ฝรั่งเศสก็ประท้วงจ้า
วันนี้ (๒๘ มี.ค.) ที่ฝรั่งเศส นักศึกษา รถไฟ รถเมล์ ขนส่งมวลชนทั้งหลายร่วมกันนัดหยุดงานและเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศ
ไม่ใช่ร่วมมือกับพันธมิตรประชาชนเพื่อ “นายกฯพระราชทาน” หรอกนะครับ (บอกไว้ก่อน เดี๋ยวลุงธิรู้เข้าจะโยงไปหาทักษิณอีก ๕๕๕) แต่พวกเขาออกมาต่อต้านกฎหมายสัญญาจ้างแรงงานใหม่
กฎหมายใหม่นี้สร้างระบบการจ้างแรงงานแบบใหม่ขึ้น เรียกว่า Contrat première embauche (CPE) แปลเป็นไทยก็ประมาณ “สัญญาจ้างงานครั้งแรก” สัญญานี้ออกมาเพื่อมุ่งหมายใช้กับแรงงานใหม่อย่างเหล่าบัณฑิตที่พึ่งจบการศึกษา
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาต้นๆของฝรั่งเศส คือ การว่างงาน โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ทั้งหลายจะประสบปัญหาดังกล่าวมาก เพราะ บริษัทต่างๆไม่นิยมจ้างเข้าทำงาน ด้วยเกรงว่าหากบริษัทไม่พอใจในฝีมือและต้องการเลิกจ้าง ทางบริษัทก็ต้องเสียค่าชดเชยการเลิกจ้าง สู้เอาตำแหน่งงานที่ว่างไปจ้างแรงงานที่มีประสบการณ์จะดีกว่า
รัฐบาลจึงเกิดแนวคิดสร้างสัญญาจ้างแรงงานแบบใหม่เพื่อจูงใจให้บริษัทรับแรงงานจบใหม่เข้าทำงาน สัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญอยู่ที่ว่าบริษัทที่สามารถเลิกจ้างบัณฑิตจบใหม่ได้หากสัญญาผ่านไปแล้ว ๒ ปี โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลการเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชย ทั้งนี้ให้ใช้บังคับเฉพาะสัญญาจ้างแรงงานในครั้งแรกเท่านั้น
รัฐบาลผลักดันร่างกฎหมายสัญญาจ้างแรงงานแบบใหม่นี้ด้วยความรวดเร็ว ปัจจุบันมีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อย แม้จะมีเสียงประท้วงจากนักศึกษาเป็นจำนวนมากก็ตาม
ล่าสุดนายกรัฐมนตรีโดมินิก เดอ วิลล์แป็ง ยืนยันว่าไม่มีการทบทวน ไม่มีการแก้ไข ไม่มีการต่อรองสัญญาดังกล่าว เขายืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งฝ่ายบริษัทและบัณฑิตจบใหม่ ฝ่ายบริษัทก็กล้าจ้างบัณฑิตไปทดลองงาน ฝ่ายบัณฑิตก็มีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น และหลักการที่ว่าผ่านไป ๒ ปีแล้วเลิกจ้างโดยไม่ต้องให้เหตุผลและค่าชดเชยนั้นก็ใช้เฉพาะกับสัญญาครั้งแรกเท่านั้น ไม่ได้ใช้ตลอดไป
นักศึกษาเห็นแบบนี้เข้าก็ไม่ยอม เพราะกฎหมายฉบับนี้สั่นคลอนความมั่นคงในการทำงานของพวกเขา เลยเดินขบวนประท้วงกันยกใหญ่ สองสัปดาห์ก่อน นักศึกษาที่ปารีสประท้วงหนัก ยึดมหาวิทยาลัย ปิดถนน บ้างก็มีทำลายข้าวของ
และเป็นธรรมดาของการชุมนุมในทุกที่ เมื่อมีการรวมตัวฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ชุมนุมเช่นกัน นักศึกษาอีกส่วนที่ไม่พอใจชุมนุมแบบสันติวิธีด้วยการใช้สัญลักษณ์ถือดอกไม้สีขาว ใช้ผ้าสีขาวพันแขนหรือมือ พวกเขาบอกว่าการชุมนุมควรไปทำตามถนน อย่ามาทำที่มหาวิทยาลัย พวกเขาต้องการเรียนหนังสือ
นี่แหละครับ บรรยากาศประชาธิปไตย
ขณะที่ผมเขียนอยู่ ก็ได้ยินเสียงกลอง เสียงโห่ร้องมาแล้วครับ ขบวนเริ่มเดิน ล่าสุด ๑๖.๐๐ น. ตัวเลขของแกนนำผู้ชุมนุมวันนี้ที่ Nantes เมืองที่ผมอยู่ มีผู้เข้าร่วมประมาณระหว่าง ๔๒,๐๐๐ ถึง ๖๐,๐๐๐ คน ที่ปารีสอีกร่วม ๗๐๐,๐๐๐ คน รวมทั้งประเทศกว่า ๒ ล้านคน (แต่ทางตำรวจบอกแค่ ๕ แสนกว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าใครมั่ว แหม เหมือนเมืองไทยเลยนิ)
ก่อนจะจบ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการชุมนุมของฝรั่งเศสอยู่สองข้อ
ข้อแรก การชุมนุมใหญ่ๆมักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม เพราะอากาศเริ่มดี ความหนาวเริ่มจากไป แสงแดดเริ่มมาเยือน ลองมองย้อนกลับไปการชุมนุมและการนัดหยุดงานครั้งสำคัญที่ส่งแรงสะเทือนการเมืองฝรั่งเศสมักจะเกิดในช่วงนี้
ข้อสอง คนฝรั่งเศสชินกับการชุมนุมมาก แน่นอน ต้องเดือดร้อนจากการปิดถนน ไม่มีขนส่งมวลชนให้ใช้ แต่พวกเขาก็เข้าใจว่านี่เป็นเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย หลักพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Solidarité) ทำให้ชาวฝรั่งเศสไม่ตำหนิการชุมนุมเท่าไรนัก เพราะ ของแบบนี้ ทีใครทีมัน บางครั้งอาจกลายเป็นเราที่เดือดร้อนต้องมาชุมนุมบางคราวอาจเป็นคนอื่นที่ต้องชุมนุม สลับกันเข้าอกเข้าใจกันไป
นอกจากนี้ ภาคประชาชนที่นี่แข็งแกร่งมาก การจัดตั้งเป็นมืออาชีพ ระดมคนได้เยอะ กดดันได้อย่างมีพลัง แล้วการชุมนุมของพวกเขาจะชัดเจนมากว่าเป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ของตนเอง เพราะกลุ่มต่างๆเหล่านี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องประโยชน์ตนเอง เรียกร้องสิทธิที่ควรได้ ต่อรองกับฝ่ายการเมือง การชุมนุมเปิดเผยตรงไปตรงมาเลยว่าทำเพื่อประโยชน์ตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องอ้าง “ชาติ”
ข้อนี้แตกต่างกับบ้านเราชัดเจน การชุมนุมบ้านเราจะดูดี ดูชอบธรรม ต้องอ้าง “ชาติ” เสมอ สังเกตจากการชุมนุมของสมาคมน้ำตาล สมาคมข้าว ชาวไร่ชาวนา ที่มาเรียกร้องผลประโยชน์ตนเอง คนไทยมักไม่พอใจหาว่ามาเกะกะถนน ทำรถติด เอาแต่ประโยชน์ตนเอง ทำให้คนอื่นลำบาก แต่ถ้ามาในนาม “กู้ชาติ” หรือ “ช่วยชาติ” ก็ดูเหมือนว่าการปิดถนนจะมีเหตุผลมากขึ้น
ที่สำคัญ การชุมนุมที่นี่ ไม่จำเป็นต้องง้อ “ฟ้าประทาน” ครับพี่น้อง....
14 ความคิดเห็น:
Test
จากทุกครั้งที่เห็นชาวฝรั่งเศส นักศึกษา องค์กร องค์การต่างๆเค้าชุมนุมทีไร ก็เห็นถึงพลัง ความแข็งแกร่ง ที่จะต่อกรให้ได้ซึ่งสิ่งที่ต้องการทุกครั้งไป (ชอบ)
สำหรับปัญหาเรื่องนี้ เดี๋ยวกลับมาตอบต้องไปทำงานก่อนแล้ว
มีสุขตลอดวันนะคะ ^_^
ขอช่วยแก้ข้อมูลนะคะ
ถ้าลูกจ้างโดนไล่ออกระหว่างระยะเวลาทดลองงานสองปี ลูกจ้างจะได้รับ Indemnité de rupture เป็นจำนวน 8% ของเงินเดือนที่ได้รับตั้งแต่เริ่มสัญญาว่าจ้างงาน CPE ค่ะ
Sauf faute grave de sa part, le salarié bénéficie d'une indemnité de rupture de 8 % (du montant total de sa rémunération brute due depuis la conclusion du contrat) quand l'employeur est à l'origine de la rupture (par ailleurs, l'employeur verse aux Assedics un montant égal « à 2 % de la rémunération brute due au salarié depuis le début du contrat »). Si son contrat est rompu après quatre mois passés dans l'entreprise, le titulaire d'un CPE touchera, en plus de l'indemnité de rupture, une allocation forfaitaire de 490 euros par mois pendant deux mois (16,40 euros par jour).
ส่วนเรื่องการประท้วงของนักศึกษาที่นี่ ไม่เห็นด้วยกับมุมมองของคนที่มองการประท้วงครั้งนี้จากภายนอก แต่ไม่ใช่มุมมองจากข้างใน จากคนที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วงครั้งนี้โดยตรง
ps: ตามอ่านมานาน คราวนี้ขอแสดงความคิดเห็นหน่อยละกันนะคะ อาจจะ critique มากไปนิด แต่อย่าว่ากันละกันค่ะ
ที่อาจารย์ว่า "การชุมนุมเปิดเผยตรงไปตรงมาเลยว่าทำเพื่อประโยชน์ตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องอ้าง 'ชาติ' " เนี่ยนะครับ
เฉียบคมมาก!....... ผมเห็นด้วยเต็มที่เลยครับ!
ผมไม่ค่อยนิยมพวกที่เอา "ชาติ" มาอ้างหา "ผลประโยชน์" ใส่ตัวอยู่แล้วหละครับ
จะเรียกร้องอะไรก็ต้องกล่าทำกล้ารับหน่อย อย่าไปแอบอ้าง มันไม่ใช่วิสัยของสุภาพชน
แต่ยังไงก็แล้วแต่ อันนี้ผมก็มีข้อสงสัยอยากจะถามอาจารย์ซักนิดนึงครับ
ผมก็พอจะเข้าใจว่า ที่ฝรั่งเศสมีกฎหมายบางฉบับ มันทำให้คนบางกลุ่มเสียผลประโยชน์ การชุมนุมก็สามารถบอกได้ว่าเพื่อผลประโยชน์ดังกล่าว
แต่ตอนนี้ผมอยากให้นายกฯ ซึ่งผมเห็นว่าขาด "จริยธรรม" และ "ความชอบธรรม" ในการบริหารประเทศออกไปน่ะซิครับ
อาจารย์พอจะมีผลประโยชน์อะไรมาให้ผมเรียกร้องบ้างไหมครับ?
สำหรับผมมันคืออย่างงี้น่ะครับ.......
กฎหมายหลายๆ ฉบับ นายกฯ ใช้อำนาจออกขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง วงศาคณาญาติ แล พวกพ้อง แต่เผอิญผมก็ไม่ได้เสียผลประโยชน์จากตรงนั้นเพราะผมฉลาดพอจะไม่ไปประกอบธุรกิจแข่งขันกับท่านอยู่แล้วน่ะครับ
ท่านนายกฯ อยากจะใช้อำนาจทั้งนิติบัญญัติ และ บริหารที่มีอยู่ เอาเปรียบใครมันก็เรื่องของท่าน ผมไม่เจ๊งแน่ๆ อยู่แล้ว
แต่ผมก็รู้สึกว่านี่ไม่เป็นธรรมอยู่นะ! ก็เห็นใจคนที่เค้าประกอบธุรกิจแบบแข่งขันที่เป็นธรรมและไม่มีอำนาจวาสนาจะออกกฎหมายมาให้เปรียบตนเองอยู่ไม่น้อยหรอกครับ
แต่ก็นั่นแหละ พวกผู้ประกอบการ นักธุรกิจ เหล่านั้นมันไม่ได้เป็นญาติกับผมนี่นา
แถมผมเองยังเห็นว่ากฎหมายหลายๆ ฉบับเป็นเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของต่างชาติ อันเป็นผลทำให้บริษัทผมมีงานเยอะและมีเงินมาจ่ายโบนัสผมเพิ่มด้วยนะครับ
ผมคิดว่าหากสิ้นนายกฯ ทักษิณ ไปแล้ว เศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ดีอย่างนี้ก็ได้ (GDP อาจจะหด เงินอาจจะเฟ้อ) นั่นหมายความว่าบริษัทอาจจะไม่มีเงินจ่ายโบนัสผมในปีนี้ ปีหน้า และอีกไม่รู้กี่ปี
แสดงว่าผมอาจจะเสียผลประโยชน์ (ที่เป็นตัวเงิน) หากไม่มีท่านนายกฯ ชื่อ "ทักษิณ" ก็ได้นะครับ
ผมเห็นแค่ว่า นายกฯ คนนี้ทำให้ "องค์กรตรวจสอบ" (ที่ได้ฉายาว่า "อิสระ" ทั้งหลาย) เป็นง่อย ไม่สามารถทำการงาน และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ (แต่ถ้าเป็น กทม. ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านจะทำงานคล่องตัวขึ้นมาทันที)
กรุณาพิจารณากรณี ศาลรัฐธรรมนูญ แล คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นตัวอย่าง
ไม่ต้องพูดถึงกรณี กรมสรรพากร กับการขายห้นปลอดภาษีหรอกครับ (มันไม่ใช่หุ้นนายกฯ หุ้นของคุณโอ๊คเค้า)
ความโปร่งใสที่ควรจะมีกลับทึบแสงไปเสีย
ไหนจะเรื่องเสรีภาพของสื่ออีกหละครับ ผมไม่ได้ทำสื่อนะครับอาจารย์ และก็ไม่ค่อยนิยมเสพย์เท่าไรนักด้วย
ผมนิยมแต่ดูหนัง แลถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาจาก TV เท่านั้นแหละครับ หนังสือพิมพ์ไม่แตะ (หมึกเปื้อนมือ) วิทยุก็ไม่ฟัง แต่ผมก็เห็นว่ามีคนอื่นที่ยังอยากดู อยากอ่าน แลอยากฟังอยู่บ้างนะ และมันก็เป็นสิทธิที่เค้าควรจะได้รับสื่อดังกล่าวได้
และผู้ใช้อำนาจของรัฐก็ไม่ควรใช้อำนาจเข้าครอบงำให้สื่อนำเสนอข่าวด้านเดียวด้วยซิ
แล้วแถมยังมีการมอมเมาประชาชนด้วย "นโยบายประชานิยม" พร้อมกับการเผยแพร่ความรู้ผิดๆ ไปสู่ประชาชนว่า "การเลือกตั้งเท่านั้นคือประชาธิปไตย" อีกแน่ะ
การเลือกตั้งครั้งนี้สะอาดหมดจดที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีมาแน่นอน เพราะท่านนายกฯ ใช้ "การเลือกตั้ง" มาเป็น "ผงฟอกขาว" ซะแล้วนี่นะ
ในฐานะที่พอจะศึกษากฎหมายมาบ้างแบบงูๆ ปลาๆ ผมก็รู้สึกว่าความคิดเหล่านี้มันไม่ถูก (คงต้องรบกวนอาจารย์ชี้แนะ) ผมไม่คิดว่า 19 ล้านเสียง หรือ 1 พันล้านเสียงจะสามารถ ฟอก "โจร" ให้กลายเป็น "นักบุญ" ได้
ท่านนายกฯ ไม่ควรจะใช้การเลือกตั้งมาเป็นข้ออ้างว่าเป็น "ผู้บริสุทธิ์" จากคะแนนนิยมที่ท่วมท้น จนกว่าจะได้ผ่านการตรวจสอบโดยองค์กรซึ่งมีอำนาจหน้าที่ซะก่อนน่ะครับ
หากผมต้องการให้
1. "องค์กร" เหล่านี้ทำหน้าที่ได้เป็น "อิสระ" อย่างฉายาที่ได้รับ
2. เกิด "ความโปร่งใส" ในการบริหารบ้านเมืองขึ้นมา
3. "สื่อ" มีเสรีภาพมากกว่านี้
4. เผยแพร่วิชานิติศาสตร์ (โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง) อย่างที่ผมเข้าใจนี้ ให้ประชาชนได้เข้าใจกันบ้าง
5. ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น
ผมควรจะบอกว่าผมเรียกร้อง "ผลประโยชน์" อะไรเพื่อตัวเองอยู่บ้างหรือครับอาจารย์?
นี่ผมก็ไม่เคยอ้างว่าทำเพื่อ "ชาติ" อยู่หรอกนะครับ อยากจะคิดทำเพื่อตนเองอย่างที่ชาวฝรั่งเศสเค้าทำกันเหมือนกัน
คงต้องรบกวนอาจารย์ให้ช่วยหา "ผลประโยชน์" ใส่ตัวผมหน่อยนะครับ
อันนี้ผมคิดเองเล่นๆ นะครับ.......
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ขณะนี้ ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงที่ราชอาณาจักรไทย กับที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส นั้น แตกต่างกันในข้อสาระสำคัญน่ะครับ?
ขอบคุณ คนไร้นาม ที่เข้ามาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผมไม่ได้ศึกษารายละเอียดสัญญานี้แบบเต็มๆน่ะครับ ก็อ่านเอาจากหน้าหนังสือพิมพ์เอา ขออภัยในความผิดพลาด
ตามการเมืองไทยเพลินไปหน่อย
แต่ที่เล่าเรื่องฝรั่งเศสในบล็อกตอนนี้ก็เพื่อกระทบชิ่งไปถึงเมืองไทยนั้นแล
ยังไง ถ้าคุณไร้นามติดตามเรื่อง CPE มา จะพอกรุณาเล่ารายละเอียดของสัญญานี้จะได้มั้ยครับ หรือทัศนคติต่อการชุมนุมก้ได้ ผมว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อหลายๆคนและถือซะว่าเป็นวิทยาทานให้ผมแล้วกัน
ขอบคุณที่ตามอ่านบล็อกผม เปิดบล็อกไว้มั่งรึเปล่าครับ จะขอตามเข้าไปอ่าน
ขอบคุณ มา ณ ที่นี้
ตอบคุณศรัทธา
ผมว่าความเห็นตอนท้ายของคุณน่าสนใจดี ขอเก็บไปคิดก่อน ถ้าคิดออกจะเข้ามาถกเถียงกันต่อ
มิได้มีเจตนาชวนเถียง ฤๅชวนทะเลาะนะขอรับกระผม
ข้าน้อยแค่ตั้งข้อสังเกตด้วยความเคารพเฉยๆ น่ะครับ
ยังไงก็แล้วแต่ข้าน้อยเห็นด้วยกับประโยค "ที่สำคัญ การชุมนุมที่นี่ ไม่จำเป็นต้องง้อ 'ฟ้าประทาน' ครับพี่น้อง" ของอาจารย์เต็มที่อยู่แล้วหละครับพี่น้องครับ!
ทักษิณจะฟอกตัวจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ต้องดูครับว่ามันเป็นปัญหาเรื่องอะไร ถ้าทักษิณมีปัญหาเรื่องความรับผิดทางกฎหมายก็แน่นอนครับว่าจะใช้การเลือกตั้งไปบอกว่าตัวเองไม่ผิดคงไม่ได้ แต่ทางตรงกันข้าม หากว่าเป็นปัญหาทางการเมืองหรือจริยธรรมทางการเมืองซึ่งเป็นปัญหานามธรรมที่ถกเถียงกันได้มากอยู่ การเลือกตั้งโดยวัดจากเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกทักษิณอีกครั้ง ย่อมใช้ป็นฐานในการวัดความชอบธรรมทางการเมืองได้ ต้องแยกแยะครับ
ที่ผมได้เห็นข่าวประท้วงบ่อย ๆ ของฝรั่งเศสนี่ เห็นจะเป็น การประท้วงของเกษตรกรครับ
จากที่ได้อ่านข่าวมาบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ในเวลาไม่ปะติดปะต่อกัน
ดูเหมือนภาคการเกษตรของฝรั่งเศสจะเป็นจุดอ่อนไหวทางการเมืองอันหนึ่ง ที่มีปัญหามาโดยตลอด
คือรัฐก็ต้องอุดหนุนและปกป้องสินค้าเกษตร (ไม่แน่ใจว่าเต็มใจรึเปล่า) ไม่อย่างนั้น ก็อาจจะเห็นรถแทรกเตอร์ รถบรรทุก ออกมาปิดถนนได้ง่าย ๆ
แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลฝรั่งเศสก็ต้องลำบากใจ ในการจะอธิบายเรื่องนี้กับ EU และ WTO
... แต่เหมือนสุดท้ายก็เลือกการเมืองภายในมาก่อนครับ
ผิดถูกอย่างไร ช่วยแก้ไขด้วยครับ
(ผมเล่าไปตามประสาคนอ่านข่าวแบบแย็บ ๆ กระย่องกระแย่ง :P)
ขอร่วมแสดงความเห็นด้วยคนนะครับ
ตอบคุณศรัทธา
