วันจันทร์, พฤษภาคม 30, 2548

ตอนนี้เกี่ยวกับความรัก

ปลายปี ๒๕๔๗

-เราคงต้องเป็นแฟนกัน-

อยู่ตัวคนเดียวไม่เคยข้องเกี่ยวกับใคร
ก็แสนจะสุขสบาย ตามใจตัวเองไว้ก่อน
อยากเที่ยวก็ไป ไม่ไหวก็กลับมานอน
ไม่เคยเป็นเดือดเป็นร้อนจนได้มาพบกับเธอ

ทำไมไม่รู้ แต่รู้ว่าอยากใกล้ชิด
หัวใจมันเริ่มออกฤทธิ์ ชอบคิดอะไรเพ้อเจ้อ
เพิ่งเจอเมื่อกี้ ก็ยังจะโทรหาเธอ
เข้านอนก็ยังจะเพ้อ คิดถึงแต่เธอเรื่อยไป

*ต้องส่องกระจกแต่เช้าทุกวัน
ยืนหมุนมันอยู่อย่างนั้นเพื่อความมั่นใจ
อยากทำตัวเองให้ดูดี ให้เธอชื่นใจ
เป็นอะไรที่มันไม่เคย

**แต่เป็นไปแล้ว แล้วคงจะหยุดไม่ไหว
แล้วเธอล่ะเคยบ้างไหม อาการเหมือนกันมั้ยเธอ
ถ้าหากเธอนั้น ก็เป็นเหมือนกันเสมอ
สรุปว่าฉันกับเธอ เราคงต้องเป็นแฟนกัน

เพิ่งเจอเมื่อกี้ ก็ยังจะโทรหาเธอเข้านอนก็ยังจะเพ้อ
คิดถึงแต่เธออยู่ได้

*ต้องส่องกระจกแต่เช้าทุกวัน
ยืนหมุนมันอยู่อย่างนั้นเพื่อความมั่นใจ
อยากทำตัวเองให้ดูดีให้เธอชื่นใจ
เป็นอะไรที่มันไม่เคย

**แต่เป็นไปแล้ว แล้วคงจะหยุดไม่ไหว
แล้วเธอล่ะเคยบ้างไหม อาการเหมือนกันมั้ยเธอ
ถ้าหากเธอนั้น ก็เป็นเหมือนกันเสมอ
สรุปว่าฉันกับเธอ เราคงต้องเป็นแฟนกัน

สรุปว่าฉันกับเธอ เราคงต้องเป็นแฟนกัน

ต้นปี ๒๕๔๘

-เหนื่อยใจเหลือเกิน-

เหนื่อยใจเหลือเกิน ที่ใจบังเอิญมีเธอ
เฝ้ารอเฝ้าคอยเฝ้าเหม่อ แค่อยากให้เธอเฉลย
แต่เธอเหมือนเดิม ท่าทียังเป็นดังเคย
ไม่เคยบอกกันบ้างเลย ว่าเราคบกันยังไง

ผ่านมาหลายปี ฉันยังมีเธอเดินเคียง
ถามเธอแต่เธอก็เกี่ยง บ่ายเบี่ยงไม่มีจุดหมาย
บอกมาซักคำ ฉันควรทำตัวยังไง
ฉันเองก็มีหัวใจ ที่อยากให้คนดูแล

* รักเธอข้างเดียว ชีวิตฉันคงลำบาก
ยิ่งมีความรัก มากไปยิ่งเป็นฝ่ายแพ้
เพราะเธอปิดใจ ไม่เคยแน่วแน่
ไม่ยอมดูแล หัวใจที่มีในมือ

** ต่อไปพบกัน นัดกันที่เดิมเคยเจอ
ถ้าเธอต้องคอยฉันเก้อ ก็อยากให้เธออย่าถือ
ไม่อยากให้ใคร เห็นเรายังเดินจูงมือ
ทั้ง ๆที่เรานั้นคือ แค่คนคุ้นเคยกันมา

-รักเธอจนเหนื่อยหัวใจ-

วันที่ลางเลือนกับคืนที่เลือนราง
เหม่อลอยคว้างเหมือนคนหมดทางไปต่อ
ใจที่ให้ไปอาจยังไม่เพียงพอ
ถ้ามันพอก็คงไม่เป็นอย่างนี้
ใกล้กันเหมือนมันยิ่งไกล ไม่ยอมเผยใจสักที
ไม่เคยเห็นใจคนที่มันรักเธอ

ดูเหมือนมีใจ ก็ทำเหมือนมีใจ
ไม่ทันไรเดี๋ยวเดียวก็กลายเป็นอื่น
ไม่มีหัวใจอย่าทน ไม่อยากรักกันอย่าฝืน
บอกเลยฉันเป็นคนอื่นจะไม่ฝืนหัวใจ

*อย่าโลเลอย่างลม อย่าเรรวนร่ำไร
ฉันดูไม่ออกว่าเธอน่ะคิดยังไง
อย่าลังเลอยู่เลย อย่าล่องลอยเรื่อยไป
สายลมโชยเอื่อย รักเธอจนเหนื่อยหัวใจ

คนไม่มีใจ อย่าทำเหมือนมีใจ
เปิดได้ไหมเผยใจให้เห็นกันหน่อย
ถ้ามีหัวใจจะรอ ถ้าอยากรักกันจะคอย
บอกเพียงว่ารักสักหน่อยก็จะคอยเรื่อยไป

*อย่าโลเลอย่างลม อย่าเรรวนร่ำไร
ฉันดูไม่ออกว่าเธอน่ะคิดยังไง
อย่าลังเลอยู่เลย อย่าล่องลอยเรื่อยไป
สายลมโชยเอื่อย รักเธอจนเหนื่อยหัวใจ

กลางปี ๒๕๔๘

-ไม่บังเอิญ-

หากบังเอิญสายตาเธอจะผ่านมาที่ฉัน
และเธอนั้นบังเอิญจะสนใจ
หากบางทีสายตาเธอเจอสิ่งที่ซ่อนไว้
ก็คงเพราะว่าใจเราตรงกัน

แต่มันคงไม่มีทางเป็นอย่างที่คิดไว้
และเราไม่มีทางจะรักกัน
และไม่มีเรื่องบังเอิญจะเกิดขึ้นทั้งนั้น
เพราะฉันคิดฝันไปคนเดียว

* อยู่กับความเหงา... กอดกับความฝัน
อยู่กับความหวังที่มันยังไม่หายไป
อยู่กับความรัก... ที่มันบังเอิญไม่เป็นใจ
เพราะไม่มีทางจะมีเธอ

ก็คงเป็นเพราะความจริง... มันต่างจากที่ฝัน
และเธอนั้นไม่เคยจะสนใจ
แต่บังเอิญฉันยืนยัน... จะเก็บความฝันไว้
เก็บมันไว้ให้เธอเพียงคนเดียว

มีเพียงความเหงา มีเพียงความฝัน
เพียงเธอเท่านั้นที่มันยังขาดหายไป
ก็มีความรัก.... แต่เธอบังเอิญไม่มีใจ
ฉันไม่มีทางจะมีเธอ...
ก็ฝันว่าซักวัน..... จะมีเธอ

อนาคต (หวังว่า)

-แด่คนเคยรัก-

แด่คนที่ฉันเคยรัก แด่คนที่เคยซื่อตรง
ที่พาชีวิตฉันพลัดฉันหลงไม่มีชิ้นดี
เธอทำให้ฉันหัวเราะ เธอทำให้ฉันร้องไห้
เธอทำชีวิตที่มีความหมาย ฉันตายทั้งเป็น

*ฉันมันไม่ดีตรงไหน โง่เกินไปหรือเปล่า
แผลที่เธอทำมันลึกมันร้าว มันเข้าไปฝังใจ
ฉันมันไม่ดีตรงไหน จะบ้าจะตายเพราะเธอ
หัวใจยังจำยังคิดคิดเสมอ ถึงเธอคนทำ

เธอทำให้ฉันหัวเราะ เธอทำให้ฉันร้องไห้
แต่คงเป็นคนสุดท้ายที่ฉันจะยอมให้ทำ
ให้เธอเป็นคนสุดท้ายที่ฉันนั้นยอมให้ทำ

วันอาทิตย์, พฤษภาคม 29, 2548

วันนี้ชี้ชะตาธรรมนูญยุโรป

อีกไม่ถึงสองชั่วโมง เราก็ได้รู้กันแล้วว่าธรรมนูญยุโรปจะมีชีวิตต่อหรือมีอันเป็นไป รัฐบาลฝรั่งเศสโดยประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัคตัดสินใจจัดให้มีการลงประชามติให้สัตยาบันธรรมนูญยุโรปในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม การลงประชามติในครั้งนี้ไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อชาวฝรั่งเศสเอง หากแต่ยังส่งผลถึงชาวยุโรปด้วย ถ้าผลออกมาไม่รับรอง นั่นก็หมายความว่า ธรรมนูญยุโรปฉบับนี้เป็นอันไม่มีผลใช้บังคับ

ความเดิมเริ่มจากสนธิสัญญามาสทริชที่เป็นกลไกหลักในการดำเนินงานของสหภาพยุโรปได้ผ่านการใช้งานมา ๑๐ ปีเศษ พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคบางประการทำให้การดำเนินงานของสหภาพยุโรปเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับมีการขยายตัวของรัฐสมาชิกออกไปจากเดิม ๑๕ ประเทศเป็น ๒๕ ประเทศ จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงกลไกต่างๆ ด้วยการจัดทำร่างธรรมนูญยุโรป

ผ่านไปสองปีเศษ ในที่สุดสนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญยุโรป (Le traité établissant une Constitution pour l'Europe) ก็ได้รับการลงนามเห็นชอบ ณ กรุงโรมโดยประมุขของรัฐสมาชิกเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๐๐๔

สนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญยุโรปกำหนดว่า สนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญยุโรปจะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อ ๒๕ รัฐสมาชิกให้สัตยาบัน หากมีเพียงรัฐสมาชิกเพียงรัฐเดียวที่ไม่ให้สัตยาบัน ธรรมนูญยุโรปก็เป็นอันสิ้นผลไป เท่ากับว่าธรรมนูญยุโรปนี้จะอยู่หรือจะไปต้องมีมติเอกฉันท์จากรัฐสมาชิกทั้งหมด ส่วนแต่ละรัฐสมาชิกจะให้สัตยาบัน ด้วยวิธีการใดให้เป็นไปตามกฎหมายภายในของแต่ละรัฐสมาชิก

ประเทศที่จัดให้มีการให้สัตยาบันด้วยช่องทางรัฐสภา คือให้รัฐสภาเป็นผู้ลงมติ มี ๑๕ ประเทศ ได้แก่ เยอรมัน เบลเยียม สวีเดน ฟินแลนด์ เอสโตเนีย แลตเวีย ลิธัวเนีย ไซปรัส สโลเวเนีย สโลวะเกีย กรีซ ฮังการี ออสเตรีย อิตาลี มอลตา

ประเทศที่จัดให้มีการให้สัตยาบันด้วยช่องทางประชามติ คือให้ประชาชนเป็นผู้ลงมติโดยตรง มี ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ไอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก สเปน โปแลนด์ ฮอลแลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส สาธารณรัฐเชค

ขณะนี้ประเทศที่ให้สัตยาบันไปแล้วมี ๙ ประเทศ คือ
ลิธัวเนีย (ผ่านโดยรัฐสภา, ๑๑ พ.ย.๒๐๐๔)
ฮังการี (ผ่านโดยรัฐสภา, ๒๐ ธ.ค.๒๐๐๔)
อิตาลี (ผ่านโดยรัฐสภา, ๒๕ มกราคม ๒๐๐๕)
สโลเวเนีย (ผ่านโดยรัฐสภา, ๑ ก.พ.๒๐๐๕)
สเปน (ผ่านโดยประชามติเมื่อ ๒๐ ก.พ. ๒๐๐๕)
กรีซ (ผ่านโดยรัฐสภา, ๑๙ เม.ย.๒๐๐๕)
สโลวะเกีย (ผ่านโดยรัฐสภา, ๑๑ พ.ค. ๒๐๐๕)
ออสเตรีย (ผ่านโดยรัฐสภา, ๑๒ พ.ค. ๒๐๐๕)
เยอรมัน (ผ่านโดยรัฐสภา, ๒๗ พ.ค. ๒๐๐๕)

เหลืออีก ๑๖ ประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบันแบ่งเป็น ๗ ประเทศที่ใช้ช่องรัฐสภา ได้แก่
เบลเยียม (อยู่ในระหว่างพิจารณา)
ไซปรัส (อยู่ในระหว่างพิจารณา)
แลตเวีย (อยู่ในระหว่างพิจารณา)
มอลตา (ก.ค.๒๐๐๕)
เอสโตเนีย (ปลายปี ๒๐๐๕)
สวีเดน (ธันวาคม ๒๐๐๕)
ฟินแลนด์ (ธันวาคม ๒๐๐๕)

และ ๙ ประเทศที่ใช้ช่องประชามติ ได้แก่
ฝรั่งเศส (๒๙ พ.ค. ๒๐๐๕)
ฮอลแลนด์ (๑ มิ.ย. ๒๐๐๕)
ลักเซมเบิร์ก (๑๐ ก.ค. ๒๐๐๕)
โปแลนด์ (๒๕ ก.ย. ๒๐๐๕)
เดนมาร์ก (๒๗ ก.ย. ๒๐๐๕)
โปรตุเกส (ต.ค.๒๐๐๕)
ไอร์แลนด์ (ต้นปี ๒๐๐๖)
อังกฤษ (ฤดูใบไม้ผลิ ๒๐๐๖)
สาธารณรัฐเชค (ยังไม่กำหนด)

กล่าวสำหรับฝรั่งเศส ประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัคได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า เพื่อประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางเช่นกรณีรัฐธรรมนูญยุโรปนี้ ตนจะไม่ถือสิทธิให้สัตยาบันสนธิสัญญาแต่เพียงลำพัง แต่จะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป

รัฐบาลได้ทำร่างกฎหมายมาฉบับหนึ่ง ชื่อว่า “ร่างรัฐบัญญัติอนุญาตให้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป” จากนั้นก็ให้ประชาชนมาลงประชามติต่อร่างรัฐบัญญัตินี้ในปัญหาที่ว่า “ท่านเห็นชอบกับร่างรัฐบัญญัติซึ่งอนุญาตให้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปหรือไม่”

ว่าให้ชัดคือ ประชาชนไปลงประชามติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐบัญญัติ เมื่อร่างรัฐบัญญัติได้รับความเห็นชอบก็เท่ากับว่าอนุญาตให้ประธานาธิบดีไปให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปได้นั่นเอง

กล่าวสำหรับการลงประชามติในฝรั่งเศสนั้น นับแต่เริ่มนำระบบการลงประชามติมาใช้ในสาธารณรัฐที่ ๕ ตั้งแต่ปี ๑๙๕๘ ฝรั่งเศสมีการลงประชามติรวม ๙ ครั้ง

ครั้งแรก วันที่ ๒๘ กันยายน ๑๙๕๘
การลงประชามติในเรื่องให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๘ ร้อยละ ๘๒.๖๐ เห็นด้วย
ครั้งที่สอง วันที่ ๘ มกราคม ๑๙๖๑
การลงประชามติในเรื่องการปกครองตนเองของชาวแอลจีเรีย ร้อยละ ๗๔.๙๙ เห็นด้วย
ครั้งที่สาม วันที่ ๘ เมษายน ๑๙๖๒
การลงประชามติในเรื่องข้อตกลงเมืองเอเวียงว่าด้วยการหยุดยิงที่แอลจีเรีย ร้อยละ ๙๐.๘๑ เห็นด้วย
ครั้งที่สี่ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๑๙๖๒
การลงประชามติในเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ร้อยละ ๖๒.๒๕ เห็นด้วย
ครั้งที่ห้า วันที่ ๒๗ เมษายน ๑๙๖๙
การลงประชามติในเรื่องการกระจายอำนาจให้แคว้นและการเปลี่ยนแปลงบทบาทของวุฒิสภา ร้อยละ ๕๒.๔๑ ไม่เห็นด้วย โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนมากถึงร้อยละ ๘๐
ครั้งที่หก วันที่ ๒๓ เมษายน ๑๙๗๒
การลงประชามติในเรื่องการรับสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์เข้าเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ร้อยละ ๖๘.๓๒ เห็นด้วย มีผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิร้อยละ ๓๙.๗๖
ครั้งที่เจ็ด วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๑๙๘๘
การลงประชามติในเรื่องสถานะใหม่ของนิว คาลีโดเน ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ร้อยละ ๘๐ เห็นด้วยแต่มีผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ ๖๓.๑๑
ครั้งที่แปด วันที่ ๒๐ กันยายน ๑๙๙๒
การลงประชามติในเรื่องรับรองสนธิสัญญามาสทริชซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่วางรากฐานสหภาพยุโรปในปัจจุบันนี้ ร้อยละ ๕๑.๐๕ เห็นด้วย ผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิร้อยละ ๓๐.๓๑
ครั้งที่เก้า วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๐๐๐
การลงประชามติในเรื่องลดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจากเดิม ๗ ปีให้เหลือ ๕ ปี ร้อยละ ๗๓.๒๑ เห็นด้วย ผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิสูงเป็นประวัติการณ์เกือบร้อยละ ๗๐

การลงประชามติครั้งที่สิบในวันนี้ เดิมคิดกันว่าไม่น่ามีปัญหาสำหรับฝรั่งเศส เพราะเป็นพี่เบิ้มของยุโรปแถมยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำธรรมนูญยุโรปนี้อีกด้วย แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายต่างเสียงแตก

พรรคการเมืองขวาจัด ร้อยละ ๙๐ ไม่เอา
พรรคการเมืองขวากลาง ร้อยละ ๘๐ เอา
พรรคการเมืองซ้ายกลาง ร้อยละ ๔๕ เอา
พรรคการเมืองซ้ายจัด ร้อยละ ๘๙ ไม่เอา

การสำรวจโพลล์ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ฝ่ายไม่เห็นด้วยมีคะแนนนำฝ่ายเห็นด้วยตลอด การสำรวจครั้งสุดท้ายก่อนลงประชามติ พบว่าร้อยละ ๕๓ ไม่เห็นด้วยและร้อยละ ๔๗ เห็นด้วย

น่าคิดนะครับว่าถ้าให้ชีรัคย้อนเวลากลับไปได้ เค้าจะเปลี่ยนใจให้รัฐสภาเป็นผู้ให้สัตยาบันธรรมนูญยุโรปนี้หรือไม่ ชีรัคคงคาดไม่ถึงว่า ผลการลงประชามติจะส่อแววออกมาว่าไม่ผ่าน จึงตัดสินใจใช้ช่องทางประชามติเพื่อสร้างความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

ในขณะที่ประเทศอื่นๆเช่นเยอรมันเกรงว่าจะไม่ผ่านหากใช้ช่องทางประชามติ จึงเลี่ยงไปให้ใช้ช่องรัฐสภาแทนหรืออังกฤษก็เป็นอีกประเทศที่ฉลาดมาก เพราะขอเป็นประเทศสุดท้ายที่จะให้สัตยาบัน
หากมีประเทศอื่นๆที่ไม่ให้สัตยาบัน ก็เท่ากับว่าธรรมนูญยุโรปนี้ล่มไปโดยไม่ใช่ความผิดของอังกฤษ ทั้งที่เราทราบกันดีว่า ประเทศที่เสี่ยงที่สุดที่จะไม่ให้สัตยาบันธรรมนูญยุโรปคืออังกฤษนั่นเอง

งานนี้โทนี่ แบลร์อาจไม่ต้องออกแรงมาก หากผลการลงประชามติที่ฝรั่งเศสไม่ผ่าน

.......................

ไม่น่าแปลกใจที่ค่ำคืนนี้สายตาหลายคู่ของชาวยุโรปจะจับจ้องไปที่ผลการลงประชามติของฝรั่งเศส
เพราะการลงประชามติครั้งนี้ไม่ได้มีผลต่อชาวฝรั่งเศสเท่านั้นแต่มีผลต่อโครงสร้างใหม่ของสหภาพยุโรปด้วย หากชาวฝรั่งเศสไม่เห็นด้วย ประเทศที่ให้สัตยาบันไปแล้วก็ไม่เกิดผล ในขณะที่การให้สัตยาบันของประเทศอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าก็ไม่มีความจำเป็น

กล่าวให้ถึงที่สุด งานนี้ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ชี้ชะตาให้สหภาพยุโรป

เป็นที่น่าสงสัยว่าฝรั่งเศสจะสูญเสียบทนำในสหภาพยุโรปหรือไม่ ถ้าการลงประชามติครั้งนี้ของฝรั่งเศสไม่ผ่าน

อีกไม่กี่ชั่วโมงรู้กันครับ
......................

ป.ล. บล็อกวันนี้ผมเขียนสั้นๆ จริงๆยังมีรายละเอียดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมาก แต่เนื่องจากผมพึ่งฟื้นตัวหลังจากเมื่อวานไปฉลองอย่างเต็มคราบที่น็องตส์รอดตกชั้น วันนี้เลยมีเวลาเขียนบล็อกนิดเดียว งานจึงออกมาหยาบๆ ประกอบกับตอนนี้ผมต้องไปตามข่าวผลการลงประชามติด้วย ถ้าผลออกมาว่าผ่าน พรุ่งนี้ผมจะมาว่าถึงเนื้อหาคร่าวๆของธรรมนูญยุโรปนี้พร้อมกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเพิ่มเติม รอติดตามชมครับ

ป.ล. ล่าสุดปิดหีบไปแล้วเว้นที่ปารีสที่เหลือเวลาอีก ๒ ชั่วโมง ปรากฏว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิมากถึงร้อยละ ๖๗ คาดการณ์กันว่าน่าจะถึง ๗๐ – ๗๕ ถ้าออกมาใช้สิทธิเยอะๆแบบนี้ ผมมีลางสังหรณ์ว่าน่าจะผ่านไปได้

วันอังคาร, พฤษภาคม 24, 2548

โอ้นกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำแล้วจะนอนไหนเอย ...

เสาร์ที่ผ่านมา แฟนบอลชาวไทยคงจับจ้องไปที่เอฟเอคัพนัดชิงชนะเลิศระหว่างอาร์เซน่อลกับแมนฯยูฯ แต่ความสนใจของผมกลับมุ่งไปที่ลีก เอิง ลีกที่บ้านเราไม่ค่อยเหลียวมองเว้นแต่แฟนบอลเฉพาะกิจจำพวกเล่นบอลชุด ผมก็ไม่ได้พิสมัยมันนักหรอกครับ เบื่อจะตายชัก นักบอลไม่ดัง ยิงประตูก็น้อย แต่จำเป็นต้องตามครับช่วงนี้

ผมมาอยู่ฝรั่งเศสเกือบสามปีแล้ว ก็ต้องหาทีมฟุตบอลเชียร์ จริงๆก็ไม่ได้ประทับใจลีลาอะไรเท่าไร แต่ผมเลือกเชียร์น็องต์ด้วยเหตุผลสามประการ

หนึ่ง ผมอยู่เมืองนี้ก็น่าจะเชียร์ทีมฟุตบอลประจำเมืองนี้ จะไปเชียร์ลียงก็กระไรอยู่
สอง ผมลุ้นให้น็องต์ได้อันดับดีๆ หรือเป็นแชมป์เลยยิ่งดีใหญ่ จะได้มีโอกาสไปเล่นถ้วยยุโรป เผื่อฟลุคๆมีทีมดังๆจากประเทศอื่นมาเยือน ผมจะได้ไปชมถึงขอบสนาม
สาม น็องต์เป็นจอมปั้นนักบอล ผมนี่ชอบนักทีมที่ปั้นเด็กๆ

พอผมเริ่มมาเชียร์ก็ได้เรื่องเลย...

ปีที่แล้ว น็องต์เข้าถึงรอบรองฯทั้งถ้วยลีก คัพ และเฟรนช์ คัพ (เทียบเท่าเอฟเอ คัพ) ผมลุ้นเต็มที่เลยครับ เพราะอันดับในลีกก็ไม่ค่อยดี โอกาสไปเล่นถ้วยยุโรปต้องมาหวังกับการได้แชมป์บอลถ้วยในประเทศแทน แต่ไปไม่ถึงฝันทั้งสองถ้วย ลีก คัพ ดวลจุดโทษแพ้โซโชซ์ เฟรนช์ คัพ ซ้ำรอยด้วยการแพ้จุดโทษเปแอสเช เดชะบุญ ยังจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ ๖ ได้สิทธิไปเตะอินเตอร์ โตโต้ เช่นเคยครับไม่ถึงฝันไปถึงรอบรองฯ

ผมเลยไม่มีโอกาสได้ชมน็องต์ในสังเวียนยุโรป

มาฤดูกาลนี้ นึกว่าจะดีกว่าเดิม กลับตรงกันข้าม บอลถ้วยตกรอบหมด ลีกคัพแพ้โอแซร์ เฟรนช์คัพแพ้หมูซึ่งเป็นแค่ทีมสมัครเล่น อันดับในตารางก็ร่อแร่จะตกชั้นเต็มทน

นี่ไงครับเป็นเหตุให้ผมต้องรวบรวมสรรพกำลังทั้งหมดไปลุ้นน็องต์ในนัดสุดท้าย

...............

น็องต์ก่อตั้งสโมสรเมื่อ ๒๑ เมษายน ๑๙๔๓ โดยนายมาร์แซล โซแป็ง ใช้นกขมิ้นเหลือง หรือ Les Canaries เป็นสัญลักษณ์ สีประจำทีมคือสีเขียวกับเหลือง (ไม่ใช่แท็กซี่มิเตอร์นะครับ)

น็องต์เริ่มจากทีมสมัครเล่นและไต่ขึ้นสู่ดิวิชั่นสองได้ในในฤดูกาล ๑๙๔๕-๔๖ ใช้เวลาเกือบยี่สิบปีจึงประสบความสำเร็จได้ขึ้นมาเล่นลีก เอิงในฤดูกาล ๑๙๖๓-๖๔ นับแต่นั้น น็องต์ไม่เคยย่างกรายลงไปสู่ลีก ๒ อีกเลย เมื่อฤดูกาล ๒๐๐๒-๐๓ พึ่งฉลองครบรอบ ๔๐ ปีในลีก เอิงไป นับเป็นทีมแรกและทีมเดียวที่ครองสถิติอยู่บนลีก เอิงยาวนานที่สุด

ลีก เอิงปีแรก น็องต์ทำได้ไม่เลว จบที่อันดับ ๘ ปีถัดมา ฤดูกาล๑๙๖๔-๖๕ วงการฟุตบอลฝรั่งเศสก็ตกตะลึงเมื่อน็องต์คว้าแชมป์ลีก เอิงได้ เท่านั้นยังไม่พอ ฤดูกาล ๑๙๖๕-๖๖ น็องต์ยังได้แชมป์ลีก เอิงต่ออีกปี กลายเป็นทีมแรกที่ใช้เวลาแค่สองปีก็สามารถครองบัลลังก์ลีก เอิงสำเร็จ แถมยังครองสองปีติดต่อกันด้วย

สิบปีนับแต่ที่ขึ้นมาเล่นลีกเอิง น็องต์ภายใต้การคุมทีมของโจเซ่ อาร์ริบาส กวาดแชมป์ลีก เอิง ไปสามสมัย

ทศวรรษต่อมาตั้งแต่ฤดูกาลที่ ๑๙๗๓-๗๔ ถึง ๑๙๘๑-๘๒ ถือเป็นยุคทองของ ฌอง แว็งต์ซ็อง แกคุมทีมเกือบสิบปี กวาดแชมป์ลีก เอิงไปสองสมัย แชมป์เฟรนช์คัพอีกหนึ่งสมัย ก่อนจะลาออกไปคุมทีมชาติแคเมอรูนเพื่อลุยศึกฟุตบอลโลก ๑๙๘๒ ที่อิตาลี นักฟุตบอลของน็องต์ที่ดังสมัยนั้นก็มี อองรี มิเชล (คนนี้แขวนสตั๊ดไปตอนปี ๑๙๘๒ เพื่อไปช่วยมิเชล ฮิดัลโก้คุมทีมชาติฝรั่งเศส ต่อมาขยับขึ้นไปคุมเอง) โลอิก อามิสส์ (คนนี้ลูกหม้อเล่นให้น็องต์จนแขวนสตั๊ดก่อนผันตัวมาเป็นโค้ชจนได้ขึ้นมาคุมน็องต์ชุดใหญ่ พึ่งถูกเด้งไปเมื่อธันวาคมปีที่แล้ว) แม็กซิม บ็อคซิซ (นี่ก็ทีมชาติฝรั่งเศส) วาฮิด ฮาลิดฮอดซิซ (ดาวซัลโวประจำทีม อดีตโค้ชเปแอสเชพึ่งโดนเด้งไปเหมือนกัน) กีย์ ลากง (โค้ชโซโชซ์ คนปั้นเบอนัวต์ เปอเดร็ตติจนติดทีมชาติ ตอนนี้มีข่าวว่าเป็นคู่แข่งกับเฮียโปนที่จะไปคุมลียง)

ทศวรรษต่อมาน็องต์ยังคงกวาดแชมป์เรื่อยๆ เรียกได้ว่าถ้าไม่ได้ที่หนึ่งก็ต้องเกาะหัวแถวตลอด จนกระทั่งฤดูกาล ๑๙๙๑-๙๒ น็องต์ประสบวิกฤตการเงินอย่างหนัก จนสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศสจะปรับให้ตกชั้นหากยังแก้สถานการณ์ไม่ได้ แต่เคราะห์ดี เจ้าของทีมคนเก่าขายหุ้นให้รายใหม่ไป และเปลี่ยนชื่อจาก แอฟ.เซ. น็องต์ เป็น แอฟ.เซ. น็องต์ แอตล็องติก

หลังผ่านวิกฤตการเงินได้ น็องต์ก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและกลับมาทวงบัลลังก์คืนได้ในฤดูกาล ๑๙๙๔-๙๕ ซึ่งถือเป็นฤดูกาล “มหัศจรรย์” ตลอด ๓๘ นัด น็องต์พบความปราชัยเพียงสองนัด นอกจากนี้ปราทิซ โลโก้ยังคว้าดาวซัลโวลีก เอิงไป ทำไป ๒๒ ประตู แถมรองดาวซัลโวก็ยังเป็นนิโกลาส์ อูเอเด๊คคู่ขาที่ทำไป ๑๘ ประตู ทีมชุดนี้เป็นวัยรุ่นล้วนๆที่ทีมสร้างมากับมือ และผลของการดังทะลุฟ้าในครั้งนี้ทำให้หลายคนขึ้นไปติดทีมชาติและมีทีมใหญ่ๆมาขอซื้อตัวไป

ปีถัดมา น็องต์ได้เข้าไปเล่นถ้วย UCL เป็นครั้งแรก โชว์ผลงานดีเกินคาด ปราบทีมดังๆมาเพียบ จนไปถึงรอบรองชนะเลิศ แพ้ยูเวนตุสไปด้วยประตูรวม ๔-๓ ปีนั้น มิคคาแอล ล็องโดร ผู้รักษาประตู แจ้งเกิดด้วยวัยเพียง ๑๗ ปี

นักบอลที่โด่งดังในชุดนั้นก็มี คริสติยอง การอมเบอ, ปาทริซ โลโก้, นิโกลาส์ อูเอเด๊ค, เรย์นัลด์ เปย์โดรส, โคล้ด มาเกเลเล่, ฌาเฟต เอ็นโดราม, เบอนัวต์ โกเอต์, ฌอง มิเชล แฟร์รี่ ยังไม่รวมถึงมาร์แซล เดอไซยี่ และดิดิเยร์ เดส์ชองส์ที่ขายให้มาร์เซย์ไปก่อนและ ฮอร์เก้ เบอร์รูชาก้า (คนนี้คู่ขาเสือเตี้ยมาราโดน่าในทีมชาติอาร์เจนติน่า เป็นคนยิงประตูสุดท้ายดับเยอรมันตะวันตกในนัดชิงฟุตบอลโลก ๑๙๘๖) ที่แขวนสตั๊ดไป

ทีมชุดนี้ทำให้ผมได้ยินชื่อน็องต์ครั้งแรก สมัยนั้นอยู่มัธยม อ่านสตาร์ซอคเกอร์ เวิร์ลด ซอคเกอร์หรือสยามกีฬาสตาร์ซอคเกอร์ จะได้ยินแต่ โอลิมปิก มาร์เซย์, เปแอสเช, โมนาโก ไม่ต้องพูดถึงลียงมหาอำนาจลูกหนังฝรั่งเศสปัจจุบันเลยครับ ตอนนั้นยังขึ้นๆลงๆระหว่างลีก เอิงกับลีก ๒ อยู่

น็องต์กลับมาเป็นแชมป์ลีก เอิงได้อีกครั้งในปี ๒๐๐๐-๐๑ โดยสวมวิญญาณม้าตีนปลายเร่งแซงลียงในช่วงท้ายฤดูกาล ก่อนที่สี่ฤดูกาลหลังสุดลียงจะขึ้นครองตำแหน่งมหาอำนาจลูกหนังแดนน้ำหอมอย่างเต็มตัวด้วยการกวาดแชมป์ลีก เอิงสี่สมัยรวด (ฤดูกาลหน้าจะเป็นการวัดความแกร่งของลียงอย่างแท้จริงว่าจะรักษามาตรฐานเดิมได้หรือไม่ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้จัดการและนักเตะดังๆย้ายไปหมด)

น็องต์ชุดปี ๒๐๐๐-๐๑ มีนักเตะดังๆเช่น มิคคาแอล ล็องโดร (ประตูมือสามทีมชาติฝรั่งเศส) เอริค การ์ริแยร์ (อดีตทีมชาติฝรั่งเศส), วิโอเรล มอลโดวาน (หัวหอกโรมาเนีย), มาริโอ เยเปส (ปราการหลังทีมชาติโคลัมเบีย), ซิลแว็ง อาร์มองด์ (แบ็คซ้ายพึ่งขึ้นไปติดทีมชาติฝรั่งเศส), โอลิวิเยร์ มอนเตร์รูบิโอ (ปัจจุบันอยู่แรนส์ ช่วยยิงจนพาแรนส์อยู่ที่ห้าในขณะนี้) เอริค เฌมบ้า เฌมบ้า (ไปแมนฯยูฯ แต่โดนดองจนย้ายไปวิลล่า)

สรุปเกียรติประวัติของน็องต์นับแต่ก่อตั้งสโมสรมา เป็นแชมป์ลีก เอิงไป ๘ ครั้ง (1965, 1966, 1973, 1977, 1980, 1983, 1995, 2001) มากเป็นอันดับสามรองจากมาร์เซย์ที่ได้ไป ๙ สมัยและแซงต์ เอเตียนที่ได้ไป ๑๐ สมัย น็องต์ยังเป็นรองแชมป์ลีก เอิงอีก ๘ สมัย แชมป์เฟรนช์คัพ ๓ ครั้ง (1979, 1999, 2000) และแชมป์โทรฟี่แห่งแชมป์ (เทียบเท่าแชริตี้ชีลด์) อีก ๒ ครั้ง (1999, 2001)

..................

ชื่อเสียงของน็องต์อยู่ที่ฝีมือการปั้นนักเตะ ซึ่งเป็นไปตามหลักการพื้นฐานเมื่อคราวก่อตั้งสโมสรเมื่อปี ดังที่นายมาร์แซล โซแป็ง ผู้ก่อตั้งสโมสรกล่าวไว้ว่า “สโมสรฟุตบอลน็องต์เป็นสมาคมกีฬาที่ไม่มีระยะเวลาจำกัด มีวัตุประสงค์เพื่อพัฒนาสภาพร่างกายและจิตใจของเยาวชนด้วยกีฬาฟุตบอลและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิก”

ถ้าถามว่าทีมไหนเป็นอาแจกซ์ อัมสเตอร์ดัมของฝรั่งเศสที่คอยปั้นนักบอลส่งทีมใหญ่ๆ เห็นทีจะหนีไม่พ้นโอแซร์ และน็องต์

ทั้งสองสโมสรมีโรงเรียนฟุตบอลของตนเอง บรรดาผู้ปกครองที่เห็นว่าลูกๆมีแววจะเป็นนักบอลได้ก็จะพามาเข้าโรงเรียนฟุตบอลของน็องต์และโอแซร์

โรงเรียนฟุตบอลของน็องต์ชื่อ โฌแนลลิแยร์ ตั้งอยู่หลังบ้านผมนี่เองครับ เดินไปสิบห้านาทีถึง ผมเคยเห็นหลักสูตรโรงเรียนฟุตบอลของน็องต์แล้ว เขาให้เรียนหนังสือไปด้วย พอช่วงบ่ายก็เรียนแต่ฟุตบอล ใครมีฝีมือก็คัดขึ้นไปเล่นชุด ๑๔ ปี ๑๖ ปี และ ๑๘ ปีตามลำดับ ไม่ได้มีแต่คนฝรั่งเศสเท่านั้น ผมเห็นชาติอื่นๆก็เยอะ บางครั้งแมวมองก็ไปหาเด็กๆจากยุโรปตะวันออกและแอฟริกามาเข้าโรงเรียนที่นี่ด้วย

ผมลองกดไล่ดูข้อมูลนักฟุตบอลชุดใหญ่ในปัจจุบันของน็องต์ เกือบทุกคนเป็นผลผลิตจากโรงเรียนฟุตบอลโฌแนลลิแยร์ทั้งนั้น

ผลงานการปั้นนักบอลจนขึ้นไปเล่นทีมชาติฝรั่งเศสมีหลายคนมากแต่ปัจจุบันเลิกเล่นและย้ายทีมไปหมด ตั้งแต่ มาร์แซล เดอไซยี่, ดิดิเยร์ เดส์ชองส์, คริสติยอง การอมเบอ, ปาทริซ โลโก้, นิโกลาส์ อูเอเด๊ค, เรย์นัลด์ เปย์โดรส, โคล้ด มาเกเลเล่, เบอนัวต์ โกเอต์, ฌอง มิเชล แฟร์รี่, เอริค การ์ริแยร์, ซิลแว็ง อาร์มองด์

ทุกวันนี้โรงเรียนโฌแนลลิแยร์ประกาศเกียรติคุณของตนเองเสมอมาว่า โรงเรียนได้สร้างแชมป์โลกถึงสามคน คือ มาร์แซล เดอไซยี่, ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ และคริสติยอง การอมเบอ

ปัจจุบันที่ยังอยู่ในทีมก็มีทั้ง ประเภทดังไปแล้วและรอวันย้ายทีม และประเภทกำลังรุ่งและรอวันดัง

มิคคาแอล ล็องโดร ผู้รักษาประตูและกัปตันทีมวัย ๒๖ ปี ลงเล่นชุดใหญ่ครั้งแรกตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี ปัจจุบันติดทีมชาติฝรั่งเศสแต่ยังเป็นมือสาม คิดว่าหลังฟุตบอลโลก ๒๐๐๖ คงขึ้นมาเป็นมือหนึ่ง ล็องโดรมีชื่อในด้านการรับลูกจุดโทษ ถ้าคุณปิ่นยังจำได้ ถ้วย ที่ เคยพบแมนฯยูฯ ล็องโดรโชว์เซฟจุดโทษจากการยิงของใครหว่าผมจำไม่ได้

คนนี้มีข่าวทุกปีครับว่าจะย้าย ทีมใหญ่ๆมาตามเกี้ยวพาราสีตลอด ถ้าผมจำไม่ผิด สมัยก่อนแมนฯยูฯกับอาร์เซน่อลก็เคยจะเอา หลังๆเป็นทีมในประเทศที่อยากได้ตัว ผมคิดว่าปีหน้าคงไปแน่ เต็งหนึ่งที่จะเอาตอนนี้ก็มีเปแอสเช

อีกคนหนึ่ง เจเรมี่ ตูลาล็อง มิดฟิลด์ห้องเครื่อง ปีนี้คว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมของลีก เอิงไปด้วย ไม่กี่เดือนก่อนมีข่าวว่าเวนเกอร์กำลังจีบไปอาร์เซน่อลเพื่อแทนวิเอร่าในอนาคต

นอกจากนั้นยังมีอีกสามคนที่อยู่ในทีมชาติฝรั่งเศสชุดคว้าแชมป์โลกอายุไม่เกิน ๑๗ ปีเมื่อปี ๒๐๐๑ ได้แก่ เออแมส เฟย์ มิดฟิลด์ตัวรับ, สตีเฟน ดรูแอ็ง กราบขวา และลุยจิ กลอมบาร์ด กองหน้า

ส่วนทีมชาติฝรั่งเศสชุดคว้าแชมป์ยุโรปอายุไม่เกิน ๑๗ ปีเมื่อปี ๒๐๐๔ ก็มีนักเตะจากโรงเรียนฟุตบอลของ อีกสามคน คือ ฌอง-คริสโตฟ เก็ตโต้, คาริม เอล มารูเบต์ และสตีเฟน ติโกต์

.....................

ในปีนี้สาเหตุที่น็องต์ตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผมคิดว่ามาจากสามประเด็นหลัก

หนึ่ง สถานการณ์ในวงการฟุตบอลปัจจุบันไม่เอื้อต่อทีมที่สร้างนักเตะขึ้นเอง

จากกฎบอสแมนและความเป็นเจ้าบุญทุ่มของทีมมหาอำนาจ ยิ่งทำให้ทีมเล็กๆที่สร้างนักบอลขึ้นเองอยู่ไม่ได้ เงินไม่มีพอไปซื้อนักบอลดีๆ แถมตัวดีๆที่มีก็ต้องขายไปเอาเงินเข้าสโมสร ซ้ำร้ายบางครั้งเจอกฎบอสแมนเข้าไปอีก ทีมใหญ่ๆฉกนักบอลดีๆไปฟรีๆโดยการจูงใจด้วยค่าเหนื่อยแพงๆซึ่งทีมเล็กไม่มีปัญญาให้ได้

ที่พอเอาตัวรอดก็มีอย่างโอแซร์กับอาแจ๊กซ์ยังได้ไปเล่นถ้วยยุโรปทุกปีแต่ผลงานก็ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน ที่เอาตัวไม่รอดอย่างลีดส์กับเวสต์แฮมก็ต้องตกชั้นไป หรือฟอเรสต์ที่หล่นไปไกลถึงลีกวัน (ดิวิชั่นหนึ่งในชื่อเดิม หรือ ดิวิชั่นสองในชื่อเดิมกว่า)

น็องต์ก็หนีไม่พ้นจากวัฏจักรนี้

ต่อไปทีมที่จะเป็นแชมป์ได้ไม่เพียงแต่มีนักบอลดี โค้ชดี แต่ต้องมีผู้บริหารเจ๋งๆที่สวมวิญญาณนายทุนเต็มที่ รู้จักทำมาค้าขาย ซื้อมาขายไป มีแผนการตลาดดีๆ เอาสโมสรเข้าตลาดหุ้น ฯลฯ ทำอย่างไรได้ครับ ฟุตบอลเป็นธุรกิจเต็มตัวไปแล้ว

ล่าสุดมีข่าวว่า ฌอง-ลุค กริปงด์ ประธานคนปัจจุบันจะขายทีม ไม่รู้ว่าน้าแม้วหรือนายทุนไทยคนไหนสนใจมั้ย? ผมว่าถ้าต้องการพัฒนาเด็กไทยจริงๆน่าจะส่งมาที่ฝรั่งเศสจะเหมาะกว่าอังกฤษ ผมเห็นส่งไปคริสตัล พาเลซ, ฮัดเดอร์สฟิลด์, ล่าสุดเอฟเวอร์ตันไม่เห็นได้อะไรเลย หารู้ไม่ว่าเด็กๆตกเป็นเหยื่อการตลาดของนายทุนไปแล้ว ลีกอังกฤษมีปัญหาเรื่องขอเวิร์ก เพอร์มิตมาก ถ้าอยากมีโอกาสลงเล่นและเรียนรู้จากเค้าตั้งแต่เด็กๆ ผมว่าฝรั่งเศสและฮอลแลนด์เหมาะกว่าเยอะ

สอง ขายนักเตะกำลังสำคัญไปเยอะ

ปีนี้น็องต์ขายกำลังหลักไปสามคน คือ มาริโอ เยเปส เซนเตอร์ฮาล์ฟและซิลแว็ง อาร์มองด์ แบ็คซ้าย (คนนี้ยิงดับลาซิโอใน มาแล้ว) ทั้งสองคนย้ายไปเปแอสเช อีกคนคือ มาฮาม่า วาอิรัว กองหน้าตัวจี๊ด ขายไปให้นีซ นอกจากนี้ยังมีวิโอเรล มอลโดวานกองหน้าโรมาเนียที่ย้ายกลับไปเล่นที่บ้านเกิด

เมื่อขายไปเยอะในขณะที่ตัวใหม่ๆที่ดันขึ้นมาเล่นยังทดแทนไม่ได้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ผลงานดำดิ่งลงเรื่อยๆ

สาม ยิงประตูได้น้อยมาก

ปัญหาสำคัญในปีนี้คือทุกคนสวมวิญญาณสิงห์ปืนฝืด เล่นมา ๓๗ นัด ยิงไปได้แค่ ๓๒ ประตู เฉลี่ยยิงนัดละไม่ถึงประตู กลายเป็นทีมที่ยิงประตูน้อยที่สุดเป็นอันดับสอง ดาวซัลโวประจำทีม คือ มามาดู บากาโยโก้ ยิงไป ๗ ลูก เมื่อยิงเค้าไม่ได้ก็มีแต่แพ้กับเสมอ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้หนีตกชั้นยังไงไหวล่ะครับ

ผมไปดูที่สนามมาหลายนัด เห็นแล้วก็ละเหี่ยใจ ครองบอลดี เคาะไปมาสวยงาม (อันนี้เป็นสไตล์ของทีมจอมปั้น) แต่จบสกอร์ไม่ได้ บางทียิงนำไปได้ก็ไม่นิ่งพอ มักโดนไล่ตีเสมอช่วงท้ายเกมบ่อยๆ

จริงๆก่อนหน้านี้น็องต์แต้มห่างจากพื้นที่สีแดงพอควร แต่หลังๆเสมอบ่อย ขณะที่ทีมหนีตายกลับชนะรวด จนกระทั่งนัดที่แล้ว น็องต์พลาดท่าแพ้ไป ๑-๐ แบบบุกแทบตายแต่ยิงไม่ได้ ส่วนทีมหนีตายทุกทีมชนะหมด ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าน็องต์เผชิญสถานการณ์ที่โหดที่สุดกว่าทุกทีม

สถานการณ์ในขณะนี้ อันดับที่ ๒๐ คือ อิสต์รซึ่งตกชั้นไปแน่นอนเป็นทีมแรกแล้ว มีอีก ๕ ทีมตั้งแต่ที่ ๑๕ ถึง ๑๙ ที่ต้องร่วมกันหนีตายในนัดที่ ๓๘ นัดสุดท้าย

ที่ ๑๕ บอร์กโดซ์ มี ๔๓ แต้ม ลูกได้เสีย ลบ ๔
ที่ ๑๖ อฌักซิโอ้ มี ๔๒ แต้ม ลูกได้เสีย ลบ ๖
ที่ ๑๗ ก็อง มี ๔๒ แต้ม ลูกได้เสีย ลบ ๒๓
ที่ ๑๘ บาสเตีย มี ๔๑ แต้ม ลูกได้เสีย ลบ ๑๔
ที่ ๑๙ น็องต์ มี ๔๐ แต้ม ลูกได้เสีย ลบ ๖

จาก ๕ ทีมนี้จะเอาอีก ๒ ที่ต้องตามอิสตร์ไปเล่นลีก ๒ ในฤดูกาลหน้า

นัดสุดท้ายวันเสาร์ที่ ๒๘
บอร์กโดซ์ เปิดบ้านรับ มาร์เซย์ ที่ลุ้นไปยูฟ่าคัพ
อฌักซิโอ้ เปิดบ้านรับ โซโชซ์ ที่ลุ้นพื้นที่อินเตอร์ โตโต้คัพ
ก็อง ไปเยือน อิสตร์ ที่ตกชั้นไปแล้ว
บาสเตีย ไปเยือน สตราสบูร์ก ที่ไม่ได้ลุ้นอะไร
น็องต์ เปิดบ้านรับ เม็ตซ์ ที่รอดตกชั้นแล้ว

ดูๆแล้ว บอร์กโดซ์เจอของแข็งที่สุด แต่ว่าได้เปรียบที่เล่นในบ้าน และมีแต้มตุนไว้เยอะที่สุด ขอเพียงแพ้ไม่เกิน ๑-๐ ก็รอดแล้ว ก็องกับบาสเตียเจองานเบา อฌักซิโอ้ได้เปรียบที่เล่นในบ้าน เพราะทั้งปีพึ่งแพ้ในบ้านไปสองนัด น็องต์งานเบาลงเมื่อเม็ตซ์รอดตกชั้นไปแล้ว และมีลูกได้เสียดีกว่าทีมอื่น แต่แม้จะชนะก็ต้องดูผลคู่อื่นๆด้วย

น็องต์จะรอดตกชั้นเมื่อทีมอื่นๆเสมอหรือแพ้และตนชนะ แซร์จ เลอ ดิเซต์ ผู้จัดการทีม (อดีตเป็นผู้รักษาประตูน็องต์ชุดรุ่งเรืองปี ๑๙๙๔-๙๕ และโค้ชทีมเยาวชน) ออกมาให้สัมภาษณ์แบบคนหมดอาลัยตายอยากราวกับจะร้องไห้หลังจบเกมที่แล้วว่า อนาคตของเราไม่อาจขีดได้ด้วยมือเราแต่เพียงลำพังเสียแล้ว กล้องทีวีจับภาพแฟนบอลที่เข้าไปชมเกมที่แล้ว ร่ำไห้กันเป็นแถบๆครับ

รายการ Téléfoot เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เชิญมาร์แซล เดอไซญี่ มาออก ผู้ดำเนินรายการถามถึงประเด็นนี้ เดอไซญี่ในฐานะเด็กปั้นของน็องต์บอกว่า แปลกใจเหมือนกัน เค้าไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะเห็นน็องต์อยู่ในสภาพเสือลำบากขนาดนี้ เดอไซญี่ยังมั่นใจว่านัดสุดท้ายจะมีปาฏิหาริย์ที่ทำให้น็องต์รอดตายได้

การหนีตายเฮือกสุดท้ายของน็องต์ ประเภทที่ว่าขาข้างหนึ่งหล่นไปลีก ๒ ในขณะนี้ เป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนในแวดวงกีฬาฝรั่งเศส มีทั้งอารมณ์ช็อค อารมณ์เสียดายไม่อยากให้เกิดขึ้น

จะไม่ให้เป็นได้อย่างไรครับ ก็น็องต์อยู่ยงคงกระพันมาในลีกเอิง ปีนี้เป็นปีที่ ๔๒ ติดต่อกัน ยาวนานกว่าทีมอื่นๆ มหาอำนาจอย่างแซงต์ เอเตียน (พลาตินี่เริ่มดังที่นี่) ก็หล่นไปและพึ่งกลับมาได้ในปีนี้ หรือมาร์เซย์ก็โดนปรับลดชั้นฐานจ้างล้มบอลมาแล้ว

ผมเกรงว่าถ้าหล่นปีนี้แล้วจะหล่นยาว แบบไปจนกู่ไม่กลับหรือเปล่า? เพราะสภาพการณ์ปัจจุบัน ทีมจอมปั้นคงอยู่ได้ลำบาก

ในทางกลับกัน ไม่แน่ถ้ารอดตายปีนี้ ปีหน้าอาจจะวิ่งฉิวกลับไปลุ้นแชมป์ก็ได้ (อันนี้ผมฝันเอาเอง)

......................

ผมซื้อตั๋วนัดสุดท้ายไว้เรียบร้อยแล้ว ราคาถูกแบบเหลือเชื่อครับ ตั๋วฝั่งหลังโกล์ปกติราคาอยู่ที่ ๑๕ ยูโร แต่นัดนี้เหลือแค่ ๕ ยูโร ขณะที่ด้านข้างที่แพงที่สุดเดิม ๔๐ ยูโร นัดนี้เหลือแค่ ๑๕ ยูโร อย่างไรก็ตามผมก็ซื้อตั๋วหลังโกล์มา อย่าคิดว่าผมงกนะครับ เรื่องของเรื่องกองเชียร์ขาประจำนิยมหนังหลังโกล์ แล้วเชียร์กันมันมาก

หลังเกมนี้ผมคงได้ประสบการณ์แปลกใหม่แน่นอนครับ ในแง่ดี หากน็องต์รอดตาย ผมก็มีโอกาสร่วมอยู่ในบรรยากาศดีใจราวกับเป็นแชมป์ของกองเชียร์ (ดูเวสต์บรอมวิชเป็นตัวอย่างได้) ในแง่ร้าย หากน็องต์ตกชั้น ผมก็ได้ร่วมเศร้าและอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันหนึ่งในวงการฟุตบอลฝรั่งเศส

เสาร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๐๐๕ ตั้งแต่ ๑๙.๐๐ ก่อนเกมเริ่มหนึ่งชั่วโมง ณ สนาม สต๊าด เดอ ลา โบชัวร์ เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส ผมจะสวมหมวกสโมสร แขวนผ้าพันคอสโมสร เข้าสนามไปร่วมเปล่งเสียงเชียร์ดังๆกับเหล่า เลส์ กานารีส์

“Allez les jaunes”
“Allez les nantais”
“Qui n’est sautais pas n’est pas nantais”

นกขมิ้นของพรีเมียร์ชิพอังกฤษร่วงไปแล้วหนึ่งตัว หวังว่านกขมิ้นของลีกเอิงจะไม่ร่วงตามไปด้วยนะครับ

วันเสาร์, พฤษภาคม 21, 2548

Un enfant ? Si je veux … quand je veux

ผมมีอาการเจ็บป่วยทางใจส่งผลให้ร่างกายทรุดไปด้วย สาเหตุเดิมๆครับ ตั้งใจว่าจะอยู่ในวังวนนี้ไม่เกินวันอาทิตย์ ภายในวันจันทร์ผมหวังจะกลับมาเป็นผู้เป็นคนให้ได้ อาจต้องเสาะแสวงหาคลินิกลบความทรงจำอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Eternal sunshines แต่ผมอยากให้หมอมีออพชั่นพิเศษแบบลบเป็นเรื่องๆได้ ไม่อยากให้ลบทิ้งหมดอ่ะ

พอเสียใจ ใจก็เสีย กายก็เสีย สมองก็ฝืดตามไปด้วย แต่ไม่อยากทิ้งบล็อกนานครับ เลยขอเอาของเก่ากลับมาหากินใหม่ เรื่องที่ผมลงในบล็อกวันนี้ผมเขียนเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ลงเว็บไซต์กฎหมายแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการทำแท้งในยุโรป

ประโยค « Un enfant ? Si je veux … quand je veux » ที่ผมใช้เป็นชื่อเรื่องวันนี้ เป็นสโลแกนหลักในการชุมนุมเรียกร้องให้มีกฎหมายอนุญาตทำแท้งในฝรั่งเศส แปลได้ประมาณว่า “ถ้าฉันอยากมีลูก ฉันก็จะมี แต่ถ้าฉันไม่อยาก ฉันก็จะไม่มี” สตรีชาวฝรั่งเศสที่มาชุมนุมจะเปล่งเสียงตะโกนนี้ไปทั่ว เธอมองว่าตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์เป็นของเธอ เธอมีสิทธิเลือกว่าจะให้ออกเป็นทารกหรือจะทำลายทิ้งเสีย

..................

๒๙ พฤศจิกายน ๒๐๐๔ สภาผู้แทนราษฏรให้ความเห็นชอบร่างรัฐบัญญัติอนุญาตให้มีการทำแท้งเสรีที่นางซีโมน เวย (Simone Veil) รมต.สาธารณสุข (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ) เป็นผู้เสนอ การอภิปรายก่อนลงมติใช้เวลายาวนานสามวันสามคืน ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๒๘๔ ต่อ ๑๘๙ เป็นที่น่าสังเกตว่าเสียงที่ลงมติเห็นชอบกลับมาจากพรรคสังคมนิยมและพรรคฝ่ายซ้ายอื่นๆที่เป็นฝ่ายค้าน ในขณะที่ส.ส.จำนวนมากของพรรคฝ่ายขวาที่เป็นรัฐบาลกลับลงมติไม่เห็นชอบ (เสียงข้างมากในสภาของพรรคฝ่ายขวามี ๒๙๒ เสียงแต่กลับลงมติเห็นชอบเพียง ๙๙ เสียง) เรียกได้ว่า กฎหมายนี้ผ่านได้เพราะฝ่ายค้านช่วยไว้โดยแท้ (กรณีฝ่ายค้านช่วยลงมติรับร่างกฎหมายเช่นนี้คงเกิดขึ้นได้ยากหรืออาจไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย)

เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคฝ่ายขวามีทัศนคติที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมต่อการทำแท้งแต่เหตุใดรัฐบาลฝ่ายขวาภายใต้นายกรัฐมนตรีฌาคส์ ชีรัคและประธานาธิบดีวาเลรี่ จิสการ์ด เดสแต็งซึ่งก็มาจากฝ่ายขวากลับผลักดันกฎหมายนี้ เหตุต่อเนื่องมาจากนายจิสการ์ด เดสแต็งได้หยิบหยกประเด็นสิทธิสตรีไปใช้ในการหาเสียงและสัญญาว่าจะผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลก็แต่งตั้งรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงรวมถึง ๔ คน ประธานาธิบดีจิสการ์ด เดสแต็งได้สนับสนุนนางเวยอย่างเต็มที่ในการผลักดันกฎหมายการทำแท้งเสรีถึงแม้เสียงคัดค้านในพรรคจะมีมากก็ตาม ประกอบกับบรรยากาศในช่วงนั้นที่ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของสังคมนิยม สตรีนิยม สวัสดิการนิยม และการเรียกร้องความเสมอภาค ซึ่งเริ่มแพร่กระจายตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม ๑๙๖๘ ที่นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานร่วมกันประท้วงประธานาธิบดีเดอ โกลล์

รัฐบัญญัติ “เวย” (loi « Veil ») ซึ่งเรียกตามชื่อนางซีโมน เวยนี้ไม่ได้เป็นเพียงการปลดปล่อยให้มีการทำแท้งได้ตามความสมัครใจเท่านั้นแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของสตรีนิยมอีกด้วย การทำแท้งเสรีถือเป็นการปลดแอกของสตรีอีกครั้งหลังจากการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้งสำเร็จเมื่อ ๒๑ ตุลาคม ๑๙๔๕ จะว่าไปแล้วฝรั่งเศสซึ่งเรามองกันว่าเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แต่ในความเป็นจริงสิทธิสตรีในบางประเด็นยังล้าหลังอยู่สังเกตได้จากสตรีพึ่งมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อปี ๑๙๔๕ ซึ่งช้ากว่าไทยที่ให้สิทธิแก่สตรีตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ปัจจุบันนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเงินเดือนของหญิงและชาย

การทำแท้งหรือที่เรียกกันในฝรั่งเศสว่า “ L’interruption volontaire de grossesse, IVG ” นั้น กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าการทำแท้งจะมีขึ้นได้ตามคำร้องขอของหญิงมีครรภ์ซึ่งเห็นว่าตนอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ (une situation de détresse) หญิงมีครรภ์เป็นเพียงผู้เดียวที่จะตัดสินใจว่าอย่างไรที่เรียกว่า สถานการณ์ที่ยากลำบากอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

๑. การทำแท้งต้องกระทำโดยแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข

๒. การทำแท้งมีขึ้นได้ภายในระยะเวลา ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ เดิมรัฐบัญญัติ “เวย” กำหนดไว้ที่ ๑๐ สัปดาห์ต่อมาในปี ๒๐๐๑ รัฐบัญญัติ “โอบรี้” (loi « Aubry ») ได้ขยายระยะเวลาของอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ออกไปเป็น ๑๒ สัปดาห์

๓. ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นผู้เยาว์ เดิมจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ปัจจุบันรัฐบัญญัติ “โอบรี้” (loi « Aubry ») แก้ไขให้ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองแต่ต้องพาบุคคลบรรลุนิติภาวะตามแต่ที่ตนเลือกมาด้วย

๔. ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นคนต่างประเทศ ต้องอาศัยในฝรั่งเศสมาไม่น้อยกว่า ๓ เดือน เว้นแต่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง

๕. หญิงที่ร้องขอทำแท้งต้องผ่านการปรึกษาหารือจากแพทย์และนักสังคมสงเคราะห์ โดยเริ่มจากการปรึกษาแพทย์ครั้งแรกเพื่อรับทราบข้อมูลและวิธีการทำแท้งในรูปแบบต่างๆ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ ในสัปดาห์เดียวกันนั้น หญิงต้องผ่านการสัมภาษณ์โดยนักสังคมสงเคราะห์ ผลจากการสัมภาษณ์ไม่ได้บังคับให้หญิงต้องเปลี่ยนใจไม่ทำแท้งแต่หญิงยังคงมีสิทธิในการยืนยันตามคำร้องเดิม เมื่อผ่านการสัมภาษณ์แล้วหญิงจะได้ใบรับรอง ปิดท้ายด้วยการปรึกษาแพทย์ครั้งที่สองเพื่อให้หญิงยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร กฎหมายกำหนดให้การปรึกษาแพทย์ครั้งที่สองนี้ต้องมีขึ้นอย่างช้า ๑ สัปดาห์หลังการปรึกษาแพทย์ครั้งแรกและ ๒ วันหลังการสัมภาษณ์โดยนักสังคมสงเคราะห์ จากนั้นก็ขึ้นทะเบียนรอรับการทำแท้งต่อไป

วิธีการทำแท้งนอกจากจะวางยาสลบและใช้เครื่องมือทำตามที่เรารู้กันดีแล้วยังมีการทำแท้งโดยการกินยาให้แท้งลูก เช่น RU 486 อีกด้วยซึ่งกฎหมายพึ่งอนุญาตในปี ๑๙๘๘ แต่บังคับให้ใช้กันในโรงพยาบาลเท่านั้น จนกระทั่งเดือน กรกฎาคม ๒๐๐๔ นายฟิลิปป์ ดูสท์ บลาซี่ รมต.สาธารณสุขได้ออกรัฐกฤษฎีกากำหนดให้การทำแท้งด้วยการใช้ยาสามารถทำได้นอกโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการกินยาให้แท้งลูกนี้กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ภายใน ๕ สัปดาห์ของอายุครรภ์เท่านั้น สำหรับค่าใช้จ่ายจากการทำแท้งทั้งสองวิธีสามารถนำไปเบิกจากกองทุนประกันสังคมได้

จากการสำรวจสถานการณ์ด้านการทำแท้งในปัจจุบันของฝรั่งเศสพบว่า อัตราการทำแท้งในช่วงปี ๑๙๙๐ ถึง ๑๙๙๕ ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ รายต่อปี นับแต่ปี ๑๙๙๖ อัตราก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น ในปี ๒๐๐๒ จำนวนทำแท้งรวม ๒๐๕,๖๒๗ เทียบกับจำนวนการเกิด ๘๐๐,๐๐๐ คน จำนวนการทำแท้งในสตรีที่มีอายุระหว่าง ๑๕ ปีถึง ๔๙ ปีอยู่ที่ ๑๔.๓ ต่อ ๑,๐๐๐ อัตราการทำแท้งของผู้เยาว์อยู่ที่ ๑๐,๗๐๐ ราย สองในสามของการทำแท้งทั้งหมดเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลของรัฐ ร้อยละ ๓๕ ใช้วิธีการทำแท้งโดยการใช้ยา สตรีฝรั่งเศสเดินทางไปทำแท้งยังต่างประเทศปีละประมาณ ๕,๐๐๐ คน แคว้นที่อัตราการทำแท้งสูงได้แก่ Ile-de-France, Languedoc-Roussillon, Provence-Alpes-Côte d'Azur และเกาะ Corse ส่วนแคว้นที่มีอัตราต่ำได้แก่ Pays de la Loire และ Basse-Normandie

ลองมาดูกฎหมายของประเทศอื่นกันบ้าง ผมสำรวจกฎหมายเรื่องทำแท้งของประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปแล้วพบว่า ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้มีการทำแท้งเสรีได้ภายในระยะเวลา ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วการทำแท้งไม่อาจเกิดขึ้นได้เว้นแต่กรณีจำเป็นต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตของมารดาและบุตร

ฮอลแลนด์ สหราชอาณาจักร และสวีเดน เป็นประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ในระยะเวลายาวนานที่สุดในสหภาพยุโรป กล่าวคือ ๒๔ สัปดาห์ของอายุครรภ์สำหรับการทำแท้งในสองครั้งแรก และลดลงเหลือ ๑๘ สัปดาห์สำหรับการทำแท้งในครั้งที่สาม ระยะเวลาที่ยาวนานดังกล่าวทำให้คนต่างชาติจำนวนมากเดินทางมายังฮอลแลนด์และสหราชอาณาจักรเพื่อทำแท้ง ส่วนสวีเดนนั้นมีกฎหมายห้ามคนต่างชาติเข้ามาทำแท้งในประเทศตน

กล่าวสำหรับฮอลแลนด์ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ฮอลแลนด์จะอนุญาตให้ทำแท้งได้ในระยะเวลาที่นานกว่าประเทศอื่นๆ แต่อัตราการทำแท้งกลับต่ำที่สุดในโลกเพียง ๖.๕ ต่อจำนวนสตรี ๑๐๐๐ คน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลฮอลแลนด์มุ่งให้การศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดเป็นสำคัญ ในทางปฏิบัติอายุครรภ์นานที่สุดที่มาทำแท้งอยู่ที่ ๒๒ สัปดาห์ กรณีอายุครรภ์ถึง ๒๔ สัปดาห์หาได้ยาก ร้อยละ ๙๕.๕ ของการทำแท้งทั้งหมดในฮอลแลนด์มีระยะเวลาของอายุครรภ์ที่ ๑๓ สัปดาห์ คนต่างชาตินิยมเดินทางมาทำแท้งที่ฮอลแลนด์ ในปี ๒๐๐๓ มีจำนวนถึง ๔,๓๔๗ รายจากจำนวนการทำแท้งทั้งหมด ๓๓,๑๕๙ ครั้งหรือคิดเป็นร้อยละ ๑๓ จำนวนการทำแท้งนอกจากเกิดจากคนต่างชาติที่อาศัยประโยชน์จากกฎหมายของฮอลแลนด์แล้วยังมาจากคนชาติอื่นที่อพยพเข้ามาจนเป็นพลเมืองฮอลแลนด์อีกด้วย จึงเกิดข้อถกเถียงกันว่าเป็นการสมควรหรือไม่ที่จะออกกฎหมายห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้ามาทำแท้งและควรลดระยะเวลาของอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งลงไปหรือไม่ น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยที่ฮอลแลนด์พึ่งมีกฎหมายรับรองการทำแท้งเมื่อปี ๑๙๘๔ หรือ ๑๐ ปีให้หลังฝรั่งเศสแต่สิทธิการทำแท้งในฮอลแลนด์ก็ก้าวไกลไปกว่าฝรั่งเศสมาก

โรมาเนียรับรองให้การทำแท้งชอบด้วยกฎหมายเมื่อปี ๑๙๘๙ ภายหลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ และเป็นเพียงประเทศเดียวในยุโรปที่อัตราการทำแท้งสูงกว่าอัตราการเกิด (ปี ๒๐๐๓ มีการทำแท้งรวม ๒๓๐,๐๐๐ รายในขณะที่มีการเกิด ๒๑๒,๔๕๙ คน) ในปี ๑๙๘๕

สเปนได้ออกกฎหมายยกเว้นโทษจากการทำแท้งใน ๒ กรณี กรณีแรกเป็นกรณีที่จำเป็นต้องทำแท้งเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายอย่างร้ายแรงต่อกายและใจของมารดาหรือการตั้งครรภ์อันเนื่องมาจากถูกข่มขืน กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ภายใน ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ กรณีที่สองเป็นกรณีที่เสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารกในครรภ์ กฎหมายได้ขยายระยะเวลาออกไปเป็น ๒๒ สัปดาห์ของอายุครรภ์

โปรตุเกสก็เช่นกัน กฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ในกรณีเป็นอันตรายต่อกายหรือใจของมารดา (๑๒ สัปดาห์ของอายุครรภ์) การตั้งครรภ์เนื่องมาจากถูกข่มขืน (๑๖ สัปดาห์) และเสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารก (๒๔ สัปดาห์) สตรีที่ทำแท้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าอัตราการทำแท้งเถื่อนในโปรตุเกสมีสูงมากประมาณ ๒๐,๐๐๐ ถึง ๔๐,๐๐๐ รายต่อปี นอกจากนี้ในแต่ละปีสตรีโปรตุเกสประมาณ ๑,๐๐๐ คนเดินทางไปยังสเปนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำแท้ง ด้านคลินิกที่รับทำแท้งในสเปนก็นิยมลงโฆษณาตามสื่อต่างๆในโปรตุเกสเป็นประจำ

เอสโตเนียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ กฎหมายเอสโตเนียอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ภายใน ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ แต่ในสายตาของชาวเอสโตเนียแล้วมองว่าการทำแท้งเป็นการคุมกำเนิดธรรมดาชนิดหนึ่ง อีกนัยหนึ่งชาวเอสโตเนียมักไม่ป้องกันการตั้งครรภ์ก่อน เมื่อมีการตั้งครรภ์ก็ใช้วิธีทำแท้งเอา ด้วยเหตุนี้อัตราการทำแท้งจึงมีสูงมาก ในปี ๒๐๐๒ คิดแบบเฉลี่ยแล้วพบว่ามีการทำแท้ง ๘๓ รายต่อการเกิด ๑๐๐ คน สตรีในช่วงอายุ ๑๕-๔๙ ปีมีอัตราการทำแท้งสูงถึง ๓๒ ต่อ ๑,๐๐๐ (ในขณะที่อัตราเฉลี่ยรวมทุกประเทศในสหภาพยุโรปอยู่ที่ ๑๐.๔ ต่อ ๑,๐๐๐) ร้อยละ ๗๐ ของสตรีที่มาทำแท้งต่างเคยผ่านการทำแท้งมาก่อนแล้ว

สาเหตุหนึ่งที่ชาวเอสโตเนียมักใช้วิธีการทำแท้งเป็นหลักคือ ในสมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตนั้น ยาคุมกำเนิดขาดแคลนและถุงยางอนามัยไม่เพียงพอและขาดคุณภาพ ประกอบกับประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ อัตราการทำแท้งที่สูงจนน่าตกใจดังกล่าวทำให้ทางการเอสโตเนียหันมารณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด อีกทางหนึ่งก็สนับสนุนให้มีบุตรด้วยการให้เงินช่วยเหลือและสวัสดิการต่างๆ

ประเทศอื่นๆที่อนุญาตให้มีการทำแท้งเสรี ได้แก่ เยอรมนี ฮังการี สาธารณรัฐเชค ลิธัวเนีย แลตเวีย สโลวาเกีย เบลเยียม เดนมาร์ก และลักเซมเบิร์ก (๑๒ สัปดาห์) ออสเตรีย (๑๒ สัปดาห์แต่ ขยายเป็น ๒๐ สัปดาห์ในกรณีเป็นอันตรายต่อมารดาและทารก) ฟินแลนด์ (๑๒ สัปดาห์แต่ขยายเป็น ๒๔ สัปดาห์ในกรณีเป็นอันตรายต่อมารดาและทารก) กรีซ (๑๒ สัปดาห์แต่ขยายเป็น ๒๐ สัปดาห์ในกรณีการตั้งครรภ์เกิดจากการข่มขืน) สโลเวเนียและอิตาลี (๑๐ สัปดาห์)

ไอร์แลนด์ มอลตา โปแลนด์ และไซปรัส เป็น ๔ ประเทศในสหภาพยุโรปที่ไม่อนุญาตให้มีการทำแท้งเว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นซึ่งเป็นกรณีที่จำกัดจริงๆ การทำแท้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีโทษหนัก ไอร์แลนด์และมอลตาเคร่งครัดกับการทำแท้งมากถึงขนาดหยิบยกมาเป็นประเด็นในการเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปว่าสหภาพยุโรปต้องไม่แทรกแซงกฎหมายภายในของตนในเรื่องการทำแท้ง

กล่าวสำหรับไอร์แลนด์นั้น ในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมามีความพยายามทำประชามติให้ออกกฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ถึง ๓ ครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในแต่ละปีสตรีไอร์แลนด์ประมาณ ๗,๐๐๐ คนเดินทางไปทำแท้งยังประเทศที่อนุญาต อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นเพียงกรณีเดียวที่กฎหมายอนุญาต คือ เป็นอันตรายแก่ชีวิตของมารดาแต่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองของมารดาหรือคณะกรรมการเฉพาะกิจที่จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป

โปแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกมีอิทธิพลสูง ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้มีการทำแท้งเว้นแต่ในกรณีที่เป็นอันตรายต่อมารดา การตั้งครรภ์เกิดจากถูกข่มขืน และเสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารก แพทย์ที่ทำแท้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปีในขณะที่สตรีที่เข้ารับการทำแท้งไม่มีโทษ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าอัตราการทำแท้งเถื่อนในโปแลนด์จึงมีสูง ในปี ๒๐๐๓ การทำแท้งโดยชอบด้วยกฎหมายมีเพียง ๑๗๐ รายในขณะที่การทำแท้งเถื่อนมีสูงถึง ๑๒๐,๐๐๐ ราย หลังจากการต่อสู้อย่างยาวนานในที่สุดการเรียกร้องขององค์กรสตรีก็สำเร็จ ขณะนี้รัฐสภาของโปแลนด์กำลังพิจารณาร่างกฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตามบรรดาองค์กรสตรีวิตกว่าแม้ร่างดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบจากสภาแต่ถ้าฝ่ายขวากลับมาครองอำนาจประกอบกับด้วยแรงผลักดันของศาสนจักรก็มีความเป็นไปได้ว่าการทำแท้งจะเป็นสิ่งต้องห้ามอีก

ทางด้านไซปรัส มีข้อสังเกตว่าแม้กฎหมายจะกำหนดให้การทำแท้งเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติแล้วเจ้าหน้าที่มักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยปละละเลยให้มีการทำแท้งเถื่อน สังเกตได้จากไม่มีแพทย์ที่ทำแท้งเถื่อนรายใดถูกดำเนินคดีเลย

…………….

