วันพุธ, มีนาคม 05, 2551

ศาลฝรั่งเศสสั่งแบนเว็บไซต์นักเรียนให้คะแนนครู

วันที่ ๓ ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลฝรั่งเศสได้พิจารณาคดีคำฟ้องฉุกเฉินของสหภาพครู SNES-FSU และครูอื่นๆอีก ๕๐ คน ซึ่งขอให้ศาลสั่งให้เจ้าของเว็บไซต์ www.note2be.com ยุติการเผยแพร่การให้คะแนนครูโดยนักเรียน

เว็บไซต์ note2be เริ่มเปิดทำการเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสให้คะแนนครูกลับคืนบ้าง ด้วยเห็นว่าครูมีอำนาจในการให้คุณให้โทษแก่นักเรียนผ่านทางคะแนนในแต่ละวิชา แต่นักเรียนกลับไม่มีโอกาสประเมินผลงานของครู นอกจากนี้ก็ยังเปิดกระดานข่าวให้นักเรียนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์การทำงานของครู

เว็บมาสเตอร์ได้แบ่งการให้คะแนนออกเป็น ๖ กลุ่ม ได้แก่ ความน่าสนใจ, ความชัดเจนในเนื้อหาที่สอน, การมีเวลาให้กับนักเรียน, ความเป็นธรรม, บุคลิกน่าเคารพนับถือ, ความกระตือรือร้น นาย Stéphane Cola ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ เปิดเผยว่า นับแต่เปิดทำการ มีครูถึง ๗ หมื่นคนที่ถูกนักเรียนนำมาให้คะแนน ค่าเฉลี่ยคะแนนของครูแต่ละคนอยู่ที่ ๑๔ เต็ม ๒๐ ในแต่ละวันมีผู้ใช้บริการเข้ามาคลิกถึง ๒ แสนครั้ง

สหภาพแรงงานครู SNES-FSU เห็นว่าเว็บไซต์ดังกล่าว เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่กระทบต่อการเรียนการสอนและวิชาชีพครู จึงร่วมกันฟ้องศาล
ศาลสั่งให้เว็บมาสเตอร์ต้องลบชื่อครูและข้อมูลที่เกี่ยวกับการให้คะแนนครูออกทั้งหมดภายใน ๔๘ ชั่วโมง และให้เว็บมาสเตอร์จ่ายค่าเสียหายทางสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ร้องทุกคนคนละ ๑ ยูโร ศาลให้เหตุผลว่าการใช้เสรีภาพทางข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องมีข้อจำกัด ไม่อาจกระทบต่อกิจกรรมการเรียนการสอนได้ ศาลยังกล่าวอีกว่า การแสดงความคิดเห็นในกระทู้และการให้คะแนนครูโดยปราศจากการกลั่นกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการมาก ย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อการทะเลาะเบาะแว้งและบาดหมางกัน

มีข้อสังเกตว่า ศาลตัดสินให้เว็บไซต์ถอดชื่อครู คะแนน และข้อวิจารณ์ออก และศาลได้ห้ามเว็บไซต์เปิดพื้นที่ให้มีการให้คะแนนครูเท่านั้น นั่นหมายความว่าผู้ใช้บริการเว็บนี้ยังสามารถให้คะแนนและวิจารณ์โรงเรียนได้อยู่

นาย Xavier Darcos รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล เขาบอกว่าภารกิจที่ยากของอาชีพครู ไม่ควรถูกกล่าวร้ายหรือทำให้เสียหายจากบุคคลนิรนามและบุคคลที่ไม่เปิดเผยตัวตน ทางด้านนาย Francis Gerguin เลขาธิการสหภาพครู SNES-FSU กล่าวว่า นี่เป็นชัยชนะของทุกคน ไม่ใช่แค่ตนที่พอใจ ไม่ใช่แค่สหภาพครูของเราที่พอใจ แต่ผู้ประกอบวิชาชีพการเรียนการสอนทั้งหมดต่างพอใจกับคำตัดสินของศาลนี้

ทางด้านนาย Stéphane Cola ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ยืนยันว่า คำตัดสินของศาลอันน่ากังวลนี้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นอุปสรรคต่อแนวคิดของการมีอินเตอร์เนทในแง่ที่มุ่งหมายให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม และเขาจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลต่อไป เขายังให้ข้อมูลอีกว่าในหลายประเทศก็มีเว็บไซต์ในลักษณะเดียวกันนี้และศาลก็ไม่ได้กีดขวางการแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์แต่อย่างใด

นาย Cola ชี้แจงว่า กฎหมายเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารเปิดทางให้ครูที่ถูกนักเรียนระบุชื่อและให้คะแนนในเว็บไซต์สามารถร้องขอต่อเว็บมาสเตอร์ให้ลบชื่อของตนเองออกได้ แต่ในแต่ละวันมีครูเพียงประมาณ ๑๐๐ คนเท่านั้นที่ดำเนินการเช่นนี้

ในระหว่างอุทธรณ์คำสั่งของศาลนี้ นาย Cola ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะปรับรูปแบบของเว็บไซต์ให้เหลือเพียงวิจารณ์โรงเรียนโดยไม่ให้วิจารณ์ครู หรือจะปิดเว็บไซต์ชั่วคราวไปก่อนจนกว่าศาลจะตัดสินอุทธรณ์

ผู้คนในวงการอินเตอร์เน็ตเห็นว่าคำตัดสินนี้ไม่เป็นธรรมต่อการดำเนินการของเว็บไซต์ ไม่เป็นธรรมต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่เป็นธรรมต่อวงการเว็บไซต์โดยรวม ต่อไปภายหน้าเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้มีการตั้งกระทู้วิพากษ์วิจารณ์บุคคลใดหรืออาชีพใดอาจถูกสั่งห้ามอีกก็เป็นได้

อนึ่ง แม้เว็บไซต์ให้คะแนนครูแห่งนี้จะถูกกระบวนการยุติธรรม “แบน” แต่พฤติกรรมลอกเลียนแบบก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ในขณะนี้มีเว็บไซต์ www.note2bib.com เปิดพื้นที่ให้คนไข้หรือผู้รับบริการทางการแพทย์ได้มีโอกาสให้คะแนนแพทย์

คาดหมายได้ว่าอาจมีเว็บไซต์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นตามมาเป็นดอกเห็ด ให้คะแนนกันได้ตั้งแต่ช่างตัดผม ไปจนถึงคนขายขนมปัง...

4 ความคิดเห็น:

Blogger PoomK กล่าวว่า...

เห็นภาพเลยว่าถ้าเอาเว็บมาทำในไทยจะเป็นยังไง

1:15 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดี ครับ คง สนุก พิลึก


แต่ก็คงจบอย่างไว

11:52 หลังเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0815
giuseppe zanotti
coach outlet
michael kors outlet online
longchamp outlet
salomom shoes
converse trainers
ralph lauren uk
basketball shoes
ray ban sunglasses
canada goose jackets

10:05 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0815
canada goose jackets
jordan shoes
ugg boots
true religion jeans
louboutin shoes
nike huarache
canada goose jackets
louboutin shoes
adidas outlet

3:15 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก