วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 27, 2550

โฆษณา

-๑-
หนังสือของผม

สำนักพิมพ์โอเพ่นใจดี ใจป้ำ และใจกล้า รวมงานของผมออกเป็นหนังสือเล่ม

ต้นฉบับรวบรวมส่งไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม

ตอนนี้พร้อมวางแผงแล้ว ในชื่อ "พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"

ราคาปก ๑๖๕ บาท

แต่ถ้าสั่งทาง http://www.tarad.com/openbooks/
ลดเหลือ ๑๔๐ บาท ค่าส่งฟรี

ด้วยภารกิจการศึกษา ณ ต่างแดน ผมยังไม่มีโอกาสเห็นหนังสือเล่มแรกของผมในชีวิต จึงไม่อาจเรียงลำดับสารบัญให้ดูได้

ขอเอาคำนำ และคำนิยมซึ่งเขียนโดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ครูของผม มาให้ชมเป็นหนังตัวอย่างก่อน

.......................

คำนิยม

เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๙ กล่าวคือ ๖๐ ปีล่วงมาแล้ว มีเหตุการณ์สำคัญในทางการเมืองและกฎหมายเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ บางเหตุการณ์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทางการเมืองและกฎหมายของประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในช่วงต้นปี ศาลฎีกาซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลอาชญากรสงครามได้มีคำพิพากษาคดีอาชญากรสงครามที่ ๑/๒๔๘๙ ว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๘ เฉพาะที่ลงโทษการกระทำก่อนวันใช้กฎหมายนี้เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังจึงขัดกับรัฐธรรมนูญ และเป็นโมฆะ ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นับเป็นการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรก อนึ่งมีข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง และไม่ได้เกิดขึ้นโดยการทำรัฐประหาร แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย

เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นในช่วงกลางปี วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนในพระที่นั่งบรมพิมาน เสด็จสรรคต สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสืบมาจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์สวรรคตส่งผลกระเทือนต่อรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์โดยตรง เพราะในเวลานั้นท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการฉกฉวยโอกาสทางการเมืองของนักการเมืองฝั่งตรงข้าม และการทำรัฐประหารในเวลาต่อมา รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์จึงกลายเป็นคนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ และต้องไปถึงแก่อสัญกรรมในต่างประเทศในที่สุด

เหตุการณ์ที่สามเกิดขึ้นในช่วงปลายปี เมื่อจอมพลผิณ ชุณหะวัณ ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๙ ฉีกรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๔๘๙ เชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าและผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๙๐ (รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม) นับแต่นั้นมาประเทศไทยก็เข้าสู่ “วงจรอุบาทว์” คือ การทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้ง แล้วก็ทำรัฐประหารอีกซ้ำไปซ้ำมาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

พุทธศักราช ๒๕๔๙ เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญในทางการเมืองและกฎหมายหลายเหตุการณ์ และนับเป็นปีที่มีความผันผวนทางการเมืองไม่แพ้เมื่อหกสิบปีก่อน เริ่มจากการเคลื่อนไหวของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การเรียกร้องขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๗ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าพระองค์ไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย ผลจากความตึงเครียดทางการเมืองดังกล่าวนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่การปฏิเสธไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ทำให้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งทั้งประเทศเป็นโมฆะโดยให้เหตุผลว่าการจัดคูหาเลือกตั้งทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ เกิดการดำเนินคดีอาญากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนกระทั่งการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ในคืนวันที่ ๑๙ กันยายนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้เรายังไม่สามารถประเมินผลของความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้ ในเวลานี้ ฝุ่นควันแห่งความสับสนวุ่นวายยังฟุ้งกระจายอยู่

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันในประเด็นทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมายมหาชนอย่างมาก ประเด็นที่ถกเถียงกันนั้นหลายประเด็นมีความแหลมคม บางประเด็นก็เกี่ยวพันกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เช่น ประเด็นเรื่องนายกพระราชทาน ประเด็นต่างๆซึ่งปรากฏเป็นประเด็นหลักในหนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเรื่องพระราชอำนาจกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังเป็นสิ่งที่ไม่ลงตัวในระบบกฎหมายและการเมืองไทย ความแตกแยกทางความคิดปรากฏให้เห็นทั่วไปในทุกวงการ วงการนิติศาสตร์ได้รับผลพวงแห่งความขัดแย้งนี้ไม่น้อยไปกว่าวงการอื่น

ในช่วงเวลาแห่งความสับสนนี้ นักกฎหมายหนุ่มอายุยังไม่ถึงสามสิบปีคนหนึ่งได้เขียนบทความแสดงทัศนะในทางกฎหมายและการเมืองในประเด็นต่างๆ ด้วยสำนวนที่ชวนอ่าน แหลมคมไปด้วยลีลาภาษาและการเปรียบเปรยที่กระทบใจยิ่ง ที่สำคัญนักกฎหมายหนุ่มคนนี้มีความ “กล้า” ที่นับว่าหาได้ยาก แม้ในบรรดานักกฎหมายที่อาวุโสกว่าเขาโดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชน ในบทความบางบทความ เช่น ความเงียบของนักกฎหมายมหาชน นักกฎหมายผู้นี้ได้ตั้งประเด็นท้าทายบรรดานักกฎหมายมหาชนไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

ผมรู้จักปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เขียนบทความซึ่งกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้มาหลายปีแล้ว ปิยบุตรเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆของผม ปัจจุบันเขาศึกษากฎหมายมหาชนในระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส ปิยบุตรตั้งใจจะเป็นอาจารย์ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือแล้ว และเมื่อตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่างลง เขาก็สอบผ่านเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสมความตั้งใจ เชื่อว่าไม่ช้าไม่นานนักเราจะได้ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายมหาชนระดับคุณภาพอีกคนหนึ่งมาประดับวงการกฎหมายไทย

แม้ปิยบุตรจะอายุยังไม่ถึงสามสิบปี แต่อายุดูจะไม่เป็นอุปสรรคต่อมุมมองและประเด็นทางกฎหมายของเขาเลย นับแต่ข้อเขียนของเขาปรากฏในเว็ปไซต์โอเพ่นออนไลน์และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ปิยบุตรถูกมองอยู่เงียบๆ อย่างชื่นชมจากบรรดาครูบาอาจารย์ของเขา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผู้อ่านจะได้รับคำตอบเมื่อพลิกไปอ่านหนังสือเล่มนี้ในหน้าถัดไป

สังคมไทยเป็นสังคมที่ดูเหมือนจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความเห็น แต่แห้งแล้งความรู้ ความเห็นส่วนมากที่เกิดขึ้นเป็นความเห็นที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึก มากกว่าเกิดจากการพิจารณาอย่างแยบคาย และด้วยใจที่เป็นธรรม แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นเพียงการรวบรวมบทความของปิยบุตร เป็นหนังสือเล่มเล็ก แต่เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ไม่เล็กเลย ปิยบุตรได้แสดงให้เราเห็นถึงทัศนะอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ หนังสือเล่มนี้จะชวนให้เราถกเถียงและโต้แย้งกันบนพื้นฐานของความรู้และใจอันเป็นธรรม

ผมขอแสดงความยินดีต่อปิยบุตรที่งานเขียนของเขาได้รับการรวมพิมพ์เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ และเห็นภาพอีกด้านหนึ่งของกฎหมายและการเมืองไทย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์
๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๙

................

คำนำ

หากใช้การเข้าเรียนปี ๑ คณะนิติศาสตร์เป็นเกณฑ์ นับได้ว่าผมวนเวียนอยู่ในวงการกฎหมาย ๙ ปีกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้ยินคนทั่วไปพร่ำบ่นอยู่บ่อยครั้งว่ากฎหมายเป็นเรื่องเข้าใจยาก มีแต่พวกนักกฎหมายที่เข้าใจกันเอง เมื่อสำรวจงานในลักษณะ Pop academic ก็พบว่ามีนักวิชาการกฎหมายไม่มากที่เขียนงานทำนองนี้เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ อาจเป็นเพราะว่าในหมู่นักกฎหมายนิยมการเขียนงานตามรูปแบบทางวิชาการ มีการอ้างบทบัญญัติมาตราต่างๆ คำพิพากษาบรรทัดฐาน อุทาหรณ์ หลักกฎหมายทั้งไทยและเทศ ตลอดจนภาษากฎหมายที่อ่านแล้วต้องแปลความอีก รูปแบบเช่นนี้ทำให้คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมองว่างานเขียนทางกฎหมายช่างไม่น่าอภิรมย์แม้แต่น้อย

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ผมจึงมีความตั้งใจว่าหากมีโอกาสผมอยากจะทดลองเขียนงานในลักษณะเข้าใจง่ายเพื่อแสดงความเห็นทางกฎหมายที่พัวพันกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันตามที่ตนถนัด จนกระทั่งผมมาศึกษาต่อต่างแดน เวลาว่างในการอ่านและเขียนมีมากขึ้น ประกอบกับนวัตกรรมใหม่อย่าง “บล็อก” ทำให้ผมมีพื้นที่เขียนงานได้ตามใจปรารถนา

ผมตัดสินใจเปิดบล็อกเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๘ เพื่อใช้เป็นเวทีเขียนความเห็นทางกฎหมายและการเมือง รวมทั้งเล่าประสบการณ์ที่ผมผ่านพบระหว่างอยู่ต่างแดน โดยตั้งใจว่าจะเขียนแบบสบายๆ ไม่เน้นรูปแบบเหมือนงานวิชาการที่ต้องมีเชิงอรรถ มีเค้าโครง เขียนบล็อกไปได้สักพัก พี่ป้อง อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ก็ชักชวนผมไปเขียนคอลัมน์ “นิติรัฐ” ในนิตยสารโอเพ่นที่กลับมาในโฉมใหม่แบบออนไลน์ นอกจากนี้พี่ป้องยังติดต่อ พี่ลาภ บุญลาภ ภูสุวรรณ แห่งประชาชาติธุรกิจ ให้ผมไปเขียนประจำในประชาชาติธุรกิจทุกเดือนอีกด้วย ปีเศษผ่านไป งานของผมก็มากพอที่จะรวมเล่มได้

หนังสือเล่มนี้เป็นการคัดสรรงานของผมที่ปรากฏในหลายที่ ทั้งในบล็อกของผม (http://www.etatdedroit.blogspot.com) ในโอเพ่นออนไลน์ (http://www.onopen.com) และในประชาชาติธุรกิจ แน่ละ นี่ย่อมไม่ใช่งานวิชาการมาตรฐานที่ควรค่าแก่การนำไปใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ตรงกันข้ามเป็นเพียงการรวบรวมบทความที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆมาตลอดปีกว่า ด้วยมุ่งหมายให้บุคคลทั่วไปซึ่งแม้ไม่ได้เรียนกฎหมายก็สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้

แก่นกลางของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การอธิบายกฎหมายตามสถานการณ์การเมืองที่เข้มข้นในช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณ ๒ ภายใต้บรรยากาศการเผชิญหน้ากันระหว่าง “ทักษิณ... ออกไป” และ “ทักษิณ,,, สู้สู้” ซึ่งต่างช่วงชิงการโหน “พระราชอำนาจ” ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เป็นธรรมดา เมื่องานเขียนกฎหมายไปคาบเกี่ยวกับการเมือง ย่อมมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เข้าทางผู้สนับสนุนกลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่ง แต่ไปขัดแย้งกับผู้สนับสนุนอีกกลุ่มหนึ่งเข้า จึงหลีกหนีไม่พ้นที่งานของผมจะได้ทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ

ฌอง-ปอล ซาตร์ เคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ถูกสาปให้เสรี” ผมเชื่ออย่างที่ซาตร์กล่าว เสรีภาพอยู่กับตัวผม และผมไม่อาจปฏิเสธมันได้ ตรงกันข้ามผมต้องใช้มันภายใต้ความรับผิดชอบของตัวผมเอง ผมตระหนักดีว่าข้อเขียนของผมหลายชิ้นคงไม่ถูกจริตของผู้มีรสนิยม “อภิชนนิยม” และอาจกระทบกับ “อำนาจเก่า” ที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมานาน แต่ทั้งหมดล้วนทำไปด้วยความสุจริตและอยู่ในกรอบของเสรีภาพที่ผมพึงมี

เป็นธรรมเนียมของการเขียนคำนำหนังสือ จำเป็นต้องมีคำขอบคุณยืดยาว คำนำหนังสือของผมก็คงหลีกหนีกติกานี้ไปไม่พ้น ผมขอขอบคุณไล่ไปทีละคน เริ่มจากลำดับแรก พี่ป้อง อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชักนำผมเข้าสู่บรรณพิภพทั้งแบบออนไลน์และแบบกระดาษเปื้อนหมึก หากปราศจากซึ่งอาจารย์หนุ่มแห่งสำนักท่าพระจันทร์คนนี้แล้วไซร้ ผมคงได้แต่เป็นนักอ่านที่ดีเท่านั้น นอกจากนี้พี่ป้องยังเป็นธุระอย่างเอาการเอางานในการรวมเล่มครั้งนี้อีกด้วย ลำดับที่สอง พี่โญ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของสำนักพิมพ์โอเพ่น ที่กล้ารวมงานของผมเป็นหนังสือเล่ม “กล้า” ในที่นี้ คือ กล้าที่จะขาดทุนและอาจรวมถึงกล้าที่จะติดตาราง (ฮา) ลำดับที่สาม รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ผมเคารพรักทั้งแง่วิชาการและวิถีชีวิต อาจารย์ยอมสละเวลามาเขียนคำนิยมให้หนังสือของนักวิชาการไร้อันดับอย่างผม สมควรกล่าวด้วยว่าความรู้ที่ผมมีและใช้ในการเขียนงาน ส่วนหนึ่งมาจากการฝึกวิชากับอาจารย์วรเจตน์ ลำดับที่สี่ พี่ลาภ บุญลาภ ภูสุวรรณ จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ผู้ให้โอกาสผมเข้าไปเขียนคอลัมน์ในประชาชาติธุรกิจ พี่ลาภต้องอดทนทวงต้นฉบับของผมซึ่งส่งช้าเป็นประจำทุกเดือน แต่พี่ลาภก็ไม่เคยปริปากตำหนิผมสักครั้ง ลำดับที่ห้า กองบรรณาธิการโอเพ่นทุกท่านที่ช่วยรวบรวมงาน พิสูจน์อักษร จัดรูปเล่ม และลำดับสุดท้าย ขาดเสียมิได้ บล็อกเกอร์ทุกคนที่ร่วมถกเถียงกันมาตลอดปีเศษ และผู้อ่านงานของผมทั้งในโอเพ่นและประชาชาติธุรกิจ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นเครื่องมือวัดความอดทนในการรับฟังความเห็นต่าง ท่ามกลางบรรยากาศประชาธิปไตยขมุกขมัวใต้รองเท้าบู๊ต ด้วยความเชื่อว่าประชาธิปไตยที่สวยงามต้องมีศิลปะในการจัดการความขัดแย้ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถถังหรือปืน

ปิยบุตร แสงกนกกุล
วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๙
วันคล้ายวันเกิดแม่ ณ หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส

................

-๒-
บทความของผม

มีบทความใหม่สองเรื่อง

เรื่องแรก
ประชาธิปไตยแบบ “ไทยๆ” คืออะไร
http://www.onopen.com/2007/editor-spaces/1545

เรื่องที่สอง
ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองในฝรั่งเศส (๑)
http://www.onopen.com/2007/01/1536

งานนี้จะทยอยเขียนเป็นตอนๆไป ประเมินแล้วไม่น่าเกิน ๑๐ ตอน

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 26, 2550

ธีรยุทธอีกแล้วจ้า

เป็นธรรมดาของธีรยุทธ ที่เรียกสื่อมาฟังในวันอาทิตย์ ประมาณ ๓ เดือนครั้ง ๖ เดือนครั้ง สื่อก็จะคอยจับตาว่าจะมีคำเท่ห์ๆที่ธีรยุทธประดิษฐ์ขึ้นมาอีก

ส่วนตัวผม ผมไม่ชอบคำว่า "ตุลาการภิวัตน์" มากที่สุด เพราะสะท้อนถึงระดับหลักการอยู่พอควร ไว้มีเวลาอาจจะเขียนบทความเรื่องนี้

ส่วนคำอื่นๆ ผมว่าฟังแล้วตลกๆ ขำๆ ไม่ได้สะท้อนปัญญา ความรู้อะไรเท่าไรนัก เน้นแต่เรียกเสียงฮือฮา และพาดหัวข่าว

ก่อนหน้านั้น ผมชอบงานของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ที่วิจารณ์ธีรยุทธมาก

ดู http://etatdedroit.blogspot.com/2006/11/blog-post_16.html

พอฟ้าเดียวกันทำฉบับพิเศษ รัฐประหาร ๑๙ กันยา ได้เอางานของศิโรตม์มาตีพิมพ์ด้วย ซึ่งผมชอบมากที่สุดในเล่มนี้

ล่าสุด สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนวิจารณ์ธีรยุทธไว้อีก แบบสั้นๆพอหอมปากหอมคอ

ดู http://www.sameskybooks.org/webboard/show.php?Category=sameskybooks&No=2505

น่าคิดที่สมศักดิ์บอกว่า ธีรยุทธพยายามเทรนตนเองให้เป็นประเวศคนต่อไป

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 22, 2550

ข้าราชการกับสหภาพแรงงาน

วันนี้ระหว่างนั่งเขียนหนังสือ เปิดทีวีไทย ดูเรื่องเล่าเช้านี้ไปด้วย

ได้ยินข่าวเล็กๆข่าวหนึ่ง เรื่องมีกลุ่มคนเสนอให้ข้าราชการมีเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

ผมลองไปสำรวจหน้าหนังสือพิมพ์ ก็ไม่พบรายละเอียดเท่าไร แต่ไปเจอในประชาไท ซึ่งก็มีรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น

ผมฟังจากที่คุณปลื้ม ลูกหม่อมอุ๋ยพูดแล้ว แกค้านสุดฤทธิ์ว่าอันตราย ประเทศไทยจะบริหารงานกันด้วยม็อบ

ผมว่าแกวิตกกังวลเกินไปหน่อย

ผมฟังจากที่คุณสรยุทธพูดในรายการว่า ผู้เสนอจะเอาให้ข้าราชการมีสิทธินัดหยุดงาน โดยไม่ยื่นใบลา

ผมว่าไม่คุณสรยุทธเข้าใจผิด ก็ผู้เสนอเข้าใจผิด ไม่ก็รายงานข่าวไม่ละเอียด

ที่เสนอกัน ผมคิดว่าน่าจะหมายถึง ให้เสรีภาพข้าราชการในการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้

ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เมื่ออยู่ในสหภาพแรงงาน ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้อง นัดชุมนุม นัดหยุดงานได้ ซึ่งกฎหมายแรงงานก็กำหนดวิธีการในการนัดหยุดงานไว้แล้ว ว่าต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน ต้องมีคนทำงานตามปกติเหลืออยู่บ้าง เป็นต้น

ดังนั้น ที่ว่าหากให้ข้าราชการเป็นสมาชิกสหภาพแล้ว จะทำให้ข้าราชการมีสิทธิหยุดงานกันมั่วซั่ว ไม่ต้องส่งใบลา น่าจะไม่ถูกต้อง

ปัจจุบันระบบกฎหมายไทยยังไม่ยอมรับให้ข้าราชการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาตรา ๔๕ รับรองไว้ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น"

แต่เกรงว่าข้าราชการจะยกมาตรานี้อ้างเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานกัน เลยล็อคไว้อีกชั้นในมาตรา ๖๔ ว่า "บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจรรยาบรรณ"

ซึ่งก็มีกฎหมายห้ามไม่ให้ข้าราชการตั้งสหภาพแรงงานไว้

ผมเห็นว่าข้าราชการเป็นแรงงานประเภทหนึ่ง ควรอนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงานได้ ส่วนที่กลัวกันว่าจะทำให้บริการสาธารณะ งานราชการเสียหากนัดหยุดงานกัน เราก็ไปกำหนดรายละเอียดในกฎหมายลูกบทได้ว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น หากสหภาพข้าราชการจะนัดหยุดงาน ก็ให้แจ้งส่วนราชการล่วงหน้ากี่วัน หรือ หากนัดหยุดงานก็ต้องมีหลักประกันขั้นต่ำว่ายังคงมีบริการสาธารณะอยู่ แม้การบริการจะน้อยลง แต่ก็ยังมีอยู่

นอกจากนี้ ไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกในองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ด้วยซึ่งมีข้อตกลงว่าข้าราชการมีสิทธิในการร่วมหรือจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

เรื่องนี้น่ารณรงค์กันต่อไป (ที่ผ่านมารู้สึกจะมีกลุ่มอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ที่รณรงค์ต่อเนื่อง)

แต่เชื่อได้เลยว่า รัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีทางยอมให้เสรีภาพเรื่องนี้แก่ข้าราชการแน่นอน

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 20, 2550

อีดี้ อามิน ดาดา

ศุกร์ที่ผ่านมาไปดูหนังเรื่อง The last King of Scotland
http://www.ledernierroidecosse-lefilm.com/

หนังที่สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกัน เกี่ยวกับอีดี้ อามิน เผด็จการของยูกันดา ผู้สังหารคนไปเกือบ ๕ แสนคน

ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์เล่นเป็นอีดี้ อามินได้เหมือนมาก บ้าได้ใจ สมกับที่ได้รางวัลนำชายลูกโลกทองคำ

ดูจบแล้วนึกถึงเมืองไทยตะหงิดๆ โดยเฉพาะสองตอนนี้

หนึ่ง ตอนอีดี้ อามินรัฐประหารเข้ามา ดีใจยกใหญ่ พอกำจัดอีดี้ อามินได้ ก็ดีใจเหมือนเดิม

สอง ตอนอีดี้ อามิน แสดงความเพี้ยนผ่านสื่อต่างชาติ แล้วจะรู้ว่าทำไมหนังถึงใช้ชื่อนี้

เกี่ยวกับอีดี้ อามิน
http://en.wikipedia.org/wiki/Idi_Amin

วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 16, 2550

ข้อเสนอ

จากที่เคยอ่านบทความและความเห็นของนักวิชาการหลายๆคน

ประกอบกับสังเกตการใช้ถ้อยคำนี้อย่างพร่ำเพรื่อ ราวกับว่าถ้อยคำนี้มีความขลัง ความแตกต่าง มีความหมายเฉพาะ

ประกอบกับสังเกตความซื่อที่คณะรัฐประหารตั้งชื่อของตนว่า คปค. แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบตรงตัวมาก จนต่างชาติเข้าใจไปต่างๆนานา

ผมเสนอให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

โดยตัดคำว่า "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ที่ต่อท้ายคำว่า "ระบอบประชาธิปไตย" ออกไป

เพราะ เรามีมาตราแรก (ซึ่งทุกฉบับก็ลอกตามกันมา) เขียนไว้อยู่แล้วว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้"

และมาตรานี้ก็ได้รับการคุ้มกันอีกชั้นว่า ห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอันขาด

คำว่า "ราชอาณาจักร" ก็หมายความอยู่ในตัวเองแล้วว่าประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

จึงไม่เห็นจำเป็นต้องเอา "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ไปต่อท้ายคำว่า "ระบอบประชาธิปไตย" ให้เยิ่นเย้อและเข้าใจผิดกันอีก

นอกเสียจากว่า ต้องการให้คำว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หมายถึง "ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ"

อนึ่ง คำๆนี้ ต้นฉบับภาษาอังกฤษ (ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแปล) ใช้คำว่า "Constitutional Monarchy" ซึ่งคำๆนี้ในภาษาอังกฤษ ไม่น่าจะหมายความตรงกันกับคำว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ที่ดำรงอยู่ในประเทศไทย

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 14, 2550

L’amour

ภาพยนตร์เรื่อง La Môme เข้าฉายเป็นวันแรกในวันวาเลนไทน์

http://www.tfmdistribution.com/lamome/lamome.htm

La Môme เกี่ยวกับชีวประวัติของ Édith Piaf การเลือกฉายในวันวาเลนไทน์ไม่ใช่ความบังเอิญ เพราะเรื่องของ Édith Piaf มีความเกี่ยวพันกับความรักแทบตลอดชีวิต

Édith Piaf เป็นนักร้องชื่อดังของฝรั่งเศส ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเกิดในย่าน Belleville กรุงปารีส (ปัจจุบันกลายเป็นย่านของคนเอเชีย มีร้านอาหารจีน อาหารไทยเพียบ) ในวัยเด็ก เธอมักไปร้องเพลงแถว Pigalle (ย่านนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวดังๆอย่าง มงต์มาร์ท และ มูแล็ง รูจ ปัจจุบันเต็มไปด้วยเซ็กส์ ช็อป, โชว์จ้ำบ๊ะ, ซ่อง)

Édith Piaf มีชื่อเสียงในเรื่องรัก ทั้งเพลงรักของเธอ และทั้งชีวิตรักของเธอเอง

เพลงรักของเธอที่นิยมไปทั่ว ก็เช่น La Vie en rose, L’Hymne à l'amour

ชีวิตรักของเธอก็หวือหวา เธอมีคนรักหลายคน ต่างกรรมต่างวาระ

คนที่เธอรักเป็นที่สุด คือ Marcel Cerdan

Marcel Cerdan เป็นนักมวยชาวฝรั่งเศส เชื้อสายโมร็อกโก เจ้าของฉายา "ไอ้ลูกระเบิดมาร็อค"เขาเป็นแชมป์โลกรุ่นมิดเดิ้ลเวท เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๑๙๔๘ ด้วยการชนะน็อค Tony Zale เจ้าของฉายาจอมน็อคเอาท์ ในยก ๑๒

เสียตำแหน่งให้กับ Jack LaMotta เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๙ ที่ดีทรอยท์ และมีกำหนดการทวงเข็มขัดแชมป์คืนที่เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น ในวันที่ ๒ ธันวาคม ๑๙๔๙ แต่ไม่กี่วันก่อนถึงวันชก....

หลังการชกอุ่นเครื่องที่เมือง Troyes สิ้นสุด คืนวันที่ ๒๗ ตุลาคม Marcel Cerdan รีบจับเครื่องบินเพื่อไปหา Édith Piaf ยอดรักของเขาที่ไปเปิดการแสดงที่นิวยอร์ก

แต่เครื่องบินลำนั้นไม่อาจพาเขาไปพบกับเธอ

เลวร้ายกว่านั้น เขาไม่มีโอกาสพบกับเธอได้อีกตลอดไป

เครื่องบินตกที่เซามิเกล ในหมู่เกาะอซอร์เรส กลางมหาสมุทรแอตแลนติก ดินแดนที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของโปรตุเกส

L’Hymne à l'amour เป็นเพลงที่เธอแต่งเพื่ออุทิศให้แก่ความรักที่มีต่อ Marcel Cerdan

ต่อมาได้รับความนิยมไปทั่ว จนถึงปัจจุบัน ถูกนำมาร้องใหม่โดยนักร้องหลายคน

ผมขอยกคำร้องและคำแปล (ซึ่งมีผู้ไม่ประสงค์ออกนามเคยเข้ามาแปลให้ในบล็อก) มาไว้ที่นี้

Le ciel bleu sur nous peut s'effondrer
Et la terre peut bien s'écrouler
Peu m'importe si tu m'aimes
Je me fous du monde entier

Tant qu'l'amour inondera mes matins
Tant que mon corps frémira sous tes mains
Peu m'importe les problèmes
Mon amour puisque tu m'aimes

J'irais jusqu'au bout du monde
Je me ferais teindre en blonde
Si tu me le demandais

J'irais décrocher la lune
J'irais voler la fortune
Si tu me le demandais

Je renierais ma patrie
Je renierais mes amis
Si tu me le demandais

On peut bien rire de moi
Je ferais n'importe quoi
Si tu me le demandais

Si un jour la vie t'arrache à moi
Si tu meurs que tu sois loin de moi
Peu m'importe si tu m'aimes
Car moi je mourrais aussi

Nous aurons pour nous l'éternité
Dans le bleu de toute l'immensité
Dans le ciel plus de problèmes
Mon amour crois-tu qu'on s'aime

Dieu réunit ceux qui s'aiment

ฉันไม่สนใจหรอกนะว่าโลกนี้จะหมุนไปทางใด
ไม่สนใจหรอกนะว่าฟ้าจะร้องสั่นสะเทือนแค่ไหน
และยิ่งไม่สนใจหากแผ่นดินจะแห้งแล้งเร่าร้อน

ฉันไม่สนใจหรอกนะว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ตราบนานเท่านานที่ความรักของเธอจะโอบอุ้มฉันไว้
ในยามเช้าที่ฉันตื่นขึ้น ในยามที่เธอกอดฉันไว้ในอ้อมแขนฉัน

ไม่สนใจหรอกนะแม้ความรักของเราจะมีปัญหา
ไม่สนใจหรอกนะไม่ว่าความรักของเราจะมีอุปสรรคมากเท่าใด
และยิ่งไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ตราบใดที่เธอยังรักฉัน
ฉันขอเพียงให้เธอรักฉันเท่านั้น

หากเธอกล้าถามหาบทพิสูจน์ความรักของฉัน
ฉันเองก็ยินดีหากจะพิสูจน์ให้เธอรู้ว่า
ฉันยินดีที่จะออกเดินทางไปทุกที่
ทำทุกอย่างตามกำลังเท่าที่มีเพื่อพิสูจน์ให้เธอเห็นถึงความรักของฉัน

ฉันยอมทุกอย่าง..ยอมเพื่อเธอเสมอมา
ฉันยอมเดินทางค้นหาไปสุดขอบโลก
ยอมเดินทางแสนไกลไปถึงดวงจันทร์
ยอมแลกค่ำคืนเริงระบำกับหมู่เพือน
ยอมแลกทุกสิ่งที่ฉันมีอยู่เพียงเพื่ออย่างเดียว..เพื่อความรักของเธอเท่านั้น
เพื่อให้เธอรู้ว่าฉันรักเธอมากเพียงใด

ฉันรู้ว่าความรักของฉันมันน่าหัวเราะ
บางทีเธออาจจะเห็นมันไม่มีค่า
แต่ฉันไม่สนใจหรอกว่าเธอจะเห็นมันมีค่าหรือไม่
เพราะฉันยอมทุกอย่างแล้ว..เพื่อที่จะได้รักเธอ

หากวันหนึ่งชะตาชีวิตดึงเธอให้ห่างจากฉันไป
ไม่ว่าจะเป็นจากชะตาหรือความตาย
ไม่ว่าตอนนั้นหัวใจเธอเป็นเช่นไร
โปรดจงรู้ไว้ว่าหัวใจของฉันก็แหลกสลายไปด้วยเฉกเดียวกัน

พระเจ้าให้เรามาเจอกันเพื่อความรักอันเป็นนิรันดร์
ภายใต้ผืนฟ้าสีน้ำเงินกว้างแห่งอุปสรรคอันยิ่งใหญ่
โปรดเชื่อฉันเถอะนะว่ารักของเรามีอยู่จริง
และโปรดเชื่อฉันเถอะนะว่าเรารักกัน
โปรดเชื่อเถอะนะว่าเรารักกัน

Édith Piaf พบรักครั้งสุดท้ายกับ Théo Sarapo เด็กหนุ่มซึ่งอายุน้อยกว่า ๒๐ ปี ทั้งสองได้ร้องเพลงคู่กันชื่อ À quoi ça sert l'amour

จากนั้นไม่นาน Édith Piaf ก็เสียชีวิตในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๑๙๖๓ ด้วยหลายโรคประกอบกับการติดยา รวมอายุได้ ๔๗ ปี

แม้ Édith Piaf จะผ่านเรื่องราวดีร้ายมากมาย แต่เธอก็ไม่คิดเสียใจแม้แต่น้อยกับชีวิตของเธอ

ดังที่เธอบอกไว้ในเพลง Non ! Je ne regrette rien

Non! Rien de rien ...
Non ! Je ne regrette rien
Ni le bien qu'on m'a fait
Ni le mal tout ça m'est bien égal !

Non ! Rien de rien ...
Non ! Je ne regrette rien...

C'est payé, balayé, oublié
Je me fous du passé!

Avec mes souvenirs
J'ai allumé le feu
Mes chagrins, mes plaisirs
Je n'ai plus besoin d'eux !

Balayés les amours
Et tous leurs trémolos
Balayés pour toujours
Je repars à zéro ...

Non ! Rien de rien ...
Non ! Je ne regrette nen ...
Ni le bien, qu'on m'a fait
Ni le mal, tout ça m'est bien égal !

Non ! Rien de rien ...
Non ! Je ne regrette rien ...
Car ma vie, car mes joies
Aujourd'hui, ça commence avec toi !

เข้าไปฟังเพลงของ ที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่อง La Môme ได้ที่
http://www.piaf-lamome.com/

วาเลนไทน์

วันวาเลนไทน์ มีเพลงมาฝากครับ

รักเธอ
โต๋ ศกดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร
อัลบั้ม Living In C Major
http://www.dseason.com/coolsong/coolsong_play.php?id=2787

เคยไหมบางทีที่เธอต้องการพูดอะไรออกไป
เคยไหมบางทีคำพูดมันไม่ยอมตรงกันกับใจ
ทั้งที่พยายาม และไม่ว่าจะเตรียมตัวสักขนาดไหน

เหมือนฉัน บางทีกำลังเผชิญหน้าความเป็นจริง
และถึงแม้ข้างในพยายาม พูดออกไปให้หมดทุกสิ่ง อย่างที่ตั้งใจ

แต่มันก็เหมือนเคย ไม่ว่าจะเปิดเผยสักเท่าไร
เมื่อต้องพูดคำนั้น เสียงฉันมันก็หายไป

อ่านปากของฉันนะ ว่า ...
อยากจะพูดอีกครั้ง ว่า ...
และจะเป็นอย่างนี้กับเธอ ไม่ว่านานสักเท่าไร

ไม่ต้องกลัวว่าฉันจะรักใคร ไม่ต้องห่วงว่าฉันเปลี่ยนหัวใจ
ฉันจะเป็นอย่างนี้ จะ ... ตลอดไป

ฉันรู้ดีว่าบางที มันก็ดูเหมือนน่ารำคาญ
แต่ฉันจะพยายามที่จะพูดออกไปให้หมดทุกสิ่ง ให้หมดทั้งหัวใจ

แต่ว่ามันก็เหมือนเคย ไม่ว่าจะเปิดเผยสักเท่าไร
เมื่อต้องพูดคำนั้น เสียงฉันมันก็หายไป

อ่านปากของฉันนะ ว่า ...
อยากจะพูดอีกครั้ง ว่า ...
และจะเป็นอย่างนี้กับเธอ ไม่ว่านานสักเท่าไร

ไม่ต้องกลัวว่าฉันจะรักใคร ไม่ต้องห่วงว่าฉันเปลี่ยนหัวใจ
ฉันจะเป็นอย่างนี้ จะ ... ตลอดไป

แต่ว่ามันก็เหมือนเคย ไม่ว่าจะเปิดเผยสักเท่าไร
เมื่อต้องพูดคำนั้น เสียงฉันมันก็หายไป

อ่านปากของฉันนะ ว่า ...
อยากจะพูดอีกครั้ง ว่า ...
และจะเป็นอย่างนี้กับเธอ ไม่ว่านานสักเท่าไร

ไม่ต้องกลัวว่าฉันจะรักใคร ไม่ต้องห่วงว่าฉันเปลี่ยนหัวใจ
ฉันจะเป็นอย่างนี้ จะ ... ตลอดไป

จะย้ำด้วยคำๆ นี้ ว่ารักเธอ ไม่ยอมรักใคร

.........

ขอให้ทุกคนมีความสุขกับความรักครับ

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 13, 2550

เช่าดีวีดี

เวลาอากาศหนาว ไม่อยากออกจากห้อง แต่ห้องที่อยู่ก็คับแคบเหลือเกิน อยู่นานๆพาลให้อึดอัด

กิจกรรมที่ใช้บำบัดได้อย่างหนึ่ง คือ การดูดีวีดี

เดิม ผมใช้วิธีซื้อดีวีดีเก็บจากร้าน Fnac แผ่นไหนออกใหม่ราคาก็สูงลิบไปถึง ๒๕-๓๐ ยูโร ซื้อไม่ไหว ก็ต้องรอผ่านไปปีเศษ จึงลดราคาลงมาเหลือ ๙.๙๙ ยูโร

บางครั้ง ก็สั่งเอาจากเมืองไทย ผ่านเว็บไซต์ www.ethaicd.com แต่ปัญหาก็เกิดอีก

หนึ่ง เครื่องเล่นดีวีดีของฝรั่งเศส มันหวังดีจนเกินไป เล่นตั้งโซนล็อกเอาไว้ นั่นหมายความว่า เครื่องอ่านได้แค่แผ่นดีวีดีโซน ๒ (ยุโรป ยกเว้นอังกฤษ) ดังนั้น แผ่นที่ผมสั่งจากเมืองไทย ถ้าไม่ใช่ ออล โซน แต่เป็นโซน ๓ (เอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น) ผมก็ไม่สามารถดูได้ บางครั้งต้องหนีไปสั่งเป็นวีซีดีแทน

สอง ฝรั่งเศสเล่นตั้งภาษีศุลกากรเอากับแผ่นดีวีดีด้วย เวลาที่บริษัท ethaicd ส่งแผ่นให้ผม ด้วยบริการของ Fedex เพื่อความรวดเร็ว เจ้า Fedex มันก็เป็นคนตงฉินมาก ระบุให้ทางการฝรั่งเศสทราบตลอดว่า หีบห่อนี้เป็นดีวีดี

ผลลัพธ์ คือ ศุลกากรฝรั่งเศสตามมาทวงเงินผมถึงบ้าน ครั้งหนึ่งก็ปาเข้าไปเกือบ ๓๐ ยูโร แพงกว่าค่าหนังที่ผมสั่งอีก หลังๆเลยต้องกำชับ ไปด้วยว่า ถ้าส่งด่วน ขอให้หนีไปใช้บริการของอีเอ็มเอสแทน

ตอนนี้ผมค้นพบวิธีการใหม่ นั่นคือ เช่าดีวีดีผ่านเว็บไซต์

ตอนผมมาใหม่ๆ เคยเช่าผ่านตู้ให้เช่าอยู่บ้าง แต่ระยะเวลาให้เช่า โคตรสั้น ๑ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ตามแต่ความใหม่ของหนัง แล้วเอาออกไปคืนผ่านตู้เช่าแต่ละที ก็โคตรขี้เกียจ ครั้งไหนขี้เกียจจัดๆ คืนเลยกำหนด ก็โดนปรับไปตามระเบียบ

จนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ผมไปเจอเว็บไซต์ http://www.glowria.fr/

บริษัทนี้ลอกเลียนวิธีมาจากบริษัท netflix ในอเมริกา (คุ้นๆว่าเคยอ่านผ่านบล็อกของปิ่น ปรเมศวร์) มีรูปแบบให้เช่าหลากหลาย ใช้ระบบเหมาจ่ายรายเดือน ได้แก่

หนึ่ง ๑๕ ยูโร ต่อเดือน ได้ดีวีดีไปดูเดือนละ ๔ แผ่น ส่งครั้งเดียวรวด ๔ แผ่น ผู้เช่าต้องดูทั้ง ๔ แผ่น ภายใน ๓๐ วัน ให้หมด

สอง ๒๐ ยูโร ต่อเดือน ได้ดีวีดีไปดูเดือนละ ๖ แผ่น ส่งให้สองงวด งวดละ ๓ แผ่น ผู้เช่าต้องส่งคืน ภายใน ๓๐ วัน

สองแบบแรกนี้ เหมาะแก่พวกนิยมแนวพอเพียงๆ

สาม ๒๖ ยูโร ต่อเดือน ดูได้ไม่อั้น เปลี่ยนได้ไม่อั้น แต่ส่งให้ครั้งแรก ๓ เแผ่น จากนั้นเราต้องคืน ๒ แผ่น ศูนย์เช่าจึงส่งให้เราอีก ๒ แผ่น

สี่ ๔๐ ยูโร ต่อเดือน ดูได้ไม่อั้น เปลี่ยนได้ไม่อั้น แต่ส่งให้ครั้งแรก ๕ เแผ่น จากนั้นเราต้องคืน ๓ แผ่น ศูนย์เช่าจึงส่งให้เราอีก ๓ แผ่น

ห้า ๕๖ ยูโร ดูได้ไม่อั้น เปลี่ยนได้ไม่อั้น แต่ส่งให้ครั้งแรก ๘ เแผ่น จากนั้นเราต้องคืน ๕ แผ่น ศูนย์เช่าจึงส่งให้เราอีก ๕ แผ่น

สามแบบหลังนี้ เหมาะพวกมักมาก ไม่ชอบแนวพอเพียงๆ

ผมมันเป็นพวกไม่สนองตอบนโยบายคณะรัฐประหารเท่าไร เลยเลือกแบบที่สามไป

ทั้ง ๕ แบบนี้ ค่าส่งดีวีดีมาให้เรา และค่าส่งคืน ฟรีทั้งหมด (เขาจะใส่ซองเปล่าไว้ส่งคืนพร้อมสแตมป์มาให้เราด้วย)

รูปแบบการเช่าหลากหลายนี้ เปิดทางเลือกให้ว่า ใครที่ไม่ชอบเสี่ยง ไม่หวือหวา ไม่เร่งรีบ ไม่บ้าพลัง ก็เช่าเดือนละ ๔ หรือ ๖ แผ่น รับประกันว่าได้ดูแน่ๆ ไม่ต้องลุ้นว่าไปรษณีย์จะส่งช้ามั้ย หรือ ดีวีดีที่เราอยากดู โดนคนยืมออกไปเยอะจนหมดสต๊อก ต้องรอนาน ค่าเช่าแผ่นหนึ่งก็ตกประมาณ แผ่นละเกือบ ๔ ยูโร ต่อแผ่นอาจจะแพง แต่มีเวลาดูแบบชิลล์ๆ ๑ เดือนเต็ม

หากใครที่บ้าดูมากๆ ก็เลือกแบบที่ ๓-๕ พวกนี้ดูจบต้องรีบคืน หากดองหนังไว้นาน ก็เสียโอกาสในการรับหนังแผ่นใหม่มาดูต่อ เป็นมาตรการป้องกันการดองหนังไปในตัว อย่างไรก็ตาม มีหลักประกันให้เราด้วยว่า ระหว่างที่เรารอหนังแผ่นใหม่มาส่งนั้น อย่างน้อยก็ยังมีหนังอีก ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ แผ่น (แล้วแต่เลือกแบบไหน) ให้เราดูไปพลางก่อน

แล้วเขาให้เราทำรายการดีวีดีที่เราต้องการเช่า เรียงตามลำดับ เปลี่ยนลำดับได้ตลอด แต่ละแผ่นจะระบุให้ว่า ตอนนี้มีอยู่ในสต๊อกพร้อมจัดส่ง หรือว่ามีคนยืมมออกไปจนหมด หรือว่าต้องรอสักสองวัน เราก็ต้องเอามาคำนวณเองว่าจะสั่งเรื่องไหนดี ก่อน หลัง

นอกจากนี้ หากเรื่องไหนที่ศูนย์เช่าไม่มีบริการให้เช่า เราก็กดโหวตเรียกร้องให้เขาสั่งมาให้เช่าได้ (ผมกดไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะหนังเอเชียอย่างเช่น I don’t want to sleep alone,ฺ Be with me )

ตอนนี้ในลิสต์ของผมมี ๑๘ เรื่อง ตามลำดับ ดังนี้

๑. Me and you and everyone we know
(ตอนเข้าเมืองไทย กลับไปดูไม่ทัน พอกลับมา หนังก็ออกจากโรงที่นี่ไปแล้ว)
๒. Se souvenir des belles choses
(หนังฝรั่งเศสเรื่องนี้ สารภาพว่าไม่รู้จัก แต่อ่านเจอในโอเพ่น ที่ทีมงานฟิล์มไวรัสรวบรวมความเห็นหนังยอดเยี่ยมของหลายๆคนมา)
๓. The world
(ของเจียจางเก๋อ ดู http://filmsick.exteen.com/20060502/the-world)
๔. Zidane
(หนังสารคดีเกี่ยวกับซีดาน)
๕. V for Vendetta
(ผมเชยมากๆๆ ยังไม่ได้ดูเลย)
๖. Tsotsi
๗. Volver
(ผมเชยอีกแล้ว ยังไม่ได้ดูเรื่องนี้)
๘. Les choristes
(เอามาดูซ้ำอีกสักรอบ)
๙. 21 grammes
(ชอบเรื่อง Babel เลยตามหาหนังของผู้กำกับคนนี้มาดู)
๑๐. Vol 93
๑๑. Little miss sunshine
(อันนี้ยังไม่ได้เป็นดีวีดี แต่กำหนดการออก ๒๑ มีนาคมนี้ ผมเลยจองไว้ก่อน)
๑๒. Walk the line
๑๓. Happy time
(ของจางอี้โหม่ว)
๑๔.Platform
(ของเจียจางเก๋ออีกเรื่อง เกี่ยวกับชีวิตของหนุ่มสาวชาวจีน หลังเปิดประเทศรับทุนนิยมได้ไม่นาน ในช่วง ๑๙๘๐)
๑๕.Munic
๑๖.Romanzo criminal
๑๗. De battre mon coeur s’est arrêté
๑๘. Caiman

ผมลองสำรวจหนังของเขาทั้งหมดแล้ว พบว่าหลากหลายมาก มีทุกสัญชาติ หนังไทยบ้านเราที่ได้มาฉายที่นี่แล้วทำเป็นดีวีดีขาย ก็มีให้เช่าหมด ล่าสุดที่อยู่ในแผงของเขา คือ Invisible wave ของเป็นเอก

บางเรื่อง แผ่นบ้านเราอาจมีก่อน แต่อีกหลายเรื่อง บ้านเราก็ไม่เอาไปทำเป็นดีวีดี

นอกจากผลิตภัณฑ์ดีวีดีหนังแล้ว ยังมีบริการให้เช่าดีวีดีคอนเสิร์ต ดีวีดีการ์ตูน ดีวีดีซีรีย์ยอดฮิต ดีวีดีสารคดี และเกมอีกด้วย

เห็นวิธีการเช่าดีวีดีแบบนี้แล้ว นับว่าน่าสนใจเอาไปใช้เมืองไทยไม่น้อย แต่คงติดขัดปัญหาอยู่สองข้อ

หนึ่ง บ้านเรายังไม่นิยมอีคอมเมิร์ซเท่าที่ควร ด้วยเกรงว่าไม่ปลอดภัย กลัวโดนแฮ็คบัตรเครดิตไปใช้

และสอง ศูนย์เช่าหนังของเรา มีทั่วทุกหย่อมหญ้า สะดวกต่อการยืม-คืน (แต่หนังบางเรื่องก็ไม่มีวันหาเจอในศูนย์เช่าหนังเมืองไทย)

ป.ล. กำลังโพสบล็อกตอนนี้ แต่บล็อกสป็อตบังคับให้โอนข้อมูลไปใช้บล็อกโฉมใหม่อะไรไม่รู้ ปรากฏว่าลิงค์เจ๊งไปหมด อ่านภาษาไทยไม่ออก เซ็งมาก คงใกล้ถึงเวลาเปลี่ยนที่สิงสถิตแล้วกระมัง

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 07, 2550

หนังน่าดู

ชวนไปดูหนังหลายๆเรื่องครับ

๑. Das Leben der Anderen (La Vie des autres)

หนังเยอรมัน

ฉายถึงช่วงยังแบ่งแยกเยอรมันตะวันตกกับตะวันออกอยู่ เยอรมันตะวันออกมีหน่วยงานที่ชื่อว่า สตาซี่ ทำหน้าที่สืบราชการลับ ดักฟังโทรศัพท์ บุคคลต้องสงสัยที่อาจปันใจไปอยู่กับตะวันตก

สตาซี่ก็เข้าไปดักฟังชีวิตส่วนตัวทุกซอกทุกมุมของนักเขียนคนหนึ่ง จากนั้นก็เกิดเรื่องราวต่างๆตามมา

ย้ำว่าไม่ใช่หนังสไตล์สายลับ หักเหลี่ยม ชิงไหวพริบแน่นอน

ผมไปดูมาแล้ว โคตรชอบบบบ

ดูเรื่องย่อและหนังตัวอย่างได้ที่

http://www.allocine.fr/film/fichefilm_gen_cfilm=111643.html

๒. Libero

หนังอิตาลี

เคยเข้ามาฉายที่เมืองผมไปแล้วรอบหนึ่ง ตอนนี้เอากลับมาใหม่เพราะมีเทศกาลหนังอิตาลี
เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว พ่อม่ายเมียหย่า ต้องเลี้ยงลูกเอง แต่พ่อเป็นเผด็จการหน่อยๆ ชอบบังคับลูก

จะไปดูวันพฤหัสนี้ หมดรอบนี้ คงต้องรอดีวีดี

http://www.allocine.fr/film/fichefilm_gen_cfilm=111203.html

๓. Letters from Iwo Jima

หนังฟอร์มยักษ์ของปู่คลิ้นท์ อีสต์วู้ด หนึ่งในตัวเต็งออสการ์

เข้าฝรั่งเศสวันที่ ๒๑ กพ นี้

http://www.allocine.fr/film/fichefilm_gen_cfilm=112342.html

๔. Little Miss Sunshine

สารภาพว่า ไม่เคยสนใจอยากดูเรื่องนี้ แต่สงสัยว่าทำไมถึงยืนโรงฉายที่เมืองผมได้นานมาก นักวิจารณ์และคนที่เข้าไปดูมาก็ให้ ๔ ดาวเต็ม จนกระทั่ง ล่าสุดอ่านข่าวเจอว่าได้ชิงออสการ์ด้วย ยิ่งเพิ่มความอยากดูเข้าไปอีก

คิดว่าจะไปดูศุกร์นี้ เช่นกัน ถ้าไม่ได้ดูรอบนี้ ก็คงต้องรอดีวีดี

http://www.allocine.fr/film/fichefilm_gen_cfilm=109815.html

ขออภัยที่ลิงค์ไว้นั้นเป็นเว็บภาษาฝรั่งเศส ยังไงลองจิ้มๆหาหนังตัวอย่างดู ไม่น่ายาก