วันอังคาร, มิถุนายน 19, 2550

ฝันร้าย

เอาเนื้อเพลง "ฝันร้าย" ของคาราวานมาฝาก
ผมชอบเนื้อหามาก

เชิญทัศนาและคิดตาม...

ฝันร้าย

ทวยเทวดาเหิรลงจากฟ้า
พอลอยลงมารูปโฉมเป็นมาร

กินคนเดินดินทั่วแดนแห่งหน
ผู้คนพลีกายถวายกำนัล

ซาตานจำแลงร่างเป็นฤาษี
ยิ้มกรายพาทีชี้ชวนทำบุญ

อัศวินรำทวนร่ายมนต์คาถา
หมายปองนานาหากลอุบาย

คนจรเดินดินไร้สิ้นสลึง
อื้ออึงออแอชะแง้ตาลอย

มองไปทางไหน ผู้คนครวญคราง
เหล่ามารกาลี เฆี่ยนโบยบีฑา

กูกู่ร้องตะโกน
ทนปวดร้าวทำไม
ทนปวดร้าวทำไม

ได้ยินไหม!

วันจันทร์, มิถุนายน 18, 2550

ความเห็นต่าง (๒)

มติชน วันที่ ๑๘ มิถุนายน ลงบทความของทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับ บทวิเคราะห์ต่อคำวินิจฉัยคดียุบพรรคของคณาจารย์นิติ มธฒ ๕ คน ดังนี้

หลักนิติรัฐกับคนเนรคุณ

โดย ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาด พร้อมแสดงเหตุผลทั้งฝ่ายข้างมากและข้างน้อยอย่างละเอียดครบถ้วนแล้ว ประชาชนและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยก็ได้แสดงความคิดเห็นกันพอหอมปากหอมคอแล้ว เรื่องเหล่านี้น่าจะยุติและดำเนินชีวิตตามหน้าที่ของเราต่อไปด้วยความสงบ ปล่อยให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้นต่อไปจะดีกว่า

แต่ปรากฏว่าเพื่อนอาจารย์ มธ.ของผู้เขียน 4-5 คน ยังคงแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลต่อสาธารณะค่อนข้างรุนแรง จนทำให้หลายคนรู้สึกสับสนว่า ผลคำตัดสินจะใช้ได้หรือไม่ต่อไป

เหมือนกับจะดื้อไม่ยอมรับกติกาที่ศาลวินิจฉัยไปแล้วนั่นเอง หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ผู้เขียนจะสอนลูกศิษย์ได้อย่างไร เมื่ออาจารย์กฎหมายเองยังไม่ยอมรับกติกาเสียงข้างมากของตุลาการรัฐธรรมนูญ?

อันที่จริงอาจารย์ มธ.ทั้ง 5 ท่าน น่าจะพอใจกับคำพิพากษาแล้ว เพราะมีตุลากรฝ่ายข้างน้อยได้รับความคิดของท่านไปถกเถียงในคณะตุลาการด้วยกันแล้วพร้อมเหตุผล แต่ก็สู้เสียงข้างมากเขาไม่ได้ ตุลาการทุกท่านก็ยอมรับกันแล้ว

อย่าลืมว่าตุลาการแต่ละท่านนอกจากจะมีความรู้มากกว่าพวกเราแล้ว ท่านยังมีประสบการณ์ ความคิดที่เป็นอิสระ ความกล้าหาญสู้กับแรงกดดัน การข่มขู่และความรับผิดชอบในคำตัดสินของท่านเหล่านั้น มากกว่าอาจารย์ทั้ง 5 รวมทั้งตัวผมด้วยหลายเท่าตัวนัก

ผมจึงเห็นว่า อาจารย์เราทั้งหลายได้ทำหน้าที่ชี้นำสังคมมาตามควรแล้วปล่อยให้กระบวนการเป็นไปตามทางของมันเถิด

การที่หนังสือพิมพ์พาดหัวตัวโตว่า "5 อาจารย์ นิติ มธ.แย้ง..." ทำให้ดูเหมือนมีตั้ง 5 คน แต่แท้จริงแล้ว 2 ใน 5 คน ยังศึกษาไม่จบอยู่ต่างประเทศ อีกท่านหนึ่งก็เป็นเพียงผู้รับรองให้เท่านั้น

อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นั้น ขอชื่นชมว่าเป็น "กาลิเลโอหลงยุค"

ส่วน อาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพาณิชย์ นั้น ชื่นชมว่าเป็น "ลกเจ๊ก" ในเรื่องสามก๊ก ที่กล่าวในไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 9 เดือนนี้ ทำนองว่า หากให้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษได้ ต่อไปหากไทยรักไทยได้คืนอำนาจก็ออกอาจกฎหมายย้อนหลัง เอากับ คมช. คตส.ด้วย

การกล่าวเช่นนั้นนอกจากจะเทียบเคียงกรณีที่เกิดขึ้น อย่างผิดฝาผิดตัว (false analogy) แล้ว ยังเป็นการยืนยันในทางให้ร้ายกับไทยรักไทยด้วยว่า ที่ผ่านมาก็ทำลายหลักนิติรัฐอยู่แล้ว (ดูคำวินิจฉัยส่วนที่ว่าด้วยการแทรกแซงสื่อและใช้อำนาจนอกเหนือกฎหมายหาประโยชน์ใส่ตนและกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม) หากมีอำนาจอีกก็จะทำลายหลักนิติรัฐอีก แสดงว่าการถูกตัดสิทธินั้นถูกต้องแล้วเพราะว่าหากปล่อยไว้ก็คงต้องกลับมาทำผิดอีก

ผู้เขียนเคารพความเห็นของเพื่อนอาจารย์เหล่านั้น โดยขออธิบายเพิ่มเติมก่อนกลับไปสอนหนังสือโดยสงบ ดังนี้

1.หลักนิติรัฐ ที่อ้างกันอยู่นั้นเป็นหลักทางมหาชน มีใช้เพื่อคุ้มครองรัฐและประชาชน เป็นหลักประกันว่าทุกคนจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้น หากเอกชนคนใดมุ่งทำลาย หลักนิติรัฐย่อมจะถูกหลักมหาชนนำมาใช้เพื่อป้องกันมหาชนคนส่วนใหญ่นั้นได้

หากให้นำเอาความเสียหายของเอกชนมาไว้อยู่เหนือความเสียหายของมหาชน การท่องบ่นเรื่องหลักนิติรัฐก็จะไม่มีความหมาย เพราะหากหลักนี้ยังป้องกันตนเองไม่ได้ จะนำมาอ้างเพื่อคุ้มครองประชาชนและประเทศชาติได้อย่างไร ตัวเองยังเอาตัวไม่รอด!!!

นิติรัฐก็คงเป็นเพียงแบบพิธีให้ใครต่อใครมาหาประโยชน์ เพื่อความโก้เก๋ หรือเป็นเพียงเครื่องประดับห่วยๆ อย่างหนึ่งที่คนบางกลุ่มเห็นว่ามีค่า พร่ำพรรณนาเป็นคาถากันผีเท่านั้น

อยากจะถามว่า ถ้าผู้กุมอำนาจของรัฐ กระทำการขัดต่อหลักนิติรัฐ มุ่งทำลายความเป็นนิติรัฐ ใครจะยุติการทำลายนี้ได้

ดูตามสำนวนของตุลาการรัฐธรรมนูญ จะเห็นพฤติการณ์ว่า (ข้อ 9, 10 และข้อ 11) การกระทำของพรรคไทยรักไทยและกรรมการบางคน

- ทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นเพียง แบบพิธี ที่จะนำไปสู่การผูกขาดทางการเมืองเท่านั้น

- มิได้ให้ความสำคัญหรือเห็นคุณค่าของ สิทธิเลือกตั้ง ของประชาชน อันเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

- ไม่เคารพยำเกรง ต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ ได้รับความไว้วางใจ จากประชาชนสูงสุด ในการเลือกตั้ง 2 ครั้งสุดท้าย

- ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติ ตามที่สัญญาไว้กับประชาชน มุ่งเพียงให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ

- เมื่อเป็นรัฐบาลมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ก็ไม่ได้บริหารโดยสุจริต แต่แอบแฝงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

- ไม่สร้างสรรค์จรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครอง ของประเทศ

โดยรวมการกระทำของบุคคลเหล่านี้ เป็นการบริหารอำนาจรัฐโดยการทุจริตทำลายหลักนิติรัฐ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว หลักนิติรัฐจะอยู่ได้อย่างไร

2.ประเด็นเรื่องกฎหมายย้อนหลัง ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันไม่ยุตินั้น ในฐานะนักกฎหมายอาญาขออธิบายว่า กฎหมายทั้งหลายมีขึ้นก็เพื่อใช้แก้ปัญหาไม่ใช่สร้างหรือสะสมปัญหา จึงต้องใช้ให้ทันทีเพื่อให้เหมาะสมทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายวิ.แพ่งหรือวิ.อาญา แม้สิทธิของโจทก์ จำเลยอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็นำไปใช้ย้อนหลังขณะที่ศาลพิจารณาพิพากษาได้

อย่างไรก็ตาม เฉพาะความผิดอาญา หากย้อนหลังไปเป็นโทษแล้ว ต้องห้าม เหตุผลก็เพราะไม่กำหนดความผิดและโทษไว้ก่อนการกำหนดความผิด

กฎหมายต้องประกาศให้ทราบก่อนว่าการกระทำใดเป็นความผิด จะได้ไม่ทำผิดนั้น หมายถึงการกำหนดความผิดใหม่ๆ ขึ้น จะนำไปกล่าวหาผู้กระทำย้อนหลังไม่ได้เพราะ เขาไม่รู้มาก่อนว่าการกระทำของเขาจะเป็นความผิด

แต่ตามข้อเท็จจริงในคดี ที่ปรากฏตามสำนวนของตุลาการรัฐธรรมนูญ การกระทำของนักการเมืองและพรรคการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความไม่ซื่อสัตย์สุจริต เลือกตั้งแบบคดโกง ทุจริตผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามที่มีอยู่เดิมแล้ว จึงไม่ใช่การกำหนดความผิดขึ้นใหม่

กลุ่มผู้กระทำจะว่าไม่รู้ว่าเขาห้ามโกง ห้ามทุจริต คงผิดวิสัยเพราะก่อนการเข้ารับตำแหน่งก็สาบานกันแล้วว่าจะไม่โกง ไม่ทุจริตบางคนสาบานตั้งหลายรอบ ดังนั้น การวินิจฉัย ความผิดนี้จึงไม่ใช่การย้อนหลังการกำหนดโทษ

การตัดสิทธิไม่ใช่โทษ แต่เป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายอาญาก็ไม่ห้าม การใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยย้อนหลัง โดยกำหนดให้ใช้ได้ในขณะศาลพิพากษา แม้ว่าขณะกระทำความผิดจะไม่มีมาตรการเหล่านี้ก็ตาม เพราะมาตรการใหม่ๆ ย่อมจะนำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดในอนาคตได้ดีกว่าเป็นประโยชน์ทั้งผู้กระทำผิดเพราะไม่ใช่โทษอาญา และเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เพราะมีมาตรการใหม่กับการกระทำ เพื่อป้องกันการเกิดความผิดได้ดีกว่าเดิม

การใช้มาตรการดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องกฎหมายย้อนหลังอันเป็นผลร้ายหรือเป็นโทษแก่บุคคล เทียบได้กับกรณีคนที่มาเช่าบ้าน ทำบ้านสกปรกเลอะเทอะเสียหาย ถึงขนาดลงมือรื้อฝาบ้านไปขาย, ให้คนนอกมาเช่าพื้นที่อยู่อาศัยโดยเอารายได้ใส่ตน, ค่อยๆ ทยอยขายทรัพย์สินในบ้านที่เจ้าของบ้านสะสมไว้ จนบ้านทรุดโทรม ทรัพย์สินร่อยหรอลงไปทุกทีเมื่อความจริงเปิดเผยเข้า จึงมีการบอกเลิกสัญญาเช่า โดยเพียงขอให้ผู้เช่าออกจากบ้านไปชั่วคราวก่อน จะได้เข้าไปซ่อมแซมบ้าน ไม่ได้เอาไปลงโทษ ทำร้ายที่ไหน การให้ผู้เช่าที่กำลังทำลายบ้านเช่าออกไปจากบ้าน เพื่อป้องกันความเสียหายของบ้าน จึงไม่ใช่โทษ แต่เป็นมาตรการเพื่อยุติความเสียหายแก่บ้านเช่าที่เขากำลังทำลายอยู่

ผู้เช่าที่กำลังทำลายบ้านนั้นกลับโวยวายว่าตนถูกตัดสิทธิ แถมยังมีคนบางคนเข้าใจผิดเห็นอกเห็นใจผู้เช่า ทั้งๆ ที่เจ้าของบ้านน่าจะจับผู้เช่าที่ทำลายข้าวของนี้ ติดคุกด้วยซ้ำ แต่เขาก็ไม่ทำ

จึงเห็นตรงข้ามกับ อาจารย์วรเจตน์ โดยสิ้นเชิงว่าหากไม่นำมาตรการตัดสิทธิเลือกตั้งอันไม่ใช่โทษนี้ ไปใช้กับกลุ่มผู้ทุจริตในการเลือกตั้งกลับจะทำให้ประชาชนภายใต้หลักนิติรัฐจะคลางแคลงและไม่ไว้วางใจให้ความเชื่อถือต่อหลักนิติรัฐ เพราะความผิดปรากฏชัด แต่ผู้ทำผิดกลับลอยนวลไปได้

เขาจะตั้งคำถามว่าทำไมประชาชนทำบัตรเลือกตั้งฉีกขาดนิดเดียวก็อาจถูกตัดสิทธิถึง 10 ปี แต่คนโกงเลือกตั้งทั้งโขยงไม่โดนอะไรเลย? หากจะอ้างว่าการตัดสิทธิเป็นโทษหรือเป็นคุณก็ต้องถามว่าเป็นโทษกับใคร หรือจะให้เป็นคุณกับใคร

เป็นหน้าที่ของนักกฎมหายมหาชนที่ดูแลนิติรัฐด้วยที่จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง (การตัดสิทธิ) เป็นโทษกับเอกชน กับ (การไม่ตัดสิทธิ) เป็นโทษกับมหาชน ท่านจะเลือกอย่างไร

ที่ดินเอกชนขวางถนนอยู่แปลงเดียว กฎหมายมหาชนจะยึดกรรมสิทธิ์ย้อนหลังโดยเวนคืนตัดถนนผ่านเพื่อมหาชนหรือไม่? หากเอามหาชนเป็นหลัก การใช้มาตรการดังกล่าวจึงไม่ใช่การย้อนหลังไปเป็นโทษแต่กลับเป็นคุณแก่มหาชนทั้งสิ้น

- เป็นคุณแก่ประชาชนผู้มีอำนาจสูงสุด จะไม่ถูกลบหลู่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

- เป็นคุณแก่รากฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

- เป็นคุณแก่ผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองที่จะได้รับการคุ้มครอง

- เป็นคุณแก่หลักนิติรัฐที่จะไม่ถูกคนกลุ่มนี้มาทำลายในอนาคต

- เป็นคุณแก่ความมั่นคงทางการเมืองของชาติ

- เป็นคุณแก่สมาชิกพรรคไทยรักไทย กว่า 14 ล้านคน จะได้ตาสว่างเห็นพฤติการณ์ทุจริตในการเลือกตั้งที่พรรคและบุคคลที่ตนมอบศรัทธาและความไว้วางใจ กระทำเอาลับหลังตน

- เป็นคุณแก่สมาชิก กว่า 14 ล้านคนเหล่านี้จะได้ไม่ถูกบังคับให้หลับตาเลือกคนที่มาทำลายความไว้วางใจของเขาเหล่านั้นอีก

- เป็นคุณแก่คนไทยที่ไม่ใช่สมาชิกเป็นคุณแก่อีกกว่า 45 ล้านคน ที่จะได้เลือกตั้งอย่างสบายใจขึ้น

- เป็นการจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองเพราะเป็นพรรคที่มิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติ หากแต่มุ่งประสงค์ที่จะดำเนินการทุกวิธีทางเพื่อให้ได้มายังอำนาจในการปกครองประเทศเพื่อหาประโยชน์เข้าพวกพ้องของตนเท่านั้น

- เป็นคุณต่อผู้ถูกตัดสิทธิทั้งหมดทุกคนนั้นด้วย เพราะจะไม่มีโอกาสได้ไปกระทำความผิดที่เคยทำนั้นอีกอย่างน้อย เป็นเวลา 5 ปี หากปล่อยไว้เขาก็จะไปกระทำความผิดจนเขาอาจถึงขั้นติดคุกได้การใช้มาตรการดังกล่าวจึงกลับเป็นคุณแก่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้อยู่ในกรอบของกฎหมายและความสุจริตหากไม่ตัดสิทธิ การทุจริตก็จะกลับเกิดซ้ำซากอีก

3.การตัดสิทธิดังกล่าว เป็นการตัดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานหรือไม่?

การใช้สิทธิและการใช้เสรีภาพของบุคคลตามกฎหมายวางอยู่บนรากฐานแห่งหลัก "สุจริต" สิทธิและเสรีภาพจึงมีไว้ให้ผู้ที่สุจริตใช้อย่างเต็มที่ หลักนี้ยืนยันไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชนมานานเนกาเลแล้วว่าการใช้สิทธิต้องใช้โดยสุจริต การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย กฎหมาย ก็ต้องให้หยุดทำได้ เพื่อระงับความเสียหายที่จะเกิดต่อไปภายหน้า จึงเห็นได้ว่า แม้ในทางกฎหมายเอกชนก็ยังให้ระงับการใช้สิทธิที่ไม่สุจริตได้ในทางมหาชน ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น เพราะหากมีการใช้สิทธิไม่สุจริต แม้ทางเอกชนความเสียหายเฉพาะเอกชนเท่านั้นกฎหมายยังให้ใช้บังคับยับยั้งการกระทำได้ ในทางมหาชนใช้สิทธิไม่สุจริตต่อมหาชนยิ่งจะส่งผลกระทบและก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่คนจำนวนมาก

หากยังคงตัดสิทธิการใช้นั้นไม่ได้ หลักสุจริตและนิติรัฐก็ถูกทำลายไม่มีใครได้ยกขึ้นอ้างอีกตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้ลงโทษเพียงแต่ "ชี้กรรม" ที่เขากระทำแก่การเลือกตั้ง และระบอบการปกครองของบ้านเมืองเท่านั้น การตัดสิทธิดังกล่าวจึงไม่ใช่ผลร้าย หรือการลงโทษผู้กระทำ

หลักนี้ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปที่เป็นธรรมก็กล่าวอ้างได้ว่า"เมื่อเล่นโกง ก็ไม่ให้เล่น"

สรุป การที่ยึดถือหลักนิติรัฐต้องทำโดยมีจิตวิญญาณที่จะปกป้องนิติรัฐด้วย โดยต้องมองให้รอบรู้ให้ทั่ว หากเห็นไม่รอบ กอดแต่หลักไว้อย่างเดียวไม่ดูว่ามดแทะ ปลวกทะลวงหลักจนปรุพรุนเป็นโพรงอยู่ข้างในไปหมดแล้วยังพร่ำเพ้อว่าหลักยังดีอยู่ ทั้งๆ ที่รู้และโวยวายให้ใครก็ได้เข้ามาแก้ไข

แต่พอมีคนจะไปช่วยพยุงซ่อมแซม โดยเอามด ปลวกออกจากหลัก โดยที่เขาก็เมตตาไม่ฆ่ามด ปลวกเท่านั้น เพียงแต่ขอกวาดออกจากหลักไม้ไปชั่วคราว เพื่อซ่อมแซมหลักให้มั่นคงแล้วจะเชิญให้มด ปลวกเหล่านี้มากัดกินกันใหม่เท่านั้น

คนที่อ้างว่าตนพิทักษ์หลักนิติรัฐเหล่านี้ก็ยังคงกอดหลัก ขวางกั้น ออกหน้าปกป้องมด ปลวก ไม่ให้ใครไปแตะต้องมด ปลวกเหล่านั้น โดยคิดว่าเป็นการปกป้องสิทธิของมดและปลวกเหล่านั้นตามหลักนิติรัฐอยู่

แทนที่จะเป็นการบำรุงรักษา กลับเป็นการช่วยทำลายหลักนิติรัฐทางอ้อมไม่เห็นแม้กระทั่งพวกปลวกๆ ทั้งหลายกำลังนั่งหัวเราะเยาะพวกกำจัดปลวกที่ทะเลาะกันเอง

เท่ากับเนรคุณหลักนิติรัฐเสียเอง

ความเห็นของพวกเขาเหล่านี้ จึงเป็นการ "เห็นต้นไม้แต่ไม่เห็นป่า"

ป่าไม้ถูกทำลายลงทุกวัน ท่านเหล่านี้กู้รู้อยู่ เรียกร้องให้ช่วยกันปราบพวกตัดไม้ทำลายป่าแต่พอเขาจะไปจับคนตัดต้นไม้ ท่านเหล่านี้ก็ออกขวางกั้น โดยอ้างว่า ชาวบ้านตัดต้นไม้ต้นสอง ต้น ไม่เสียหาย ต้องคุ้มครองให้เขาอยู่กินได้ท่านเหล่านี้จึงเห็นแต่คนตัดไม้ทีละต้น แต่ไม่เคยเห็นคนทำลายป่าหารู้ไม่ว่าคนเหล่านั้นตัดทีละต้น เป็นร้อย เป็นล้านต้นแล้ว

ฉันใดก็ฉันนั้น เราจึงไม่สามารถดำเนินการกับคนทำลายหลักนิติรัฐได้เสียที ด้วยฝีมือของคนที่คิดว่าตนเป็นคนพิทักษ์อนุรักษืหลักนิติรัฐ แต่มองไม่เห็นปลวกที่กำลังกัดกิน และทำลายหลักนิติรัฐที่เขาบูชาอยู่ตำหูตำตา

ดังนี้ แทนที่จะเป็นองครักษ์พิทักษ์หลักนิติรัฐกลับกลายเป็นองครักษ์พิทักษ์ปลวกไปเสียนี่!!!

หลักนิติรัฐจึงถูกเนรคุณด้วยสายตาที่คับแคบเช่นนี้เอง

(ขอกลับไปสอนนักศึกษาตามหน้าที่ให้ดีที่สุดละนะเจอกันใหม่เมื่อมีวิกฤตหมายภายหน้า... กาลิเลโอ...)

วันพุธ, มิถุนายน 13, 2550

ความเห็นต่าง

ผมไปพบบทความของศาสตรา โตอ่อนในเว็บไซต์ผู้จัดการ ซึ่งบทความเดียวกันนี้ เผยแพร่ลงในบล็อกของเขา และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ด้วย

บทความนี้ “เห็นด้วย” ต่อคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคไทยรักไทยและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ๕ ปี ย้อนหลัง บทความเดียวกันนี้จึง “เห็นต่าง” ต่อบทวิเคราะห์ของอาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ๕ คน

อนึ่ง บทความของศาสตราชี้ให้เห็นว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย้อนหลัง ๕ ปี ทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่สำหรับผม ไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ และต่อให้เป็นประโยชน์สาธารณะ ก็ไม่ได้สัดส่วนกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกลิดรอนไป

เพื่อความหลากหลายทางความคิดเห็น ผมขออนุญาตนำบทความดังกล่าวมาโพสลงไว้ ณ ที่นี้

หลากหลายสถานการณ์ในหลักการห้ามกฎหมายมีผลย้อนหลัง

โดย ศาสตรา โตอ่อน

ในนิติรัฐ หรือรัฐที่มีการปกครองโดยถือกฎหมายเป็นใหญ่นั้น ฝ่ายนิติบัญญัติมีความผูกพันในการบัญญัติกฎหมายให้มีความชอบธรรม ซึ่งความชอบธรรมในการบัญญัติกฎหมายจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อการบัญญัติกฎหมายมีการคำนึงหลักการสำคัญอย่างน้อยที่สุดสามประการ คือ หลักความแน่นอนของกฎหมาย หลักการห้ามกฎหมายมีผลย้อนหลัง และหลักความเสมอภาค


กล่าวโดยเฉพาะหลักการห้ามกฎหมายมีผลย้อนหลัง ซึ่งกำลังเป็นหัวข้อวิวาทะสำคัญที่มีผู้ออกมาให้ความเห็น กระทั่งมีการนำความเห็นต่างๆ ไปขยายผลทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มพวกของตนอย่างมากมาย สิ่งที่ปรากฏ คือ ความไม่ชัดเจนในการปรับใช้หลักการดังกล่าวกับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นหลายกรณี หรือกระทั่งกรณีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

หลักการห้ามกฎหมายมีผลย้อนหลัง ถือเป็นหลักการพื้นฐานในการบัญญัติกฎหมายที่สำคัญ โดยหลักการดังกล่าวมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ การห้ามกฎหมายมีผลย้อนหลังไปก่อผลร้ายต่อการกระทำที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่การย้อนหลังอันเป็นโทษทางอาญานั้น จะกระทำไม่ได้โดยเด็ดขาด โดยนัยของหลักการดังกล่าวทำให้เกิดประเด็นพิจารณาว่า

1. กฎหมายสามารถย้อนหลังไปเป็นคุณกับประชาชนได้หรือไม่ กรณีย้อนหลังไปเป็นคุณกับประชาชนนั้นสามารถทำได้ เช่น กรณีการกำหนดอัตราเบี้ยบำนาญของข้าราชการเพิ่มขึ้น ก็สามารถนำอัตราที่เพิ่มขึ้นไปคำนวณกับเวลาที่ได้เคยทำงาน ก่อนวันที่จะมีกฎหมายดังกล่าว เพื่อรับเบี้ยบำนาญเพิ่มขึ้นได้

2. กฎหมายสามารถย้อนหลังไปลงโทษทางอาญาได้หรือไม่ กรณีโทษทางอาญาไม่สามารถย้อนหลังได้ เนื่องจากโทษทางอาญามีผลกระทบต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของประชาชน กรณีดังกล่าว จึงไม่สามารถย้อนหลังไปลงโทษการกระทำที่ล่วงไปแล้วไม่ได้โดยเด็ดขาด

3. กฎหมายสามารถย้อนหลังไปก่อผลร้ายอื่นๆ นอกเหนือจากโทษทางอาญาได้หรือไม่ กรณีผลทางกฎหมายอื่นๆ นอกเหนือไปจากโทษทางอาญานั้นสามารถย้อนหลังได้ แต่การย้อนหลังจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการชั่งน้ำหนักระหว่าง หลักการที่สำคัญสองหลักการ คือ หลักความแน่นอนของกฎหมาย และหลักเหตุผลในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

หลักความแน่นอนของกฎหมาย เป็นหลักการที่ผู้บัญญัติกฎหมายจะต้องพิจารณาว่า กฎหมายจะต้องมีความแน่นอนเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าการกระทำของตน ณ ขณะที่ลงมือ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นผลร้ายกับตน ลักษณะเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้เสรีภาพของตน อันเป็นหลักการสำคัญของนิติรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้อง สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว โดยทำให้กฎหมายที่บัญญัติมีความแน่นอนให้มากที่สุด

หลักเหตุผลในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เป็นหลักการที่ผู้บัญญัติกฎหมายจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและเหตุผลในการบัญญัติกฎหมายให้ย้อนหลัง โดยคำนึงถึงความเสียหายที่มีต่อประโยชน์สาธารณะ โดยอาจกำหนดมาตรการหรือผลในทางกฎหมายให้ย้อนหลังไปปกป้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ผลในทางกฎหมายดังกล่าว อาจย้อนหลังไปเป็นคุณหรือสร้างผลร้ายก็ได้

ดังนั้นในการกรณีการย้อนหลังของกฎหมายไปก่อผลร้ายอื่นๆ นอกเหนือไปจากโทษทางอาญานั้น ผู้บัญญัติกฎหมายจะต้องทำการชั่งน้ำหนักเหตุการณ์บ้านเมือง บริบทแวดล้อมของสังคม ณ ขณะนั้นว่า มีความสอดคล้องกับหลักการใดมากกว่ากัน หากพิจารณาแล้วเห็นว่า การสร้างความแน่นอนทางกฎหมายมีน้ำหนักมากกว่า การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงไม่อาจบัญญัติกฎหมายให้ย้อนหลังไปก่อผลร้ายได้ แต่หากการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะมีน้ำหนักมากกว่า การสร้างความแน่นอนทางกฎหมาย กรณีนี้ก็สามารถบัญญัติกฎหมายให้ย้อนหลังไปก่อผลร้ายอื่นๆนอกจากโทษทางอาญาได้

ดังนั้น หากพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองโดยปรับกับหลักการดังกล่าวจะเห็นได้ว่า

กรณี ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 สามารถย้อนหลังเป็นการก่อผลร้ายได้ ทั้งนี้เนื่องจากความเลวร้ายของนักการเมืองไทยในระบอบทักษิณมีลักษณะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะอย่างชัดเจน และการปกป้องประโยชน์สาธารณะย่อมมีน้ำหนักที่มากกว่าการปกป้องเสรีภาพโดยการสร้างความแน่นอนทางกฎหมายให้กับนักการเมืองที่มีพฤติกรรมชั่วร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย

กรณีคำวินิจฉัยคดียุบพรรค อย่างน้อยที่สุดก็ยืนอยู่บนพื้นฐานของการชั่งน้ำหนักระหว่างหลักความแน่นอนทางกฎหมาย และหลักเหตุผลในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ซึ่งตุลาการเสียงข้างมากได้บรรยายอย่างชัดเจนว่า “ระบอบทักษิณ” ได้ทำลายประโยชน์สาธารณะต่างๆ ลงอย่างมากมาย ซึ่งกรณีจะเห็นว่า ความเลวร้ายดังกล่าว มีน้ำหนักมหาศาลมากกว่าการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของนักการเมืองเลวอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตัดสิทธินักการเมืองทั้ง 111 คนจึงสอดคล้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ในบริบทปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

กรณีคำคัดค้านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคโดย 5 คณาจารย์จากนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีการพิจารณาประเด็นการย้อนหลังของกฎหมายโดยคำนึงหลักความแน่นอนของกฎหมายแต่เพียงประการเดียว โดยไม่ได้มีการพิจารณาหลักเหตุผลในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงแสดงออกอย่างชัดเจนว่านักวิชาการทั้งห้าท่านได้ใช้กฎหมายโดยมิได้คำนึงถึงบริบทสังคม ที่เสียหายไปกับระบอบทักษิณอย่างมากมาย ซึ่งกรณีที่ตุลาการรัฐธรรมนูญได้ยกแสดงในคำวินิจฉัยอย่างละเอียดนั้นมิใช่ประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายจะต้องคุ้มครองหรอกหรือ ซึ่งความซื่อตรงต่อความรู้แบบถ่ายสำเนาเอกสารของนักวิชาการกลุ่ม ดังกล่าว ณ วันนี้ กำลังถูกนำไปขยายผลโดยเหล่าสาวกผู้สมาทานตนกับ “ลัทธิไทยรักไทย” อย่างไม่ลืมหูลืมตา

กรณีการยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 หากมีการยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวจริงจะทำให้นักการเมืองทั้ง 111 คน ที่ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี สามารถกลับมาฟื้นคืนชีพทางการเมืองได้ทันทีโดยไม่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งนี้เนื่องจากหากมีประกาศฉบับใหม่ออกยกเลิก ประกาศฉบับใหม่ย่อมเป็นกฎหมายที่มีผลย้อนหลัง ซึ่งกรณีนี้โดยปริยายย่อมมีลักษณะการย้อนหลังเป็นคุณกับนักการเมืองทั้ง 111 คน ผลที่ตามมาคือนักการเมืองเหล่านั้น ย่อมฟื้นคืนชีพทางการเมืองได้โดยไม่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมแต่อย่างใด นี่ไม่ใช่คำแนะนำทางกฎหมาย แต่คือการเตือนภัยให้สังคมเฝ้าระวังการนิรโทษกรรมนอกแบบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ให้ดี

วันศุกร์, มิถุนายน 01, 2550

หมดหนทางสมานฉันท์

คำวินิจฉัยเมื่อ ๓๐ พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลร้ายแรง กำลังเขียนวิจารณ์แบบยาวๆอยู่ ตอนนี้ขอวิจารณ์คร่าวๆไปก่อน ดังนี้

๑. ตอกย้ำหลักการอุบาทว์เรื่องยอมรับอำนาจที่มาจากรัฐประหาร โดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่อย่างใด น่าประหลาดมากตรงที่ ตลก. (ตุลาการนะครับ อย่าอ่านเป็น ตะ-หลก ไป) บอกว่า ยุบสภา เลือกตั้ง จ้างพรรคเล็ก กลายเป็นการเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบ แต่ตัวบทกฎหมายที่ศาลเอามาใช้ฟันพรรคการเมือง หรือฐานที่มาของตัว คณะ ตลก. ซึ่งมาจากอำนาจรัฐประหาร ตลก. กลับไม่พูดถึง น่าคิดว่าหากมีใครหาช่องส่งเรื่องไปศาลเพื่อขอเพิกถอน คำสั่ง คปค ทั้งหมด หรือ ให้วินิจฉัยว่ารัฐประหาร ๑๙ กันยา ไม่ชอบ บรรดาศาลไทยทั้งหลายจะว่าอย่างไร

๒. ยืนยันว่า การใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษ ถ้าไม่ใช่กฎหมายอาญา สามารถทำได้ ปัจจุบันหลักการนี้ล้าสมัยไปเสียแล้ว ศาลในหลายประเทศตีความโดยยึดหลัก "ความมั่นคงแห่งนิติฐานะ" และ "การคุ้มความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย" เป็นสำคัญ ไม่ว่าโทษนั้นจะเป็นทางอาญาหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าเป็นผลร้าย ก็จะใช้ย้อนหลังไม่ได้ทั้งนั้น

๓. การให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัย ไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอ หลายประเด็นนำคุณค่าทางการเมืองมาวินิจฉัย บางประเด็นนำคำกล่าวของปรปักษ์ของผู้ถูกฟ้องมาพิจารณาเป็นสำคัญอีกด้วย (กรณีคำให้การของสุเทพ)

๔. โครงสร้างคำวินิจฉัย ไม่มีอะไรมากไปกว่า นำคำฟ้อง คำให้การ มาร้อยเรียงกัน แล้วก็ตัดสินฟันธง นอกนั้นก็เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคไทยรักไทยโดย คณะ ตลก.

๕. สร้างบรรทัดฐานประหลาด เช่น การยุบสภา ศาลเข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร ทั้งๆที่ยุบสภาเป็นเรื่องการเมือง เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยแท้ ไม่มีที่ไหนในโลกให้ศาลเข้ามาตรวจสอบการยุบสภา

๖. การเชื่อมโยงกรณีธรรมรักษ์และเสี่ยเพ้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการเชื่อมโยงกรณีสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สุเทพ และไทกร น่าจะไม่เป็นธรรม

๗. คำวินิจฉัย ๓๐ พ.ค. คือ การรัฐประหารซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ปิดหนทางสมานฉันท์ และเป็นการปลุกคนขึ้นมาสู้กับเผด็จการ คราวนี้จะพึ่งบารมีพระราชดำรัสเหมือนปีที่แล้ว คงยากอยู่ ต้องไม่ลืมว่ายามใดที่คนรู้สึกว่าถูกรังแก ไม่ได้รับความเป็นธรรม จะเอาอะไรมาหยุดก็คงยากทั้งนั้น

๘. ทำให้เกิดแนวร่วมต่อต้านรัฐประหารมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มที่ค้านอยู่แต่เดิม ๑๒ กลุ่ม, คนรักทักษิณ, สมาชิกพรรคไทยรักไทย, ก๊วนอดีต สส ไทยรักไทย ที่รีบแยกตัวออกไปเลียบู๊ต คมช แต่มาโดนตัดสิทธิ์, ชาวบ้านทั่วไปที่เริ่มรู้สึกว่า คมช เข้ามาไม่เห็นมีอะไรดี

๙. ผมเสียดายโอกาสที่วงการตุลาการไทยจะสร้างมิติใหม่ให้แก่สังคม กลับกลายเป็นว่า คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ไม่เพียงแต่ทำให้พรรคไทยรักไทยตายเท่านั้น หากยังทำให้ตุลาการตายไปจากนิติรัฐและประชาธิปไตยอีกด้วย

๑๐. คำวินิจฉัยนี้แสดงให้เห็นเลยว่า วงการตุลาการไม่ใช่กลไกสำคัญในการแก้ปัญหาหรือวิกฤตให้กับสังคมไทย ตรงกันข้าม ถ้าพูดแบบ หลุยส์ อัลทูสแซร์ ก็คือ ตุลาการเป็นกลไกปราบปรามของรัฐ (appareil répressif de l'Etat) เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพที่รับใช้สถาบันหรือองค์กรใดองค์หนึ่งที่มีอำนาจนำในสังคม ที่สร้างคุณค่า ความเชื่อ อุดมการณ์ให้สังคม (ซึ่งอัลทูสแซร์เรียกว่า appareil idéologique de l'Etat)

๑๑. จากเหตุการณ์คำวินิจฉัยนี้ ยิ่งทำให้ผมมั่นใจเกินร้อยว่า เราควรต่อต้านกระบวนการตุลาการภิวัตน์ให้ถึงที่สุด แน่นอนเราต้องมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรตุลาการ แต่นั่นไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์

๑๒. เมื่อคืน ผมนอนไม่หลับ ผมไม่รู้ว่าเราจะเรียนจะสอนกฎหมายไปเพื่ออะไร แม้กระทั่งองค์กรผู้ใช้กฎหมาย ที่เราเคยเชื่อๆกันมาตลอดว่า อย่างน้อยก็พอไว้วางใจได้อยู่บ้าง มีหลักมีเกณฑ์ มีเหตุมีผลอยู่บ้าง กลับกลายมาเป็นผู้ค้ำจุนเผด็จการทหารไปเสียเอง ผมคิดว่าตั้งแต่กรณี นายกฯ ม๗, คดีเพิกถอนเลือกตั้ง, ๑๙ กันยา จนถึงคำวินิจฉัยล่าสุดนี้ ทำให้วงการกฎหมายตกต่ำ

เราจะเรียนจะสอนกันทำไม เมื่อเรียนกันมาแล้ว ในท้ายที่สุด ใครมีปืน ก็คือผู้ชนะ ใครมีอำนาจ คนนั้นถูกต้อง

เราอาจต้องสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ แบบรุ่นก่อนๆที่ต้องสอนในเชิงหลักการทั่วไป เพราะไม่มีตัวบทรัฐธรรมนูญให้สอน หรือถ้ามี ก็เป็นตัวบทที่ทหารครองเมือง ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

หรือถ้านักศึกษาบางคนอยากไปสอบเนติบัณฑิต ผู้พิพากษา อัยการ เจอข้อสอบแบบคำวินิจฉัยเมื่อวาน จะตอบอย่างไร

๑๓ ที่ผมกล่าวไปในบล็อกวันก่อนว่า วิกฤตอาจจะจบก็ได้ในปลายปีนี้ ด้วยนกหวีดแบบเดิม ตอนนี้ผมเปลี่ยนความเห็นแล้ว ผมคิดว่า เราอาจหลีกหนีการนองเลือดไปไม่พ้น และต้องตระหนักไว้ด้วยว่า ตุลาการเป็นผู้ร่วมปิดประตูสมานฉันท์นี้