ประเด็นเรื่องการทำแท้งถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์กับสิทธิในร่างกายของมารดา ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปได้รับรองสิทธิในชีวิตไว้ชัดเจนแต่ไม่ได้รับรองสิทธิในการทำแท้งอย่างเสรี อย่างไรก็ตามคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปไม่ได้บอกไว้ชัดเจนว่าสิทธิในชีวิตนั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร ตัวอ่อนในครรภ์จะถือว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในชีวิตแล้วหรือไม่ ดังนั้นการทำแท้งจะไปกระทบกับสิทธิในชีวิตหรือไม่ยังน่าสงสัยอยู่

คำพิพากษาบรรทัดฐานในหลายประเทศในยุโรปยืนยันว่ากฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนในครรภ์ การถกเถียงเรื่องการทำแท้งเสรีเป็นที่น่าสนใจและยังคงดำรงต่อไปเพราะนอกจากมุมมองทางกฎหมายแล้วการทำแท้งยังไปเกี่ยวพันกับประเด็นอื่นๆตั้งแต่สิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิสตรี ศาสนา ศีลธรรม จารีตประเพณี ค่านิยม อุดมการณ์การเมืองระหว่างอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า ตลอดจนปัญหาทางนิติปรัชญาอีกด้วย

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 19, 2548

วิพากษ์การทำวิทยานิพนธ์

ช่วงนี้ผมอู้งานไม่ได้มาเขียนบล็อกหลายวัน ไม่ได้ตกอยู่ในห้วงยามของความเศร้าแบบที่เคยพร่ำเพ้อไว้ในบล็อกวันก่อนหรอกครับ ก็ยังมีสะเก็ดความเศร้าหลงเหลืออยู่บ้าง แต่เรื่องนั้นคงต้องแล้วแต่ชะตาฟ้าลิขิตล่ะครับ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

เรื่องของเรื่องที่ผมหายไปแบบผลุบโผล่ไม่ต่อเนื่องเหมือนก่อน เพราะต้องเร่งทำเค้าโครงวิทยานิพนธ์ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะปิดเทอม ผมจะได้กลับไปพักที่เมืองไทยอย่างสบายใจ ช่วงนี้เลยต้องปั่นงานและไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาผมบ่อยๆ เมื่อวานก็ตั้งใจว่าจะกลับมาเขียนหลังจากกินอาหารเย็นบ้านอาจารย์เสร็จ ปรากฏว่ากว่าจะถึงคฤหาสน์ของผมก็ปาไปตีหนึ่งแล้ว แถมไม่ได้กลับมาตัวเปล่า ผมยังชักชวนมิตรทางวิญญาณของผมกลับมาด้วย มันชื่อว่า “ความกรึ่ม” ครับ (จริงๆผมยังมีมิตรทางวิญญาณอีกคน ชื่อ “ความเมา” แต่มันไม่ค่อยโผล่มาเท่าไร เพราะผมแข็งแรง ๕๕๕)

ก็อาจารย์ผมเปิดทั้งแชมเปญ ต่อด้วยไวน์ขาว ไวน์แดง แล้วผมเป็นคนขี้เกรงใจน่ะครับ เจ้าบ้านรินมาให้หากเราไม่ดื่มจะเสียน้ำใจกันเปล่าๆ ผมก็ดื่มซะเต็มคราบเลย ๕๕๕

“กรึ่ม” ได้ที่ขนาดนั้น สมองคงแล่นหรอกครับ อย่ากระนั้นเลยผมจึงชวนมิตรทางวิญญาณของผมไปนอนเกลือกกลิ้งที่เตียงนุ่มๆกันดีกว่า

กอดกันกลมเลยครับ ตื่นมาอีกทีก็บ่ายแก่ๆแล้ว

ร่างกายเริ่มกลับมาสดชื่น เลยมาเขียนบล็อกต่อ ไม่อยากทิ้งไว้นาน เดี๋ยวบล็อกจะร้างแล้วก็ต้องปิดตัวเองไปในที่สุด ปล่อยบล็อกร้างนานๆนี่เป็นนิสัยที่ไม่ดีเลยนะครับ เหมือนทำเค้าท้อง พอคลอดมาก็ไม่รับ ดังนั้น ใครรู้ตัวว่าเปิดบล็อกแล้วทิ้งร้างมานาน ขอความกรุณากลับไปอัพเดทบล็อกของท่านด้วยนะ :)

................

วันก่อนผมได้คุยกับสหายทางวิชาการของผม ปรากฏว่ามันไปประสบปัญหาเรื่องสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่เมืองไทยเข้า กรรมการสอบขอแก้เรื่องที่มันทำหลายประเด็น ทั้งๆที่ตอนสอบเค้าโครงก็ผ่านไปด้วยดี แต่พอมาคราวนี้สอบเนื้อหา กรรมการดันย้อนกลับไปรื้อเค้าโครงของมันอีก เลวร้ายกว่านั้น ไอ้เค้าโครงบทต่างๆที่รื้อเป็นส่วนที่บรรดากรรมการทั้งหลายขอให้เขียนเองด้วย

อึ้งครับ ใครเจออย่างนี้คงอึ้งไปตามกัน

ผมไม่แน่ใจว่าการศึกษาระดับปริญญาโทและการทำวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทยของคณะอื่นจะเหมือนกับคณะผมหรือเปล่า ผมเลยขอกล่าวเฉพาะในส่วนของนิติศาสตร์ที่ผมคุ้นเคยแล้วกัน

ปริญญาโทนิติศาสตร์ มธ. เมื่อก่อนเรียนกันมาราธอนมากครับ เรียนครอสเวิร์คหมดนี่ก็เกือบ ๔ ปีได้ ทำวิทยานิพนธ์อีก ๓-๔ ปี หาได้ยากมากครับบนโลกใบนี้ที่เรียนปริญญาโทยาวนานเกือบทศวรรษ

จนกระทั่งปีการศึกษา ๒๕๔๔ รุ่นที่ผมและเพื่อนเข้าไปเรียนปีแรก ก็มีการเปลี่ยนหลักสูตร เรียนครอสเวิร์คแค่ปีครึ่งหรือ ๓ เทอม จากนั้นก็ลงมือทำวิทยานิพนธ์ รวมระยะเวลาทั้งครอสเวิร์คและวิทยานิพนธ์ต้องไม่เกิน ๔ ปี

จากการที่ผมเป็นลูกครึ่งเคยเรียนทั้งโทที่เมืองไทย (แต่ลาออกมาก่อนเพื่อมาเรียนต่อที่นี่) และกำลังทำเอกที่ฝรั่งเศส ผมเลยมานั่งคิดๆ มองระบบวิทยานิพนธ์ที่ฝรั่งเศสแล้วย้อนกลับไปดูที่บ้านเรา มีข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ได้หลายประเด็นครับ ตั้งแต่ตัวเนื้อหา ระบบการสอบ ยันการ “จิ้มก้อง” อาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการ

ประเด็นแรก ระบบการสอบวิทยานิพนธ์

การสอบวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทยต้องสอบสองรอบ คือ สอบเค้าโครงและสอบตัวเล่ม ส่วนที่ฝรั่งเศส ผมสอบรอบเดียว ปีแรกผมก็วิ่งหาอาจารย์ที่ปรึกษา เสนอว่าผมจะทำหัวข้ออะไร ถ้าอาจารย์ตกลงรับ เราก็ไปลงทะเบียนหลักสูตรปริญญาเอกได้ จากนั้นเราก็ทำงานไปปรึกษากับอาจารย์เราไปเรื่อยๆจนครบสามปี ถ้าปิดเล่มได้ก็ขอสอบ อาจารย์ก็จะหารือกับเราว่าจะตั้งใครเป็นกรรมการบ้าง แล้วก็นัดสอบเพื่อปกป้องวิทยานิพนธ์ของเรา

ผมเห็นว่าระบบของบ้านเราน่าจะสอบมากเกินไป วิทยานิพนธ์เป็นงานของเราร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ระหว่างการทำงานตลอด ๒-๓ ปีนี้ เราก็โดนอาจารย์อัดตลอด ถ้าเค้าเห็นว่างานได้มาตรฐานพอควรก็จะอนุญาตให้ปิดเล่มเพื่อเตรียมสอบ ในทางกลับกันถ้าไม่โอเค เราก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ แต่ที่เมืองไทยกลับเป็นว่าโดนอาจารย์ที่ปรึกษานวดแล้วนวดอีก พอไปสอบเค้าโครง กรรมการดันมาแก้ของเราอีก แก้เสร็จ สอบเล่มรอบที่สอง ไม่พอใจ แก้อีก แก้ไปแก้มา จนบางครั้ง “งาน” ของเราแทบไม่เหลือเนื้อหาที่เราตั้งใจจะทำเลย กลายเป็นเขียนตามใบสั่งกรรมการ

แก้ตามใจกรรมการขนาดนี้ ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ของเราแล้วครับ เรียกว่าวิทยานิพนธ์ของศ.ดร. อัตตา อีโก้จัด ประธานกรรมการ, รศ.ดร. มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ กรรมการ, รศ.ดร. กูเก่ง อย่าเถียงกู กรรมการ, ผศ.ดร. ไม่ได้อ่าน แต่ขออัด กรรมการ และรศ.ดร.ได้ครับท่าน ดีครับผม อาจารย์ที่ปรึกษา น่าจะเหมาะสมกว่า

ถามว่าแล้วยอมแก้ตามทำไม เถียงสิ สู้สิ

ถ้าโลกแห่งความฝัน สหายทางวิชาการของผมมันคงทำไปแล้ว แต่บนโลกหม่นๆ (ของมันในขณะนี้) ก็คงได้แต่นั่งจดๆๆๆ ที่เค้าสั่งให้แก้พร้อมๆกับด่าในใจว่า “แมร่ง... (เติมคำในช่องว่างตามอัธยาศัย) ....”

ไม่ต้องเดือดร้อนไปถามเปาบุ้นจิ้นหรอกครับ วิญญูชนอย่างเราๆลองช่างน้ำหนักดู งานที่เราทำมา ๒-๓ ปี แต่กรรมการเอาไปอ่านแค่สัปดาห์เดียว (จริงๆอาจอ่านบนรถระหว่างเดินทางมาสอบ เค้าให้ไปอ่านตั้งหลายสัปดาห์ ดันเอาไปนอนกอดเล่นซะงั้น) มาถึงก็ชี้นิ้วกราดสั่งแก้นั่นแก้นี่ มันเป็นธรรมมั้ย?

ปัญหาเบื้องต้นอยู่ที่หน้าที่ของกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่ามีระเบียบมหาวิทยาลัยข้อไหนที่เขียนหน้าที่ของกรรมการไว้หรือไม่ แต่โดยทั่วไปเราเอ่ยคำว่า “กรรมการ” แล้ว ก็จะนึกถึงคนที่มีหน้าที่ในการตัดสินหรือชี้ขาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เข้าไปล้วงลูกทำหรือแก้ไขในเรื่องนั้นๆเสียเอง ยิ่งไปกว่านั้น ผมดูระบบของฝรั่งเศสและลองสอบถามคนที่เคยผ่านสมรภูมิการสอบวิทยานิพนธ์ในประเทศอื่นๆแล้วก็ยิ่งงงไปกันใหญ่กับระบบที่บ้านเราเป็นอยู่ ผมพบว่ากรรมการสอบมีหน้าที่ในการสอบเท่านั้น กรรมการจะอัดประเด็นจุดอ่อนหรือที่น่าสงสัยในวิทยานิพนธ์ของเรา แล้วเราก็ต้องอธิบายไป เท่านั้นเองหน้าที่กรรมการ

บ้านเราเล่นมีสอบสองครั้ง กรรมการก็เข้ามาแทรกแซงงานของเราตั้งแต่การสอบเค้าโครง ไปตัดนั่นนิด เติมนี่หน่อย พอสอบตัวเล่ม กรรมการยังไม่พอใจ อยากให้แก้อีกเลยลงมติให้ผ่านแบบมีเงื่อนไข (รู้สึกจะมีที่ไหแลนด์ที่เดียวมั้งครับนี่) เราก็ต้องตามไปแก้อีกรอบ ที่สำคัญกรรมการบางคนดันลืมว่าเคยสั่งให้นักศึกษาไปแก้เองแต่ดันมาอัดนักศึกษาอีกว่าเอามาจากไหนนี่มันประเด็นใหม่ เจอยังงี้เข้าก็หัวเราะไม่ออกร้องไห้ไม่เป็นล่ะครับ

ถ้าระบบการสอบวิทยานิพนธ์เมืองไทยยังเป็นเช่นนี้ เห็นจะหนีไม่พ้น “งาน” ที่อยู่ในนามของนักศึกษาแต่มีวิญญาณของประธานกรรมการและกรรมการซ่อนอยู่ แล้วระบบความรับผิดชอบในงานจะอยู่ที่ไหนยังน่าสงสัยอยู่ งานในชื่อของเรา แต่ไม่ได้เป็นความคิดเรา คนอ่านอยากวิจารณ์ก็ต้องวิจารณ์ “งาน” ของผู้เขียนหาใช่ “งาน” ของกรรมการไม่ มิพักต้องกล่าวถึงวิทยานิพนธ์ประเภท “งานฝาก” ที่กรรมการอยากรู้เลยสั่งให้เขียน กรรมการบางคนสนใจแต่ไม่มีปัญญาเขียนเองหรือมีปัญญาแต่ขี้เกียจก็มา “ฝาก” ให้เด็กค้นแล้วเขียนลงในวิทยานิพนธ์ กรรมการบางคนทำราวกับว่าวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเป็นห้องน้ำหรือห้องนอนที่ไว้ใช้สำเร็จความใคร่กามกิจทางวิชาการของตนเอง

ผมคิดว่าคนที่มีสิทธิในการล้วงลูกวิทยานิพนธ์ของเรามีได้คนเดียวเท่านั้น คือ อาจารย์ที่ปรึกษา เพราะเป็นคนที่ทำงานร่วมกับเรามาตลอดสามถึงสี่ปี แต่ถ้าเราไม่เห็นด้วยก็ยังมีสิทธิสงวนเรื่องที่เราอยากเขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ของเราได้ เพราะในท้ายที่สุด วิทยานิพนธ์นั้นก็ปรากฏในนามของเรา

ตลอดการเรียนปริญญาเอกในปีแรกของผม ผมกำหนดประเด็นปัญหาและร่างเค้าโครงละเอียดในวิทยานิพนธ์พร้อมกับหารืออาจารย์ที่ปรึกษาผมโดยตลอด อาจารย์ย้ำกับผมในทุกครั้งว่าเป็นงานของผม ผมมีเสรีภาพในการประดิษฐ์เค้าโครงของผมได้เต็มที่ แกเพียงแต่เสนอแนะในสิ่งที่แกคิดว่าเหมาะให้ผมรู้เท่านั้น จะเอาหรือไม่เอาอยู่ที่ผม แกบอกผมว่าเราออกแบบเค้าโครงได้หลายรูปแบบ ผมมีอิสระในการคิดได้เต็มที่ หลายครั้งแกก็โอเคตามผม และอีกหลายครั้งผมก็เชื่อตามแก ต้องยอมรับว่ามีบางประเด็นที่ผมมองไม่เห็นแต่พอแกพูดขึ้นเท่านั้นแหละ ผมปิ๊งเลย

ไม่เพียงแต่เนื้องานเท่านั้นที่เรากับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมกันทำ หากยังรวมถึงการตั้งกรรมการสอบอีกด้วย อาจารย์อยากเอาใครมาเป็นกรรมการก็ต้องถามเราก่อน ในขณะเดียวกันอาจารย์เองก็จะแนะนำด้วยว่าใครที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่เราทำและเหมาะมาเป็นกรรมการสอบ ย้อนมาดูที่บ้านเราอาจารย์ที่ปรึกษามักจะผูกขาดการทาบทามกรรมการสอบ เหตุผลที่ผมนึกออกมีสามประการ หนึ่ง นักศึกษาเราไม่รู้จักอาจารย์เท่าไรนัก สอง อาจารย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมีน้อยเต็มที จึงไม่จำเป็นต้องหารือว่าจะตั้งใครเป็นกรรมการดี ยังไงๆกรรมการก็จะวนกันอยู่ที่หน้าเดิมๆ และสาม อาจารย์ที่ปรึกษายึดอำนาจจากเราไปเพื่อลดขั้นตอน เพราะเกรงว่าหากมัวแต่หารือจะเสียเวลาอันมีค่าในการทำวิจัยหาเงินของตนไป

เมื่อผู้เชี่ยวชาญเรามีน้อยผสมกับอาจารย์ที่ปรึกษาจัดการทาบทามคนที่เค้าสนิทหรือเคารพเป็นการส่วนตัวก็เกิดปัญหาตามมาอีก อาจารย์ที่ปรึกษาแทนที่จะช่วยปกป้องวิทยานิพนธ์เรายามที่กรรมการอัดตอนสอบ แต่กลับนิ่งเฉย ไม่อนาทรร้อนใจ ปล่อยให้กรรมการอัดอย่างเมามัน ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังไปช่วยกรรมการอัดเราอีกด้วย

ทำไมเป็นเช่นนั้น?

ผมคิดว่ามาจากระบบอาวุโสซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเราครับ จริงอยู่การเคารพอาวุโสเป็นข้อดีที่เรามีเหนือชาติอื่นๆ แต่บางครั้งมันก็เป็นดาบสองคม เราเคารพมากจนเกินเรียกว่าเคารพ ผู้ใหญ่ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เถียงไม่ได้ ถึงอยากเถียงก็ไม่ควรเถียง เพราะเถียงไปอาจสร้างความหมั่นไส้ให้แก่บรรดาผู้ใหญ่ที่ถือว่าตนเป็น authority ในด้านนั้นๆ

ไม่น่าแปลกใจเลยที่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่กล้าปกป้องวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ในเมื่อกรรมการและประธานกรรมการล้วนแล้วแต่เป็น “มาเฟีย” ในสาขานั้นๆ แหม... ขืนอาจารย์ที่ปรึกษาออกรับแทนเด็กก็กลายเป็นการดับอนาคตตัวเองไปสิครับ

เพื่อนผมคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า นักเรียนไทยเข้าสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ฝรั่งเศส กรรมการสอบถามเรื่องที่ลึกมากๆ นักเรียนไทยคนนั้นตอบไม่ได้ งง อึ้ง อาจารย์ที่ปรึกษาออกรับแทนว่า “ผมคิดว่าประเด็นที่ท่านกรรมการถามมานี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ที่ลูกศิษย์ของผมเท่าไรนัก มันลึกเกินไป ผมขอตอบแทนแล้วกัน...” น่าคิดนะครับว่าประโยคนี้ผมจะมีโอกาสได้ยินจากอาจารย์ที่ปรึกษาของบ้านเราหรือเปล่า

ประเด็นที่สอง เนื้อหาของวิทยานิพนธ์

เท่าที่ผมอ่านวิทยานิพนธ์ในสาขากฎหมายมา เค้าโครงวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ “สำเร็จรูป” เริ่มจากบทที่ ๑ บทนำ บทที่ ๒ ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา พัฒนาการ บทที่ ๓ กฎหมายอังกฤษ บทที่ ๔ กฎหมายอเมริกา บทที่ ๕ กฎหมายฝรั่งเศส บทที่ ๖ กฎหมายเยอรมัน และปิดท้ายที่บทที่ ๗ สรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ

กล่าวเช่นนี้ วิทยานิพนธ์สาขานิติศาสตร์ไทยล้วนแล้วแต่เป็นกฎหมายเปรียบเทียบ (จริงๆไม่ใช่เปรียบเทียบด้วย เป็นการเอาเรื่องนั้นๆ ของกฎหมายหลายๆประเทศมาแปะลงไปมากกว่า คำว่า “กฎหมายเปรียบเทียบ” มีระเบียบวิธีที่ลึกกว่านั้น ไว้มีโอกาสผมจะเล่าให้ฟัง)

นอกจากเป็นกฎหมายเปรียบเทียบแล้ว เรายังพบเห็นวิทยานิพนธ์ที่เหมือนเอาเรื่องทางปฏิบัติมาเขียนอยู่ดาษดื่น

ถามว่าวิทยานิพนธ์แบบนี้ผิดมั้ย ? ผมว่าไม่ผิด แต่ไม่ควรเป็นแบบนี้ทั้งหมด วิทยานิพนธ์ประเภทคล้ายกับงานวิจัยตามส่วนราชการต่างๆที่จ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยทำ วิทยานิพนธ์ประเภทคล้ายกับเรื่องในทางปฏิบัติ วิทยานิพนธ์ประเภทที่ไม่สะท้อนถึงงานในทางทฤษฎี ผมว่าไม่ควรจะมีมากจนเกินไป

เพื่อนผมคนหนึ่งมาหารือกับผมบ่อยครั้งว่าเรื่องที่มันทำมีปัญหาอะไรบ้าง มีทางแก้อย่างไร เราจะแก้กฎหมายมาตราไหนดี เราจะเสนอร่างกฎหมายใหม่ๆเพื่อสร้างกลไกใหม่ๆเพื่อแก้ไขปัญหานั้นดีหรือไม่

ผมได้ยินคำถามทำนองนี้บ่อยครั้ง

คนส่วนใหญ่มักติดขัดที่บทสุดท้ายเรื่องข้อเสนอแนะคือไม่รู้ว่าจะเสนออะไรดี ผมเห็นว่าถ้านึกไม่ออกก็ไม่จำเป็นต้องเสนอ ข้อเสนอแนะนี่ถ้าไม่มั่นใจ ไม่รัดกุม ผมว่ายิ่งไม่ควรเสนอ นักศึกษามักคิดกันว่าบทสุดท้ายในชื่อว่า “บทสรุปและข้อเสนอแนะ” บังคับให้เราต้องเสนอ “สิ่งใหม่” ที่ไม่เคยมีในวงการกฎหมายมาก่อนลงไปให้มันดูเท่ ดูดี ผมกลับเห็นว่าอันตราย ข้อเสนอที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ ข้อเสนอที่ไม่ปิดจุดอ่อนให้รัดกุม ข้อเสนอที่อธิบายในทางทฤษฎีไม่ได้เท่าไรนัก ยิ่งจะโดนกรรมการต้อนได้ง่าย (แต่กรรมการบ้านเราอาจไม่สนใจประเด็นนี้ ๕๕๕)

ผมเห็นว่าถ้าอยากหา “สิ่งใหม่” ควร “ใหม่” ทางทฤษฎีมากกว่า เอาทฤษฎีมาฟาดฟันกัน ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่หลักของวิทยานิพนธ์ในระดับมหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิต ถ้าหาไม่ได้ก็น่าจะเป็นการรวบรวมในเรื่องนั้นๆแล้วนำมาสังเคราะห์ นำมาร้อยเรียงในแง่มุมที่ต่างออกไป

แต่ในทางความเป็นจริง ลองมองย้อนกลับไปที่วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิตตามชั้นหนังสือที่ห้องสมุดดูสิครับ ผมว่ามีไม่เกินสิบเล่มที่ว่าถึงงานทางทฤษฎี นอกนั้นก็งานเชิงวิจัย งานภาคปฏิบัติ งานที่เอาตำราของบรรดากรรมการมาแปะๆลงไป

เมื่อวิทยานิพนธ์นิติศาตร์มหาบัณฑิตของบ้านเราเป็นกฎหมายเปรียบเทียบ(แบบแปะของเค้ามา)ห้าถึงหกประเทศผสมกับงานเชิงวิจัยแบบที่ส่วนราชการนิยมจ้างให้ทำ จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นบทสรุปและข้อเสนอแนะว่า...

๑. กฎหมายประเทศ ....บลา บลา บลา..... ว่าอย่างนี้
๒. กฎหมายไทยยังไม่มีเหมือนที่ประเทศ ....บลา บลา บลา....มี
๓. จึงเสนอว่า ประเทศไทยควรเอาอย่างที่ประเทศ .....บลา บลา บลา....... มีมาใช้เสีย

เอวังด้วยประการฉะนี้

ง่ายมั้ยครับ

ประเด็นที่สาม คุณภาพของนักศึกษาและการอุทิศตนของอาจารย์

ผมขอสวมวิญญาณคุณปริเยศภาคไม่ไว้หน้าใครเพื่อที่จะบอกว่า นักศึกษาในระดับมหาบัณฑิตในคณะผมที่มีคุณภาพควรค่าแก่การเรียนระดับมหาบัณฑิตนั้นมีน้อยจนเรียกได้ว่านับหัวได้

ไปโทษนักศึกษาก็ไม่ถูกนัก ในเมื่อบ้านเรามีตลาดแรงงานที่ขึ้นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ใครได้ปริญญาโท ปริญญาเอก เงินเดือนยิ่งเยอะ เช่นนี้ยิ่งทำให้ปรัชญาการศึกษาระดับสูงมั่วไปหมด จากเดิมที่การศึกษาระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตเป็นการศึกษาเชิงลึกในเรื่องเฉพาะเพื่อผลิตคนไปเป็นนักวิชาการในด้านนั้นๆกลายเป็นการศึกษาเพื่อเอาไปขึ้นเงินเดือน เพื่อฆ่าเวลาเพราะจบตรีมาแล้วยังนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรดี เพื่อเรียนตามที่พ่อแม่สั่ง เพื่อเรียนตามเพื่อนๆ ฯลฯ

ไม่น่าแปลกใจที่เราจะไม่ค่อยพบนักศึกษาปริญญาโทที่มีฉันทะทางวิชาการ ที่มุ่งมาดปรารถนาไปเป็นนักวิชาการ ที่มีนิสัยชอบค้นคว้าและขีดเขียน ที่มีนิสัยชอบคิดและถกเถียง กลับกัน เราจะพบแต่นักศึกษาปริญญาโทที่เข้ามาเรียนไปเพื่อเอาวุฒิปริญญาโทเพื่อไปใช้สอบผู้ช่วยผู้พิพากษา “สนามเล็ก” ที่เปิดรับแต่พวกมหาบัณฑิตทำให้คู่แข่งมีน้อยลง

เมื่อตลาดเป็นแบบนี้ คณะต่างๆก็หนีไม่พ้นในการปรับตัวเข้ากับตลาด แย่งกันเปิดสารพัดหลักสูตร สารพัดโครงการ เพื่อดึงดูดใจนักศึกษาที่เป็นเหมือน “ลูกค้า” ในมหาวิทยาลัย “แม็คโดนัลด์”

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นักศึกษาที่มาเรียนแบบมีเป้าหมายแค่เอา “กระดาษแผ่นเดียว” จะไม่ทุ่มเทค้นคว้า ขีดเขียน ในวิทยานิพนธ์ของตนเองเท่าไรนัก ขอเพียงเอาตัวรอดเพื่อได้กระดาษแผ่นนั้น ทุกอย่างก็เสร็จสมอารมณ์หมาย

ไม่เพียงแต่คุณภาพของนักศึกษาเท่านั้น ตัวอาจารย์เองก็เช่นกัน อาจารย์ที่อุทิศตนให้กับวิทยานิพนธ์ของนักศึกษามีน้อยมาก นักศึกษาอู้ ขี้เกียจไม่หมั่นติดต่อาจารย์ ผิดที่ตัวนักศึกษาเอง แต่จะให้นักศึกษาวิ่งรอกหาอาจารย์ทุกวันโดยไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่น แบบนี้เห็นทีจะไม่ไหวเหมือนกัน

ธรรมเนียมของเราไม่นิยมให้นักศึกษาติดต่อกับอาจารย์ บางคนอาจให้เด็กติดต่อทางอีเมล์ แล้วเกิดพี่ท่านไม่เปิด หรือเปิดแล้วไม่ตอบล่ะครับ ผมว่าไม่น่าแปลกนะกับการอนุญาตให้เด็กโทรมาหาเพื่อนัดคุยกันเรื่องงาน ทุกวันนี้ผมก็โทรนัดอาจารย์ที่ปรึกษาผมตลอด แรกๆก็ไม่ค่อยกล้า จนอาจารย์ผมงงว่าทำไม ผมเลยอธิบายไปว่าบ้านผมไม่ค่อยมีเท่าไร

ที่ผมเรียกร้องการอุทิศตนจากอาจารย์ไม่ได้หมายความถึงขนาดที่ว่าอาจารย์ต้องนั่งเฝ้าคณะทุกวัน ขอเพียงเจียดเวลาอันมีค่าจากงานวิจัยทั้งหลายเพื่อมาคุยกับเด็กในเรื่องวิทยานิพนธ์สักนิดก็พอครับ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยแล้วมาเร่งเอาสองสามเดือนสุดท้าย

เอาเข้าจริง บ่นๆไปก็หนีไม่พ้นไปพัวพันกับเรื่องค่าตอบแทนของอาจารย์อีก อาจารย์ต้องกินต้องใช้เหมือนคนทั่วๆไป เงินเดือนสองถึงสามหมื่นเศษๆ คงไม่พอยาไส้กับชีวิตเมืองหลวง ไหนจะลูกจะเมีย ก็ต้องออกไป “ขุดเงิน” เอากับงานวิจัยบ้าง

เป็นแบบนี้ จะไปบ่นอะไรได้ครับ

เช่นนี้แล้ว เราคงไม่อาจคาดหวังงานชั้นดีจากวิทยานิพนธ์ที่ทั้งลูกศิษย์ทั้งอาจารย์มาเร่งเอาสองเดือนสุดท้ายได้กระมังครับ

................

ผมวิพากษ์การทำวิทยานิพนธ์ไทยยาวมาก มานั่งนึกๆดู ผมเองก็ไม่รู้ว่าอนาคตถ้าผมมีโอกาสไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว ผมจะทำอย่างไร ในเมื่อระบบมันเป็นเช่นนี้ คนตัวเล็กๆมีแค่สองมือเปล่าอย่างผมจะไปต้านทานระบบที่เก่าแก่และฝังรากลึกได้เท่าไรกันเชียว ได้แต่หวังว่าผมจะยืนอยู่ในระบบนี้ได้โดยไม่โดนกลืนเข้าไปด้วย ถ้าถึงวันหนึ่งผมถูกกลืนเข้าไป หากใครพบเห็น ขอความกรุณาเตะก้นแรงๆให้ผมรู้ตัวละกัน จักเป็นพระคุณอย่างสูง

เอาเข้าจริง ที่ผมร่ายยาวมาทั้งหมดมันก็เป็นปัญหางูกินหาง พันกันไปมาไม่รู้จบ ตั้งแต่ระบบการสอบ การประนีประนอมสไตล์ “ไทยๆ” ความอาวุโส การตั้งตนเป็น authority ในสาขาต่างๆ คุณภาพนักศึกษา ระบบการศึกษาระดับสูง ภารกิจของมหาวิทยาลัย ภารกิจของการศึกษาระดับสูง ค่าตอบแทนอาจารย์ เวลาที่อาจารย์มีให้กับนักศึกษา ตลาดแรงงาน ฯลฯ ไล่ไปเรื่อยๆสงสัยจะไม่จบครับ เฮ้อ...

น่าจะถึงเวลาที่ต้องคิดดังๆเสียทีว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตรที่มีลานวิ่งเล่นให้ลูกของชนชั้นกลาง (ส่วนใหญ่) หรือเป็นแหล่งบ่มเพาะทางปัญญากันแน่

วันเสาร์, พฤษภาคม 14, 2548

เนื่องมาจากทฤษฎีว่าด้วยการกระจายที่ยุติธรรมของ John Roemer

ผมพึ่งกลับเข้ามาถึงห้องหมาดๆ หลังจากเมื่อคืนไม่ได้นอนเลย เพราะง่วนอยู่กับเค้าโครงวิทยานิพนธ์พร้อมกับทำเปเปอร์ไปอีกเพื่ออธิบายเนื้อหาสั้นๆของวิทยานิพนธ์ที่ผมจะเดินต่อไปในอีกสองปีข้างหน้ารวมทั้งเป้าหมายที่ผมตั้งไว้จากวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ ไม่มีใครบังคับให้ทำหรอกครับไอ้เปเปอร์เนี่ย แต่ผมกระแดะทำเอง คิดว่าทำแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาผมจะได้เห็นภาพมากขึ้น อีกอย่างภาษาผมก็ห่วยบรม เกิดแกสงสัยอะไรผมจะได้อธิบายตามเปเปอร์ที่ผมเตรียมมา

ผ่านไปได้ด้วยดีครับ แต่ก็ยังไม่ลงตัวเป๊ะๆซักทีเดียว คงต้องทำไปปรับเค้าโครงไปเรื่อยๆ ขืนมัวแต่รอจนเพียบพร้อมดังเบญจกัลยาณีสงสัยผ่านไปอีกปีคงยังไม่ได้ลงมือเขียนแน่ๆ

แต่โดยภาพรวมทิศทางที่ผมจะเดินต่อไปนี่ อาจารย์ผมเห็นด้วยแล้ว ก็มีพลังขึ้นมาอีกเยอะเลยครับ อย่างน้อยกลับเมืองไทยครั้งนี้นอกจากพักผ่อนและตระเวนราตรีจนสำราญแล้วก็ยังมีทิศทางในการรวบรวมข้อมูลได้ชัดเจนขึ้น

ผมคุยกะอาจารย์ตั้งแต่บ่ายสองโมงจนถึงหกโมงเย็น

มาราธอนมั้ยครับ ?

แต่คุยด้วยความเบิกบานตลอดเลย เรียกได้ว่าถ้าไม่เหลือบดูนาฬิกานี่สงสัยคงยังไม่เลิก แกไล่ผมไปเรื่อยในเรื่องงานผม กว่าจะโอเคก็เกือบห้าโมงเย็น จากนั้นก็คุยกันต่อเรื่องอื่นๆอีก ได้ความรู้ใหม่ๆเยอะดี

..............

อย่างที่อออดอ้อนไว้ในบล็อกเมื่อวานด้วยสไตล์ผู้ชายซื่อๆ (ไม่ใช่เสือนะครับคุณปิ่น) ว่าจะวิพากษ์การสอบวิทยานิพนธ์เมืองไทย แต่สงสัยคงต้องเก็บเข้าลิ้นชักไปก่อน เพราะก่อนผมจะเข้ามาเขียนก็ลองไปดูบล็อกเพื่อนบ้าน ไปอ่านงานของคุณปิ่นเข้า เกิดไอเดียใหม่ขึ้น เลยขอลัดคิวก่อนละกัน

ผมอ่านเรื่องของ Roemer ที่คุณปิ่นเล่าให้ฟังในบล็อกแล้วน่าสนใจ http://pinporamet.blogspot.com/2005/05/roemer.html
โดยเฉพาะประเด็นข้อเสนอของ Roemer ในเรื่องทฤษฎีว่าด้วยการกระจายที่ยุติธรรม (Theory of distributive justice) ผมคิดว่าสัมพันธ์กับกฎหมายในประเด็นเรื่องความรับผิดของฝ่ายปกครอง

กฎหมายฝรั่งเศสในเรื่องความรับผิดของฝ่ายปกครองมีพัฒนาการที่น่าสนใจ หลายเรื่องราวกับว่าเอาเศรษฐศาสตร์หรือแนวคิดรัฐสวัสดิการมาแปรรูปเป็นหลักกฎหมาย มีบางจุดที่คล้ายกับทฤษฎีว่าด้วยการกระจายที่ยุติธรรม (Theory of distributive justice) ที่ Roemer เสนอด้วย

ความรับผิดของฝ่ายปกครองในกฎหมายฝรั่งเศสมีสองรูปแบบ

หนึ่ง ความรับผิดจากการกระทำละเมิด
สอง ความรับผิดทั้งๆที่ไม่ได้กระทำละเมิด

รูปแบบแรก เป็นเรื่องทั่วๆไปเหมือนกับกฎหมายแพ่ง เราไปตีกบาลคนอื่น เราจงใจ มีการกระทำคือตีกบาล คนโดนตีเสียหายเพราะเจ็บกบาล และความเจ็บกบาลเป็นผลโดยตรงจากการที่เราไปตีกบาล กฎหมายบอกว่าเราไปละเมิดเค้าแล้ว ผลคือต้องจ่ายค่าเสียหาย และอาจมีโทษอาญาตามแต่กรณี (อย่างกรณีนี้คงมีแน่เพราะไปทำร้ายร่างกายคนอื่น)

เช่นเดียวกัน ในทางปกครอง ผมเป็นเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งจาก พล.ต.อ. ส. ตัวสูง ให้เข้าไปตรวจอ่างของชูวิทย์โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายควบคุมสถานบริการ ปรากฏว่าในขณะที่ผมและลูกน้องบุกเข้าไปดันไปทำอ่างจากุชชี่ของชูวิทย์พัง ชูวิทย์ก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดผมได้ แล้วหน่วยงานต้นสังกัดก็มาดูว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นผมทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ ถ้าเป็น ต้นสังกัดก็มาไล่เอาเงินคืนจากผม ในทางกลับกัน ถ้าต้นสังกัดเห็นว่าผมและลูกน้องทำไปตามหน้าที่แต่การบุกเข้าไปก็อาจมีความเสียหายเกิดขึ้นตามมาได้ เป็นการผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ หน่วยงานก็รับภาระจ่ายไปเองเต็มๆ

ในบางกรณีการละเว้นไม่กระทำการจนทำให้ผู้อื่นเสียหายก็ถือเป็นการกระทำละเมิดได้เช่นกัน เช่น โรคหวัดนกแพร่ระบาด กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงความเสี่ยงจากการติดโรคหวัดนกเนื่องจากกินไก่ แต่กระทรวงฯกลับนิ่งเงียบเพราะเกรงว่านายทุนของพรรคการเมืองรัฐบาลจะเสียรายได้จากการขายไก่ ประชาชนที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคหวัดนกเพราะไปกินไก่ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากกระทรวงสาธารณสุขได้ฐานที่มีหน้าที่แล้วไม่ทำหน้าที่จนทำให้ผู้อื่นเสียหาย

ความรับผิดจากการละเมิดทำให้เอกชนเสียหายเช่นนี้ เป็นของธรรมดาในวงการกฎหมาย กฎหมายมุ่งอำนวยความยุติธรรมให้ เมื่อผู้ใดเสียหายจากการใช้อำนาจกระทำการตามกฎหมายของฝ่ายปกครองหรือเสียหายจากการละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ของฝ่ายปกครอง กฎหมายก็จะไปลากคอเอาให้ฝ่ายปกครองนั้นมาชดใช้ค่าเสียหายให้ แม้ฝ่ายปกครองจะทำงานในนามของรัฐ ในนามของส่วนรวม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเอกสิทธิ์ไม่ต้องรับผิดจากการกระทำของตน

ว่าให้ชัดเจน ฝ่ายปกครองไม่อาจไปตีกบาลใครได้ฟรีๆ

รูปแบบที่สอง ฝ่ายปกครองอาจต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายให้แก่เอกชนก็ได้ แม้ตนจะไม่ได้กระทำละเมิด ไม่ได้ไปตีกบาลใคร ไม่ได้ไปทำข้าวของใครเสียหายก็ตาม

กรณีนี้ ศาลบ้านเรายังไม่มีโอกาสเอามาใช้จริงๆแต่ในวงวิชาการพูดกันมานานพอควร คาดว่าอีกไม่นานถ้ามีรูปคดีมาทำนองนี้ ศาลปกครองคงเอาด้วยกับหลักการดังกล่าว

หลักพวกนี้ที่วงวิชาการพูดๆกันก็หยิบยืมมาจากฝรั่งเศส กฎหมายเค้าบอกว่ามีสองกรณีที่ฝ่ายปกครองต้องชดใช้ให้แก่ความเสียหายที่เกิดแก่เอกชน แม้ความเสียหายนั้นจะไม่ได้มาจากน้ำมือของฝ่ายปกครองก็ตาม

หนึ่ง ความเสี่ยง เอกชนคนใดที่อยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อความเสียหายมากกว่าคนอื่น ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมาจริงๆ ฝ่ายปกครองก็ต้องรับภาระชดใช้ค่าเสียหายให้

เอาให้เห็นภาพ ผมมีบ้านอยู่ใกล้กับโรงงานนิวเคลียร์ ผมย่อมมีความเสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายหากโรงงานนิวเคลียร์ระเบิดมากกว่าคนอื่นๆที่อาศัยบริเวณไกลออกไปแน่ๆ ถ้าโรงงานเกิดระเบิดขึ้นจริง ผมแขนขาดไปข้างนึง ผมก็มีสิทธิไปเรียกค่าเสียหายจากกรมปรมาณูเพื่อสันติได้ แม้กรมฯจะไม่ได้ทำให้ระเบิด แม้การระเบิดจะเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรืออุบัติเหตุ แต่ในฐานะที่ผมเสี่ยงกว่าชาวบ้าน กรมฯก็ต้องเข้ามาจ่ายให้ผม

ศาลปกครองฝรั่งเศสยังขยายหลักเรื่องความเสี่ยงออกไปไกลมากขึ้น เช่น ตำรวจวิ่งไล่จับพ่อค้ายาบ้า เกิดการยิงต่อสู้กัน ผมซึ่งก่อนออกจากบ้านโดนจิ้งจกทักมาแล้วดันไม่ดูตาม้าตาเรือไปเพ่นพ่านแถวนั้น ปรากฏว่ากระสุนของตำรวจมาโดนขาผมทำเอาเดี้ยงไป ศาลปกครองฝรั่งเศสบอกให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายค่าเสียหายให้ผม จะเห็นได้ว่า “เสี่ยง” ได้ขยายกว้างออกไปอีกในกรณีนี้ แม้ผมจะไม่มีบ้านแถวนั้น ไม่ได้ไปรอรถเมล์แถวนั้นบ่อยๆ แค่ผมอกหักไปเดินทำมิวสิควิดีโอย่านนั้นพอดี ศาลก็บอกว่า สถานการณ์แค่นี้ก็ถือว่าผมมีความเสี่ยงกว่าคนอื่นแล้ว แม้ตำรวจไม่ได้ตั้งใจ แม้เป็นแค่ลูกหลง ก็ต้องจ่ายผมมา

สอง การรับภาระมากกว่าคนอื่น ฝ่ายปกครองอาจออกมาตรการมาชุดหนึ่งปรากฏว่าดันมีผมที่ซวยเสียหายอยู่คนเดียวทั้งๆที่ฝ่ายปกครองไม่ได้ตั้งใจจะออกมาตรการนั้นมาเล่นงานผม แต่ออกมาเพื่อประโยชน์ทั่วๆกัน เช่นนี้ ฝ่ายปกครองต้องเฉ่งให้ผมฐานที่ล้มเหลวต่อการทำให้ทุกคนรับภาระอย่างเสมอภาคกัน ถ้าจะซวยก็ต้องซวยพร้อมกัน ถ้าหากทำให้ซวยพร้อมกันไม่ได้แต่มีคนเดียวซวย ก็ต้องยื่นมือไปช่วยคนซวยคนนั้น

ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม ผมเปิดหอพักให้นักศึกษาย่าน มธ รังสิต เดิมรถเมล์สาย ปอ ๒๙ และ ปอ ๓๙ ผ่านหน้าหอพัก ต่อมามีการตัดทางใหม่ รถเมล์ก็เปลี่ยนเส้นทางไม่วิ่งผ่านหอผม คนเช่าหอผมไม่สะดวกเหมือนก่อน ทยอยย้ายออก คนใหม่ก็ไม่เข้า คนเก่าก็มาออก ผมขาดทุนยับเยิน การเปลี่ยนเส้นทางอาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อเหตุผลทางการไหลเวียนของรถยนต์ เพื่อความคล่องตัวของจราจร แต่การเปลี่ยนเส้นทางทำให้ผมเสียหายอย่างร้ายแรงอยู่คนเดียว ฝ่ายปกครองก็ต้องเข้ามาช่วยเยียวยาให้ผม

ฝรั่งเศสใช้กฎหมายความรับผิดของฝ่ายปกครองเป็นเครื่องมือในการเยียวยาหรือผ่อนหนักเป็นเบาให้แก่เอกชนอยู่บ่อยครั้ง เป็นที่ทราบกันดีว่าฝรั่งเศสเป็นรัฐสวัสดิการชั้นดีหนึ่งในตองอูเหมือนกัน ตัวผู้พิพากษาเองก็ซึมซับแนวคิดนี้เข้าไปเรื่อยๆ จากเดิมบอกว่าการกระทำของฝ่ายปกครองมีเอกสิทธิ์ไม่ต้องรับผิดอะไรเลย ต่อมาบอกว่าฝ่ายปกครองก็อาจทำละเมิดต่อเอกชนได้เหมือนที่เอกชนทำละเมิดกันเอง อีกนัยหนึ่งคือเอาเรื่องละเมิดในกฎหมายแพ่งเข้ามาใช้กับฝ่ายปกครอง จนกระทั่งแนวคิดรัฐสวัสดิการเริ่มครอบคลุมไปทั่ว ผู้พิพากษาก็เริ่มปรับตัวด้วยการพัฒนาให้ฝ่ายปกครองต้องเข้าไปช่วยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายด้วยแม้ตนจะไม่ได้เป็นคนทำเองก็ตาม

เอาเข้าจริง แนวคำพิพากษาที่ตัดสินให้ฝ่ายปกครองชดใช้ค่าเสียหายทั้งๆที่ไม่ทำผิด ก็คือ การเอาเงินกองกลางที่มาจากภาษีทุกคนมาแบ่งจ่ายให้คนที่เดือดร้อน กล่าวให้ถึงที่สุด ผู้พิพากษาได้แปร “การพึ่งพาอาศัยกันฉันมิตร” หรือ “Solidarity” เข้ามาเป็นหลักกฎหมาย

คดีแบบนี้ในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและมีแนวโน้มว่าศาลจะเห็นใจผู้เสียหายมากกว่าแต่ก่อน จนสงสัยกันว่าต่อไปความรับผิดของฝ่ายปกครองโดยที่ไม่ได้ทำละเมิดนั้นจะกลายเป็นหลักจากเดิมที่เป็นข้อยกเว้นที่ศาลจะพิจารณาอย่างเคร่งครัด

ถามว่าเป็นธรรมมั้ย เอาเงินกองกลางมาแบ่งจ่ายให้คนไม่กี่คนแบบนี้ แทนที่จะเอาไปจ่ายในเรื่องส่วนรวม ?

ถามว่าเป็นธรรมมั้ย การที่ผู้พิพากษาตัดสินคดีเพื่อรับใช้แนวคิดรัฐสวัสดิการ ?

หากเรามองในมุมของคนนอก ไม่ได้เป็นคนเจ็บเอง ไม่ได้เสียหายเอง ไม่ได้เป็นญาติกับผู้เสียหาย เราคงตอบว่าไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเราเป็นผู้เสียหายหรือเกี่ยวข้องกับผู้เสียหาย คำตอบที่ว่าไม่เป็นธรรมคงเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม

แต่เชื่อเถอะ... ถ้าให้เลือกได้ไม่มีใครอยากบาดเจ็บ ล้มหมอนนอนเสื่อ เสียชีวิต เสียหายทั้งกาย ใจ เงิน แล้วได้รับการเยียวยาด้วยค่าเสียหายจำนวนหนึ่งหรอกครับ

...............

ขอตัดตอนที่คุณปิ่นเขียนไว้ในบล็อกมาให้ดูเปรียบเทียบ

“หนึ่ง ทฤษฎีว่าด้วยการกระจายที่ยุติธรรม (Theory of distributive justice)Roemer เสนอข้อเสนอว่าด้วยการกระจายโอกาสให้เท่าเทียมกัน (Equality of Opportunity) ข้อเสนอเชิงนโยบายประการหนึ่งชี้ว่า สังคม(ในที่นี่ น่าจะเป็นรัฐ) ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือต่อความล้มเหลวของปัจเจกบุคคล ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าตัว แต่ไม่ควรให้ความช่วยเหลือต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของตน และอยู่ในวิสัยขอบเขตที่ตนรับผิดชอบ”

ลองพิจารณาดู ผมว่าผู้พิพากษาฝรั่งเศสก็เอาแนวทางคล้ายๆกับที่ Roemer เสนอมาใช้ในการพิพากษาให้ฝ่ายปกครองชดใช้ค่าเสียหาย

ผมยังคิดต่อไปอีกว่าข้อเสนอของ Roemer คล้ายกับ “งาน” ชิ้นเอกของ John Rawls เรื่อง Theory of justice อีกด้วย กล่าวกันว่างานชิ้นนี้เป็นการบุกเบิกนิติปรัชญาสมัยใหม่ของปลายศตวรรษที่ ๒๐

กล่าวโดยย่อ Rawls เสนอหลักการสำคัญไว้สองข้อ

หนึ่ง มนุษย์เท่าเทียมกันในเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
สอง ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมต้องได้รับการจัดสรรใหม่ให้เป็นธรรมโดยให้เป็นประโยชน์แก่คนที่เสียเปรียบและด้อยโอกาสในสังคมที่สุดและสร้างความเสมอภาคในโอกาส

Rawls บอกต่อไปว่า ถ้าให้เลือกได้ข้อเดียวจากสองข้อนี้ ข้อแรกต้องมาก่อน

ในเรื่อง distributive justice Rawls เห็นว่าสิ่งที่จะเอามาจัดสรรปันส่วนให้เป็นธรรมนี้ไม่ได้หมายความแต่ความมั่งคั่งหรือรายได้เท่านั้น หากรวมไปถึงความเป็นอิสระ การศึกษา หรือโอกาสในการรังสรรค์สิ่งต่างๆเพื่อให้เกิดการเคารพนับถือได้อย่างเต็มเปี่ยมในตัวตนของตนเอง เหล่านี้ต้องได้รับการจัดสรรปันส่วนอย่างเป็นธรรม เว้นแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การจัดสรรปันส่วนดังกล่าวก็อาจไม่เท่าเทียมได้

Rawls ยังเห็นอีกว่า การจัดสรรปันส่วนอย่างเป็นธรรม จะสำเร็จหรือไม่ยังขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย สถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจมีส่วนเข้ามาจัดให้มีการจัดสรรปันส่วนอย่างเป็นธรรม กล่าวเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ยอมรับบทบาทในการแทรกแซงเศรษฐกิจของรัฐ

ข้อเสนอของ Rawls มีกลิ่นซ้ายๆอย่างไม่ต้องสงสัย แต่กระนั้น Rawls ก็ยังโดนฝ่ายซ้ายบางคนโจมตีว่าซ้ายไม่จริงจากที่ Rawls ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากกว่าความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม

ไว้โอกาสอำนวย ผมจะเล่าประเด็นน่าสนใจในงานของ Rawls ให้ฟังอีก
...............

ผมลองยกตัวอย่างบทบาทของผู้พิพากษาฝรั่งเศสในคดีความรับผิดของฝ่ายปกครองและข้อเสนอของ Rawls มาเปรียบเทียบกับงานทางเศรษฐศาสตร์ของ Roemer เพื่อแสดงให้เห็นว่า วิชาการในหลายแขนงมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ยิ่งเรียนระดับสูงขึ้นแล้วคิดให้ลึกลงไปถึงเบื้องหลังของข้อความคิดต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่ใช่มองฉากหน้าแบบฉาบฉวยแล้ว จะยิ่งเห็นเครือข่ายราวใยแมงมุมโยงไปมาระหว่างศาสตร์ต่างๆ

ผมเชื่อของผมเองว่า...

นักกฎหมายแม่นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ อาจเป็นนักกฎหมายภาคปฏิบัติที่ดี
นักกฎหมายแม่นทฤษฎีและหลักการ อาจเป็นนักกฎหมายภาควิชาการที่เก่ง
นักกฎหมายแม่นในวิชาการแขนงอื่น อาจเป็นนักกฎหมายที่กว้างขวาง
นักกฎหมายที่แม่นทั้งตัวบทกฎหมาย ทฤษฎี และวิชาการแขนงอื่น ย่อมเป็นนักกฎหมายที่สมบูรณ์

วันศุกร์, พฤษภาคม 13, 2548

ลืมผมหรือยังครับแฟน...

"ลืมผมหรือยังครับแฟน...
เมื่อก่อนเคยฟังกันแน่น แฟนจ๋าแฟนลืมผมหรือยัง
จากไปเสียนานตั้งแต่เลิกจัดรายการ (เขียนบล็อก) ให้ฟัง
คงลืมผมเสียแล้วกระมัง
ลืมหรือยัง หรือยังครับแฟน..."

..........

เปิดหัวด้วยเพลงของครูสุรพล สมบัติเจริญ เพื่อบอกว่า ผมกลับมาแล้วครับ

พลังวัตรกลับมาแล้ว

ผมตั้งใจจะเขียนสองเรื่อง เรื่องแรก วิพากษ์ระบบการทำวิทยานิพนธ์เมืองไทย และเรื่องที่สอง เล่าเรื่องความคืบหน้าการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผม

แต่ทว่า คืนนี้ผมต้องปั่นงานให้เสร็จเสียก่อน พรุ่งนี้ผมนัดอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อคุยเค้าโครงแบบละเอียดของวิทยานิพนธ์ผม ถ้าผ่านไปได้ด้วยดี ผมก็จะเตรียมเที่ยวสักสองอาทิตย์ก่อนกลับไปพักผ่อนที่เมืองไทยสักสองเดือน (จริงๆก็ต้องกลับไปค้นงานด้วยแหละ) เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ในตัวผมก่อนกลับมาสู่สมรภูมิอีกครั้งในเดือนกันยายน

ผมเลยเอาเพลงครูสุรพลมาอ้อนไว้ก่อนครับ

แล้วพรุ่งนี้ ถ้าเค้าโครงผมผ่านฉลุย ผมจะกลับมาละเลงบล็อกของผมต่อ

แหม ถ้าบล็อกผมมีสาวๆตามอ่านล่ะก็ คงร้องเพลงครูสุรพลอ้อนได้ถนัดหน่อย

วันอาทิตย์, พฤษภาคม 08, 2548

รำลึก เติ้ง ลี่ จวิน

วันที่ ๘ พฤษภาคม เมื่อ ๖๐ ปีที่แล้วเป็นวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

อีกเช่นกัน วันนี้เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว เป็นวันที่ราชินีเพลงของเอเชียตะวันออก เติ้ง ลี่ จวิน เสียชีวิตที่เชียงใหม่ด้วยวัย ๔๒ ปี

ในห้วงเวลาแห่งความเศร้าของผมเช่นนี้ ขอละที่จะไม่พูดถึงสาระหนักๆเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ขอกล่าวถึงสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในสมัยหนึ่งมองว่าเป็นสิ่งประโลมโลกย์จะดีกว่า

ใช่ครับ... ผมขอร่วมรำลึก ๑๐ ปีการจากไปของเติ้ง ลี่ จวิน

............

เติ้ง ลี่ จวิน เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๑๙๕๓ ณ เมืองเหอเป่ย ไต้หวัน พ่อของเธอเป็นทหาร เธอฉายแววการร้องเพลงมาแต่เด็ก พรสวรรค์ด้านการร้องเพลงของเธอทำให้เธอต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่มัธยมสาม เธอตัดสินใจเอาดีทางนี้ เมื่อดูจากความสำเร็จของเธอแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเธอคิดไม่ผิด

เธอกวาดรางวัลเป็นว่าเล่น เพลงของเธอได้รับความนิยมทั้งในไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา

แม้กระทั่งจีนแผ่นดินใหญ่...

แม้จีนแผ่นดินใหญ่ได้ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน แม้ทางการจีนจะสั่ง “แบน” เพลงของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง When will You Come Back Again? ที่จีนตีความว่าอาจหมายถึงเมื่อไรพรรคก๊กมินตั๋งจะกลับมาปกครองจีนอีกครั้ง? แม้ทางการจีนจะเห็นว่าเพลงของเธอประโลมโลกย์ มีเนื้อหาว่าแต่เรื่องความรักของคนหนุ่มสาวอันทำให้จิตใจไขว้เขวจากการอุทิศตนให้พรรคคอมมิวนิสต์ แต่เพลงของเธอก็ยังเล็ดลอดเข้าไปยังแผ่นดินจีน

พิสูจน์ให้เห็นว่า อุดมการณ์ต่างๆไม่อาจปิดกั้นความรักหรือศิลปะวัฒนธรรมได้

นอกจากเธอจะขับกล่อมเพลงให้ชาวเอเชียฟังมานานนับทศวรรษแล้ว เติ้งลี่จวินยังมีบทบาททางการเมืองอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ในปี ๑๙๘๙ เธอได้แสดงออกถึงทัศนะที่ไม่เห็นด้วยกับทางการจีนในการล้อมปราบนักศึกษา และเรียกร้องให้จีนปรับตัวเข้าสู่ประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชน

.............

ผมรู้จักเติ้ง ลี่ จวินครั้งแรกจากวิทยุเครื่องเก่าๆที่บ้านผม ตั้งแต่จำความได้ ผมก็ได้ยินเสียงเพลงของเธอทุกวัน

คุณแม่ผมจะเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยเพลงสวดมนต์ที่เคล้ากับบรรยากาศการไหว้เจ้าของเขา ผมตื่นมายามเช้าก็จะได้กลิ่นธูปพร้อมกับเสียงเพลงสวดมนต์ “นำมอ กวงซือ อิมผ่อสัก...”

เมื่อธูปหมดดอก ผมซึ่งร้องกระจองอแงอยากกินของที่เอาไปไหว้เจ้า ก็จะรีบเข้าไปอาสารับหน้าที่ในการ “ลา” ด้วยการนำของที่ไปไหว้เจ้านั้น ยกขึ้นลง ๓ ครั้ง เป็นอันว่าเสร็จพิธี

ระหว่างที่ผมสนุกอยู่กับอาหารหรือขนมที่เสร็จจากการไหว้เจ้านั้น เสียงเพลงของราชินีเพลงแห่งเอเชียตะวันออกก็เริ่มเข้าสู่โสตประสาทของผม ...

“เถียน มี๋ มี่ หนี่ เซียว ติ เทียน มี๋ มี ฮาว เซียง ฮวา เอ๋อ ไค ไจ้ ชุน เฟิง ลี๋ ไค ไจ้ ชุน เฝิง ลี...”

ด้วยวัยที่ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม ยังไม่เชยชมกลิ่นแอลกอฮอล ผมไม่รู้เรื่องหรอกครับว่าเพลงเหล่านั้นใครร้อง ร้องว่าอย่างไร มีความหมายอย่างไร แต่มันได้ขับกล่อมผมทุกวันๆ

ผมไม่เคยถามป๊าหรือม้าผมแม้แต่น้อยว่าเป็นเพลงอะไร

จนกระทั่งวันที่ ๙ พ.ค. ๒๕๓๘ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ผมแอบจิ๊กมาจากร้านกาแฟข้างบ้าน พาดหัวข่าวว่าราชินีเพลง เติ้ง ลี่ จวิน เสียชีวิตที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ ๘ พ.ค.

ผมจึงได้รู้จักเธอมากขึ้น... ป๊ากับม้าเล่าให้ผมฟังว่าเธอเป็นใคร

ผมยังนึกขำตัวเองว่า เมื่อก่อนผมเถียงกับป๊าม้าผมไปได้ไงว่า เพลงของเติ้งลี่จวินลอกเพลงไทยของ เดอะ ฮอตเปปเปอร์มา

ต่อมา ปี ๒๕๔๐ มีหนังเรื่องนึงชื่อ “๓๖๕๐ วัน รักเธอคนเดียว” ขณะนั้นผมยังเป็นเฟรชชี่ปีหนึ่ง ไปเดินเล่นกับสาวที่ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต เห็นชื่อหนังเรื่องนี้ ไม่รู้หรอกครับว่าแนวไหน รู้จักแต่พระ-นาง หลีหมิง-จางมั่นอวี้ เลยลองเข้าไปดูสักหน่อย

หนังดี... เพลงเพราะ...

แต่ไม่ได้เก็บเอามาประทับใจมากมาย เพราะใจไปจดจ่อกับคนที่นั่งดูด้วยข้างๆมากกว่า

ก่อนมาฝรั่งเศสผมไปเดินซื้อแผ่นหนังเพื่อเอามาดูแก้เหงา มีทั้งที่ไปคุ้ยๆตามกะบะที่ห้างต่างๆ มีทั้งไปเดินหาหนังที่ผมชอบโดยเฉพาะ

วันหนึ่งด้วยความเหงาจับใจ ผมเลยไปคุ้ยๆแผ่นหนังที่ผมขนมา ผมละเลยที่จะไม่ดูหนัง AV ที่ผมแบกมามากพอดู ก็ห้วงอารมณ์นั้นนะ คงจะดูได้หรอก

สายตาผมไปสะดุดที่หนังแผ่นหนึ่ง ชื่อ “๓๖๕๐ วัน รักเธอคนเดียว”

สมองผมระลึกชาติได้ทันทีว่าผมเคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้กับสาวที่ผมจีบตอนปีหนึ่ง ตัดสินใจหยิบมาดูอีกที

ความทรงจำเก่าๆผมกลับมาเรื่อยๆ บรรยากาศเหงาๆในขณะนั้น ยิ่งชวนผมให้อินกับเนื้อเรื่องมากเข้าไปอีก กอปรกับเพลงของเติ้งลี่จวินที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ถึงสามเพลง คือ “เถียน มี มี่”, “ไจ้เจี้ยนหว่อเตอไอ้เหยิ่น” และ “เหยเลี่ยนไต้เปี่ยวหว่อเตอซิน” ยิ่งทำเอาผมต้องละเลียดไวน์ด้วยจำนวนที่ผมไม่ได้นับ

หนังเดินเรื่องโดยเอาเพลงของเติ้งลี่จวินเป็นแกน

พระเอกและนางเอกที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ข้ามมาแสวงโชคที่เกาะฮ่องกง นางเอกที่ขนเทปเพลงของเติ้งลี่จวินที่ได้รับความนิยมที่จีนแผ่นดินใหญ่มาขายที่ฮ่องกงซึ่งขณะนั้นไม่ได้รับความนิยมเพราะคลื่นลูกใหม่อย่าง อลัน ทัม และ ๔ จตุรเทพ

และจบลงที่ข่าวจากทีวีว่า เติ้งลี่จวินเสียชีวิตที่เชียงใหม่

๑๐ ปีสุดท้ายก่อนที่ฮ่องกงจะกลับคืนสู่อ้อมอกของจีน ๑๐ ปีสุดท้ายที่เพลงของเติ้งลี่จวินจะเหลือเพียงตำนาน

คิดแล้วก็อยากจะขอบคุณกะบะร้านวีซีดีร้านนั้นที่ทำให้ผมได้ดูหนังดีๆอีกรอบ

ด้วยอารมณ์อินกับเพลงมาก ผมได้ติดต่อให้สมัครพรรคพวกของผมหาเพลงของเติ้งลี่จวินส่งมาให้ผมที รุ่นน้องซึ่งเป็นลูกศิษย์ของผมด้วย เธออาสาไปค้นหามาให้ผม ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ผมก็ได้ซีดี “รำลึก ๒๕ ปี เติ้งลี่จวิน” หน้าปกแดงมาไว้ในครอบครอง ต้องขอบคุณลูกศิษย์คนนี้มาก นี่ก็เป็นเวลาเกือบปีแล้วที่ผมไม่ได้สนทนากับเค้า ได้ข่าวว่าเธอไปเรียนที่เมืองจีนหรือสิงคโปร์นี่แหละ

เพลงของเติ้งลี่จวินรับหน้าที่ในการขับกล่อมผมทุกคืนเหมือนกับที่เธอขับกล่อมผมในวัยเด็กทุกวันที่ผมกินขนมไหว้เจ้า

ในยามที่ผมต้องต่อสู้กับปริญญาใบแรก หลังการทำงานอย่างหนักทั้งวัน แม้ร่างกายผมจะอ่อนล้าควรต้องพักผ่อน แต่สภาพจิตใจที่กังวลกลับไปกำหนดไม่ให้ผมสามารถข่มตาลงได้ มีแต่ซีดีปกแดงความยาว ๑ ชั่วโมง ๑๑ นาที ๔๙ วินาที แผ่นนี้แหละที่พอทุเลาอาการของผมไปได้บ้าง ผมจำเป็นต้องอาศัยเพลงของเธอช่วยกล่อมผมหลับทุกคืน

ไม่น่าแปลกใจที่ผมเคยได้ยินมาว่า “ประเทศจีนกลางวันปกครองโดยเติ้งเสี่ยวผิง แต่กลางคืนปกครองโดยเติ้งลี่จวิน”

และในห้วงอารมณ์แห่งความเศร้าของผมขณะนี้ เธอก็ยังรับบทบาทในการขับกล่อมผมด้วยเพลง “ไจ้เจี้ยนหว่อเตอไอ้เหยิ่น” หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Goodbye my love”

...........

ป.ล. ผมว่าจะงดอัพบล็อกเพราะช่วงนี้อารมณ์ไม่ปกติ แต่เนื่องจากบรรยากาศการละเลียดไวน์ของผมฉุดอารมณ์ให้ผมลุกมาเขียนอีก จริงๆผมตั้งใจไว้แล้วว่าวันนี้จะเขียนเรื่องเติ้งลี่จวิน แต่คิดว่าสภาพการณ์ในขณะนี้อาจผลิตตัวอักษรมาได้ไม่ดีเท่าไร ถ้าอ่านบล็อกผมวันนี้แล้วงงๆก็อย่าถือสาผมเลยละกัน

ป.ล. เข้าไปอ่านเรื่องของเติ้ง ลี่ จวิน เพิ่มเติมได้ที่
http://www.b-take.com/coffee1001/music.htm
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=4745728585123
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000060902

ป.ล. ในที่สุดหงส์แดงก็ได้ที่ ๕ (มั้ง) หวังว่าจะเอา UCL มาปลอบใจคนเสียหลักอย่างผมได้นะ

ผมกับห้วงเวลาของความเศร้า

งดอัพเดทบล็อกชั่วคราว

ผมตกอยู่ในห้วงเวลาของความเศร้า...

แล้วพบกันใหม่

วันศุกร์, พฤษภาคม 06, 2548

มนต์รักบล็อกเกอร์

เห็นชื่อหัวข้อบล็อกประจำวันนี้แล้วอย่าได้ตกอกตกใจไปว่าผมพบรักกับสาวหน้ามนคนไหนจากบล็อกหรือเปล่า

อยากครับ ... อยากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นบ้าง แต่คงได้แค่ฝันไปก่อน

เรื่องของเรื่อง ผมจะว่าถึงมนต์เสน่ห์ของบล็อกที่ทำให้ผมลุ่มหลงอย่างถอนตัวไม่ขึ้นยิ่งกว่าไวน์ Cote du Rhône Village พอดีเห็นคุณปิ่น พี่บุญชิต เขียนถึงเรื่องบล็อกเกอร์กันไปแล้ว ผมเลยว่าจะเอามั่ง

ทุกวันนี้ผมติดบล็อกเกอร์ยิ่งเสียกว่าสะเดาติดวิทยุทรานซิสเตอร์ที่ไอ้แผนให้ไว้ดูต่างหน้าเสียอีก

ผมไม่รู้จักนวัตกรรมชิ้นนี้มาก่อน จนกระทั่งปลายปีที่แล้ว ผมตามอ่านกระทู้ต่างๆในพันทิป พบว่ามีการให้บริการเสริมตัวใหม่ คือ เจ้าบล็อกนี่แหละ ผมลองกดๆเข้าไปดูตามบล็อกของคนอื่น มีทั้งที่น่าสนใจคอยติดตามทุกวันว่าเจ้าของมาอัพเดทหรือยัง และก็มีทั้งที่ผมเอียนเหลือทนแต่เจ้าของบล็อกก็ขยันโปรโมทเหลือเกิน (อันนี้ว่าตามรสนิยมผมล้วนๆนะ)

ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันจะมีไอ้บล็อกนี้ขึ้นมาทำไม่ทราบ มันก็ไม่ต่างอะไรกับไดอารี่ออนไลน์นี่หว่า แล้วใครจะกล้าเขียนทุกสิ่งทุกอย่างลงในไดอารี่ตัวเองจนหมดเล่า มันก็ต้องมีการเม้มเรื่องมิดีมิร้ายไว้บ้าง กลายเป็นว่าบล็อกมันก็เป็นของเล่นชิ้นใหม่ต่อจากไดอารี่ออนไลน์ที่ไว้ให้เจ้าของมาบ่นๆๆ

จนกระทั่งวันหนึ่ง... รุ่นน้องผมที่เมืองไทยได้ส่งลิงค์อันหนึ่งมาให้ผมผ่านทางเอ็มเอสเอ็น เป็นเว็บไซต์รวบรวมบทความทางเศรษฐศาสตร์และสาขาอื่นๆไว้ เรียงเป็นหมวดหมู่ตามชื่อคนเขียน

ผมเลื่อนเจ้าหนู (เม้าส์นะ ไม่ใช่ไอ้นั่น) ลงมาเรื่อยๆ จนไปพบลิงค์รวบรวมเว็บไซต์ของอาจารย์ มีอยู่ไม่กี่คนเองครับ (มิน่าคุณปริเยศถึงตำหนิเรื่องนี้) ไม่รู้บุญทำกรรมแต่งกันแต่ชาติปางไหนหรือเป็นเพราะสายลมแห่งโชคชะตาจะพัดพาให้ผมได้มาเจอกับเค้า ผมกดไปที่ชื่อ “ปกป้อง จันวิทย์” เป็นคนแรก

ผมเคยได้ยินชื่อนี้ในบรรณพิภพมาแล้ว ทั้งจากงานของเขาเอง และจากงานของอาจารย์วรากรณ์ที่เอ่ยถึงศิษย์รักคนนี้อยู่บ่อยครั้ง มิพักต้องกล่าวถึงเสียงแว่วๆลอยมาตามลมถึงกิตติศัพท์ของเขาที่ผมได้ฟังมาเมื่อครั้งผมยังอยู่เมืองไทย

แต่เป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักประวัติของเขาแบบละเอียดจากเว็บไซต์ของเจ้าตัว

อึ้งครับ คนอะไรเก่งชิบหาย แล้วไม่ใช่เก่งแบบใส่แว่นหนา นั่งหน้าห้อง ปกป้องเล็คเชอร์ โอเว่อร์กับข้อสอบด้วย (อันนี้ผมจินตนาการเอานะ)

จากนั้นเป็นต้นมาผมก็ใส่เว็บไซต์นี้เข้าเป็น My favorites และคอยติดตามอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งผมพบความเปลี่ยนแปลงบนหน้าโฮมเพจของเขา มีลิงค์แปลกๆอันนึงเขียนว่า Pin Poramet’s blog

ลองจิ้มเข้าไปดู พาลนึกในใจว่า ฮู อิส ฮี ปิ่น ปรเมศวร์?

ตอนแรกคิดว่าสงสัยต้องเป็นประเภทไดอารี่ชวนฝัน พร่ำพรรณนาถึงความรัก หรือมีบทกลอนอันรัญจวนใจมาให้ผมอ่านเลี่ยนๆขณะดื่มไวน์เป็นแน่

เอาเข้าจริงมันตรงกันข้ามเลยครับ พี่แกเล่นของหนัก ๔๕ ดีกรีทุกวัน

อ่านไปเรื่อยๆ อ่านไปทุกวัน อย่านะครับอย่า อย่านึกว่าใช้นามว่าปิ่น ปรเมศวร์แล้วจะปกปิดรูปโฉมโนมพรรณตัวเองได้ ผมจำลีล่าสะบัดปากกาของเขาที่ยังคมคงเส้นคงวาเหมือนเคย

ตั้งแต่นั้นผมก็มี Pin Poramet’s blog เข้ามาเป็นสมาชิกรายใหม่ของ My favorites ในคอมพิวเตอร์ผม

เวรกรรมของคนชอบอ่านอย่างที่คุณปิ่นแกว่าไว้จริงๆครับ อ่านไปมากๆก็คันมืออยากเขียน

ก่อนหน้านั้นผมเคยเกิดอาการคันมือดังว่ามาแล้ว เลยไปเปิดบล็อกไว้กับเว็บของผู้จัดการ ยังไม่รู้จะเขียนอะไรก็ลองเอางานเก่าๆลงไปก่อน ปรากฏว่าท่านผู้อ่านท้วงติงมาว่า ยาวเหลือเกิน อ่านไม่รู้เรื่อง

ผมเป็นนักวิชาการที่ไม่ใช่อยู่บนหอคอยงาช้างนะครับคุณปริเยศ ผมไม่ได้ชี้นิ้วกลับไปด่าท่านผู้อ่านของผมนะว่าคุณนั่นแหละที่ไม่ฉลาด อ่านไม่รู้เรื่อง แต่ผมเอากลับมานอนก่ายหน้าผากคิดอยู่หลายวันว่า เราสื่อสารกับเค้าไม่รู้เรื่องเปล่าวะ เราเขียนหนังสือตาม “แบบแผน” ของวิชาการเกินไปมั้ย

เกิดอาการรันทดใจ จึงทิ้งบล็อกนั้นให้ร้างเป็นเสาหินโทลล์เวย์ย่านชานเมืองมหานครของประเทศไหแลนด์ไป

ผมไปเปิดบล็อกเจ้าเดียวกับที่คุณปิ่นเปิดเพราะเห็นว่าเล่นง่ายดี เปิดทิ้งไว้เป็นเดือนๆแต่ไม่มีตัวอักษรจากปลายมือผมเข้าไปเพ่นพ่านสักที

ไม่กล้าครับ...

ผมเลยไปชวนสหายทางวิชาการของผมให้มาร่วมเปิดบล็อกเป็นเพื่อนกันหน่อย ช่วงนั้นผมกะมันชอบเข้าไปวิ่งเล่นในเว็บบอร์ดของคณะผมที่เด็กนักศึกษาเค้าทำกัน เราก็เล่นแต่ของหนัก ๔๕ ดีกรี บางทีเพื่อนผมอาจผสมโซดามั่ง โค้กมั่ง แต่ผมนี่ออนเดอะร็อคตลอด จนผมกังวลว่าเด็กๆมันจะด่าเรากันเปล่าว่าเรามาผิดเวทีรึเปล่าวะ เพราะเรื่องที่เราเล่นไปแต่ละครั้งมันกลายเป็นประทัดด้านตลอด เงียบ เงียบ และเงียบ

ผมเลยบอกมันว่าเราน่าจะเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า ลาแล้วนะบ้านเก่าดินแดนที่เราเกิดมา แล้วมาสร้างรังน้อยแต่พอตัวอย่างบล็อกเล็กๆดีมั้ย มันลังเลใจอยู่หลายเพลา จนผมเห็นว่าจะสายเกินการณ์ไป ผมจึงตัดหน้าลงมือเขียนตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว แต่ก็ยังชักชวนมันตลอดจนในที่สุดมันก็เบิกฤกษ์จนได้ในวันแรงงาน

กะเขียนเอาขำๆ และคิดในใจว่าจะไปได้กี่น้ำเชียว เดี๋ยวคงปล่อยร้างอีกแน่ เพราะนิสัยอันไร้วินัยของผม (สังเกตจากบล็อกวันแรงงานที่ผมบ่นว่าห้องผมรกมาก) แต่ทำไปทำมา ๗ วันรวดไปแล้วและกำลังจะขยับเป็น ๘ ในไม่ช้า

จริงอย่างที่พี่บุญชิตว่าไว้ในเว็บของพี่ว่า ผมมีเวลามากขึ้น เลยหันมาสนใจกับงานนี้ แหมพี่ แรกๆก็กะว่าจะเอาเป็นงานอดิเรก ไปๆมาๆ มันจะกลายเป็นงานประจำไปแล้ว ผมลุ้นนะว่าถ้าพี่บุญชิตเสร็จภารกิจแบบผมแล้วจะมาป่วนวงการบล็อกด้วยความหฤหรรษ์กัน

บล็อกไม่ได้เป็นแหล่งสำเร็จความใคร่ทางวิชาการของผม (หรือยูโทเปียของคุณปริเยศ ๕๕๕) เท่านั้น แต่มันยังเป็นเครือข่ายราวกับใยแมงมุม ผมได้รู้จัก –แม้จะแค่ผ่านทางตัวอักษร – เพื่อนใหม่ทางวิชาการผ่านทางบล็อกจำนวนมาก ได้เพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆที่หลุดไปจากกฎหมายที่ผมคุ้นเคย ได้มีแรงกระตุ้นในการเก็บไปคิดว่าต่อไปงาน คณะ วิชา มหาวิทยาลัย ประเทศ หรือกระทั่งโลก ควรจะไปในทิศทางใด ได้เห็นนิมิตหมายที่ดีว่าการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ หรือให้แรงกว่านั้น การโต้เถียงกันทางวิชาการ โดยไม่เก็บไปจดจำเป็นความแค้นส่วนตัวนั้น ยังมีทางเป็นไปได้อยู่

…...

ท่านผู้อ่านที่รัก...

ลองชำเลืองไปด้านขวามือของท่านผู้อ่านสิครับ นั่นเป็นรายชื่อลิงค์ของประชาคมบล็อกเกอร์เล็กๆของผม ยามใดที่ท่านผ่านทางเข้ามาเชยชมบล็อกของผม ท่านไล่ลงไปอ่านในส่วนคอมเม้นท์แล้วเสร็จ ขอท่านจงเคลื่อนเจ้าหนูของท่านไปทางขวาแล้วค่อยๆบรรจงจิ้มไปทีละอันๆ แล้วท่านจะรู้ว่าเจ้าหนูของท่านได้พาท่านไปยังดินแดนสุขาวดีเสียแล้ว (นี่ผมบรรยายลงหนังสือเฮียกังฟูรึเปล่าฟะ)

ถ้าอยากรู้หรือสนใจประเด็นทางกฎหมาย ลองคลิกไปที่บล็อกของ ratio scripta หมอนี่เป็นสหายทางวิชาการของผมเอง หลายเรื่องเราเห็นตรงกัน หลายเรื่องก็เห็นต่างซึ่งผมกับมันต่างรู้กันดีว่ามีเรื่องอะไรบ้าง แต่ขี้เกียจเอามาเถียงกันครับ ผมไม่อยากชนะมันได้บ่อยๆ ล่าสุดวันนี้มันเขียนเรื่องสิทธิสตรีลามไปถึงเรื่องการทำแท้งเสรี มีหลายประเด็นที่มันพาดพิงถึงผมและผมไม่เห็นด้วยหลายจุด ลองเข้าไปยลกันดู ผมว่าจะขอเวลาคิดให้มันตกผลึกเสียหน่อยแล้วจะเขียนโต้กับมันเหมือนที่คุณปิ่นกับคุณปริเยศวิวาทะกันสม่ำเสมอ ผมไม่ใช่อาฮุยทีจะชักดาบออกมาไล่ฟันง่ายๆนะครับ ยังไงก็ต้องขอคิดดีๆก่อน เพราะถ้าการ์ดตกมันจะต่อยผมคว่ำเอาได้ง่ายๆ

คงจะเหมือนผมกินไวน์แล้วไม่ได้อมๆบ้วนๆก่อนกลืน ถ้าผมไม่เอ่ยถึงบล็อกของคุณปิ่น ปรเมศวร์ กล่าวซ้ำอีกครั้งว่าบล็อกของแกเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเขียนบล็อกบ้าง และหากเพื่อนๆ น้องๆผม จะเขียนบล็อกแล้วมาขอบอกขอบใจผมนี่ ผมก็ขอผ่านต่อไปให้คุณปิ่นอีกที ส่วนเรื่องโฆษณาสรรพคุณ เห็นทีผมคงไม่ต้องบรรยายมากกระมัง จะกลายเป็นเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนเปล่าๆ เอาเป็นว่าใครอยากเห็นงานที่อ่านสนุก ลุกนั่งสบาย มีทุกเรื่อง ตั้งแต่ระดับเหล้าเหมาไถ ๕๐ ดีกรี ไปถึงไวน์โรเซ่แช่เย็นๆรสนุ่มๆ ก็เชิญแวะเข้าไปชมกันได้

อีกคนหนึ่ง คุณปริเยศครับ เจ้าของแนวคิดยูโทเปียมีอยู่จริงที่กรุงเทพฯ ผมอ่านลีลาแกแล้วพาลนึกไปถึงอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเวลาแกออกมาวิจารณ์ความคิดของนักวิชาการระดับกูรูทั้งหลาย สังคมไทยขาดแคลนคนแบบคุณปริเยศ โดยเฉพาะวงวิชาการไทยที่เรามี “ขนบ” ที่ว่าไม่กล้าวิจารณ์กันเอง วิจารณ์ไปกลายจะเหม็นขี้หน้าไปเปล่าๆ มีคุณปริเยศภาคไม่ไว้หน้าใครคอยช่วยตรวจสอบอย่างแข็งขันแบบนี้ก็เหมือนการเมืองไทยมีคุณชูวิทย์แหละครับ (ฮา)

หากไม่กล่าวถึงอาจารย์ Corgiman ก็เหมือนจอห์น โตแช็คขาดเควิน คีแกนไป อาจารย์เขียนบล็อกได้เยาวเรศรุ่นเจริญศรีมาก เรียกได้ว่าตั้งแต่ดราก้อนบอล หงส์แดง ยันพอล ครุ้กแมนโน่นแหละครับ แล้วเขียนแบบเห็นได้ว่ามีความเจนจัดในเรื่องนั้นจริงๆ สหายทางวิชาการของผมบอกว่า แกเขียนเรื่องฟุตบอลไม่ใช่บรรยายเกมธรรมดาแต่เป็นวรรณกรรม ผมนั่งดูฟุตบอลเกมเดียวกันกับแก ทำไมเขียนออกมาไม่ได้อย่างนี้บ้างหว่า

ขาดไปเสียไม่ได้ คุณ players หรือพี่บุญชิตของผม แม้ห่างหายจากวงการผู้จัดกวนไปหลายเดือน แต่สำบัดสำนวนของพี่บุญชิตยังคงเส้นคงวาเหมือนเดิม ไม่เคยมีครั้งไหนที่ผมอ่านงานของพี่บุญชิตแล้วจะไม่อมยิ้มที่มุมปาก หนักๆเข้าก็ฮามันลั่นห้องไปเลย ลองเข้าไปอ่านดูครับ นอกจากจะเล่าเรื่องที่แกไปเจอมาแต่ละวันแล้ว ยังมีหน้าเรียนภาษาฝรั่งเศสที่แกเอาเล็คเชอร์ที่เรียนมาลง ผมถือว่าที่แกบอกว่าแกเป็นเพียง Leech และ Peer เห็นจะเป็นความเท็จ เพราะอันที่จริง (สำนวนที่แกบอกว่าใช้บ่อย) แกเป็นทั้ง Leech Peer และ Seed ยังไงผมและอีกหลายๆคนก็รอการกลับมาของคอลัมน์ตีความตุลากวนโดยบุญชิต ฟักมี อิน ฝรั่งเศสอยู่นะครับ

นอกจากนี้ยังมีบล็อกเพื่อนบ้านผมอีกหลายบล็อกที่ผมลิงค์ไว้ให้ลองเข้าไปทัศนากัน แล้วท่านผู้อ่านจะรู้ว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าบล็อกที่ผมเอ่ยถึงมาข้างต้นเลย

......

รุ่นน้องผมคนหนึ่งกล่าวกับผมไว้ว่า เธอคิดว่าการที่ผมจะลดบทบาทการโพสในเว็บบอร์ดกฎหมายที่นักศึกษาทำแล้วหันมาสร้างบล็อกของตนเองนั้นไม่น่าจะเหมาะเท่าไรนัก เพราะมันแคบเกินไป แต่ละวันคนเข้าแค่ไม่กี่คน แล้วจะมีคนที่สนใจอ่านกันหรือ สู้เอาเวลาไปสร้างเว็บแล้วมีกระดานสนทนาให้คนแลกเปลี่ยนกันดีกว่า อย่างน้อยก็มีนักศึกษาในคณะเข้ามาเยี่ยมชม

ผมคิดในใจว่าผมเห็นต่างกับเธอ และผมก็พยายามพิสูจน์ให้เธอเห็นว่า บล็อกมันมีคุณค่าได้ในตัวของมันเอง และเราสามารถสร้างเครือข่ายออกไปในวงกว้างได้ ที่สำคัญเครื่อข่ายนี้เป็นคนที่สนใจในเรื่องคล้ายๆกัน สนทนาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีอรรถรส

จนถึงวันนี้ วันที่ผมตกหลุมรักบล็อกเข้าอย่างจัง ผมตอบเธอได้เต็มปากว่า ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงล่ะที่ผมพิสูจน์ให้เธอเห็นว่าสมมติฐานที่เธอคิดไว้นั้นไม่จริง ผมได้เข้าไปอยู่ในประชาคมวิชาการเล็กๆ ที่มองแล้ว ยังไงมันก็น่าจะมีทิศทางที่ดีต่อไปได้ เรียกได้ว่าไม่น่าจะม้วนเสื่อกลับบ้านก่อนเวลาอันควรแล้วกัน

ที่น่าแปลกใจ ประชาคมเล็กๆอันนี้ ก่อร่างสร้างตัวโดยใช้เวลาแค่หนึ่งสัปดาห์เท่านั้นครับ

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 05, 2548

หนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศส

บังเอิญเหลือเกินครับ วันนี้ที่เมืองไทยเป็นวันฉัตรมงคล ที่ฝรั่งเศสก็เป็นวัน Ascension ซึ่งเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์เหมือนกัน วัน Ascension เป็นวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นวันขึ้นสวรรค์หรือวันกลับมาเกิดใหม่ของพระเยซูนี่แหละ

ห้องสมุด ซูเปอร์มาร์เกต ปิดเช่นเคย ผมก็เลยมีเวลามานั่งอัพเดทบล็อกซะหน่อย

ไหนๆก็ทำสถิติอัพเดทมา ๖ วันรวด วันนี้ก็ขออีกวันจะได้ครบหนึ่งสัปดาห์พอดี นับเป็นการเริ่มต้นที่ร้อนแรงมาก หวังว่าผมจะยืนระยะอยู่จนถึงท้ายฤดูกาลนะ

ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ขยันมากครับ แต่ไม่ใช่ขยันทำงานนะ ขยันหยุด...

ตลอดหนึ่งปีจะมีช่วงหยุดยาว ๔ ครั้ง คือ สัปดาห์ที่สามและสี่ของเดือนกุมภาพันธ์ อันนี้หยุดรับหน้าหนาว (คงหนาวมั้งครับทำงานกันไม่ไหว แต่ไปเล่นสกีกันไหว) อีกสองเดือนต่อมาหยุดอีกแล้ว สัปดาห์ที่สามและสี่ของเดือนเมษายน เป็นสปริงเบรก (อากาศดีมากดังนั้นไม่ควรทำงาน แต่ไปเที่ยวกันดีกว่า) ต่อมาก็หยุดครั้งมโหฬารตลอดเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นหน้าร้อน (ก็อากาศมันร้อนนี่ จะไปทำงานได้ไง ไปอาบแดดดีกว่า แหม นานๆมีแดดเยอะๆอ่ะนะ) บางคนอาจหยุดก่อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เช่น นักเรียน นักศึกษา ปิดท้ายประจำปีด้วยการหยุดอีกในสัปดาห์ที่สามและสี่ของเดือนธันวาคม อันนี้เป็นการหยุดคริสต์มาสและปีใหม่ (คริสต์มาส ปีใหม่ ต้องหยุดสิ ใครเค้าทำงานกันล่ะ)

ยังไม่นับหยุดเล็กๆน้อยๆตามวันสำคัญต่างๆอีก เช่น ๑ พ.ย. วัน Toussaint เป็นการไปไหว้บรรพบุรุษประมาณเช็งเม้งบ้านเรา ต่อด้วย ๑๑ พ.ย. วันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (บางคนลักไก่ หยุดรวดมันเป็นอาทิตย์ต่อๆกันเลย)

หรือช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่เริ่มจาก ๑ พ.ค. วันแรงงาน ต่อด้วยวัน Ascension ตามมาด้วยวันที่ ๘ พ.ค. ซึ่งเป็นวันสงครามโลกครั้งที่สอง และปิดท้ายด้วยวัน Pentecôte บางคนที่บริหารเวลาวันหยุดดีๆก็อาจหยุดรวดต่อไปจากสปริงเบรกช่วงเดือนเมษายนมาต่อต้น พ.ค. อีก รวมๆประมาณสามสัปดาห์ได้เลยทีเดียว

ไม่แปลกใจเลยที่ผมได้ยินประโยคว่าคนฝรั่งเศสขี้เกียจมาตั้งแต่เด็ก

ในทางกลับกัน คนฝรั่งเศสเองมองว่าคนเอเชียบ้าเกินไป ชีวิตจะทำแต่งานไม่มีเวลาพักผ่อน

ปีที่แล้วช่วงสปริงเบรก โปรเฟสเซอร์ของผมบอกว่า ช่วงนี้อากาศดี มีวันหยุดหลายวัน ต้องพักผ่อนนะ ผมบอก ครับ ครับ แต่นึกในใจว่า ขืนผมไปเที่ยวแล้วสอบไม่ผ่านละครับ แหม ถ้าให้ผมเรียนเป็นภาษาไทยสิ ผมจะกล้าไปพักหน่อย

เพื่อนฝรั่งเศสคนหนึ่ง เธองงมากที่นักเรียนไทยข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนเป็นปีๆได้อย่างไร แถมบางคนปิดเทอมแล้วยังไม่ยอมกลับบ้านอีก ผมเห็นด้วยกับเธอครับ ช่วงแรกๆผมขยันกลับบ้านประมาณปีละสองหน ปรากฏว่าบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่เมืองไทยกลับถามผมว่า กลับมาทำไม เรียนยังไม่จบแล้วกลับมาทำไม

นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างว่าคนบ้านเค้ากะบ้านเราคิดต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ผมนั่งสงสัยประจำว่า ประเทศนี้มันเจริญได้อย่างไร มันรวยได้ยังไง ทั้งๆที่มันไม่ได้ทำอะไรเลย สินค้าส่งออกก็มีไม่มาก จะบอกว่าขายไวน์จนรวยก็ไม่น่าใช่ เพราะหลังๆอิตาลีกับออสเตรเลียเริ่มแซงขึ้นมา จะบอกว่าขายน้ำหอมจนรวย ผมก็สงสัยอีกว่าแค่ขายน้ำหอมนี่นะจะรวยได้ไง จะบอกว่าขายรถยนต์ ผมก็งงว่ารถเรย์โนลส์ ซีตรองนี่นะ มีแต่คนฝรั่งเศสนั่นแหละที่ใช้กัน จะไปสู้รถญี่ปุ่น รถเยอรมันได้ไง

คนก็ไม่ได้ขยันเหมือนชาวเอเชีย ชอบที่จะพักผ่อน เสพศิลปะ วัฒนธรรม ถกเถียงปัญหาต่างๆ มากกว่าลงมือทำงานอย่างขยันขันแข็ง

คิดไปคิดมา ผมว่าสงสัยเค้าสร้าง (และปล้น) มาจนอยู่ตัวแล้วมั้งครับ

เหมือนเรามีธุรกิจที่มันอยู่ตัวแล้ว ยังไงก็คงไม่จน เก็บเงินกินดอกไปเรื่อย กินเงินจากหุ้นไปเรื่อย

อันนี้คิดแบบซื่อๆเลยนะครับ ไม่ได้เอาหลักวิชาที่ไหนมาวิเคราะห์

..........

