุโรปก่อนหน้านั้นเพียง ๒ วัน

ฮอลแลนด์คงชอบร้องเพลงเชียร์ “You will never walk alone” มั้งครับ ถึงไม่อยากให้ฝรั่งเศส “เดินอย่างเดียวดาย” แถมมาเดินเป็นเพื่อนด้วยเสียงที่ไม่เห็นด้วยเยอะกว่าอีกต่างหาก

คราวนี้เลยเป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โต เมื่อประเทศผู้ก่อตั้งสองประเทศกลับไม่ให้สัตยาบันธรรมนูญยุโรปนี้ภายในเวลาสองวัน หนังสือพิมพ์ในยุโรปหลายฉบับพาดหัวข่าวว่า “ยุโรปในวิกฤต” คณะมนตรียุโรปเรียกประชุมหารือกันยกใหญ่

ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศก่อตั้งหรือประเทศที่ร่ำรวยในสหภาพยุโรปจะไม่อยากรับธรรมนูญนี้เท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหภาพยุโรปขยายตัวออกไปเป็น ๒๕ ประเทศและจะเป็น ๒๗ ในปี ๒๐๐๗ นี้ ซึ่งสมาชิกใหม่ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งยากจน จึงเกรงกันว่าพี่เบิ้มทั้งหลายจะต้องไปอุ้มสมาชิกใหม่เหล่านี้

รายต่อไปที่จะลงประชามติ คือ ลักเซมเบิร์ก ประเทศเล็กๆแต่เป็นกระเป๋าเงินใบใหญ่ให้สหภาพยุโรป มีกำหนดการลงประชามติวันที่ ๑๐ ก.ค. ๒๐๐๕ ล่าสุดนายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กออกมาประกาศว่าหากธรรมนูญยุโรปไม่ผ่านตนจะลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

ถามว่าเมื่อธรรมนูญโดนคว่ำแล้ว สหภาพยุโรปจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

สนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญยุโรปกำหนดชัดเจนว่า ในกรณีที่ธรรมนูญยุโรปไม่ผ่าน ให้นำสนธิสัญญานีซซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันมาใช้บังคับต่อไป

วิตกกันว่าสนธิสัญญานีซอาจไม่เหมาะสมต่อไปในสภาพการณ์ที่สหภาพยุโรปขยายตัวขนาดนี้ จึงเป็นเจตนารมณ์ประการหนึ่งในการจัดทำธรรมนูญยุโรปขึ้น เมื่อต้องย้อนกลับไปใช้สนธิสัญญานีซดังเดิมแล้วจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ ยังน่าสงสัยอยู่

ความจริงแล้ว ในระหว่างจัดทำธรรมนูญยุโรป มีผู้เสนอกันว่าควรมี “แผนสอง” ไว้รองรับในกรณีที่ธรรมนูญยุโรปไม่ผ่าน แผนสองที่คิดกันก็มีอาจให้นำธรรมนูญยุโรปนี้กลับมาให้ องค์กรในสหภาพยุโรปพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติม แต่ปรากฏว่าไม่ผ่าน

ขณะนี้เริ่มมีการพูดกันแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในธรรมนูญยุโรปได้เปิดช่องไว้ว่าในกรณีที่มีประเทศใดประเทสหนึ่งไม่ยินยอมให้สัตยาบัน “ที่ประชุมระดับนโยบายและการเมืองของสหภาพยุโรป” ซึ่งเป็นที่ประชุมระหว่างประมุขของรัฐหรือผู้นำรัฐบาลของแต่ละสมาชิกสามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาได้

คาดการณ์กันไว้ทางหนึ่งว่า อาจมีการปรับปรุงธรรมนูญยุโรปโดยตัดสินใจอุ้มบทบัญญัติในหมวดที่หนึ่งและสองซึ่งว่าด้วยสถาบันในสหภาพยุโรปและสิทธิขั้นพื้นฐานเอาไว้ และตัดหมวดที่สามเจ้าปัญหาซึ่งว่าด้วยนโยบายของสหภาพยุโรปออกไป เพราะเอาเข้าจริงเสียงส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปล้วนแต่ข้องใจในหมวดที่สาม

กล่าวกันว่า อาจเป็นความผิดพลาดของคณะกรรมการร่างก็ได้ที่เอาเรื่องนโยบายสหภาพยุโรปมาใส่ในธรรมนูญยุโรปนี้ จริงๆแล้วควรเก็บไว้เป็นประเด็นเจรจาต่อรองในอนาคตภายในองค์กรของสหภาพยุโรปเสียดีกว่า เรื่องนโยบายเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและเต็มไปด้วยผลประโยชน์ การใส่ไว้ในธรรมนูญย่อมทำให้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งและนำไปสู่การคว่ำธรรมนูญในท้ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาให้ประชาชน – มีธรรมชาติของสัตว์การเมืองหรือสัตว์เศรษฐกิจ – ลงประชามติแล้วย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ผ่าน

................

โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี !!!

การบูรณาการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่สหภาพยุโรปก็ไม่มีทางได้มาฟรี จำเป็นต้องมีรัฐสมาชิกที่เสียประโยชน์บ้าง ระยะแรกเริ่มคงหนีไม่พ้นสมาชิกพี่เบิ้มทั้งหลายที่ต้องแบกรับภาระสมาชิกใหม่ แต่ระยะยาวเมื่อสมาชิกขยับขึ้นมาในระดับที่ไล่เลี่ยกันแล้ว ก็เป็นสมาชิกกันเองที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน

เอาเข้าจริงการขยายตัวของสหภาพยุโรปเป็น win-win situation การชักชวนประเทศยุโรปตะวันออกเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปก็เป็นผลประโยชน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองแก่ยุโรปตะวันตกเอง เมื่อยุโรปตะวันออกเข้ามาก็เท่ากับว่าขยายพรมแดนไปชนกับรัสเซียและเป็นการป้องกันไม่ให้รัสเซียกลับผยองอีกด้วย การรับตุรกีก็เช่นกัน เป็นไปเพื่อขยายพรมแดนไปชนกับตะวันออกกลางและเป็นกันชนระหว่างยุโรปกับประเทศอาหรับ ส่วนประเทศยุโรปตะวันออก เมื่อเข้าร่วมในสหภาพยุโรป แน่นอนว่าได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เมื่อมีผลประโยชน์ร่วมกันเช่นนี้ คงไม่มีสมาชิกรายใดที่อยากจะพลาดรถไฟขบวนสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปที่แข็งแกร่งย่อมสร้างดุลยภาพในเวทีการเมืองโลกมากขึ้น

สหภาพยุโรปที่แข็งแกร่งย่อมมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ณ วันนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่าสหภาพยุโรปไม่จำเป็น สหภาพยุโรปต้องเดินต่อไปและไม่มีทางถอยกลับอีกแล้ว

เพียงแต่ว่าจะเดินไปทางไหนเท่านั้นเอง

3 ความคิดเห็น:

Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เข้ามา "สาธุ" ได้อย่างเดียว

ไม่มีอะไรมา ajouter ได้เลย...

เต็มอิ่มจริงๆ

9:03 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ยอดเยี่ยมมากครับท่านอาจารย์ฯ จะเข้ามาติดตามตอนต่อไป

7:58 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มาอ่านครับ ยอดเยี่ยมมาก

10:50 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก