วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 16, 2548

ศิริมิตร บุญมูล : กายพิการแต่ใจไม่พิการ

คุณศิริมิตร บุญมูล ทนายความกายพิการแต่ใจไม่พิการ ปรารถนาสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการแต่ติดที่ว่าทั้งคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต.) และคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ต่างปฏิเสธไม่ให้โอกาสคุณศิริมิตรเข้าสอบ คุญศิริมิตรต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายในหลายช่องทาง มีทั้งผิดหวังและสมหวัง จนกระทั่งวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๗ ศาลปกครองสูงสุดในคำพิพากษาที่ ๑๔๒ / ๒๕๔๗ ได้เพิกถอนมติของคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรสมัครสอบเข้าเป็นอัยการผู้ช่วย

การต่อสู้ของคุณศิริมิตรนับเป็นการต่อสู้ที่สวยงามและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประเทศที่ประกาศตนว่าเป็นนิติรัฐ ผมเลยถือโอกาสนี้ยกย่องคุณศิริมิตรด้วยการเขียนกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายของคุณศิริมิตร

เพื่อความเข้าใจโดยง่าย ผมขอสรุป “สิ่ง” ที่คุณศิริมิตรต่อสู้ว่าขัดกับหลักความเสมอภาคเสียก่อน มี ๔ สิ่ง
สิ่งแรก มาตรา ๒๖ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
สิ่งที่สอง มาตรา ๓๓ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑
สิ่งที่สาม มติของ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรสมัครสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา
สิ่งที่สี่ มติของ ก.อ. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรสมัครสอบเป็นอัยการผู้ช่วย

ทั้งสี่สิ่งนี้ คุณศิริมิตรได้สู้ทั้งสามศาล ดังนี้

- ๑ -
การฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

คุณศิริมิตรได้สมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา คณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาพิจารณาเห็นว่า คุณศิริมิตรมีร่างกายไม่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ เห็นสมควรไม่รับสมัคร ต่อมา ก.ต. ในการประชุม ครั้งที่ ๑๓/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๑๔ และ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๓ เห็นชอบด้วยกับความเห็นของคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็น ข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา จึงมีมติไม่รับสมัครเนื่องจากเป็นกรณีที่ร่างกายไม่เหมาะสม

คุณศิริมิตรเห็นว่าพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการน่าจะไม่ชอบด้วยหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ จึงร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ผู้ตรวจฯพิจารณาแล้วจึงส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตามที่คุณศิริมิตรร้องขอ

พึงสังเกตในเบื้องต้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่มีสถานะระดับพระราชบัญญัติ กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงพิจารณาแค่ว่ามาตรา ๒๖ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้สมัครสอบคัดเลือก ผู้สมัครทดสอบความรู้ หรือผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษเพื่อบรรจุ เป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ ต้องห้ามดังต่อไปนี้... (๑๐) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการหรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในระเบียบของ ก.ต.” นั้นขัดกับหลักความเสมอภาคตามมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น

ศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ ๑๖/๒๕๔๕ พิจารณาว่า
“...การรับสมัครสอบคัดเลือกนอกจากจะพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องพิจารณาสุขภาพของร่างกาย และจิตใจว่ามีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอที่จะเป็นผู้พิพากษา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติโดยปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การปฏิบัติหน้าที่ของ ผู้พิพากษามิใช่เพียงแต่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีในห้องพิจารณาเท่านั้น บางครั้งต้องเดินทางไปนอกศาล ปฏิบัติหน้าที่ เช่น เพื่อเดินเผชิญสืบ เพื่อสืบพยานที่มาศาลไม่ได้ การพิจารณาเพื่อรับสมัครสอบ คัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา จึงมีมาตรการที่แตกต่าง และเข้มงวดกว่าการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งอื่นอยู่บ้าง...”

จึงวินิจฉัยว่า
“... เมื่อพิจารณาถึงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ (๑๐) คำว่า "มีกาย ... ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ"... เป็นไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมของฝ่ายตุลาการ จึงเห็นว่า บทบัญญัติของ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ (๑๐) ดังกล่าว ...ไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมาย ให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ แต่อย่างใด...”

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าตัวกฎหมายที่เขียนลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครไว้ว่า "มีกาย ... ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ” ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค เพราะกรณีการรับสมัครสอบผู้พิพากษามีความจำเป็นต้องพิจารณาร่างกายของผู้สมัครประกอบด้วย

โดยเนื้อหาของบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ไม่น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายเขียนลักษณะต้องห้ามไว้กว้างๆเพื่อเปิดช่องให้ ก.ต. ใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นรายๆไปว่าอย่างไรจึงจะถือว่ามีกายไม่เหมาะสมกับเป็นข้าราชการตุลาการ และตัวบทบัญญัตินี้ก็เป็นการจำกัดสิทธิที่จำเป็นในการคัดคนเข้าเป็นผู้พิพากษา

ประเด็นที่เป็นปัญหามากกว่า คือ ตัวมติของ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบเพราะเห็นว่าสภาพร่างกายของคุณศิริมิตรเข้าข่าย "มีกาย ... ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ”

อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาแค่ว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น หารวมถึงกฎ ระเบียบ มติ คำสั่งไม่ ดังนั้นในส่วนของมติ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจพิจารณา

กล่าวให้ถึงที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ากฎหมายที่เป็นฐานอำนาจของมติ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบ (มาตรา ๒๖ (๑๐)) ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค ส่วนมติ ก.ต. ดังกล่าวนั้น ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าตนไม่มีอำนาจพิจารณา

แต่เมื่อพิจารณาถึงถ้อยคำที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในคำวินิจฉัยที่ว่า “...การรับสมัครสอบคัดเลือกนอกจากจะพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องพิจารณาสุขภาพของร่างกาย และจิตใจว่ามีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอที่จะเป็นผู้พิพากษา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติโดยปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ” จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีทัศนคติต่อกรณีที่บุคคลร่างกายพิการมาสมัครสอบเป็นผู้พิพากษาไปในทางอนุรักษ์นิยม น่าคิดว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยตัวมติ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบแล้ว คงไม่แคล้วออกมาว่าไม่ขัดกับหลักความเสมอภาคเป็นแน่

เช่นเดียวกัน ในกรณีของอัยการ คุณศิริมิตรได้ร้องขอให้ศาลปกครองส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณว่า มาตรา ๓๓ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ .... (๑๑) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการหรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง...” นั้นขัดกับหลักความเสมอภาคตามมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ ๔๔/๒๕๔๕ พิจารณาว่า
“...การรับสมัครสอบคัดเลือกนอกจากจะพิจารณาถึง ความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องพิจารณาสุขภาพของร่างกายและจิตใจว่ามีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอที่จะเป็นข้าราชการอัยการ การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการอัยการมิใช่เพียงปฏิบัติหน้าที่ในห้องพิจารณาคดีหรือในสำนักงานเท่านั้น บางครั้งต้องเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นอกสำนักงาน เช่น เพื่อเดินเผชิญสืบ เพื่อสืบพยานที่ไม่อาจมาศาลได้ การร่วมชันสูตรพลิกศพกับพนักงานสอบสวน การออกไปเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนในชนบท เป็นต้น การพิจารณาเพื่อรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย จึงมีมาตรการที่แตกต่า และเข้มงวดกว่าการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งอื่นอยู่บ้าง...”

จึงวินิจฉัยว่า
“...เมื่อพิจารณาถึงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๓๓ (๑๑) คำว่า "มีกาย...ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ"... เป็นไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมของฝ่ายอัยการ จึงเห็นว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๓๓ (๑๑) ดังกล่าว... ไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ แต่อย่างใด...”

- ๒ -
การฟ้องต่อศาลปกครอง

คุณศิริมิตรสมัครสอบทั้งผู้ช่วยผู้พิพากษาและอัยการผู้ช่วย แต่ทั้ง ก.ต. และ ก.อ. ต่างปฏิเสธ ในส่วนของมติ ก.ต. และมติ ก.อ. นี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจ จึงต้องนำมาฟ้องต่อศาลอื่น

กล่าวสำหรับศาลปกครอง

-ประเด็นแรก การฟ้องเพิกถอนมติ ก.ต.-
ในส่วนของการสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา คุณศิริมิตรไม่อาจฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนมติ ก.ต.ได้ เพราะมาตรา ๙ วรรค ๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ยกเว้นไว้ว่า ศาลปกครองไม่มีอำนาจในกรณีที่เกี่ยวกับการดำเนินการของ ก.ต. ตาม ก.ม.ข้าราชการตุลาการ

มติของ ก.ต. ที่โดยเนื้อแท้ของมันน่าจะเป็น “เสมือน” คำสั่งทางปกครอง (ในหลายประเทศที่มีศาลปกครองกับศาลยุติธรรมคู่กันก็ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของ มติ ก.ต. ได้) แต่บริบททางประวัติศาสตร์และเหตุผลเฉพาะของไทย ทำให้กฎหมายศาลปกครองเขียนยกเว้นไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินการของ ก.ต.

คุณศิริมิตรก็เดือดร้อน ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ก็บอกว่า กฎหมายข้าราชการตุลาการไม่ขัดหลักความเสมอภาค ส่วนมติของ ก.ต ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าไม่มีอำนาจพิจารณาในส่วนนี้ ครั้นมาศาลปกครอง จะเอาตัวมติ ก.ต. มาขอให้ศาลปกครองเพิกถอนให้กฎหมายศาลปกครองก็เขียนยกเว้นไว้อีกว่าไม่มีอำนาจพิจารณา

คุณศิริมิตรจึงเหลืออยู่ช่องทางเดียวในการต่อสู้กับมติ ก.ต. นั่นคือ เอากลับไปฟ้องต่อศาลยุติธรรม

-ประเด็นที่สอง การฟ้องเพิกถอนมติ ก.อ.-
ในส่วนของการสอบเป็นอัยการผู้ช่วย คุณศิริมิตรไปสมัครสอบอัยการ ปรากฏว่าคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มีมติไม่ให้คุณศิริมิตรสอบเพราะร่างกายไม่เหมาะสมทำนองเดียวกับที่ ก.ต. เคยมีมติไว้ก่อนหน้านั้น คุณศิริมิตรจึงไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนมติ ก.อ.นี้

ศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้อง เพราะเห็นว่า
“...การที่ผู้ฟ้องคดีมีรูปกายพิการ เดินขากระเผลก กล้ามเนื้อแขนลีบจนถึงปลายมือทั้งสองข้าง กระดูกสันหลังคด แจ้งว่าเป็นโปลิโอตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ และได้รับการผ่าตัดดามเหล็กที่กระดูกสันหลังไว้เพื่อให้ไหล่ทั้งสองข้างเท่ากัน ตามรายงานผลการตรวจของคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าว จึงเป็นความแตกต่างที่ถึงขั้นเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการที่จะปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของพนักงานอัยการเมื่อเทียบกับบุคคลปกติทั่วไป การที่ผู้ถูกฟ้องคดี ... มีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นการใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรมและชอบด้วยเหตุผล...”

คุณศิริมิตรอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นและพิพากษาให้เพิกถอนมติของ กอ. ดังกล่าว เพราะเห็นว่า
“...ผู้ฟ้องคดีแม้จะมีรูปกายพิการ แต่ความพิการดังกล่าวไม่ถึงขนาดทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่การงานโดยปกติได้ โดยงานที่ผู้ฟ้องคดีเคยทำในขณะเป็นทนายความมาแล้วนั้นมีลักษณะทำนองเดียวกับงานของข้าราชการอัยการดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าแม้สภาพกายของผู้ฟ้องคดีจะพิการ แต่ความแตกต่างดังกล่าวไม่ถึงขั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของอัยการ... โดยที่ความเห็นของคณะกรรมการแพทย์ และคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นที่เสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอว่าการที่ผู้ฟ้องคดีมีกายพิการดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ของข้าราชการอัยการได้อย่างไร มติของผู้ถูกฟ้องคดี ... จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี...”

แต่เรื่องยังไม่จบ พ.ร.บ. ศาลปกครอง มาตรา ๗๒ (๑) บอกว่ากรณีฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งนั้นได้ กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอน มติ ก.อ. แต่ไม่ได้หมายความว่า ก.อ. จะต้องมีมติใหม่ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบ

ว่าให้ชัด คือ มติ ก.อ. บอกว่าไม่ให้สอบ ศาลเพิกถอนมติ ก.อ ก็คือเพิกถอนไอ้การไม่ให้สอบนี่แหละ แต่ศาลไม่มีอำนาจไปบังคับให้ ก.อ มีมติรับคุณศิริมิตรเข้าสอบได้ ศาลทำได้แค่เพิกถอนมติเดิมเท่านั้น กล่าวให้ถึงที่สุด ศาลปกครองทำได้เพียง “ทำลาย” สิ่งที่ ก.อ. ทำมา แต่จะลงไป “ทำแทน” ก.อ.ไม่ได้

นี่เป็นปัญหาหลักของการบังคับคดีปกครอง ในกรณีคำสั่งทางปกครองที่เป็นการปฏิเสธ เช่น คำสั่งไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร คำสั่งไม่อนุญาตให้เปิดอาบอบนวดชูวิทย์ คำสั่งไม่ให้เข้าสอบ คำสั่งปฏิเสธการเข้ารับราชการ พวกนี้เวลาศาลเพิกถอน ก็ทำได้แค่เพิกถอนคำสั่งปฏิเสธเหล่านี้เท่านั้น แต่จะไปบังคับให้ฝ่ายปกครองมาออกคำสั่งใหม่ไม่ได้ เช่น จะบังคับให้ออกใบอนุญาตสร้างอาคาร ออกใบอนุญาตสร้างอ่างชูวิทย์ ออกคำสั่งให้มีสิทธิสอบ ออกคำสั่งรับเข้าเป็นข้าราชการ พวกนี้ศาลบังคับให้ไม่ได้ กรณีของคุณศิริมิตรกับมติ ก.อ. นี้ก็เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเช่นว่าแล้ว ทางโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดออกมาให้ข่าวทันทีว่า จะให้คุณศิริมิตรเข้าสอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรับสมัครกรณีทำนองเดียวกับคุณศิริมิตรทั้งหมด อย่างไรก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป

- ๓ -
การฟ้องต่อศาลยุติธรรม

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในส่วนของ มติ ก.ต. ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณา ก็เหลือศาลยุติธรรมเพียงศาลเดียวเป็นตัวกวาด เอามติของ ก.ต. ไปฟ้องต่อศาลยุติธรรม คนใน ก.ต ก็ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม แล้วเอาเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาลยุติธรรม คนตัดสินก็มีธรรมเนียม แนวคิด ค่านิยมออกไปในทำนองอนุรักษ์นิยมแบบเดียวกัน

ลองตรองดูเถิดว่าผลจะเป็นอย่างไร

คุณศิริมิตรเอา มติ ก.ต. ไป ฟ้องศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไม่รับด้วยเหตุผลว่าคุณศิริมิตรยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ม.๕๕ ป.วิ แพ่ง ควรเข้าใจในเบื้องต้นว่าสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแคบกว่าการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กล่าวคือ ผู้ฟ้องต้องถูกโต้แย้งสิทธิก่อนจึงจะฟ้องได้ ศาลจะพิจารณาว่าสิทธิที่ผู้ฟ้องยกขึ้นมาอ้างว่าถูกโต้แย้งนั้นมีกฎหมายรับรองสิทธิดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องหรือไม่ กรณีนี้ คุณศิริมิตรยังไม่มีสิทธิเข้าสอบ ไม่มีกฎหมายใดรับรองว่าคุณศิริมิตรมีสิทธิสอบ คุณศิริมิตรเพียงขอสมัครสอบแล้ว ก.ต. ปฏิเสธซึ่งยังไม่ถือว่ากระทำการโต้แย้งสิทธิคุณศิริมิตร

คุณศิริมิตรอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มว่าศาลสูงน่าจะยืนตามเดิม

น่าสังเกตว่ากรณีของคุณศิริมิตรที่ฟ้องขอเพิกถอนมติของ ก.ต. นี้ ศาลยุติธรรมน่าจะวางหลักเรื่องการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๕ ป.วิ.แพ่งให้ยืดหยุ่นกว่าเดิม เนื่องจากคำฟ้องขอเพิกถอนมติ ก.ต. โดยเนื้อแท้แล้วมีลักษณะทำนองเดียวกับคำฟ้องในคดีปกครองที่ขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง จึงควรนำหลักในคดีปกครองมาใช้ กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีพิสูจน์ได้ว่าตนมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ฟ้องก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงขนาดว่าสิทธิของตนถูกกระทบเหมือนในคดีแพ่ง

หากเราไม่เดินตามแนวนี้แล้ว ต่อไปหากมีมติ ก.ต. ที่ไม่ให้สมัครสอบ ผู้ที่ถูกปฏิเสธจะหันหน้าไปพึ่งใคร หันหน้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกไม่มีอำนาจ หันมาหาศาลปกครองก็มีกฎหมายเขียนยกเว้นไว้ว่าไม่มีอำนาจเช่นกัน เหลือเพียงศาลยุติธรรมที่พอเป็นที่พึ่งได้ ก็มาติดที่สิทธิในการฟ้องคดีแคบ เช่นนี้มิต้องไปหาศาลเจ้าหรือกระไร

นิติรัฐเรียกร้องว่าทุกการกระทำขององค์กรของรัฐต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการได้ รัฐธรรมนูญเองก็รับรองสิทธิในการฟ้องคดีไว้ กรณีคุณศิริมิตรฟ้องเพิกถอนมติ ก.ต. แล้วไม่มีศาลใดรับเลยเช่นนี้สุ่มเสี่ยงจะเป็น “การปฏิเสธความยุติธรรม”

เมื่อพลเมืองในประเทศภาคพื้นยุโรปถูกรัฐปฏิเสธความยุติธรรม เขาย่อมมีสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ ย้อนมองที่บ้านเราแล้ว น่าสงสัยว่าเราเคยคิดหรือไม่ว่า “การปฏิเสธความยุติธรรม” คืออะไร และมีหนทางเยียวยาอย่างไร

......................

เห็นกระบวนการต่อสู้ของคุณศิริมิตรแล้วก็น่านับถือหัวใจแกจริงๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าศาลปกครองสูงสุดตัดสินเช่นนี้แล้วคุณศิริมิตรจะได้เป็นอัยการทันที (มิพักต้องพูดถึงผู้พิพากษาซึ่งต้องรอคำพิพากษาอยู่) ศาลปกครองเพียงเพิกถอนมติ ก.อ. ต่อมา ก.อ. ก็ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบ ซึ่งสอบได้หรือไม่ก็ต้องลุ่นกันต่อ ไอ้การตรวจข้อสอบแล้วประกาศผลว่าใครได้เป็นอัยการผู้ช่วยหรือไม่นี่แหละ ผมว่าน่ากังวลใจกับคุณศิริมิตรมาก เพราะหากผลออกมาว่าสอบไม่ผ่าน ก.อ. ก็อาจให้เหตุผลว่าสอบไม่ผ่านจริงๆไม่ใช่เกี่ยวข้องกับร่างกายก็เป็นได้ (ซึ่งจริงหรือไม่นั้นเราไม่อาจทราบได้)

การต่อสู้ของคุณศิริมิตรจะบรรลุผลด้วยการได้เป็นผู้พิพากษาหรืออัยการหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยการต่อสู้นี้ก็เป็นการจุดประกายในสังคมไทย

จุดประกายให้คนชายขอบแบบคุณศิริมิตรได้เข้าสู่วิชาชีพต่างๆมากขึ้น
จุดประกายให้กับคนจำนวนหนึ่งที่กำลังเรียกร้องความเป็นธรรมตามกระบวนการ
จุดประกายให้คนเรียนกฎหมายเอากฎหมายไปใช้จริงในทางปฏิบัติ
และ... จุดประกายให้เรามองคนพิการว่าเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคม

เปิดใจให้กว้างเถิดครับท่านผู้พิพากษา ท่านอัยการ

...............

