วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 25, 2550

นี่คือนิธิ ใน พ.ศ.นี้

มติชนฉบับวันจันทร์ที่ ๒๖ พ.ย. ลงคอลัมน์ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ดังเช่นเคย

หากเปิดหน้า ๖ แล้วปิดชื่อผู้เขียนของคอลัมน์นี้ไว้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมคงไม่มีทางเดาได้ว่านิธิเป็นผู้เขียน

นับแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ผมอ่านบทความของนิธิ ที่เกี่ยวกับการเมืองทีไร แล้วรู้สึกทะแม่งๆทุกที แต่จากผลงานที่ผ่านมาของเขา (ยอมรับเลยว่าผมโตมากับมติชน ศิลปวัฒนธรรม และบทความของนิธิ) ผมก็พยายามคิดเข้าข้างเขาอยู่ว่า คนระดับนิธิ คงไม่มีทางเอนเอียงไปทาง “ฝ่ายนั้น” แน่ๆ

แต่กับบทความตอนนี้ เป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้อีกครั้งหนึ่ง (หลังจากที่นิธิไม่เคยประณาม ๑๙ กันยา แบบชัดเจนเลยสักครั้ง)

ในความเห็นผม นิธิ ณ พ.ศ.นี้ ไม่ใช่นิธิ คนเดียวกันกับที่เขียนงานและผมติดตามงานมาตลอดในสมัยก่อน

เชิญอ่านและพิจารณาตาม (ตัวแดง ผมเน้นเอง)

.............

นายกฯ ของวิกฤตการเมือง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแสดงความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป (ภายใต้สภาวการณ์ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คือภายใต้ระบบราชการซึ่งมีกองทัพเป็นผู้นำ) มาอย่างน้อยสามเรื่องแล้ว คุณอภิสิทธิ์เสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเสีย เมื่อจะจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม,คุณอภิสิทธิ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงและสัญญาว่าจะแก้ไขเมื่อได้เป็นรัฐบาล และไม่กี่วันมานี้ คุณอภิสิทธิ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับ กกต.ที่แนะนำมิให้นักการเมืองใช้ 111 อดีตผู้บริหาร ทรท.เป็นสื่อในการหาเสียง

เฉพาะประเด็นสุดท้ายนี้ พรรคการเมืองส่วนใหญ่กลับพร้อมจะปฏิบัติตาม แม้แต่พรรคพปช.ซึ่งแสดงให้ประจักษ์ว่าสืบทอดมาจากพรรค ทรท.ก็เพียงแต่มีผู้ใหญ่บางคนของพรรคแถลงว่าจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ

อันที่จริง ทุกพรรคการเมืองควรจับมือกันสู้ในประเด็นนี้ คือพร้อมใจกันที่จะไม่ฟังคำแนะนำนี้ของ กกต. แม้อาจมีโทษถึงยุบพรรค ก็เป็นการยุบพรรคทั้งหมด เพราะพรรคการเมืองจะมีประโยชน์อันใด หากไม่สามารถปกป้องสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานซึ่งให้หลักประกันไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าคำแนะนำนี้อาจสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบแก่พรรคการเมืองต่างๆ ก็ตาม แต่ความได้เปรียบจนทำให้ได้ร่วมรัฐบาลจะมีประโยชน์อันใด หากต้องเป็นรัฐบาลภายใต้อำนาจมืดบางอย่างที่ทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจในการดำเนินการใดๆ จริง... อำนาจมืดนี้มีอยู่แล้ว หรือกำลังก่อตัวขึ้นก็ตาม ล้วนเป็นอำนาจที่ไม่ต้องรับผิด (accountable) กับใครทั้งสิ้น ขืนปล่อยไว้ การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงก็เป็นแค่จำอวด

และนี่แหละที่ทำให้คุณอภิสิทธิ์เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีในยามนี้ที่สุดอะไรคือปัญหาใหญ่สุดซึ่งรัฐบาลใหม่อันใครๆ ก็รู้ว่าอ่อนแอต้องเผชิญ เวลานี้นักธุรกิจด้านอุตสาหกรรม,การเงิน,และการค้าพากันพร่ำบอกรัฐบาลใหม่ให้ทำโน่นทำนี่ หรือไม่ทำโน่นไม่ทำนี่ ในท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมัน,การแข่งขัน,และภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก จนกำลังจะกลายเป็นคำตอบเดียวของสังคมไทยไปแล้ว ทั้งๆ ที่วิกฤตนี้มีคนไทยอีกมากต้องเผชิญร่วมกัน คำตอบของคนกลุ่มเดียวจะเป็นคำตอบของคนทั้งหมดได้อย่างไร

แต่ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่สุดที่สังคมไทยต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้แน่หรือ แม้ไม่ปฏิเสธว่าปัญหานี้มีความสำคัญที่จะต้องจัดการอย่างรอบคอบและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่เพราะปัญหาเศรษฐกิจกระทบต่อผู้คนโดยตรง และทันตาเห็น จึงเป็นปัญหาที่ผู้ถูกกระทบมักมีปากเสียง (บ้างมีมาก บ้างมีน้อยเป็นธรรมดา) รู้จักแม้แต่การรวมตัวจัดองค์กรข้ามกลุ่มผลประโยชน์ เพื่อกดดันเชิงนโยบายอย่างได้ผล

ไม่ว่านักธุรกิจอุตสาหกรรม,การเงิน และการค้า หรือชาวประมงที่ต้องทนแบกรับราคาน้ำมัน หรือนักเรียนในกรุงเทพฯ ที่ไม่อาจแบกรับราคารถเมล์ได้ เอสเอมอีที่พากันหยุดกิจการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานบางกลุ่ม ฯลฯ ล้วนสามารถเคลื่อนไหวในเชิงนโยบายได้ทั้งสิ้น

ฉะนั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจจะมีปัญหาใหญ่สักเพียงใด สังคมไทยดูเหมือนจะมีพลังในการจัดการได้ดีกว่าด้านอื่นๆ เสียอีก (แม้จัดการแล้วไม่ดีนักก็ตาม) เพราะอำนาจต่อรองกระจายไปยังคนหลากหลายกลุ่มกว่าเรื่องอื่นๆ

ความหลากหลายของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทำให้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเลือกตั้ง มีแนวโน้มว่าจะมีความเป็นธรรมอยู่บ้าง

ปัญหาที่ใหญ่กว่าเศรษฐกิจคือปัญหาการเมืองต่างหาก เพราะภายใต้ภาวการณ์ที่รัฐธรรมนูญ 2550 สร้างขึ้น ระบบราชการซึ่งมีกองทัพนำ จะควบคุมความเคลื่อนไหวของนักการเมือง รวมทั้งในซีกรัฐบาลมิให้ทำได้ในทางหนึ่งทางใด แม้แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทบริวารและพันธมิตรของระบบราชการและกองทัพได้ หากนักการเมืองโดยเฉพาะที่เป็นนายกรัฐมนตรี จำนนต่อแรงกดดันเหล่านี้ การเมืองไทยจะถึงจุดอับจนยิ่งไปกว่าปัจจุบัน

วิกฤตที่ใหญ่ที่สุดของไทยเวลานี้ ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่เป็นวิกฤตการเมืองเพียงเพราะเรามีนายกรัฐมนตรีที่แหยต่ออำนาจของกองทัพเพียงอย่างเดียว แม้แต่พลังของกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่จะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองเชิงนโยบายก็ไม่อาจทำได้อีกต่อไป เพราะอำนาจล้นฟ้าของ พ.ร.บ.ความมั่นคงจะขวางกั้นการเคลื่อนไหวทุกอย่างที่ขัดผลประโยชน์ของระบบราชการและกองทัพ ด้วยข้อหาทำลายความมั่นคง

ไม่เฉพาะแต่ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาอะไรๆ ก็แก้ไม่ได้ทั้งนั้น ซ้ำร้ายระบบราชการและกองทัพเองก็ล้าหลังเกินกว่าจะแก้ปัญหาอะไรที่สังคมไทยต้องเผชิญได้อีกแล้ว อย่างเก่งก็ทำซ้ำรอยเดิม ซึ่งนอกจากไม่แก้ปัญหาแล้ว ยิ่งทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้นไปอีก

ฉะนั้น หากไม่หลุดออกไปจากวิกฤตการเมืองในครั้งนี้ ไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤตด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้

ความนุ่มนวลก็มีความสำคัญ แม้ว่าการปลดปล่อยการเมืองไทยออกจากระบบราชการและกองทัพเป็นภารกิจเร่งด่วนและสำคัญสุดยอด แต่เราควรหลีกเลี่ยงการปะทะนองเลือดกับกองทัพอย่างที่เคยเกิดมาแล้วในเหตุการณ์ 14 ตุลาและพฤษภาทมิฬ ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาล้วนอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนของกองทัพเอง ซึ่งทำให้หลีกเลี่ยงการปะทะได้ยากขึ้น ความนุ่มนวลแต่แกร่งกล้าของคุณอภิสิทธิ์อาจช่วยให้คุณอภิสิทธิ์สามารถนำทหารกลับกรมกองโดยสงบ และสร้างระบบราชการให้เป็นเครื่องมือที่ซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองนโยบายที่ประชาชนสร้างขึ้นผ่านกระบวนการทางการเมืองได้

และนี่เป็นข้อได้เปรียบของคุณอภิสิทธิ์เหนือคู่แข่งที่แสดงอาการแข็งกร้าวหยาบคาย เพราะโอกาสที่เราจะดันทหารกลับกรมกองโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อนั้นมีอยู่

แน่นอนคุณอภิสิทธิ์ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าพรรคการเมืองซึ่งทหารกลุ่มหนึ่งในคณะรัฐประหารหนุนหลัง เพราะภารกิจของพรรคนั้นย่อมไม่มีอะไรมากไปกว่าคอยรับใช้ระบบราชการซึ่งมีกองทัพเป็นผู้นำ อันเป็นเหตุให้เมืองไทยมืดมนลงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง

สิ่งเดียวที่ขาดไปสำหรับคุณอภิสิทธิ์ก็คือ คุณอภิสิทธิ์ต้องแสดงความนุ่มนวลและแกร่งกล้าในความถูกต้องกับพรรคประชาธิปัตย์ของคุณอภิสิทธิ์เองด้วย เพราะคนจำนวนมากยังจำได้ว่า พรรคนี้เคยมีคนดีเป็นผู้นำ แต่ความดีและความนิยมที่เขาได้รับไม่อาจทำให้เขาแกร่งกล้าพอจะจัดการปัญหาทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากสมาชิกของพรรคเอง คุณอภิสิทธิ์ควรแสดงให้เห็นแต่แรกว่า ใบหน้าคุณอภิสิทธิ์นั้น เมื่อลูบไปแล้ว จะไม่ปะจมูกอันเป็นสมาชิกชั้นนำของพรรคเอง

เพราะนายกรัฐมนตรีที่จะนำประเทศไทยให้พ้นจากวิกฤตทางการเมืองไปได้ในครั้งนี้ ต้องแกร่งทั้งภายนอกและภายใน

...................

นิธิเชื่อว่า อภิสิทธิ์เป็นนายกฯที่กล้าชนกับทหาร?
นิธิเชื่อว่า อภิสิทธิ์เหมาะเป็นนายกฯเพราะกล้าค้านเรื่องกฎอัยการศึก กฎหมายความมั่นคง และกฎ กกต เรื่อง ๑๑๑ คน?

แล้วพรรคใด โดยการนำของใคร คิดสูตร ม.๗
แล้วพรรคใด โดยการนำของใคร มีส่วนนำพาสถานการณ์เข้ามุมอับ จนทหารหาเหตุออกมารัฐประหาร
แล้วพรรคใด โดยการนำของใคร ที่ไม่เคยแตะต้อง คมช ตลอดปีเศษที่ผ่านมา

วันพุธ, พฤศจิกายน 21, 2550

เขามาอีกแล้ว...

ป๋าสั่งทหารบี้คนเลวเชื่อมั่นกองทัพมีศักยภาพ'อย่าให้กลับมายุ่ง'

ที่หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้เป็นประธานงานวันกองทัพเรือครบรอบ 101 ปี โดยมีบุคคลสำคัญร่วมงาน อาทิ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง, พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม, พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด, พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ., พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร., พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม เป็นต้น

พล.อ.เปรมกล่าวปาฐกถาในงานว่า เวลาตนเดินเข้ามาในกองทัพเรือทีไร มีความรู้สึกว่าเรามาอยู่ในหมู่เพื่อนร่วมตาย รู้สึกอบอุ่น รู้สึกปลดภาระความกังวลใจไปได้ เมื่อสักครู่ ผบ.ทร.บอกว่าจะมีการมอบรางวัล ซึ่งเป็นการประกอบคุณงามความดีของกำลังพลในกองทัพเรือ ในเรื่องการประกอบคุณงามความดีนั้น ในหลวงเคยมีพระบรมราโชวาทว่าเราต้องยกย่องส่งเสริมคนดี และยับยั้งไม่ให้คนไม่ดีเข้ามายุ่ง ซึ่งเวลานี้กองทัพเรือกำลังส่งเสริมคนดีขึ้นมา ซึ่งการยกย่องคนดีทำจริงจังและทำต่อเนื่องเสมอไป และการยับยั้งคนไม่ดีไม่ให้เข้ามายุ่งก็ต้องทำอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน

"ผมคิดว่าสถาบันกองทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีศักยภาพมาก เกินพอที่จะทำเรื่องที่ดี เรามีเด็กๆ ที่เราเรียกว่ากำลังพลที่เราได้อบรมสั่งสอนวินัย เรื่องรักชาติ ปกป้องประเทศ เทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สิ่งที่ผมเห็นและอยากชักชวนให้ทำคือ เหล่าทัพต้องเป็นผู้นำในเรื่องนี้ คือส่งเสริมคนดี และปกป้องคนไม่ดีไม่ให้เข้ามายุ่ง ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าพวกเราทำได้ และดีใจมากที่ทุกกองทัพทำสิ่งนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจเป็นอันมาก" พล.อ.เปรมกล่าว

ที่มา ไทยโพสต์ ๒๑ พ.ย. ๕๐

วันอังคาร, พฤศจิกายน 20, 2550

David Tao

ผมไม่รู้เคยรู้จักนักร้องชื่อนี้มาก่อน จนกระทั่งวันหนึ่งที่ผมหาเพลง “ดวงจันทร์เสมิอนแทนใจฉัน” ของเติ้ง ลี่ จวิน

ผมหาทาง ยูทูบ ไปเจอคลิปหนึ่งเข้า เป็นเพลงนี้ แต่เวอร์ชั่น ที่ เดวิด เต๋า ร้อง

ผมไม่รู้จัก แต่ก็เอามาแปะในบล็อก จนมีผู้หวังดีมาตอบในบล็อกผมว่า เดวิด เต๋า คือ เถา เจ๋อ นักร้องชื่อดังของไต้หวัน แล้วเอาคลิปเพลง “ณ สนามบิน ๑๐ โมงครึ่ง” ของเขาให้ลองฟังดู
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tokei&group=4&month=01-2006&date=31&blog=1

สารภาพว่า ผมไม่ได้สนใจเท่าไรนัก จนกระทั่งผมไปกินอาหารร้านจีน เขาเปิดเพลงของเดวิด เต๋า

ผมคุ้นๆหู ถามพนักงานที่ร้านว่า เพลงของเดวิด เต๋า ใช่มั้ย?

เธอบอกว่า ใช่

แล้วเพลงของ เดวิด เต๋า ก็บรรเลง ตลอดมื้ออาหารของผม

ผมเริ่มติดใจ กลับมานั่งหาฟัง

จนมาเจอบล็อกของคุณ Tokei
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tokei&group=1


เธอมีความมานะอุตสาหะมากๆ เอาเพลงของเดวิด เต๋า มาเก็บไว้ทุกอัลบั้ม พร้อม คำร้อง คำแปล

นอกจากนี้ ยังมีเพลงของเจย์ โจว์ (เพลงลานดอกเบญจมาศhttp://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tokei&month=10-2006&date=04&group=3&gblog=24
ผมชอบมาก ชอบทั้งหนัง ชอบทั้งเพลง)
เพลงของหวังหลี่หง ฯลฯ

ผมดูหน้าตาเดวิด เต๋าแล้ว...

ผมว่าเขาไม่หล่อเลย อายุก็เยอะแล้ว เทียบกะนักน้องรุ่นหนุ่มคนอื่นๆแพ้แน่ๆ

แต่เขาขายฝีมือล้วนๆ ออกอัลบั้มไม่มาก ปีล่าสุดก็พึ่งกวาดรางวัลไปหลายอยู่

ยิ่งไปตามอ่านประวัติเขาในวิกิแล้วยิ่งน่าสนใจ

พอไปอ่านคำแปลที่คุณ Tokei แปลมาแล้ว ผมยิ่งชอบ เพลงเขามีความหมายสะท้อนสังคมหลายเพลงอยู่

เพื่อนผม คนจีนแผ่นดินใหญ่ มีเพลงนักร้องจากไต้หวันหมด ตั้งแต่ เดวิด เต๋า, เจย์ โจว์, หวัง หลี่ หง, เอฟโฟร์, บอยแบรนด์วงต่างๆ เขาแนะนำผมให้ลองฟังเพลงอื่นๆอีกด้วย

ผมถามเขาว่า ไม่มีปัญหาเรื่อง จีน-ไต้หวัน หรือ?

เขาบอกว่าไม่มีเลย มันเป็นเรื่องบันเทิง การค้า ตราบใดที่เพลงของไต้หวันไม่มีเนื้อหาทางการเมืองเรื่องแบ่งแยกประเทศ

ผมถามต่อว่า ทำไมเพลงของไต้หวันถึงดังในเอเชีย (หลังๆชนะฮ่องกง ตั้งแต่หมดยุค ๔ จตุรเทพ) ทำไมจีนไม่ทำเพลงเอง?

เขาบอกว่า ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ (เช่น โซนี่) และหลังๆก็มีพันธมิตรจากหลายๆประเทศเข้ามาอีก (ผมก็ว่าจริง เห็นอากู ๋ แกรมมี่ เอา เต๊ะ ศตวรรษ เข้าไปทำตลาดอยู่)

น่าสนใจแนวรบเรื่องทุนวัฒนธรรมเหมือนกันว่าจีนจะยอมให้ไต้หวันกลืนหมดหรือไม่

ใครไม่เคยฟังเพลงของเดวิด เต๋า ลองหามาฟังกันดูนะครับ ไม่รู้ว่าเมืองไทยมีแผ่นเปล่า แต่ถ้าอยากลองฟัง เข้าไปที่บล็อกของคุณ Tokei ก่อนได้

ลองพิสูจน์ดูว่า David Tao เป็น ราชา อาร์แอนด์บีของเอเชียจริงหรือไม่

...................

เพลงนี้ ผมชอบมาก “วันนี้แต่งงานกับฉันนะ”
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tokei&group=4&month=10-2006&date=21&blog=1

เพลงนี้ก็ชอบ แต่ได้อ่านคำแปลแล้ว กลายเป็นเพลงเศร้าซะงั้น
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tokei&group=4&month=06-2006&date=12&blog=6

เพลงนี้ เป็นเพลงของเติ้ง ลี่ จวิน เขาเอามาทำใหม่
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tokei&group=4&month=12-2005&date=01&blog=1

“ลืมไม่ลง” นี่ก็เป็นเพลงเก่า เอามาทำใหม่เหมื่อนกัน
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tokei&group=4&month=09-2006&date=26&blog=2

พวกนี้เพลงสะท้อนสังคม
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tokei&group=4
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tokei&group=4&month=03-2006&date=18&blog=2
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tokei&group=4&month=12-2006&date=17&blog=1

วันเสาร์, พฤศจิกายน 10, 2550

นักศึกษาประท้วง

นักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส รวมตัวกันประท้วงกฎหมายใหม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ๒ ฉบับ คือ รัฐบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพและความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย และรัฐบัญญัติความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย

สภานักศึกษาได้ลงมติให้ปิดมหาวิทยาลัย มีการเอาเก้าอี้ โต๊ะไปกีดขวางประตูทางเข้าอาคาร และห้องบรรยาย ในเมืองใหญ่ๆ นักศึกษาเริ่มเดินขบวนแล้ว

กฎหมาย ๒ ฉบับนี้ มีสาระสำคัญที่ทำให้นักศึกษารวมตัวกันประท้วงอยู่หลายข้อ ดังนี้

การเพิ่มอำนาจอธิการบดี
เดิม อธิการบดีมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี เป็นได้วาระเดียว แต่กฎหมายใหม่กำหนดเป็นวาระละ ๔ ปี และเป็นได้ ๒ วาระติดต่อกัน นอกจากนี้ยังเพิ่มอำนาจให้อธิการบดีอีก เช่น สิทธิในการวีโต้กรณีการรับข้ารัฐการ เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และนักวิจัยเข้าทำงาน, การจ้างบุคลากรบางส่วนด้วยสัญญาจ้างแรงงาน

ที่มาของอธิการบดี
เดิม สภามหาวิทยาลัย สภานักศึกษา สภาอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาเอก ประชุมใหญ่ร่วมกัน เพื่อลงมติเลือก โดยอธิการบดีต้องได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด (รวมประมาณ ๗๐-๑๒๐ เสียง) แต่ต่อไปจะเปลี่ยนให้อธิการบดีมาจากการเลือกของสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น โดยต้องได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด (รวมประมาณ ๑๓ -๒๒ เสียง)

การปรับโครงสร้างสภามหาวิทยาลัย
กฎหมายใหม่ลดจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยให้เหลือ ๒๐-๓๐ คน จากเดิมที่มีถึง ๓๐ -๖๐ คน สัดส่วนของตัวแทนจากนักศึกษา จากเดิมมีร้อยละ ๒๐-๒๕ ก็ลดเหลือเพียงร้อยละ ๓-๕ ตรงกันข้ามกลับไปเพิ่มสัดส่วนให้กับกรรมการที่มาจากคนนอกได้ถึง ๗-๘ คน นอกจากนี้กฎหมายยังลดบทบาทของสภานักศึกษา จากเดิมที่มีสิทธิจัดทำข้อเสนอได้ ให้เหลือเพียงการให้คำปรึกษาหารือเท่านั้น

การอนุญาตให้มหาวิทยาลัยตั้งกองทุนรับเงินจากเอกชน
กฎหมายใหม่ยอมให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดตั้งกองทุนเฉพาะ เพื่อรับเงินบริจาคจากเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยมีอำนาจในการบริหารกองทุนนี้ด้วยตนเอง ไม่ต้องจัดส่งเข้ารัฐ

นักศึกษาเห็นว่ากฎหมายใหม่สองฉบับนี้ เป็นก้าวแรกของการ “ขาย” มหาวิทยาลัยให้เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอนาคต เอกชน ภาคธุรกิจ สามารถแทรกแซงมหาวิทยาลัยได้ โดยผ่านทาง กรรมการสภามาหวิทยาลัยในส่วนคนนอก และการบริจาคเงินผ่านกองทุน จะเป็นเช่นไร หากมีธุรกิจขนาดใหญ่บริจาคเงินมหาศาลให้มหาวิทยาลัย จากนั้นมหาวิทยาลัยก็แต่งตั้งตัวแทนจากธุรกิจนั้นเข้าเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย? รัฐบาลพยายาม “ผลักภาระผูกพัน” ที่ตนมีตอมหาวิทยาลัย (โดยเฉพาะงบประมาณที่รัฐต้องจัดให้แต่ละปี) ไปให้เอกชนทำแทน

นักศึกษายังเห็นอีกว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ปฏิรูปมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ตรงกันข้ามกับสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยแข่งขันกันหารายได้ แข่งขันกันเอง คณะที่เปิดสอนวิชาที่ไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานจะอยู่ได้อย่างไรในสภาวะแข่งขันกันสูงเช่นนี้ พวกเขาเชื่อว่า ต่อไปสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีจะกลายเป็น “ศูนย์รวมอำนาจ” การบริหารงานมหาวิทยาลัยทั้งหมด ทั้งการตั้งคณะ การเปิดหลักสูตร การทำข้อตกลงร่วมมือกับภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยอื่น การกำหนดอัตราบุคลากร การจ้างอาจารย์โดยใช้สัญญาจ้าง

ทางรัฐบาลได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการประท้วงของนักศึกษาว่า ทำไมจึงพึ่งมาประท้วง ทั้งๆที่กฎหมายนี้มีผลใช้มาตั้งแต่ ๑๐ สิงหาคม ฝ่ายนักศึกษาบอกว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พวกเขารวมตัวกันประท้วงในเดือนสิงหาคม เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงปิดเทอม เมื่อเปิดเทอมเดือนกันยายน ก็ต้องรณรงค์ในหมู่นักศึกษาด้วยกันอีก กว่าจะพร้อมประท้วงได้ ก็ต้องข้ามมาถึงเดือน พ.ย.

รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาระดับสูงและการวิจัย ยังตั้งข้อสงสัยอีกว่า การประท้วงของสหภาพนักศึกษามีสหภาพแรงงานอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะ ประท้วงปิดมหาวิทยาลัยในช่วงเดียวกันกับที่สหภาพแรงงานรถไฟ รถใต้ดิน นัดหยุดงาน และเห็นตัวแทนจากสหภาพแรงงานหลายคนไปพบปะกับสหภาพนักศึกษา

หลังจากประธานาธิบดีซาร์โกซี่ และรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฟียง ผ่านช่วงฮันนีมูนมาได้ ๕ เดือน ตอนนี้ก็ถึงเวลาประท้วง เดินขบวน และนัดหยุดงานให้รัฐบาลต้องรับมือกันแล้ว เพราะรัฐบาลเร่งผลักดันนโยบายสำคัญซึ่งกระทบคนจำนวนมาก ตั้งแต่การเปลี่ยนระบบสวัสดิการของคนเกษียณอายุ การปรับปรุงมหาวิทยาลัย การเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ประชาชน การยุบศาลในหลายจังหวัดและจัดเขตอำนาจศาลทางพื้นที่เสียใหม่

ผมชอบบรรยากาศประท้วงของที่นี่มาก แม้บางครั้งอาจต้องเดือดร้อนจากการประท้วงของพวกเขาบ้าง (เช่นเข้าคณะไม่ได้ รถไฟ รถราง รถเมล์ รถใต้ดินไม่วิ่ง) แต่ก็เข้าใจดี เพราะการต่อสู้ในประเด็นสาธารณะจำเป็นต้องมีเครื่องมือเหล่านี้เพื่อใช้แสดงออกและต่อรองกับรัฐ ที่สำคัญการประท้วงที่นี่ มีประเด็นชัดเจน เป็นเอกภาพ มีการจัดตั้งโดยสหภาพแรงงานที่มีประสิทธิภาพ (ไม่เหมือนสหภาพแรงงานบ้านเรา)

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 08, 2550

งง

นักการเมืองไทย คงมีหน้าที่คิดว่าเลขที่พรรคของตนจับสลากได้ มีความหมายอย่างไร มากกว่าจะไปนั่งคิดนโยบาย หรือกลยุทธหาเสียง

สื่อมวลชนไทย ก็บ้าจี้ (ทุกช่อง ทุกฉบับ เป็นเหมือนกันหมด) เที่ยวไปไล่ถาม อยากได้เบอร์อะไร? ตอนจับ ก็นั่งลุ้น อย่างกับลุ้นหวยออก พอจับได้แล้ว ก็มานั่งถามต่อ เบอร์นี้ดีมั้ย? หมายความอย่างไร?

ลองรวบรวมมาไว้ ให้ขำๆเล่นๆ และเชื่อผมสิ เลือกตั้งครั้งต่อไป เขาก็จะเอามุขเดิมๆนี้แหละ ไปใช้อีก

๑ เพื่อแผ่นดิน คือ ที่หนึ่ง จำง่าย
๒ รวมใจไทย คือ วิคตอรี่
๔ ปชป คือ จำง่าย เลขเดิม
๙ ประชาราช คือ ก้าวหน้า และรัชกาลที่ ๙
๑๒ พปช คือ ครบโหล
๑๓ ชาติไทย คือ ลัคกี้นัมเบอร์
๑๕ มัชฌิมา คือ พลังบ้าบออะไรไม่รู้ (ประชัยบอก) และ รถไฟฟ้า ๑๕ บาทตลอดสาย

งานนี้ ไม่รู้สื่อเพี้ยน หรือนักการเมืองเพี้ยนกันแน่

หรือว่า สังคมไทยชอบ เรื่องตัวเลข เรื่องไสยศาสตร์ สนใจแต่รูปแบบ มากกว่าเนื้อหา นักการเมืองและสื่อจึงต้องคอยตอบสนอง

...........

ผมไปอ่านเจอกระทู้ในประชาไท

เขาตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อก่อน การเข้าเฝ้ารับเสด็จ จะทำด้วยความสำรวม สงบเงียบ

แต่ปัจจุบัน ต้องเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังๆ ต้องร้องเพลง “เทอดพระเกียรติ” ดังๆ

ผมมานั่งคิดดู ก็เห็นว่าจริง

หรือ การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี จะกลายเป็น exhibitionnisme แบบหนึ่ง

ป.ล. อย่าลืมหาเสื้อสีชมพูมาใส่แทนเสื้อเหลืองกันได้แล้วนะครับ เทรนด์แฟชั่นปีนี้เปลี่ยนไปแล้ว