วันหยุดแบบนี้ ผมเล่าเรื่องเบาๆดีกว่า เอาเรื่องหนังสือพิมพ์ละกัน

ผมขอแบ่งหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทเสียเงิน กับ ประเภทแจกฟรี ประเภทเสียเงิน อาจแยกออกเป็นหนังสือพิมพ์ในระดับชาติเหมือนมติชน ไทยรัฐ กับหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น ผมขอละที่จะไม่กล่าวในส่วนที่เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนะครับ เพราะมันเยอะเหลือเกิน แต่จากการสำรวจพบว่าประชากรในท้องถิ่นนิยมอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากกว่า แต่ละบ้านมักจะซื้ออหรือบอกรับนสพ. ท้องถิ่นมากกว่า ส่วน นสพ ระดับชาติ มักเปน นักธุรกิจ นักศึกษา คนเมือง อาจารย์

หนังสือพิมพ์ระดับชาติหลักๆก็มี Le monde, Libération, Le Figaro, L’Humanité, Le Canard, La Croix

http://www.lemonde.fr/
http://www.liberation.fr/
http://www.humanite.fr/
http://www.lefigaro.fr/
http://www.metropoint.com/
http://www.20minutes.fr/

Le monde เป็น นสพ. ที่แพร่หลายมากที่สุดในหมู่บรรดาชนชั้นกลาง นิยมในหมู่ปัญญาชน คงประมาณมติชน ผู้จัดการ ขนาดไม่ใหญ่มากนัก เล็กกว่า นสพ. บ้านเรา แต่ก็ไม่เล็กถึงขนาดแท็บลอยด์ จะมีคนดังๆในวงการต่างๆเขียนบทความมาลงเรื่อยๆ ทั้งอาจารย์ นักการเมือง ข่าวพาดหัวมักจะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ หน้าปกไม่มีภาพประกอบเลย เป็นแต่ตัวหนังสือหมดและมีภาพการ์ตูนล้อเลียนหนึ่งภาพเท่านั้น สนนราคา ๑.๒๐ ยูโร น่าจะประมาณ ๖๐ บาทได้

บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษากฎหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์นิยมอ่านมาก ในคณะรัฐศาสตร์จะมี Le monde ไปแจกฟรี และนักศึกษาถ้าบอกรับเปนสมาชิกจะได้ส่วนลดมากกว่า ๕๐ เปอเซนต์ กล่าวกันว่า Le monde เป็น นสพ. ค่อนข้างเอียงซ้าย ส่วนตัวผมชอบอ่าน Le monde มากที่สุด เพราะมีข่าวการเมืองกับกฎหมายเยอะดี ตำราทางวิชาการบางเล่มยังอ้างถึง Le monde ผมสังเกตว่าคดีสำคัญในศาลที่เกี่ยวกับการวางหลักมักปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เสมอ พูดง่ายๆ ถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีอันหนึ่งในการขีดๆเขียนๆโม้ๆของผมนั่นเอง

ฉบับวันเสาร์ก็จะขายแพงขึ้นเป็น ๒.๕๐ ยูโร แต่มีนิตยสารหนาประมาณเกือบ ๑๐๐ หน้า สีทั้งเล่ม ชื่อ Le Monde 2 แถมมาด้วย ส่วนฉบับวันจันทร์จะไม่มีจำหน่ายเนื่องจากวันอาทิตย์หยุดกัน นสพ ฉบับวันอาทิตย์ในฝรั่งเศสจึงควบเป็นอาทิตยกับจันทร์

เมื่อเปรียบเทียบกับฉบับอื่นๆแล้วอาจกล่าวได้ว่า Le monde เป็น นสพ.ในแนววิชาการมากที่สุด Le monde พึ่งฉลองครบรอบ ๖๐ ปีไปเมื่อปีที่แล้ว

Libération เป็น นสพ. เอียงซ้ายที่ประกาศตัวชัดเจนว่าสนับสนุนพรรคสังคมนิยม ก่อตั้งโดย Jean-Paul Sartre นักปรัชญาเจ้าของสำนัก l’Existentialisme (เป็นที่น่าสังเกตว่าที่นี่หนังสือพิมพ์จะแสดงจุดยืนค่อนข้างชัดเจนว่าซ้ายหรือขวา หรือสนับสนุนพรรคไหน)

Libération มีขนาดเล็กไซส์แท็บลอยด์ พึ่งเปลี่ยนรูปโฉมให้เล็กลงเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองเพื่อความสะดวกในการพกพาและถืออ่านระหว่างนั่งรถไฟใต้ดินหรือรถไฟ หน้าปกมักยิงข่าวเดียวโดดๆ แล้วเป็นรูปทั้งหน้าโดยมีตัวอักษรพาดหัวข้างๆ Libération เป็น นสพ. น้องใหม่ไม่นานพึ่งอายุครบ ๓๐ ปีไปเมื่อปี ๒๐๐๓ นี่เอง สนนราคา ๑.๒๐ ยูโร พาดหัวข่าวของ Libération จะหวือหวา คมคาย เมื่อก่อนผมซื้ออ่านด้วยสาเหตุไร้เดียงสาประการเดียวของผม คือ เห็นเค้าว่ากันว่า นสพ. นี้สนับสนุนพรรคสังคมนิยม แต่เดี๋ยวนี้ผมอ่านจากอินเตอร์เนทเอา เพราะขืนซื้อทุกฉบับจนตายแถมไม่มีปัญญาอ่านจบด้วย วันนี้เป็นวันแรกที่ Libération ในเว็บปรับให้เป็นภาษาอังกฤษเฉพาะฉบับวันพฤหัสและศุกร์

ล่าสุดผลประกอบการของ Libération ขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนต้องเพิ่มทุนโดยกลุ่มทุนของมหาเศรษฐีตระกูล เดอ ร็อธสไชลด์

Le Figaro เป็น นสพ. แนวอนุรักษ์นิยม เอียงขวา พวกไฮโซไฮซ้อ บรรดาแม่บ้านแม่เรือนชอบอ่าน ขนาดใหญ่เท่า นสพ บ้านเรา ราคา ๑ ยูโร Le Figaro ชูจุดขายของตัวเรื่องราคาที่ถูกกว่าฉบับอื่นและจำนวนหน้ากระดาษที่มากกว่าด้วย มีคนกล่าวว่า Le Figaro มักพิมพ์ผิด เสนอข่าวผิด ผมก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า

ฉบับวันอาทิตย์จะแถมนิตยสาร Madame Figaro มาให้ด้วย (อากู๋แกรมมี่ซื้อหัวมาทำเปนภาษาไทยแล้ว) Le Figaro เป็น นสพ. ฉบับเดียวที่ทำสกู๊ปนายกฯทักษิณตอนเดินทางมาเยือนฝรั่งเศสเมื่อกลางปี ๒๐๐๓ โดยไปสัมภาษณ์นายกที่เมืองไทยเลย ผมยังเก็บฉบับนี้ไว้อยู่

L’Humanité นสพ. เจ้าของสโลแกนสุดเก๋ว่า "Dans le monde idéal, l'Humanité n'existerait plus"

สโลแกนนี้แปลได้สองนัย
หนึ่ง แปลตรงตัวว่าในโลกอุดมคติจะไม่ปรากฏมนุษยธรรม
สอง แปลอีกอย่างได้ว่า ในโลกอุดมคติจะไม่มีหนังสือพิมพ์ L’Humanité

ตอนแรกผมก็งงมันจะมีสโลแกนด่าชื่อ นสพ. ตัวเองทำไม ผมคิดไปว่าถ้าเป็นแบบนี้ก็หมายความว่าโลกที่ดีต้องไร้มนุษยธรรมอย่างนั้นหรือ แต่มานั่งนึกๆดู ถึงคิดได้ว่าเค้าต้องการสื่อว่า ถ้าโลกเราเป็นอุดมคติแบบยูโทเปียแบบยุคพระศรีอาริย์ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีมนุษยธรรมเพราะทุกอย่างสมบูรณ์ไปหมดแล้วและหนังสือพิมพ์ เพื่อมนุษยธรรมอย่าง L’Humanité ก็ไม่มีความจำเป็น

L’Humanité เป็น นสพ. เก่าแก่ อายุครบ ๑๐๐ ปี เมื่อปีที่แล้ว ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้พรรคคอมมิวนิสต์โดย Jean Jaurès นักการเมืองฝ่ายซ้ายคนสำคัญแต่น่าเสียดายที่โดนลอบยิงตายตั้งแต่อายุ ๔๐กว่าๆ

ขนาดของ L’Humanité เป็นแทบลอยด์ มีหน้าปกแนวเดียวกับ Libération ปัจจุบัน L’Humanité ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก คนไม่ค่อยซื้ออ่าน มีแต่แฟนประจำบางกลุ่มเท่านั้น นักอ่านคาดการณ์กันว่าอีกไม่นานอาจต้องปิดตัวเองไป อย่างไรก็ตามปีที่แล้วงานวันฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ประธานนสพ. แถลงยืนยันว่าจะสู้ต่อไป

Le Canard เป็นนสพ.แนวการเมือง นิยมการเสียดสี แต่ละหน้าจะมีแต่ตัวหนังสือและรูปการ์ตูน ล่าสุดจับโกหก Hervet Gaymard รมต.คลัง เรื่องการนำบ้านที่เป็นสวัสดิการของรัฐมนตรีออกให้คนอื่นเช่า Le Canard ตามขุดคุ้ยอย่างหนัก ในที่สุด Gaymard ต้องลาออกจากตำแหน่งหลังจากรับตำแหน่งได้เพียงเดือนเศษเท่านั้น (เห็นแล้วสะท้อนถึง รมต. สุริยะ ซึ่งจะกลายเป็น จึง "ไม่" รุ่งเรืองกิจต่อรัฐบาลนี้ไปเสียแล้ว)

ประเภทที่สอง นสพ. แจกฟรี ประเทศแถบยุโรปกระตุ้นให้คนรักการอ่านด้วยการแจก นสพ. ฟรี ทุกๆเช้าตามรถไฟใต้ดิน รถเมล์ เราจะเห็นคนถือ นสพ. แจกฟรีพวกนี้อ่านกันทั้งนั้น จุดที่แจกจะมีหลักๆอยู่ ๓ ที่ หนึ่ง สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สอง ร้านกาแฟ และ McDonald สาม หน้ามหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม นสพ แจกฟรีเล่านี้ไม่ได้มีทุกมืองแต่จะมีเฉพาะเมืองใหญ่ๆเท่านั้น เช่น ปารีส ลียง มาร์กเซย์ น็องตส์

นสพ. แจกฟรีในฝรั่งเศสที่สำคัญๆก็มี Métro และ 20 Minutes นอกจากนั้นอาจมีนสพ.แจกฟรีในระดับท้องถิ่นอีกด้วย

ลักษณะของ นสพ. พวกนี้ จะเป็นไซส์แทบลอยด์หมด บางๆ ข่าวสั้นๆ ไม่มีคอลัมนิสต์หรือนักวิชาการมาเขียน ไม่มีสกู๊ปพิเศษเจาะลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พูดง่ายๆคือเป็น นสพ. ที่สรุปข่าวให้เราอ่านสั้นๆทุกเช้าตรู่ว่าเมื่อวานนี้มีเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้างที่เราควรทราบและเอาไปโม้หรือสนทนากะคนอื่นๆต่อ

ผมเห็นแล้วก็อยากให้บ้านเรามีบ้าง โดยหลักคนมักจะไม่ชอบอ่าน นสพ. หรือ อ่านไม่กี่หน้า จะซื้อก็เลยเสียดายตังค์ ทำให้กลายเปนคนตกข่าว ไม่สนใจข่าวไปด้วย ถ้าหากเราแจกฟรีแล้ว ผมเชื่อว่าเวลาเราเดินทางยามเช้า เราต้องหยิบทั้งนั้นแหละครับ แหม ของมันฟรีนี่ รถติดๆไม่มีไรทำก็ต้องอ่าน หรือมานั่งในคอมมอนรูมหยิบจับมาอ่านซะหน่อย แล้วจะค่อยๆปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปในตัว ใครสนใจจะเจาะเรื่องไหนต่อไปก็ไปตามอ่านจาก นสพ. ที่เสียตังค์ต่อไป

อาจสงสัยกันว่าแจกฟรีอย่างนี้เอาทุนที่ไหนมาทำ หนีไม่พ้นโฆษณาครับ นสพ. พวกนี้จะมีโฆษณาเยอะมากๆ และจะมีสปอนเซอรหลัก อย่าง นสพ. เมโทร นี่มี McDonald หนุนอยู่ เมโทรก็จะไปวางไว้ที่ McDonald ใครไปกินก็เหมือนเป็นพฤติกรรมเคยชินไปเลยต้องหยิบเมโทรไปอ่านด้วย

ล่าสุดผมไปเห็นที่มาดริด สเปนมาครับ นสพ. เมโทรขึ้นหน้าหนึ่งเป็นโฆษณาทั้งหน้า ผมว่าก็ไม่น่าแปลกเพราะเค้าแจกฟรี และวัตถุประสงค์ของ นสพ. แจกฟรีมีประการเดียว คือ เล่าข่าวให้ฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการวิพากษ์แสดงความเห็นอะไรทั้งนั้น ผมเลยว่ามีโฆษณาหนุนเยอะๆขนาดนี้ก็ไม่น่าเปนปัญหาอะไรนะ

นอกจากเทคโนโลยีจากอินเตอร์เนทที่ทำให้คนนิยมอ่านหนังสือทางคอมพิวเตอร์แล้ว เห็นจะเป็นหนังสือพิมพ์แจกฟรีนี่แหละครับ ที่ทำให้หนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศสประสบปัญหาขาดทุนมาตลอดในระยะหลัง

คนทั่วไปเห็นว่าราคาหนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศสราคาแพง (ซึ่งก็แพงจริงๆครับเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเยอรมันหรือสเปน) เมื่อมีของฟรีที่ลงข่าวได้ครบถ้วน เรื่องอะไรจะไปเสียสตางค์ซื้อ

แล้วถ้าบ้านเรามีหนังสือพิมพ์แจกฟรีบ้าง น่าคิดนะครับว่าจะกระตุ้นให้คนรักการอ่าน เป็นคนทันโลกทันเหตุการณ์ หรือ จะกลายเป็นเพิ่มงานให้คนกวาดถนนและอาเจ๊กรับซื้อขายกระดาษเก่ากันแน่

วันพุธ, พฤษภาคม 04, 2548

ถึงคราวสาวกหงส์แดงตีปีกบ้าง

ในที่สุดลิเวอร์พูลก็ได้ไปอิสตันบูลแล้ว เมื่อวานผมเชื่อว่ากองเชียร์หงส์แดงทั้งเฉพาะกิจ (อาจรวมถึงคุณปิ่น คุณปริเยศและเพื่อนๆที่รอการเปิดเมมของอาจารย์ Corgiman) และขาประจำคงดีใจกันยกใหญ่ ผมสังเกตตั้งแต่สัปดาห์ก่อนจนกระทั่งถึงวันนี้ในเรื่องการโต้เถียงกันว่าเอฟเวอร์ตันในฐานะอันดับ ๔ กับลิเวอร์พูลในฐานะแชมป์ ใครควรได้ไปเล่น UCL ในฤดูกาลหน้าก็ดี การเฉลิมฉลองในแอนฟิลด์และนอกแอนฟิลด์เมื่อคืนวานก็ดี การประกาศศักดาของกองเชียร์หงส์แดงตามเว็บบอร์ดต่างๆก็ดี ดูราวกับว่าลิเวอร์พูลเป็นแชมป์ UCL ไปแล้วนะครับ

ใครจะว่ายังไงก็ช่าง...

ผมในฐานะเป็นแฟนหงส์แดงก็ขอร่วมเฮยาวๆด้วยคน

เมื่อวานเกมบีบหัวใจมาก ใครที่เป็นโรคหัวใจไม่แข็งแรง (เหมือนผมที่หัวใจอ่อนไหวเหลือเกิน) คงต้องเตรียมรถฉุกเฉินไว้ให้พร้อม ไม่สนุกเลยนะครับกับการต้องมาลุ้นด้วยเกมตั้งรับแบบนี้ เสียวแบบชนิดที่เรียกว่า ยิ่งกว่าอ่านหนังสือของเฮียกังฟูเลยทีเดียว โดยเฉพาะช่วงทดเวลา ๖ นาที ซึ่งผมอยากจะเอากระป๋องเบียร์ที่อยู่ในมือขณะนั้นปาหัวไอ้กรรมการจริงๆ แต่คิดได้ว่า ปาไปสงสัยทีวีกูจะพังเอา

เห็นลูกยิงของกุ๊ดตอนที่ทดเวลาเหลืออีก ๓๐ วินาทีมั้ยครับ แค่โดนขนหน้าแข้งกระจุกนึงของดร็อกบ้าหรือกองหลังหงส์สักคนละก็ สงสัยผมคงไม่ได้มาเขียนบล็อกเรื่องหงส์ในวันนี้แน่ๆ

ถ้าเราเป็นกลาง อย่าอคติเหมือนคุณปิ่นภาคสาวกผีแดง และคุณปืนใหญ่ (มาก) ขาประจำเว็บแมเนเจอร์ออนไลน์แล้วล่ะก็ ผมเชื่อว่าทุกคนก็ต้องบอกว่าหงส์แดงเล่นดีจริงๆ

คำว่าเล่นดีต่างกับเล่นสนุกนะครับ

เมื่อก่อนเราอาจวิจารณ์ฟุตบอล เชียร์ฟุตบอล แบบหนึ่ง แต่ด้วยรูปแบบเกมที่เปลี่ยนไป ความสำคัญของแผนการเล่นที่เพิ่มมากขึ้น (จนผมเกรงว่าต่อไปฟุตบอลจะวัดกันที่กึ๋นของผู้จัดการทีมเหมือนอเมริกันฟุตบอล) ผมว่าเราต้องนิยามคำว่าเล่นดีกันเสียใหม่

สำหรับผม “เล่นดี” ไม่จำเป็นต้องเล่นสวยงาม เล่นเกมบุก กองเชียร์เร้าใจ หากทว่า “เล่นดี” คือเล่นตามแผนที่ผู้จัดการวางไว้

ถ้านิยามแบบผม ก็ไม่น่าแปลกที่จะบอกว่าลิเวอร์พูลเล่นดี

ไม่ดีได้อย่างไรครับ ตั้งใจแค่ ๑-๐ ก็ได้ตามนั้นจริงๆ

ส่วนตัวผมนั้น ลิเวอร์พูลมาได้แค่นี้ก็เกินคาด จะได้แชมป์ หรือไม่ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ปีหน้า (อีกแล้ว) เราจะกลับมาลุ้นแชมป์กับเค้าได้บ้าง เพราะผมเชื่อว่าการสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมาใหม่ในสภาพการณ์ปัจจุบันนี้ต้องเริ่มจากเกมรับที่เหนียวแน่นเสียก่อนซึ่งหงส์แดงก็พิสูจน์ให้เห็นในหลายๆนัด คราวนี้ก็เหลือการขึ้นเกมจากกองหลัง เมื่อก่อนผมจำได้ พอ ย โย่งพูดว่า “เอาละครับ เครื่องจักรสีแดงเริ่มทำงานแล้ว” นั่นก็คือ อลัน แฮนเซ่นกำลังเริ่มเกมด้วยการจ่ายให้กองกลางต่อ จากนั้นก็ปั้นเกม เคาะไปมา เจริญหูเจริญตาเหลือเกิน

เมื่อวานเราคงเห็นตรงกันว่า เจมี่ คาร์ราเกอร์ เล่นดีจริงๆ ผมอยากให้เค้าเป็นกัปตันนะ ผมพูดกับสหายทางวิชาการของผมว่า “มึงดูดิ ไม่ต้องเก่ง มีพรสวรรค์ ถ้ากูมีความฟิตเท่ามัน ขยันวิ่งเท่ามันนะ กูก็เล่นอย่างมันได้” มันตอบผมกลับมาได้แสบสันต์ว่า “ก็นั่นไง ที่หายาก”

ผมเชียร์หงส์แดงก็เริ่มจากสาเหตุคล้ายๆกับคนที่เริ่มเชียร์เชลซีสมัยนี้แหละครับ คือ มันเก่งดี เป็นแชมป์บ่อย ผมจึงไม่เคยตำหนิใครที่แห่มาเชียร์เชลซีตอนนี้เลย

แต่แปลกที่ว่าผมรู้จักหงส์แดงครั้งแรก ไม่ใช่จากสตาร์ ซอคเกอร์ หากเป็น การ์ตูนรายสัปดาห์เจ้าหนูสิงห์นักเตะ ที่มีการ์ตูนกีฬาของญี่ปุ่นลงเป็นตอนๆหลายๆเรื่อง นำโดย ซึบาสะนั่นแหละครับ

ท้ายเล่มจะมีข่าวฟุตบอลประมาณ ๒-๓ หน้า แล้วก็มีคอลัมน์ตอบจดหมายโดยลิตเติ้ล พอน ซึ่งผมไม่รู้ว่าตอนนี้แกไปทำอะไรแล้ว จำได้ว่าแกเชียร์หงส์เหมือนกัน

นักบอลที่ผมประทับใจคนแรกก็แปลกกว่าชาวบ้านอีก คนอื่นๆอาจชอบ บาร์นส์ รัช เบียรดสลี่ย์ แฮนเซ่น ฯลฯ หรือรุ่นก่อนๆที่ชอบคีแกน โตแช็ค เดลกลิช แต่สำหรับผม ผมชอบเคร็ก จอห์นสตันครับ

แมทช์แรกที่ผมดู แกใส่เสื้อเบอร์ ๘ หัวฟูๆ ลากเลื้อยอยู่ริมเส้นด้านขวา ถึงอกถึงใจผมมาก ตั้งแต่นั้นผมเลยติดใจ อยากเป็นอย่างเค้ามั่ง แต่นั่นเป็นช่วงท้ายที่แกค้าแข้งให้กับลิเวอร์พูลแล้ว ผมเชียร์อยู่ไม่กี่ปี แกก็เริ่มตกเป็นตัวสำรองและย้ายทีมไปในที่สุด (หรือผมเป็นตัวซวยฟะเนี่ย)

กองเชียร์หงส์ที่อายุรุ่นๆผมคงจำกันได้ถึง ๑๑ ผู้เล่นอันเกรียงไกรในสมัยที่เดลกลิชเป็นผู้จัดการ (คนที่กองเชีย์หงส์บางคนว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทีมตกอับมาจนถึงทุกวันนี้) อันประกอบด้วย กร๊อบเบล่าร์ – นิโคล แฮนเซ่น ไฮเซ่น (ผมมาไม่ทันสมัยมาร์ค ลอว์เรนสัน) เบอร์โรวส์ – เฮาจ์ตัน วีแลน แม็คมาน บาร์นส์ – รัช เบียรดสลีย์ (มีอัลดริดจ์อยู่ช่วงนึงตอนรัชไปจู๊ฟ)

กวาดแชมป์เป็นว่าเล่น แต่ไม่เคยได้ไปเตะบอลยุโรป เพราะติดโทษแบนจากเหตุการณ์ที่เฮย์เซลปี ๑๙๘๕

ผมจึงไม่เคยเห็นลิเวอร์พูลด้วยสายตาตนเองแบบสดๆ ร่วมเชียร์ ร่วมเป็นแชมป์แบบสดๆ กับถ้วยยูโรเปี้ยนคัพหรือ UCL ในปัจจุบัน (แม้ผมจะเคยดีใจกับถ้วยยูฟ่า คัพ สมัยอุลลิเยร์ แต่มันก็เป็นถ้วยเล็ก) ได้แต่ย้อนกลับไปรำลึกด้วยวิดีโอเทปและหนังสือที่หอบมาจากร้านสตาร์ ซอคเกอร์ พันธุ์ทิพย์

นัดชิง วันที่ ๒๕ พ.ค. ที่อิสตันบูลนี้ ผมเลยตื่นเต้นเป็นพิเศษ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะคว้าแชมป์มาได้ (เชื่อผมมะ ถ้าหงส์ได้จริงจะมีคนออกมาบอกอีกว่า ได้เพราะอุด ได้แชมป์ แบบไม่เท่ เพราะเข้ามาแข่งในฐานะอันดับ ๔ ไม่ใช่แชมป์ลีก)

ผมเชื่อว่าถ้าเราได้แชมป์ UCL ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับนักบอล และเป็นตัวดึงดูดใจให้นักบอลดีๆย้ายมาเล่นให้หงส์มั่ง เมื่อนั้นแหละ พรีเมียร์ ลีกจะมีอรรถรสมากขึ้นจากการที่ยักษ์ที่หลับไปนาน (นานขนาดที่ว่าตอนนั้นผมอยู่ ป.๕ จนตอนนี้เรียนปริญญาเอกแล้ว) จะเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ล่าแชมป์กับเชลซี (ยักษ์ใหม่) อาร์เซน่อล (ยักษ์เก่าที่กลับมาใหม่) แมนฯยูฯ (ยักษ์เก่าที่กลับมาใหม่และกำลังจะกลับไปเก่า ๕๕๕)

ผมมีลางสังหรณ์นะว่าอาจารย์ Corgiman ต้องเปิดเมมเลี้ยงน้องๆ และผมต้องซื้อแชมเปญดีๆมากระแทกคอ