วันศุกร์, เมษายน 27, 2550

หรือจะอาศัยผ้าเหลืองเพื่อให้รัฐธรรมนูญผ่าน

จากกรณีคณะรัฐประหารให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ขัดข้องหากจะบัญญัติลงในรัฐธรรมนูญให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

ผมมีข้อสังเกตว่า คณะรัฐประหารอาจประเมินสถานการณ์แล้วว่า ๕๐-๕๐ สุ่มเสี่ยงว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่

บังเอิญว่ากระแสเหลืองอีกเหลืองหนึ่งกำลังมาแรง สงฆ์ห่มผ้าเหลืองออกมาชุมนุมเรียกร้องให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ประเมินแล้วระดมคนได้ไม่น้อย

คิดไปคิดมา เลยแสวงหาแนวร่วมเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านจะดีกว่าหรือไม่ ด้วยการเปิดช่องว่าไม่มีปัญหาหากจะให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

หากเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญจริง มาตราเดียว ไม่กี่บรรทัด น่าคิดเหมือนกันว่ากลุ่มคนที่เรียกร้องเรื่องพุทธอยู่ (ซึ่งจัดตั้งคนได้มากจริงๆ) ประกอบกับความศรัทธาพุทธแบบพราหมณ์ๆที่มีอยู่ในคนไทยส่วนใหญ่ คนเหล่านี้จะหันกลับมาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

คณะรัฐประหารคงไม่สนใจ ไม่มีส่วนได้เสีย กับบทบัญญัติเรื่องพุทธนี้ หากเขียนไปจริงๆ ก็ไม่กระทบต่อการโค่นทักษิณ ไม่กระทบต่อการช่วงชิงอำนาจนำให้กับบรรดาผู้มากบารมี ผู้วิเศษทั้งหลาย ตรงกันข้าม ยังอาจช่วยให้รัฐธรรมนูญนี้ผ่านไปได้อีกด้วย

จะว่าไป นอกจากคณะรัฐประหาร "โหน" สีเหลืองสีแรกอยู่เป็นอาจิณแล้ว ต่อไปคงต้องโหนอีกสีเหลืองหนึ่งด้วยกระมัง

ถ้าแบบนี้ เพิ่มอีกมาตราเลยดีมั้ย

"มาตรา ... สีประจำชาติไทย คือ สีเหลือง"

วันอังคาร, เมษายน 24, 2550

เมื่อความศรัทธาและขาดสติครอบงำ

เอาอีกแล้วครับ คนไทยหลายคนตกเป็นเหยื่ออีกแล้ว

ไทม์ให้โหวตผู้ทรงอิทธิพลต่อโลก ๑๐๐ คน เขาก็คัดมาให้เลือกกัน หนึ่งในนั้นมีรัชกาลที่ ๙ ของไทยอยู่ด้วย

ตามสูตร มีจดหมายเวียน กระทู้แปะตามบอร์ด เขียนชื่อในเอ็มเอสเอ็น ทำลิงค์กันจ้าละหวั่น ให้ “ข้าพระบาททุกชาติไป” ไปช่วยกัน “ดัน” ให้รัชกาลที่ ๙ ขึ้นที่ ๑ ของ “โลก” ให้ได้

ผมมีข้อสังเกต ดังนี้

๑. บุคคลที่มีจำนวนคนเข้ามาโหวตมากที่สุดสองลำดับแรกคือ เรน นักร้องเกาหลี และ รัชกาลที่ ๙ คาดเดาได้ว่าส่วนมากเป็นคนเอเชียทั้งนั้นที่ไปเลือก อันนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าทัศนคติคนเอเชียเป็นเช่นไร เน้นภูมิภาคนิยม เน้นความคลั่ง ความศรัทธา ปราศจากเหตุผล

๒. คนที่ไทม์คัดเลือกมา ไทม์จะระบุข้อสนับสนุนและข้อคัดค้านเอาไว้ ของรัชกาลที่ ๙ ข้อสนับสนุน คือ “เฝ้ามองดูการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยไทย” และ “รัฐประหาร ๑๙ กันยา ไม่สำเร็จแน่ ถ้าปราศจากการให้กำลังใจของเขา” ข้อค้าน คือ “รู้จักกันแต่ในหมู่คนไทย และในไทย การหมิ่นประมาทหรือวิจารณ์เขา ไม่ว่าทางใด เป็นความผิด”

๓. จำนวนคนโหวตหลายแสน (ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคงเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด ยิ่งไปดูความเห็นที่แต่ละคนทิ้งไว้ ก็ยิ่งชัด) ชี้ให้เห้นว่า เราสักแต่ระดมคนไปโหวต โดยไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ การจัดอันดับของไทม์ ไม่ได้เจาะจงเรื่อง “ความดี” แต่เป็นเรื่อง “อิทธิพล” ของคนคนนั้นที่มีต่อโลก ซึ่งจะเป็นทางดีทางร้ายได้ทั้งนั้น

๔. ไทม์นอกจากให้คนมาโหวตแล้ว ยังให้คนใส่คะแนนอีกด้วย (เช่น โหวตให้เรน แต่ให้คะแนนเรนแค่ ๖๐ เต็ม ๑๐๐) ปรากฏว่าขณะนี้ คนมาโหวตให้รัชกาลที่ ๙ มากเป็นอันดับต้น แต่จำนวนคะแนนกลับไม่มาก ตัวเลขแบบนี้น่าเอาไปคิดต่อ จะเป็นอย่างไร หากมีคนไปโหวตให้เป็นล้านๆคน แต่คะแนนไม่เยอะ เป็นไปได้ว่า มีการจัดตั้งไปลงคะแนนทั้งพวกที่รักและพวกที่ไม่รัก พวกที่รักต้องการดันให้ชนะ แต่พวกที่ไม่รัก ต้องการทำให้เสียชื่อ ก็ไปโหวตให้แต่ใส่คะแนนน้อยๆ

๕. นับตั้งแต่ปรากฏการณ์ “๙ มิถุนา ๔๙” ตามมาด้วย “เสื้อเหลือง” มีความพยายามในหมู่คนไทย“คลั่งไคล้” ที่จะผลักดันรัชกาลที่ ๙ ให้ขึ้นไปประกวดประชันในระดับโลก โดยไม่พึงตระหนักว่าประเทศอื่นคิดอย่างไร ซึ่งคนต่างประเทศ อาจเฉยๆ ไม่รู้จัก หรืออาจตั้งข้อสังเกตวิจารณ์บางอย่าง แต่พวกข้าจะยัดเยียดให้พวกเอ็ง “รัก” เหมือนข้าให้ได้ ถ้าเอ็งไม่รัก เอ็งเป็นคนเลวทันที

๖. ผมเห็นว่าความคลั่งไคล้เช่นว่า ยิ่งทำให้รัชกาลที่ ๙ เสื่อมเสีย โดยที่ไม่คาดคิดมาก่อน เพราะเมื่อนำขึ้นไปให้ชาวโลกจับต้อง ก่อนที่พวกเขาจะศรัทธา เชื่อ ก็ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน และหลักในการพิจารณาของพวกเขาก็แตกต่างจากคนไทยผู้คลั่งไคล้อีกด้วย พวกเขายืนอยู่บนพื้นฐานของ “เหตุผลนิยม” และ “มนุษยนิยม” การจะพิสูจน์ให้พวกเขาเชื่อ ก็จำต้องผ่านการทดสอบ การตั้งคำถามอย่างถึงราก ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะทำให้รัชกาลที่ ๙ เสื่อมเสีย และ หากคนไทยผู้คลั่งไคล้นำ “ความดี” ที่เชื่อว่ารัชกาลที่ ๙ มีให้ มาประกาศให้ชาวโลก ก็คงเป็นการยากอยู่ที่พวกเขาจะเชื่อตาม เพราะ มันเป็นความดีที่มีต่อคนไทยผู้คลั่งไคล้เท่านั้น หาเป็นความดีชุดเดียวกันกับที่คนต่างประเทศต้องการไม่

๗. ปรากฏการณ์ “ยูทิวบ์” และ “๑๐๐ คนของไทม์” เป็นปฏิกริยาตอบโต้กลับที่มีต่อ ความพยายามในการยัดเยียดให้คนอื่นคลั่งไคล้เหมือนกับตนเอง และความพยายามประกาศให้โลกรู้ว่ากษัตริย์ของเราเป็นอันดับหนึ่ง หวังว่าปรากฏการณ์ “ยูทิวบ์” และ “๑๐๐ คนของไทม์” จะ “ตบหน้า” ให้คนไทยผู้คลั่งไคล้ตื่นจากภวังค์เสียทีว่า รัชกาลที่ ๙ เป็นที่รักของคนไทยส่วนใหญ่ ก็ไม่จำเป็นต้องไปผลักดันให้คนทั้งโลกมารักตาม พระองค์เองอาจไม่เคยปรารถนาให้พวกคลั่งไคล้ทำแบบนั้นก็ได้

การยัดเยียดให้คนทั้งโลกต้องรักรัชกาลที่ ๙ หรือช่วยกันประกาศศักดาว่ารัชกาลที่ ๙ เป็นหมายเลข ๑ ของโลก ย่อมไม่ใช่ “ความรักแบบพอเพียง”

รักใคร ก็เชิญรักไปเถิด แต่โปรดจงรักแบบมีสติ และอย่าบังคับหัวใจกัน

วันพฤหัสบดี, เมษายน 19, 2550

ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ป๋า” คืนชีพ

ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลที่เป็นผลิตผลจากรัฐประหารเท่านั้น แต่ในส่วนของเนื้อหาก็ไม่น่าพิสมัยเช่นกัน

๑. ระบบเลือกตั้ง ไม่ต้องการให้มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก เขตละ ๓ คน แต่เลือกได้คนเดียว (ในรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ระบุชัด แต่จะไปเขียนในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างฯก็แย้มมาหลายว่าจะเอาแบบนี้ ทำนองเดียวกับเลือก สว เมื่อก่อน เช่น กทม มี ส.ว. ๑๘ คน แต่เลือกได้คนเดียว ซึ่ง ที่ ๑ กับที่๑๘ คะแนนห่างกันมาก) ทำให้เสียงแตก คนได้ที่ ๑ คะแนนนำ ที่ ๒ ที่ ๓ คะแนนน้อย ไม่สะท้อนว่าเป็นเสียงข้างมากจากประชาชนจริงๆ แถมยังทำให้ผู้สมัครฮั้วกันได้ด้วย แนวโน้มชัดเจนว่า ในเขตนั้น ๓ ส.ส. คงมาจาก ๓ พรรค

๒. บัญชีรายชื่อ ๘๐ คน แยกรายภาค ภาคละ ๔๐ คน อันนี้มาจากการต่อรองโดยแท้ แรกๆจรัญยืนยันไม่ให้มี เพราะกลัวมาแบบทักษิณ ๑๙ ล้านเสียง แต่แพ้กระแสต้าน เลยยอมให้มีกัน แต่ทำอย่างไร ไม่ให้มีพรรคเดียวได้คะแนนถล่มทลาย ก็เลยซอยภาคมันซะ ภาคละ ๒๐ ที่อ้างว่าในเยอรมัน บัญชีรายชื่อแยกตามภาคนั้น อ้างไม่ครบ เยอรมันแยกรายภาค เพราะ จำนวน สส บัญชีรายชื่อเยอะมาก ไม่ใช่แค่ ๘๐ คนแบบเรา แนวโน้มของเรา ก็ชัดเจน แบ่งไปพรรคละภาค

๓. ระบบศาลเทวดา-อรหันต์ เข้ามาทำหน้าที่แทบทุกอย่าง โดยเฉพาะการหาคนไปเป็น ส.ว. และองค์กรอิสระต่างๆ

๔. พิจารณาจากที่มาของ ส.ว. แล้ว ต่อไปส.ว. จะเป็นตัวแทนของสถาบัน “อนุรักษ์นิยม-มากบารมี-ข้าราชการ”

๕. รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้รัฐประหารและผลิตผลของรัฐประหาร

๖. องค์กรอรหันต์แก้วิกฤต ไม่น่ามาแก้วิกฤต แต่จะมาก่อวิกฤตเสียเอง

๗. ในหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ สักแต่ใส่ๆลงมา ให้มันครบทุกอุดมการณ์ ทุกแนวคิด หลายส่วนมีเนื้อหาขัดแย้งกันเอง

๘. เนื้อหาหลายส่วนก็คล้ายๆกับ รธน ๔๐ แต่ที่เปลี่ยนชัดเจน คือ ไม่ต้องการให้มีพรรคการเมืองเสียงข้างมากเด็ดขาด รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม หลายพรรค อยู่ได้ปีสองปีก็ยุบสภา ทำลายการเมืองในระบบ (พวกที่ลงสนามเลือกตั้ง) แล้วมอบอำนาจให้การเมืองแบบข้าราชการ บรรดาข้าราชการ สถาบันอนุรักษ์นิยม มากบารมี เทวดา อรหันต์จะเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นได้แต่องค์ประกอบที่ใช้อ้างความชอบธรรมว่ามีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนเท่านั้น


หากเราใช้กติกาตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ ผมคาดว่าการเมืองไทยจะมีบรรยากาศสมัยยุค ๒๕๒๐ ถึง ๒๕๔๐ (เกรียงศักดิ์ เปรม ชาติชาย ชวน) นั่นก็คือ เชิญพวกนักเลือกตั้งเล่นการเมืองไป แต่เล่นกันในกรอบที่สถาบันมากบารมีเป็นคนดูแล อย่าแหยมล้ำเส้นออกมา นโยบายของพรรคการเมือง ความแปลกใหม่และการกำหนดทิศทางประเทศโดยพรรคการเมืองจะลดหายไป นักการเมืองในระบบไม่มีอะไรมากไปกว่าสู้เพื่อเป็น ส.ส. เอาจำนวนไปต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ละพรรคไม่มีความแตกต่างกัน

ผมเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่เพียงกติกากำจัดทักษิณเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือของผู้มากบารมีทั้งหลายในการช่วงชิง “อำนาจนำ” สังคมกลับคืนมาอีกด้วย

ขอเวลาสักระยะ จะวิจารณ์รายมาตราแบบละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนี้อ่านงานของผมในเบื้องต้นได้ในบทความต่อเนื่องชุด “ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองในฝรั่งเศส” ลงในโอเพ่น เขียนได้ ๓ ตอนแล้ว พูดถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มาของ ส.ว. และองค์กรแก้วิกฤต

วันพฤหัสบดี, เมษายน 12, 2550

แล้วจะผอมได้ไงนี่

เมื่อวาน นั่งดูรายการทีวีไทยย้อนหลัง กบนอกกะลา ตอนเก่าโคตรๆ เรื่องติ่มซำ

ดูแล้ว น้ำลายสอ อยากมากๆ

พอเข้าบอร์ด ก้นครัว ของพันทิป ก็ไปเจอกระทู้หนึ่ง รีวิวบุฟเฟต์อาหารจีนที่โรงแรมคอนคอร์ด รัชดา

แทบคลั่งเป็นสพรั่ง กัลยาณมิตร

ประกอบกับสเบียงหมดตู้แล้ว

กลางวัน วันนี้ เลยจะหาเรื่องออกไปกินร้านอาหารจีนดีก่า

ผมค้นพบร้านจีนร้านหนึ่ง เป็นบุฟเฟต์ กลางวัน ๑๑ ยูโร (๕๐๐ กว่าๆได้) เย็น ๑๕ ยูโร (๗๐๐ กว่าๆได้)

ก็ใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่โปรดอย่านำบุฟเฟต์เมืองไทยมาเทียบเป็นอันขาด อันนั้นสุดยอด ไม่มีชาติใดเทียบ

มีฮะเก๋า ขนมจีบ เป๊าะเปี๊ยะสด เป๊าะเปี๊ยะทอด (แบบเวียดนามนะ) โบบุ๋น ของทอดอื่นๆอีกนิดหน่อย

จานหลัก ก็พวกผัดๆแนวจีนๆ หมู ไก่ เป็ด ปลา ตามเรื่อง มีข้าวผัดแนวจีนๆ หมี่ซั่ว

ขนมหวาน มีไอติมสารพัดรส ฟรุตสลัด ถั่วตัด ผลไม้นิดหน่อย

น้ำเปล่า (น้ำก๊อก) ฟรี อย่างอื่น จ่ายเพิ่ม

ถามว่าของคุณภาพมั้ย มันก็ไม่สดใหม่หรอกครับ ร้านอาหารจีนที่นี่ มันทำทิ้งไว้เยอะๆๆๆๆ แล้วก็อุ่นไปเรื่อย แต่พอแล่กได้ ประทังความอยากไปได้ในระดับหนึ่ง

เฮ้อ...

แล้วผมจะผอมได้ไงนี่

วันอังคาร, เมษายน 10, 2550

เด็กคนหนึ่ง

กลางดึกวันหนึ่ง ผมนอนไม่หลับ เข้าไปท่องโลกไซเบอร์ พบสเปซเอ็มเอสเอ็นของเด็กคนหนึ่งโดยบังเอิญ เขานำงานของผมหลายๆชิ้นไปแปะไว้ รวมทั้งงานกฎหมายและการเมืองของคนอื่นๆ เช่น งานของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นอาทิ

ผมได้รู้จากสเปซของเขาอีกว่า เขาเป็นเด็กนักเรียนอัสสัมชัญ เหมือนกับผม

เลขประจำตัวเขา คือ ๔๐๐๐๐ ของผม คือ ๓๓๒๒๙ เขาเข้าประถม ๑ อัสสัมชัญ หลังผม ๑๐ ปี

ผมได้รู้ต่อไปอีกว่า เขามุ่งมาดปรารถนาจะเข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวันนี้ เขาก็ทำได้สำเร็จ นั่นเท่ากับว่า เขาจะเข้าปี ๑ นิติศาสตร์ มธ. หลังผม ๑๐ ปี

เขาแสดงความมุ่งมั่นของเขาในสเปซ เขาสนใจกฎหมายมหาชน การเมือง และหวังจะไปศึกษากฎหมายต่อที่ฝรั่งเศสหรือเยอรมนี

ผมย้อนไปดูบันทึกเก่าๆของเขาในสเปซ พบว่าแรกเริ่มเดิมที เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการเมืองเท่าไรนัก จนกระทั่งเกิดขบวนการต่อต้านทักษิณ ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐประหาร ๑๙ กันยา เขาก็เริ่มโพสเนื้อหาที่เกี่ยวกับกฎหมายและการเมืองมากขึ้น ประกอบกับอยู่ในช่วงที่เขาเตรียมตัวอย่างเข้มข้นเพื่อสอบเข้านิติ มธ. เขาจึงสนใจงานทางนี้

จะว่าไปรัฐประหาร ๑๙ กันยา อาจมีผลพลอยได้ที่เป็นข้อดีอยู่ คือ นอกจากกระชากหน้ากากคนบางคน บางกลุ่ม ยังส่งผลกระตุ้นจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนอีกด้วย

ผมอ่านไปเรื่อยๆจนพบว่า เขาเป็นลูกชายของมาสเตอร์ที่เคยสอนคณิตศาสตร์ผม ตอนผมอยู่มัธยม ๒

มาสเตอร์คนนี้ ยังเคยร่วมวงเตะตะกร้อ เป็นคนทำหน้าที่ตรวจทรงผมหัวเกรียนของนักเรียน เคยตีพวกผมที่ชอบเตะบอลพลาสติกหลังตึกเรียน พวกเราตั้งฉายาล้อเลียนมาสเตอร์คนนี้ว่า “บวดหาย”

ผมดีใจที่เด็กคนนี้มีความตั้งใจอยากเรียนกฎหมาย มีความสนใจการเมือง มีจิตสำนึกทางการเมือง ซึ่งวันข้างหน้า ประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาพร้อมกับตัวเลขในอายุของเขา จะยิ่งสร้างความเห็นทางการเมืองของเขาให้แข็งแกร่ง แหลมคม และรัดกุม

ผมดีใจที่ลูกชายของมาสเตอร์ที่เคยสอนผม ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนคณะเดียวกับผม และเป็นไปได้ที่ผมจะมีโอกาสกลับไปสอนเขา

ผมดีใจที่เด็กคนนี้ ไม่ชอบอำนาจนิยม ดังจะเห็นได้จาก เขาระบายความรู้สึกเรื่องเล็กๆตั้งแต่ระเบียบงี่เง่าในโรงเรียน หรือการฝึก ร.ด. จนถึงเรื่องระดับชาติอย่าง รัฐประหาร ๑๙ กันยา

การเข้าเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยเป็นความสำเร็จเบื้องต้น แต่หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล ผมหวังว่าเขาจะเรียนกฎหมายอย่างสนุก ติดตามการเมืองอย่างมีเหตุมีผล บ่มเพาะความรู้ให้เชี่ยวชาญ ถ้าเขาไม่ละทิ้งความฝัน ไม่หลงระเริงกับความสำเร็จในครั้งนี้ เขาจะไปถึงทางที่เขาตั้งใจ

วันพฤหัสบดี, เมษายน 05, 2550

เสรีภาพในความรัก


เชื่อว่าทุกคนคงเคยรักใครบางคน

เช่นกันทุกคนคงเคยไม่รัก เฉยๆแบบไม่รักไม่เกลียด หรือถึงขนาดเกลียดใครบางคน

ความรักเป็นเรื่องของหัวใจ เรื่องของรสนิยม บางครั้ง หากเอา “มาตรวัด” ทางศีลธรรมมาจับก็คงไม่เหมาะ

การชี้นิ้วว่าเอ็งเป็นคนเลว เพราะเอ็งไม่รักคนคนเดียวกับข้า
การเหมารวมเอาว่าการที่เขาไม่รักใครบางคนย่อมเป็นตัวชี้วัดว่าเขาเป็นคนเลว
คนคนหนึ่งที่ปล้น ฆ่า ข่มขืน อาจกลายเป็นคนดีในชั่วข้ามคืนด้วยเหตุเพียงว่า เขาประกาศตนว่ารักคนคนเดียวกับที่คนส่วนมากเขารักกัน

ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเป็นการล้ำพรมแดนเสรีภาพแห่งความรัก

ความเห็นบางความเห็นอาจไม่เข้ากันกับรสนิยมกระแสหลักของคนจำนวนมาก แต่ก็ไม่จำเป็นที่ต้องปิดกั้นไม่ให้เขาเหล่านั้นได้แสดงออก

การประกาศตนว่ารักใครสักคนสามารถทำได้อย่างองอาจ

และในบางกรณีการประกาศตนเช่นว่านั้น ยังอาจส่งผลกระตุ้นอะดรีนาลีนในร่างกายให้หลั่งออกมาจนสร้างความปีติสุขให้แก่ตนเองได้อีกด้วย

แล้วเหตุใดการบอกว่าไม่รักหรือรู้สึกเฉยๆ จึงต้องถูกคุกคามจากอำนาจ – ทั้งตามกฎหมายและนอกกฎหมาย - ด้วยเล่า

การรักหรือไม่รักใครสักคนย่อมเกิดจากมโนธรรมสำนึกส่วนตน หาเกิดจากการบังคับไม่

จะให้ทำเช่นไร หากมโนธรรมสำนึกของเขาบอกเขาว่า เขารักและเทิดทูนคนคนหนึ่ง หรือพระเจ้าในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คนคนเดียวกันกับคนที่คนส่วนใหญ่รักและเทิดทูน

หรือ หากมโนธรรมสำนึกของเขาบอกว่า เขารู้สึกเฉยๆกับคนที่คนส่วนใหญ่รัก

เขาจะโดนคุกคามจากภัยใดหรือไม่

วันหนึ่ง เราอาจเห็นคนรุมกระทืบคนที่ไม่รักคนคนหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เขารักกัน

ร้ายแรงกว่านั้น เราอาจเห็นการฆาตกรรมหมู่กลางมหานคร ด้วยมูลเหตุเพียงว่า เหยื่อพวกนี้ไม่มีรสนิยมแบบที่คนส่วนมากเขามี

มีแต่สังคมป่าเถื่อนและไร้อารยะเท่านั้น ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้ความคิด ความเชื่อ หรือรสนิยมที่แตกต่าง

ฤาสังคมแห่งนี้ แม้เพียงเสรีภาพในความรัก ก็มิอาจหยิบยื่นให้แก่กันได้

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกคุกคามอย่างมากพอแล้ว แล้วนี่จะไม่เหลือพื้นที่ให้เสรีภาพในความรักบ้างเลยหรือ

วันอังคาร, เมษายน 03, 2550

เอือม

เอือม ๑

นาย โอลิเวอร์ จูเฟอร์ ชายชาวสวิส วัย 57 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกจับกุมตัวหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจของเชียงใหม่ตรวจสอบวิดีโอบันทึกเทปพบว่านายโอลิเวอร์เป็นผู้พ่นสีสเปรย์ใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2549 ด้วยความเมา เขาจึงถูกศาลไทยตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี

ในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา นายพิษณุ แทนบัวคลี่ ผู้พิพากษาในคดีที่นายโอลิเวอร์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตัดสินให้นายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ จำคุกด้วยความผิด 5 กระทง โดยผู้ต้องหาจะได้รับโทษจำคุก 4 ปี ต่อความผิดที่ก่อขึ้น 5 กระทง รวมทั้งหมดเป็นเวลา 20 ปี แต่เนื่องจากนายโอลิเวอร์ยอมรับความผิดและรับสารภาพแต่โดยดี จึงได้รับการลดโทษเหลือเพียงการจำคุกเป็นเวลา 10 ปี

ทั้งนี้ นายโอลิเวอร์เป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ถูกตัดสินจำคุกจากข้อหาหมิ่นพระบรมดชานุภาพ ในขณะที่ผู้สื่อข่าวต่างชาติรายงานว่านายโอลิเวอร์มีโอกาสยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในเวลา 1 เดือน แต่ดูเหมือนนายโอลิเวอร์จะรอการพระราชทานอภัยโทษหรือการถูกเนรเทศกลับประเทศมากกว่า

แม้คดีดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิ สำนักข่าวบีบีซี, เอพี, เอเอฟพี, รอยเตอร์ และซีเอ็นเอ็น แต่ไม่มีสื่อไทยรายงานข่าวนี้ หรือสื่อที่มีรายงานเกี่ยวกับคดีดังกล่าวก็เป็นสื่อภาษาอังกฤษ เช่น The Nation เท่านั้น

สื่อต่างประเทศหลายแห่งที่รายงานความคืบหน้าในคดีของนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ ได้กล่าวถึงกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยว่าเป็นกฏหมายที่เข้มงวดทารุณและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น แต่ประชาชนไทยไม่มีปฏิกิริยาต่อเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

เอือม ๒

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปิดเว็บไซต์ของกลุ่ม"คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ" ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว หลังพบว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อีกทั้งยังเชื่อมต่อไปยังเว็บบอร์ดที่แสดงรายชื่อผู้ร่วมถอดถอน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกจากประธานองคมนตรี

เอือม ๓

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รก.ผบ.ตร.) กล่าวถึงกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการและกลุ่มพิราบขาว 2006 ล่ารายชื่อประชาชน 1 แสนชื่อรวมทั้งเปิดเว็บไซต์ เพื่อถวายฎีกาถอดถอน พล.อ.เปรม ออกจากตำแหน่งองคมนตรี ว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล กล่าวว่า พฤติการณ์และการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนประธานองคมนตรี เป็นการกระทำที่มิบังควรเพราะอาจเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท อีกทั้งยังก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีในหมู่คนไทย ซึ่งทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจึงขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยง และโดยมารยาทแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ

นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ผู้ที่ดำเนินการเรื่องนี้ เป็นคนที่คิดไม่ดี และเป็นผู้ที่สร้างปัญหาให้เกิดความแตกร้าวในหมู่ประชาชนด้วยกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องเบื้องสูง ไม่ควรจะยุ่งและทำไม่ได้ด้วย เพราะเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ การกระทำเช่นนี้จะต้องมีผู้อยู่เบื้องหลัง จึงขอเตือนว่า ไม่ควรจะทำอย่างยิ่ง จะอ้างว่า ไม่รู้กฎหมายคงไม่ได้ แต่ถ้ายังยืนยันที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คงต้องมาพิจารณาเจตนากันอีกครั้ง

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตักเตือนและปรามบุคคลที่ออกมารวบรวมรายชื่อ และวิพากษ์วิจารณ์ประธานองคมนตรี รวมถึงขอให้ตรวจสอบข้อความตามเว็บไซต์อย่างเข้มงวด เนื่องจากเข้าข่ายละเมิดประมวลกฎหมายอาญา ในประเด็นการละเมิดพระราชอำนาจ การก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท ความแตกแยกของคนในชาติ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการแต่งตั้งหรือการให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ดังนั้น แม้ผู้ที่เคลื่อนไหวจะอ้างว่าเป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่สามารถทำได้ แต่ไม่สมควรนำสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันเห็นว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการรักษาความสงบของบ้านเมืองกลับนิ่งเฉย ไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ถือว่าทำงานอ่อนแอ ล่าช้า ใช้ไม่ได้ จึงขอเรียกร้องไปยังบุคคล 2 กลุ่ม คือฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ ขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว และฝ่ายที่รักษากฎหมายต้องเร่งทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อไม่ให้การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น

เอือม ๔

นายยศศักดิ์ โกไสยกานนท์ อายุ 38 ปี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ตำแหน่งนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอนุกรรมการพนักงานเจ้าหน้าที่ดำรงผู้ทรงคุณวุฒิในการตรวจสอบหุ้นชิน เดินทางเข้าแจ้งความที่ สน.ลาดพร้าว ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เปิดเว็บไซต์ tmctoday.com ในฐานทำให้ พล.อ.เปรม เสื่อมเสียชื่อเสียง ในการล่าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งและสั่งปิดเว็บภายใน 3 วัน ให้ค้นหาว่าใครเป็นเจ้าของเว็บไซต์นี้และติดตามตัวมาดำเนินคดี ไม่เช่นนั้นจะร้องทุกข์ไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอ ซึ่งต้องการที่จะลดกระแสกดดันในการเมืองของกลุ่มที่เคลื่อนไหวประท้วง ซึ่งหากมีหลอกลวงประชาชนสำเร็จจะเกิดผลกระทบกับ คมช

วันนี้ (3 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต แถลงว่า ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ สน.ลาดพร้าว วานนี้ (2 เม.ย.) กรณีที่มีผู้เปิดเว็บไซด์ละเมิด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ตามประมวลกฎหมายอาญา 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 112 และ 328 แต่ พล.ต.ท.อดิศร นนทรีย์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ระบุว่า ไม่ครอบคลุมมาตรา 112 ที่ว่าด้วยการดูหมิ่นกษัตริย์ พระราชวงศ์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตนในฐานะอาจารย์สอนกฎหมายอาญา และคนสงขลา ไม่สบายใจ เพราะคนระดับ ผบช.น.ไม่น่าตอบสั้นๆ ง่ายๆ แบบนี้ เนื่องจากตำแหน่งองคมนตรี แม้ไม่ใช่ผู้สำเร็จราชการ แต่ก็เป็นตำแหน่งระดับสูงที่ทรงแต่งตั้ง อย่างไรก็ตาม หากตำรวจเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิดมาตรานี้ก็ไม่ติดใจ “อย่างไรก็ดี สำหรับความผิดตามมาตรา 328 เรื่องการดูหมิ่นโดยการโฆษณา แม้เมื่อ 3 ทุ่มวานนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวจะปิดตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ใส่ใจ ที่จะสั่งตรวจสอบเจ้าของเว็บไซต์ และผู้เผยแพร่เว็บไซต์ตลอดจนผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งหากภายในวันที่ 4 เมษายน ยังไม่มีการสั่งการใดๆ จะขอเข้าพบ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้บรรจุเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เรื่องนี้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีที่จะพิจารณาในที่ประชุมได้ แต่ถ้าไม่ว่างก็จะขอพบ นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวง แทน ทั้งนี้ ที่ต้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำ เพราะได้ยินหนาหูว่า ตำรวจไม่กล้าดำเนินการตรวจสอบ เนื่องจากกลัวการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง” นายยศศักดิ์ กล่าว

เอือม ๕

นายณัฐฐวัฒน์ สุทธิโยธิน ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ประจำวันที่ 3 เม.ย. ว่า ครม.ได้พิจารณาข้อเสนอของสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(สลธ.คมช.) ที่ได้เสนอขอเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ นอกเหนือจากโควต้าปกติ เกี่ยวกับเรื่องขั้นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่กำลังจำนวน 423 นายซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยัน ซื่อสัตย์ อดทน จิตใจมุ่งมั่น ทุ่มเทสติปัญญาในการปฏิบัติราชการทั้งในธรรมดาและวันหยุด เพื่อความมั่นคงของประเทศมาโดยตลอด ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนผลการปฏิบัติงานและเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันและอดทน ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการคมช.เป็นส่วนรับผิดชอบของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช.เป็นผู้ดูแล

"ทาง คมช.จึงขอเสนอครม.ให้กรุณาพิจารณาบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากโควต้าปกติให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในคมช.ในอัตราร้อยละ 15 จากเดิมที่เคยได้รับแล้วร้อยละ 15 ก็รวมเป็นร้อยละ 30 อันนี้เป็นโควต้าพิเศษที่อนุมัติเพิ่มเติมให้ในวันนี้นะครับ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งสำหรับกำลังพลที่ปฏิบัติงาน"

เอือม ๖

ไอซีทีปิดเว็บไซต์ยูทูบ โดยขึ้นข้อความว่า "ขออภัย เว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำเป็นต้องปิดกั้นเว็บไซต์นี้
หากมีข้อคิดเห็นอื่นใด หรือพบเว็บไซต์อื่นที่ไม่เหมาะสม โปรดแจ้งผ่านดวงตาข้างบนหรือ
ict.cyberclean.org"

ที่มาของข่าว คัดจากประชาไท