ผมมองว่าการชุมนุมเป็นวิธีการหนึ่งของการแสดงความคิดเห็นของตนในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องเสียผลประโยชน์ก่อนนิครับจึงพูดได้ การแสดงความคิดสามารถทำได้ทุกเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ขอเพียงแต่การแสดงความคิดเห็นไม่ไปก้าวล่วงสิทธิของคนอื่นเป็นใช้ได้
หากคุณประสงค์(ในเรื่องสมมุติ)จะจัดการชุมนุมขึ้นมาเพื่อเรียกร้องวัตถุประสงค์ดังที่คุณว่า ก็ไม่จำเป็นที่ต้องอ้างว่าตัวเองเสียประโยชน์นิครับ ยิ่งคุณอ้างว่าตัวเองมีผลประโยชน์ได้เสียมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้การชุมนุมของคุณมีข้อกังขามากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่าง ประเด็นที่สาธารณะชนจะตั้งคำถามไม่ใช่สิ่งที่คุณเรียกร้อง แต่จะกลายเป็นว่าคุณเสียผลประโยชน์จริงหรือไม่
ประเด็นที่ อ.นิติรัฐ แกเสนอในบล็อกตอนนี้ เพื่อตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการชุมนุม โดยยกตัวอย่างการชุมนุมที่ฝรั่งเศส เปรียบเทียบกับการชุมนุมที่เมืองไทย ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวไม่ใช่การตั้งกฎเกณฑ์ว่าการชุมนุมต้องเป็นของผู้เสียผลประโยชน์เท่านั้น ผมจึงคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องหาผลประโยชน์ที่เสียไปก่อน จึงจะชุมนุมได้
ด้วยความเคารพกรับ
ขอบคุณ "คุณ tanusz" มากครับ
แต่ในประเด็นนี้
"ยิ่งคุณอ้างว่าตัวเองมีผลประโยชน์ได้เสียมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้การชุมนุมของคุณมีข้อกังขามากขึ้นเท่านั้น"
ของคุณ tanuzs นั้น ผมเห็นว่ามันค่อนข้างจะแย้งกับข้อความนี้
"แล้วการชุมนุมของพวกเขาจะชัดเจนมากว่าเป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ของตนเอง เพราะกลุ่มต่างๆเหล่านี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องประโยชน์ตนเอง เรียกร้องสิทธิที่ควรได้ ต่อรองกับฝ่ายการเมือง การชุมนุมเปิดเผยตรงไปตรงมาเลยว่าทำเพื่อประโยชน์ตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องอ้าง 'ชาติ' "
ของอาจารย์ปึ๋งอยู่น่ะครับ
ด้วยความเคารพต่อความเห็นของทั้งสองท่านนะครับ
ในประเด็นนี้ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ปึ๋งมากกว่า ว่า ประชาชนสมควรมีสิทธิชุมนุมเพื่อ "ผลประโยชน์ของตนเอง" ได้โดยปราศจากข้อกังขาใดๆ อยู่แล้ว และผู้ใช้อำนาจรัฐก็ไม่สมควรจะเอาเรื่องดังกล่าวมากล่าวหาทำให้การชุมนุมของผู้ชุมนุมขาด "ความชอบธรรม" ไป
เพราะการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญระบอบเสรีประชาธิปไตยของประเทศไทยเราอยู่แล้ว
สำหรับผม ผมรู้สึกว่า "พวกเสียผลประโยชน์" ที่ท่านนายกฯ ใช้เรียกกลุ่มผู้ชุมนุมให้ฟังดูเหมือนขาด "ความชอบธรรม" ในการชุมนุมเรียกร้อง นั้น มันไม่ต่างอะไรกับการเปลี่ยนชื่อข้อหา "คอมมิวนิสต์" ซึ่งใช้ได้ผลในสมัยการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารเอาซะเลย!
เอ....... เหมือนว่าผมชักจะหลงประเด็นซะแล้วซิ!
กลับมาๆ!
การชุมนุมเพื่อเรียกร้อง "ผลประโยชน์ของตนเอง" เป็นเรื่องที่สมควรกระทำกันได้ ไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ได้มีความชอบธรรมน้อยไปกว่า "การกู้ชาติ"
ที่แน่ๆ หากจะชุมนุมเพื่อ "ผลประโยชน์ของตัวเอง" ก็ไม่ควรเอาคำว่า "ชาติ" มาเป็นข้ออ้างให้เกิด "ความชอบธรรม"
อย่างไรก็ดี ในทำนองเดียวกัน หากจะเป็นการชุมนุมเพื่อ "ประโยชน์ของส่วนรวม" จริง ผมก็ว่ามันก็น่าจะมีความชอบธรรมเท่าๆ กับการชุมนุมเพื่อ "ผลประโยชน์ของตนเอง" เหมือนกัน และเค้าก็น่าจะมีสิทธิอ้างว่าเพื่อ "ประโยชน์ของส่วนรวม" ได้โดยไม่ได้ทำให้ขาดความชอบธรรมขึ้นมา
เรียนคุณ guilty knowledge
ไม่มีหลักฐาน ไม่มีใบเสร็จ และก็ไม่อยากจะยอมรับ แต่ก็พอจะคาดหมายได้ว่าต้องมีกลุ่มผู้หวังผลประโยชน์และเจตนาไม่บริสุทธิ์อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยแหละครับ
แต่จากที่ไปร่วมหลายๆ ครั้งและสังเกตการณ์ผ้มาชุมนุมส่วนใหญ่ พอจะทำให้ผมรู้สึกได้ว่านี่ไม่ใช่ "ม็อบจัดตั้ง" และผู้ชุมนุมมากกว่าครึ่งก็มาด้วยความตั้งใจดังกล่าวจริง
แต่ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าแกนนำมากกว่าครึ่ง ไม่ได้มีความจริงใจเหมือนผู้ร่วมชุมนุมนะครับ
ตอบคุณศรัทธา
ขออภัยผมคงเขียนไม่เคลียร์เอง ที่ผมเขียนท่อนที่ว่า
"ยิ่งคุณอ้างว่าตัวเองมีผลประโยชน์ได้เสียมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้การชุมนุมของคุณมีข้อกังขามากขึ้นเท่านั้น"
นั่นหมายถึง กรณีที่คุณไม่ได้เป็น "ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง" ในเรื่องที่ชุมนุมเรียกร้อง แต่คุณก็ได้จัดการชุมนุมขึ้นมา ฉะนั้นผมจึงเห็นว่าไม่น่าที่จะต้องไป "หา" ผลประโยชน์อย่างอื่นขึ้นมาเพื่อ "สร้าง" ความชอบธรรมในการชุมนุม
ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับ อ.นิติรัฐ ตรงที่ว่า จะดีกว่าถ้าการชุมนุมชูผลประโยชน์ของตนเองขึ้นมาเรียกร้อง โดยต้องไม่อ้าง "ชาติ"
แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ได้เสียผลประโยชน์ใดๆจะจัดชุมนุมแสดงความคิดเห็นของตนเองไม่ได้
ด้วยความเคารพกรับ
คงต้องขอใช้หน้า blog ของอาจารย์ปึ๋งเป็น webboard แลกเปลี่ยนความคิดกันซะแล้วนะครับ
ขอบคุณ "คุณ tanusz" มากครับ แจ่มแจ้งและชัดเจนแล้วครับผม
จริงๆแล้วก็ต้องยอมรับว่า การให้สิทธิแสดงความคิดเห็นของทางฝรั่งเศสนั้นถึงว่าเป็นสิทธิที่สำคัญมาก แม้ว่าการประท้วงดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นบ้าง แต่ถ้าไม่ถึงขั้นก่อความวุยวายหรือความรุนแรงขึ้น ทางรัฐบาลและตำรวจก็จะไม่เข้ามาจัดการ หรือ เข้ามาห้ามปรามแต่อย่างไร
ความจริงแล้วอย่างที่เจ้าของบล๊อกพูดนะคะ น่านับถือที่การประท้วงของเขามีวัตถุประสงค์ที่ค่อนข้างชัดเจนมีการรวมตัวที่หนาแน่น (Solidarité) แต่อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า จะมองจากมุมมองภายนอกอย่างเดียวว่า น่านับถือ เพราะ การประท้วงดังกล่าวนี้ ตอนนี้ก็กลายเป็นการประท้วงที่เรียกว่า วุ่นวายมีเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่าการใช้สิทธิการแสดงความคิดเห็น และการประท้วงอย่างสงบสุขเสียแล้ว จุดประสงค์ของการประท้วงที่เริ่มถูกเบี่ยงเบนไป ความวุ่นวายหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น (ส่วนใหญ่แม้จะเกิดจากกลุ่มคนที่ ฉวยโอกาสดังกล่าวมาก่อความวุ่นวายก็ตาม)นักศึกษาจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ได้รับผลกระทบ (ซึ่งคนเหล่านี้มักจะถูกประณามว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก)
การใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นสิ่งที่ดีน่านับถืออย่างยิ่งในสังคมระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าสิทธิดังกล่าวถูกเบี่ยงเบนออกไป เป็นเรื่องของความสะใจ หรือ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการโดยที่ไม่คิดถึงผลกระทบต่างๆ หรือความคิดเห็นอันเปิดกว้างแล้ว การประท้วงนั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว
กลุ่มผู้ชุมนุมในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะมีแนวความคิดว่า สัญญาดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้ตนเสียเปรียบ ทำให้ไม่มีความมั่นคงใดๆ ในการทำงาน เพราะอาจถูกนายจ้างไล่ออกเมื่อไรก็ได้ แต่ก็ไม่มองว่า ในตลาดแรงงานของกลุ่มนักศึกษา สัญญาดังกล่าวจะนำมาซึ่งการแข่งขันงาน ทำให้โอกาสตกงานของนักศึกษาซึ่งเดิมทีมีมาก จะ น้อยลงทันที นักศึกษาเองก็จะต้องแข่งขันทำผลงานเพื่อไม่ให้นายจ้างไล่ออก ผลงานที่ออกมาก็จะดีกว่าเดิม ว่าไปแล้วก็เป็นประโยชน์
อย่างไรก็ตามดิฉันเห็นว่า ระยะเวลาถึง 2 ปี นั้นค่อนข้างจะนานเกิน สำหรับระยะเวลาทดลองงาน
ความจริงท่านนายก ก่อนหน้านี้ก็ออกมาประกาศว่าจะยอมเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมในเรื่องของระยะทดลองงาน โดยจะให้ลดลงมา แต่กลุ่มผู้ประท้วงกลับไม่ยินยอม ยืนยันที่จะประท้วงต่อไป ปิดมหาวิทยาลัยต่อไป ก่อความวุ่นวายต่อไป จนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกการออกกฎหมายฉบับนี้ไป โดยไม่หันหน้ามาเจรจากัน สุดท้ายแล้ว กฎหมายก็ออกมาบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย ....ตอนนี้ก็คงต้องดูต่อไปว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะกดดันรัฐบาลอย่างไร ส่วนรัฐบาลนั้น ก็ถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลก็ได้ ที่เขาจะไม่ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้หรอกไม่ว่าผู้ชุมนุนจะกดดันอย่างไร อย่างมากคงแค่จะแก้ไข
ผมก็เคยอยู่ที่ฝรั่งเศส 2 ปีกว่า แต่ก็ต้องขอบอกว่า ผู้เขียนพูดความจริงไม่ทั้งหมด พูดแค่ส่วนเดียวที่จะทำให้สนับสนุนความคิดตัวเอง
ที่ฝรั่งเศสประท้วงกันบ่อยก็จริง ปีละหลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ เรื่อง
มีทั้งนัดหยุดงาน หยุดเดินรถ ไปจนถึงเดินขบวน
แต่การประท้วงเขาต่างจากไทยมาก เขาประท้วงภายใต้กฎหมาย
- ถ้ามีการหยุดเดินรถ ก็จะต้องมีการจัดรถบางสาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และมีการแจ้งล่วงหน้า ว่าจะเริ่มหยุดเมื่อไหร่ ไปจนถึงเมื่อไหร่
- ถ้าจะปิดถนน เพื่อเดินขบวน ก็ต้องมีการแจ้งขออนุญาติกับทางการ เช่น ทางจังหวัด หรือเทศบาลก่อน ว่าขบวนจะผ่านที่ไหนบ้าง กี่โมง มีการจัดรถตำรวจให้นำขบวนด้วยซ้ำ
- การยึดถนน ปิดถนน แบบถาวร ไม่ให้ใครผ่านเลย แบบที่บ้านเราทำ ทำไม่ได้ครับ ถ้าทำถือว่าเป็นการสรางความวุ่นวายแล้ว ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ที่จะไล่ออกไปได้ จากเบา ๆ พูดคุย ไปจนถึงฉีดน้ำ หรือใช้แก๊สน้ำตา หรืออาจจะรุนแรงกว่านั้น ถ้ามีการก่อจราจลด้วย
เหมือนที่เคยมีข่าววัยรุ่นแขกขาวไปเผารถยนต์ที่ปารีส พวกนั้นโดนปราบอย่างหนักเลย ถึงขั้นออกเคอฟิวด้วยซ้ำ
ของฝรั่งเศส เขาเคารพสิทธิในการแสดงออก แต่ถ้าการแสดงออกเกินขอบเขต ละเมิดกฏหมาย เขาโดนหนักกว่าบ้านเราเยอะ
from someone
แสดงความคิดเห็น
สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]
<< หน้าแรก