วันพุธ, สิงหาคม 24, 2548

พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน : บูรณาการอำนาจในสไตล์ทักษิณ (๑)

คลื่นลมที่พัดพามาพร้อมกับ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอ่อนแรงไปได้หลายวันแล้ว แต่วันนี้คลื่นลมนั้นคงจะกลับมาพัดใหม่อีกระลอก เพราะรัฐบาลต้องเอา พ.ร.ก. ฉบับนี้เข้าสภาเพื่อขอความเห็นชอบ

เพื่อไม่ให้เป็นการตกรถไฟเหมือนเมื่อคราวที่แล้วที่ผมมัวแต่หลงแสง สี เสียงของมหานครแห่งความสุข จนปล่อยให้ ratio scripta, ปิ่น ปรเมศวร์, ปริเยศ, บุญชิต, พล ยูเอส และคนอื่นๆถกเถียงกันอย่างเมามันส์ถึงขนาดที่บล็อกบางบล็อกท่วมท้นไปด้วยความเห็นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

งานนี้ผมจึงต้องขอกลับมาเคาะแป้นพิมพ์ร่วมแจมกะเขาบ้าง

เหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ผมตัดสินใจลุกมาเขียนเรื่อง พ.ร.ก. คือ สุนทรพจน์ของนายกฯที่กล่าวในงานวันครบรอบ ๖๐ ปีวันสันติภาพ ณ มธ. ว่าอีก ๖๐ ปีข้างหน้าจะมีคนมาจัดงานยกย่องตนว่าเป็นผู้รักษาสันติภาพบ้างดังเช่นปรีดีและเสรีไทย ฟังแล้วก็น่าคลื่นเหียนอาเจียนและจะยิ่งอยากสำรอกออกมาดังๆ เมื่อย้อนไปมองดู พ.ร.ก. ฉบับนี้

อาจกล่าวได้ว่า กลับมาคราวนี้ทั้งที ผมขอเล่นของหนัก ๔๕ ดีกรีไปเลย

...............

-๑-
ภาพรวมและสาระสำคัญของ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายกรัฐมนตรี และเนติบริกร ๑ และ ๒ ออกแถลงข่าวต่างกรรมต่างวาระกันหลายครั้ง พอสรุปได้ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพราะ

หนึ่ง กฎหมายที่มีอยู่เดิมซึ่งเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาภาคใต้รวม ๗ ฉบับนั้น ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ๗ ฉบับที่ว่าก็ได้แก่ รัฐธรรมนูญ, กฎอัยการศึก, ประมวลกฎหมายอาญา, ประมวลกฎหมาย วิ.อาญา, พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน ๒๔๙๕

สอง รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าเป็นหมวดหมู่ และยกเลิกพ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน ๒๔๙๕

สาม โอนอำนาจรวมศูนย์ที่นายกรัฐมนตรีเพื่อความคล่องตัวและง่ายต่อการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สี่ เหตุการณ์ระเบิดที่ยะลาเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายในรูป พ.ร.ก. แทนที่จะออกในรูป พ.ร.บ.

พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมีสาระสำคัญ ดังนี้

หนึ่ง ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรเรียกว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” มีนิยามอยู่ในมาตรา ๔ สถานการณ์ฉุกเฉินกินเวลาได้ไม่เกิน ๓ เดือน หากไม่พอต่อได้อีกเป็นคราวๆ คราวละไม่เกิน ๓ เดือน

สอง เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว อำนาจต่างๆโอนมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี และยังมีอำนาจเพิ่มอีกตามมาตรา ๙ โดยมีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินมีหน้าที่ให้คำแนะนำ

สาม ในกรณีที่ร้ายแรง นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรงได้ ผลก็คือ นอกจากอำนาจอื่นๆรวมศูนย์ที่ตัวนายกฯ และมีอำนาจเพิ่มตามมาตรา ๙ แล้ว มาตรา ๑๑ ยังเพิ่มอำนาจพิเศษให้อีก

สี่ มาตรการ กฎ ระเบียบ คำสั่งที่เกิดจาก พ.ร.ก. นี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายศาลปกครอง

ห้า พ.ร.ก. ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย หากเจ้าหน้าที่ทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ

ว่าสั้นๆ พ.ร.ก. นี้ไม่มีอะไรมากไปกว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อประกาศแล้วอำนาจไปรวมอยู่ที่นายกฯและมีอำนาจเพิ่มตามมาตรา ๙ ในกรณีฉุกเฉินร้ายแรงก็มีอำนาจเพิ่มอีกตามมาตรา ๑๑

หมายเหตุ อย่าพึ่งทำหน้างงกับการอ้างเลขมาตราใน พ.ร.ก.นี้ เรื่องของเรื่อง ผมเกรงว่าบล็อกของผมจะยาวจนเกินไป ผมจึงอ้างแต่เลขมาตรา ส่วนเนื้อความ หากท่านอยากรู้ กรุณาคลิก http://www.lawreform.go.th/

.................

-๒-
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในระบบกฎหมายฝรั่งเศส

ทำไมต้องยกกฎหมายฝรั่งเศสขึ้นมาว่ากันอีกแล้ว แน่ละ... เราไม่ใช่เมืองขึ้นฝรั่งเศส และผมก็ไม่ใช้พวกขี้ข้าฝรั่งเศสที่เห็นเขามีอะไรแล้วเราต้องเอาตามหมด แบบประเภททำงานวิจัยที่ว่า ของไทยไม่มี แต่ฝรั่งเศสมี ไทยมันห่วย ดังนั้นเอาตามฝรั่งเศสดีกว่า

คนไทยยังชอบกินวิสกี้ ผสมโซดา น้ำแข็งฉันใด คนฝรั่งเศสก็ยังชอบจิบไวน์ฉันนั้น

เหตุผลที่ผมจำต้องนั่งค้นคว้ากฎหมายฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายวัน เพราะคุณทักษิณออกทีวีกับคุณอานันท์ แล้วพูดว่า กฎหมายลักษณะนี้ประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยก็มีกันทั้งนั้น แถมยังออกวิทยุเช้าวันเสาร์อ้างเอาสัญญาประชาคมของรุสโซมาสร้างความชอบธรรมให้กับ พ.ร.ก. นี้อีก

ผมเลยอดรนทนไม่ได้ คันไม้คันมือ ไปค้นกฎหมายฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถามว่า ทำไมต้องฝรั่งเศส ง่ายนิดเดียวครับ ผมเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส มันก็ง่ายต่อการเข้าถึงและเข้าใจข้อมูล แค่นั้นเอง

จากการค้นคว้า ผมพบว่าฝรั่งเศสมีเครื่องมือทางกฎหมายอยู่ ๔ ชิ้น

หนึ่ง การใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีในสถานการณ์วิกฤตของชาติ

รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖ กำหนดให้อำนาจนี้แก่ประธานาธิบดีได้โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

๑.) เกิดสถานการณ์ที่สถาบันแห่งสาธารณรัฐ เอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งอาณาเขตของสาธารณรัฐ หรือการบังคับการตามพันธกรณีระหว่างประเทศถูกคุกคามอย่างร้ายแรงและทันทีทันใด
๒.) จนทำให้การดำเนินการตามปกติขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องหยุดชะงักลง
๓.) ประธานาธิบดีต้องปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก่อน การประกาศใช้อำนาจ
๔.) ประธานาธิบดีจะต้องแถลงการณ์การใช้มาตรการดังกล่าวให้ประชาชนทราบ
๕.) มาตรการดังกล่าวจะต้องดำเนินไปในระยะเวลาจำกัดที่สุดและเป็นไปเฉพาะเท่าที่มีความจำเป็นเพื่อให้การดำเนินการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นไปตามปกติ

เมื่อประธานาธิบดีตัดสินใจประกาศใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ ดังกล่าวแล้ว ผลก็คือ อำนาจทุกประการรวมศูนย์อยู่ที่ตัวประธานาธิบดี ประธานาธิบดีมีอำนาจกระทำการใดๆก็ได้เพื่อแก้วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น อีกนัยหนึ่ง คือ เป็น “เผด็จการชั่วคราว” นั่นเอง

การใช้อำนาจนี้มีการควบคุมตรวจสอบหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักไว้ในคำพิพากษาในคดี Rubin de servens เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๑๙๖๒ รวมสองประเด็น ดังนี้

๑.) การตัดสินใจประกาศใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ ของประธานาธิบดี เป็นการกระทำทางรัฐบาล ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรตุลาการ
๒.) มาตรการต่างๆที่ใช้ในช่วงเวลาที่ประกาศการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรตุลาการ ทั้งนี้แล้วแต่กรณี เช่น มาตรการที่มีสถานะเทียบเท่ากับคำสั่งทางปกครองหรือกฎก็อยู่ภายใต้การควบคุมของศาลปกครอง ในคดีนี้ มาตรการที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองเพิกถอน คือ คำสั่งของประธานาธิบดีที่ให้จัดตั้งศาลทหารพิเศษในแอลจีเรีย ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา ๓๔ กำหนดว่าการจัดตั้งศาลต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ ดังนั้น คำสั่งที่ให้จัดตั้งศาลในกรณีนี้จึงมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ซึ่งศาลปกครองไม่มีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติ

กล่าวให้ถึงที่สุด ศาลปกครองบอกว่าการประกาศใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดี ศาลปกครองเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ แต่มาตรการต่างๆที่ใช้ในระหว่างสถานการณ์พิเศษ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจตรวจสอบ หากมาตรการนั้นมีสถานะเป็นกฎหรือคำสั่งทางปกครอง

สอง การประกาศกฎอัยการศึก

เดิมฝรั่งเศสมีกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก อยู่ ๒ ฉบับ คือ รัฐบัญญัติลงวันที่ ๙ ส.ค. ๑๘๔๙ และรัฐบัญญัติลงวันที่ ๓ เม.ย. ๑๘๗๘ ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ๑๙๕๘ ได้รับรองไว้อีกครั้งในมาตรา ๓๖ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางรัฐธรรมนูญ

การประกาศกฎอัยการศึกทำได้เมื่อมีภยันตรายอันใกล้จะถึงอันเนื่องมาจากสงครามหรือการกบฏโดยใช้กำลังอาวุธ ทั้งนี้การประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวต้องทำในรูปพระราชกฤษฎีกาในคณะรัฐมนตรี หากระยะเวลาที่ใช้กฎอัยการศึกเกิน ๑๒ วัน ต้องนำกฎอัยการศึกนั้นกลับมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว อำนาจต่างๆโอนมาอยู่ที่ทหาร ข้อพิพาททางอาญาอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร และเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการใช้มาตรการที่อาจกระทบสิทธิและเสรีภาพได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ามาตรการต่างๆที่ใช้ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึกจะหลุดพ้นจากการควบคุมโดยศาลปกครอง ศาลปกครองยังยืนยันเสมอมาว่าตนมีอำนาจในการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของมาตรการเหล่านั้น เพียงแต่ว่าศาลปกครองจะลดระดับความเข้มข้นในการควบคุมลงมา และจะเพิกถอนเฉพาะมาตรการที่เกินสมควรแก่เหตุอย่างร้ายแรงเท่านั้น

สาม การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

รัฐบัญญัติลงวันที่ ๓ เม.ย. ๑๙๕๕ กำหนดว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีภยันตรายอย่างใกล้ชิดซึ่งกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือกรณีภัยพิบัติจากเหตุการณ์ทางธรรมชาติ โดยต้องประกาศในรูปพระราชกฤษฎีกาในคณะรัฐมนตรี หากระยะเวลาของสถานการณ์ฉุกเฉินเกิน ๑๒ วัน ต้องนำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นกลับมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว อำนาจต่างๆโอนมาอยู่ที่ข้าราชการฝ่ายพลเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจในการออกมาตรการที่อาจไปกระทบสิทธิและเสรีภาพได้มากขึ้น และอาจยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายได้

เช่นเดียวกัน มาตรการต่างๆในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ภายใต้การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของศาลปกครอง โดยศาลปกครองเฉพาะมาตรการที่เกินสมควรแก่เหตุอย่างร้ายแรงเท่านั้น

สี่ ทฤษฎีว่าด้วยสถานการณ์ยกเว้นเป็นอย่างยิ่ง

ทฤษฎีนี้พัฒนามาโดยแนวคำพิพากษาของศาลปกครองตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ศาลปกครองบอกว่ากรณีใดจะถือเป็นสถานการณ์ยกเว้นเป็นอย่างยิ่งก็ต่อเมื่อ

๑.) เป็นสถานการณ์ที่ยกเว้นเป็นอย่างยิ่งจริงๆ เช่น ภาวะสงคราม ภัยธรรมชาติ โรคระบาด การนัดหยุดงานในอาณาบริเวณกว้างและเป็นเวลานานจนทำให้การบริการสาธารณะสะดุดลง เป็นต้น
๒.) สถานการณ์เช่นว่านั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้ฝ่ายปกครองไม่อาจปฏิบัติตามหลักความชอบด้วยกฎหมายได้ดังเช่นสถานการณ์ปกติ
๓.) ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้มาตรการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในสถานการณ์ยกเว้นดังกล่าวนั้น ต้องคุ้มค่าเพียงพอ เช่น ทำไปเพื่อความมั่นคงของชาติหรือเพื่อความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ

ผลของสถานการณ์ยกเว้นเป็นอย่างยิ่ง คือ หลักความชอบด้วยกฎหมายไม่นำมาใช้ในบางกรณี เช่น เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งไปโดยไม่เรียกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงก่อนตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ในสถานการณ์ปกติ คำสั่งนี้ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในสถานการณ์ยกเว้นเป็นอย่างยิ่ง ศาลปกครองอาจบอกว่าเป็นกรณีสถานการณ์ยกเว้นเป็นอย่างยิ่ง การออกคำสั่งดังกล่าวย่อมไม่อาจปฏิบัติตามกฎหมายได้ดังสถานการณ์ปกติ จึงไม่เพิกถอนคำสั่งนั้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อาจออกมาตรการบางประการที่เป็นการกระทบสิทธิและเสรีภาพได้มากกว่าปกติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆย่อมใช้เพื่อความจำเป็น และใช้ได้เฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์ยกเว้นเป็นอย่างยิ่งยังคงดำรงอยู่ หากสถานการณ์คลี่คลายหรือหายเป็นปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องกลับไปยึดหลักความชอบด้วยกฎหมายดังเดิม

ศาลปกครองเข้ามามีบทบาทควบคุมในส่วนที่ว่ามีสถานการณ์ยกเว้นเป็นอย่างยิ่งจริงหรือไม่ หากมีอยู่จริงการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เป็นข้อพิพาทในคดีนั้นก็อาจไม่ตกอยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย

จะเห็นได้ว่า ระบบกฎหมายฝรั่งเศสสร้างเครื่องมือทางกฎหมายให้หลากหลายไปตามแต่ละสถานการณ์ ในแต่ละเครื่องมือนั้นก็มีความเข้มข้นต่างกันไป กล่าวคือ

กรณีการใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีตามมาตรา ๑๖ ต้องเป็นกรณีวิกฤตร้ายแรงระดับชาติ อำนาจโอนมาที่ประธานาธิบดีคนเดียว ศาลปกครองควบคุมได้เฉพาะมาตรการต่างๆที่ทำไประหว่างนั้น แต่ไม่มีอำนาจควบคุมการตัดสินใจประกาศใช้มาตรา ๑๖

กรณีการประกาศกฎอัยการศึก ต้องเป็นเรื่องสงคราม ทหารมีอำนาจ ศาลปกครองคุมได้แต่ตัวมาตรการต่างๆที่ใช้ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก

กรณีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องทั่วๆไป พลเรือนมีอำนาจ ศาลปกครองคุมได้แต่ตัวมาตรการต่างๆที่ใช้ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

และเข้มข้นน้อยที่สุด คือ ทฤษฎีว่าด้วยสถานการณ์ยกเว้นเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่ต้องมีการประกาศใช้ล่วงหน้า เพียงแต่ศาลจะหยิบยกทฤษฎีนี้มาประกอบการพิจารณาก็ต่อเมื่อมีคดีมาสู่ศาล และเจ้าหน้าที่ยกทฤษฎีนี้ขึ้นอ้างเพื่องดเว้นการใช้หลักความชอบด้วยกฎหมายในบางกรณี อีกนัยหนึ่ง คือ ทฤษฎีนี้พัฒนามาเพื่อเป็นข้อยกเว้นของหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง

กล่าวโดยสรุป ระบบกฎหมายฝรั่งเศสยอมรับว่าในบางสถานการณ์เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องมีเครื่องมือเพิ่มเป็นกรณีพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหา และเครื่องมือเช่นว่านั้นย่อมกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้มากขึ้นกว่ากรณีปกติ อีกนัยหนึ่ง คือ ในสถานการณ์พิเศษนั้น ดุลยภาพระหว่างการใช้อำนาจกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพย่อมแตกต่างจากสถานการณ์ปกติ โดยระดับความเข้มข้นของ “หลักความชอบด้วยกฎหมาย” และ “การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ” ย่อมลดลงจากเดิม