สรุปการต่อสู้กับสิ่งที่คุณศิริมิตรเห็นว่าขัดกับหลักความเสมอภาค

สิ่งแรก มาตรา ๒๖ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
ศาลรัฐธรรมนูญ – ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค (คำวินิจฉัยที่ ๑๖/๒๕๔๕)
ศาลปกครอง – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
ศาลยุติธรรม – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้

สิ่งที่สอง มาตรา ๓๓ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ ฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑
ศาลรัฐธรรมนูญ – ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค (คำวินิจฉัยที่ ๔๔/๒๕๔๕)
ศาลปกครอง – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
ศาลยุติธรรม – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้

สิ่งที่สาม มติของ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรสมัครสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา
ศาลรัฐธรรมนูญ – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
ศาลปกครอง – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
ศาลยุติธรรม – ศาลชั้นต้นไม่รับเพราะเห็นว่าสิทธิของคุณศิริมิตรยังไม่ถูกโต้แย้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการฎีกา

สิ่งที่สี่ มติของ ก.อ. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรสมัครสอบเป็นอัยการผู้ช่วย
ศาลรัฐธรรมนูญ – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
ศาลปกครอง – เพิกถอนมติ ก.อ. (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๔๒ / ๒๕๔๗)
ศาลยุติธรรม - ไม่มีอำนาจในส่วนนี้

8 ความคิดเห็น:

Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

หวังว่าบล็อกผมตอนนี้คงจะไม่มีปัญหาอีกนะ

ตอนเริงชัย มันหายไปอีกแล้ว ผมเลยลองโพสใหม่ ทีนี้เกิดปัญหาดันคอมเม้นทืไม่ได้อีก

อะไรกันเนี่ย

7:04 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ยังอ่านไม่จบค่ะ ตาจะปิดสียก่อน กะว่าพรุ่งนี้จะมาอ่านต่อ

แต่ว่า ... แถบ Links ด้านข้างหายไปไหนหมดอะคะ?

หรือว่านุ่นเป็นคนเดียว?!? O_o"

5:03 หลังเที่ยง  
Blogger ratioscripta กล่าวว่า...

ผมว่าระบบคัดคนเข้าสู่องค์กร ของบ้านเรามีปัญหาอยู่

ผมรู้สึกไปเองคนเดียวหรือเปล่าไม่รู้สิ ผมรู้สึกว่า เราถางทางเข้าสู่เส้นทางแห่งการคัดเลือก แคบไป เรามักวางกฎเกณฑ์มากมาย วุ่นวาย และซับซ้อนตั้งแต่ ทางเข้า

แต่ทางออกนี่สิ บางทีกลับเปิดกว้างจัง มาตรฐานในการคัดเลือกหาไม่ค่อยจะได้

ทีนี้พอทางเข้าดันแคบ ทางออกดันกว้าง ก็ยากที่จะได้คนที่มีคุณภาพจริงๆ

ผมเห็นมานานแล้วว่า ระบบที่จะสามารถคัดคนเข้าสู่องค์กร หรือสถาบันใดๆก็ตาม ที่มีคุณภาพ ควรต้องมีสูตรดังนี้ครับ

"เปิดทางเข้าให้กว้างที่สุด แต่บีบทางออกให้แคบที่สุด"

แล้วคุณจะได้คนที่มีคุณภาพเข้าสู่องค์กรจริงๆ ไม่ใช่ไปใช้เทคนิค วิธีการซับซ้อนมากมาย สกัดดาวรุ่ง ตั้งแต่ทางเข้า

คนคุณภาพหลายคน ไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะได้ "เข้า" เพราะคุณสมบัติที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรู้ความสามารถบางประการ รวมไปถึง "เครื่องประดับ" บางชิ้น เช่น สิ่งที่เรียกว่า

"เกียรตินิยม"

5:25 หลังเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

คุณรู้หรอว่าเค้าเป็นคนยังไง

3:18 หลังเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

คุณรู้หรอว่าเค้าเป็นคนยังไง

3:18 หลังเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

ตัวเค้าเองเค้าอาจไม่ได้มีแค่ร่างกายที่พิการก็ได้ แต่จิตใจเค้าเป็นยังไงใครจะรู้

3:19 หลังเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0719
air max 2017
bcbg dresses
michael kors outlet
michael kors outlet
canada goose parka
adidas crazy
michael kors outlet
coach outlet
10 deep clothing
pandora outlet

11:55 ก่อนเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

www0815
coach outlet
pandora
coach outlet online
pandora jewelry
fitflops sale clearance
vibram five fingers
nike factory store
ugg boots
ecco shoes
golden goose sneakers

10:21 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก