วันพุธ, มิถุนายน 29, 2548

มาช้ายังดีกว่าไม่มา

สวัสดีครับมิตรรักบล็อกเกอร์ทุกท่าน

ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ผมทำตัวเป็นนินจาล่องหนไปเป็นอาทิตย์ ไม่มีเหตุอะไรหรอกครับ พึ่งกลับมาถึงก็ต้องจัดอะไรต่างๆนานาให้มันเข้าที่เข้าทางเสียก่อน

ตอนนี้เริ่มลงตัวเลยกลับมาอัพบล็อกสักหน่อย

ผมกลับมาถึงกรุงเทพฯเช้ามืดวันอังคารที่ ๒๑ มิ.ย. คืนนั้นก็นอนพักผ่อนที่บ้าน วันรุ่งขึ้นก็สวมวิญญาณ เจมส์ วัฒนา ออกไปสอยคิวกับคุณ ratio scripta ผมไม่ได้เล่นสนุ้กเกอร์โต๊ะใหญ่ๆแบบอังกฤษนานมากแล้วครับ ที่ฝรั่งเศสมีแต่โต๊ะพูลเล็กๆ เล่นไม่มันเลย

ผลการแข่งขันใครแพ้ใครชนะ ฝีไม้ลายมือผมเป็นอย่างไรให้ ratio scripta มาตอบดีกว่า เดี๋ยวจะหาว่าผมโม้เอาเอง

สอยคิวกันจนสามทุ่ม ผมก็ขยับไปหาแอลกอฮอล์กระแทกคอพร้อมฟังเพลงสบายๆที่ร้านมอลลี่ ตรอกข้าวสารต่อ

กราบเรียนคุณปิ่น ในฐานะแฟนบอดี้สแลมตัวยงมา ณ ที่นี้ ห้วงยามนี้ไปไหนมาไหนเจอแต่บอดี้สแลมครับ เรียกได้ว่าฟังจนหลอน เข้าร้านนั้นออกร้านนี้เป็นต้องเจอ

เสร็จจากมอลลี่ ผมก็ขยับไปคาราโอเกะแถวบ้านเพื่อนผมต่อ

อย่าแม้แต่จะคิดนะครับ ว่าผมไปทำมิดีมิร้ายอะไรมา ผมไปหาที่กินเหล้าต่อต่างหาก กว่าจะถึงบ้านเล่นเอาฟ้าสาง

วันพฤหัสผมก็แว้บไปนั่งกินเบียร์ชิล ชิล ที่ร้านกินลมชมสะพาน ความรักผมไม่ดี ดวงผมก็ไม่ดีตามอีกด้วย กะจะไปนั่งเชยชมบรรยากาศริมน้ำแต่ฝนเจ้ากรรมดันถล่มแบบไม่ลืมหูลืมตา

มาวันศุกร์ ผมก็เดินทางไปปราณบุรีกับพลพรรคนักดื่ม ๓ ราย รวมผมอีกเป็น ๔ ราย เราเดินทางไปรับน้องกันครับ แต่รุ่นน้องคงไม่ได้คิดว่าผมไปรับน้องกระมัง มันน่าจะคิดว่าพวกเราเปลี่ยนที่กินเหล้ามากกว่า

ผมขนไวน์กล่องปริมาตร ๓ ลิตรไป แต่ก็ไม่พอเพียง เราจำเป็นต้องสั่งเหล้ามาเพิ่มอีกหลายกลมอยู่ สนุกดีครับงานนี้ ผมได้แต่ไปนั่งดื่มริมทะเล ไม่ได้ข้องแวะสาวรายไหนเลย ถ้าใครไม่เชื่อให้ไปสอบถามป้าเจ้าของรีสอร์ทได้

กลับมาเย็นวันอาทิตย์ นอนพักฟื้น เช้าวันจันทร์ตั้งใจแล้วว่าจะไม่ออกจากบ้านเพราะกะจะฟังมหกรรมถล่มสุริยะ จึง (ไม่) รุ่งเรืองกิจ

เมื่อวาน วันอังคาร เพื่อนผมมันชวนไปดูบอดี้ สแลม มันมีอิทธิพลสามารถพาผมเข้าฟรีได้ แต่อย่างที่บอก ผมไม่เชื่อหรอกว่าคนเราอันลัคกี้ อิน เลิฟ แล้วจะ ลัคกี้ อิน เกมแทน ความรักผมแย่ แต่ดวงผมก็แย่ตามอีก ผมกำลังจะออกเดินทางไปหอประชุมเอยูเอ สถานที่จัดคอนเสิร์ต แต่พระพิรุณไม่เป็นใจดันถล่มลงมาเสียได้ (เอาเข้าจริงทำไมโชคชะตาชอบดลบันดาลให้ผมประสบปัญหากับ “ฝน” อยู่เสมอๆ)

ผมเลยเปลี่ยนแผนกระทันหัน โทรศัพท์ลาก ratio scripta ออกมาจากงานแต่งงาน (ของเพื่อนมันนะ ไม่ใช่ของมันเอง) และชวนรุ่นน้องอีกคนนึง ไปนั่งดื่มกันประสาชายสอง หญิงหนึ่งที่ร้านประจำ มอลลี่

มาถึงวันนี้ ผมได้ห้องพักที่คณะผมเรียบร้อยแล้ว มีคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เนทครบถ้วน ผมจัดการขนข้าวของมาทิ้งไว้ที่คณะหมด กะเอาที่นี่เป็นที่ซุกหัวนั่งทำงาน นี่ถ้าเค้าให้นอนได้ ผมกะจะนอนที่คณะเลยนะเนี่ย

อาจกล่าวได้ว่า ที่ผมหายไปหลายวันนี้ ผมไปขลุกอยู่กับคนรักผมมา เธอชื่อ “แอล (กอฮอล)” แต่ตั้งใจว่าจะกลับมาขีดๆเขียนๆต่อตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ไม่รู้ว่ามิตรรักบล็อกเกอร์ท่านอื่นๆที่กลับมาเยี่ยมเมืองไทยช่วงปิดเทอมเป็นแบบผมบ้างหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าหัวสมองไม่แล่น ขี้เกียจ ไม่ค่อยมีแรงอัพบล็อก หรือขีดๆเขียนๆเท่าไร แต่พอกลับไปภูมิลำเนาที่ต่างแดนแล้ว กลับชอบที่จะนั่งอ่าน นั่งเขียน สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากบรรยากาศที่ต่างแดนนั้นเอื้อต่อการศึกษา การอ่าน การเขียนมากว่า เพราะเราอยู่กับตัวเอง ไม่ค่อยเจอหน้าผู้คนเท่าไรนัก แต่ที่มหานครแห่งความสุขนี้ กิเลสเย้ายวนมันเยอะเสียเหลือเกิน

แต่มิต้องห่วง...

ผมติดหนี้ใครไว้จะทยอยใช้ให้ ทั้งในเรื่องขีดๆเขียนๆ และในเรื่องนัดไปนั่งดื่มกัน

...............

๐๔ ๑๑๙ ๖๐๓๔

นี่เป็นเบอร์โทรศัพท์ของผม

แจกกันให้เห็นจะจะกันตรงนี้

โปรดอย่าคิดว่าผมเที่ยวแจกบงแจกเบอร์ให้ใครไปเรื่อย ไม่กลัวเจ้าหนี้ตามทวงหนี้หรือ ไม่เลยครับ เพียงแต่ผมคิดว่ามันเป็นวิธีการติดต่อที่ง่ายที่สุด ผมขี้เกียจไปนั่งตามหาเมล์และส่ง เอามันวิธีคลาสสิกๆแบบนี้แหละครับ ง่ายดี

มิตรรักบล็อกเกอร์ท่านใด มีเวลาว่างและสนใจจะมาเจอกัน รบกวนติดต่อผมได้ทันที

ณ เพลานี้ ผมพร้อมจะไปสังสรรค์กับพวกท่านแล้ว

วันจันทร์, มิถุนายน 20, 2548

มหานครแห่งความสุข อีกไม่กี่ชั่วโมงเจอกัน

๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ เวลาฝรั่งเศส

๓.๐๐ – เขียนบล็อกตอนสุดท้ายก่อนกลับเมืองไทย
๓.๓๐ – อาบน้ำ เสริมหล่อ
๔.๒๐ – ตรวจความเรียบร้อย ความพร้อม เช็คของอีกรอบกันเหนียว
๕.๐๐ – เอาขยะไปทิ้ง
๕.๒๐ – ขนของลงไปรอแท็กซี่ที่นัดให้มารับ
๕.๓๐ – ขึ้นแท็กซี่ไปสถานีรถไฟ
๕.๕๐ – ซื้อหนังสือพิมพ์
๖.๑๐ – ขึ้นรถไฟไปสนามบินที่ปารีส
๙.๓๐ – ถึงสนามบิน เปลี่ยนรถขนส่งภายในสนามบินเพื่อไปชานชาลาที่หนึ่ง
๑๐.๓๐ – เช็คอิน
๑๑.๐๐ – เดินหาซื้อคอนหยักดีๆสักขวด
๑๑.๓๐ – เข้าไปรอเครื่อง
๑๓.๓๐ – ขึ้นเครื่อง

..................

กลับบ้านแล้วครับ

ขอความกรุณามิตรรักบล็อกเกอร์ที่มีไมตรีจิต ช่วยทิ้งเบอร์โทร เบอร์เมล์ หรืออะไรก็ได้ที่ไว้ติดต่อกันได้ไว้ด้วยนะครับ

หวังว่าจะได้ไปสนุกกันที่เมืองไทย

ใครไม่ได้กลับหรือยังลังเลใจว่าจะกลับดีไม่ดี

เชื่อผมเถอะ กลับดีกว่า

แล้วพบกับบล็อกของนาย Etat de droit เวอร์ชั่น “นิติรัฐ” เป็นเวลาสองเดือนครึ่งครับผม

วันอาทิตย์, มิถุนายน 19, 2548

กลับบ้านเรา… ไม่รู้อะไรรออยู่

ผมกำลังนั่งเก็บกระเป๋าเตรียมตัวกลับเมืองไทยวันจันทร์นี้แล้ว กลับคราวนี้นาน ๒ เดือนครึ่ง ผมไม่เคยลากลับเมืองไทยนานแบบนี้มาก่อน ที่ผ่านมาก็กลับไปครั้งละ ๒๐ วัน

นั่งจัดกระเป๋าไปเรื่อยๆ อยู่ดีๆก็เริ่มเกิดอาการเซ็งขึ้นมา ชักจะไม่อยากกลับเท่าไร ทั้งๆที่ตอนยังไม่ได้ตั๋วเครื่องบินนั้น ผมกระเหี้ยนกระหือรืออยากกลับบ้านใจจะขาด

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสาเหตุมาจากอะไร อาจเป็นเพราะผมเกรงว่าไม่รู้จะไปทำอะไรนั่นเอง กิจวัตรประจำวันที่ผมเคยทำตอนอยู่ที่นี่คงไม่อาจทำได้เมื่ออยู่เมืองไทย แล้วเพื่อนฝูงที่เราตั้งใจว่าจะไปเจอ ไปดื่ม ไปเที่ยวด้วยกันนั้น ผมมานั่งคิดๆดูแล้ว วัยขนาดพวกผมก็คงมีงานมีการทำกันหมด ไอ้ประเภทจะมาสนุกกะเราทุกวัน คงหาไม่ได้แล้วกระมัง

บรรยากาศสนุกสนานคงหมดไปนับแต่จบการศึกษาปริญญาตรี

ผมพยายามไม่คาดหวังว่าจะมีใครที่สามารถไปเที่ยว ไปไหนมาไหนกับผมได้ตลอดระหว่างอยู่ที่เมืองไทย

เอาเข้าจริง ผมอาจต้องไปไหนมาไหนตามลำพังเหมือนกับอยู่ที่นี่ นอกเหนือกลับไปเจอครอบครัว และได้กินอาหารไทยอร่อยๆแล้ว บางทีการกลับไปเยี่ยมเมืองไทยครั้งนี้ คงไม่ต่างกับผมอยู่ที่ฝรั่งเศสเป็นแน่

ไปห้องสมุดที่นิติ มธ. คนเดียว

ไปกินข้าวคนเดียว

ไปดูหนังคนเดียว

เดินร้านหนังสือคนเดียว

ไปกินเหล้าคนเดียว

ไปเที่ยวทะเลคนเดียว (อันนี้คงต้องทำใจหนักๆหน่อย เพราะผมไม่เคยไปคนเดียวเลย)

คิดอีกแง่นึงก็ดีเหมือนกัน ผมจะได้ไม่เถลไถลและกลับไปค้นข้อมูลได้เต็มที่ แต่คิดอีกทีก็ใจหาย ความเหงานี่ไม่เข้าใครออกใครเลยจริงๆ

มิตรรักบล็อเกอร์ท่านอื่นๆเป็นเหมือนผมมั้ยครับ

วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 16, 2548

ศิริมิตร บุญมูล : กายพิการแต่ใจไม่พิการ

คุณศิริมิตร บุญมูล ทนายความกายพิการแต่ใจไม่พิการ ปรารถนาสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการแต่ติดที่ว่าทั้งคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต.) และคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ต่างปฏิเสธไม่ให้โอกาสคุณศิริมิตรเข้าสอบ คุญศิริมิตรต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายในหลายช่องทาง มีทั้งผิดหวังและสมหวัง จนกระทั่งวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๗ ศาลปกครองสูงสุดในคำพิพากษาที่ ๑๔๒ / ๒๕๔๗ ได้เพิกถอนมติของคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรสมัครสอบเข้าเป็นอัยการผู้ช่วย

การต่อสู้ของคุณศิริมิตรนับเป็นการต่อสู้ที่สวยงามและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประเทศที่ประกาศตนว่าเป็นนิติรัฐ ผมเลยถือโอกาสนี้ยกย่องคุณศิริมิตรด้วยการเขียนกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายของคุณศิริมิตร

เพื่อความเข้าใจโดยง่าย ผมขอสรุป “สิ่ง” ที่คุณศิริมิตรต่อสู้ว่าขัดกับหลักความเสมอภาคเสียก่อน มี ๔ สิ่ง
สิ่งแรก มาตรา ๒๖ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
สิ่งที่สอง มาตรา ๓๓ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑
สิ่งที่สาม มติของ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรสมัครสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา
สิ่งที่สี่ มติของ ก.อ. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรสมัครสอบเป็นอัยการผู้ช่วย

ทั้งสี่สิ่งนี้ คุณศิริมิตรได้สู้ทั้งสามศาล ดังนี้

- ๑ -
การฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

คุณศิริมิตรได้สมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา คณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาพิจารณาเห็นว่า คุณศิริมิตรมีร่างกายไม่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ เห็นสมควรไม่รับสมัคร ต่อมา ก.ต. ในการประชุม ครั้งที่ ๑๓/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๑๔ และ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๓ เห็นชอบด้วยกับความเห็นของคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็น ข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา จึงมีมติไม่รับสมัครเนื่องจากเป็นกรณีที่ร่างกายไม่เหมาะสม

คุณศิริมิตรเห็นว่าพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการน่าจะไม่ชอบด้วยหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ จึงร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ผู้ตรวจฯพิจารณาแล้วจึงส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตามที่คุณศิริมิตรร้องขอ

พึงสังเกตในเบื้องต้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่มีสถานะระดับพระราชบัญญัติ กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงพิจารณาแค่ว่ามาตรา ๒๖ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้สมัครสอบคัดเลือก ผู้สมัครทดสอบความรู้ หรือผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษเพื่อบรรจุ เป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ ต้องห้ามดังต่อไปนี้... (๑๐) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการหรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในระเบียบของ ก.ต.” นั้นขัดกับหลักความเสมอภาคตามมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น

ศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ ๑๖/๒๕๔๕ พิจารณาว่า
“...การรับสมัครสอบคัดเลือกนอกจากจะพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องพิจารณาสุขภาพของร่างกาย และจิตใจว่ามีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอที่จะเป็นผู้พิพากษา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติโดยปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การปฏิบัติหน้าที่ของ ผู้พิพากษามิใช่เพียงแต่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีในห้องพิจารณาเท่านั้น บางครั้งต้องเดินทางไปนอกศาล ปฏิบัติหน้าที่ เช่น เพื่อเดินเผชิญสืบ เพื่อสืบพยานที่มาศาลไม่ได้ การพิจารณาเพื่อรับสมัครสอบ คัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา จึงมีมาตรการที่แตกต่าง และเข้มงวดกว่าการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งอื่นอยู่บ้าง...”

จึงวินิจฉัยว่า
“... เมื่อพิจารณาถึงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ (๑๐) คำว่า "มีกาย ... ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ"... เป็นไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมของฝ่ายตุลาการ จึงเห็นว่า บทบัญญัติของ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ (๑๐) ดังกล่าว ...ไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมาย ให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ แต่อย่างใด...”

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าตัวกฎหมายที่เขียนลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครไว้ว่า "มีกาย ... ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ” ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค เพราะกรณีการรับสมัครสอบผู้พิพากษามีความจำเป็นต้องพิจารณาร่างกายของผู้สมัครประกอบด้วย

โดยเนื้อหาของบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ไม่น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายเขียนลักษณะต้องห้ามไว้กว้างๆเพื่อเปิดช่องให้ ก.ต. ใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นรายๆไปว่าอย่างไรจึงจะถือว่ามีกายไม่เหมาะสมกับเป็นข้าราชการตุลาการ และตัวบทบัญญัตินี้ก็เป็นการจำกัดสิทธิที่จำเป็นในการคัดคนเข้าเป็นผู้พิพากษา

ประเด็นที่เป็นปัญหามากกว่า คือ ตัวมติของ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบเพราะเห็นว่าสภาพร่างกายของคุณศิริมิตรเข้าข่าย "มีกาย ... ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ”

อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาแค่ว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น หารวมถึงกฎ ระเบียบ มติ คำสั่งไม่ ดังนั้นในส่วนของมติ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจพิจารณา

กล่าวให้ถึงที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ากฎหมายที่เป็นฐานอำนาจของมติ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบ (มาตรา ๒๖ (๑๐)) ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค ส่วนมติ ก.ต. ดังกล่าวนั้น ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าตนไม่มีอำนาจพิจารณา

แต่เมื่อพิจารณาถึงถ้อยคำที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในคำวินิจฉัยที่ว่า “...การรับสมัครสอบคัดเลือกนอกจากจะพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องพิจารณาสุขภาพของร่างกาย และจิตใจว่ามีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอที่จะเป็นผู้พิพากษา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติโดยปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ” จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีทัศนคติต่อกรณีที่บุคคลร่างกายพิการมาสมัครสอบเป็นผู้พิพากษาไปในทางอนุรักษ์นิยม น่าคิดว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยตัวมติ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบแล้ว คงไม่แคล้วออกมาว่าไม่ขัดกับหลักความเสมอภาคเป็นแน่

เช่นเดียวกัน ในกรณีของอัยการ คุณศิริมิตรได้ร้องขอให้ศาลปกครองส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณว่า มาตรา ๓๓ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ .... (๑๑) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการหรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง...” นั้นขัดกับหลักความเสมอภาคตามมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ ๔๔/๒๕๔๕ พิจารณาว่า
“...การรับสมัครสอบคัดเลือกนอกจากจะพิจารณาถึง ความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องพิจารณาสุขภาพของร่างกายและจิตใจว่ามีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอที่จะเป็นข้าราชการอัยการ การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการอัยการมิใช่เพียงปฏิบัติหน้าที่ในห้องพิจารณาคดีหรือในสำนักงานเท่านั้น บางครั้งต้องเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นอกสำนักงาน เช่น เพื่อเดินเผชิญสืบ เพื่อสืบพยานที่ไม่อาจมาศาลได้ การร่วมชันสูตรพลิกศพกับพนักงานสอบสวน การออกไปเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนในชนบท เป็นต้น การพิจารณาเพื่อรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย จึงมีมาตรการที่แตกต่า และเข้มงวดกว่าการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งอื่นอยู่บ้าง...”

จึงวินิจฉัยว่า
“...เมื่อพิจารณาถึงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๓๓ (๑๑) คำว่า "มีกาย...ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ"... เป็นไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมของฝ่ายอัยการ จึงเห็นว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๓๓ (๑๑) ดังกล่าว... ไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ แต่อย่างใด...”

- ๒ -
การฟ้องต่อศาลปกครอง

คุณศิริมิตรสมัครสอบทั้งผู้ช่วยผู้พิพากษาและอัยการผู้ช่วย แต่ทั้ง ก.ต. และ ก.อ. ต่างปฏิเสธ ในส่วนของมติ ก.ต. และมติ ก.อ. นี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจ จึงต้องนำมาฟ้องต่อศาลอื่น

กล่าวสำหรับศาลปกครอง

-ประเด็นแรก การฟ้องเพิกถอนมติ ก.ต.-
ในส่วนของการสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา คุณศิริมิตรไม่อาจฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนมติ ก.ต.ได้ เพราะมาตรา ๙ วรรค ๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ยกเว้นไว้ว่า ศาลปกครองไม่มีอำนาจในกรณีที่เกี่ยวกับการดำเนินการของ ก.ต. ตาม ก.ม.ข้าราชการตุลาการ

มติของ ก.ต. ที่โดยเนื้อแท้ของมันน่าจะเป็น “เสมือน” คำสั่งทางปกครอง (ในหลายประเทศที่มีศาลปกครองกับศาลยุติธรรมคู่กันก็ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของ มติ ก.ต. ได้) แต่บริบททางประวัติศาสตร์และเหตุผลเฉพาะของไทย ทำให้กฎหมายศาลปกครองเขียนยกเว้นไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินการของ ก.ต.

คุณศิริมิตรก็เดือดร้อน ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ก็บอกว่า กฎหมายข้าราชการตุลาการไม่ขัดหลักความเสมอภาค ส่วนมติของ ก.ต ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าไม่มีอำนาจพิจารณาในส่วนนี้ ครั้นมาศาลปกครอง จะเอาตัวมติ ก.ต. มาขอให้ศาลปกครองเพิกถอนให้กฎหมายศาลปกครองก็เขียนยกเว้นไว้อีกว่าไม่มีอำนาจพิจารณา

คุณศิริมิตรจึงเหลืออยู่ช่องทางเดียวในการต่อสู้กับมติ ก.ต. นั่นคือ เอากลับไปฟ้องต่อศาลยุติธรรม

-ประเด็นที่สอง การฟ้องเพิกถอนมติ ก.อ.-
ในส่วนของการสอบเป็นอัยการผู้ช่วย คุณศิริมิตรไปสมัครสอบอัยการ ปรากฏว่าคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มีมติไม่ให้คุณศิริมิตรสอบเพราะร่างกายไม่เหมาะสมทำนองเดียวกับที่ ก.ต. เคยมีมติไว้ก่อนหน้านั้น คุณศิริมิตรจึงไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนมติ ก.อ.นี้

ศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้อง เพราะเห็นว่า
“...การที่ผู้ฟ้องคดีมีรูปกายพิการ เดินขากระเผลก กล้ามเนื้อแขนลีบจนถึงปลายมือทั้งสองข้าง กระดูกสันหลังคด แจ้งว่าเป็นโปลิโอตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ และได้รับการผ่าตัดดามเหล็กที่กระดูกสันหลังไว้เพื่อให้ไหล่ทั้งสองข้างเท่ากัน ตามรายงานผลการตรวจของคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าว จึงเป็นความแตกต่างที่ถึงขั้นเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการที่จะปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของพนักงานอัยการเมื่อเทียบกับบุคคลปกติทั่วไป การที่ผู้ถูกฟ้องคดี ... มีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นการใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรมและชอบด้วยเหตุผล...”

คุณศิริมิตรอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นและพิพากษาให้เพิกถอนมติของ กอ. ดังกล่าว เพราะเห็นว่า
“...ผู้ฟ้องคดีแม้จะมีรูปกายพิการ แต่ความพิการดังกล่าวไม่ถึงขนาดทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่การงานโดยปกติได้ โดยงานที่ผู้ฟ้องคดีเคยทำในขณะเป็นทนายความมาแล้วนั้นมีลักษณะทำนองเดียวกับงานของข้าราชการอัยการดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าแม้สภาพกายของผู้ฟ้องคดีจะพิการ แต่ความแตกต่างดังกล่าวไม่ถึงขั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของอัยการ... โดยที่ความเห็นของคณะกรรมการแพทย์ และคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นที่เสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอว่าการที่ผู้ฟ้องคดีมีกายพิการดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ของข้าราชการอัยการได้อย่างไร มติของผู้ถูกฟ้องคดี ... จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี...”

แต่เรื่องยังไม่จบ พ.ร.บ. ศาลปกครอง มาตรา ๗๒ (๑) บอกว่ากรณีฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งนั้นได้ กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอน มติ ก.อ. แต่ไม่ได้หมายความว่า ก.อ. จะต้องมีมติใหม่ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบ

ว่าให้ชัด คือ มติ ก.อ. บอกว่าไม่ให้สอบ ศาลเพิกถอนมติ ก.อ ก็คือเพิกถอนไอ้การไม่ให้สอบนี่แหละ แต่ศาลไม่มีอำนาจไปบังคับให้ ก.อ มีมติรับคุณศิริมิตรเข้าสอบได้ ศาลทำได้แค่เพิกถอนมติเดิมเท่านั้น กล่าวให้ถึงที่สุด ศาลปกครองทำได้เพียง “ทำลาย” สิ่งที่ ก.อ. ทำมา แต่จะลงไป “ทำแทน” ก.อ.ไม่ได้

นี่เป็นปัญหาหลักของการบังคับคดีปกครอง ในกรณีคำสั่งทางปกครองที่เป็นการปฏิเสธ เช่น คำสั่งไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร คำสั่งไม่อนุญาตให้เปิดอาบอบนวดชูวิทย์ คำสั่งไม่ให้เข้าสอบ คำสั่งปฏิเสธการเข้ารับราชการ พวกนี้เวลาศาลเพิกถอน ก็ทำได้แค่เพิกถอนคำสั่งปฏิเสธเหล่านี้เท่านั้น แต่จะไปบังคับให้ฝ่ายปกครองมาออกคำสั่งใหม่ไม่ได้ เช่น จะบังคับให้ออกใบอนุญาตสร้างอาคาร ออกใบอนุญาตสร้างอ่างชูวิทย์ ออกคำสั่งให้มีสิทธิสอบ ออกคำสั่งรับเข้าเป็นข้าราชการ พวกนี้ศาลบังคับให้ไม่ได้ กรณีของคุณศิริมิตรกับมติ ก.อ. นี้ก็เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเช่นว่าแล้ว ทางโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดออกมาให้ข่าวทันทีว่า จะให้คุณศิริมิตรเข้าสอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรับสมัครกรณีทำนองเดียวกับคุณศิริมิตรทั้งหมด อย่างไรก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป

- ๓ -
การฟ้องต่อศาลยุติธรรม

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในส่วนของ มติ ก.ต. ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณา ก็เหลือศาลยุติธรรมเพียงศาลเดียวเป็นตัวกวาด เอามติของ ก.ต. ไปฟ้องต่อศาลยุติธรรม คนใน ก.ต ก็ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม แล้วเอาเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาลยุติธรรม คนตัดสินก็มีธรรมเนียม แนวคิด ค่านิยมออกไปในทำนองอนุรักษ์นิยมแบบเดียวกัน

ลองตรองดูเถิดว่าผลจะเป็นอย่างไร

คุณศิริมิตรเอา มติ ก.ต. ไป ฟ้องศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไม่รับด้วยเหตุผลว่าคุณศิริมิตรยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ม.๕๕ ป.วิ แพ่ง ควรเข้าใจในเบื้องต้นว่าสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแคบกว่าการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กล่าวคือ ผู้ฟ้องต้องถูกโต้แย้งสิทธิก่อนจึงจะฟ้องได้ ศาลจะพิจารณาว่าสิทธิที่ผู้ฟ้องยกขึ้นมาอ้างว่าถูกโต้แย้งนั้นมีกฎหมายรับรองสิทธิดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องหรือไม่ กรณีนี้ คุณศิริมิตรยังไม่มีสิทธิเข้าสอบ ไม่มีกฎหมายใดรับรองว่าคุณศิริมิตรมีสิทธิสอบ คุณศิริมิตรเพียงขอสมัครสอบแล้ว ก.ต. ปฏิเสธซึ่งยังไม่ถือว่ากระทำการโต้แย้งสิทธิคุณศิริมิตร

คุณศิริมิตรอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มว่าศาลสูงน่าจะยืนตามเดิม

น่าสังเกตว่ากรณีของคุณศิริมิตรที่ฟ้องขอเพิกถอนมติของ ก.ต. นี้ ศาลยุติธรรมน่าจะวางหลักเรื่องการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๕ ป.วิ.แพ่งให้ยืดหยุ่นกว่าเดิม เนื่องจากคำฟ้องขอเพิกถอนมติ ก.ต. โดยเนื้อแท้แล้วมีลักษณะทำนองเดียวกับคำฟ้องในคดีปกครองที่ขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง จึงควรนำหลักในคดีปกครองมาใช้ กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีพิสูจน์ได้ว่าตนมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ฟ้องก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงขนาดว่าสิทธิของตนถูกกระทบเหมือนในคดีแพ่ง

หากเราไม่เดินตามแนวนี้แล้ว ต่อไปหากมีมติ ก.ต. ที่ไม่ให้สมัครสอบ ผู้ที่ถูกปฏิเสธจะหันหน้าไปพึ่งใคร หันหน้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกไม่มีอำนาจ หันมาหาศาลปกครองก็มีกฎหมายเขียนยกเว้นไว้ว่าไม่มีอำนาจเช่นกัน เหลือเพียงศาลยุติธรรมที่พอเป็นที่พึ่งได้ ก็มาติดที่สิทธิในการฟ้องคดีแคบ เช่นนี้มิต้องไปหาศาลเจ้าหรือกระไร

นิติรัฐเรียกร้องว่าทุกการกระทำขององค์กรของรัฐต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการได้ รัฐธรรมนูญเองก็รับรองสิทธิในการฟ้องคดีไว้ กรณีคุณศิริมิตรฟ้องเพิกถอนมติ ก.ต. แล้วไม่มีศาลใดรับเลยเช่นนี้สุ่มเสี่ยงจะเป็น “การปฏิเสธความยุติธรรม”

เมื่อพลเมืองในประเทศภาคพื้นยุโรปถูกรัฐปฏิเสธความยุติธรรม เขาย่อมมีสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ ย้อนมองที่บ้านเราแล้ว น่าสงสัยว่าเราเคยคิดหรือไม่ว่า “การปฏิเสธความยุติธรรม” คืออะไร และมีหนทางเยียวยาอย่างไร

......................

เห็นกระบวนการต่อสู้ของคุณศิริมิตรแล้วก็น่านับถือหัวใจแกจริงๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าศาลปกครองสูงสุดตัดสินเช่นนี้แล้วคุณศิริมิตรจะได้เป็นอัยการทันที (มิพักต้องพูดถึงผู้พิพากษาซึ่งต้องรอคำพิพากษาอยู่) ศาลปกครองเพียงเพิกถอนมติ ก.อ. ต่อมา ก.อ. ก็ให้คุณศิริมิตรเข้าสอบ ซึ่งสอบได้หรือไม่ก็ต้องลุ่นกันต่อ ไอ้การตรวจข้อสอบแล้วประกาศผลว่าใครได้เป็นอัยการผู้ช่วยหรือไม่นี่แหละ ผมว่าน่ากังวลใจกับคุณศิริมิตรมาก เพราะหากผลออกมาว่าสอบไม่ผ่าน ก.อ. ก็อาจให้เหตุผลว่าสอบไม่ผ่านจริงๆไม่ใช่เกี่ยวข้องกับร่างกายก็เป็นได้ (ซึ่งจริงหรือไม่นั้นเราไม่อาจทราบได้)

การต่อสู้ของคุณศิริมิตรจะบรรลุผลด้วยการได้เป็นผู้พิพากษาหรืออัยการหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยการต่อสู้นี้ก็เป็นการจุดประกายในสังคมไทย

จุดประกายให้คนชายขอบแบบคุณศิริมิตรได้เข้าสู่วิชาชีพต่างๆมากขึ้น
จุดประกายให้กับคนจำนวนหนึ่งที่กำลังเรียกร้องความเป็นธรรมตามกระบวนการ
จุดประกายให้คนเรียนกฎหมายเอากฎหมายไปใช้จริงในทางปฏิบัติ
และ... จุดประกายให้เรามองคนพิการว่าเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคม

เปิดใจให้กว้างเถิดครับท่านผู้พิพากษา ท่านอัยการ

...............

สรุปการต่อสู้กับสิ่งที่คุณศิริมิตรเห็นว่าขัดกับหลักความเสมอภาค

สิ่งแรก มาตรา ๒๖ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
ศาลรัฐธรรมนูญ – ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค (คำวินิจฉัยที่ ๑๖/๒๕๔๕)
ศาลปกครอง – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
ศาลยุติธรรม – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้

สิ่งที่สอง มาตรา ๓๓ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ ฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑
ศาลรัฐธรรมนูญ – ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค (คำวินิจฉัยที่ ๔๔/๒๕๔๕)
ศาลปกครอง – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
ศาลยุติธรรม – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้

สิ่งที่สาม มติของ ก.ต. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรสมัครสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา
ศาลรัฐธรรมนูญ – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
ศาลปกครอง – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
ศาลยุติธรรม – ศาลชั้นต้นไม่รับเพราะเห็นว่าสิทธิของคุณศิริมิตรยังไม่ถูกโต้แย้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการฎีกา

สิ่งที่สี่ มติของ ก.อ. ที่ไม่ให้คุณศิริมิตรสมัครสอบเป็นอัยการผู้ช่วย
ศาลรัฐธรรมนูญ – ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
ศาลปกครอง – เพิกถอนมติ ก.อ. (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๔๒ / ๒๕๔๗)
ศาลยุติธรรม - ไม่มีอำนาจในส่วนนี้

วันพุธ, มิถุนายน 08, 2548

รัฐบาลกับการแก้ไขกระบวนการสรรหา ป.ป.ช.

วันนี้ผมเขียนบล็อกเรื่อง “กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กับคดีคุณเริงชัย” ไปได้เล็กน้อยแล้ว บังเอิญไปอ่านข่าวที่เนติบริกรให้สัมภาษณ์ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้รัฐธรรมนูญในประเด็นกระบวนการสรรหาและเลือกป.ป.ช.เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น

เห็นแล้วก็อดไม่ได้ต้องแสดงความเห็น

เดิมผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้อยู่ตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าป.ป.ช.ทั้ง ๙ คนมีความผิดจริง แต่คิดว่าจะรอให้มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาให้ชัดเสียก่อนว่าจะเอาแนวทางใดคงจะเหมาะกว่า

เมื่อรัฐบาลมีรูปแบบการแก้ไขกระบวนการสรรหาป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว ผมจึงขอลัดคิวเขียนเรื่องนี้ก่อน ส่วนเรื่องคุณเริงชัย ในตอนหน้า ไม่พลาดแน่นอนครับ

ความเดิมเริ่มจากป.ป.ช.ไปออกระเบียบภายในเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้ตนเอง ส.ว.กลุ่มหนึ่งเห็นท่าไม่ดีจึงยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐๐ ต่อไป

ศาลฎีกาฯพิพากษาให้ป.ป.ช.มีความผิด ต้องโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน

แรกๆ ป.ป.ช. ยังดื้อด้านว่า ไม่ใช่โทษจำคุกจริงเพียงแค่รอลงอาญา ตนจึงมีสิทธิดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ในท้ายที่สุด ทนกระแสสังคมไม่ไหวจนต้องลาออกจากตำแหน่ง (ผมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องลาออกด้วย เพราะทั้ง ๙ คนพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมายไปแล้วนับแต่ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษา)

เมื่อป.ป.ช.ชุดประวัติศาสตร์พ้นจากตำแหน่งไปก็ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาและเลือกกันใหม่

รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๗ วรรคสามกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้เหมาะสมเป็นป.ป.ช.รวม ๑๕ คน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นสามส่วน ๓-๗-๕ คือ
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือเจ็ดคน - ๗ คน
สาม ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน - ๕ คน

ปัญหาเกิดขึ้นกับสัดส่วนกรรมการสรรหาที่มาจากผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีส.ส. พรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ ๕ คน

สภาชุดก่อนมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีสมาชิกเป็นส.ส. ตั้งแต่ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ชาติพัฒนา ความหวังใหม่ มวลชน จึงไม่มีปัญหาในการเลือกตัวแทนมาเป็นกรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองให้ครบ ๕ คน

ในขณะที่สภาผู้แทนราษฏรปัจจุบันมีจำนวนพรรคการเมืองที่มีส.ส.ในสภาเหลือแค่ ๔ พรรค คือ ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย และมหาชน เมื่อแต่ละพรรคส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการสรรหาได้เพียงพรรคละหนึ่งคน มีเหลือแค่ ๔ พรรค ทำอย่างไรก็ไม่มีทางหากรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองให้ครบ ๕ คนได้

ใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่งจะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้

ใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่งจะมีมหกรรมการ “ดูด” ยกพรรคถึงขนาดนี้

แล้วจะทำอย่างไร ? จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่ ?

โดยส่วนตัวผมเห็นว่าถ้าต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วยเรื่องจิ๊บจ๊อยแค่นี้ล่ะก็ คงไม่มีความจำเป็น ส่วนกรณีมาตรา ๒๙๗ ที่สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันไม่สอดคล้องด้วยนั้นให้ใช้หลักการใช้และตีความกฎหมายเป็นตัวช่วยไป

ต้องไม่ลืมว่าการใช้และตีความกฎหมายต้องทำให้กฎหมายเกิดผล บทบัญญัติทุกมาตราเกิดขึ้นในนิติพิภพนี้มีเพื่อใช้บังคับ ไม่มีบทบัญญัติใดเกิดขึ้นเพื่อความโก้เก๋โดยไม่มีที่ให้ใช้บังคับ หากมีบทบัญญัติที่ไม่มีที่ให้ใช้ - ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด – ก็ต้องยกเลิกกฎหมายนั้น

กรณีนี้เช่นกัน เมื่อมาตรา ๒๙๗ บอกว่า กรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองมี ๕ คน อ่านมาตรา ๒๙๗ แบบตรงๆไม่มีอ้อมค้อม ภายใต้สถานการณ์การเมืองปัจจุบันอย่างไรก็ไม่มีทางเสกให้กรรมการสรรหาในส่วนนี้เพิ่มเป็น ๕ ได้ เช่นนี้มาตรา ๒๙๗ ก็เป็นหมันไป จึงจำเป็นต้องใช้การตีความกฎหมายเข้าช่วย

การตีความมาตรา ๒๙๗ ให้เกิดผลใช้บังคับภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ก็ต้องลดกรรมการสรรหาในส่วนลดเหลือพรรคการเมืองจากเดิม ๕ คนให้เหลือ ๔ คน รวมเหลือกรรมการสรรหาทั้งชุด ๑๔ คน

กรรมการเหลือ ๑๔ คน อย่างไรเสียก็ไม่กระทบถึงกระบวนการสรรหา ป.ป.ช. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเสียงที่ใช้เสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นป.ป.ช.ต่อวุฒิสภาต้องมีเสียงสามในสี่ขึ้นไป หาได้กำหนดเป็นจำนวนชัดเจนว่า ๑๒ เสียง ( สามในสี่ของ ๑๕) ขึ้นไปไม่

หากเราไม่ตีความกฎหมายให้เกิดผลเช่นนี้แล้ว หากต่อไปในภายภาคหน้า เกิดมีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทำนองนี้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองภายใต้ระบอบทักษิณมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบ่อยๆเช่นนี้ด้วยแล้ว เรามิจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญกันรายวันหรือ

ไม่ได้หมายความว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว เราอาจละเลย ไม่ต้องแก้ไขปรับปรุง

แต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดระเบียบสถาบันการเมืองและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ควรแก้ไขก็ต่อเมื่อเป็นประเด็นที่สำคัญจริงๆ

..................

ภายหลังที่รัฐบาลยืนยันแล้วว่าจะเดินเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ คุณทักษิณออกมาให้สัมภาษณ์แสดงสปิริตที่ผมฟังแล้วคลื่นเหียนอยากอาเจียนอย่างยิ่ง

แหม... นายกฯอะไรนี่ช่างมีสปิริตจริงหนอ

คุณทักษิณบอกว่า “รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะแก้ไขประเด็นเดียว คือไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปเป็นกรรมการในการสรรหาองค์กรอิสรทุกองค์กร” และ “เราถือว่าไม่ต้องเอาการเมืองดีกว่า เอาแบบตรงไปตรงมา คือไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่ง”

สปิริตนี้จะสวยงามไร้มลทินอย่างยิ่งหากคุณทักษิณเอ่ยตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว สภาชุดที่แล้ว

รัฐบาลที่แล้ว สภาชุดที่แล้ว ที่การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกครั้ง มีกรรมการสรรหาในส่วนตัวแทนพรรคการเมืองล้วนแล้วแต่มาจากซีกรัฐบาลทั้งนั้น

ทำไมคุณทักษิณไม่หยิบยกประเด็นแก้ไขกรรมการสรรหาในส่วนพรรคการเมืองมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว สภาชุดที่แล้ว ทั้งที่ตอนนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากว่ารัฐบาลเข้าแทรกแซงการสรรหาองค์กรอิสระด้วยการส่งตัวแทนซีกรัฐบาลเข้าไปเป็นกรรมการสรรหา ทั้งที่ตอนนั้นนักวิชาการเรียกร้องให้มีการแก้ไขในประเด็นนี้

ทำไมความรับรู้ของคุณทักษิณจึงช้านัก

ทำไมคุณทักษิณพึ่งออกมาสนับสนุนให้แก้ในประเด็นนี้ในสถานการณ์ที่กรรมการสรรหาในส่วนที่มาจากพรรคการเมือง อาจกลายเป็นซีกฝ่ายค้านที่มีมากกว่ารัฐบาล (มีฝ่ายค้าน ๓ พรรคอาจเป็นกรรมการสรรหาได้ ๓ คน ในขณะที่รัฐบาลมี ๑ พรรค อย่างไรเสียกรรมการสรรหาในส่วนที่มาจากพรรคการเมือง สัดส่วนของรัฐบาลย่อมน้อยกว่าแน่ )

หรือต้องรอให้ผลประโยชน์ของตนเสียไปก่อน ต่อมกระตุ้นสปิริตจึงเริ่มทำงาน

หรือเกรงว่า หากคุณเสนาะ เจ้าพ่อวังน้ำเย็น คึกสร้าง “นิยายงูเห่าภาค ๒” ยกพลไปตั้งพรรคใหม่เป็นฝ่ายค้านแล้ว กรรมการสรรหา ๕ คน จะกลายเป็นฝ่ายค้านสี่ – ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน วังน้ำเย็น – รัฐบาลหนึ่ง – ไทยรักไทย –

เพื่อความเป็นธรรมต่อคุณทักษิณ เอาเป็นว่าคิดในแง่ดีว่าคุณทักษิณพึ่งรู้ตัวแล้วกัน จะได้พิจารณาในส่วนเนื้อหาต่อไป

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๗ ที่เนติบริกรออกมาแถลงเมื่อวานนี้ กรรมการสรรหาป.ป.ช.รวม ๑๕ คนประกอบด้วยสี่ส่วน คือ

หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน - ๖ คน
สาม ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๔ คน
สี่ ผู้นำฝ่ายข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร – ๒ คน

ส่วนที่ ๑ ถึง ๓ ไม่มีปัญหาอะไรนัก แต่ที่ควรนำมาพูดถึงคือส่วนที่ ๔

จากปัญหาที่ตัวแทนจากพรรคการเมืองมีไม่ครบ ๕ คนจึงต้องนำมาแก้กันใหม่ เมื่อเกิดบัญชาจากคุณทักษิณที่มีสปิริตสูงส่งมาก (แต่มาช้าไปหน่อย) ว่าไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองมายุ่งในกระบวนการสรรหา เนติบริกรแสนดีก็รีบรับคำบัญชาไปนั่งขบคิดว่าจะออกแบบสัดส่วนกรรมการสรรหาใหม่อย่างไรดี

เดิมมีกรรมการสรรหาที่มาจากพรรคการเมืองที่มีส.ส.ซึ่งเป็นกรรมการสรรหาที่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเปิดช่องให้การเมืองเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ (ฝีมือใครกันหนอที่ทำเช่นนี้ในสภาชุดที่แล้ว) ประกอบกับสปิริตของท่านนายกฯ (สปิริตที่ช้าไปหลายปีและมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ไม่อาจรู้ได้) จึงเห็นควรให้ตัดกรรมการสรรหาที่มาจากพรรคการเมืองออกไป และไปลากเอาตัวแทนจากองค์กรอิสระอื่นๆตามรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาแทน

อย่างไรก็ตาม เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีกรรมการสรรหาที่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเพื่อสร้างความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อตัดตัวแทนจากพรรคการเมืองไปแล้วก็ต้องหาตำแหน่งที่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา

เท่าที่เนติบริกรคิดออก คือ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎร

แต่ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรบอกว่า ตำแหน่งตนต้องมีความเป็นกลาง ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับการสรรหา (สปิริตอีกแล้วครับท่าน แหมแล้วจะมาหาว่าท่านเป็นประธานโภชินฯได้อย่างไรกัน) เนติบริกรจึงสร้างนวัตกรรมใหม่ทางรัฐธรรมนูญขึ้นซึ่งซาร่าห์ต้องตะโกนว่า “โอ้ พระเจ้า จอร์จ มันยอดมาก”

นวัตกรรมชิ้นใหม่ทางรัฐธรรมนูญจากปลายปากกาของเนติบริกร คือ “ผู้นำฝ่ายข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร”

ไม่ต้องไปพึ่งพา สสร. หรอกครับ เนติบริกรคนเดียวก็เสกตำแหน่งใหม่นี้ขึ้นได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วยาม ขอมีใบสั่งมาเถอะครับ ผมจัดให้

ตำแหน่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย

ตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เว้นแต่ การสรรหาป.ป.ช.ตามมาตรา ๒๙๗ เท่านั้น

ตำแหน่งที่ไม่ได้กำหนดที่มาที่ไปไว้

ตำแหน่งที่มีงานทำงานเดียว คือ การสรรหาป.ป.ช.
ตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือน

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่า “ผู้นำเสียงข้างมากในสภา เราเรียกตามแบบมาตรฐานของต่างประเทศว่าผู้นำเสียงข้างมากซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้ไปเลือกผู้นำฝ่ายค้าน มันก็แบ่งคนออกเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจจะเลือกกันในหรือนอกสภาก็ได้ ที่แบ่งคนออกเป็นสองพวกในสภา นี่คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีมากว่า ๑๐ ปีแล้ว”

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่า “เป็นการเลือกกันเองของ ส.ส.ที่มีเสียงข้างมากในสภา โดยมีการรับรองสนับสนุนจาก ส.ส.รัฐบาลเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งวิธีการเลือกอาจจะลงมติในสภา นอกสภา หรือทำบัญชีหางว่าวก็ได้ แต่ต้องมีรายชื่อให้ประธานสภาตรวจสอบได้” แต่วิธีการได้มาที่เนติบริกรบอกนี้ไม่ได้เขียนในรัฐธรรมนูญ หากเป็นเพียงความคิดของเนติบริกรเท่านั้น (พึงระลึกไว้เสมอว่าเนติบริกรไม่ใช่รัฐธรรมนูญ)

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่ามีมานาน เพราะใช้ตรรกะคิดว่า เมื่อมีผู้นำฝ่ายค้านมาหลายสิบปีก็ต้องมีผู้นำฝ่ายข้างมากมาหลายสิบปีเช่นกัน

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่ารัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๐ กำหนดตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านแสดงว่าต้องมีผู้นำฝ่ายข้างมากด้วย

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ บอกว่าต่างประเทศก็มีกัน

ตำแหน่งที่เนติบริกร ศาสตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ อุตส่าห์สรรหาตรรกะการให้เหตุผลโดยพิจารณาจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันและอดีต โดยเทียบเคียงจากกฎหมายต่างประเทศ แต่กลับไม่กำหนดงานให้ผู้นำฝ่ายข้างมากทำ นอกจากการสรรหา ป.ป.ช.เท่านั้น

ประเด็นว่าตำแหน่งนี้ในต่างประเทศมีหรือไม่ อย่างไร รัฐธรรมนูญไทยมีเจตนารมณ์หรือไม่ อย่างไร อาจถกเถียงกันได้ (แต่ส่วนตัวผมเห็นว่าบ้านเราไม่มี ถ้าจะมีก็ต้องบอกว่าทำงานอะไร มีที่มาอย่างไร ส่วนของต่างประเทศนั้นมี แต่เป็นเพียงการรวมกลุ่มกันในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเพื่อผลักดันร่างกฎหมาย ล็อบบี้ เสนอญัตติต่างๆ) แต่ที่ผมอยากชี้ให้ท่านผู้อ่านอึ้ง ทึ่ง เสียว คือ ความสามารถอันเอกอุของเนติบริกร

เสนอแบบของตัวเองไป แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่เอาแล้วตั้งตุ๊กตามาให้ว่าอยากได้กรรมการสรรหาแบบนี้ เนติบริกรเราจัดให้ได้ในบัดดล แถมยังเตรียมชุดคำตอบไว้ครบถ้วนอีกด้วย ใครถามมา ฉันตอบได้

เก่งกาจอะไรอย่างนี้ แล้วจะไม่ให้ตำแหน่ง “เนติบริกร” ได้อย่างไรครับ

ผมเห็นว่าตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายข้างมาก” อาจมีก็ได้ ถ้าจำเป็น แต่ต้องผ่านการวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ ต้องตอบได้ว่าตำแหน่งนี้มีเพื่อมาทำงานอะไร ซ้ำซ้อนกับตำแหน่งอื่นหรือไม่ มีที่มาอย่างไร จัดว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ มีเงินเดือนหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ คิดแค่ไม่กี่ชั่วยามแล้วเสกขึ้นมาจากอากาศ เพราะมีใบสั่งอยากได้

การนิรมิตตำแหน่งขึ้นมาเพื่อใช้งานสรรหาป.ป.ช.งานเดียวแบบนี้ ผมเห็นว่าไม่น่าเป็นการร่างกฎหมายที่ดี ถ้าจะหาตำแหน่งเพื่อมาคู่กับผู้นำฝ่ายค้านในการเป็นกรรมการสรรหา ก็น่าระบุไปให้ชัดเลยว่า ส.ส.ที่พรรคการเมืองสังกัดรัฐบาล

เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของกรรมการสรรหาทั้งหมดแล้ว น่าสงสัยต่อไปว่ารัฐบาลจะไม่มีช่องทางเข้าแทรกแซงกรรมการสรรหาอีกจริงหรือ ปลอดการเมืองจริงหรือ ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง คือ อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน

ฐานคิดของ สสร. ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นนักวิชาการ บางคนเป็นถึงศาสตราจารย์ ย่อมมีคุณวุฒิและความเป็นกลางปลอดจากการเมือง แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ สิ่งที่พิสูจน์ให้เราเห็น คือ กระบวนการเลือกตั้งอธิการบดีในแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีการเมืองเข้าแทรกตลอดอยู่แล้ว สู้กันราวกับเป็นการเลือก ส.ส. ย่อมๆเลยทีเดียว บางมหาวิทยาลัยฝ่ายการเมืองยังปรารถนาเข้าแทรกด้วย (มหาวิทยาลัยของผมนี่ถ้ารัฐบาลมีอำนาจเลือกอธิการได้ สงสัยคงไม่ได้เห็นชื่อคนปัจจุบันที่เป็นอธิการบดีอยู่เป็นแน่) นอกจากนี้สภาพปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยของรัฐผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ยิ่งน่าสงสัยต่อไปว่าจะเกิดการล็อบบี้ในหมู่กรรมการสรรหาที่มาจากอธิการบดีหรือไม่

เอาเข้าจริง เราจะสรรหาสารพัดสูตรมาออกแบบกรรมการสรรหาให้วิเศษเพียงใดก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากการแทรกแซงทางการเมืองได้ อย่างไรเสียการบล็อกโหวตก็ต้องเกิดขึ้น เช่นกันเราอาจไม่มีความจำเป็นต้องสนใจเรื่องกระบวนการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆเหล่านี้เลย หากผู้ดำรงตำแหน่งของเรามีความเป็นกลางและปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต ไม่เอนเอียงฝ่ายใด

ในฝรั่งเศส คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ๙ คนมาจากการเลือกของประธานาธิบดี ๓ คน การเลือกของประธานสภาผู้แทนราษฎร ๓ คน การเลือกของประธานวุฒิสภา ๓ คน มีที่มาจากการเมืองล้วนๆ แต่ก็ทำงานได้ดี เพราะไม่ได้คิดว่าการแต่งตั้งนั้นเป็นบุญคุณอะไรกัน

สิ่งที่น่าคิดต่อไปอีก คือ ตอนแรกคุณทักษิณบอกว่า “รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะแก้ไขประเด็นเดียว คือไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปเป็นกรรมการในการสรรหาองค์กรอิสรทุกองค์กร” แล้วเหตุใดตอนนี้จึงเสนอแก้แค่การสรรหาป.ป.ช.กรณีเดียว

เมื่อแสดงสปิริต แสดงความบริสุทธิ์ใจไม่อยากให้การเมืองมายุ่งกับการสรรหาแล้ว ทำไมไม่แก้การสรรหาองค์กรอื่นๆไปพร้อมกัน

เนติบริกรให้เหตุผลสองข้อ “๑. กรอบระยะเวลาค่อนข้างจำกัด หากมีหลายประเด็นจะใช้เวลาแก้ไข อภิปราย และลงมตินานมาก ในที่สุดก็จะปิดสมัยประชุมและการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. อาจจะช้าออกไปทุกที ๒.รัฐธรรมนูญนี้ได้ยกร่างโดยรับฟังความเห็นที่หลากหลายทุกมาตรา หากแก้ไขในส่วนที่ยังไม่เป็นปัญหา อาจมีปัญหาว่าจะนำองค์ประกอบอะไรใส่ลงไปเป็นการเปิดประเด็นให้หลากหลาย ไม่สามารถตกผลึกได้ในเวลาที่จำกัด เดี๋ยวจะกลายเป็นทำอะไรลวกๆ และรวบรัด”

คุณทักษิณให้เหตุผลว่า “รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าจะแก้ไข ต้องทำเท่าที่จำเป็น ถ้าไปแก้หลักการของกฎหมายเกินไป จะเกิดการตั้งคำถามว่าทำถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีปัญหาคือเรื่องของ ป.ป.ช. ดังนั้นก็ขอแก้ทางเทคนิค เพื่อขอให้มีคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. เพื่อให้มี ป.ป.ช.สามารถทำงานได้ก่อน ในส่วนของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระอื่นๆ ก็พร้อมแก้ไข ถ้าพบว่าจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต หรือถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าหลักการตรงนี้จะต้องเปลี่ยนทั้งหมด ก็จะแก้ไขภายหลัง วันนี้ขอแค่คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ก่อน”

เหตุผลฟังแล้วก็พอไปได้ครับ...

แต่มันขัดกับสปิริตที่นายกฯประกาศไว้ทีแรกเท่านั้นเอง เป็นสปิริตที่ในสมัยรัฐบาลที่แล้วนายกฯนึกไม่ออก เป็นสปิริตที่ในสมัยรัฐบาลชุดนี้ นายกฯพึ่งนึกออก เป็นสปิริตที่นายกฯนึกออกเมื่อสัปดาห์ก่อนแต่สัปดาห์นี้หายไปเสียแล้ว

....................

เปรียบเทียบคณะกรรมการสรรหาป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๗ ทั้งสามร่าง

ร่างรัฐบาลล่าสุด
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน - ๖ คน
สาม ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๔ คน
สี่ ผู้นำฝ่ายข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร – ๒ คน

ร่างรัฐบาลก่อนหน้านั้น
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด - ๓ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน - ๖ คน
สาม ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๔ คน
สี่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร – ๒ คน

ร่างฝ่ายค้าน (ฝ่ายค้านเห็นควรแก้กรรมการสรรหาในทุกองค์กร ไม่ควรแก้เฉพาะป.ป.ช.)
หนึ่ง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา – ๗ คน
สอง อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือเจ็ดคน – ๗ คน
สาม สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเลือกกันเองให้เหลือห้าคน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเลือกกันเองให้เหลือสองคน – ๗ คน

วันเสาร์, มิถุนายน 04, 2548

ฉีดยาให้ฉันตายไปเถอะหมอ…

นายแวงซองต์ อัมแบร์ (Vincent Humbert) ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๐๐๐ เขาสลบและไม่ได้สติอยู่นาน ๙ เดือน เมื่อฟื้นขึ้นมาก็พบว่าตัวเองเคลื่อนไหวไม่ได้ พูดไม่ได้ ส่วนสายตาก็เกือบบอด อัมแบร์ต้องทุกข์ทนทรมานอย่างมากกับสภาวะเช่นนี้ ในที่สุดอัมแบร์จึงตัดสินใจไหว้วานเพื่อนให้เขียนจดหมายเพื่อร้องขอสิทธิในการตาย (Droit à la mort) จากประธานาธิบดี ฌาคส์ ชีรัค (Jacques Chirac)

อาจสงสัยกันว่าเมื่อร่างกายของอัมแบร์ใช้การไม่ได้ ไฉนจึงบอกให้เพื่อนเขียนจดหมายได้เล่า

อัมแบร์ใช้วิธีการสื่อสารที่น่าทึ่งมากครับ เขาใช้การขยับนิ้วเป็นสัญญาณแทนตัวอักษรแต่ละตัว

ชีรัคได้ตอบจดหมายกลับมาว่าตนเข้าใจตัวนายอัมแบร์ดี แต่ระบบกฎหมายฝรั่งเศสไม่เอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้น ในท้ายที่สุด หมอและแม่ของนายอัมแบร์ก็ตัดสินใจหยุดการรักษา นายอัมแบร์เสียชีวิตในวันที่ 26 ก.ย. 2003 ส่วนหมอและแม่ของอัมแบร์ก็ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายซึ่งเรื่องกำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ใครสนใจลองอ่านหนังสือที่เขียนโดยนายอัมแบร์เรื่อง “ผมร้องขอสิทธิในการตายจากคุณ” หรือ “Je vous demande le droit de mourir” ตอนนี้แปลเป็นภาษาไทยแล้วครับ

กรณีการตายของอัมแบร์ส่งผลไปอย่างกว้างขวาง เกิดประเด็นถกเถียงกันว่าถึงเวลาหรือยังที่ฝรั่งเศสสมควรมีกฎหมายรับรองการุณยฆาต (l’euthanasie) รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสิ้นชีวิต คณะกรรมาธิการชุดนี้มีทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย มีนายฌอง ลีโอเน็ตติ (Jean Leonetti) ส.ส.จากพรรค UMP เป็นประธาน วันที่ 21 ก.ค.คณะกรรมาธิการได้จัดทำข้อเสนอให้ออกรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิของผู้ป่วยและการสิ้นชีวิต (la proposition de loi relative aux droits des malades et à la fin de vie) เพื่อแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายสาธารณสุข และประมวลกฎหมายจรรยาบรรณทางการแพทย์

ร่างรัฐบัญญัตินี้อนุญาตให้แพทย์จำกัดหรือหยุดการรักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้ายได้หากผู้ป่วยนั้นร้องขอ ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นไม่รู้สึกตัวให้เป็นการตัดสินใจของบุคคลที่ผู้ป่วยไว้วางใจ (La personne de confiance) หรือปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตจำนงของผู้ป่วยที่ได้ทำไว้ล่วงหน้า (Directives anticipées)

อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ใช่การรับรองการุณยฆาตให้ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเพียงแต่ทางเลือกที่ 3 ระหว่างการไม่ให้มีการุณยฆาตเลยกับการอนุญาตให้มีการุณยฆาตได้ จะเห็นได้ว่าคณะกรรมาธิการไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า สมควรมีการุณยฆาตในฝรั่งเศสหรือไม่ แต่กลับมุ่งไปที่ผู้ป่วยขั้นโคม่าดังเช่นกรณีของอัมแบร์เท่านั้น

เป็นเรื่องน่าหนักใจไม่ใช่น้อยครับในการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง ถ้าคณะกรรมาธิการเลือกการออกกฎหมายรับรองให้มีการฉีดยาให้ตาย (l’euthanasie active) ได้ ก็จะถูกพวกอนุรักษ์นิยมและเคร่งศาสนาคริสต์ต่อต้าน แต่ถ้าเพิกเฉยปล่อยให้เป็นแบบเดิมต่อไป บรรดาสมาคม ภาคประชาชน และแพทย์บางส่วนก็ไม่ยอม

อย่ากระนั้นเลยคณะกรรมาธิการจึงเดินทางสายกลางด้วย “การเลือกทางที่ 3 โดยพิจารณาจากบริบททางสังคมและการแพทย์ในฝรั่งเศส” เป็นสำคัญ

นี่เป็นสูตรสำเร็จของฝรั่งเศสล่ะครับ เมื่อมีประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและหมิ่นเหม่แบบ 50-50 ทีไร ฝรั่งเศสก็จะออกลูกกั๊กแบบนี้ทุกที จะเห็นได้จากลีลาทางการทูตของฝรั่งเศสที่พวกอเมริกาเอาไปล้อเลียนว่าแทงกั๊กตลอด หรือกรณีการอนุญาตจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกัน ฝรั่งเศสก็ไม่กล้าแต่หนีไปใช้ PACSแทน (ย่อมาจาก Pacte civil de solidarité เป็นการให้คนสองคนทำสัญญาตกลงอยู่ร่วมกันโดยไม่ใช่สมรส แต่มีผลในการแบ่งทรัพย์สิน)

เมื่อข้อเสนอนี้ออกสู่สาธารณะ บรรดาสมาคมที่สนับสนุน l’euthanasie ทั้งหลายยังคงไม่เห็นด้วยในหลายประการ สมาคมเพื่อสิทธิในการตายอย่างมีศักดิ์ศรี (Association pour le droit de mourir dans la dignité ; ADMD) โดยนายแพทย์ ฌอง โกเฮน (Jean Cohen) ประธานสมาคมออกมากล่าวว่า ร่างรัฐบัญญัติที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการชุดนายลีโอเน็ตตินี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ดูเหมือนกับว่าร่างรัฐบัญญัตินี้ให้อะไรบางอย่างใหม่ๆแก่เรา แต่ความจริงแล้วชะตากรรมของผู้ป่วยยังคงขึ้นกับการตัดสินใจของนายแพทย์อยู่ดี ไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะต้องทำตามเจตนาของผู้ป่วยเสมอไป แพทย์ยังคงมีดุลพินิจในการตัดสินใจว่าจะหยุดการรักษาหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตามทางสมาคมจะรอฟังการถกเถียงกันในที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง พร้อมกับเตรียมจัดทำข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อไป สมาคมหวังว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ว่า การแสดงเจตจำนงขอสิ้นชีวิตของผู้ป่วยนั้นจะมีผลบังคับผูกมัดนายแพทย์อย่างเด็ดขาด

ทางด้านสมาคม “เราต้องเร่งเร้า ! (Faut qu’on s’active !)” โดยนายแวงซองต์ เลน่า (Vincent Léna) โฆษกสมาคมและรองนายกเทศมนตรี Boulogne-sur-mer สังกัดพรรคสังคมนิยมออกมาแถลงว่า ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการก้าวหน้าไปมากกว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังไม่มากพอ การทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายฟิลิป ดูสท์ บลาซี่ (Philippe Douste-Blazy) รมต.กระทรวงสาธารณสุข รัฐสภาและรัฐบาลร่วมมือกันปกป้องบรรดาแพทย์จากความผิดในการหยุดรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น ร่างนี้ไม่ได้รับรองให้ l’euthanasie ชอบด้วยกฎหมาย เป็นแต่เพียงการการยกเว้นความผิดทางอาญาในกรณีการปล่อยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสิ้นชีวิตอย่างสงบภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด

ด้วยเหตุนี้ “สมาคมเราต้องเร่งเร้า !” ภายใต้การสนับสนุนของนายแจ็ค ลอง (Jack Lang) อดีตรมต.กระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมสมัยรัฐบาลนายลีโอเนล จอสแปง จึงถือโอกาสเนื่องในวันครบรอบ 1 ปีการตายของนายอัมแบร์ จัดทำร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิในการตายอย่างมีศักดิ์ศรี (Proposition de loi relative au droit de se retirer dans la dignité) หรือเรียกกันว่าร่างรัฐบัญญัติ “แวงซองต์ อัมแบร์” « loi Vincent Humbert» เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะและล่ารายชื่อให้ครบ 100,000 ชื่อก่อนเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างรัฐบัญญัติที่สมาคมนี้เสนอคือ การยอมรับให้มี l’euthanasie อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้แนวคิดที่ว่า ชีวิตของแต่ละคนต้องให้เจ้าของชีวิตตัดสินใจเอง แพทย์ ผู้พิพากษาหรือบุคคลใดก็ตามไม่มีสิทธิมากำหนดชะตาชีวิตของเขา จุดที่แตกต่างกันก็คือ ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเป็นการปล่อยให้ตายไปเองด้วยการหยุดการรักษาแต่ข้อเสนอของสมาคมเป็นการช่วยเหลือหรือทำให้ตาย หรือที่เรียกว่า « L’aide active à mourir »

ทางด้านนายลีโอเน็ตติ ประธานคณะกรรมาธิการออกมาตอบโต้ว่า ข้อเสนอนี้ไปไกลมากเพียงพอแล้วและตั้งอยู่ในความสมดุลของทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านการุณยฆาต เขาเน้นว่า มีความแตกต่างกันระหว่าง “การปล่อยให้ตาย” กับ “การทำให้ตาย”

เขายังบอกอีกว่าคงเป็นเรื่องที่กระทบกับศีลธรรมและกฎหมายอย่างมากหากมีผู้ป่วยคนหนึ่งกลับไปบ้าน อาบน้ำอาบท่า กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาแล้วนัดหมอมาฉีดยาตัวเองให้ตายไปตอน 6 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น สอดคล้องกับฝ่ายศาสนจักรที่ออกมาประกาศว่า พวกเขาพอจะยอมรับได้กับการปล่อยให้ตายไปเอง แต่การทำให้ผู้ป่วยตายด้วยการฉีดยาให้นั้นขัดกับหลักการของศาสนาคริสต์อย่างมิอาจจะยอมรับได้

ผมสรุปกันให้ฟังกันอีกทีคือ เรื่อง l’euthanasie มีอยู่ 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ การปล่อยให้ตายไปเอง (l’euthanasie passive) กรณีนี้ ในฝรั่งเศสเดิมแพทย์จะมีความผิดฐานฆ่าคนตายแม้ว่าตัวแพทย์เองนั้นจะไม่ได้กระทำอะไรก็ตาม แต่การละเว้นการกระทำ (ในที่นี้คือการละเว้นไม่ยอมรักษาคนไข้) ดังกล่าวก็ถือเป็นการกระทำด้วยอย่างหนึ่ง จึงเสนอให้มีการออกกฎหมายอนุญาตให้แพทย์สามารถหยุดการรักษาได้ตามแนวทางของคณะกรรมาธิการชุดนายลีโอเน็ตตินี้ ซึ่งมีผู้เห็นว่า จุดประสงค์หลักคือมุ่งคุ้มครองแพทย์ให้พ้นจากความผิดทางอาญา แต่ไม่ได้คุ้มครองผู้ป่วยเพราะผู้ป่วยต้องทนทรมานจนกว่าจะตายไปเองอยู่ดี

อีกแนวทางหนึ่ง คือ การให้แพทย์ช่วยทำให้ผู้ป่วยตาย (l’euthanasie active) อาจเป็นการฉีดยาให้ผู้ป่วยตายไปอย่างสงบ แนวทางนี้จะมุ่งไปที่สิทธิของผู้ป่วยเป็นสำคัญ แพทย์เป็นเพียงขั้นตอนที่เข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยได้ตายสมดังเจตนาของตนเท่านั้น แต่ก็เป็นที่ถกเถียงกันในแง่กฎหมายและศีลธรรมว่าเป็นการไปเร่งให้ตาย

รศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส เห็นว่า “กรณีของ Passive euthanasia นั้น เห็นว่าแพทย์ที่ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยกระทำเพียงเพื่อระงับความเจ็บปวดและให้ผู้ที่ใกล้ตายนั้นถึงความตายด้วยความสงบโดยไม่ใช้เครื่องมือจากเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ไม่มีความผิดใดๆ เพราะแพทย์ไม่มีหน้าที่ที่จะชะลอชีวิตของผู้ที่จะต้องถึงแก่ความตายตามธรรมชาติให้ยาวนานออกไปอีก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แพทย์มีหน้าที่ต้องรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่จะถึงขนาดที่จะฝืนกฎธรรมชาติไปได้ ฉะนั้นการแสดงเจตนาของผู้ป่วยที่จะขอตายตามภาวะของธรรมชาติโดยปฏิเสธการใช้เครื่องมือจากเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงเป็นเรื่องที่แพทย์ต้องรับฟัง สำหรับกรณีของ Active euthanasia เป็นกรณีที่ยังหาข้อสรุปได้ยาก เพราะการใช้ยาก็ดีหรือการหยุดเครื่องช่วยเพื่อให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายก็ดี ถือเป็นการเร่งการตายและเป็นการกระทำโดยตรง เหตุผลที่จะยกมาสนับสนุนว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดจึงยังมีข้อโต้แย้งอยู่ ปัญหา Active euthanasia หากอธิบายตามหลักกฎหมายที่มีอยู่แล้ว คงต้องถือว่าเป็นเรื่องที่มิอาจกระทำได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายอนุญาตโดยเฉพาะ” (แสวง บุญเฉลิมวิภาส, “ความเจ็บป่วย ความแก่ ความตาย : ธรรมชาติหรือใครกำหนด”, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 33 เล่มที่ 2 หน้า 323.)

ปัจจุบันรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบออกรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิของผู้ป่วยและการจบชีวิต ลงรัฐกิจจานุเบกษาวันที่ 22 เมษายน 2005 เนื้อหาสาระก็เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการชุดนายลีโอเน็ตติ

มาดูกฎหมายของประเทศอื่นกันบ้างครับ มีเพียงฮอลแลนด์กับเบลเยียมเท่านั้นที่ยอมรับ l’euthanasie active อย่างเต็มที่ ส่วนประเทศอื่นๆก็มักจะเป็นการให้ผู้ป่วยแสดงเจตจำนงไว้ล่วงหน้าว่าหากถึงระยะสุดท้ายแล้วจะขอปฏิเสธการรักษา

ฮอลแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายมารับรองความชอบด้วยกฎหมายของ l’euthanasie เดิมฮอลแลนด์อนุญาตให้มี l’euthanasie ได้แต่ไม่มีกฎหมายเฉพาะมารองรับเป็นแต่เพียงแนวคำพิพากษาบรรทัดฐานที่วางเงื่อนไขในกรณีที่สามารถทำการุณยฆาตได้เท่านั้น จนกระทั่งปี 2000 ก็เริ่มมีการถกเถียงกันว่าสมควรมีกฎหมายเฉพาะมากำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ในที่สุดวันที่ 10 เม.ย.2001 วุฒิสภาของฮอลแลนด์ก็เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 40 ต่อ 28 หลังจากก่อนหน้านี้ในวันที่ 28 พ.ย.2000 สภาผู้แทนฯได้เห็นชอบมาแล้วด้วยคะแนนเสียง 104 ต่อ 40

กฎหมายดังกล่าวได้วางเงื่อนไขไว้ดังนี้
1. คำร้องขอของผู้ป่วยเกิดจากความสมัครใจ ผ่านการไตร่ตรอง และได้รับการยืนยันซ้ำ
2. ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานสาหัสและหมดหนทางเยียวยารักษา
3. มีการแจ้งข้อมูลแก่ผู้ป่วยให้ทราบถึงอาการของตนในปัจจุบันและการวินิจฉัยอาการของโรค
4. ได้ข้อสรุปต้องตรงกันว่าไม่มีวิธีการอื่นใดอีกแล้ว
5. ผู้ป่วยได้ปรึกษาหารือกับแพทย์อิสระอื่น
6. กระบวนการจบชีวิตต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์

การปฏิบัติการการุณยฆาตนี้ต้องแจ้งแก่ตำรวจในท้องที่เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการ 5 คนที่เป็นแพทย์ นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญทางศีลธรรม เพื่อตรวจสอบว่าการการุณยฆาตนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข คณะกรรมการต้องยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป แพทย์ที่กระทำการุณยฆาตโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 12 ปี

สถิติที่ผ่านมาทั้งหมดพบว่าในปี 1990 มีผู้ร้องขอจำนวน 25,100 ราย มีการการุณยฆาตรวม 3,100 กรณี ในปี 1995 มีผู้ร้องขอจำนวน 34,500 ราย มีการการุณยฆาตรวม 3,600 กรณี ในปี 2001 มีผู้ร้องขอจำนวน 34,700 ราย มีการการุณยฆาตรวม 3,780 กรณี

ในส่วนของเบลเยียมซึ่งเป็นประเทศที่สองที่ได้ออกกฎหมายมารองรับ l’euthanasie ไล่หลังฮอลแลนด์ประมาณหนึ่งปีนั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการุณยฆาตลงวันที่ 28 พ.ค. 2002 ได้วางเงื่อนไขไว้ว่า
1. ผู้ป่วยต้องบรรลุนิติภาวะ มีความสามารถ และรู้สำนึกมีสติสัมปชัญญะในขณะที่ร้องขอ
2. การร้องขอต้องเกิดจากความสมัครใจ การไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่ และมีการยืนยันซ้ำ การร้องขอต้องไม่เกิดจากความกดดันภายนอก
3. อาการของผู้ป่วยต้องร้ายแรง ไร้ทางรักษา และก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทางร่างกายหรือจิตใจอย่างแสนสาหัสแก่ผู้ป่วย
4. แพทย์ต้องแจ้งแก่ผู้ป่วยถึงอาการ สภาพร่างกาย ความหวังในชีวิต การรักษาที่พอจะเป็นไปได้ ตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษานั้น จนกระทั่งได้ข้อสรุปต้องตรงกันกับผู้ป่วยว่า ไม่มีหนทางอื่นใดที่เหมาะสมอีกแล้ว
5. ต้องมีการพูดคุยกันหลายครั้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยในระยะเวลาที่เหมาะสม
6. ผู้ป่วยต้องได้ปรึกษาหารือกับแพทย์อิสระอื่นด้วย

การแสดงเจตจำนงไว้ล่วงหน้านี้ ผู้ป่วยต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อหน้าพยานที่บรรลุนิติภาวะ 2 คน การแสดงเจตจำนงอาจทำโดยบุคคลที่ผู้ป่วยไว้วางใจได้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถแสดงเจตนาได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมการการุณยฆาตประกอบไปด้วยกรรมการ 16 คนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่เสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการเห็นว่าการการุณยฆาตไม่เป็นไปตามกฎหมาย ให้ส่งเรื่องต่อไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ในส่วนของแพทย์นั้นหากแพทย์คนไหนไม่ต้องการทำหน้าที่การุณยฆาตก็สามารถแสดงความจำนงของตนเองได้เพื่อให้แพทย์รายอื่นทำแทนแต่ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า ส่วนบุคคลอื่นๆนั้น จะไม่มีใครได้เข้ามามีส่วนร่วมในการการุณยฆาตเป็นอันขาด

นับแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2002 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2003 มีการการุณยฆาตรวมทั้งสิ้น 259 กรณี เฉลี่ย 17 รายต่อเดือน 8 ใน 10 เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย 1 ใน 10 เป็นอัมพาต ทางด้านสถิติเกี่ยวกับอายุพบว่า 16 เปอร์เซนต์มีอายุเกิน 80 ปี 80 เปอร์เซนต์มีอายุระหว่าง 40 ปีถึง 79 ปี และ 4 เปอร์เซนต์มีอายุต่ำกว่า 40 ปี จากสถิติยังพบอีกว่า 41 เปอร์เซนต์ขอให้มีการการุณยฆาตที่บ้านตนเอง 5 เปอร์เซนต์ในบ้านพักคนชรา และที่เหลือให้ทำในโรงพยาบาล

ผมเคยดูข่าวที่นี่ นักข่าวเขาเดินทางไปเบลเยียมเพื่อสัมภาษณ์หญิงชราคนหนึ่งที่ร้องขอให้การุณยฆาตตนเอง นักข่าวไปที่บ้านของหญิงคนนั้น เธอได้ให้สัมภาษณ์อย่างมีความสุขด้วยใบหน้าเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มพร้อมเผชิญหน้ากับความตายที่เธอร้องขอด้วยตนเองอย่างไม่สะทกสะท้าน วันรุ่งขึ้นแพทย์ก็มาปฏิบัติหน้าที่ตามที่เธอต้องการ

สำหรับประเทศไทยนั้นมีการถกเถียงเช่นกันว่าสมควรหรือยังที่จะมี l’euthanasie และควรมีได้ในระดับใด ในช่วงรณรงค์ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติที่เปรียบเสมือนกฎหมายแม่บทในเรื่องการสาธารณสุขของไทยนั้นก็มีการพูดถึงประเด็นนี้ ในที่สุดก็เห็นตรงกันออกมาเป็นมาตรา 24 ว่า
“บุคคลมีสิทธิในการแสดงความจำนงที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นไปเพียงเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนเอง เพื่อการตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
การแสดงความจำนงตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

แม้การรณรงค์ร่างกฎหมายนี้จะผ่านมา 4 ปีกว่าแต่ก็ยังไม่สำเร็จเป็นรูปร่าง เพราะรัฐบาลกลับไปเร่งเข็นเอาพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ออกมารองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคแทน คงต้องติดตามกันต่อไปครับสำหรับประเด็น l’euthanasie ว่าจะมีในบ้านเราหรือไม่ แต่ผมคิดว่าสังคมไทยคงยังรับไม่ได้ถึงขนาดฉีดยาให้ตายเหมือนในฮอลแลนด์หรือเบลเยียมแน่ๆ

..................

ประเด็นเรื่องการุณยฆาตหนีไม่พ้นกับการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม เป็นประเด็นที่เกี่ยวพันตั้งแต่แนวคิดทางการเมือง ศาสนา ประเพณี ค่านิยม ในเชิงกฎหมายเองก็เป็นการรบกันในทางนิติปรัชญาระหว่างสำนักความคิดต่างๆ

ก่อนหน้านั้น คงไม่มีใครคิดว่าประเด็นการุณยฆาตจะถูกนำขึ้นมาถกเถียง คงไม่มีใครคาดว่าจะได้เห็นกฎหมายที่อนุญาตให้คนปลิดชีวิตตนเองได้ การุณยฆาตจึงนับเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับสังคม ไม่มีสังคมที่ปราศจากกฎหมาย และเช่นกันกฎหมายก็ไม่อาจละเลยความเป็นไปของสังคม

โลกปัจจุบันที่วิวัฒนาการก้าวไกล ทุนนิยมเบ่งบาน บริโภคนิยมถึงขีดสุด ปัจเจกชนถวิลหาอยากเป็นเจ้าของในทุกสิ่งๆ ปรารถนาจะเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์อาจไขว่คว้าอยากเป็นเจ้าของได้ในทุกสิ่ง แต่สิ่งที่ใกล้ตัวเขาที่สุดอย่างชีวิตตนเอง เขากลับไม่มีโอกาสที่จะลิขิตมันได้

น่าสงสัยว่า เอาเข้าจริงแล้วใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของชีวิตเรา

วันศุกร์, มิถุนายน 03, 2548

เมื่อชาวฝรั่งเศส ๑๕,๔๕๐,๒๗๙ คนคว่ำธรรมนูญยุโรป (๒)

คำถามที่สอง อะไรจะเกิดขึ้นกับฝรั่งเศสหลังจากกการคว่ำธรรมนูญยุโรป ?

เมื่อผลการลงประชามติออกมาว่าชาวฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบันธรรมนูญยุโรปเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศฝรั่งเศสในสองมุม

หนึ่ง การเมืองภายในประเทศ
ชีรัคและแกนนำรัฐบาลรู้ดีว่าในเสียงที่ไม่เอาด้วยกับธรรมนูญยุโรปนั้น จำนวนหนึ่งทำไปเพื่อลงโทษรัฐบาล เมื่อคนส่วนใหญ่ส่งสัญญาณแรงๆไปที่รัฐบาลเช่นนี้ ชีรัคก็มิอาจอยู่เฉยได้

ทันทีที่ผลการลงคะแนนออกมาอย่างไม่เป็นทางการ ชีรัครีบออกโทรทัศน์แถลงทันทีว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการเมืองภายในบางประการแน่นอน สองวันให้หลัง นายฌอง-ปิแอร์ ราฟฟาแร็งก็ลาออกจากตำแหน่งโดยการเกลี้ยกล่อมของชีรัค

ชาวฝรั่งเศสเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าตั้งแต่ปี ๒๐๐๒ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ฝรั่งเศสมีนายกฯไม่ได้ความอันดับต้นๆในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ

สาเหตุที่ชีรัคเลือกนายราฟฟาแร็งมาเป็นนายกฯและปล่อยให้อยู่มาได้สามปีท่ามกลางเสียงก่นด่าจากทุกสารทิศ มีเพียงประการเดียว คือ ชีรัคไม่ต้องการนายกฯที่เข้มแข็งและมีคะแนนนิยมมากกว่าตน บทเรียนจากรัฐบาลของนายกฯจอสแป็งที่มาจากฝ่ายซ้ายสอนชีรัคเสมอมาว่า ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกนายกฯที่เซื่องๆไว้จะดีกว่า

กล่าวได้ว่า งานนี้ราฟฟาแร็งเป็นเหยื่อของประชามติโดยแท้

ชีรัครีบกลบกระแสความไม่พอใจรัฐบาลไม่ให้ประทุต่อไปด้วยการให้ราฟฟาแร็งลาออก (อาจไปเป็นประธานวุฒิสภาต่อไป) แล้วตั้งนายโดมินิก เดอ วิลล์แป็งมาดำรงตำแหน่งแทน พร้อมทั้งลากเอานิโกล่าส์ ซาร์โกซี่ คู่ปรับต่างวัยซึ่งมีคะแนนนิยมสูงกลับมาเป็น รมต.มหาดไทยอีกคำรบหนึ่ง

กล่าวสำหรับนายวิลล์แป็งผู้นี้ รู้กันดีว่าเป็นพลพรรคของชีรัคตัวยง พิสูจน์ฝีไม้ลายมือมาแล้วทั้งในตำแหน่ง รมต.ต่างประเทศ (ไปกล่าวสปีชในที่ประชุมยูเอ็นเรื่องจุดยืนของฝรั่งเศสที่ไม่เห็นด้วยกับการโจมตีอิรักของอเมริกา งานนั้นเล่นเอาอเมริกาหน้าชาอยู่) และรมต.มหาดไทย คะแนนนิยมก็ไม่เลวนัก ชีรัคเลยเลือกมาเพราะเป็นคนที่ตนคอนโทรลได้และมีภาพลักษณ์ดีในระดับหนึ่ง

ส่วนนายซาร์โกซี่นั้น เป็นที่ฮือฮามากว่าไฉนเขาจึงยอมกลับมาเป็นหมายเลขสองในรัฐบาลนี้อีก คอการเมืองรู้ดีว่าซาร์โกซี่มีความกระสันอยากเป็นผู้สมัครในนามพรรครัฐบาลเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ๒๐๐๗ ซึ่งอาจต้องขัดใจกับชีรัคที่ร่ำๆว่าจะลงอีกรอบเช่นกัน ปลายปีที่แล้วซาร์โกซี่ลงทุนลาออกจาก รมต.คลัง แล้วไปเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อคุมฐานเสียงพรรคในการผลักดันตนเองเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ๒๐๐๗ แล้วเหตุใดครั้งนี้จึงยอมกลับมาช่วยกันกู้วิกฤต เมื่อกลับมาทั้งที ระดับอย่างซาร์โกซี่ –ผู้เป็นซูเปอร์นายกฯในทางพฤตินัยในขณะเป็น รมต. มหาดไทย และรมต.คลัง- ทำไมไม่ขอตำแหน่งนายกฯไปเลย

การปรับเปลี่ยนเบอร์หนึ่งและเบอร์สองในรัฐบาลชุดนี้ของชีรัคสะท้อนให้เห็นว่าเขาตระหนักดีถึงอุณหภูมิการเมืองของประชาชนที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ อีกประการหนึ่ง นับได้ว่าช่วงนี้ยังเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะอีกด้วย เพราะปรับเสร็จก็เข้าฤดูพักร้อนที่ทุกคนจะละวางประเด็นการเมืองไว้ชั่วคราวแล้วมุ่งหน้าไปพักผ่อนอย่างเต็มที่ กว่าจะกลับมาสู้กันใหม่ก็ต้นกันยายน อุณหภูมิของคอการเมืองบางคนที่อาจยังไม่พอใจที่ชีรัคปรับเปลี่ยนน้อยเกินไปอาจลดลงก็เป็นได้

สอง บทบาทของฝรั่งเศสในสหภาพยุโรป
เมื่อฝรั่งเศสในฐานะผู้ก่อตั้งและพี่เบิ้มของสหภาพยุโรป แถมยังเป็นหัวโจกในการจัดทำธรรมนูญยุโรปนี้อีกด้วย กลับกลายเป็นประเทศแรกที่ปฏิเสธไม่เอาธรรมนูญยุโรปเสียเอง เช่นนี้แล้วภาวะผู้นำของฝรั่งเศสในสหภาพยุโรปจะลดลงไปอย่างมิต้องสงสัย

คืนวันที่ ๒๙ พ.ค. หลังจากรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ ชีรัคออกมาแถลงทันทีว่า ผลของประชามตินี้เป็นการแสดงออกที่สวยงามตามวิถีประชาธิปไตย ประชาชนในฐานะเจ้าของอธิปไตยได้แสดงเจตนารมณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป อย่างไรก็ตามชีรัคย้ำว่าผลครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าฝรั่งเศสจะไม่เอาด้วยกับการรวมตัวกันในนามสหภาพยุโรป พร้อมทั้งยืนยันว่าฝรั่งเศสจะเป็นแกนหลักในการดำเนินงานของสหภาพยุโรปต่อไป

นั่นก็เป็นพิธีกรรมทางการเมืองเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงฝรั่งเศสเสียหน้าไปพอสมควร และจะยิ่งเสียหนักขึ้นหากสมาชิกทั้ง ๒๔ ประเทศต่างเห็นดีเห็นงามกับธรรมนูญยุโรป แต่กลับไม่มีผลใช้บังคับเนื่องจากฝรั่งเศสเป็นแกะดำ

ฝรั่งเศสมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการจับมือกับเยอรมันเพื่อเป็นหัวหอกของสหภาพยุโรปในการต่อสู้กับอเมริกาในเวทีโลก (ไม่น่าเชื่อนะครับ เมื่อ ๖๐ ปีที่แล้วยังรบกันอยู่เลย ตอนนี้รักกันมาก) ปรากฏว่าเยอรมันเพื่อนซี้ตัดช่องน้อยแต่พอตัวให้สัตยาบันธรรมนูญนี้ไปแล้วด้วยช่องทางรัฐสภา เพราะรู้ดีว่าหากใช้ช่องประชามติแบบฝรั่งเศสคงไม่ผ่านเป็นแน่ เมื่อคู่หู “ฟร็องโก-อัลเลอมองด์” ไม่ครบคู่เสียแล้ว ก็เป็นที่น่าคิดว่าเยอรมันจะกลายเป็นผู้นำเดี่ยวในสหภาพยุโรปหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีเสือซุ่มอย่างสเปนซึ่งอยากขึ้นมาเป็นลูกพี่บ้าง แต่ติดที่ว่าไม่ได้เป็นประเทศผู้ก่อตั้ง แถมยังไม่ค่อยมีสตางค์เหมือนพวกพี่เบิ้มทั้งหลาย มางานนี้สเปนเดินยืดอกเต็มที่เพราะเป็นประเทศแรกที่ให้สัตยาบันด้วยช่องทางประชามติ จะไม่ผ่านได้อย่างไรครับ ในเมื่อชาวสเปนได้ประโยชน์มหาศาลจากสหภาพยุโรปไปเยอะ ขณะที่คนฝรั่งเศสกลัวว่าตนจะเสียประโยชน์

ประเด็นที่น่าคิดต่อไปอีก คือ เมื่อธรรมนูญยุโรปคว่ำไปแล้ว หากมีการเจรจาเพื่อจัดทำธรรมนูญใหม่ในครั้งต่อไปแล้ว ฝรั่งเศสจะมีอำนาจต่อรองเหลือมากน้อยเพียงใด ถ้าจะเอ่ยเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือวิ่งล็อบบี้เพื่อนให้เห็นดีเห็นงามกับตัวแล้วจะมีใครฟังฝรั่งเศสอีกหรือไม่

ฝ่ายที่สนับสนุนธรรมนูญยุโรปในฝรั่งเศสต่างหยิบยกข้อวิตกเหล่านี้มาเป็นประเด็นหาเสียงในการรณรงค์ก่อนมีประชามติ แต่ฝ่ายไม่สนับสนุนกลับเห็นตรงกันข้ามว่าหากเรารับธรรมนูญยุโรปไปก็ไปแก้ไขเพิ่มเติมได้ลำบากเพราะต้องใช้มติเอกฉันท์หรือมติเสียงข้างมากพิเศษ

ส่วนตัวผมแล้ว ฝรั่งเศสอาจเสียหน้าและอาจเสียบทบาทไปบ้างแต่ในท้ายที่สุดอย่างไรเสียสหภาพยุโรปคงขาดฝรั่งเศสไปไม่ได้และฝรั่งเศสก็มิอาจขาดจากสหภาพยุโรปได้เช่นกัน ฝรั่งเศสยังมีศักยภาพที่เพียงพอในการผลักดันสหภาพยุโรปไปข้างหน้าเพื่อต่อกรกับอเมริกา (มหาอำนาจปัจจุบัน) จีนและอินเดีย (มหาอำนาจใหม่) และรัสเซีย (มหาอำนาจเก่าที่อาจจะกลับมา) ในขณะที่ฝรั่งเศสเองก็มิอาจออกรบกับมหาอำนาจเหล่านี้เพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้ฝรั่งเศสและประเทศสมาชิกในยุโรปอื่นๆต่างก็จำเป็นต้องรวมตัวกันในการเดินบนกระดานหมากรุกโลก

เอาเข้าจริง ถ้าเราพิจารณาถึงฝ่ายที่ไม่สนับสนุนธรรมนูญยุโรป เสียงส่วนใหญ่ไม่ได้บอกว่าจะไม่เอากับสหภาพยุโรป หากแต่ขอเพียงแก้ไขปรับปรุงสหภาพยุโรปในทางที่เขาเห็นควร (เช่น ไม่ทุนนิยมเสรีจนเกินไป, ปกป้องประโยชน์และเอกลักษณ์ของชาติบ้าง เป็นต้น) มีเพียงเสียงส่วนน้อยซึ่งเป็นพวกขวาจัดเท่านั้นที่ประกาศกร้าวเลยว่าไม่อยากให้ฝรั่งเศสไปสังฆกรรมกับสหภาพยุโรป (น่าขันที่หัวโจกของขวาจัดออกมาต่อต้านยุโรปทุกอย่างแต่กลับไปเป็นสมาชิกสภายุโรปทั้งนั้น)

คำถามที่สาม อะไรจะเกิดขึ้นต่อประเทศสมาชิกอื่นๆและสหภาพยุโรป ?

ธรรมนูญยุโรปนี้จะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อสมาชิกทั้ง ๒๕ ประเทศให้สัตยาบันทั้งหมด เมื่อฝรั่งเศสไม่ให้สัตยาบันเป็นประเทศแรกก็หมายความว่าไม่มีทางที่ธรรมนูญยุโรปนี้จะมีผลไม่ว่าประเทศที่เหลือจะให้สัตยาบันทั้งหมดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ยังไม่เริ่มกระบวนการให้สัตยาบันหลายประเทศ เช่น ฮอลแลนด์ ลักเซมเบิร์ก โปแลนด์ ต่างยืนยันว่า ผลประชามติ ๒๙ พ.ค. ไม่มีผลเหนี่ยวรั้งกระบวนการให้สัตยาบันของตน

มีเพียงอังกฤษเท่านั้นที่เริ่มมีเสียงแว่วมาแล้วว่าอาจจะไม่ดำเนินกระบวนการให้สัตยาบันด้วยประชามติเพราะไม่เห็นความจำเป็นอีกต่อไป ถึงอังกฤษจะยอมรับธรรมนูญนี้ ก็ไม่มีทางที่จะมีผลใช้บังคับ

เป็นที่ทราบกันดีว่าอังกฤษไม่ได้พิศวาสสหภาพยุโรปเท่าไรนัก จะเห็นได้จากการไม่ร่วมสังฆกรรมใช้เงินยูโร หรือการเดินทางภายในสหภาพยุโรปอย่างเสรีโดยไม่ต้องขอวีซ่าหรือที่รู้จักกันดีในนามกฎ “เช็งเก้น” คนอังกฤษมีความอนุรักษ์และภาคภูมิใจในชาติของตนสูง และไม่อยากเสียเอกลักษณ์บางอย่างจากการเข้าร่วมสหภาพยุโรป

เชื่อได้ว่าเมื่อไรที่อังกฤษทำประชามติในประเด็นที่เกี่ยวกับสหภาพยุโรปแล้ว ยากนักที่จะผ่านได้หรือถ้าผ่านก็ผ่านแบบเต็มกลืน กรณีนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลอังกฤษคาดการณ์ไว้ว่าอาจมีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไม่รับธรรมนูญนี้ และประเทศนั้นก็ต้องรับผิดชอบไปในข้อหาเป็นต้นเหตุคว่ำธรรมนูญ อังกฤษจึงหลีกเลี่ยงขอเป็นประเทศสุดท้ายที่จะเริ่มกระบวนการให้สัตยาบัน หากมีอุบัติเหตุให้ธรรมนูญคว่ำไปเสียก่อน อังกฤษก็ลอยตัวไม่ขอเริ่มกระบวนการให้สัตยาบัน

นับได้ว่าอังกฤษอ่านเกมขาดจริงๆ

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑ มิ.ย. ที่ผ่านมา ฮอลแลนด์ – หนึ่งในประเทสผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรป - ได้ลงประชามติ ผลปรากฏว่าชาวฮอลแลนด์ร้อยละ ๖๑.๖ ไม่รับธรรมนูญยุโรป มีผู้รับเพียงร้อยละ ๓๙.๔ มีผู้ออกมาใช้สิทธิรวมร้อยละ ๖๒.๘

ก่อนหน้านี้ผลสำรวจในฮอลแลนด์ก็ออกมาแบบสุ่มเสี่ยงว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ผลจริงๆออกมากลับสูงหว่าที่คาดคิด วิเคราะห์กันว่าสาเหตุหนึ่งที่ตัวเลขวิ่งขึ้นไปสูงขนาดนี้น่าจะมาจากการที่ฝรั่งเศสไม่รับธรรมนูญยุโรปก่อนหน้านั้นเพียง ๒ วัน

ฮอลแลนด์คงชอบร้องเพลงเชียร์ “You will never walk alone” มั้งครับ ถึงไม่อยากให้ฝรั่งเศส “เดินอย่างเดียวดาย” แถมมาเดินเป็นเพื่อนด้วยเสียงที่ไม่เห็นด้วยเยอะกว่าอีกต่างหาก

คราวนี้เลยเป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โต เมื่อประเทศผู้ก่อตั้งสองประเทศกลับไม่ให้สัตยาบันธรรมนูญยุโรปนี้ภายในเวลาสองวัน หนังสือพิมพ์ในยุโรปหลายฉบับพาดหัวข่าวว่า “ยุโรปในวิกฤต” คณะมนตรียุโรปเรียกประชุมหารือกันยกใหญ่

ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศก่อตั้งหรือประเทศที่ร่ำรวยในสหภาพยุโรปจะไม่อยากรับธรรมนูญนี้เท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหภาพยุโรปขยายตัวออกไปเป็น ๒๕ ประเทศและจะเป็น ๒๗ ในปี ๒๐๐๗ นี้ ซึ่งสมาชิกใหม่ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งยากจน จึงเกรงกันว่าพี่เบิ้มทั้งหลายจะต้องไปอุ้มสมาชิกใหม่เหล่านี้

รายต่อไปที่จะลงประชามติ คือ ลักเซมเบิร์ก ประเทศเล็กๆแต่เป็นกระเป๋าเงินใบใหญ่ให้สหภาพยุโรป มีกำหนดการลงประชามติวันที่ ๑๐ ก.ค. ๒๐๐๕ ล่าสุดนายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กออกมาประกาศว่าหากธรรมนูญยุโรปไม่ผ่านตนจะลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

ถามว่าเมื่อธรรมนูญโดนคว่ำแล้ว สหภาพยุโรปจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

สนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญยุโรปกำหนดชัดเจนว่า ในกรณีที่ธรรมนูญยุโรปไม่ผ่าน ให้นำสนธิสัญญานีซซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันมาใช้บังคับต่อไป

วิตกกันว่าสนธิสัญญานีซอาจไม่เหมาะสมต่อไปในสภาพการณ์ที่สหภาพยุโรปขยายตัวขนาดนี้ จึงเป็นเจตนารมณ์ประการหนึ่งในการจัดทำธรรมนูญยุโรปขึ้น เมื่อต้องย้อนกลับไปใช้สนธิสัญญานีซดังเดิมแล้วจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ ยังน่าสงสัยอยู่

ความจริงแล้ว ในระหว่างจัดทำธรรมนูญยุโรป มีผู้เสนอกันว่าควรมี “แผนสอง” ไว้รองรับในกรณีที่ธรรมนูญยุโรปไม่ผ่าน แผนสองที่คิดกันก็มีอาจให้นำธรรมนูญยุโรปนี้กลับมาให้ องค์กรในสหภาพยุโรปพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติม แต่ปรากฏว่าไม่ผ่าน

ขณะนี้เริ่มมีการพูดกันแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในธรรมนูญยุโรปได้เปิดช่องไว้ว่าในกรณีที่มีประเทศใดประเทสหนึ่งไม่ยินยอมให้สัตยาบัน “ที่ประชุมระดับนโยบายและการเมืองของสหภาพยุโรป” ซึ่งเป็นที่ประชุมระหว่างประมุขของรัฐหรือผู้นำรัฐบาลของแต่ละสมาชิกสามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาได้

คาดการณ์กันไว้ทางหนึ่งว่า อาจมีการปรับปรุงธรรมนูญยุโรปโดยตัดสินใจอุ้มบทบัญญัติในหมวดที่หนึ่งและสองซึ่งว่าด้วยสถาบันในสหภาพยุโรปและสิทธิขั้นพื้นฐานเอาไว้ และตัดหมวดที่สามเจ้าปัญหาซึ่งว่าด้วยนโยบายของสหภาพยุโรปออกไป เพราะเอาเข้าจริงเสียงส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปล้วนแต่ข้องใจในหมวดที่สาม

กล่าวกันว่า อาจเป็นความผิดพลาดของคณะกรรมการร่างก็ได้ที่เอาเรื่องนโยบายสหภาพยุโรปมาใส่ในธรรมนูญยุโรปนี้ จริงๆแล้วควรเก็บไว้เป็นประเด็นเจรจาต่อรองในอนาคตภายในองค์กรของสหภาพยุโรปเสียดีกว่า เรื่องนโยบายเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและเต็มไปด้วยผลประโยชน์ การใส่ไว้ในธรรมนูญย่อมทำให้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งและนำไปสู่การคว่ำธรรมนูญในท้ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาให้ประชาชน – มีธรรมชาติของสัตว์การเมืองหรือสัตว์เศรษฐกิจ – ลงประชามติแล้วย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ผ่าน

................

โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี !!!

การบูรณาการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่สหภาพยุโรปก็ไม่มีทางได้มาฟรี จำเป็นต้องมีรัฐสมาชิกที่เสียประโยชน์บ้าง ระยะแรกเริ่มคงหนีไม่พ้นสมาชิกพี่เบิ้มทั้งหลายที่ต้องแบกรับภาระสมาชิกใหม่ แต่ระยะยาวเมื่อสมาชิกขยับขึ้นมาในระดับที่ไล่เลี่ยกันแล้ว ก็เป็นสมาชิกกันเองที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน

เอาเข้าจริงการขยายตัวของสหภาพยุโรปเป็น win-win situation การชักชวนประเทศยุโรปตะวันออกเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปก็เป็นผลประโยชน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองแก่ยุโรปตะวันตกเอง เมื่อยุโรปตะวันออกเข้ามาก็เท่ากับว่าขยายพรมแดนไปชนกับรัสเซียและเป็นการป้องกันไม่ให้รัสเซียกลับผยองอีกด้วย การรับตุรกีก็เช่นกัน เป็นไปเพื่อขยายพรมแดนไปชนกับตะวันออกกลางและเป็นกันชนระหว่างยุโรปกับประเทศอาหรับ ส่วนประเทศยุโรปตะวันออก เมื่อเข้าร่วมในสหภาพยุโรป แน่นอนว่าได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เมื่อมีผลประโยชน์ร่วมกันเช่นนี้ คงไม่มีสมาชิกรายใดที่อยากจะพลาดรถไฟขบวนสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปที่แข็งแกร่งย่อมสร้างดุลยภาพในเวทีการเมืองโลกมากขึ้น

สหภาพยุโรปที่แข็งแกร่งย่อมมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ณ วันนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่าสหภาพยุโรปไม่จำเป็น สหภาพยุโรปต้องเดินต่อไปและไม่มีทางถอยกลับอีกแล้ว

เพียงแต่ว่าจะเดินไปทางไหนเท่านั้นเอง

วันพุธ, มิถุนายน 01, 2548

เมื่อชาวฝรั่งเศส ๑๕,๔๕๐,๒๗๙ คนคว่ำธรรมนูญยุโรป (๑)

ผลการลงประชามติของชาวฝรั่งเศสว่าจะให้สัตยาบันธรรมนูญยุโรปหรือไม่เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ค. ออกมาแล้ว เป็นไปตามคาดครับ ฝรั่งเศสไม่เอาด้วยถึงร้อยละ ๕๕ เอาด้วยร้อยละ ๔๕ มีผู้ออกมาใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ ๗๐ ผลที่ออกมานี้นับว่าเกินกว่าที่โพลคาดการณ์ไว้ ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา โพลทุกสำนักชี้ว่าฝรั่งเศสไม่เอาแน่ๆแต่ตัวเลขวิ่งอยู่ที่ร้อยละ ๕๑ ถึง ๕๓ ผิดกับที่ผมคิดไว้ว่าเมื่อคนใช้สิทธิมากแทนที่จะเป็นพวกที่เห็นด้วยออกมาช่วยๆกันลงคะแนน กลับกลายเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยต่างหากที่รวมพลังปฏิเสธธรรมนูญยุโรปนี้

ผมลองนั่งตรึกตรองเอาจากข้อมูลที่ผมมีอยู่ในมือทั้งหมด คิดว่าน่าจะตกผลึกพอสมควรที่จะวิเคราะห์ให้เห็นภาพได้ แต่เพื่อไม่ให้บล็อกตอนนี้ยาวจนเกินไป (ปกติบล็อกผมก็ยาวทุกตอนอยู่แล้ว) ผมขอสกัดเอามาแต่เนื้อๆ และคัดเอาน้ำๆที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยออกไปแล้วกัน

ก่อนจะไปว่ากันถึงเนื้อหา ผมขอแสดงตัวเลขที่น่าสนใจจากประชามติ ๒๙ พ.ค. เพื่อใช้ประกอบทำความเข้าใจ ดังนี้

ตัวเลขที่น่าสนใจในประชามติ ๒๙ พ.ค. ๒๐๐๕

เห็นด้วย ร้อยละ ๔๕.๓๒
ไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๕๔.๖๘
ผู้ออกมาใช้สิทธิ ร้อยละ ๖๙.๓๔
บัตรเสียหรือไม่ลงคะแนน ร้อยละ ๒.๕๑

ผู้สนับสนุนพรรค UMP (พรรครัฐบาล ขวากลาง) ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๗๖
ผู้สนับสนุนพรรค UMP (พรรครัฐบาล ขวากลาง) ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๒๔
ผู้สนับสนุนพรรค UDF (ขวากลาง) ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๗๖
ผู้สนับสนุนพรรค UDF (ขวากลาง) ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๒๔
ผู้สนับสนุนพรรค FN และพรรค MPF (ขวาจัด) ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๔
ผู้สนับสนุนพรรค FN และพรรค MPF (ขวาจัด) ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๙๖
รวมฝ่ายขวา ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๖๕
รวมฝ่ายขวา ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๓๕

ผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยม ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๔๑
ผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยม ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๕๙
ผู้สนับสนุนพรรคเขียวและพรรคอื่นๆที่มีแนวทางเดียวกับพรรคเขียว ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๓๖
ผู้สนับสนุนพรรคเขียวพรรคอื่นๆที่มีแนวทางเดียวกับพรรคเขียว ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๖๔
ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๕
ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๙๕
รวมฝ่ายซ้าย ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๓๓
รวมฝ่ายซ้าย ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๖๗

ไม่ระบุว่าสนับสนุนพรรคใด ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๓๙
ไม่ระบุว่าสนับสนุนพรรคใด ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๖๑

๘๔ จังหวัดที่คะแนนไม่เห็นด้วยมีมากกว่าเห็นด้วย
๑๖ จังหวัดที่คะแนนเห็นด้วยมีมากกว่าไม่เห็นด้วย

จังหวัด ปารีส มีผู้เห็นด้วยสูงสุด ร้อยละ ๖๖.๔๕
จังหวัด ปาส์ เดอ กาเลส์ (อยู่ทางตอนบนสุดของประเทศ) มีผู้ไม่เห็นด้วยสูงสุด ร้อยละ ๖๙.๕๐

เหตุผลที่ออกเสียงไม่เห็นด้วย
ธรรมนูญนี้มีผลร้ายแรงต่อการว่างงานในฝรั่งเศส ร้อยละ ๔๖
ต้องการแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลปัจจุบัน ร้อยละ ๔๐
การไม่ให้สัตยาบันสร้างโอกาสในการเจรจาเพื่อแก้ไขธรรมนูญดังกล่าว ร้อยละ ๓๕
ธรรมนูญยุโรปเอียงไปทางทุนนิยมเสรีมากเกินไป ร้อยละ ๓๔
ธรรมนูญยุโรปมีเนื้อหาสลับซับซ้อน ยากที่จะเข้าใจ ร้อยละ ๓๔

......................

บล็อกตอนนี้มุ่งค้นหาคำตอบใน ๓ คำถาม คือ
คำถามแรก ทำไมชาวฝรั่งเศสไม่เอาธรรมนูญยุโรป ?
คำถามที่สอง อะไรจะเกิดขึ้นกับฝรั่งเศสหลังจากกการคว่ำธรรมนูญยุโรป ?
คำถามที่สาม อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกอื่นๆและสหภาพยุโรปหลังจากกการคว่ำธรรมนูญยุโรป ?

คำถามแรก สาเหตุที่ฝรั่งเศสไม่เอาธรรมนูญยุโรป

ทำไมชาวฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปถึงร้อยละ ๕๕ ? ต่อประเด็นปัญหานี้ เราพอจะวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปได้รวม ๔ สาเหตุ

หนึ่ง ชาวฝรั่งเศสต้องการลงโทษรัฐบาล
เป็นที่ทราบกันดีว่าการลงคะแนนตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งก็ดี การลงประชามติก็ดี เหมือนกับการเล่นกับกระแสสังคม ใครจับอารมณ์ของประชาชนในช่วงนั้นถูก ใครช่วงชิงจังหวะได้ถูกที่ถูกเวลา ย่อมเป็นผู้ชนะ

คงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่า ผลของการลงคะแนนเสียงสะท้อนถึงอารมณ์ทางการเมืองของประชาชนในห้วงเวลานั้น

ก่อหน้านี้รัฐบาลโดนประชาชนโหวตสั่งสอนมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งแรก การเลือกตั้งสมาชิกสภาแคว้นเมื่อเดือนมีนาคม ๒๐๐๔ ซึ่งฝ่ายซ้ายกวาดไปเกือบทุกที่นั่ง และครั้งที่สอง การเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๐๐๔ ที่ฝ่ายซ้ายกวาดไปมากกว่าครึ่งอีกเช่นกัน

ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลนิ่งนอนใจกับสัญญาณทั้งสองครั้งดังกล่าว หากรัฐบาลปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นโยกรัฐมนตรีบางตำแหน่ง

ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก

เมื่อคะแนนเริ่มฟื้นกลับมา รัฐบาลก็มักจะมีโครงการหรือนโยบายใหม่ๆที่กระทบส่วนได้เสียของประชาชนจำนวนมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย การปฏิรูประบบประกันสังคม การขยายเวลาการทำงานออกไป การปฏิรูประยะเวลาเกษียณอายุ ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลอ้างเสมอมาว่านโยบายแต่ละชุดจำเป็นต่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคม อยากให้ร่างกายแข็งแรงก็จำเป็นต้องกินยาขมบ้างเป็นธรรมดา

เช่นนี้แล้ว ไม่น่าแปลกใจเลยว่าตลอดสามปีที่ผ่านมา ทำไมคะแนนินยมของรัฐบาลไม่กระเตื้องขึ้นเลย

ชีรัคคงไม่ได้นิยมการดูดวงกระมังครับ (ไม่เหมือนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไทยคนหนึ่งซึ่งตอนนี้ไปได้ดิบได้ดีเป็นแม่บ้าน ครม. มีคนเล่ากันมา –จริงเท็จอย่างไรไม่อาจทราบได้- ว่าเดิมร่างรัฐธรรมนูญไทยมี ๓๓๕ มาตรา แต่แกไปดูดวงมาแล้วหากเลขออกที่ ๓๓๕ ร่างฯอาจไม่ผ่าน แกเลยไปเขียนเพิ่มมาอีกมาตรากลายเป็น ๓๓๖ มาตราดังปัจจุบัน ฮามั้ยครับ) ว่าดวงของรัฐบาลจะไม่เหมาะคิดทำการใหญ่ในวันที่ ๒๙ พ.ค. กระแสความนิยมในรัฐบาลถึงได้ลดลงฮวบฮาบเอาในช่วงใกล้ลงประชามติพอดี

เมื่ออารมณ์เหม็นเบื่อรัฐบาลพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ประจวบเข้ากับกำหนดวันลงประชามติมาถึงพอดี มิต้องสงสัยเลยว่า จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยการลงประชามติ ๒๙ พ.ค. เป็นช่องทางในการลงโทษรัฐบาลเป็นคำรบที่สาม

เอาเข้าจริงคนฝรั่งเศสจิบไวน์ กินบาแก็ตต์ป้ายโฟรมาช ก็ไม่ได้มีเหตุมีผลไปกว่าคนไทยกินข้าวแกงนักหรอกครับ

สอง เกรงว่าตนจะเสียผลประโยชน์จากธรรมนูญยุโรปฉบับนี้
เนื้อหาในธรรมนูญยุโรปมีหลายส่วนที่อาจกระทบระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ดำรงอยู่มานานในฝรั่งเศส โดยเฉพาะในภาค ๓ ว่าด้วย นโยบายของสหภาพยุโรป

กล่าวกันว่า ธรรมนูญฉบับนี้โปรทุนนิยมเสรี ซึ่งก็เป็นไปตามกระแสหลักของโลกปัจจุบันและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการก่อตั้งสหภาพยุโรปที่ต้องการให้การไหลเวียนของทุนภายในสหภาพยุโรปเป็นไปอย่างเสรี

คนฝรั่งเศสหวาดวิตกกันว่าหากยอมรับธรรมนูญยุโรปไปแล้ว ตนจะถูกกระทบจากแรงงานและทุนที่ไหลบ่ามาจากประเทศสมาชิกอื่น เช่น แรงงานจากประเทศยุโรปตะวันออกอาจใช้ประโยชน์จากธรรมนูญนี้เข้ามาแย่งงานคนฝรั่งเศสทำ หรือวิสาหกิจที่ลงทุนในฝรั่งเศสอาจย้ายฐานการผลิตไปในประเทสยุโรปตะวันออกแทนเพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

เกษตรกรเองก็กังวลใจว่ารัฐจะลดการช่วยเหลือภาคเกษตรลง

คนทั่วไปวิตกว่าระบบบริการสาธารณะของฝรั่งเศสจะถูกกระทบจากการเปิดเสรีและการลดบทบาทของรัฐในการบริการต่างๆ

ชาวฝรั่งเศสก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจเหมือนกันนะครับคุณปิ่น อะไรที่เห็นว่าจะมากระทบผลประโยชน์ของตนล่ะก็ ยากนักที่จะยอมง่ายๆ

สาม ความเข้าใจที่ผิดพลาด

จะด้วยเจตนาหรือความไม่รู้ก็ไม่อาจทราบได้ คนฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งเอาประเด็นปัญหาแทบจะทุกเรื่องเข้ามาพัวพันกับธรรมนูญยุโรปนี้ ราวกับว่า การลงประชามติไม่เอาธรรมนูญยุโรปเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างไรอย่างนั้น

ขุดมาได้ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบสอบ Bac การเปลี่ยนหลักสูตรในมหาวิทยาลัยหรือที่เรียกกันว่า LMD การขยายเวลาเกษียณ การขยายเวลาการทำงาน การลดจำนวนวันหยุด การก่อการร้าย การห้ามใช้ผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิมในโรงเรียน อัตราการว่างงาน การไหลออกของผู้ประกอบการไปยังประเทศจีน การทุ่มตลาด Directive บอลเคนสไตน์ที่กำหนดให้แรงงานหรือทุนจากประเทศสมาชิกเข้ามาในฝรั่งเศสได้ง่ายขึ้น ฯลฯ

ทั้งๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับธรรมนูญยุโรปเลย หากจะเกี่ยวก็เพียงแต่ว่าธรรมนูญยุโรปพูดไว้กว้างๆ ส่วนในรายละเอียดเป็นเรื่องในทางปฏิบัติที่ต้องเจรจาต่อรองกันต่อไปในอนาคต

บางคนเห็นว่า การไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป จะทำให้รัฐบาลหันมาสนใจในเรื่องดังกล่าว
บางคนเห็นว่า การไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป จะแสดงถึงความเป็น “กบฏ” ต่อการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศสเพื่อรับกับกระแสโลกในศตวรรษที่ ๒๑
บางคนเห็นว่า การไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป จะแสดงถึงความเป็น “เด็กแนว” ของตน
บางคนเห็นว่า การไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป จะทำให้ฝรั่งเศสไปเจรจาต่อรองแก้ไขเนื้อหาบางส่วนได้อย่างมีน้ำหนัก

ความเข้าใจที่ผิดพลาดนี้ไม่ได้หมายความว่าอ่อนประชาสัมพันธ์นะครับ ผมว่างานนี้หาเสียงหนักใช้ได้ทีเดียว แต่อย่างว่าครับ อารมณ์คนมันไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษา เวลาที่นักศึกษาชุมนุมประท้วงด้วยอารมณ์ก็เหมือนกับยาสีฟันที่ถูกบีบออกจากหลอด เราไม่อาจจับมันยัดกลับเข้าไปในหลอดได้ดังเดิม

แล้วไม่ได้มีแต่ฝ่ายสนับสนุนธรรมนูญยุโรปหาเสียงคนเดียวนี่ครับ ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิรณรงค์ตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่เช่นกัน การหาเสียงไม่ให้เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผมว่าง่ายกว่านะ ก็เล่นงัดมาโจมตีอย่างเดียวเลยว่า ธรรมนูญยุโรปมีแต่ข้อเสีย เรารับไปแล้วจะฉิบหายวายป่วงกันหมด

สี่ เสียงในฝ่ายซ้ายแตกกันเอง
ธรรมชาติของฝ่ายขวาจัดที่บูชาในชาตินิยมและอธิปไตยนิยม แน่นอนที่จะไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปที่มีเป้าหมายบูรณาการแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน โดยลดบทบาทของรัฐสมาชิกลงแต่กลับไปเน้นที่บทบาทของสหภาพยุโรปเป็นหลัก

ธรรมชาติของฝ่ายซ้ายจัดที่ต่อต้านรัฐ ตลาด ทุน การแข่งขันเสรี แน่นอนที่จะไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปที่มีเป้าหมายในการสร้างระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมในสหภาพยุโรป

สองขั้วนี้ เราทราบกันดีว่าไม่มีทางได้คะแนนเสียงเห็นด้วยอย่างแน่แท้

ส่วนรัฐบาลที่เป็นขวากลาง ก็มีนโยบายโปรยุโรปมาตลอดและยังเป็นคนชงเรื่องนี้มากับมืออีกด้วย ย่อมคาดหวังได้ว่าจะโดกยคะแนนมาเป็นกอบเป็นกำ

แน่นอนแค่เสียงของขวากลางอาจไม่เกินร้อยละ ๕๐ จำต้องอาศัยเสียงของฝ่ายซ้ายที่มีพรรคสังคมนิยมและพรรคเขียวมาช่วยหนุนด้วย

ปกติพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสและพรรคเขียวมีนโยบายสนับสนุนสหภาพยุโรปเสมอมา การปฏิรูปสหภาพยุโรปในหลายกรณีทำในสมัยรัฐบาลฝ่ายซ้าย แรกเริ่มเดิมทีคิดกันว่าไม่น่ามีปัญหา น่าจะโกยคะแนนมาได้มากพอควร

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น พรรคสังคมนิยมเกิดเสียงแตกแบ่งเป็นสองขั้ว ขั้วสนับสนุนนำโดยนายฟร็องซัวส์ ฮอลล็องด์ เบอร์หนึ่งของพรรค นายลีโอแนล จอสแป็งอดีตนายกฯ นายแจ็ค ลอง อดีตรมต.ศึกษา นางมาร์ติน ออบรี้ อดีตรมต.สาธารณสุข นายโดมินิก เสตราส์ คาห์น อดีต รมต.คลัง ฯลฯ ขั้วต่อต้านนำโดยนายโลร็องต์ ฟาบิอุส เบอร์สองของพรรค นายอองรี่ เอ็มมานูเอลลี่ อดีตประธานสภาฯ

ถึงขั้นต้องจัดให้มีการโหวตภายในของสมาชิกพรรคทั่วประเทศ เป็นไปตามคาดครับ ฝ่ายสนับสนุนชนะ ก็คนกุมอำนาจในพรรคส่วนใหญ่เป็นฝ่ายสนับสนุนทั้งนั้น

ฝ่ายต่อต้านไม่จบง่ายๆ ออกมารณรงค์หาเสียงในนามพรรคเช่นกัน แต่บอกว่าเป็นฝ่ายพรรคสังคมนิยมที่ไม่สนับสนุนธรรมนูญยุโรป ที่สำคัญเดินเกมหาเสียงได้ดีครับ ทำงานหนัก

กล่าวกันว่าการแตกเป็นสองขั้วความคิดในพรรคสังคมนิยมส่วนหนึ่งมาจากสงครามภายในพรรคที่ทั้งฮอลล็องด์และฟาบิอุสต่างแย่งชิงการนำพรรคเพื่อเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี ๒๐๐๗

ผลจากการลงคะแนนเห็นชัดว่า ผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยมไปลงคะแนนไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๕๙ ในขณะที่เห็นด้วยเพียงร้อยละ ๔๑ เท่ากับว่า ฝ่ายของนายฮอลล็องด์ชนะในพรรค แต่ฝ่ายของนายฟาบิอุสแย่งชิงมวลชนผู้ลงคะแนนตัวจริงเสียงจริงได้มากกว่า

พรรคเขียวก็เช่นกัน มีสถานการณ์ไม่แตกต่างจากพรรคสังคมนิยม เสียงแตกออกเป็นสองขั้ว

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ก็ส่อแววแล้วว่า คะแนนรวมของคนที่เอาธรรมนูญยุโรปคงสู้ฝ่ายที่ไม่เอาไม่ได้แน่

............................

ผมร่างประเด็นคำถามที่สอง อะไรจะเกิดขึ้นกับฝรั่งเศสหลังจากกการคว่ำธรรมนูญยุโรป ? และคำถามที่สาม อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกอื่นๆและสหภาพยุโรปหลังจากกการคว่ำธรรมนูญยุโรป ? ไว้แล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์เท่าไร และหากเอามาลงในตอนนี้พร้อมกันหมดบล็อกผมคงยาวเป็นหางว่าวแน่ๆ ประกอบกับผมต้องเสด็จออกจาคฤหาสน์น้อยๆของผมเพื่อไปช่วยรุ่นพี่ผมคนนึงในการเตรียมตัวสอบ เลยขอเอาส่วนที่เหลือไปต่อเป็นตอนที่สองของวันหน้าแล้วกัน

ถ้าวันนี้ผมไม่ซัดไวน์มากจนเกินไป คงได้เห็นตอนที่สองทันที
ตรงกันข้าม ถ้าผมซัดไปมาก คงต้องรอร่างกายฟื้นก่อนนะครับ