เรียกได้ว่า ไอ้แบบเดิมที่ต้องขาวหมดจด กฎหมายก็ยอมหรี่ตาลงให้เหลือพอเป็นสีเทาๆได้บ้าง แต่ให้ถึงขั้นเป็นสีดำเลย คงไม่ได้

เอาเข้าจริง การใช้อำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ไม่ปกติก็เป็นไปเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การยกเว้นหรือลดระดับความเข้มข้นของ “หลักความชอบด้วยกฎหมาย” ดังกล่าว ก็ไม่ได้หมายความว่า มาตรการต่างๆที่เจ้าหน้าที่กระทำลงไปจะหลุดพ้นจากการควบคุมโดยองค์กรตุลาการ ระบบกฎหมายฝรั่งเศสยอมรับแต่เพียงการลดหรือละเว้นกระบวนการควบคุม ก่อน การใช้อำนาจ แต่ไม่ยอมรับเป็นอันขาดหากจะละเว้นการควบคุม หลัง การใช้อำนาจ

หลักนิติรัฐเรียกร้องว่า เจ้าหน้าที่กระทำการบางอย่างบางประการต้องมีกฎหมายให้อำนาจและเมื่อทำไปแล้วต้องชอบด้วยกฎหมาย ข้อความที่ว่ามานี้จะกลายเป็นหมัน หากไม่มีองค์กรตุลาการควบคุมว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหรือไม่ ดังนั้น หลักนิติรัฐจึงเรียกร้องต่อไปอีกว่า ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าหน้าที่นั้นต้องถูกควบคุมโดยองค์กรตุลาการ หากรัฐใดปราศจากการควบคุมโดยองค์กรตุลาการแล้วไซร้ อย่าหมายเรียกรัฐนั้นว่าเป็นนิติรัฐ

เมื่อเปรียบเทียบระบบกฎหมายฝรั่งเศสแล้ว แฟนานุแฟนพึงไตร่ตรองดูเถิดว่าที่นายกฯบอกว่ากฎหมายทำนองนี้มีในทุกประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย จริงหรือ?

ผมตอบได้ว่า...

จริง

แต่ ... จริงเพียงครึ่งเดียว

...............

ตอนหน้า ผมจะมาพิจารณาถึงเนื้อหาบางประเด็นใน พ.ร.ก. ที่ล่อแหลมและหมิ่นเหม่ต่อหลักนิติรัฐและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

วันเสาร์, สิงหาคม 13, 2548

คำสารภาพบาปจากมนุษย์ขี้เหม็นคนหนึ่ง

เชื่อผมมั้ยครับท่านผู้อ่านที่รัก...

ผมได้พยายามลองขีดเขียนบล็อกตอนใหม่มาหลายคราแล้ว แต่มันไม่เสร็จสักครั้งเลย เรื่องที่จะเขียนก็มีอยู่ในหัว แต่ไฉนมันไม่พรั่งพรูออกมาเป็นตัวอักษรก็ไม่รู้

กลับมาครั้งนี้ ผมยอมรับนับถือเจ้า Ratio Scripta สหายของผมยิ่งนัก

มันมีงานประจำทำทุกวัน

มันอยู่มหานครที่มีสภาพบรรยากาศไม่เอื้อต่อการทำงานวิชาการเป็นอย่างยิ่ง

แต่... มันกลับบรรจงประดิษฐ์บล็อกตอนใหม่ๆทยอยออกมาได้เรื่อยๆ

จริงอยู่ อาจมีบางคนกล่าวว่าเป็นเพียงข้ออ้าง ข้อแก่ตัว ผมน้อมรับโดยดุษณี ได้แต่หวังว่า ก่อนผมจะกลับไปฝรั่งเศส ผมคงผลิตบล็อกตอนใหม่ๆได้สักตอน

และแน่นอนที่สุด... เมื่อผมกลับไปแล้ว ผมจะผลิตบล็อกออกมาเป็นชุดๆ ราวกับเข้าเบรกสนุ้กเกอร์

รอติดตามครับ