วันอาทิตย์, มีนาคม 12, 2549

ความเห็นของวรเจตน์ต่อกรณีมาตรา ๗ และนายกฯพระราชทาน

ไทยโพสต์สัมภาษณ์ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ลงแทบลอยด์ ฉบับวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๙

วรเจตน์เป็นคนอยุธยา จบมัธยมปลายจากเตรียมอุดมศึกษา เข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มธ.ปี ๒๕๓๐ จบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง และเป็นที่หนึ่งของรุ่น (สมัยนั้นเกียรตินิยมอันดับ ๑ หาไม่มีในคณะนิติศาสตร์ มธ.) จากนั้นสอบชิงทุนอานันทมหิดลได้ ไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกทางกฎหมายมหาชน ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เช่นเคย วรเจตน์ได้เกียรตินิยมสูงสุด วิทยานิพนธ์เรื่องสัญญาทางปกครองของเขาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ

วรเจตน์กลับมาสอนที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน ในวิชากฎหมายปกครอง วิชานิติปรัชญา และวิชาการใช้และการตีความกฎหมาย

ใช้เวลาไม่กี่ปี วรเจตน์ก็ได้การยอมรับจากวงวิชาการนิติศาสตร์ ความเห็นทางกฎหมายของเขาแหลมคม และมั่นคงในจุดยืนเสมอมา ด้วยท่าทีนักวิชาการขนานแท้ โต้แย้งด้วยเหตุด้วยผล อย่างไม่เกรงกลัวผู้ใด นักวิชาการกฎหมายบางคนที่ตั้งตนเป็นกูรูจึงไม่นิยมวรเจตน์

ทุกวันนี้เขายังคงก้าวเดินในเส้นทางของเขาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความเห็นทางกฎหมายของเขามิใช่ความเห็นรายวัน ประเภทนักข่าวถามอะไรก็ตอบได้หมด ประเภทถามแล้วใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีก็ตอบได้หมด หากเป็นความเห็นที่ผ่านการคิดจนตกผลึก

ความเห็นของเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ไม่ใช่เป็นความเห็นที่มีธงคำตอบทางการเมืองไว้ก่อน ดังที่เราเห็นทุกวันนี้ในกรณีการพยายามหาเหลี่ยมมุมทางกฎหมายเพื่อล้มทักษิณ

เขาไม่เคยวิ่งหาสื่อหรือนัดสื่อมาฟังเขาพูด หากเป็นสื่อที่วิ่งเข้าหาเขาเอง เพราะรู้ดีว่าความเห็นของเขาคมคายเช่นใด ถ้าผมจำไม่ผิด นี่เป็นครั้งที่สามที่แท็บลอยด์ไทยโพสต์ไปสัมภาษณ์วรเจตน์

ผมเคารพและนับถือวรเจตน์ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้ผมเท่านั้น หากผมยังเคารพในวัตรปฏิบัติของเขาอีกด้วย

หากท่านเกรงว่าผมอาจเชิดชูพวกเดียวกันเอง ก็ขอให้อ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ดู

ลองเข้าไปอ่านกันดูนะครับ อาจเข้าใจนักกฎหมายสำนักท่าพระจันทร์กันมากขึ้น และจะรู้ว่าอาจารย์สำนักนี้มีหลายแบบหลายบุคลิกภาพ หาเป็นดังที่ชาวบ้านตั้งข้อรังเกียจเสมอไปไม่

...............

นายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่มาตรา 7

"มันขัดกับรัฐธรรมนูญ ยกมาตรา 7 อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติทุกมาตราในรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้ยังไง... ถ้าจะอ้างก็ต้องอ้างอย่างเดียวว่าขอพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ในยามวิกฤติ แล้วขอนายกฯ พระราชทาน ซึ่งต้องปรากฏว่ามันเกิดวิกฤติแล้ว"

อ่านต่อที่ http://www.thaipost.net/index.asp?bk=tabloid&post_date=12/Mar/2549&news_id=121448&cat_id=220100

...........

ต้องยึดหลักกฎหมาย

"ผมให้สัมภาษณ์ไปก็โดนเลย ว่าไปเข้าข้างรัฐบาลหรือเปล่า ต้องระวัง และผมห่วงเหลือเกินพวก Ultra Royalist-ผู้เกินกว่าราชา คือพยายามที่จะหันกลับไปเอาอันเดิม อะไรที่เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ ดีหมด ให้หมด อันนี้ผมไม่ได้แปลเอง เข้าใจว่าท่านปรีดีแปล Ultra Royalist ผู้เกินกว่าราชา"

อ่านต่อที่ http://www.thaipost.net/index.asp?bk=tabloid&post_date=12/Mar/2549&news_id=121449&cat_id=220100

..............

ตอนนี้เท่าที่ผมนับๆดู อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.ที่ออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณะว่า ไม่เอามาตรา ๗ ไม่เอานายกฯพระราชทาน มีอยู่สองคนแล้ว คือวรเจตน์กับผม และเข้าใจว่ายังมีอยู่อีกหลายคนที่คิดเห็นไปในทำนองเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะ ดังนั้น คำกล่าวหาที่ว่า อาจารย์กฎหมายสำนักท่าพระจันทร์ไฉนมาฉีกรัฐธรรมนูญเสียเอง จึงไม่เป็นความจริงเสียทีเดียว

7 ความคิดเห็น:

Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมก็เห็นด้วยกับ อ.วรเจรน์นะ เรื่องการดำรงรักษาให้ กษัตริย์ เป็นสถาบัน ไม่ใช่มีความหมายแค่ตัวบุคคลเพราะหากเรายังยึดติดกับพระบารมี ยึดว่าท่านคือทางออก แล้วเมื่อใดที่เปลี่ยนรัชสมัย หลักในการปกครองบ้านเมืองไทยเราก็จะเปลี่ยนไปอย่างนั้นหรือ?

ลึกๆ ผมก็คนหนึ่งละที่ไม่อยากให้ รัฐธรรมนูญดีๆ มาถูกฉีกโดยปัญญาชน

7:57 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอนำบทความทางฝั่งสามย่านที่เผยแพร่เมื่อ 12 มกราคม 2549 ในมติชนรายวัน มาให้อ่านกันครับ


..............

ข้อควรคำนึงในการเรียกร้อง “รัฐบาลพระราชทาน”

ชัชพล ไชยพร
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิถีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยเรานั้น มีที่มา วิวัฒนาการ และคุณลักษณะพิเศษต่างไปจากบ้านเมืองอื่นอยู่หลายประการ ด้วยเหตุนี้ หลายต่อหลายครั้ง เมื่อเกิดความขัดแย้งยุ่งยากใดๆ ในเมืองไทย อันก่อให้เกิดอารมณ์ที่ขุ่นหมองขึ้นในหัวจิตหัวใจ คนจำนวนไม่น้อยจึงหวังอ้างเอาพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง จนในบางโอกาส อาจลืมนึกถึงหลักการตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบที่เราเลือกใช้ และนิยมนับถือกันว่าดีที่สุดนั้น มีวิถีทางเฉพาะอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อหลักการที่เรายอมรับกันโดยทั่วไปว่าพระมหากษัตริย์ทรงวางพระองค์เป็นกลาง และทรงสถิตเป็นหลักชัยอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง

จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ในระยะนี้ ได้เกิดกระแสเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานและนายกรัฐมนตรีพระราชทานขึ้นอย่างหนาหู เมื่อฟังเผินๆ ก็ดูคล้ายจะเป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจจงรักภักดี เช่น การกล่าวอ้างว่าสมควรจะถวายพระราชอำนาจคืนไปยังพระมหากษัตริย์ เพื่อจักได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยชี้ชัดเลือกสรรบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐบาล สุดแต่พระราชอัธยาศัยทุกประการ

ท่ามกลางกระแสดังกล่าว ก็เกิดประเด็นสงสัยขึ้นในใจใครหลายคนว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ เป็นจลาจลวุ่นวายถึงขั้นเรียกได้ว่าหมดหนทางเยียวยา กระทั่งกฎหมายสิ้นสภาพบังคับ ถึงขนาดว่าต้องรบกวนพระยุคลบาลให้พระองค์ต้องทรงตัดสินพระราชหฤทัย มีพระบรมราชวินิจฉัยชี้ขาดในทางการเมืองแล้วกระนั้นหรือ? นอกจากนี้ ยังเป็นการสมควรแล้วหรือไม่ที่เราจะปลุกกระแสเรียกร้องขอรัฐบาลพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ โดยไม่ขวนขวายหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นใดตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ? รวมทั้งเกิดมีข้อควรคำนึงว่าการพระราชทานรัฐบาลในภาวะวิกฤต เฉกเช่นอดีตสมัยนั้น เป็นพระบรมราชวินิจฉัยที่พระราชทานมาเองในยามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร มิใช่ธุระของผู้หนึ่งผู้ใดในการรบเร้าร้องขอ เช่นนั้นหรือไม่?

การเรียกร้องรัฐบาลเช่นว่านั้น จะส่งผลดีต่อพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐของพวกเราชาวไทยหรือไม่ ...เป็นเรื่องที่น่าคิดคำนึง และยิ่งน่ากังวลใจ เมื่อพิจารณาอุทาหรณ์ในหลายประเทศ (ที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย) เช่น บรูไน ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ตั้งคณะรัฐบาลได้โดยพระราชอัธยาศัยของพระองค์เอง จะพบว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการตรวจสอบ หรือวิจารณ์รัฐบาลก็ดำเนินไปได้อย่างไม่ใคร่สะดวก และแน่นอนว่าเมื่อใดบุคคลที่ได้รับมอบหมายตามพระราชอัธยาศัยให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในคณะรัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาด หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ดี พระเดชานุภาพแห่งพระเจ้าแผ่นดินของประเทศเหล่านี้ก็ถูกกระทบกระเทือนโดยตรงเมื่อนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงวางบรรทัดฐานการวางพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทยเรานั้น ทรงถึงพร้อมด้วยพระปรีชาสามารถ แม้จะทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามกฎหมายและตามราชประเพณีหลายประการ แต่ก็ทรงบริหารพระราชอำนาจนั้นอย่างมีขอบเขต หากไม่จำเป็นอย่างยิ่งยวดแล้ว ก็หาได้ทรงนิยมใช้พระเดชเชิงบัญชาสั่งการทางการเมือง ตามลักษณะ “โองการ” ของเทวราชผู้ทรงอำนาจ หากแต่ทรงใช้พระคุณ โดยเฉพาะพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณในลักษณะของธรรมิกราชผู้ทรงธรรม ในการพระราชทานคำแนะนำและคำตักเตือนแก่ฝ่ายบริหารเป็นการภายใน เพื่อฝ่ายบริหารจะได้รับใส่เกล้าฯ มาพิจารณาเป็นแนวทางและใช้สติสำนึกในการปฏิบัติ นับเป็นจุดเชื่อมประสานวิถีประชาธิปไตยกับการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างสมานสนิทลงตัว และเป็นหนทางที่ทำให้ทรงดำรงความเป็นกลางในทางการเมืองไว้ได้เสมอมิมีด่างพร้อย

ในรัชกาลปัจจุบัน แนวพระราชดำริต่อหลักการที่ว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์ทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมือง ปรากฏในพระราชดำรัสที่พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวในรายการพิเศษเรื่อง “The Soul of the Nation” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ บี.บี.ซี ไว้ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๒ ความว่า

“เราพยายามวางตัวให้เป็นกลาง และร่วมมือโดยสันติวิธีกับทุกฝ่าย เพราะเชื่อว่าความเป็นกลางนี้จำเป็นสำหรับเรา...”

ส่วนแนวพระราชดำริในหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง นั้น ปรากฏแจ้งชัดในคราวที่มีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งได้ระบุให้ประธานองคมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน บันทึกพระราชกระแสเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๗ มีเนื้อความในข้อ ๒. แสดงให้เห็นชัดเจนว่าทรงยึดถือตามหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทั้งยังไม่ทรงต้องพระราชประสงค์ที่จะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ทรงเลือก หรือทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย ไปเกี่ยวข้องพัวพันเสมือนหนึ่งองค์กรทางการเมือง

ขออัญเชิญความตอนหนึ่ง จากบันทึกพระราชกระแสดังกล่าวที่เคยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๑๗ มาเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางใส่เกล้าฯ ดังต่อไปนี้

“ตามมาตรา ๑๐๗ วรรค ๒ แห่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ บัญญัติให้ประธานคณะองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้น ไม่ทรงเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะประธานองคมนตรีเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยตามความในมาตรา ๑๖ เป็นการขัดกับหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง (ในระบอบประชาธิปไตย) ทั้งจะทำให้ประธานองคมนตรีอยู่ในสภาพเหมือนเป็นองค์กรทางการเมือง ซึ่งขัดกับมาตรา ๑๗ ด้วย”

เพียงแนวคิดที่จะให้ประธานองคมนตรีซึ่งเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งบุคคลทางการเมือง เช่น สมาชิกวุฒิสภา นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงเห็นด้วยอย่างยิ่ง ดังนี้ ผู้ที่กำลังเรียกร้องให้มีรัฐบาลพระราชทานอาจไม่ทันฉุกคิดก็เป็นได้ว่า “รัฐบาล” ตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย นั้นก็คือองค์กรทางการเมืององค์กรหนึ่ง ซึ่งย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกเพ่งเล็งสงสัย และถูกตรวจสอบซักฟอกได้ หากมีข้อผิดพลาดในการตัดสินใจก็ดี หรือในปฏิบัติการใดๆ ก็ดี ความรับผิดชอบทั้งนั้นย่อมตกแก่คณะรัฐบาล

“รัฐบาลพระราชทาน” ย่อมอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องถูกเพ่งเล็งวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยสาธารณชนดุจกัน แล้วเราท่านไม่กังวลกันบ้างหรือว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลพระราชทานหรือบุคคลในรัฐบาลนั้นๆ อาจจะกระทบกระเทือนล่วงละเมิดไปถึงองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นหลักชัยของประเทศ อันจะขัดต่อความในมาตรา ๘ แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

กล่าวโดยสรุปก็คือ การเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานนั้นอาจทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องพัวพันเกี่ยวข้อง และรับผิดชอบโดยตรงในการตัดสินใจทางการเมือง ประหนึ่งเป็นองค์กรการเมืององค์กรหนึ่งไปเสียโดยไม่จำเป็น

การใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ในภาวะวุ่นวายทางการเมืองเช่นที่เคยมีมาในอดีตนั้น ล้วนบังเกิดด้วยพระราชญาณทัศนะอันรอบคอบและแยบคาย เพื่อแก้ไขภาวะจลาจลของบ้านเมืองที่ จำเป็นเฉพาะหน้า เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ หากจะรอให้มีการซาวเสียงกันในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็จะเนิ่นช้าไป เพราะเหตุการณ์ในบ้านเมืองขณะนั้นยังวุ่นวายไม่น่าไว้วางใจนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีประธานสภานิติบัญญัติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

การตัดสินพระราชหฤทัยพระราชทานนายกรัฐมนตรีในภาวะวิกฤตเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยสอดส่องเห็นสถานการณ์ล่อแหลมอันตรายของประเทศ ในเวลาที่สภาพการบังคับใช้กฎหมายตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน เป็นสุญญากาศทางการเมือง แล้วจึงทรงแสดงพระราชบริหารในการนั้นออกมาด้วยดุลพินิจของพระองค์เอง เพื่อผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ มิได้เป็นด้วยกระแสรบเร้า “ตั้งเรื่อง” ขึ้นไปขอพระราชทานรบกวนเบื้องพระบรมบาทยุคล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของพวกเราชาวไทยทั้งหลายนั้น ทรงเป็นรัตตัญญูผู้รู้ราตรีนาน ทรงมีประสบการณ์ได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปในด้านการเมืองการปกครองของไทยในยุคสมัยประชาธิปไตยมามากที่สุด เพราะทรงพบพานกับสถานการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ มาตลอดระยะที่ทรงดำรงอยู่ในมไหสูรยราชสมบัติ นับถึงบัดนี้ได้ ๖๐ ปี เนิ่นนานกว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่เพียงผ่านมา แล้วก็ผ่านไปในระยะเวลาอันสั้น

อาณาราษฎรผู้ได้อาศัยพระบรมโพธิสมภารเป็นที่พึ่งจึงพึงตระหนักในความจริงข้อนี้ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นใจและมั่นใจว่า เมื่อได้ทรงพระราชดำริตริตรองด้วยพระราชอัจฉริยภาพทั้งด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์อันสุขุมคัมภีรภาพแล้วว่าบ้านเมืองเดือดร้อนแสนสาหัสถึงขนาด หากทรงพระราชดำริเห็นสมควรที่จะทรงแสดงพระราชบริหารในการใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อความผาสุกของปวงชน พระพ่อเมืองของพวกเราย่อมไม่ทรงดูดาย และด้วยเดชะพระบารมีธรรม และพระราชอำนาจที่ยังทรงมีบริบูรณ์อยู่ตามนัยแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กับทั้งพระบรมราชกุศโลบายอันล้ำเลิศ แน่นอนว่า สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า พระองค์นั้น "ย่อมทรงตัดสินพระราชหฤทัยได้ด้วยพระองค์เอง" ที่จะเสด็จลงมาทรงบำราบยุคเข็ญ แก้ไขวิกฤตการณ์นานาได้ ตามสถานและกาลสมัยอันเหมาะสม

ดังที่เคยปรากฏมีกรณีตัวอย่างให้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว

9:26 ก่อนเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ยังเป็นที่น่าดีใจ ว่ายังน้อย ผศ.ดร.วรเจตน์ฯ ที่เป็น อาจารย์ ของผมเหมือนกันนี่ ท่านยัง เคารพในกติกาประชาธิปไตย และ แสดงความเห็นได้อย่างกล้าหาญ แม่จะขัดกับ ศ.ดร.สุรพลฯ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ตาม ...

การแสดงออกซึ่งท่าทีของ ศ.ดร.สุรพล ฯ เป็นที่น่ากังขาในความบริสุทธิ์ใจในการทำความเห็นทางวิชาการ ว่าแท้จริงท่านต้องการอะไรกันแน่ จะว่าท่านไม่ทราบและไม่เข้าใจ หลักการในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่น่าจะเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นไปได้ เพราะท่าน จบปริญญาเอก จากฝรั่งเศส ที่มีประวัติการต่อสู้ในเรื่องการเมืองการปกครอง อย่างยาวนาน ทั้งล้มเหลวและประสบความสำเร็จ ในอดีตที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าเพราะ ความโกรธ หรือ ความไม่พอใจในตัวบุคคลเท่านั้นหรือไม่ ที่ทำให้ท่าน จะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เสียดื้อ ๆ โดยไม่สนใจหลักการและความชอบด้วยกฎหมายของสิ่งที่ท่านเสนอมา

ผมจำได้ว่าสมัยเรียนปริญญาโท ที่คณะนิติศาสตร์ มธ. เราเคยยกประเด็นปัญหาเรื่อง กฎมณเทียรบาล และรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ กำหนดองค์รัชทายาทได้เอง โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น ชอบด้วยหลักการในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ด้วยเหตุที่ พระมหากษัตริย์ คือ องค์พระประมุขของประเทศ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ องค์พระประมุข อันสมควรที่จะต้องเป็นที่สักการะอย่างมั่นคงของพสนิกรทุกหมู่เหล่า จะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป

องค์พระประมุข จึงสมควรจะต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้ทรงอำนาจอธิไตยอย่างแท้จริง คือ ประชาชน โดยผู้แทนปวงชนทั้งหมดด้วย กล่าวโดยสรุป รัฐสภา จะต้องยอมรับหรือให้ความเห็นชอบในการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ เฉกเช่น ที่เราเคยถือกันเป็นโบราณราชประเพณี เรื่อง พระมหากษัตริย์ คือ เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ ตั้งแต่ต้นรัชสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้ เหตุใด เราจะยอมรับว่า พระมหากษัตริย์ จะเป็นใครก็ได้ ที่รัฐสภา ไม่ต้องรับรู้รับทราบและเห็นชอบด้วย มาตรานี้ ในรัฐธรรมนูญ จึงขัดกับหลักการประชาธิปไตยเสียเอง สมควรตีความไม่ให้มีผลบังคับบังคับใช้ไปด้วย

จะกล่าวตรงไปตรงมา พระมหากษัตริย์ นั้นเป็นสถาบัน ๆ หนึ่ง ขององคาพยพของประเทศ แต่ต้องเป็นสถาบันที่เป็นกลางทางการเมือง หากอยากให้สถาบันนี่ ยั่งยืน คือ รักกันจริง ว่างั้นเหอะ ก็ต้องไม่ให้อำนาจอย่างเด็ดขาด ปราศจากขอบเขตแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่างั้นเหอะ ไม่งั้น สถาบันก็จะเสื่อมเร็ว

การเมือง มีแต่เรื่องผลประโยชน์ หรือ เป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group) ที่มารวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น มีแนวคิดเดียวกัน จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง (Political party) และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ... ซึ่งก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย

อย่างตอนนี้ ก็เป็นที่น่าสงสัยว่า ความขัดแย้งทางการเมืองนั้น จะเป็นเรื่องแข่งขันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ ที่พยายามจะกำหนดกลุ่มผลประโยชน์ ที่กำลังจะสูบเลือดเนื้อจากคนในแผ่นดินอย่างไม่หยุดหย่อน กับอีกกลุ่มคนหนึ่ง ที่เคยเป็นกลุ่มนายทุนเดิม และพยายามกลับเข้ามาขอสูบเลือดเนื้อของประชาชนในแผ่นดินบ้าง ... โดยมีประชาชนอันบริสุทธิ์ และกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์อย่างแท้จริง เข้าร่วมกระบวนการด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ....หรือไม่ .....

นักวิชาการที่แท้จริง ก็ควรจะต้องให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่สังคม เพราะสังคม กำลังสับสน ว่าอะไรกันแน่ คนก็พูดกันไปเรื่อย หนังสือพิมพ์ ก็ตีพิมพ์บทความเพื่อสร้างกระแสที่ตนเองต้องการเข้าไป ... การตีพิมพ์และเผยแพร่ข่าวสารในลักษณะนี้ มีนักวิชาการ ได้เสนอผลงานเอาไว้ว่า การเสนอข่าวสารโดยสื่อมวลชน จะทำให้ประชาชนเข้าใจและรู้สึกถึงความรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริงได้เกิน ๑๕๐ % เลยทีเดียว หากไม่มีนักวิชาการที่ แสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์และถูกต้องแล้ว ผมเอาไม่ออกว่า อะไรจะเกิดขึ้นครับ

แม้ว่า ผศ.ดร.วรเจตน์ ท่านจะมีอายุน้อยกว่าผม แต่ในฐานะอาจารย์ผม ต้องขอแสดงความนับถืออย่างจริงใจครับ และขอแสดงความนับถือ น้องปิยะบุตรฯ ด้วยเช่นกัน ที่แสดงความเห็นได้อย่างกล้าหาญ

10:52 ก่อนเที่ยง  
Blogger crazycloud กล่าวว่า...

ผมเห็นว่าใช้มาตรา 7 ได้

เพื่อขอ การปฏิรูปการเมืองพระราชทาน

เหตุเพราะ 313 มีรู ครับ

รูแรก ยุบสภา

รูสอง สภาที่กำลังมาใหม่จะกลายเป็นสภาประชานิยม

แล้วก็เกิดรัฐธรรมนูญประชานยิม

ดังนั้น 313 หมดสภาพ รูโหว่เบ่อเริ่มเทิ่ม

จำได้หรือไม่ ฮิตเล่อร์เกิดจาก ตรรกะทางกฎหมายแบบสมบูรณ์

ตรรกะมีไว้รับใช้ ประโยชน์สุข

ไม่ได้มีไว้รับใช้ ตัวตรรกะเอง

หากใครบอกว่า ขอนายกฯไม่ได้

กรุณาเสนอทางให้ชาติรอดประกอบด้วยก็ดี

กษัตริย์ คือรากเหง้า ลักษณะเฉพาะ

มองในแง่กฏหมาย คือ จารีตประเพณีครับ

กฎหมายลายลักษณ์อักษร ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อรับใช้เจตนารมณ์ หากเจตนารมณ์ถูกทำลาย ก็เปรียบ มีดที่เหลือแต่ด้าม

ตัดฟัน ทำลายความยุคเข็ญไม่ได้

และนั่น คือกฎหมาย หรือตรรกะที่หมดสภาพครับ

กรณี ผมฟันธง ว่าใช้มาตรา 7 ได้ แต่เพื่อขอการปฏิรูปการเมืองพระราชทานขอรับ

10:56 ก่อนเที่ยง  
Blogger Etat de droit กล่าวว่า...

ขอรายละเอียดชัดๆได้มั้ยครับพี่โต

ว่าใช้มาตรา ๗ เพื่อขอนายกฯพระราชทานได้ เพราะอะไร ใช้อย่างไร

เหตุการณ์ตอนนี้ถือว่าไม่มีบทบัญญัติใดมาใช้ได้แล้วหรือไม่ อย่างไร

แล้วจะเอาประเพณีฯมาใช้นี่ ใครเป็นคนวินิจฉัยว่าให้ใช้ ใช้อะไร

ผมจะได้อภิปราย แลกเปลี่ยนกันได้ถูกจุด

ส่วนทางออก ผมเสนอไว้แล้ว ทั้งสามพรรคตกลงเลื่อนวันเลือกตั้ง ลงไปเลือกตั้ง แก้รัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนกดดันต่อเพื่อไม่ให้นักการเมืองเบี้ยว

จะว่าไปเครือข่ายพันธมิตรน่าจะร่างตัวแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญของตัวเอง พร้อมประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนะครับ แล้วเสนอประกบไปเลย ไม่ใช่มีแต่ตะโกน ทักษิณ ออกไป

หรือว่าในเครือข่ายพันธมิตรฯเองก็ยังตกลงกันไม่ได้ ตั้งแต่เอาหรือไม่เอานายกฯพระราชทาน เอาไม่เอากับสภาร่างฯแบบอมรฯ

ผมเชื่อว่าแนวสภาร่างแบบอมรนี่นะ สุริยะใส พิภพ สมศักดิ์ คงไม่เอาด้วยแน่ๆ

บางทีที่ชุมนุมๆกันอยู่ อาจมีจุดร่วมกันอยู่ข้อเดียว คือ ทักษิณ ออกไป

4:11 หลังเที่ยง  
Anonymous ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เง้อ
อาจารย์วรเจตน์ทำไมไม่ออกมาวันที่ ๑๐ หละครับ
เพราะวันที่ ๑๑ ป๋าออกข้อสอบเข้าป.โทเรื่องนี้
หุหุ

12:08 หลังเที่ยง  
Blogger Unknown กล่าวว่า...

hermes outlet online
jordans
coach factory outlet
yeezy boost 350
yeezy boost 500
kobe shoes
michael kors outlet online
yeezy boost 350
lebron shoes
lebron 10

9:11 ก่อนเที่ยง  

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก